x close

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง



อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง  (อ.ส.ท.)

          ปราสาทพนมรุ้งตั้งอยู่ในเขตตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโบราณสถานที่มีความสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว  เมื่อประมาณ ๙๐๐,๐๐๐ ปีก่อน คำว่า "พนมรุ้ง" หรือ "วนํรุง" ในภาษาเขมรแปลว่า "ภูเขาใหญ่" ปราสาทพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย (ไส-วะ) มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๗ และในพุทธศตวรรษที่ ๑๘  พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายานเทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนาช่วงนั้น

          ปราสาทพนมรุ้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ตั้งเรียงรายขึ้นไปจากลาดเขาจนถึงปรางค์ประธานบนยอด เปรียบเสมือนวิมานที่ประทับของพระศิวะ บันไดทางขึ้นช่วงแรกทำเป็นตระพัง (สระน้ำ) ๓ ชั้น ผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดินซึ่งมี เสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะ ๆ ทางเดินนี้ทอดไปสู่ สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์ ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนือมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง ๑ หลัง เรียกกันว่า โรงช้างเผือก สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะ ๆ รวม ๕ ชั้น สุดบันไดเป็นชานชาลาโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และจากประตูนี้ยังมีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่งก่อนถึงปรางค์ประธาน

          ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธาน ตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุนปรางค์ ล้วนสลักลายประดับ ทั้งลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ภาพฤาษี เทพประจำทิศ ศิวนาฏราช ที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน ลักษณะของลวดลาย และรายละเอียดอื่น ๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่า ปรางค์ประธานพร้อมด้วยบันไดทางขึ้น และสะพานนาคราชสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ที่ลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้มีปรางค์ขนาดเล็ก ๑ องค์ ไม่มีหลังคา    จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่ปรากฏ เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่า ปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธาน มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖

        นอกจากนี้ ยังมีฐานปรางค์ก่อด้วยอิฐซึ่งมีอายุเก่าลงไปอีก คือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ประธาน และที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  และทิศตะวันออกเฉียงใต้มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ร่วมสมัยกันกับพลับพลาที่สร้างด้วยศิลาแลงข้างทางที่เรียกว่า  โรงช้างเผือก

          เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน

          อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๖.๐๐-๑๘.๐๐ นาฬิกา ค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างชาติ ๔๐ บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทรศัพท์ ๐ ๔๔๖๓ ๑๗๔๖

          การเดินทาง  จากตัวจังหวัดบุรีรัมย์สามารถเดินทางไปปราสาทพนมรุ้งได้ ๒ เส้นทาง คือ  

          ๑. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง (ทางหลวงหมายเลข ๒๐๘) ระยะทาง ๕๐ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๔ ไป ๑๔ กิโลเมตร ถึงบ้านตะโก เลี้ยวขวาผ่านบ้านตาเป็ก  อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ไปปราสาทพนมรุ้ง ระยะทางอีก ๑๒ กิโลเมตร

          ๒. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัยทางหลวงหมายเลข ๒๓ ระยะทาง ๔๔ กิโลเมตร จากตัวอำเภอประโคนชัยมีทางแยกไปปราสาทพนมรุ้ง อีก ๒๑ กิโลเมตร (เส้นทางนี้ผ่านทางแยกเข้าปราสาทเมืองต่ำด้วย)

แนะนำที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรม เพียบ

 


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13:58:17 1,084 อ่าน
TOP