x close

ชวนกิน-เที่ยวบ้านแม่กลางหลวง อิ่มใจไปกับธรรมชาติ อิ่มท้องไปกับของอร่อยพื้นถิ่น

          ชวนเที่ยวบ้านแม่กลางหลวง จ.เชียงใหม่ กินให้หนำใจสไตล์คนพื้นเมือง กับสุดยอดเมนูอาหารพื้นถิ่นน่าลิ้มลอง เคล้าคลอบรรยากาศนาข้าวเขียวชอุ่มเพลินตาท่ามกลางธรรมชาติแสนผ่อนคลาย
          เที่ยวสนุกกินอร่อยไปกับการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่ “บ้านแม่กลางหลวง” หมู่บ้านชาวเผ่าปกาเกอะญอ ในพื้นที่ของเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่นอกจากจะได้ชมวิวทิวทัศน์สวยงามอย่างนาขั้นบันไดเขียวขจี เดินเที่ยวเล่นที่น้ำตกผาดอกเสี้ยวแล้ว ก็ไม่อยากให้พลาดอีกหนึ่งไฮไลต์ คือ การชิมอาหารพื้นถิ่น หลากหลายเมนูที่ล้วนแล้วแต่ปลอดสารพิษและดีต่อร่างกาย เรียกได้ว่าทั้งสบายใจไปกับธรรมชาติและสบายท้องไปกับอาหารพื้นถิ่นอร่อย ๆ ด้วย ส่วนจะมีจานไหนเด็ด ๆ บ้าง เราตามไปดูกันเลย

กรุ่นกลิ่นกาแฟสด สายพันธุ์อาราบิก้า

คั่ว บด ชง ชิมฟรี แบบไม่คิดเงิน

บ้านแม่กลางหลวง

          การได้เริ่มต้นวันใหม่ ปลุกความสดชื่นด้วยกาแฟร้อน ๆ สักแก้วคงจะชื่นกายชื่นใจไม่น้อย โดยเฉพาะใครที่เป็นคอกาแฟต้องเลิฟเลย เพราะที่หมู่บ้านแห่งนี้ มีร้านกาแฟรสชาติดี วิวอลังการตั้งอยู่หลายร้าน ซึ่งแต่ละร้านก็มีความยูนีค คั่วกาแฟด้วยวิธีดั้งเดิม ทั้งคั่วอ่อน คั่วกลาง คั่วเข้ม บดและชงดื่มกันสด ๆ ซึ่งกาแฟของที่นี่จะเป็นสายพันธุ์อาราบิก้าจากยอดดอย หรือรู้จักกันในชื่อ “กาแฟโครงการหลวง” มีกลิ่นหอมละมุน รสชาตินุ่มเป็นเอกลักษณ์ เมื่อดื่มแล้วให้ความรู้สึกสดชื่น หายเหนื่อย จึงถูกเลือกให้เป็นเป้าหมายสุดท้ายของการเดินในเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว ที่บุกป่าฝ่าดงกันจนเหงื่อออกพอซึม ๆ และมานั่งพักคลายความเมื่อยล้า จิบกาแฟหอม ๆ กันที่นี่
บ้านแม่กลางหลวง

บ้านแม่กลางหลวง

บ้านแม่กลางหลวง

บ้านแม่กลางหลวง

          ส่วน “ร้านกาแฟสด แม่กลางหลวง” เป็นร้านเล็ก ๆ ของคุณโยแส่ กิจจรูญชัย ตั้งอยู่บนเนินเขา เมื่อเดินเข้าไปจะเจอกับซุ้มสำหรับชงกาแฟ ที่มีกาน้ำแบบโบราณ ต้มอยู่บนกองไฟลุกโชนที่ใช้ถ่านฟืน สีหม้อดำไหม้ที่บอกถึงอายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่ดูมีเสน่ห์น่าเหลือเชื่อ ระหว่างที่รอให้น้ำเดือด ก็สามารถบดเมล็ดกาแฟเองได้ จากนั้นลุงโยแส่ก็นำกาน้ำที่ตั้งไว้จนเดือด บรรจงเทลงถุงที่มีกาแฟบดด้วยวิธีการชงแบบดั้งเดิม ค่อย ๆ ปล่อยให้น้ำกาแฟไหลลงกระบอกสเตนเลสช้า ๆ แล้วเทลงในแก้วกาแฟใบจิ๋ว เป็นกาแฟโบราณแบบฉบับชาวบ้านโดยแท้ ได้กลิ่นหอมตั้งแต่ตอนบด ชง และยกมาวางเสิร์ฟตรงหน้า กรุ่นความเข้มข้นอยู่ในปาก ที่สำคัญ ชิมฟรี ไม่ต้องเสียเงิน แต่ถ้าหากถูกใจในรสชาติและกลิ่นอันหอมกรุ่น ก็สามารถอุดหนุนซื้อผลิตภัณฑ์กลับบ้านไปเป็นของฝากก็ได้
ข้าวบือโปะโหละ ข้าวกล้องดอยอร่อยนุ่ม กินกับอะไรก็ฟิน
บ้านแม่กลางหลวง

          หลังจากที่เรียกน้ำย่อยด้วยกาแฟหอม ๆ ก็ได้เวลากินข้าวกันแล้ว แต่ก่อนจะไปดูเมนูอาหาร เรามาทำความรู้จักกับพระเอกในงานนี้กันก่อนกับ “ข้าวบือโปะโหละ” หรือข้าวกล้องดอย เป็นข้าวนาบนที่สูง พันธุ์พื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่ใช้ปลูกกันอย่างแพร่หลาย และสืบทอดกันมานาน เก็บรักษาจากบรรพบุรุษและปลูกสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
บ้านแม่กลางหลวง

บ้านแม่กลางหลวง

บ้านแม่กลางหลวง

          จุดเด่นของข้าวพันธุ์บือโปะโหละคือ ให้ผลผลิตสูงเมื่อปลูกบนพื้นที่สูงที่มีอากาศหนาวเย็น ลําต้นแข็ง ไม่ล้มง่าย รวงใหญ่ เมล็ดใหญ่อ้วนป้อม เมื่อนำมาหุงจะให้ข้าวสุกอ่อนนุ่ม รสชาติอร่อย หุงขึ้นหม้อ ในส่วนของคุณค่าทางอาหารก็อุดมไปด้วยวิตามินบี 3 ช่วยบำรุงระบบประสาท ดีต่อระบบย่อย ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง เบาหวาน และหัวใจ จะนำไปกินเป็นข้าวสวย คู่กับกับข้าวอื่น ๆ หรือทำเป็นเมนูอาหารตามสั่งง่าย ๆ อย่างข้าวผัด ข้าวหมูกระเทียม หรือไก่กระเทียม ก็อร่อย นุ่ม ไม่แห้งแข็ง
บ้านแม่กลางหลวง

บ้านแม่กลางหลวง

เปิดสำรับอาหารพื้นถิ่นชาวปกาเกอะญอ

เมนูบ้าน ๆ แต่ความอร่อยไม่ธรรมดา

บ้านแม่กลางหลวง

          มาเที่ยวบนดอยทั้งที ก็ต้องได้ลองชิมสำรับอาหารพื้นถิ่นของชาวเผ่าปกาเกอะญอ ซึ่งแทบทุกบ้านจะใช้วัตถุดิบที่หาได้ตามธรรมชาติ ปลูกเองในพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้าน ที่สำคัญไม่ใช้สารเคมี ทั้งนี้ เมนูอาหารในสำรับอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่หาได้ในแต่ละวัน

          ส่วนสำรับวันนี้ มีเมนู “แกงข้าวเบอะไก่บ้าน” (ภาษาปกาเกอะญอ เรียกว่า ตะพอเผาะชอ) เป็นการนำข้าวไปต้มจนสุกเละ ใส่น้ำพริกแกงที่มีส่วนผสมของกะปิ กระเทียม เกลือ พริกกะเหรี่ยงแห้ง มะแขว่นแห้ง มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ใส่ไก่บ้านและผัก, ซูกินีผัดไข่กรุบกรอบ, น้ำพริกกะเหรี่ยงรสชาติจัดจ้านเผ็ดร้อน กินแกล้มกับผักสด ๆ และไข่เจียว เมนูบ้าน ๆ แต่ก็กินกันจนหมดจาน ตบท้ายด้วยผลไม้สดตามฤดูกาล เพิ่มความสดชื่นให้ร่างกายหลังมื้ออาหาร เรียกว่าเป็นมื้อที่อิ่มทั้งท้อง อิ่มทั้งใจ เพราะได้มานั่งกินอาหารอร่อย ๆ ดีต่อสุขภาพ ท่ามกลางธรรมชาติแสนบริสุทธิ์กันเลยทีเดียว

บ้านแม่กลางหลวง

ข้าวเบอะ หรือ ตะพอเผาะ

บ้านแม่กลางหลวง

บ้านแม่กลางหลวง

บ้านแม่กลางหลวง

บ้านแม่กลางหลวง

หมูกระทะ เมนูสุดฟินบนดอย ปิ้งย่างแบบใกล้ชิดธรรมชาติ

บ้านแม่กลางหลวง

          เหมือนเป็นธรรมเนียมของการไปเที่ยวในสถานที่อากาศเย็น ๆ ไปแล้ว กับการนั่งล้อมวงปิ้งย่าง “หมูกระทะ” เพื่อให้เกิดความอบอุ่นร่างกายและเป็นการสังสรรค์ระหว่างก๊วนเพื่อนฝูง ซึ่งที่บ้านแม่กลางหลวงก็มีเช่นเดียวกัน ยกมาเป็นเซตเนื้อสัตว์สะอาดทั้งหมูและไก่ รวมถึงผักสดใหม่ปราศจากสารเคมี ในราคาหลักร้อย แถมสามารถสั่งให้มาส่งที่ริมระเบียงบ้านพักได้เลย
บ้านแม่กลางหลวง

บ้านแม่กลางหลวง

ข้าวต้มใบตองก๋ง ขนมมงคลของชาวเผ่าปกาเกอะญอ
บ้านแม่กลางหลวง

          อิ่มท้องกับของคาวแล้ว มาต่อกันที่ขนมพื้นถิ่นของบ้านแม่กลางหลวงบ้าง เราจะพาทุกคนไปกิน “ข้าวต้มใบตองก๋ง” ขนมพื้นถิ่นของชาวกะเหรี่ยงเผ่าปกาเกอะญอ โดยข้าวต้มนี้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับข้าวต้มมัดที่เราคุ้นเคย ทำจากข้าวเหนียว ถั่วลิสง และงา นำไปผสม ต้ม และนึ่งพร้อมกัน แต่ความแตกต่างคือจะไม่ใส่กะทิ ทำให้ไม่มีรสชาติหวานมัน แต่ได้รสชาติของข้าวเหนียวและถั่วแบบเต็ม ๆ

          ความพิเศษคือการห่อด้วยใบตองก๋ง (ใบตองสาด) เป็นทรงกรวยยาวสามเหลี่ยมรูปร่างแปลกตา โดยมีความเชื่อว่าขนมต้มใบตองก๋งนั้นเปรียบเสมือนความเหนียวแน่น ความปรองดองของคนในชนเผ่า และความเหนียวแน่นนี้จะไม่สามารถแยกคนในชนเผ่าออกจากกันได้ ส่วนมากแล้วมักจะพบเห็นขนมชนิดนี้ในงานพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ ของชาวเผ่าปกาเกอะญอด้วย

          เป็นอย่างไรกันบ้าง เห็นแต่ละเมนูแล้วท้องเริ่มร้องอยากจะขึ้นเหนือไปลองชิมกันหรือยัง ทั้งกาแฟหอมกรุ่น คั่วบดชงแบบสด ๆ ข้าวบือโปะโหละนุ่มอร่อย กินกับสำรับอาหารพื้นถิ่นอย่างแกงข้าวเบอะไก่บ้าน และหมูกระทะที่ได้กินร่วมกันกับเพื่อนสนิทคนรู้ใจ ตบท้ายด้วยขนมต้มใบตองก๋ง เอกลักษณ์เฉพาะของชาวเผ่าปกาเกอะญอ สำหรับนักท่องเที่ยวคนไหนที่อยากมาเที่ยวชมธรรมชาติและชิมอาหารอร่อย ๆ ของบ้านแม่กลางหลวง ก็สามารถสอบถามเกี่ยวกับโปรแกรมการท่องเที่ยวและเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่สร้างขึ้นจากความร่วมมือของชุมชนและโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม กลุ่ม ปตท. ได้ที่ เฟซบุ๊ก วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวบ้านแม่กลางหลวง โทรศัพท์ 08-2892-7934 ได้เลย
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชวนกิน-เที่ยวบ้านแม่กลางหลวง อิ่มใจไปกับธรรมชาติ อิ่มท้องไปกับของอร่อยพื้นถิ่น อัปเดตล่าสุด 30 มีนาคม 2566 เวลา 14:12:08 8,279 อ่าน
TOP