

ไต่ทางชันสู่เขานั้น...เขานัน (อสท)
ปิยะฤทัย ปิโยพีระพงศ์...เรื่อง
บารมี เต็มบุญเกียรติ...ภาพ
ถ้าพวกเขารู้ว่าฉันกำลังคิดอะไร จะขุ่นเคืองใจหรือเปล่านะ ? เพราะขณะที่ย่ำเท้าลงบนพื้นดินขรุขระ ที่หนทางมีแต่จะไต่สูงชันขึ้น บ่อยครั้งที่ฉันก้มลงมองรองเท้าเดินป่าคู่โปรด ที่สวมมันทุกครั้งเมื่อเข้าป่ารกเรื้อ แล้วนึกถึงคนพิเศษขึ้นมาเสียอย่างนั้น จะมีรองเท้าสักกี่คู่ที่เรารู้สึกถึงความพอดี คุ้นเคย และมั่นใจว่ามันจะช่วยประคับประคองเราไปบนเส้นทางสมบุกสมบัน มั่นใจ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินไปบนหนทางไกล สูงชัน ซึ่งพื้นดินลื่นและด้วยสายฝนที่กระหน่ำหนักลงมาทุกวัน
เช่นขณะที่ฉันกำลังเริ่มต้นไต่ขึ้นไปยังจุดหมาย ที่นักเดินป่ารู้จักในชื่อ "ยอดหกพู" ในเขต อุทยานแห่งชาติเขานัน บนเทือกเขาหลวงของนครศรีธรรมราช รองเท้าคือสิ่งสำคัญ...ไม่ต่างจากคนคุ้นเคยที่ไว้วางใจกันได้เลยทีเดียว
1. นั่นไม่น่าสนใจเท่าเสียงหวานใสของนกกางเขนน้ำหลังขาว ที่แทรกผ่านออกมาอย่างชัดเจน นึกถึงคำของนักดูนกและนักเดินป่าตัวกลั่นที่เคยบอกไว้ว่า นกชนิดนี้เป็นดั่งดัชนีวัดความบริสุทธิ์ของสายน้ำ เพราะมันจะอาศัยอยู่ริธารน้ำใสสะอาดเท่านั้น ฉันอดยิ้มไม่ได้ เพราะเส้นทางช่วงแรกที่เราดุ่มเดินอยู่นี้ คือทางกรวดขรุขระอันเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่เฟลด์สปา ซึ่งทุกวันนี้ อีกฝั่งฟากของลำธารขนาดใหญ่ รถบรรทุกขนแร่ยังแล่นเข้าออกเป็นประจำจนย่ำเย็น
เอก หรือ ชนุดม ชุมจันทร์ หนุ่มนักสื่อความหมายธรรมชาติ ที่เป็นคนนำทางของเราบอกว่า เส้นทางเดินขึ้น ยอดหกพู หรือ ยอด 1,410 อันมีความหมายถึงยอดสูง 1,410 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง มีจุดเริ่มต้นเดิน 2 ทาง คือ เส้นหนึ่งเริ่มเดินจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ คลองกัน เป็นเส้นทางชันดิกตั้งแต่แรก แล้วไต่ขึ้น ๆ ตลอด ส่วนอีกเส้นทางคือเริ่มเดินจากบริเวณเหมืองแร่เฟลด์สปา ที่เรากำลังเดิน ๆ หยุด ๆ อยู่นี่แหละ ทางเส้นนี้มีระยะไกลกว่าทางจากหน่วยฯ คลองกัน แต่ความชันนั้นน้อยกว่า และเดินง่ายกว่า เพราะสภาพทางเป็นถนนลำลองที่ชาวบ้านใช้เป็นประจำ ถึงแม้จะเป็นทางถนน แต่ก็ใช้ว่าจะเดินกันสบาย เพราะเส้นทางโค้งคดขึ้นเขารีดแรงได้ไม่น้อย เมื่อผ่านพ้นเขตเหมืองแร่ก็เข้าสู่เขตเรือกสวนของชาวบ้าน มีบ้านไม้ตั้งอยู่โดดเดี่ยวให้เห็นระหว่างทาง พอให้รู้ว่าแถบนี้เรียกว่าป่าได้ไม่เต็มปากนัก

"ไปไม่ได้หรอก ฝนตกหนักแบบนี้ ป่านนี้น้ำเต็มลำธารแล้ว" ตา บอกด้วยเสียงนิ่งเรียบ ทว่า นัยน์ตากลับฉายแววกังวลใจ เอก ยิ้มไม่ได้ตอบอะไร นานนับชั่วโมงกว่าฝนจะชาเม็ด ยายซึ่งเดินกางร่มหายไปตามทางโค้งเนินเมื่อสักครู่ เดินกลับมาพร้อมกับส่ายหน้า "ไปไม่ได้หรอกลูกเอ๊ย น้ำท่วมเต็มแล้ว" ฉันหันไปมองเอก เขายังคงยิ้ม แล้วเงียบเหมือนเดิม สักพักก็เอ่ยปากว่าเราควรออกเดินทางได้แล้ว เราจึงหันไปยกมือไหว้ขอบคุณตายายสำหรับการให้อาศัยร่มเงาพักพิง ยิ่งไปกว่านั้น ฉันขอบคุณแววตาเอื้ออาทรของสองผู้เฒ่าด้วยความซาบซึ้งใจ

แล้วก็เป็นอย่างที่ยายบอก เมื่อเราเดินขึ้นมาถึงลำธาร ห่างจากบ้านตายายไม่กี่เมตร ก็เห็นมวลน้ำมีน้ำตาลเข้มกระแทกซู่ดังโครมลงสู่แอ่งเบื้องล่าง แล้วแตกกระจายก่อนหมุนวนเป็นคลื่นคลั่ง เสียงโครมครืนของสายน้ำ ชวนให้ครั่นคร้ามนัก เราจะผ่านมันไปได้อย่างไร ? "ขึ้นไปข้ามลำธารด้านบนก็แล้วกัน" เอก หันไปบอก แนน ลูกหาบหนุ่มน้อยที่ร่วมทางมาด้วย เราเดินตัดผ่านสวนทุเรียน สวนมังคุด และสวนยางพาราของชาวบ้าน ฝ่าปรอยฝนขึ้นไปตามรอยทางเล็ก ๆ ด้วยความหวังว่า เมื่อไปถึงที่นั่น น้ำป่าคงจะพุ่งละลิ่วลงสู่เบื้องล่างหมดแล้ว แต่ไม่เป็นเช่นนั้น ลำธารด้านบนขุ่นคลั่กทะลักล้น แทบไม่ต่างจากลำธารที่เราเดินเลียบผ่านมา เราจึงติดแหง็กอีกชั่วโมงว่าอยู่ใต้หลังคาบ้านไม้หลังน้อย ที่บัดนี้เจ้าของหนีฝนหลงฤดูลงไปอยู่ที่พื้นราบเบื้องล่าง เท่ากับว่าวันนี้เราใช้เวลาไปกับการหยุดรอฝนซาราว ๆ 3 ชั่วโมงเลยทีเดียว
เริ่มออกเดินกันอีกครั้ง เมื่อเข็มสั้นตรงหน้าปัดนาฬิกาเคลื่อนไปอยู่ที่เลข 2 "จริง ๆ ตอนนี้เราควรจะใกล้ถึงจุดตั้งแคมป์แล้ว" เอก บอกยิ้ม ๆ ฉันยิ้มตอบ แต่เป็นยิ้มที่แห้งเสียเต็มประดา น่าแปลกจริง ๆ ที่ลำธารซึ่งเคยขุ่นคลั่กไหลลิ่วรี่รุนแรง ตอนนี้กลับกลายเป็นธารใส ผิดแผกกันลิบลับกับเมื่อ 2 - 3 ชั่วโมงก่อน ฉันค่อย ๆ หยั่งเท้าลงเหยียบหินใต้น้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ลื่นพรวดลงน้ำ ยิ้มให้กับรองเท้าคู่ใจ ที่ให้สัมผัสถึงการเหยียบหยัดอย่างมั่นคงได้ดีเช่นเดิม
ข้ามพ้นลำธารมาแล้ว คราวนี้เราก็เข้ามาสู่ผืนป่าดิบรกเรื้อ ดินขึ้นฉ่ำฝนถูกปกคลุมด้วยซากใบไม้ร่วงหล่นทับถมเป็นชั้น ทุกคนเร่งเท้าไต่ทางชันโดยแทบไม่พัก เพราะรู้ว่าเสียเวลาไปกับการรอฝนชาหลายชั่วโมงแล้ว ยิ่งเมื่อเห็นทากชูคอยืดยาวส่ายไปมา จังหวะก้าวของฉันก็เร็วกว่าเดิม กระนั้นก็ยังไม่วายถูกเจ้าตัวดูดเกาะหนึบติดน่อง ติดต้นขา และติดเอวมาพอประมาณ ขนาด เอก บอกว่าทางเส้นนี้ทากไม่เยอะเท่าไหร่ แต่หยุดทีไร ก็เป็นได้แกะทากดีดทิ้งทุกทีไป

ป่าเขานันนี้ร่มครื้มด้วยเรือนยอดไม้สูงใหญ่ปกคลุม ต้นยาง ต้นตะเคียน ต้นกระบก ขึ้นโดดเด่นอยู่ตลอดทาง หลายต้นถูกไทรเลื้อยพันโอบคลุมจนกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน ส่วนพื้นดินนั้นก็มากมายด้วยไปไม้ร่วงกองก่ายเกย รวมทั้งยังมีลูกไทร ลูกกระบก ตกเกลื่อนเป็นอาหารให้สรรพสัตว์ในป่าได้อิ่มเอม ไอเย็นขึ้นแผ่คลุมไปทั่ว และที่แน่นอนคือ ทางราบเรียบแทบไม่มี มองเส้นทางเดินต่อไปครั้งใดก็ต้องแหงนหน้าทุกทีไป
"เส้นทางขึ้นยอด 1,410 นี่เดินง่ายที่สุด ในบรรดาเส้นทางเดินป่าของอุทยานฯ เขานันแล้วครับ แถมยังโดดเด่นตรงที่มีกล้วยไม้หลายชนิดทยอยกัน บานให้ดูตลอดทั้งปี" เอก เอ่ยขึ้นเมื่อเราหยุดพักระหว่างทาง "ช่วงเดือนมกราฯ กุมภาฯ มีกุหลาบขาว รองเท้านารีคางกบ เองแมงมุม สิงโตพัดเหลือง ส่วนเอื้องสายเสริด สิงโตอาจารย์เต็ม ช่อม่วง เอื้องเทียน มีให้เห็นในเดือนมีนาฯ เมษาฯ ส่วนหน้าฝน เอื้องจะน้อยหน่อย แต่ก็พอมีให้เห็นครับ"

ทว่า เส้นทางที่เดินง่ายที่สุดของ เอก กลับกลายเป็นการเดินทางอันยากลำบากสำหรับฉัน ไม่ใช่เพราะทางชัน แต่เป็นเพราะฝนที่กระหน่ำลงมาแทบไม่ขาดสาย ทำให้ทางลื่น เดินลำบาก และหนาวเหน็บ เอกบอกว่า 2 - 3 ปีมานี้ ไม่มีฤดูกาลที่แท้จริงอีกแล้ว ได้ลืมเหนื่อยอย่างสนิทใจก็เมื่อหยุดพักอยู่ในหุบริมลำธารใส ขณะที่แหงนหน้ามองฟ้าหม่นมัว นกขนาดใหญ่ก็ค่อย ๆ ทยอยบินผ่านเหนือหัวอย่างเงียบเชียบ ฉันเรียกให้ทุกคนแหงนเงยดู "นกเงือกหัวหงอก!" เอก ส่งเสียงเบา ๆ แต่น้ำเสียงนั้นไม่ธรรมดา "หนึ่ง สอง สาม..." ฉันจับตามองฝูงนกขนาดใหญ่บินผ่านไปเป็นสายอย่างเพลินใจ "สิบห้าตัว ! ผมไม่เคยเห็นนกเงือกหัวหงอกฝูงใหญ่อย่างนี้มาก่อนเลย" คำบอกเล่าของ เอก ทำให้ฉันยิ้ม โชคดีจริงที่แหงนมองฟ้า เพราะถ้ามัวก้มหน้าก้มตาคงไม่ได้เห็นนกหายากจำนวนมากอย่างนี้ เพราะเจ้านกเงือกหัวหงอกนั้นบินเงียบ แทบไม่มีเสียงลมผ่านช่องว่างระหว่างขนปีกดังพึ่บ ๆ เหมือนนกกก ที่เราจะได้ยินเสียงก่อนเห็นตัว
จากริมลำธาร เดินไต่ทางชันอีกนิดเดียว เราก็มาถึงพื้นที่ราบขนาดเล็กตรงเนินลาดเขา "ตั้งแคมป์กันตรงนี้ละครับ เดี๋ยวจะมืดซะก่อน" ฝนยังคงกระหน่ำสลับกับโปรยปราย สายหมอกไหลจากที่ต่ำลอยเคลื่อนสู่บริเวณที่เราตั้งแคมป์ อากาศเย็นยะเยือก เสียงหรีดหริ่งเรไรระงมก้อง ค่ำคืนนี้อาจมีเพียงเรา 4 คนที่แรมคืนกลางไพร ก็ใครกันล่ะอยากจะมาเดินฝ่าฝนหนักและลมแรงเช่นนี้ จะว่าไป...เราเองก็ไม่ได้ตั้งใจ ทว่า เมื่อเดินทางมาถึงพร้อม ๆ กับลมมรสุมที่พัดผ่านผิดฤดู เราก็ยังเต็มใจที่จะเดินตากฝนตัวเปียกปอนเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย ณ ความสูง 1,410 เมตร ด้วยความหวังว่า พรุ่งนี้อากาศจะดีกว่าเดิม

2. ดูเหมือนว่าอะไรต่อมิอะไรจะผิดแผนไปหลายอย่าง รวมทั้งการที่น้ำฝนไหลผ่านเชือกเปลเข้ามาขังอยู่ในเปล และถุงนอนของฉันจนขึ้นฉ่ำ ทั้ง ๆ ที่ผูกผ้าตรงสายเปลเพื่อดักน้ำไว้แล้ว เราเริ่มเดินออกจากพื้นที่ตั้งแคมป์เมื่อตอนสาย ๆ ไต่ขึ้นมาตามทางที่ร่มครึ้มด้วยเงาเรือนยอดของต้นไม้สูงใหญ่ หลายต้นมีกล้วยไม้เล็ก ๆ ชายผ้าสีดา เฟิร์นข้าหลวง ฯลฯ ขึ้นเกาะบนคาคบ ดูชุ่มชื้นสมบูรณ์ไม่เพียงเฉพาะพรรณไม้ตามทางเดิน เรายังเห็นรอยตีนสมเสร็จย่ำลึกลงบนดินชุ่ม อีกทั้งยังมีกองอึมหึมาของมันเป็นหลักฐานประกอบ ช่างภาพผู้ชำนาญป่าฟันธงว่า "รอยใหม่เลย มันคงผ่านไปเมื่อคืนนี้แหละ ถ้าได้เจอก็ดีสิ เราเดินกันเงียบ ๆ อาจเจอตัวสมเสร็จก็ได้นะ" แต่สัตว์ป่าก็ไม่ได้ออกมาให้เห็นง่าย ๆ อย่างที่หวัง แม้จะย่ำเงียบกันเพียงไหน ก็ได้เห็นเพียงรอยตีนที่ย่ำไว้ก่อนหน้าเรา สุดท้ายทุกคน ก็เลยหันไปมองหากล้วยไม้สวย ๆ ซึ่งก็ได้เจอแต่ใบเขียวชอุ่มแน่นขนัดเต็มคาคบไม้
เกือบชั่วโมงเราก็เดินไต่ขึ้นมาถึงลานบัวแฉก ที่ละลานไปด้วยเฟิร์นโบราณ ซึ่งสืบสายพันธ์มายาวนานกว่า 230 ล้านปี เป็นช่วงจังหวะที่ลมแรงพัดพรูจนเย็นเยียบ หมอกฝนขาวโพลลอยไล่ระเรื่อยมาตามแรงลม บรรยากาศรอบตัวชวนให้คิดว่าเราก้าวขึ้นมาสู่ป่าดึกดำบรรพ์อย่างนั้น ระดับความสูงยิ่งมากขึ้น ต้นไม้ก็ยิ่งเตี้ยลง จากป่าดิบ เราเข้าสู่ป่าดิบเขา ซึ่งไม้ใหญ่ถูกห่มคลุมด้วยมอสเขียวชอุ่มชุ่มชื้น
จนเดินมาถึงทางแยก ด้านซ้ายจะมุ่งขึ้นไปยัง ยอด 1,410 ส่วนแยกขวาตัดลงไปยังหุบที่นำขึ้นไปสู่ ยอดเขาเต่า ความสูง 1,200 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นจุดตั้งแคมป์ในคืนแรก ด้วยสภาพพื้นที่ที่ยังถูกห่มคลุมด้วยม่านฝน และเวลาการทำงานที่เหลือน้อยลง เราจึงเปลี่ยนแผนไปตั้งแคมป์ที่ยอดเขาเต่าตั้งแต่สี่โมงเย็น เพื่อจะได้เก็บภาพและบรรยากาศของวันนี้ แล้วรอลุ้นภาพทะเลหมอกขาวสะพรั่งในรุ่งเช้าของวันพรุ่ง โดยเก็บ ยอดเขานัน 1,410 ไว้เป็นจุดหมายในวันที่สภาพอากาศดีกว่านี้

หลังจากแยกขวาลงมา ก็พบว่าเส้นทางเดินง่ายกว่าเดิม แม้จะเฉอะแฉะ แต่ไม่ชันดิก พรรณไม้น่าดูก็มีให้เห็นมากขึ้น ทั้งสิงโตใบพัดเหลืองที่ขึ้นเกาะไม้ใหญ่ริมทาง เอื้องปากคู้ดอกน้อยสีเหลืองสดใส หม้อข้าวหม้อแกงลิงดงใหญ่ กุหลาบขาวที่ขึ้นโดดเด่นรับลมแรงอยู่ริมผา ฯลฯ เมื่อเดินตัดหุบเขาเพื่อไต่ขึ้นเขาเต่า ฉันก็ร้องอ๋อในใจ "เรายังเดินไม่ถึงครึ่งทางเลยครับ" คำบอกเล่าของ เอก ทำให้ฉันหัวเราะ หึ ๆ หลังจากสงสัยว่าเหตุใดขุนเขารูปร่างเหมือนเต่าชูคอยืด ยื่นเมื่อมองไกล ๆ จึงมีอีกชื่อว่า เขากระจูด หรือ เขาจูด เพราะลาดผาด้านที่ฉันกำลังไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ นี้ อุดมด้วยต้นกระจูด พรรณไม้จำพวกกก ซึ่งปกติจะขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำขัง น่าแปลกที่มาขึ้นดกดื่นอยู่ตรงนี้
เชิงเขาด้านดงกระจูดนับเป็นจุดชมวิวได้กระจ่างตา แต่วันนี้ลมแรงหอบหมอกฝนมาบดบังทุกอย่างจนขาวโพลน แม้กระทั่งเทือกเขาที่เราเพิ่งเดินจากมา ก็เห็นได้เพียงเลือนราง มิพักต้องพูดถึงที่ราบในหุบ ซึ่งจะมองเห็นรูปรอยของลำธาร ถนน และชุมชนเบื้องล่าง บัดนี้ก็ถูกม่านหมอกห่อคลุมอย่างมิดชิด ยืนรับลมหนาวดูวิวพอเพลินแล้ว ฉันก็เริ่มไต่ขึ้นสู่ยอดเขาเต่า เป็นความบังเอิญหรือการคัดสรรของธรรมชาติก็ไม่อาจรู้ เพราะบนเส้นทางชันดิกส่วนใหญ่แล้ว มักมีต้นไม้ขนดาเล็ก ที่หยั่งรากลึกมั่นคงให้เราเกาะเกี่ยวเหนี่ยวตัวขึ้นไป บนเส้นทางนี้ก็เช่นกัน ฉันได้อาศัยกำกระจูดดึงตัวเองขึ้นไปเรื่อย ๆ เห็นลำต้นเรียวบอบบางอย่างนั้น ออกแรงดึงเต็มที่กระจูดยังไม่ขาดเลย

ก้าวผ่านขึ้นมาสู่สันเขา ฉันพบว่ามีต้นไม้แคระแกร็นขึ้น เรียงรายประปราย โดยเว้นพื้นราบตรงกลางไว้ให้เราผูกเปลกัน อย่างเหมาะเจาะ แต่วันนี้เปลถูกผูกต่ำเตี้ยเกือบติดพื้นดินเฉอะแฉะ ที่รองรับน้ำฝนตลอด 3 - 4 วันที่ผ่านมา และเมื่อเราย่ำไปย่ำมาขณะที่ผูกเปล วางข้าวของ กางฟลายชีต พื้นดินนั้น ก็กลายเป็นหล่มโคลนราวกับปลักควายก็ไม่ปาน ม่านหมอกบางเบาถูกสายลมแรงกระโชกผ่านสันเขา ที่เราตั้งแคมป์ระลอกแล้วระลอกเล่า ความหนาวเย็นแผ่คลุม เอก บอกว่าบนยอดนี้อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี แต่ในเวลานี้แรงลมกลับรุนแรงเกรี้ยวกราด พัดปะทะฟลายชีตดังพึ่บ ๆ พร้อมกับพาละอองฝนเข้ามาด้วย เปลเย็นขึ้น ถุงนอนชุ่มฝน ฉันเพิ่งพบความจริงด้วยตัวเองว่า ขอแค่มีที่นอนสะอาด ๆ และผ้าห่มอุ่นสบายในค่ำคืนหนาวเหน็บเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว สำหรับการนอนหลับพักผ่อนของคนเรา
เม็ดฝนกระทบฟลายชีดดังเปาะแปะ พอ ๆ กับฟันของฉันที่กระทบกันดังกีก ๆ เพราะความหนาวยะเยือกได้ยินเสียงก็รู้แล้วว่า เช้านี้ไม่มีทะเลหมอกให้เห็น แต่จะเป็นไรไปเล่า ในเมื่อฉันได้รับรู้ถึงความเป็นป่าดิบอุดมแห่งเทือกเขาหลวง ที่วันนี้ยังคงความสมบูรณ์ของพืชพรรณ และสรรพสัตว์ให้ได้ก้าวขึ้นมาพบพาน แม้เป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่ง แต่หนทางที่ผ่านมา ก็ได้ "ให้" อะไรกับฉันมากพอดู
สิ่งจำเป็นในชีวิตไม่ใช่บ้านหลังใหญ่ รถยนต์หรู เสื้อผ้า แบรนด์เนม ทว่าคือพื้นที่ธรรมชาติอันเป็น “บ้าน” ของสรรพชีวิตมีร่มเงาคุ้มแดดคุ้มฝน มีลำธารใสสะอาด มีอาหารกินพออิ่มกับมีที่นอนอันอบอุ่น และที่ขาดไม่ได้ คือ “เพื่อนร่วมทาง” ที่ดี ซึ่งทำให้การเดินทางทุกครั้งมีความหมาย...แม้ว่าจะไปไม่ถึงปลายทางที่ตั้งใจไว้ก็ตาม

คู่มือนักเดินทาง
เขานัน ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 113 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2552 หลังจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบ ให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535
พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขานันครอบคลุมเขตอำเภอนบพิตำ อำเภอท่าศาลา และอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมียอดเขาสูงสุดคือเขานัน สูง 1,438 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง เป็นไฮไลต์สำหรับนักเดินป่า และมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ เช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติ บัวแฉกใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานฯ เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าเปลี่ยนสี "ป่าประ" ที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ต้นประจะแตกใบอ่อนเป็นสีแดง งดงามทั้งขุนเขา น้ำตกสุนันทา ซึ่งเป็นน้ำตกงดงาม ถ้ำหงส์ ซึ่งมีน้ำตกตั้งอยู่ภายใน ฯลฯ
การเดินทาง
จากกรุงเทพฯ ไปนครศรีธรรมราชได้ทั้งด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถไฟ รถโดยสารประจำทาง และเครื่องบิน




การเดินทางด้วยรถไฟ รถโดยสารประจำทาง และเครื่องบิน เมื่อถึงนครศรีธรรมราชแล้ว ให้เหมารถไปยังอำเภอท่าศาลา แล้วนัดหมายให้คนนำทางมารับ หรือนัดให้มารับที่สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง หรือสนามบินก็สะดวกดี
เดินป่าเขานัน
เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติเขานันมี 3 เส้นทาง คือ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 51 ฉบับที่ 9 เมษายน 2554