จุดเช็กอินที่ 1 : อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อเดินออกไป ณ บริเวณปลายชานชาลาที่ 12 นอกอาคารสถานี จะพบกับแท่นหินอ่อนขนาดใหญ่ และมีรถจักรไอน้ำซุกซ่อนอยู่เป็นฉากหลัง จุดนี้มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์รถไฟมาก เพราะนั่นคือ อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง อันเป็นอนุสรณ์ที่พนักงานการรถไฟฯ ร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
โดยบริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีตรึงหมุดรางทอง รางเงิน ติดกับไม้หมอนมะริดคาดเงิน และเปิดการเดินรถไฟหลวงในราชอาณาจักรสายแรก (เส้นทางสถานีกรุงเทพ-อยุธยา) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 และยังถือเป็นวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟนับแต่นั้นมา
จุดเช็กอินที่ 2 : สะพานลำเลียงจดหมายเชื่อมต่ออาคารไปรษณีย์
เดินออกมาจากจุดอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงมาไม่ไกล ใกล้กับบริเวณชานชาลาที่ 4 จะเห็นตึกอาคารสูง และสะพานเหล็กที่เชื่อมกับตัวตึก ตั้งโดดเด่นเห็นแต่ไกล สืบสาวราวเรื่องไม่นานก็ได้ทราบว่าคือ "อาคารไปรษณีย์" ซึ่งในอดีตส่วนไปรษณีย์ตั้งอยู่ภายในสถานีกรุงเทพ ต่อมาภายหลังมีการแยกมาตั้งอาคารต่างหาก และสร้างสะพานขนาดใหญ่ยาวมาถึงชานชาลาที่ 4 ของสถานีกรุงเทพ โดยก่อนหน้านี้เคยทำหน้าที่เป็นทางขนส่งพัสดุในระหว่างที่มีรถไฟวิ่งผ่านนั่นเอง
จุดเช็กอินที่ 3 : ลานน้ำพุหัวช้าง หลุมหลบภัยทางอากาศยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เขยิบมาบริเวณด้านหน้าของสถานีกรุงเทพ ก่อนที่จะเดินเข้ามาภายในอาคาร ปรากฏลานน้ำพุหัวช้าง สร้างขึ้นโดยพนักงานการรถไฟฯ ที่รวมใจกันรวบรวมทุนทรัพย์ขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ เราจะเห็นรายละเอียดทางศิลปกรรม ฐานมีลักษณะเป็นหินอ่อน ด้านบนเป็นยอดแหลมทำจากโลหะรมดำเป็นรูปช้าง 3 เศียร มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นภาพนูนสูง ประดิษฐานอยู่ด้านบนสุด
และในอดีตเมื่อ พ.ศ. 2482 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางการเห็นว่าชุมชนหัวลำโพง ซึ่งจุดนี้เป็นแหล่งคมนาคมที่สำคัญ ยังขาดหลุมหลบภัยจากระเบิดที่ทิ้งจากเครื่องบิน และเป็นจุดโจมตีอย่างแน่นอน จึงได้ก่อปูนหนาคลุมทุกทางไว้ เพื่อใช้เป็นหลุมหลบภัยให้ประชาชนเข้ามาหลบภัยในยุคสมัยนั้น
จุดเช็กอินที่ 4 : ป้ายสถานีกรุงเทพ จุดเริ่มต้นการเดินทางใจกลางมหานคร
จุดเช็กอินที่ 5 : สถาปัตยกรรมภายนอกสถานีกรุงเทพ ศิลปะยุคเรอเนสซองส์
เมื่อใดก็ตามเมื่อมีโอกาสเดินผ่านไปยังบริเวณแยกหัวลำโพง บ่อยครั้งที่ตัวอาคารมักดึงดูดสายตาให้มองโดยไม่รู้ตัว อาจเพราะท่ามกลางตึกซีเมนต์สูง หาโอกาสได้น้อยนักที่จะเห็นสถาปัตยกรรมดังกล่าว สถานีกรุงเทพจึงเปรียบเสมือนเป็นความงดงามท่ามกลางป่าปูนของกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ สถาปัตยกรรมภายนอกของสถานีกรุงเทพ ลักษณะคล้ายกับสถานีรถไฟแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี อีกทั้งวัสดุในการก่อสร้างเป็นวัสดุสำเร็จรูปจากเยอรมนี เสาปูนเปลือยสีขาวที่หัวเสามีลวดลายวิจิตร บนหน้าต่าง ราวบันได ประกอบตัวอาคารเป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียน ผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซองส์ (Renaissance) ทำให้สถานีกรุงเทพโดดเด่นกว่าสิ่งก่อสร้างใด ๆ ในกรุงเทพฯ ในยุคสมัยนั้น ทั้งยังเป็นประจักษ์พยานสะท้อนอารยธรรมต่อสายตาชาวต่างชาติอีกด้วย
จุดเช็กอินที่ 6 : ระเบียงด้านหน้าสถานีกรุงเทพ
จากภายนอกอาคารที่มีความสวยงามวิจิตรกับสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ เมื่อก้าวเข้ามาในสถานีก็จะเจอกับความสวยงามของโถงระเบียงด้านหน้าและด้านข้าง และความโดดเด่นอีกหนึ่งอย่างนั่นคือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ที่ดึงดูดสายตาให้จ้องมอง
จุดเช็กอินที่ 7 : โถงกลางสถานีกรุงเทพ บรรยากาศร่วมสมัยสไตล์ตะวันตก
ณ โถงกลางสถานีกรุงเทพ ที่นี่เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง เป็นที่ออกตั๋วโดยสาร บ้างไปเที่ยว บ้างเดินทางกลับบ้าน หรือเดินทางไปทำธุระต่าง ๆ เป็นที่นั่งรอขบวนรถไฟอย่างใจจดจ่อ หรือจะเป็นที่พักเติมพลังระหว่างนั่งรอ ด้วยเพราะมีร้านรวงทั้งขนมและเครื่องดื่มคอยให้บริการต่าง ๆ
แต่ถ้าหากว่าคุณลองมองไปรอบ ๆ บริเวณโถงกลางสถานีกรุงเทพ จะเห็นรายละเอียดความสวยงามที่ซุกซ่อนอยู่ ออกแบบโดยนายเกอร์เบอร์ (Mr.Gerber) วิศวกรชาวเยอรมัน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2455 ลักษณะเป็นโถงกว้าง หลังคาโครงทรัสเหล็กพาดช่วงยาว 50 เมตร คลุมพื้นที่โถงทั้งหมด โดยช่วงกลางหลังคายกขึ้นเพื่อให้แสงสว่างเข้ามาอย่างเต็มที่
จุดเช็กอินที่ 8 : โรงแรมราชธานี อดีตโรงแรมคู่สถานีกรุงเทพ
ด้วยความที่สถานีกรุงเทพเป็นทั้งจุดหมายปลายทางและจุดเริ่มต้นของการเดินทางระบบรางใจกลางมหานคร จึงเต็มไปด้วยนักเดินทางมากหน้าหลายตาที่แวะเวียนมาใช้บริการไม่ขาดสาย และมีการสร้างโรงแรมราชธานีขึ้นพร้อมกับสถานีกรุงเทพ ไว้สำหรับเป็นที่พักแรมของคนเดินทาง และเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโฮเต็ลราชธานีที่สถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2470 โดยวางรากฐานการดำเนินงานด้านโรงแรมต่าง ๆ ให้เป็นที่ยอมรับตามหลักมาตรฐานสากล และโรงแรมราชธานีเป็นโฮเต็ลชั้น 1 ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคนั้น
จนเมื่อ พ.ศ. 2512 โรงแรมราชธานีได้ปิดตัวลง คงเหลือไว้แต่โครงสร้างอาคาร และได้รับการปรับปรุงเป็นที่ทำการของการรถไฟฯ โดยจะอยู่ด้านบนของห้องน้ำบริเวณโถงกลางสถานีกรุงเทพ
จุดเช็กอินที่ 9 : เก้าอี้ชานชาลารูปวงรี สัญลักษณ์ประจำสถานี
นอกจากความคลาสสิกของสถาปัตยกรรมอาคารแล้ว ภายในสถานีกรุงเทพยังมีอีกหนึ่งเอกลักษณ์น่าสนใจ นั่นคือ เก้าอี้ชานชาลารูปวงรี ซึ่งเรามักจะเห็นเก้าอี้แบบนี้กระจายอยู่ทั่วบริเวณชานชาลา ทำหน้าที่เป็นที่นั่งพักคอยรอขึ้นขบวนรถไฟอันเป็นหมุดหมายการเดินทางของแต่ละคน
ด้วยลักษณะการออกแบบเป็นวงรีของเก้าอี้ แฝงมาด้วยความอเนกประสงค์ไปในตัว ทำให้จุจำนวนคนนั่งได้รอบด้าน ประกอบกับสร้างจากไม้เนื้อแข็ง มีโครงโปร่งเหมือนไม้ระแนง ทำให้ระบายอากาศได้ดี ถือเป็นอีกหนึ่งความคลาสสิกที่อยู่คู่กับสถานีกรุงเทพมาอย่างยาวนาน
จุดเช็กอินที่ 10 : รถจักรไอน้ำแปซิฟิก รุ่นเลขที่ 824, 850
นับเป็นอีกหนึ่งจุดเช็กอินที่สุดแสนจะพิเศษสำหรับงาน Hua Lamphong in Your Eyes เพราะคุณจะได้เจอกับรถจักรไอน้ำแปซิฟิก รุ่นเลขที่ 824, 850 เป็นรถจักรไอน้ำที่ถูกใช้การหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อทดแทนรถจักรที่เสียหายจากสภาวะสงคราม ซึ่งเป็นการสั่งรถจักรไอน้ำเข้ามาใช้งานเป็นครั้งสุดท้าย จำนวน 30 คัน (รุ่นเลขที่ 821-850) ระหว่าง พ.ศ. 2412-2493 สร้างโดยสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟแห่งญี่ปุ่น มีการจัดวางล้อแบบ 4-6-2 เรียกว่า "แปซิฟิก" คือ มีล้อนำ 4 ล้อ, ล้อกำลัง 6 ล้อ และล้อตาม 2 ล้อ
โดยรถจักรไอน้ำทั้ง 2 คันนี้นำมาใช้งานในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2492 และด้วยความที่อายุการใช้งานมากกว่า 70 ปี ทุกวันนี้เราจึงคุ้นเคยกับคำเรียกติดปากจากชาวรถไฟว่า "คุณปู่" ถึงแม้จะปลดระวางจากการทำหน้าที่เดิมแล้ว ปัจจุบันคุณปู่ยังคงทำหน้าที่เป็นขบวนรถนำเที่ยวในโอกาสพิเศษต่าง ๆ สำหรับใครที่ยังไม่มีโอกาสใช้บริการคุณปู่ ลองแวบมาที่งานนี้ ถึงแม้ไม่ได้มาใช้บริการก็จะได้เห็นคุณปู่แบบเต็ม ๆ ตา
ทั้งหมดนี้เป็น 10 จุดเช็กอินห้ามพลาดในงาน Hua Lamphong in Your Eyes ซึ่งแต่ละจุดนอกจากจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์หัวลำโพงอย่างน่าประทับใจแล้ว ในแง่หนึ่งยังเป็นอีกความภาคภูมิใจที่ชาวรถไฟตั้งใจมอบความสุขคืนกลับไปยังประชาชนทุกคน กับการร่วมสร้างประวัติศาสตร์ความทรงจำของหัวลำโพงไปด้วยกัน โดยงานมีขึ้นระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2564 - 16 มกราคม 2565 แล้วคุณจะรู้ว่าหัวลำโพงยังมีเรื่องราวความทรงจำที่เต็มไปด้วยมนตร์เสน่ห์แสนคลาสสิกซุกซ่อนอยู่ไม่รู้จบ