เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2564 "ดอยเชียงดาว" จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกจากยูเนสโก (UNESCO) โดยนับเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลลำดับที่ 5 ของเมืองไทย ซึ่งการได้ขึ้นทะเบียนครั้งนี้ทำให้พื้นที่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นความภาคภูมิใจในถิ่นฐานที่ได้รับความสำคัญในระดับสากล วันนี้เราเลยจะพาเพื่อน ๆ เข้าไปสำรวจความหลากหลายและความสมบูรณ์ของธรรมชาติของสถานที่แห่งนี้ กับเรื่องราวน่ารู้ต่าง ๆ มากมาย โดยเริ่มกันที่
ดอยเชียงดาว ตั้งอยู่ที่ไหน
ความเป็นมา
สภาพภูมิประเทศของดอยเชียงดาว
ประกาศดอยเชียงดาวขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล
สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กำหนดจัดการประชุมสภาประสานงานระหว่างชาติว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Co-orinating Council on the Man and the Biosphere Programme: MAB-ICC) ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 13-17 กันยายน พ.ศ. 2564 ณ เมืองอาบูจา สาธารณรัฐไนจีเรีย ในการนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมดังกล่าว เนื่องจากมีการพิจารณารับรองการเสนอพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ จำนวน 22 แห่ง มีพื้นที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่จะมีการพิจารณาบรรจุในบัญชีรายชื่อพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ ของปี ค.ศ. 2021 ด้วย
โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) แถลงผลการพิจารณาของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ระบุว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่ที่มีความมหัศจรรย์ ไม่เพียงแต่ในด้านของสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ สัตว์ป่าเฉพาะถิ่นและหายาก แต่ยังรวมถึงความผูกพันทางจิตวิญญาณของผู้คนท้องถิ่นที่มีต่อดอยเชียงดาว ปราชญ์ ศิลปิน ผู้นำและชุมชนที่เข้มแข็ง เต็มเปี่ยมด้วยจิตสำนึกรักบ้านเกิด และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่จะส่งต่อให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ด้วยศักยภาพของพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวในการเป็นต้นแบบของการบูรณาการความรู้ ทั้งด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (BCG Economy) การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมที่ยั่งยืน และแนวคิด เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ ในระดับประเทศและสากล ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาวเชียงดาวและจังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ หวังว่าสถานะของพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่เป็นสากลจะเป็นประโยชน์ต่อชาวเชียงดาว ในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้อยู่คู่กับชาวเชียงดาวอย่างยั่งยืน บนฐานของทรัพยากรธรรมชาติที่มั่นคงในระยะยาว
เหตุผลที่ดอยเชียงดาวได้รับเลือก
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวมีระบบนิเวศที่โดดเด่น คือ ป่าเปิดระดับสูง (Subalpine vegetation) พบได้ไม่กี่แห่งในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นระบบนิเวศที่บ่งชี้ความเชื่อมต่อทางระบบนิเวศในแนวเทือกเขาหิมาลัยและจีนตอนใต้ ทำให้พื้นที่นำเสนอนี้เป็นถิ่นอาศัยของชนิดพรรณพืชเฉพาะถิ่นจำนวนมาก
- พื้นที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีความโดดเด่นด้านภูมิทัศน์ด้วยภูเขาหินปูนโดดเด่นตระหง่าน มีดอยหลวงเชียงดาวซึ่งเป็นยอดเขาสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย
- เป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยมีทั้งระบบนิเวศดั้งเดิมที่ได้รับการปกปักรักษามาอย่างยาวนาน และพื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟูให้คืนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ปี ธรรมชาติที่เป็นแกนกลางของพื้นที่ดอยเชียงดาวได้อำนวยนิเวศบริการแก่ชุมชนโดยรอบ
- มีสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ที่หาได้ยากยิ่งในประเทศไทย รวมถึงเป็นถิ่นอาศัยของพรรณไม้มากกว่า 2,000 ชนิด หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของพรรณไม้ในประเทศไทย และมีพรรณไม้ที่เชื่อมโยงให้เห็นว่าภูมิประเทศนี้ทอดยาวลงมาจากตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย ที่ราบสูง Qinghai - Tibet และจีนตอนใต้
พืชถิ่นเดียวของไทย และพืชชนิดใหม่ของโลก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว
- เทียนเชียงดาว ไม้ล้มลุก สูง 10-50 เซนติเมตร ดอกสีม่วง ออกเดี่ยว ๆ ก้านดอกยาว 3-5 เซนติเมตร เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะทางภาคเหนือที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นตามหินปูนที่โล่ง ความสูง 1,000-2,000 เมตร พบบริเวณเส้นทางไปยังอ่างสลุง บนยอดดอยหลวงเชียงดาว ช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม
- เทียนนกแก้ว ไม้ล้มลุก พบขึ้นตามซอกหินปูน ดอกสีม่วงอมชมพู รูปร่างโดยรวมคล้ายนกแก้ว พบบริเวนดงไม้หก ทางขึ้นปางวัว บนดอยหลวงเชียงดาว ช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม
- ชมพูเชียงดาว ไม้ล้มลุก สูง 40-60 เซนติเมตร ลำต้นมีขน ใบเรียงเป็นวง 3-4 ใบ ดอกสีชมพูถึงม่วงเข้ม เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบบนยอดดอยหลวงเชียงดาวและกิ่วลม ความสูง 1,800-2,100 เมตร ช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม
- ขาวปั้น ไม้ล้มลุก สูง 10-50 เซนติเมตร ลำต้นอวบหนา ใบติดรอบโคนต้นหรือปลายกิ่งแบบกุหลาบซ้อน เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่ดอยหัวหมด จังหวัดตาก และดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นตามเขาหินปูนที่เปิดโล่ง ความสูง 900-2,200 เมตร จะพบได้บนยอดดอยหลวงเชียงดาวและกิ่วลม ช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม
- เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า จำนวน 672 ชนิด จาก 358 สกุล ใน 91 วงศ์ โดยเฉพาะเป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าสงวน ได้แก่ กวางผา และเลียงผา รวมถึงสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหลายชนิด อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้สูงที่จะค้นพบพืชและสัตว์พันธุ์ใหม่ของโลกได้
ทำความรู้จักกับพื้นที่สงวนชีวมณฑล
พื้นที่สงวนชีวมณฑลเป็นพื้นที่สาธิตภายใต้โครงการมนุษย์และชีวมณฑล (Man and the Biosphere Programme) ของยูเนสโก (UNESCO) มีความเป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ในการศึกษา วิจัยเชิงประจักษ์ เพื่อหาคำตอบของความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความเจริญของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
พื้นที่สงวนชีวมณฑลถูกกำหนดให้มีบทบาทหน้าที่หลัก 3 ประการ คือ
- การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม
- การพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่น บนฐานของความยั่งยืน
- โลจิสติกส์ สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ การศึกษาวิจัย การบริหารจัดการที่มี รวมถึงการเผยแพร่ตัวอย่างและบทเรียนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของพื้นที่สงวนชีวมณฑล
ด้วยกิจกรรมมีเป้าหมายที่ "ธรรมชาติ" และ "มนุษย์" พื้นที่สงวนชีวมณฑลจึงประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ชุมชน ไม่แต่เพียงชุมชนภายในหรือประชิดพื้นที่อนุรักษ์ แต่ขยายไปถึงชุมชนเมืองที่ได้รับประโยชน์จากการคงอยู่ยั่งยืนของบริการจากระบบนิเวศในพื้นที่อนุรักษ์ด้วย
พื้นที่สงวนชีวมณฑลเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ มีบทบาทในระดับนานาชาติ โครงการมนุษย์และชีวมณฑลมีส่วนร่วมอย่างชัดเจนในการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกเป้าหมายบนเวทีสหประชาชาติ
ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล 4 แห่ง ดังนี้
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา ประกาศเมื่อ พ.ศ. 2519 ปัจจุบันรับผิดชอบกิจกรรมโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จังหวัดเชียงใหม่ ประกาศเมื่อ พ.ศ. 2520 ปัจจุบันรับผิดชอบกิจกรรมโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก จังหวัดลำปาง ประกาศเมื่อ พ.ศ. 2520 ปัจจุบันรับผิดชอบกิจกรรมโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จังหวัดระนอง ประกาศเมื่อ พ.ศ. 2540 ปัจจุบันรับผิดชอบกิจกรรมโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
และพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่ได้นำเสนอขึ้นทะเบียนต่อองค์การยูเนสโกล่าสุด ได้แก่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว และอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ คือ ยอดดอยหลวงเชียงดาว ระบบนิเวศภูเขาหินปูนที่สำคัญของประเทศไทย และวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของผู้คน ความเข้มแข็งของชุมชน ที่มีศักยภาพในการพัฒนาความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนของอัตลักษณ์ความเป็นเชียงดาวต่อไปในอนาคตอันใกล้
ทั้งนี้ ทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนไม่น้อยเดินเท้าขึ้นไปศึกษาและชมธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ณ เส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาว ด้วยระหว่างทางได้พบเจอกับต้นไม้และดอกไม้ป่านานาพรรณ โดยการเข้าพื้นที่จะต้องทำหนังสือขออนุญาตถึงผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า อย่างน้อย 15 วัน ก่อนการเดินทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก
dnp.go.th, dnp.go.th, dnp.go.th, เฟซบุ๊ก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่ และ เฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช