x close

เขมราฐ เสน่ห์บ้านโบราณริมโขง



เขมราฐ

เขมราฐ เสน่ห์บ้านโบราณริมโขง (ไทยโพสต์)

          ในยุคนี้ใคร ๆ ก็โหยหาความเรียบง่ายตามสไตล์ย้อนยุค อำเภอเขมราฐ (เขม-มะ-ราด) ดินแดนแห่งความเกษมสุข เป็นอำเภอหนึ่งใน จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ริมแม่น้ำโขง ระยะทางยาวกว่า 40 กิโลเมตร ซึ่งฝั่งตรงข้ามคือเมืองสองคอน แขวงสุวรรณเขต (สะหวันนะเขต) ของประเทศลาว ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่ีง ที่ไม่ควรพลาดไปเยือน เพราะ เขมราฐ เป็นเมืองที่มีทัศนียภาพแม่น้ำโขงที่สวยงาม หาดทรายที่มีชื่อเสียงคือ หาดทรายสูง และจะมีการแข่งเรือยาวอำเภอเขมราฐซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

          ด้วยความที่เป็นเมืองเล็ก สะท้อนถึงจำนวนประชากรที่ค่อนข้างจะบางตา ก็ส่งผลให้บรรยากาศโดยรวมของบ้านเมืองนี้ค่อนข้างจะสงบเงียบ ชีพจรของเมืองเป็นจังหวะเนิบช้า สบาย ๆ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับใครก็ตามที่เบื่อความวุ่นวายของเมืองหลวง แต่ฝันถึงวิถีชีวิตผ่อนคลาย อยากหลบมุมพักผ่อนในอำเภอเล็ก ๆ ริมโขงแบบไม่คาดหวังอะไรมาก แค่มาเปลี่ยนบรรยากาศและลิ้มรสปลาน้ำโขงในสารพัดเมนู เขมราฐ ไม่น่าจะทำให้ใครผิดหวังกับบรรยากาศอันเรียบง่ายตามประสาเมืองชนบท

          เริ่มที่ชมวัดเก่า เล่าตำนานเมือง โดยอารามสำคัญในเขตเทศบาลเขมราฐนั้น ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ริมถนนกงพะเนียง และด้วยความเป็นเมืองเก่า แต่ละวัดจึงอยู่ห่างกันแค่ไม่กี่ร้อยเมตร สามารถเดินเที่ยวชมได้สบาย ๆ ที่เด่น ๆ ก็ได้แก่ วัดโพธิ์ วัดกลาง (วัดชัยภูมิการาม) และ วัดบ้านเหนือ ซึ่งมีอายุเก่าแก่ย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ 5 (อุโบสถหลังเดิมยังปรากฏหน้าบันรูปปั้นพระราหูอมจันทร์งดงามมาก)

วัดโพธิ์

          สำหรับวัดที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ที่สุดในย่านนี้คงต้องเป็น วัดโพธิ์ เพราะสืบย้อนตำนานกลับไปได้ถึงสมัยช่วงปลายกรุงธนบุรี หรือยุคก่อนหน้าจะก่อตั้งเขมราฐธานีอยู่หลายสิบปีเลยทีเดียว ตามประวัติเก่าเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ภายหลังได้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี) เป็นแม่ทับไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต หรือนครเวียงจันทน์ ในราวปี พ.ศ.2321 จนทำให้ชาวบ้านชาวเมืองแตกตื่นหนีภัยสงครามกันไปคนละทิศละทาง และมีการกวาดต้อนไพร่พลกลับกรุงสยามไปเป็นจำนวนมากนั้น

          มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งซึ่งแม่ชี (แม่ขาว) เป็นผู้นำ ได้นำพาญาติโยมและลูกหลาน อพยพลี้ภัยสงครามลงมาตามลำน้ำโขง โดยมีการชักชวนผู้คนที่ผ่านพบร่วมเดินทางไปด้วยกัน จนกระทั่งกลายเป็นกลุ่มชน ก่อนจะตัดสินใจปักหลักทำกินยังชัยภูมิอันอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง ริมชายฝั่งโขงยังสภาพเป็นป่ารกชัฏชุกชุมไปด้วยสิงสาราสัตว์ คืนหนึ่งแม่ชีเกิดนิมิตว่าในบริเวณใกล้ ๆ กันนั้น มีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เมื่อถึงรุ่งเช้าจึงระดมบริวารออกค้นหา กระทั่งได้ค้นพบพระพุทธรูปองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่บนฐานเก่า ๆ หลังเครือเถาวัลย์ที่ปกคลุมอยู่จนมองแทบไม่เห็น ซึ่งพระพุทธรูปโบราณที่ค้นพบนั้นเป็นปางมารวิชัย มีลักษณะงดงามมาก หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ทอดพระเนตรลงสู่แม่น้ำโขง ด้วยนิมิตหมายอันเป็นมงคลยิ่งเช่นนี้ แม่ชีและบริวารจึงพร้อมใจกันตั้งชุมชนบ้านกงพระเนียง และสร้างวัดขึ้น โดยเรียกขานชื่อตามต้นโพธิ์ใหญ่ ส่วนพระพุทธรูปองค์นั้น ก็ให้กราบไหว้บูชาในฐานะพระเจ้าใหญ่องค์แสนนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


          แต่หากใครต้องมนต์ธรรมชาติ อีกทางเลือกคือสัมผัสริมโขง ด้วยหาดทรายและเกาะแก่งน้อยใหญ่ซึ่งมีลักษณะงดงามแปลกตา แก่งกลางน้ำที่มีความงามจนเลื่องชื่อ ได้แก่ แก่งช้างหมอบ ที่บ้านห้วยยาง และ แก่งพลาเหล็ก ที่บ้านสามแยกถ้ำเสือ ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติในรูปแบบหาดทรายกว้างริมน้ำโขง ก็คงต้องเป็นที่หาดทรายสูง บ้านลาดหญ้าคา ในตำบลนาแวง อยู่ห่างจากตัวตลาด

          นอกจากนี้ ยังไปเที่ยว บ้านลาดเจริญ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้นในแวดวงการท่องเที่ยว เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าชาวบ้านจะพยายามสำรวจแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ รอบหมู่บ้าน ไว้สำหรับพานักท่องเที่ยวไปชมมากมายหลายต่อหลายจุด อย่าง ถ้ำเสือ ถ้ำพระ ไปจนถึงสุสานช้างแมมมอธ หากมาที่นี่นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมตามใจฉัน อย่างนอนค้างแรมชมทะเลดาว ลงไปแหวกว่ายในมหานทีสี่พันดอน หรือยืดเส้นด้วยการปีนป่ายผจญภัยไปตามโขดหินทรงประหลาด เพื่อค้นหารอยจารึกภาษาจีนกับภาษาขอม และรอยแกะสลักหินรูปวัวหันหัวเข้าหากัน อย่างที่เรียกว่า คอนวัว ที่นี่มีบริการนำเที่ยวโฮมสเตย์ที่เก็บกันในราคาไม่แพง

          ไกด์ท้องถิ่นจะพาไปเที่ยวชมจุดสนใจอื่น ๆ ตามลำน้ำอีกมากมาย เช่น แก่งคันแยง ร่องน้ำเชี่ยวที่ชาวบ้านสมัยก่อนนิยมเอากระชอนไปดักปลา เพราะมีชุกชุมมาก, แก่งพละกาย แหล่งจับปลาอีกแห่งที่ปลาชุกชุมมาก จนต้องใช้กระชอนดักปลาขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ซึ่งคู่ควรกับคนที่มีร่างกายกำยำมาก ๆ จนกลายเป็นที่มาของชื่อ ถ้ำคันสลึง เป็นโพรงหินขนาดใหญ่ริมโขง จุคนได้มากถึง 50 คน สันนิษฐานกันว่าเคยเป็นที่หลบแดดหลบฝนของชนโบราณมาก่อน คอนหมู โขดหินกลางน้ำ ซึ่งชาวบ้านพร้อมใจกันตั้งชื่อให้ตามเสียงน้ำกระทบหิน ที่ฟังคล้ายเสียงหมูร้อง  

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดพระโต

          ปิดท้ายด้วยการนมัสการ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดพระโต บ้านปากแซง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยอิฐผสมปูนขาว ขนาดหน้าตักกว้าง 2.90 เมตร สูง 4.36 เมตร มีอายุเก่าแก่ และเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนไทยและลาว เนื่องจากพระพุทธรูปองค์นี้เก่าแก่มากและไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด ผู้บันทึกได้เรียบเรียงตามคำบอกเล่าของคนแก่ ซึ่งได้เล่าสืบทอดกันมาดังข้อความต่อไปนี้

          มีกษัตริย์สมัยขอมพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระยาแข้วเจ็ดถัน ได้เสด็จล่องเรือลงมาตามลำแม่น้ำโขงในฤดูฝน พอถึงบ้านปากแซงก็ค่ำลง จึงได้หยุดประทับแรม 1 คืน วันรุ่งขึ้นพระองค์ได้เสด็จขึ้นไปยังหมู่บ้าน และได้พบกับเจ้ากวนของหมู่บ้านในสมัยนั้น พระยาแข้วเจ็ดถันได้ตรัสถามถึงประวัติของหมู่บ้าน เจ้ากวนได้เล่าให้ฟังว่า บ้านนี้มีหาดสวยงามกว้างใหญ่ ในฤดูแล้งหาดทรายจะโผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำ และหาดทรายแห่งนี้มีสิ่งอัศจรรย์อยู่คือ ถ้าปีใดหาดทรายโผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำระหว่างหมู่บ้าน ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข

          เมื่อพระองค์ได้ทราบก็เกิดศรัทธาในใจว่า สักวันหนึ่งจะต้องย้อนกลับมาสร้างหมู่บ้านนี้ให้เป็นเมือง ในราว พ.ศ.1154 พระองค์ก็ได้เสด็จมาพร้อมด้วยข้าทาสบริวารเป็นจำนวนมาก เมื่อเสด็จมาถึง พระองค์จึงได้มอบให้เจ้าแสง (คงจะเป็นนายชั้นผู้ใหญ่) เป็นคนควบคุมการก่อสร้าง พร้อมกันนี้ก็ได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง ซึ่งสร้างแล้วเสร็จเมื่อประมาณ พ.ศ.1180 และขนานนามว่า พระอินทร์ใส่โฉม (ต่อมาเรียกพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ) เมื่อเจ้าแสงถึงแก่กรรมลง ชาวเมืองได้สร้างหอหลักเมืองขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ และขนานนามว่า หอแสง

          ต่อมาวัดแห่งนี้ก็ขาดคนบูรณะและกลายเป็นวัดร้าง จนกระทั่งเวลาผ่านไปหลายร้อยปี ควาญช้างในหมู่บ้านนี้ได้ไปพบพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว และได้บอกบุญชาวบ้านร่วมกันบูรณะวัดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดพระโต" แต่อย่าลืมเที่ยวไปด้วยหัวใจดวงใหม่ เพื่อให้เมืองไทยยั่งยืน ตามแนวคิดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

แนะนำที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรม เพียบ


คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยโพสต์, วัดพระโต, อสท. และ lib.ubu.ac.th                 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เขมราฐ เสน่ห์บ้านโบราณริมโขง อัปเดตล่าสุด 2 เมษายน 2567 เวลา 18:07:49 5,675 อ่าน
TOP