หลังจากทางภาครัฐได้ออกมาตรการคลายล็อก ระยะที่ 2 จากสถานการณ์โควิด 19 และปรับเวลาเคอร์ฟิว จากเดิม ตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. เป็นเวลา 23.00-04.00 น. มาตรการดังกล่าวมีผลทำให้การเดินรถโดยสารประจำทางจำเป็นต้องปรับเวลาให้บริการด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้เพียงพอและรองรับกับจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการมากขึ้นตามลำดับ
ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก BMTA องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ แจ้งรายละเอียดไว้ ดังนี้
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ปรับเปลี่ยนเวลาให้บริการรถโดยสารประจำทางทุกประเภท จากเดิมให้บริการ เวลา 05.00-21.00 น. (เวลา 21.00 น. คือเวลาที่รถโดยสารกลับถึงอู่จอดรถ) เป็นให้บริการ เวลา 05.00-22.00 น. (เวลา 22.00 น. คือเวลาที่รถโดยสารกลับถึงอู่จอดรถ) ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
ขสมก. จึงจัดแผนเดินรถโดยสาร ในช่วงมาตรการคลายล็อกระยะที่ 2 ดังนี้
1. เพิ่มจำนวนรถออกวิ่ง จากเดิม 90% (2,705 คัน/วัน) เป็น 95% (2,855 คัน/วัน) หรือจัดรถออกวิ่งให้สอดคล้องกับความต้องการใช้บริการของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา
2. ปรับเวลาการให้บริการเดินรถโดยสาร จากเวลา 05.00-21.00 น. (เวลา 21.00 น. คือเวลาที่รถโดยสารกลับถึงอู่จอดรถ) เป็นให้บริการ เวลา 05.00-22.00 น. (เวลา 22.00 น. คือเวลาที่รถโดยสารกลับถึงอู่จอดรถ) โดยเพิ่มความถี่ในการปล่อยรถ ช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า (05.00-08.00 น.) และช่วงเวลาก่อนเคอร์ฟิว (21.00-22.00 น.) ให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 5-10 นาที
3. ปล่อยรถโดยสารคันสุดท้าย ออกจากท่าปลายทางประมาณ 21.00 น. เพื่อให้พนักงานสามารถนำรถกลับเข้าอู่จอดรถได้ทันเวลา 22.00 น. โดยปรับเพิ่มความถี่ในช่วงการปล่อยรถ 3 คันสุดท้าย ให้มีระยะห่างกัน 5-10 นาที ซึ่งรถโดยสาร 3 คันสุดท้าย จะติดป้ายข้อความบ่งชี้บริเวณหน้ารถโดยสาร ดังนี้
3.1 เหลือรถ 2 คันสุดท้าย
3.2 เหลือรถ 1 คันสุดท้าย
3.3 รถคันสุดท้าย
ข้อควรปฏิบัติในการใช้บริการรถโดยสารช่วงเวลาก่อนเคอร์ฟิว 21.00-22.00 น.
1. เตรียมตัวกลับบ้านก่อนเวลา 19.00 น.
2. หากผู้ใช้บริการเต็ม โปรดรอคันต่อไป
3. รถโดยสารคันสุดท้ายออกจากท่าปลายทางเวลาประมาณ 21.00 น.
4. รถโดยสาร 3 คันสุดท้ายจะมีป้ายบ่งชี้
มาตรการของ ขสมก. ในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด 19

ภาพจาก 2p2play / shutterstock.com
1. ด้านพนักงานประจำรถ
มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารทุกครั้ง ก่อนขึ้นปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร พร้อมทั้งกำชับพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร สวมหน้ากากอนามัย และถุงมือ ทุกครั้ง ขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร
2. ด้านรถโดยสารประจำทาง
- เพิ่มความถี่ในการล้างทำความสะอาดระบบปรับอากาศ และการทำความสะอาดผ้าม่านบนรถโดยสาร
- ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% ฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสาร และใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ผู้ใช้บริการต้องสัมผัส เช่น เบาะที่นั่ง ราวจับ กริ่งสัญญาณ เป็นต้น พร้อมทั้งติดตั้งขวดเจลแอลกอฮอล์ สำหรับให้ผู้ใช้บริการล้างมือ บริเวณประตูทางขึ้น
- กำหนดจุดนั่ง (เบาะที่ไม่มีเครื่องหมายกากบาท) และจุดยืนให้มีระยะห่างกัน 1 เมตร ซึ่งรถโดยสาร 1 คัน อนุญาตให้ผู้ใช้บริการยืนได้ไม่เกิน 10 คน กรณีผู้ใช้บริการเต็ม พนักงานเก็บค่าโดยสารจะติดป้าย ข้อความ “ผู้ใช้บริการเต็ม โปรดใช้บริการรถคันถัดไป” บริเวณกระจกหน้ารถโดยสาร พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เพื่อรอใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป
3. ด้านผู้ใช้บริการ
- ผู้ใช้บริการจะต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ขณะใช้บริการรถโดยสาร
- ผู้ใช้บริการจะต้องนั่ง และยืนตามจุดที่กำหนด กรณีผู้ใช้บริการเต็มจะต้องรอใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป
- ผู้ใช้บริการจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานเก็บค่าโดยสาร นายตรวจ และเจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษอย่างเคร่งครัด
สามารถสอบถามข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก BMTA องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือโทรศัพท์ 1348
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก BMTA องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ