ชวนไปเที่ยวสัมผัสวิถีชุมชนชาวบ้านไทใหญ่ที่ เวียงแหง อำเภอเล็ก ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ดินแดนลับแลที่ซ่อนตัวอยู่ในขุนเขา
พาทุกคนขึ้นเขาเที่ยวเชียงใหม่ไปไกลเกือบจะถึงชายแดนไทย-เมียนมา จะเจอกับ “เวียงแหง” อำเภอขนาดกะทัดรัดที่ไม่ได้เป็นทางผ่านไปยังอำเภออื่นใด หากใครอยากมาที่นี่ต้องตั้งใจขับรถขึ้นเขามาเท่านั้น จนถูกขนานนามว่าเป็นเมืองลับแลแห่งเชียงใหม่ ดินแดนที่ถูกภูเขาสูงโอบกอด ทำให้ดูเหมือนห่างไกลความศิวิไลซ์จากเมืองหลวง แต่ก็ทดแทนด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายของชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่เรียบง่ายเป็นแบบพื้นเมืองแท้ ๆ วันนี้เราจะพาทุกคนไปเที่ยวในอำเภอนี้กันว่าจะมีที่เที่ยวที่ไหนน่าสนใจ ชวนให้ไปเที่ยวชมบ้าง
อำเภอเวียงแหง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ อาณาเขตส่วนหนึ่งเป็นพรมแดนระหว่างประเทศไทยและเมียนมา โดยมีทิศเหนือติดต่อกับรัฐฉาน (ประเทศเมียนมา) ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดต่อกับอำเภอเชียงดาว และทิศตะวันตกติดต่อกับอำเภอปาย (จังหวัดแม่ฮ่องสอน) ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 150 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมง เพราะเป็นทางขึ้น-ลงเขาที่สูงชันและอันตราย
เวียงแหง เมืองหน้าด่านสำคัญในอดีต
อำเภอเวียงแหงมีชื่อเดิมว่า “เมืองแหง” มีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองหน้าด่าน เมืองยุทธศาสตร์ตามเส้นทางการเดินทัพและการค้าระหว่างเมืองเชียงใหม่ ราชธานีของอาณาจักรล้านนากับเมืองอังวะ (Ava) โดยเดินทางผ่านเมืองนาย (ปัจจุบันอยู่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และตั้งอยู่ห่างจากชายแดนเวียงแหง ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 200 กิโลเมตร) เมืองแหงตั้งอยู่กึ่งกลางของเส้นทางระหว่างเมืองเชียงใหม่กับเมืองนาย โดยเดินทางตามลำน้ำแม่แตง เป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ เหมาะแก่การเพาะปลูกและสะสมเสบียงอาหารเลี้ยงกองทัพ มีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ณ เมืองนี้มากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
- เคยเป็นเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าบุเรงนอง ที่ทรงกรีธาทัพกองทหารจากเมืองนาย 90,000 นาย ข้ามผ่านแม่น้ำสาละวินมายึดเมืองเชียงใหม่เมื่อปี 2101
- เป็นเส้นทางเดินทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทรงยกทัพทหาร 100,000 นาย มุ่งไปยึดเมืองนายกลับคืน และตรงไปทำลายพระเจ้ากรุงอังวะในปี 2148
- เป็นเส้นทางหลบหนีของแม่ทัพเนเมียวสีหบดี ขุนศึกพม่าผู้พิชิต 3 อาณาจักร คือ ล้านนา ล้านช้าง และอยุธยา หลังจากถูกกองทัพพระเจ้าตากสินขับไล่ออกจากเมืองเชียงใหม่ในปี 2317 จนต้องหลบหนีไปตั้งหลักอยู่ที่เมืองนาย
- เป็นเส้นทางเดินทัพที่พม่ากลัวกองทัพเชียงใหม่จะไปโจมตีพม่ามากที่สุดในปี 2388 เพราะระยะทางสั้น เดินง่าย และเป็นทางใหญ่
- ลดฐานะจากเมืองแหง เป็นตำบลเมืองแหง ขึ้นกับอำเภอเชียงดาว ประมาณปี 2457
- เป็นเป้าหมายของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยส่งฝูงบินทิ้งระเบิดเพื่อตัดเส้นทางยุทธศาสตร์สายเชียงใหม่-แม่แตง-เวียงแหง-พม่า สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
- ยกฐานะเป็นอำเภอเวียงแหง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2536
ภาพจาก Theo Moonoi / Shutterstock.com
อำเภอเวียงแหง มีอะไรน่าเที่ยว
แม้จะเป็นอำเภอเล็ก ๆ ที่แบ่งการปกครองย่อยไปอีก 3 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลเมืองแหง ตำบลเปียงหลวง และตำบลแสนไห แต่เวียงแหงก็ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ภูมิอากาศที่เย็นสบาย ยามเช้ามีหมอกสวย ๆ อีกทั้งยังมีลักษณะวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างชนภาคเหนือกับชนเชื้อสายไทใหญ่กับชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ เช่น กลุ่มจีนฮ่อ กลุ่มชาวเขาเผ่าลีซอ กลุ่มชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง นอกจากนี้เวียงแหงก็ยังมีสถานที่สำคัญน่าเที่ยวต่าง ๆ มากมาย ทั้งสถานที่ทางประวัติศาสตร์ วัดวาอาราม และจุดชมวิวทะเลหมอกสวย ๆ ได้แก่
1. ข่วงอนุสรณ์สถานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ตั้งอยู่ที่บ้านปางควาย หมู่ 9 ตำบลเมืองแหง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขนาด 1 เท่าครึ่งของพระองค์จริง ประทับนั่ง พระหัตถ์ขวาทรงพระสุวรรณภิงคารหลั่งน้ำทักษิโณทกประกาศอิสรภาพ พระหัตถ์ซ้ายทรงพระแสงดาบ สถานที่แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกและเป็นอนุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่พระองค์ได้ทรงเสียสละในการกอบกู้เอกราชให้เราเป็นไทยมาจนถึงทุกวันนี้
2. น้ำตกแม่หาด
ตั้งอยู่ที่บ้านแม่หาด หมู่ 1 ตำบลเมืองแหง เป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง มี 4 ชั้น ความสูงประมาณ 40-50 เมตร ในช่วงหน้าร้อนจะเป็นสถานที่ที่ผู้คนจะชอบไปเที่ยวกันมาก
3. พระบรมธาตุแสนไห
ตั้งอยู่ที่บ้านมหาธาตุ ตำบลแสนไห (จากบ้านเมืองงายเข้าไป 45 กิโลเมตร) เป็นศิลปะแบบไทใหญ่ มีฐานแปดเหลี่ยม วัดโดยรอบ 48 เมตร ความสูงจากพื้นถึงยอดฉัตร 21 เมตร เป็นพระธาตุที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นศูนย์รวมที่พึ่งทางจิตใจของชาวอำเภอเวียงแหง อีกทั้งยังเป็นพระบรมธาตุคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอเวียงแหงด้วย ใครมาเที่ยวที่นี่แล้วไม่ได้ไปสักการะพระบรมธาตุก็ถือว่ายังไปไม่ถึง
มีการกำหนดงานประเพณีกราบไหว้สักการะพระธาตุประจำปี จำนวน 4 ครั้งด้วยกัน โดยงานที่สำคัญที่สุดคือ “งานสรงน้ำพระบรมธาตุ” ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ ของทุกปี งานมาฆบูชา จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เหนือ งานวันวิสาขบูชา หรือวันเพ็ญเดือน 8 และงานสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี
4. วัดฟ้าเวียงอินทร์
ตั้งอยู่ที่บ้านหลักแต่ง ตำบลเปียงหลวง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นบนพื้นที่เจดีย์เก่าในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ปัจจุบันเป็นทั้งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งของอำเภอเวียงแหง นับเป็นวัดสำคัญของชุมชนเปียงหลวง ซึ่งเป็นชุมชนไทใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ และวัดแห่งนี้ถูกสร้างคร่อมดินแดนสองแผ่นดินไทยกับเมียนมา โดยมีเจดีย์มารชินะเจดีย์ (เจดีย์ชนะมาร) อยู่ฝั่งไทย แต่โบสถ์อยู่ฝั่งเมียนมา จึงได้ชื่อว่า “วัดสองแผ่นดิน” นั่นเอง นอกจากนี้บริเวณด้านหลังของเจดีย์จะมีศาลของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตั้งอยู่ให้ประชาชนได้กราบไหว้กันด้วย
ภาพจาก kwanchai / Shutterstock.com
5. บ้านเปียงหลวง
บ้านเปียงหลวง หมู่บ้านสุดท้ายก่อนจะถึงชายแดนไทย-เมียนมา เป็นหมู่บ้านที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเงียบสงบ การได้มาเยือนที่นี่จะคล้ายกับการไปเที่ยวในหลายประเทศ เพราะมีวัฒนธรรม ศิลปะสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน สังเกตได้จากวัดวาอารามที่แม้จะเป็นวัดในทางศาสนาพุทธแต่ก็มีศิลปะแบบเมียนมา โบสถ์ของวัดจะเป็นลักษณะคล้ายบ้านไม้ยกสูง ส่วนบ้านเรือนจะคล้ายลักษณะบ้านของชาวจีนยูนนาน ที่นี่อากาศจะเย็นสลับฝนตลอดทั้งปี และอยู่ติดชายแดนบ้านหลักแต่ง รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งในอนาคตอาจเปิดการค้าเสรีเชื่อมทั้ง 2 ชาติ ครอบคลุมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจและการคมนาคมด้วย
6. โครงการหลวงดอยแปกแซม
โครงการหลวงดอยแปกแซม หรือสถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านแปกแซม ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ตำบลเปียงหลวง เป็นพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติเชียงดาว สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,300 เมตร เป็นสถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรแก่ราษฎร
7. จุดชมวิวดอยดำ
ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองแหง เป็นจุดชมทะเลหมอกที่ขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่งของเวียงแหง อยู่ก่อนถึงโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ ดอยดำ สามารถมองเห็นวิวทะเลหมอกที่ลอยหยอกเย้ากับดอยหลวงเชียงดาวสูงใหญ่ตั้งตระหง่าน และพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงาม รวมถึงสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้อีกด้วย
8. จุดชมวิวฮาดู่บิ
ตั้งอยู่ที่บ้านเลาวู ตำบลเมืองแหง เป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของดอยหลวงเชียงดาวได้อย่างสวยงาม มีลมเย็นพัดตลอดทั้งปี ยิ่งถ้ามาเที่ยวในช่วงฤดูหนาวก็จะได้พบกับทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นที่งดงามมาก นักท่องเที่ยวสามารถขับรถด้วยความระมัดระวังขึ้นมาเที่ยวชมหรือกางเต็นท์นอนค้างคืนได้
9. จุดชมวิวซี หลง ซัง
จุดชมวิวซี หลง ซัง หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “หุบเขามังกรตะวันตก” ตั้งอยู่ที่บ้านเปียงหลวง ตำบลเปียงหลวง นับเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกที่สวยงามอีกที่หนึ่ง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ถึง 360 องศา เมื่อมองจากยอดดอยซี หลง ซัง ฝั่งตรงข้ามกันจะเห็นโครงการหลวงบ้านแปกแซม และวิวหมู่บ้านเปียงหลวง ในบริเวณดังกล่าวจะมีลานกว้างที่ปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งที่พร้อมจะผลิบานเต็มที่ในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนมกราคม นอกจากนี้ยังมีศาลเจ้าจีนไว้สำหรับสักการะขอพรให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ด้วย
10. จุดชมวิวม่อนตาแอะ
ม่อนต่าแอะ หรือที่คนในหมู่บ้านจะเรียกว่า จูวาปู หรือ ดอยจูวา ตั้งอยู่ที่บ้านนามน หมู่ 7 ตำบลเมืองแหง เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกที่สวยงามในช่วงหน้าหนาวอีกแห่งหนึ่งของอำเภอเวียงแหง อยู่ท่ามกลางธรรมชาติป่าเขาที่เงียบสงบ ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น น้ำตกนามน น้ำตกแม่หาด และเก่อเจ่อแท่ หรือแกรนด์แคนยอนนามน
การเดินทางไปอำเภอเวียงแหง
การเดินทางจากเชียงใหม่นั้นจะใช้เส้นทางสายเชียงใหม่-เชียงดาว พอถึงทางแยกเมืองงาย (ทางแยกไปดอยอ่างขาง) เดินทางต่ออีกประมาณ 7-8 กิโลเมตร ก็จะถึงทางแยกแม่จา ทางไปอำเภอเวียงแหง ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร สามารถขับรถยนต์ส่วนตัวไปได้ แต่ต้องขับด้วยความระมัดระวัง
หรือถ้าใครไม่มีรถส่วนตัวก็สามารถเดินทางด้วยรถโดยสารสี่ล้อ หรือสองแถว สายเปียงหลวง-เวียงแหง-เชียงใหม่ มีให้บริการทุกวันที่สถานีขนส่งผู้โดยสารช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่
ภาพจาก nitinut380 / Shutterstock.com
และนี่คือ “เวียงแหง” อำเภอที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาจังหวัดเชียงใหม่ มีที่เที่ยวเชียงใหม่ที่สวยงาม สงบเงียบ และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ รอคอยให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม พร้อมเปิดมุมมองและประสบการณ์ใหม่ ๆ มากมาย
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง