สถานที่ท่องเที่ยวสัตหีบ เที่ยวใกล้เมืองกรุง

สัตหีบ

เรือหลวงจักรีนฤเบศร

สัตหีบ

สัตหีบ

สัตหีบ

สัตหีบ

สัตหีบ

สัตหีบ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สัตหีบบีชดอทคอม

          ถ้าจะเอ่ยถึงฐานทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชื่อของ "สัตหีบ" คงปรากฎอยู่ในความคิดของใครหลาย ๆ คน แต่จริง ๆ แล้วนอกจากการเป็นเมืองแห่งฐานทัพเรือ "สัตหีบ" ยังมีอะไรดี ๆ รอให้นักเดินทางแวะเวียนไปสมผัสอีกมากมาย เพราะฉะนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมเลยจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับ "สัตหีบ" รวมถึงแนะนำ สถานที่ท่องเที่ยวสัตหีบ ให้ได้รู้จักกันมากขึ้นอีกด้วย เอ้า...ถ้าเตรียมตัวพร้อมแล้ว ก็ไปเที่ยว "สัตหีบ" กันเลย

          "อนุรักษ์เต่าทะเล เสน่ห์ธรรมชาติ อภิวาทหลวงพ่ออี๋ เขาชีจรรย์พระใหญ่ ไหว้กรมหลวงชุมพร ถิ่นขจรราชนาวี"...

          นี่คือคำขวัญของ สัตหีบ อำเภอเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี ห่างจากตัวเมืองชลบุรี 85 กิโลเมตร ตามประวัติเล่ากันว่า ช่วงสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สัตหีบเป็นเพียงหมู่บ้านชายทะเลเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านประกอบอาชีพประมง ทำไร่ ทำนา และด้วยพื่นที่ติดกับทะเลอ่าวไทย ทำให้ใช้การคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก โดยเรือเมล์หรือเรือใบ ซึ่งในหมู่บ้านสัตหีบ มีผู้ที่ชาวบ้านนับถือมากอยู่คนหนึ่ง คือ "ยายแจง" ผู้มีฐานะดี มีที่ดินเรือกสวนไร่นามากมาย (ตลาดสัตหีบ หนองตะเคียน โรงเรียนสิงห์สมุทร และบริเวณเขาแหลมเทียน อันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือสัตหีบในปัจจุบันก็เคยเป็นของแก)

          ต่อมาเมื่อ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ทรงฝึกภาคทะเลกับกองเรือ และทรงพักที่อ่าวสัตหีบ ทรงเห็นว่าอ่าวสัตหีบเหมาะเป็นที่ตั้งหน่วยเรือ พระองค์จึงได้บอกถึงพระประสงค์ ที่จะใช้บริเวณเขาแหลมเทียนเป็นที่ตั้งหน่วยทหารเรือ ยายแจง ก็ยินดีที่จะถวายให้

          สำหรับที่มาของชื่อ สัตหีบ นั้น มีหลายคนให้ความคิดเห็นว่า "สัตต" แปลว่า เจ็ด ในขณะที่ "หีบ" หมายถึง หีบ ฉะนั้น คำว่า "สัตหีบ" ก็น่าจะแปลว่า "หีบเจ็ดใบ" ซึ่งสอดคล้องกับตำนานประวัติเจ้าแม่แหลมเทียน ที่ได้นำพระราชาลงในหีบเจ็ดใบเพื่อหลบหนียักษ์

          ส่วนอีกหลักฐานหนึ่งมาจากกองประวัติศาสตร์ทหารเรือ โดยระบุว่า เมื่อ พ.ศ. 2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จตรวจเยี่ยมหัวเมืองชายทะเล เพื่อจะสร้างแนวป้องกันชายฝั่งทะเลด้านนอกเพิ่ม เพราะป้อมพระจุลจอมเกล้าที่ปากน้ำสมุทรปราการ ใกล้เมืองหลวงมากเกินไป ทรงดำริหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกเป็นที่ตั้งกองทัพเรือ เพื่อตรวจตรารักษาฝั่งและเขตน่านน้ำใหญ่ จึงพระราชทานนามว่า "สัตตหีบ" เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นเกาะ 7 เกาะ เป็นที่กำบังลมให้แก่หมู่เรือได้ดี คำว่า "สัตหีบ" หมายถึง ที่กำบังเจ็ดแห่ง (หีบ = ที่บัง) อันหมายถึงเกาะต่าง ๆ กล่าวคือ เกาะพระ เกาะยอ เกาะหมู เกาะเตาหม้อ เกาะเณร เกาะสันฉลาม และเกาะเลา

เรือหลวงจักรีนฤเบศร

สถานที่ท่องเที่ยวสัตหีบ

          เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือธงและเรือบรรทุกอากาศยานลำแรก และลำเดียวของราชนาวีไทย ประจำการในส่วนกำลังรบของกองทัพเรือ ขึ้นระวางประจำการเมื่อ วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2540 ได้ใช้งานปฏิบัติภารกิจด้านยุทธการ และช่วยเหลือภัยพิบัติตลอดน่านน้ำไทย นอกจากนี้ ฐานทัพเรือสัตหีบเปิดให้เยี่ยมชมเฉพาะคนไทย ตั้งแต่เวลา 09.00–17.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และผู้เข้าชมต้องแต่งกายสุภาพ งดสูบบุหรี่ ห้ามนำกระเป๋าสัมภาระ อาหาร เครื่องดื่ม สัตว์เลี้ยง กล้องวิดีโอ รวมทั้งห้ามพกอาวุธและวัตถุอันตรายขึ้นบนเรือโดยเด็ดขาด

          หาดเตยงาม ตั้งอยู่ในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินกองทัพเรือ ซึ่ง หาดเตยงาม มีหาดทรายสีขาวทอดยาวสุดสายตา น้ำทะเลที่ใส เหมาะกับการไปแวกว่ายคลายร้อน อย่างรก็ตาม นอกจากหาดทรายสวยงามแล้ว ใกล้ ๆ กันยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ให้ได้ไปเยี่ยมชม เช่น พิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธิน, อนุสาวรีย์ทหาร ที่นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติและร่วมรำลึกถึงทหารนาวิกโยธิน ที่ได้เสียชีวิตในการสู้รบในสมรภูมิต่าง ๆ และในเวลาพระอาทิตย์ตกดินของทุกเย็น จะมี " พิธีเชิญธงลงจากยอดเสา " ซึ่งเป็นการปฏิบัติมีมาช้านานของทหารเรือ

          โดยเฉพาะบริเวณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเรือใบประเภทโอเคขนาด 13 ฟุตชื่อ " เวคา " จากพระราชวังไกลกังวลหัวหินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกเดินทางตั้งแต่เวลา 04.28 น.ตัดข้ามอ่าวไทยขึ้นฝั่งที่อำเภอสัตหีบ บริเวณหาดเตยงาม โดยเป็นระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 60 ไมล์ทะเล เวลาทั้งสิ้น 17 ชั่วโมง และได้นำธงราชนาวิกโยธินมาปักไว้ ณ ที่หาดเตยงามแห่งนี้ เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2509

          หาดนางรำ อยู่ใกล้กับท่าเรือจุกเสม็ดหรือท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ มีความยาวตลอดชายฝั่งประมาณ 200 เมตร รายล้อมไปด้วยแนวทิวสน มีน้ำทะเลใส สะอาส เหมาะสำหรับเล่นน้ำเป็นอย่างมาก สุดปลายชายหาดคือ แหลมปู่เจ้า อันเป็นที่ประดิษฐานของ ศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์

          หาดเทียนทะเล ตั้งอยู่ใน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งของกองทัพเรือ เป็นหาดทรายสลับโขดหิน กว้างประมาณ 900 เมตร เป็นหาดทรายสลับโขดหินพื้นที่ยาวประมาณ 900 เมตร บริเวณชายหาดมีร่มเงาของต้นสน ให้ได้นั่งพักผ่อน และเป็นจุดที่สามารถมองเห็นวิวของท้องทะเลได้ในมุมกว้าง รวมถึงสามารถมองเห็นพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าที่สวยงามอีกด้วย อีกทั้งบริเวณชายหาดมีพันธุ์ไม้ทะเลหลากหลายชนิดให้ศึกษา และมีหน้าผารูปทรงแปลก ๆ

          หาดทรายแก้ว ตั้งอยู่ในบริเวณ อ่าวน้อย ตำบลบางเสร่ มีความยาวประมาณ 1,700 เมตร เป็นหาดทรายขาว ลักษณะของเม็ดทรายจะสวยงาม และน้ำทะเลใสสะอาด โดยภูมิประเทศโดยรอบจะประกอบไปด้วยป่า ท้องทะเลแถวนี้เป็นทรายปนปะการัง จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะมาดำน้ำ หรือพักผ่อนหย่อนใจแบบสงบ

          อุทยานใต้ทะเลเกาะขาม หรือ เกาะขาม อยู่ภายใต้การดูแลของกองเรือป้องกันฝั่ง เป็นเกาะขนาดเล็กมีพื้นที่ประมาณ 61 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของ เกาะแสมสาร รูปร่างลักษณะคล้ายตัว H โดย เกาะขาม เป็นเกาะที่มีความสมบูรณ์ทางด้านธรรมชาติและชายหาดที่สวยงาม อีกทั้งยังมีแนวปะการังที่สมบูรณ์ไปด้วยสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เหมาะกับการอนุรักษ์ และพัฒนาให้เป็นแหล่งสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อศึกษาความรู้ด้านวิชาการของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองเรือป้องกันฝั่ง จึงจัดกิจกรรมดำน้ำ ทั้งแบบการดำน้ำลึกและการดำน้ำแบบผิวน้ำ ให้ประชาชนที่สนใจอีกด้วย

          ชายหาดของ เกาะขาม มี 2 หาดใหญ่ ๆ  คือ หาดด้านทิศเหนือและทิศใต้   ชายหาดด้านทิศเหนือเป็นทรายค่อนข้างละเอียด เหมาะสำหรับการว่ายน้ำและสันทนาการทางน้ำ  ด้านทิศใต้เป็นหาดทรายหยาบมีหินกรวดและซากปะการังทับถมเต็ม ซึ่งจุดเด่นของ อุทยานใต้ทะเลเกาะขาม นอกจากอุดมไปด้วยแนวปะการังน้ำตื้นแล้ว ยังเป็นสถานที่แห่งแรกของ  ประเทศไทยที่ได้มีการเคลื่อนย้ายปะการัง ที่กำลังจะเสื่อมโทรมจากมลภาวะบริเวณ เกาะเตาหม้อ มาลงไว้ที่เกาะขาม เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างแนวปะการัง ในบริเวณที่เสื่อมโทรมและตายไปให้ดียิ่งขึ้น

สัตหีบ

สัตหีบ

          ศูนย์อนุรักษ์พันธ์เต่าทะเล ตั้งอยู่ในหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กองทัพเรือ เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลต่าง ๆ เช่น เต่ามะเฟือง, เต่าตนุ, เต่ากระ และเต่าหญ้า ฯลฯ รวมทั้งอนุบาลลูกเต่าทะเล เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติที่บริเวณ เกาะคราม

          พระพุทธรูปแกะสลักบนหน้า ตั้งอยู่บริเวณเขาชีจรรย์ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย เลียนแบบพระพุทธนวราชบพิตร ศิลปะสุโขทัยผสมล้านนา ขนาดความสูง 109 เมตร หน้าตักกว้าง 70 เมตร ฐานบัวหรือบัวบัลลังก์สูง 21 เมตร รวมความสูงขององค์พระและบัลลังก์ทั้งสิ้น 130 เมตร โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปแกะสลักด้วยเลเซอร์บนหน้าผาเขาชีจรรย์ วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ว่า พระพุทธมหาวชิร อุตตโมภาสศาสดา มีความหมายว่า "พระพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาที่รุ่งเรือง สว่าง ประเสริฐดุจดังมหาวชิระ" ซึ่งนับเป็นพระพุทธฉายที่ใหญ่ที่สุดในโลก

          และนี่เป็น สถานที่ท่องเที่ยวสัตหีบ เพียงไม่กี่แห่งที่เรานำมาแนะนำกัน เพราะจริง ๆ แล้ว สัตหีบ ยังสถานที่ท่องเที่ยวเจ๋ง ๆ รอให้เพื่อน ๆ เดินทางไปสัมผัสด้วยตัวเองอีกเพียบ

สัตหีบ

การเดินทาง

          ใช้เส้นทางถนนสายบางนา-ตราด เป็นทางหลวงหมายเลข 34 ขับรถผ่านจังหวัดชลบุรี ผ่านอำเภอศรีราชา ผ่านเมืองพัทยาโดยใช้เส้นทางถนนสุขุมวิทเป็นหลัก จนถึงอำเภอสัตหีบ หรือใช้เส้นทางถนนเลี่ยงเมืองไปใช้ถนนวงแหวนรอบนอก เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
     และ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล                


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สถานที่ท่องเที่ยวสัตหีบ เที่ยวใกล้เมืองกรุง อัปเดตล่าสุด 1 มิถุนายน 2554 เวลา 15:20:50 23,068 อ่าน
TOP
x close