3 เส้นทางเที่ยวปัตตานี ล่องเรือชมป่าโกงกาง แวะเมืองโบราณ ชิมลูกหยีขึ้นชื่อ

           พาเที่ยวชุมชนในปัตตานี ทำกิจกรรมล่องเรือชมป่าชายเลน เดินศึกษาประวัติศาสตร์เมืองโบราณยะรัง และนั่งโชเล่สามล้อพ่วงข้างตะลุยดงต้นหยี

          ปัตตานี ดินแดนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถือเป็นจังหวัดที่งดงามด้วยวิถีชีวิตของผู้คนและสภาพภูมิประเทศ เพราะมากมายด้วยแหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ประเพณี วัฒนธรรม และธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ วันนี้เราเลยจะมาแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวปัตตานี ทั้งไปดื่มด่ำกับธรรมชาติที่ป่าโกงกาง เรียนรู้ประวัติศาสตร์จากโบราณสถาน และตะลุยชุมชนชมวิถีชีวิตที่เรียบง่ายกัน โดยเริ่มที่...

เส้นทางที่ 1 : ล่องเรือชมป่าโกงเกง ณ ชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บูนาดารา

          เรือขนาดเล็กที่ด้านข้างวาดลวดลายด้วยสีสันสดใส บรรทุกผู้โดยสาร 6 คน ค่อย ๆ ล่องลัดเลาะเลียบไปตามป่าโกงเกง เสียงคลื่นกระทบชายฝั่ง เสียงกระโดดจ๋อมแจ๋มของสัตว์ทะเล เสียงนกร้อง เสียงเครื่องยนต์ที่ติดบ้างดับบ้าง หรือบางชั่วขณะก็เกิดความเงียบสงัด ได้ยินแต่เพียงเสียงหายใจของเพื่อนร่วมทาง ทั้งหมดนี้คือสรรพเสียงในธรรมชาติที่เราได้ยินขณะที่ล่องเรือชมป่าโกงกาง ณ บูนาดารา (Buna Dara) ชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ตั้งอยู่ที่ตำบลตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

เรามีทุนทรัพยากรธรรมชาติ มีป่าชายเลนที่สมบูรณ์ ที่สำคัญคือมีชุมชนที่เข้มแข็ง จนสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน อีกทั้งยังคืนกำไรให้กับสังคม

มะเยะ แดเมาะ ประธานชุมชนท่องเที่ยวล่องเรือ Buna Dara

          คำพูดของพี่มะเยะ แดเมาะ ประธานชุมชนท่องเที่ยวล่องเรือ Buna Dara ชายหนุ่มผิวเข้มที่อยู่ในชุดสบาย ๆ เอ่ยกับเราถึงที่ไปที่มาของการท่องเที่ยวเส้นทางนี้ เมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมาก่อนที่จะเริ่มออกเดินทาง พร้อมกับเล่าต่อไปอีกว่า แต่ก่อนที่นี่ชื่อ “กาแลดารอ” เขาไม่รู้จักว่าบูนาดาราคืออะไร “บูนา” คือชื่อหมู่บ้านที่อยู่ฝั่งอ่าวใน เมื่อก่อนหมู่บ้านมีประมาณ 5-6 หลังคาเรือน พอ 50-60 ปีที่แล้วเกิดการลักขโมย ปล้นสะดมกัน ชาวบ้านก็กลัว จึงย้ายมาอยู่บ้านปาตาซึ่งเป็นหมู่บ้านใหญ่ พอย้ายไปอยู่ที่โน่นก็มีชื่ออย่างเดียว และแต่เดิมชาวบ้านเรียกที่นี่ว่า “กาแลดารอ” หมายถึง ท่าเรือดารอ เพราะมีต้นพุทรา (ดารอ) ขนาดใหญ่อยู่บริเวณท่าเทียบเรือ ทางเราก็มานั่งคุยกันว่าจะตั้งชื่ออะไรให้มันสอดคล้องกับอาเซียน กับชุมชนที่มีเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร ก็เลยตั้งชื่อ “Buna Dara”

          รวมถึงพูดคุยกันว่าต้องหาอะไรเด่น ๆ ให้คนแวะมาเที่ยว จนเกิดเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน และให้ชุมชนนำอาหารทะเลต่าง ๆ มาขายตรงจุดนี้ อย่างถ้าเป็นศุกร์-อาทิตย์ เงินจะสะพัดมาก จากแต่ก่อนที่ไม่มีรายได้ พอ 2 ปีที่แล้ว เราได้พาเที่ยวในชุนชนด้วย นั่งโชเล่สามล้อพ่วง ขึ้น 5 คน จ่าย 300 บาท ทำให้ทุกวันนี้ทั้งหน่วยงานและนักท่องเที่ยวเองต่างอยากไปดูชุมชน ดูกะโป๊ะ ดูการทำปลาแห้ง ไปดูว่าในชุมชนมีอะไรบ้าง จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์หลาย ๆ อย่างที่ชุมชนมี

          “แต่ก่อนเราทำเป็นอาชีพเสริม วันนี้เสริมกับหลักนี่เกือบเท่า ๆ กัน ราคานั่งเรือเที่ยว 700 บาท เรามีการบริหารจัดการ คือ 500 บาท ให้เรือ ให้ไกด์ เพราะแต่ละลำต้องมีไกด์ที่สามารถแนะนำได้ อีก 200 บาท เราบริหารจัดการ เช่น ซื้อชูชีพหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ หลาย ๆ อย่างที่เราทำให้ชุมชนสามารถยั่งยืนได้ ผมในฐานะประธานชุมชนท่องเที่ยว จริง ๆ ก็ไม่ได้อะไร ถ้าชุมชนไม่เล่นด้วย ไม่ทำด้วย หากไม่มีเกราะคุ้มกันมันก็ไม่เกิด เราหัก 10% ของรายได้ ของกำไร คืนให้กับชุมชน ให้เด็กกำพร้า ให้ตาดีกา ให้มัสยิด หรือกีรออาตี อะไรประมาณนี้ สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นเกราะคุ้มกันที่ให้ชุมชนเข้มแข็ง และชาวบ้านก็สามารถร่วมมือได้ วันนี้ในช่วงเช้าที่นี่เป็นตลาดสด คนผ่านไปผ่านมาจะมาแวะซื้ออาหารทะเล ซื้อตรงจากเรือที่เข้ามาจอดเทียบท่าได้เลย เลือกเอง ซื้อเอง ทำให้คนที่กินแล้วรู้สึกว่าถ้ามาที่นี่คือได้กินสด ๆ แน่นอน” คำพูดที่เปล่งออกมาจากชายวัยกลางคน ผสมผสานรอยยิ้มแห่งความภูมิใจที่ชุมชนช่วยกันพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง

          จบการพูดคุยเพียงไม่นาน พี่มะเยะก็พาเราเดินไปยังท่าเทียบเรือบูนาดารา ท่าเรือประจำของชาวบ้าน เพื่อทยอยลงเรือกอและขนาดเล็ก นั่งได้ 6 คน สวมชูชีพเรียบร้อยก็ถึงเวลาไปยลโฉมความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติกันแล้ว เรือค่อย ๆ แล่นออกจากท่า ผ่านเรือกอและสีสันสดใส ถูกบรรจงแต่งแต้มด้วยลวดลายประดับอันเป็นเอกลักษณ์งดงาม เสียงใบพัดค่อย ๆ เร่งความเร็วพาเราท่องไปยังคลองสาขาต่าง ๆ ทั้งคลองกอและ คลองตาเงาะ คลองโพรงกบ และคลองบางปู

          ระหว่างทางผ่านทั้งปาแดเบ็ง (พื้นที่ชุมนุมปลา) จุดดูนก ก่อนจะขึ้นไปนั่งพักรับลมเย็น ๆ บริเวณลานไม้ไผ่บนต้นโกงกาง จากนั้นไปเก็บหอยกัน (หอยที่อยู่ในป่าชายเลน) และไฮไลต์ของกิจกรรมนี้กับการล่องเรือผ่านอุโมงค์โกงกางสุดร่มรื่น เราใช้เวลาดื่มด่ำกับตลอดสองฝั่งป่าชายเลนที่สมบูรณ์ประมาณ 2 ชั่วโมงนิด ๆ ก็กลับมายังท่าเรืออีกครั้ง

          ก่อนจะขึ้นไปลิ้มลองอาหารพื้นบ้านที่มีทั้งแกงเหลืองปลากระบอก ผัดหอยกัน ปลาแห้ง บูดูทรงเครื่อง และปูม้านึ่งสด ๆ รสชาติหวานมาก ๆ

          “การเที่ยวในชุมชนมันต่างจากเที่ยวในเมืองนะ ต้องลองมาสัมผัสที่บูนาดาราดูบ้าง ทุกอย่างที่เราทำไม่ใช่เฉพาะแค่คนคนเดียว แต่ทำแล้วทุกคนจะได้ด้วย คนที่มาเที่ยวก็ได้ อย่างน้อยได้บุญ เพราะจ่าย 700 บาท เราก็มีส่วนคืนให้กับชุมชนด้วยส่วนหนึ่ง” คำพูดส่งท้ายของของพี่มะเยะ ก่อนที่เราจะร่ำลากันอีกครั้ง

          ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก BUNA DARA

เส้นทางที่ 2 : ตามรอยเมืองโบราณยะรัง สัมผัสร่องรอยอาณาจักรโบราณ

เมืองโบราณยะรังเชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของของอาณาจักรลังกาสุกะ เมื่อ 1,500 ปีที่แล้ว มีชื่อว่า “โกตามะห์ลิฆัย” โดยคำว่า โกตา แปลว่า พระราชวัง ส่วน มะห์ลิฆัย แปลว่า ทอง รวมกันคือพระราชวังทอง

อาฮามะ ฮะซา เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา

           เสียงทุ้มที่ค่อย ๆ เล่าเรื่องราวของเมืองโบราณยะรังแบบมีอรรถรสของ คุณอาฮามะ ฮะซา เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา โบราณสถานที่ตั้งอยู่ในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี จากนั้นก็ได้พาเราเดินชมโบราณสถานต่าง ๆ ที่อยู่ภายในบริเวณเมืองโบราณบ้านจาเละ เช่น โบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 2 และโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 8 พร้อมกับบรรยายแต่ละสถานที่ให้เราฟังอย่างเพลิดเพลิน

           เมืองโบราณยะรัง เมืองเก่าแก่อายุ 1,400 ปี เป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำปัตตานี บนคาบสมุทรมลายู สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณชื่อ “ลังยาสิ่ว” หรือ “ลังกาสุกะ” ตามหลักฐานเอกสารในบันทึกของจีน อาหรับ อินเดีย ชวา และมลายู เมืองโบราณนี้ตั้งอยู่บนที่ราบเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำปัตตานีสายเดิม เป็นที่ราบลุ่มต่ำอันเกิดจากการแปรสภาพเป็นคลองที่ตื้นเขินทางทิศตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 7 เมตร โบราณสถานภายในขอบเขตทั้งหมดตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำ ห่างจากแม่น้ำปัตตานีประมาณ 4 กิโลเมตร กระจายต่อเนื่องกันไป โดยเริ่มจากโบราณสถานซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตตำบลยะรัง ต่อลงมาในตำบลปิตูมุดี ตำบลระแว้ง และตำบลวัด ในอำเภอยะรัง

           เมืองโบราณยะรัง มีผังเมืองเป็นรูปวงรีขนาดใหญ่ ลักษณะวางตัวตามแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ มีทางน้ำธรรมชาติเป็นแนวคูเมืองขนาบทั้ง 2 ด้าน มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งหมด 9 ตารางกิโลเมตร จากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่าเป็นเมืองที่มีการสร้างทับซ้อนกัน 3 เมือง ขยายตัวเชื่อมต่อกัน ได้แก่ เมืองโบราณบ้านวัด เมืองโบราณบ้านจาเละ และเมืองโบราณบ้านประแว

          โดยมีการขุดพบทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุ ไม่ว่าจะเป็น สถูปจำลองดินดิบ, ศิวลึงค์, พระพิมพ์ดินเผา, เศษภาชนะดินเผา, เหรียญอาหรับ และธรรมจักร เป็นต้น รวมแล้วมากกว่าล้านชิ้น อีกทั้งยังมีการขุดพบเรื่อย ๆ โดยโบราณวัตถุต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะถูกนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

การเดินทาง : ใช้ถนนสิโรรส ไปตามทางหลวงหมายเลข 410 (ปัตตานี-ยะลา) ระยะทาง 14 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือสายยะรัง-มายอ บนทางหลวงหมายเลข 4061 อีก 1 กิโลเมตร เข้าสู่เขตเมืองโบราณแล้วเลี้ยวซ้ายไปทางทิศเหนือ 400 เมตร ถึงเขตโบราณสถานบ้านจาเละ

เส้นทางที่ 3 : นั่งโชเล่สามล้อพ่วงข้างตะลุยชุมชนดงต้นหยี ที่บ้านปูลาตะเยาะฆอ

          ถ้าเอ่ยถึงของฝากขึ้นชื่อของปัตตานีจะต้องมี “ลูกหยี” ติดอันดับแรก ๆ แน่นอน ซึ่งเลยจากเมืองโบราณบ้านจาเละมาประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของชุมชนดงต้นหยี บ้านปูลาตะเยาะฆอ ตำบลระแว้ง อำเภอยะรัง ที่นี่ถูกโอบล้อมไปด้วยต้นหยีน้อยใหญ่มากมาย โดยมีไฮไลต์อยู่ที่ “ต้นหยียักษ์” อายุร้อยปี ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นต้นไม้ทรงคุณค่า “รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี ประจำปี 2561” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 63 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2561

ที่นี่มีต้นหยีอายุร้อยปี ได้รับคัดเลือกให้เป็นต้นไม้ทรงคุณค่า รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี ประจำปี 2561

โมฮำมัดรอสดี มะมิง ประธานชุมชนท่องเที่ยวดงต้นหยี

          นายโมฮำมัดรอสดี มะมิง ประธานชุมชนท่องเที่ยวดงต้นหยี ชายสูงวัยในชุดเสื้อสีเทา กล่าวทักทายพร้อมชวนให้ไปขึ้นรถโชเล่สามล้อมพ่วงข้างที่มีคุณลุงหน้าตานิ่ง ๆ นั่งประจำที่คนขับเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่สายฝนจะโปรยปรายลงมา รถค่อย ๆ พาเราเลี้ยวเลาะไปตามเส้นทางเล็ก ๆ ผ่านป่า ผ่านสวน และไปจอดนิ่งอยู่ที่ “ฐานเรียนรู้การเพาะเลี้ยงชันโรง” เพื่อชมสาธิตการเพาะเลี้ยงชันโรงและการเก็บน้ำผึ้งชันโรงจากชาวบ้านที่ชำนิชำนาญ โดยอธิบายสั้น ๆ ให้เราเข้าใจถึงขั้นตอนต่าง ๆ

           และมุ่งหน้าไปยัง “ต้นหยียักษ์” ที่ระหว่างทางจะมีสวนสละอินโดหลากหลายสายพันธุ์ให้ได้ชมกันด้วย ภาพของต้นหยีสูงใหญ่ ตั้งตระหง่านแวดล้อมด้วยต้นไม้นานาพรรณ จากนั้นย้อนกลับมายังหมู่บ้านอีกครั้ง เพื่อลองลิ้มชิมรสกับผลิตผลและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น น้ำผึ้งชันโรง, ลูกหยีกวน, น้ำลูกหยี, สละอินโด และผลไม้ท้องถิ่นต่าง ๆ ก่อนจะช้อปปิ้งสินค้าติดไม้ติดมือกลับบ้านคนละชิ้นสองชิ้น โบกมือลาชุมชนท่องเที่ยวปัตตานีแห่งนี้ ไปพร้อมกับสายฝนที่ตกลงมาส่งท้าย

          ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก ชุมชนดงต้นหยี
การเดินทาง : จากตัวเมืองปัตตานี ตรงไปทางสะพานตะลุโบะ ลอดใต้สะพาน ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 410 (ปัตตานี-ยะลา) ถึงสี่แยกอำเภอยะรัง เลี้ยวซ้ายไปทางเส้นทาง 4061 ไปตามเส้นทางยะรัง-มายอ ประมาณ 2 กิโลเมตร ก็จะถึงชุมชน

          และนี่คือ 3 เส้นทางท่องเที่ยวปัตตานีที่เรานำมาฝากกัน จังหวัดนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายให้ได้ไปสัมผัส สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส โทรศัพท์ 0 7354 2345-6 หรือเฟซบุ๊ก TAT Narathiwat ททท.สำนักงานนราธิวาส 

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
เมืองโบราณยะรัง
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
3 เส้นทางเที่ยวปัตตานี ล่องเรือชมป่าโกงกาง แวะเมืองโบราณ ชิมลูกหยีขึ้นชื่อ อัปเดตล่าสุด 15 ตุลาคม 2563 เวลา 16:44:27 15,251 อ่าน
TOP
x close