การรถไฟฯ จัดทำคลิปส่งเสริมความปลอดภัย หวังช่วยลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ

          เมื่อต้องใช้จุดตัดทางรถไฟ มีวิธีปฏิบัติอย่างไรบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ร่วมทางสัญจร
          ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน “รถไฟ” เป็นสาธารณูปโภคของประเทศที่นำพาผู้คนเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะสัญจรหรือนั่งรถไฟเที่ยว เมื่อกาลเวลาผ่านไป ถนนหนทางมีเพิ่มขึ้น ผู้คนมีตัวเลือกในการเดินทางมากมาย รถไฟอาจถูกลดบทบาทลงบ้าง แต่ก็ยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติเสมอมา เห็นได้จากโครงการต่าง ๆ ที่เพิ่มศักยภาพของรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขนส่งคนหรือสินค้า มีการก่อสร้างทางคู่ และทางรถไฟเพิ่มมากขึ้น และสิ่งหนึ่งที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการพัฒนาต่าง ๆ คือเรื่องของความปลอดภัย
          หนึ่งในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งของรถไฟ มักเกิดบริเวณ “จุดตัดทางรถไฟ” หลายครั้งที่มีผู้ร่วมทางสัญจรต้องสังเวยชีวิตและทรัพย์สิน อาจเป็นเพราะสาเหตุมาจากความประมาท ความไม่คุ้นชิน ไม่ชำนาญทาง หรือขาดทักษะในการขับรถ ซึ่งความปลอดภัยเป็นหนึ่งในเรื่องที่ คุณนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยในด้านการเดินรถ บนขบวนรถ หรือความปลอดภัยที่สถานี บริเวณรอบสถานี และบริเวณรางรถไฟต่าง ๆ เนื่องจากมีหลายพื้นที่ล้ำเข้ามาในขอบเขตของรางรถไฟ ทั้งต่อเติมอาคาร ตั้งแผงวางขายสินค้า หรือสร้างทางลักผ่านขึ้นเอง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดความสูญเสียทั้งกับชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานการรถไฟฯ หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป

คุณนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

          การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ส่งพี่ปู๊นปู๊นแอนด์เดอะแก๊งค์ ที่มีทั้งนายสถานี พี่หมีผู้ช่วย และพนักงานขับรถไฟ นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ออกมาในมุมน่ารัก ๆ เพื่อเป็นสื่อกลางให้ความรู้กับน้อง ๆ หนู ๆ อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ผู้ใช้บริการรถไฟ รวมถึงผู้ร่วมสัญจรบนท้องถนน ต่างเห็นถึงความสำคัญ เพิ่มความปลอดภัย และลดอุบัติเหตุต่อชีวิตและทรัพย์สิน เรื่องราวจะเป็นอย่างไร เข้าไปชมกันได้เลย !
          นอกจากนี้เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยให้มากขึ้น เราจึงมีข้อควรรู้และข้อปฏิบัติต่าง ๆ เมื่อต้องใช้จุดตัดข้ามทางรถไฟ มาแนะนำเพิ่มเติมกันด้วย

จุดตัดทางรถไฟคืออะไร

          จุดตัดทางรถไฟ คือ จุดตัดผ่านระหว่างถนนกับทางรถไฟ ปัจจุบันพบว่ามีจุดตัดทางรถไฟมากกว่า 2,000 แห่ง ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินการทยอยติดตั้งระบบป้องกันอุบัติเหตุ แม้ว่าจะยังไม่ครบทุกจุด การรถไฟฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ทางสัญจร

จุดตัดทางรถไฟมีกี่ประเภท อะไรบ้าง ?

          จุดตัดทางรถไฟที่พบเห็นในปัจจุบัน มีด้วยกันทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่

          - จุดตัดทางรถไฟแบบอัตโนมัติ

          จุดตัดประเภทนี้จะใช้ระบบเซ็นเซอร์เป็นตัวบอกว่ารถไฟกำลังมา เมื่อขบวนรถไฟมาถึงจุดที่ต้องเปิดสัญญาณเตือน ไม้กั้นจะลงมาโดยอัตโนมัติ ทางตัดผ่านประเภทนี้ส่วนใหญ่จะใช้ในบริเวณที่มีทางตัดผ่านทางรถไฟกับถนนในตัวเมือง หรือบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น และบนทางหลวงแผ่นดิน

ภาพจาก PUGUN SJ / Shutterstock.com

          - จุดตัดรถไฟกึ่งอัตโนมัติ

          จุดตัดประเภทนี้จะมีเจ้าหน้าที่คอยประสานงานกัน เพื่อให้สัญญาณเมื่อรถไฟกำลังจะมา และเอาไม้กั้นลง หรือแผงล้อลากออกมากั้นบริเวณจุดตัด เพื่อให้รถไฟผ่านไป

ภาพจาก Badin Sawaddigul / Shutterstock.com

          - จุดตัดรถไฟแบบอันเดอร์พาส

          จุดตัดประเภทนี้รถไฟจะวิ่งข้ามผ่านถนนไปได้ ในขณะที่ผู้ขับขี่จะใช้เส้นทางสัญจรด้านล่าง เพื่อขับรถผ่านทางต่างระดับนี้ไป

          - จุดตัดรถไฟแบบโอเวอร์พาส

          จุดตัดประเภทนี้รถไฟจะแล่นผ่านอุโมงค์ ในขณะที่ผู้ขับขี่จะใช้เส้นทางสัญจรถนนด้านบน เพื่อขับรถผ่านทางระดับนี้ไปได้

          - จุดตัดรถไฟแบบทางลักผ่าน

          จุดตัดประเภทนี้ถือว่ามีความอันตรายมากที่สุด ด้วยเพราะเป็นจุดตัดที่เอกชนหรือผู้อาศัยอยู่ย่านชุมชนนั้น ๆ สร้างขึ้นมาเอง และไม่ได้รับอนุญาตจากทางรถไฟ จึงไม่มีการควบคุมด้านความปลอดภัย และนำมาซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ด้วยเพราะเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก

รู้หลักปฏิบัติเมื่อใช้จุดตัดทางรถไฟ

          เมื่อใดก็ตามที่ผู้ใช้ทางสัญจรจำเป็นต้องใช้จุดตัดทางรถไฟ อยากให้ทุกคนเตือนตัวเองให้มีสติอยู่เสมอ เพราะสติจะทำให้ไม่ตกอยู่ในความประมาท แต่ไม่เพียงเท่านั้น ควรรู้ถึงหลักปฏิบัติเบื้องต้น เพื่อการเดินทางโดยสวัสดิภาพ ได้แก่
 

  • ทำการศึกษาเส้นทางที่สัญจรให้รอบคอบ เพื่อดูว่าเส้นทางที่ผ่านมีจุดตัดทางรถไฟหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ
     
  • การขับรถในช่วงกลางคืนที่ทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ดี ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
     
  • หมั่นสังเกตป้ายเตือนสัญลักษณ์หรือลูกระนาด ก่อนขับเข้าใกล้จุดตัดทางรถไฟ
     
  • ควรชะลอความเร็วและหยุดรถก่อนถึงจุดตัดทางรถไฟ มองซ้าย-ขวาให้แน่ใจแล้วค่อยขับผ่าน
     
  • ไม่ควรหยุดรถหรือจอดรถคร่อมทางรถไฟเป็นอันขาด เพราะถ้ามีรถไฟวิ่งผ่านจะไม่สามารถเคลื่อนรถได้ทัน
     
  • ต่อให้จุดตัดทางข้ามรถไฟนั้นจะมีไม้กั้นหรือไม่มีไม้กั้นก็ตาม ควรหยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟในระยะไม่ต่ำกว่า 5 เมตร

          ทั้งนี้ ยังมีความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับรถไฟอีกมากมาย ที่ผู้ปกครองและคุณครูสามารถนำแอนิเมชั่นพี่ปู๊นปู๊นแอนด์เดอะแก๊งค์ ไปใช้เป็นสื่อกลางให้ความรู้กับน้อง ๆ หนู ๆ ต่อไปได้ สามารถติดตามได้ที่ช่องทาง YouTube การรถไฟแห่งประเทศไทย นะ


ขอบคุณข้อมูลจาก
การรถไฟแห่งประเทศไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การรถไฟฯ จัดทำคลิปส่งเสริมความปลอดภัย หวังช่วยลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ อัปเดตล่าสุด 28 กันยายน 2563 เวลา 09:22:23 23,965 อ่าน
TOP