เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ททท.
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝน ที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า จำพรรษา พิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม โดยการเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา
ซึ่งประเพณีหนึ่งที่เนื่องด้วยวันเข้าพรรษา และจัดเป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันเรื่อยมา ก็คือ ประเพณีหล่อเทียนพรรษา สำหรับให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ ซึ่งเทียนพรรษาสามารถอยู่ได้ตลอด 3 เดือน และเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นงานประเพณี "ประกวดเทียนพรรษา" ของแต่ละจังหวัดโดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ
ทั้งนี้ กระปุกดอทคอมก็ได้รวบรวมเอาจังหวัดที่จัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2554 จากทั่วประเทศมาบอกกันด้วยค่ะ
งานพิธีหล่อเทียนพรรษา จังหวัดสงขลา
กำหนดการจัดงาน : เดือนกรกฎาคม 2554 ณ สนามหน้าเทศบาลเมืองคอหงส์ จ.สงขลา
รายละเอียด : พิธีหล่อเทียนพรรษา พิธีแห่เทียนพรรษาถวายวัดและสำนักสงฆ์ในตำบลคอหงส์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ เทศบาลเมืองคอหงส์ โทรศัพท์ +66 7423 4930 ททท. สำนักงานหาดใหญ่ โทร. +66 7423 1055, +66 7423 8518, +66 7424 3747
งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดพัทลุง
กำหนดการจัดงาน : วันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ณ อบต.ลำสินธุ์ จังหวัดพัทลุง
รายละเอียด : พิธีหล่อเทียนพรรษา ขบวนแห่เทียนพรรษา
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม อบต.ลำสินธุ์ โทร. +66 7460 5558, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานหาดใหญ่ (สงขลา พัทลุง) โทรศัพท์ +66 7423 1055, +66 7423 8515
งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2554
กำหนดการจัดงาน : วันที่ 1 – 31 กรกฏาคม 2554 ณ บริเวณสนามทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
รายละเอียด : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี ขอเชิญเที่ยว งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2554 "ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ภูมิปัญญาชาวอุบลฯ" โดยตลอดทั้งเดือน คณะกรรมการได้ร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมมากมาย ให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมชื่นชม และกำหนดห้วงเวลาของกิจกรรมสำคัญ ๆ ดังนี้...
วันที่ 1-31 กรกฎาคม 2554 ชมนิทรรศการภาพถ่าย "ฮูปงามยามเทียน ครั้งที่ 3" ซึ่งผู้สนใจจะได้ชมภาพเทียนพรรษาและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ่ายภาพโดยช่างภาพทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
วันที่ 1-14 กรกฎาคม 2554 ททท.สอบ. ร่วมกับคุ้มวัดในเมืองอุบลฯ คือวัดบูรพา วัดศรีประดู่ วัดทุ่งศรีเมือง วัดมหาวนาราม วัดหนองปลาปาก วัดพระธาตุหนองบัว วัดท่าวังหิน วัดศรีอุบลรัตนาราม และวัดเลียบ จัดกิจกรรมเยือนชุมชน ชมวิธีวัฒนธรรมในการตกแต่งต้นเทียน ให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมชื่นชมความงดงาม ของการประดิษฐ์และตกแต่งต้นเทียน ทั้งประเภทติดพิมพ์และแกะสลัก
วันที่ 4 กรกฎาคม 2554 พิธีเปิดงานประติกรรมเทียนนานาชาติ ครั้งที่ 6 ณ บริเวณหน้าวัดศรีอุบลฯ ชมการแกะสลักเทียนนานาชาติ ซึ่งประกอบด้วย ยูเครน แลตเวีย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส บราซิล สเปน เนปาล เบลเยี่ยม และไทย ได้ตั้งแต่วันที่ 4- 14 กรกฎาคม 2554 และชมผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ ได้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุบลราชธานี
วันที่ 8-31 กรกฎาคม 2554 หนังสั้นและภาพถ่าย/ตลาดแลงพาเพลิน/นวัตกรรมเทียน/แสงธรรมแสงเทียน/สวนศิลป์เด็ก/สว่างไสว น้ำใจยั่งยืน/เส้นทางธรรม เส้นทางเทียน ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุบลราชธานี
วันที่ 10 กรกฎาคม 2554 พิธีเปิดงานชมทัศนียภาพสองฝั่งลำน้ำมูล โดยเทศบาลนครอุบล
วันที่ 11-16 กรกฎาคม 2554 ชมถนนสายเทียน สาธิตการแกะสลัก/ติดพิมพ์เทียน และนิทรรศการภาพถ่าย โดยมีพิธีเปิดในวันที่ 12 กรกฎาคม 2554
วันที่ 7- 17 กรกฎาคม 2554 ชมการสาธิตและจำหน่ายสินค้าชุมชน(OTOP) บริเวณหน้าศาลากลางหลังเก่า
วันที่ 14 และ 17 กรกฎาคม 2554 ร่วมฟังเทศน์ทอล์ค โดยพระมหาสมปอง และหลวงพ่อบุญเสริม ธมมปาโล ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุบลราชธานี
วันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ร่วมงานพาแลง พร้อมชมการประกวดสาวงามเทียนพรรษา ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่น
วันที่ 15 กรกฎาคม 2554 พิธีอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทาน และผ้าไตรพระราชทานทางชลมารค จากท่าน้ำวัดหลวง สู่ท่าน้ำวัดสุปัฐนาราม แสดงต้นเทียนที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด บริเวณถนนรอบทุ่งศรีเมือง การแสดงมหาดุริยางค์ ณ ลานเทียนเฉลิมพระเกียรติ พิธีมหาเวียนเทียนวันอาสาฬหบูชา ที่วัดศรีอุบลรัตนาราม และการแสดงประกอบแสงเสียงขบวนแห่เทียนภาคกลางคืน รวมทั้งการถ่ายทอดสดผ่านอินเตอร์เน็ต
วันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ชมขบวนแห่เทียนพรรษาประกอบขบวนฟ้อนรำอันยิ่งใหญ่ของชาวอุบลฯ พร้อมถ่ายทอดทางอินเตอร์เน็ต ตามเส้นทางถนนอุปราชบริเวณหน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม ขึ้นไปทางทิศเหนือเป็นระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร
วันที่ 17 – 31 กรกฎาคม 2554 สำหรับผู้ที่พลาดชมวันสำคัญ สามารถมาชมต้นเทียนพรรษาที่ได้รับรางวัล ซึ่งตั้งโชว์ที่บริเวณ หน้าเทศบาลนครอุบล และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุบลราชธานี
ทั้งหมดนี้คือกิจกรรมสืบศาสตร์สานศิลป์ ที่ ททท. และจังหวัดอุบลราชธานีได้รังสรรค์ขึ้น เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนจังหวัดอุบลราชธานี ตลอดเดือนกรกฏาคม 2554 และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การจัดงานประเพณีแห่เทียนครั้งนี้ ให้เป็นไปอย่างกว้างขวาง ทางจังหวัดอุบลราชธานี โดย นายสุรพล สายพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ซึ่งเป็นแม่งานหลักของการจัดงานครั้งนี้ ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำเว็ปไซด์กลาง ซึ่งจะคอยนำเสนอความคืบหน้า และรายละเอียดของการจัดงาน รวมทั้งการถ่ายทอดสด การจัดกิจกรรมต่างๆให้ผู้ที่สนใจได้ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยสามารถติดตามได้ที่เว็ปไซด์www.amazingubon.com
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีจุดบริการอินเทอร์เน็ตใร้สายฟรี ในเส้นทางขบวนแห่เทียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารให้กับนักท่องเที่ยว ที่มาร่วมงานประเพณีอันยิ่งใหญ่นี้ด้วย นับเป็นความคุ้มค่าของนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานีในปี 2554 นี้ ซึ่งทางจังหวัดอุบลราชธานี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมพร้อมสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือน
สามารถสอบถามความคืบหน้าและรายละเอียดการจัดงานเพิ่มเติม ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี (ททท.สอบ.) โทรศัพท์ 045-243770,250714 หรือ www.tatubon.org และ www.amazingubon.com
งานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2554 จังหวัดเชียงราย
กำหนดการจัดงาน : วันที่ 16 กรกฎาคม 2554 (แรม 1 ค่ำ เดือน 8) ณ บริเวณสวนตุงและโคมเชียงราย และ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงราย
รายละเอียด : เทศบาลนครเชียงรายกำหนดจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2554 มุ่งการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ณ บริเวณสวนตุงและโคมเชียงรายฯ และ วัดพระสิงห์ พร้อมเชิญชวนชุมชนร่วมส่งขบวนเทียนพรรษาเข้าประกวด โดยจัดให้มีขบวนแห่เทียนพรรษา ระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ณ สวนตุงและโคมเชียงรายฯ และ วัดพระสิงห์
กิจกรรม
การประกวดต้นเทียนพรรษา
1. การประกวดต้นเทียนพรรษาประเภทสวยงาม และความคิดของคณะศรัทธาร่วมกับวัดต่าง ๆ ในเขตเทศบาลนครเชียงรายประดับตกแต่งบนรถบรรทุกเล็ก (รถกระบะ)
2. การประกวดต้นเทียนพรรษาประเภทสวยงาม และเครื่องทรงอันเป็นบริวารพร้อมขบวนแห่ (แกะสลักบนยานพาหนะ)
ขบวนแห่เทียนพรรษา
ชมการแสดงดนตรีล้านนา
วัดพระสิงห์เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่ถนนสิงหไคล ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย สันนิษฐานกันว่า น่าจะสร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 1928 ในรัชสมัยของพระเจ้ามหาพรหม พระอนุชาของพระเจ้ากือนา เจ้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมาครองเมืองเชียงรายระหว่างพุทธศักราช 1888 - 1943
สาเหตุที่วัดนี้ มีชื่อว่า "วัดพระสิงห์" นั้น น่าจะเป็นเพราะครั้งหนึ่ง เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย คือ พระพุทธสิหิงค์ หรือที่เรียกกันในชื่อสามัญว่า "พระสิงห์" ปัจจุบันวัดพระสิงห์เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์ (หรือพระสิงห์) จำลองศิลปะเชียงแสน ปางมารวิชัย ชนิดสำริดปิดทอง เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศักราช 7๐๐ ในประเทศลังกา และประดิษฐานอยู่ที่ลังกา 1150 ปี จากนั้นก็ได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังราชอาณาจักรไทย
ข้อมูลเพิ่มเติม เทศบาลนครเชียงราย โทร. +66 5371 1333 ต่อ 304 - 5, 307 ททท. สำนักงานเชียงราย โทร. +66 5371 7433, +66 5374 4674-5
งานประเพณีเข้าพรรษา จังหวัดร้อยเอ็ด
กำหนดการจัดงาน : วันที่ 15 กรกฎาคม 2554 ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
รายละเอียด : เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด ส่วนราชการสถานศึกษา พ่อค้า ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด กำหนดจัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาประจำปี 2554 ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 ณ บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด โดยจัดให้มีพิธีหล่อเทียนพรรษาแบบดั่งเดิม การประกวดต้นเทียนประเภทแกะสลัก การประกวดขบวนแห่เทียน และการประกวดธิดาเทียน ซึ่งจะมีคุ้มวัดต่าง ๆ ในเขตเทศบาลเข้าร่วมจำนวน 14 คุ้มวัด
วันที่ 15 กรกฎาคม 2554
ภาคเช้า
เวลา 09.00 น. จัดให้มีพิธีหล่อเทียนพรรษาแบบดั้งเดิม โดยเปิดรับบริจาคขี้ผึ้งจากพุทธศาสนิกชนเพื่อนำไปหล่อต้นเทียนพรรษา ผู้ที่มีความประสงค์บริจาคได้ที่ สำนักงานเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด หรือที่บริเวณงานก่อนพิธีหล่อเทียน
ภาคบ่าย
เวลา 15.00 น. พิธีเปิดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาประจำปี 2554 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธาน จากนั้นขบวนต่าง ๆ เคลื่อนผ่านหน้าประธานในพิธี
ขบวนที่ 1 ได้แก่ วัดบึงพระลานชัย
ขบวนที่ 2 ได้แก่ วัดกลางมิ่งเมือง
ขบวนที่ 3 ได้แก่ วัดเหนือ
ขบวนที่ 4 ได้แก่ วัดท่านคร
ขบวนที่ 5 ได้แก่ วัดเวฬุวัน
ขบวนที่ 6 ได้แก่ วัดคุ้มวนาราม
ขบวนที่ 7 ได้แก่ วัดป่าเรไร
ขบวนที่ 8 ได้แก่ วัดราษฎรอุทิศ
ขบวนที่ 9 ได้แก่ วัดสระทอง
ขบวนที่ 10 ได้แก่ วัดสระแก้ว
ขบวนที่ 11 ได้แก่ วัดศรีทองไพบูลย์
ขบวนที่ 12 ได้แก่ วัดราษฏร์ศิริ
ขบวนที่ 13 ได้แก่ วัดบูรพาภิราม
ขบวนที่ 14 ได้แก่ วัดบ้านหนองหญ้าม้า สำหรับวัดสว่างอารมณ์ ปีนี้ไม่พร้อมในการร่วมกิจกรรม
เวลา 18.00 น. ชมการประดวดธิดาเทียน ประกาศผลการประกวดประเภทต่างและมอบรางวัล การประกวดต้นเทียน การประกวดขบวนแห่เทียน การประกวดธิดาเทียน การสาธิตแกะสลักต้นเทียน
ข้อมูลเพิ่มเติม เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด โทรศัพท์ +66 4351 1222 ททท. สำนักงานขอนแก่น (ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม) โทรศัพท์ +66 4324 4498 – 9
** กำหนดการจัดงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ โปรดตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งก่อนเดินทาง **
งานแห่เทียนพรรษา จังหวัดมหาสารคาม
กำหนดการจัดงาน : วันที่ 15 กรกฎาคม 2554 ณ สนามหน้าศาลากลาง จังหวัดมหาสารคาม
รายละเอียด : งานแห่เทียนพรรษา จังหวัดมหาสารคามจะจัดก่อนวันเข้าพรรษาหนึ่งวัน ในงานจะมีขบวนแห่เทียนของคุ้มต่างๆ และมีการประกวดความสวยงามของเทียน รวมถึงพิธีหล่อเทียน 17 วัด แห่เทียนไปวัด
ข้อมูลเพิ่มเติม เทศบาลเมืองมหาสารคาม โทรศัพท์ +66 4374 0826 – 8 ททท. สำนักงานขอนแก่น (ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม) โทรศัพท์ +66 4324 4498 – 9
พลังศรัทธา แห่เทียนโคราช
เทศบาลนครนครราชสีมา กำหนดจัดงานประเพณีอันดีงามตามรอยเส้นทางพระพุทธศาสนา ประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดนครราชสีมา ประจำปี 2554 "พลังศรัทธา แห่เทียนโคราช" ระหว่างวันที่ 15 – 17 กรกฎาคม 2554 ณ สวนเมืองทอง, สวนท้าวสุรนารี, สวนอนุสรณ์สถานฯ และบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
การจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดนครราชสีมา ในปี 2554 "พลังศรัทธา แห่เทียนโคราช" พลังบุญแห่งความศรัทธาอันเป็นมหามงคลยิ่งใหญ่ โดยเน้นองค์ประกอบของต้นเทียน สุดยอดการแกะสลักและการหล่อต้นเทียนอันสวยงาม ที่บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า การเทิดพระเกียรติ และวัฒนธรรมประเพณีแหล่งท่องเที่ยว ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครราชสีมา ตลอดจนเชิญชวนนักท่องเที่ยว ให้เดินทางมาสัมผัสบรรยากาศของการแห่เทียนพรรษา ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น และร่วมกิจกรรมทำบุญตักบาตรในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา อันจะเป็นสิริมงคลสูงยิ่ง
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การประกวดต้นเทียนพรรษา ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การนั่งสมาธิวิปัสสนา ฟังธรรมบรรยายจากพระวิทยากร ถวายความจงรักภักดี พระบรมรูปหล่อจำลองจากเทียน เทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ทั้ง 9 รัชกาล ที่ถือเป็นครั้งแรกของจังหวัดนครราชสีมา กราบไหว้สักการะพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปประจำวันเกิด รูปหล่อพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง 9 วัดของจังหวัดนครราชสีมา ทำบุญถวายสังฆทาน ทำบุญถวายแผ่นเทียนจารึกเพื่อไปหล่อพุทธบูชา การแสดง แสง สี เสียง ขบวนรถเทียนพรรษา มหกรรมสินค้า OTOP อาหารพื้นเมือง มหรสพสมโภช และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายตลอดการจัดงาน
นักท่องเที่ยวที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลนครนครราชสีมา โทรศัพท์ 0 4427 5933, www.facebook.com/koratcandle, ททท. สำนักงานนครราชสีมา โทรศัพท์ 0 4421 3030, 0 4421 3666 และ www.tourismthailand.org/nakhonratchasima E – Mail : tatsima@tat.or.th
งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดกาฬสินธุ์
กำหนดการจัดงาน : วันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์
รายละเอียด : อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ได้จัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาประจำทุกปี เพื่ออนุรักษ์ประเพณีไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดไว้ต่อไป ซึ่งงานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นงานประเพณีที่รวมความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น โดยเริ่มตั้งแต่การที่ชาวบ้านร่วมบริจาคเทียน เอามาหลอมหล่อเป็นเทียนเล่มใหญ่เล่มเดียวกัน เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่คณะไปในตัว การสรรหาภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีฝีมือทางช่าง มีความรู้ ความชำนาญในเรื่อง การทำลวดลายไทย การแกะสลักลวดลายลงบนต้นเทียน การทำเทียนให้เป็นลายไทยแล้วนำไปติดบนต้นเทียน การประดับด้วยผ้าฝ้าย ผ้าไหม ดอกไม้สด ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของช่างในท้องถิ่น
ส่วนการจัดขวนแห่ก็ล้วนแต่ใช้ของพื้นเมือง เช่น เครื่องแต่งกายขอขบวนฟ้อน จะใช้ผ้าพื้นเมืองเป็นหลัก การฟ้อนรำจะใช้ท่ารำที่ดัดแปลงมาจากวิถีชีวิต การทำมาหากินของชาวบ้าน เป็นท่ารำในรูปแบบของศิลปะที่งดงาม ดนตรีประกอบก็เป็น เครื่องดนตรีประจำถิ่น ผสมเข้ากับการขับร้องที่สนุกสนานเร้าใจ ทำให้งานประเพณีนี้ยิ่งใหญ่ ประชาชนต่างเฝ้ารอคอย ศิลปะการฟ้อนรำที่นิยมนำมาประกอบการแสดงในขบวนแห่ คือ การรำเซิ้งต่าง ๆ เช่น เซิ้งกระลอ เซิ้งกระติบ เซิ้งสวิง เซิ้งแหย่ไข่มดแดง ซึ่งดัดแปลงมาจากการประกอบอาชีพในวิถีชีวิตประจำวันทั้งสิ้น
งานแห่เทียนพรรษา เป็นงานที่ทำให้คนวัยรุ่น หนุ่มสาว ได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดและสัมผัส กับศิลปวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่การเข้าเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือ เป็นลูกมือช่างของทาง วัดในการแกะสลักทำลวดลายต้นเทียน ค้นคว้าหาวิธีการทำเพียรพรรษาให้วิจิตรพิศดาร งดงาม แต่ประหยัด การเข้าร่วมในขบวนแห่ จะเป็นการผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เช่น การเล่นดนตรีพื้นบ้าน โปงลาง หรือเป่าแคน จะมีทั้งผู้สูงอายุและคนหนุ่มสาว ส่วนขบวนฟ้อนรำ จะใช้เด็กๆ รุ่นเยาว์ ถึงวัยหนุ่มสาวมากกว่าคนสูงวัย ซึ่งคาดหวังได้ว่า ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น จะสืบทอดต่อไปอีกยาวไกล
ข้อมูลเพิ่มเติม เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ โทรศัพท์ +66 4382 1354 – 6 ททท. สำนักงานขอนแก่น (ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม) โทรศัพท์ +66 4324 4498 – 9
** กำหนดการจัดงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ โปรดตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งก่อนเดินทาง **
งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดพะเยา
กำหนดการจัดงาน : วันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ณ สนามหลังเทศบาลเมืองพะเยา อ.เมือง จ.พะเยา
รายละเอียด : เทศบาลเมืองพะเยา กำหนดจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2554 เนื่องในโอกาสวันเข้าพรรษา ผ่านการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ของประชาชนในเขตเทศบาลฯและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเป็นการร่วมส่งเสริมและทำนุบำรุงพระพุทธ
เนื่องในโอกาสวันเข้าพรรษาของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันสำคัญของทางพระพุทธศาสนา เทศบาลเมืองพะเยา จึงได้มีการกำหนดจัดงานแห่เทียนพรรษาขึ้น เพื่อเป็นการร่วมส่งเสริมพระพุทธศาสนาและรักษาไว้ ซึ่งในประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ตลอดจนเพื่อแสดงออกถึงความรัก ความสามัคคีของประชาชนในชุมชนตลอดจนทุกภาคส่วน พร้อมทั้งยังเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง ผ่านการจัดกิจกรรมวัฒนธรรมมากมาย ประกอบด้วย การแห่เทียนพรรษาของคณะชุมชนในเขตเทศบาลเมืองพะเยา จำนวนกว่า 13 ชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ การประกวดขบวนแห่เทียนพรรษา การประกวดเทียนพรรษา และการประกวดฟ้อนเล็บ
ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนชาวพะเยา ตลอดจนผู้ที่สนใจร่วมแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง เข้าร่วมกิจกรรมในงานครั้งนี้โดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นการร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีงามของล้านนา
ข้อมูลเพิ่มเติม เทศบาลเมืองพะเยา โทรศัพท์ +66 5443 1350, +66 5448 2331 และ ททท. สำนักงานเชียงราย (เชียงราย พะเยา) โทรศัพท์ +66 5371 7433, +66 5374 4674 – 5
** กำหนดการจัดงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ โปรดตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งก่อนเดินทาง **
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
และ indochinaexplorer.com