วัดโพธิ์ พระอารามหลวงคู่กรุงรัตนโกสินทร์ ตระการตาด้วยสถาปัตยกรรมงดงาม แหล่งรวบรวมศาสตร์และศิลป์ที่สำคัญหลากหลายแขนง
วัดโพธิ์ หรือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในกรุงเทพฯ และถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ต้องการจะเรียนรู้และสัมผัสวัฒนธรรมของประเทศไทยต้องเข้าไปเยี่ยมชมให้ได้สักครั้ง ในวันนี้เราจึงจะมาแนะนำเรื่องราวเกี่ยวกับวัดโพธิ์ ทั้งประวัติความเป็นมา สิ่งที่น่าสนใจต่าง ๆ ภายในวัด พร้อมวิธีการเดินทางไปวัดโพธิ์ สำหรับผู้ที่ต้องการจะเดินทางไปเยี่ยมชม
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ประวัติ
วัดโพธิ์ หรือ วัดโพธาราม มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร สาเหตุที่เรียกว่า วัดโพธิ์ เพราะผู้คนในอดีตเชื่อว่าเป็นที่ตั้งของต้นพระศรีมหาโพธิ์นั่นเอง และจากการสันนิษฐานโดยนักโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญพบว่า วัดแห่งนี้ได้มีการก่อสร้างตั้งแต่ช่วงหลังปี พ.ศ. 2231 หรือตั้งแต่สมัยอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ก็มีหลายฝ่ายที่เชื่อว่าได้มีการก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเพทราชา
อย่างไรก็ตาม ครั้นเมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดนี้ขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 2331 โดยได้ทำการบูรณะของเดิม และทรงสร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหารใหม่ จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2344 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส แปลว่า ที่อยู่อันงามของพระพุทธเจ้า และถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 อีกด้วย
นอกจากนี้ วัดโพธิ์ ยังได้ชื่อว่าเป็น มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 3 มีพระราชประสงค์ให้จารึกตำรายาและความรู้ต่าง ๆ ลงบนแผ่นหินอ่อนประดับไว้รอบวัด เพื่อให้ประชาชนในสมัยนั้นเรียนรู้และมีความรู้เพิ่มเติม ซึ่งตำราจารึกเหล่านั้น หรือ จารึกวัดโพธิ์ ในปัจุบันได้กลายมาเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก จากมติขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNSCO) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดโพธิ์
วัดโพธิ์ มีสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่มีความน่าสนใจมากมาย ควรค่าแก่การไปรับชมด้วยตาตัวเอง ประกอบไปด้วย
-
พระนอนวัดโพธิ์ หรือพระพุทธไสยาสน์ ที่มีขนาดใหญ่และมีความเก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ มีขนาดความยาว 46 เมตร ความกว้าง 2.5 เมตร ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งภายในยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่บันทึกสรรพวิชารายล้อมรอบตัวพระวิหารงดงามยิ่ง
ยัสสานุสสะระเณนาปิ อันตะลิก เขปิ ปาณิ โน ปะติฎิฐะมะธิ คัจฉันติ ภูมิยัง วิยะ สัพพะทา สัพพูปัททะวะชาลัมหา ยักขะโจราทิ สัมภะวา คะณะนานะจะ มุตตานัง ปะริตตันตัม ภะณามะ เหฯ
-
พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่ฐานชุกชีก่อไว้ 3 ชั้น ชั้นที่ 1 บรรจุพระบรมอัฐิและพระราชสรีรังคารรัชกาลที่ 1 ไว้ ชั้นที่ 2 ประดิษฐานรูปพระอัครสาวกทั้งสององค์ที่ฐานชุกชี ชั้นที่ 3 ซึ่งเป็นชั้นล่างสุด ประดิษฐานพระมหาสาวก 8 องค์ (พระอรหันต์ 8 ทิศ)
- พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ได้แก่
-
พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อครอบพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ สูง 16 เมตร นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1
-
พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงพระราชอุทิศถวายแด่พระบรมราชชนก คือรัชกาลที่ 2 นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 2
-
พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงพระราชถวายอุทิศถวายเป็นพุทธบูชา นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 3
-
พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้นตามแบบพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย กรุงศรีอยุธยา นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 4
-
-
พระระเบียง องค์ประกอบส่วนหนึ่งที่สร้างล้อมรอบพระอุโบสถ มี 2 ชั้น ซึ่งทั้ง 2 ชั้นเชื่อมต่อด้วยพระวิหารทิศรอบพระอุโบสถทั้งสี่ทิศ โดยชั้นในประดิษฐานพระพุทธรูป 150 องค์ และชั้นนอกประดิษฐานพระพุทธรูป 244 องค์ พระพุทธรูปทุกองค์ล้วนเป็นเนื้อสำริด มีพุทธลักษณะงดงามอร่ามตา เป็นพุทธศิลป์ในยุคสมัยต่าง ๆ เช่น สุโขทัย เชียงแสน ลพบุรี อู่ทอง และอยุธยา
-
ยักษ์วัดโพธิ์ ประติมากรรมที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งประวัติการสร้างยักษ์วัดโพธิ์นั้นเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้รื้ออสูรเฝ้าประจำประตูทั้ง 4 ประตูออก แล้วนำลั่นถันหรือตุ๊กตาศิลาจีนมาแทน และได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปยักษ์ขนาดเล็ก จำนวน 8 ตน ตั้งไว้ที่ทางเข้าหอไตรจตุรมุข (พระมณฑป) ตรงซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 1 คู่ เพื่อให้ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาหอพระไตรปิฎก แต่ในปัจจุบันปรากฏรูปยักษ์อยู่เพียง 2 คู่เท่านั้น คือ มัยราพณ์กับแสงอาทิตย์ อยู่ที่ประตูทิศตะวันตกเฉียงใต้ และพญาขรกับสัทธาสูร อยู่ที่ประตูทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้ วัดโพธิ์ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น เขามอและเขาฤาษีดัดตน พระมณฑป (หอไตรจตุรมุข) พระวิหารทิศ พระวิหารคด ตำหนักวาสุกรี ซู้มประตูทรงมงกุฎ ศาลาการเปรียญ พระมหาสถูป กำแพงแก้ว ศาลาราย ตุ๊กตาจีน รวมถึงยังเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีประมาณ 99 องค์ ซึ่งเจดีย์เหล่านี้ถูกประดับประดาด้วยกระเบื้องเคลือบโบราณ ลวดลายดอกไม้สีสันสดใสสวยงาม ถ้าใครเดินเที่ยวชมสถาปัตยกรรมที่วิจิตรตระการตาจนเมื่อยขาแล้วก็สามารถแวะนวดแผนไทย แบบฉบับต้นตำรับวัดโพธิ์ ในราคาเพียง 350 บาทต่อชั่วโมงด้วย
การเดินทางไปวัดโพธิ์
เดินทางกับขนส่งสาธารณะ
-
เรือด่วนเจ้าพระยา โดยขึ้นที่ท่าเรือท่าช้าง หรือท่าวัดอรุณ แล้วนั่งเรือข้ามฟากมาขึ้นที่ท่าเตียน หรือท่าราชินี
-
รถโดยสารประจำทาง สาย 1, 3, 6, 9, 12, 25, 32, 44, 47, 48, 53, 82
-
รถไฟฟ้า BTS ลงสถานีสยาม ต่อรถประจำทางสาย 25, 48, 508
-
รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลงสถานีสนามไชย โดยใช้ทางออกประตูที่ 1 : ทางออกมิวเซียมสยาม เมื่อเดินขึ้นมาให้เดินเลียบถนนไปเรื่อย ๆ ประมาณ 350 เมตร
เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว
-
สามารถนำรถไปจอดได้ที่ถนนเชตุพน โดยเสียค่าบริการชั่วโมงละ 20 บาท
วัดโพธิ์ เวลาเปิด-ปิด และค่าเข้าชม
-
วัดโพธิ์เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด
-
เปิดให้เข้าชมตั้งแต่ในช่วงเวลา 08.00-18.30 น.
-
นักท่องเที่ยวชาวไทยไม่มีค่าเข้า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติค่าเข้าท่านละ 100 บาท
ระเบียบการแต่งกายในการเข้าชมวัดโพธิ์
เนื่องจาก วัดโพธิ์ เป็นสถานที่ที่มีความเก่าแก่ และได้รับความนับถือจากประชาชนในประเทศไทย ทำให้ผู้ที่จะเข้าชมวัดโพธิ์จำเป็นต้องแต่งกายให้ถูกต้องตามกฎระเบียบและเหมาะสมดังต่อไปนี้
-
ควรแต่งกายให้ถูกกาลเทศะเมื่อเข้าวัด ไม่สวมกางเกงขาสั้นเหนือหัวเข่า และไม่ควรสวมเสื้อเปิดไหล่ เนื้อผ้าไม่ควรเป็นผ้าที่บางเกินไป และไม่ควรเป็นชุดที่รัดรูป หากใส่กางเกงขาสั้นและต้องการเข้าไปภายในวัด ทางวัดมีบริการเช่าชุดที่เรียบร้อยเหมาะสมสำหรับสวมใส่ให้
-
ควรสวมใส่รองเท้าสบาย ๆ และถอดได้ง่าย ทั้งนี้ ไม่ควรสวมใส่รองเท้าที่มีราคาแพงมา เนื่องจากว่าอาจเกิดการสลับกันหรือรองเท้าหายได้
วัดโพธิ์ หรือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หนึ่งในปูชนียสถานที่สำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดแห่งนี้ไม่เพียงเป็นมรดกล้ำค่าของประเทศไทย แต่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสถานที่สำคัญทรงคุณค่าในระดับโลกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมวัดโพธิ์จึงกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจในเรื่องประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมแสนงดงามของไทย ที่ต้องมาสัมผัสด้วยตาตัวเองสักครั้งหนึ่ง
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
บทความ ไหว้พระ เที่ยววัด อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขอบคุณข้อมูลจาก : วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร, เฟซบุ๊ก วัดโพธิ์ ท่าเตียน Wat Pho