x close

เที่ยวอุทัยธานี ชมของดีมรดกภูมิปัญญา สัมผัสเสน่ห์ชีวิตลุ่มน้ำสะแกกรัง

         เที่ยวอุทัยธานี พาชมของดีชุมชนที่บ้านทองตะนาว กับผลิตภัณฑ์ธูปรักษ์โลก ควันน้อยลดสารก่อมะเร็ง เยี่ยมชมศูนย์วงเดือน อาคมสุรทัณฑ์ ศูนย์ฝึกทักษะและพัฒนางานอาชีพ และล่องเรือสัมผัสวิถีชีวิตชาวแพลุ่มน้ำสะแกกรัง

         เวลาเดินทางร่วม 3-4 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ นำพาเราเข้าสู่จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดที่เปรียบเสมือนเป็นประตูหน้าด่านสู่ภาคเหนือ บวกกับช่วงปลายปีที่ทุกคนต่างโหยหาความหนาวเย็นของอากาศ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า…กลุ่มรายชื่อจังหวัดภาคเหนือมักได้รับการพิจารณาเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ หรือน่าน หากแต่น้อยคนนักที่จะหยุดแวะพักซึมซับรับรู้ความเป็นไปแห่งวิถีชีวิต ณ อุทัยธานี
 
เที่ยวอุทัยธานี

         ตลอดเส้นทางล้อรถเคลื่อนบนถนน พลันนักท่องเที่ยวต่างถิ่นขอสอดส่ายสายตาสำรวจพื้นที่ดูเสียหน่อย “อุทัยธานีเมืองสีม่วง” ดูจะเป็นคำนิยามที่แล่นเข้ามาในหัวเดี๋ยวนั้น ทันทีที่เห็นตึกรามบ้านช่องสองฟากฝั่งถนนทาด้วยสีม่วงเสียส่วนใหญ่ เก็บความสงสัยอยู่ไม่นาน ก็ได้คำตอบว่า…สาเหตุที่จังหวัดอุทัยธานี พร้อมใจกันทาสีอาคารเป็นสีม่วง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษา หลังจากคลายความสงสัยในใจเรียบร้อย ก็เป็นช่วงจังหวะพอดีจุดหมายปลายทางแรกปรากฏอยู่เบื้องหน้า

บ้านทองตะนาว : ธูปควันน้อย ชูคุณภาพของดีประจำอำเภอ

         ลมยามบ่ายเคล้าไอร้อนผ่าว หอบพาเรามายืนตรงหน้าชายวัยกลางคน หน้าตาใจดี ที่กำลังยืนแจกรอยยิ้มกว้างส่งมาแต่ไกล เขาผู้นี้มีชื่อว่า อาจารย์อรรคภพ ทองตะนาว หัวหน้ากลุ่มเครื่องหอมไทยเดิมทองตะนาว ทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำข้อมูลต่าง ๆ เสียงจังหวะการพูดเนิบช้าแฝงความอ่อนโยน นิ้วมือผายคล้ายเป็นเส้นนำสายตาไปยังผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่อยู่ตรงหน้าอย่างชำนาญจัดเจน มีทั้ง “สมุนไพรสูดดม”, “ธูปตะไคร้หอม” และ “ชุดเทียนร่ำผ้า” จนมาสะดุดเข้ากับกล่องสีน้ำตาลทรงสูง พิมพ์ลายอักษรสวยงามว่า “ธูปหอมควันน้อย ลดสารก่อมะเร็ง”

เที่ยวอุทัยธานี

อาจารย์อรรคภพ ทองตะนาว หัวหน้ากลุ่มเครื่องหอมไทยเดิมทองตะนาว

เที่ยวอุทัยธานี

         “นี่ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่าเป็นพระเอกของเราเลยนะครับ” สิ้นสุดสรรพเสียงบรรยายสรรพคุณ ก็เกิดปรากฏการณ์ไทยมุงอย่างมิได้นัดหมาย “ความพิเศษของธูปควันน้อย คือ เป็นธูปช่วยลดสารก่อมะเร็ง โดยปกติของธูปทั่วไปแล้ว จะมีสารพวกคาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงสารอื่น ๆ ที่เรามองไม่เห็น ทั้งเวลาจุดก็จะรู้สึกแสบตา ระคายเคือง เหล่านี้เป็นผลกระทบที่ส่งผลต่อร่างกายจนไม่อาจมองข้าม”

          ไม่เพียงแต่ข้อมูลปากเปล่าที่รับทราบจากอาจารย์อรรคภพเท่านั้น หากแต่อาจารย์เดินตรงดิ่งนำเราไปยังโรงเก็บอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ของการทำธูปได้รับการวางในโหลแก้วใส พร้อมแปะป้ายชื่อกำกับ ประกอบด้วย แป้งข้าวโพด, ซังข้าวโพดข้าว (บด) และถ่านซังข้าวโพด ไม่พูดพร่ำทําเพลงประวิงเวลาให้นาน กรรมวิธีต่าง ๆ ของการผลิตธูปควันน้อย ก็ค่อย ๆ ไหลพรั่งพรูจากอาจารย์อรรคภพ 
เที่ยวอุทัยธานี

 ส่วนผสมต่าง ๆ ของการทำธูปควันน้อย

         “เราเลือกที่จะเปลี่ยนวัตถุดิบในการทำธูป เพราะธูปปกติทั่วไปจะนิยมใช้ขี้เลื่อยที่เหลือจากการผลิตเฟอร์นิเจอร์ แล้วนำมาอบน้ำยา ซึ่งนี่แหละทำให้เกิดสารเคมีตกค้าง เราเลยเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงสะอาด อย่างซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เหตุที่เลือกใช้ เพราะซังข้าวโพดเหล่านี้ผ่านการฉีดยาฆ่าแมลงเพียงปีละครั้ง หลังจากนั้นนำมาเผาเป็นถ่าน แล้วใช้ยางบง เคลือบแกนในของก้านธูป แล้วค่อยเอาซังข้าวโพดผสมแป้งข้าวโพดเคลือบผิวหน้าก้านธูปให้เป็นสีขาวอีกทีหนึ่ง” 

         อาจเป็นเพราะอาจารย์อรรคภพกลัวเราจะไม่เห็นภาพว่าธูปควันน้อย จะควันน้อยสมชื่อจริงหรือเปล่า ? ว่าแล้วอาจารย์ก็คว้าไฟแช็กข้างตัว จุดให้เราเห็นกันต่อหน้า ควันธูปสีขาวลอยพลิ้วเป็นทางยาว ไม่กี่อึดใจ...กลุ่มควันธูปหนาก็คลายความหนาแน่นลง เหลือเป็นควันจาง ๆ ถ้าไม่เขม่นตาจ้องให้ดี ๆ ก็แทบจะมองไม่เห็น เป็นอันว่าผลการทดลองเล็ก ๆ ของอาจารย์อรรคภพ สัมฤทธิผลตามที่ตาเห็น

         “รู้ไหมครับ ? แม้แต่รอยตำหนิแค่นิดเดียว เราก็จะไม่เอาเข้ามารวมในบรรจุภัณฑ์” น้ำเสียงและแววตามุ่งมั่น ตอกย้ำความตั้งใจจริง ที่อยากให้ผลิตภัณฑ์ธูปรักษ์โลกคงไว้ซึ่งคุณภาพและความปลอดภัย
         “ทั้งนี้ธูปที่มีรอยตำหนิต่าง ๆ เราจะรวบรวมแล้วนำไปถวายวัด หรือไปก็นำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ต่อไป”  

เที่ยวอุทัยธานี

เที่ยวอุทัยธานี

ผลิตภัณฑ์ชุมชนต่าง ๆ ของบ้านทองตะนาว

         สินค้าผลิตภัณฑ์ของชุมชนบ้านทองตะนาว ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ผลิตขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงจากมรดกทางภูมิปัญญา หาใช่เป็นโรงงานเครื่องจักรแต่อย่างใด และอาจดูเป็นจำนวนน้อยเมื่อมองจากสายตาคนนอก สาเหตุส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะความบอบช้ำจากอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 ยังคงย้ำเตือนถึงภาพความเสียหายให้อาจารย์อรรคภพและชาวบ้าน หลังภาวะแทบสิ้นไร้เดินทางมาหาพวกเขาพร้อมผืนน้ำ หากแต่กำลังใจไม่ได้ลอยหายไปกับสายน้ำ หลังได้รับการเยียวยาและฟื้นฟู ทุกคนกลับมายืนหยัดเดินหน้าต่ออีกครั้ง “มันคุ้มค่านะครับกับการทำหน้าที่เป็นผู้สืบสานและสานต่อมรดกภูมิปัญญาไม่ให้สูญหาย…” นี่เป็นถ้อยคำที่มีนัยสื่อถึงคำมั่นสัญญาทิ้งท้ายก่อนจากกันในวันนั้น

ศูนย์วงเดือน อาคมสุรทัณฑ์ : แหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชีวิต

         เลาะตามหลืบซอยเลียบแม่น้ำสะแกกรังบนถนนศรีอุทัย เพื่อมุ่งหน้าไปยังจุดหมายถัดไป ณ ศูนย์วงเดือน อาคมสุรทัณฑ์ สำหรับศูนย์แห่งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ฝึกทักษะและพัฒนางานอาชีพ ให้ประชาชนมีช่องทางประกอบอาชีพ สร้างรายได้เสริมให้กับตนเอง และครอบครัว โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศูนย์วงเดือน อาคมสุรทัณฑ์ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561

เที่ยวอุทัยธานี

เที่ยวอุทัยธานี

         อาคารปูนสองชั้นสีขาวสลับม่วง อาณาบริเวณพื้นที่โดยรอบจับจองด้วยแปลงผักสวนครัวขนาดย่อม เพาะปลูกเอาไว้เพื่อใช้ประโยชน์ภายภาคหน้า การมาเยือนของเราช่วงเวลาสั้น ๆ ในวันนั้น ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจาก คุณอุทัยวรรณ โพธิ์กระจ่าง ผู้อำนวยการศูนย์ หญิงสาววัยกลางคนในชุดผ้าพื้นเมือง รอยยิ้มพิมพ์ใจดูจะเป็นสิ่งดึงดูดให้เรายืนรับฟังข้อมูลอย่างว่าง่าย เธอพาชมและแนะนำศูนย์ ในส่วนต่าง ๆ 

เที่ยวอุทัยธานี

ผักสวนครัวล้อมรั้วภายในศูนย์วงเดือน อาคมสุรทัณฑ์

         “ศูนย์วงเดือนเป็นของเรา…” ส่วนหนึ่งในพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เธอหยิบยกประกอบถ้อยความถึงที่มาที่ไปกับการก่อกำเนิดศูนย์วงเดือน อาคมสุรทัณฑ์แห่งนี้ และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้าง บนเนื้อที่พระนามาภิไธยของพระองค์ท่าน โดยใช้ชื่อตามผู้ทูลเกล้าถวายที่คือ คุณวงเดือน อาคมสุรทัณฑ์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เข้าฝึกอบรมทักษะอาชีพต่าง ๆ ทั้งการทำอาหาร ขนมไทย และศิลปะประดิษฐ์ต่าง ๆ เป็นพื้นฐานต่อยอดสร้างรายได้ให้กับตัวเองในอนาคต

         เสียงดนตรีไทยลอยแว่วเข้าหูมาแต่ไกล สายตาสอดส่ายหาที่มาของต้นตอเสียง ถึงได้รู้ว่าดังลอดจากบานประตูที่แง้มฝั่งตรงข้ามของตัวตึก เบื้องหลังประตูบานดังกล่าว คือกลุ่มผู้สูงอายุวัยเกษียณ กำลังง่วนอยู่กับเครื่องดนตรีตรงหน้า บ้างก็กำลังนั่งแกะโน้ต บ้างก็ไล่เทียบเสียงตัวโน้ต บ้างก็กำลังปรึกษาหารือกับอาจารย์ผู้สอน บ้างก็ส่งยิ้มทักทายผู้มาเยือนอย่างเป็นมิตร เรายืนเฝ้าดูอากัปกิริยาเหล่านั้นอยู่นาน จนอดไม่ได้ที่จะชื่นชมความมุมานะและความพยายาม โดยตัวเลขอายุมิใช่อุปสรรคขัดขวางการเรียนรู้เลยสักนิด 

เที่ยวอุทัยธานี

         “นอกจากป้าจะมีทักษะความสามารถติดตัวแล้ว เอาเข้าจริง ๆ มาที่นี่ป้าเหมือนได้มาหาเพื่อน ได้คุยนั่นนี่ ก็สนุกไปอีกแบบ” เสียงของคุณป้าท่านหนึ่งดังลอดเข้ามา เพราะสำหรับคุณป้าแล้ว ที่นี่ไม่ใช่เพียงศูนย์ฝึกทักษะวิชาชีพเท่านั้น หากแต่ยังรื้อฟื้นทักษะสังคมกลับคืนมาให้กับหลาย ๆ ชีวิตอีกด้วย พูดเสร็จเหล่าคุณลุงคุณป้าก็วาดลวดลายเดี๋ยวนั้น พลันประจักษ์อย่างมิต้องสงสัย โน้ตแต่ละตัวที่บรรเลงออกมา สะกดอารมณ์คนฟังได้อยู่หมัด รู้ตัวอีกทีเมื่อโน้ตตัวสุดท้ายสิ้นสุดลง พร้อมกับเสียงปรบมือดังลั่นห้อง
เที่ยวอุทัยธานี

         หลังตื่นจากภวังค์ของท่วงทำนองดนตรีไทย กลิ่นหอม ๆ ลอยเข้ามารบกวนโสตประสาท อดรนทนไม่ไหว เลยโพล่งปากออกมาอย่างไม่ตั้งใจขึ้นว่า
         “กลิ่นอะไรคะ หอมจังเลย !”
         “อ๋อ...น่าจะเป็นกลิ่นหอมของควันเทียนจากชั้นล่างค่ะ ตอนนี้น่าจะกำลังปั้นลูกชุบกันอยู่” ไม่พูดพร่ำทำเพลงให้เสียเวลา เราเดินตามผู้อำนวยการศูนย์ ชนิดไม่ให้คลาดสายตา ใจเพียงหวังจะเห็นลูกชุบสีสวยหน้าตาน่ากิน และไม่ผิดดังคาด ท่ามกลางวงล้อมกลุ่มสาวนักปั้นลูกชุบ ต่างขมีขมันเกลากลึงถั่วที่กวนไว้จนเย็นจนเป็นรูปเป็นร่างแล้ว จังหวะนั้นเสียงน้ำเดือดปุด ๆ จากหม้อต้มน้ำที่อยู่ใกล้ ๆ ดังขึ้นมาเรียกร้องความสนใจให้ต้องเหลียวมอง 
 
เที่ยวอุทัยธานี

นักปั้นผู้ชำนาญการกำลังปั้นลูกชุบอย่างขะมักเขม้น

         “อันนี้เป็นหม้อต้มน้ำเดือดที่เราใส่ผงวุ้นลงไป เพื่อเอาลูกชุบที่เราปั้นและผสมสีอาหารเรียบร้อยแล้วนั้น มาจุ่มวุ้นอีกทีหนึ่ง…” หนึ่งในวิทยากรนักปั้นส่งเสียงบอก หลังรู้ว่ามีสายตาหลายคู่กำลังจับจ้องและลุ้นว่าน้ำที่ต้มอยู่จะล้นออกจากหม้อเร็ว ๆ นี้หรือไม่ 

เที่ยวอุทัยธานี

เที่ยวอุทัยธานี

เที่ยวอุทัยธานี

         เสร็จจากภารกิจปั้นตรงหน้า ก็ดาหน้าเข้ามาล้อมวง ช่วยกันเอาลูกชุบของตัวเองลงจุ่มวุ้นทีละแผงสองแผงอย่างแข็งขัน ไม่นานลูกชุบก็ถูกเคลือบด้วยวุ้นวาวใส ทิ้งไว้ให้แห้งสักพัก ก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ พร้อมให้ผู้มาเยือนหยิบเข้าปาก มอบเป็นรางวัลสำหรับการอดทนรอ “อืม ! อร่อยจริง ๆ ด้วย” 

ล่องเรือลุ่มน้ำสะแกกรัง : เก็บเกี่ยวความสุขระหว่างทาง

         แดดยามบ่ายร้อนแรงไม่แพ้เที่ยงวัน แม้เวลาตอนนั้นย่างเข้าบ่ายสี่โมงแล้วก็ตาม ก็ยังพอมีลมอ่อน ๆ พัดบรรเทาความระอุของอากาศอยู่เป็นระยะ หากแต่หนึ่งวันในจังหวัดอุทัยธานีของเรายังไม่หมดเพียงเท่านี้ จากศูนย์วงเดือน อาคมสุรทัณฑ์ ขับเลาะเลียบเรียบแม่น้ำสะแกกรัง

เที่ยวอุทัยธานี

แม่น้ำสะแกกรัง...แม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวอุทัยธานี

“แม่น้ำ...ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ หล่อเลี้ยงทุกสรรพชีวิตของชาวอุทัย
แม่น้ำ...ที่เปรียบเสมือนเครื่องบันทึกแห่งกาลเวลาที่ไม่มีวันหมดอายุขัย”

         แม่น้ำสะแกรัง เป็นชื่อแม่น้ำซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาโมโกจู สายธารนี้ไหลล่องผ่านจังหวัดอุทัยธานี และไปบรรจบต่อยังแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนลงสู่ภาคกลางตอนล่างต่อไป ครั้งหนึ่งแม่น้ำสะแกกรังยังมีความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสต้นทางเรือมาตามแม่น้ำสายนี้ และแวะพักผ่อนหุงหาอาหารเสวยบนแพริมน้ำอีกด้วย

เที่ยวอุทัยธานี

วิถีชีวิตรอบลุ่มน้ำสะแกกรังยังคงดำรงชีวิตเรื่อยไปอย่างไม่ผันแปร

         ว่ากันว่า...หากอยากรู้จักเมืองอุทัยให้ดียิ่งขึ้น ลองล่องเรือค่อย ๆ เก็บเกี่ยวและร้อยเรียงแต่ละชีวิตสองริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรังดู แล้วคุณจะเห็นภาพชีวิตผืนใหญ่ที่ชวนหลงใหล ลองใครไม่เคยมาสัมผัสคงไม่มีทางรู้

เที่ยวอุทัยธานี

เที่ยวอุทัยธานี

         ภาพวิวสองข้างทางที่โลดแล่นผ่านเข้าสู่สายตาระหว่างการล่องเรือ ก่อเกิดความสงบใจอย่างบอกไม่ถูก ริ้วระลอกน้ำขยายเป็นวงกว้างตามแรงเคลื่อนของลำเรือ บ้างกระทบฝั่ง บ้างเข้ากระทบบ้านเรือนแพหลังเล็กหลังน้อย ตั้งกระจายตัวทั่วลุ่มน้ำ บ้านเรือนแพแต่ละหลังสร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย พลางใช้สายตาสังเกต จะมองเห็นเสน่ห์ที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำสะแกกรังอย่างแยกกันไม่ออก ตาข่ายกระชังปลา วางกั้นราวเป็นอาณาเขตแทนรั้วบ้าน เรือนแพส่วนใหญ่ยังทำอาชีพเลี้ยงปลา มีทั้งปลาแรด ปลาทับทิม และปลาเทโพ

         “ถึงแล้วครับ ! กับ ‘ป้าแต๋ว ซูเปอร์มาร์เกต’...ซูเปอร์มาร์เกต กลางแม่น้ำสะแกกรัง มีที่นี่ที่เดียวเท่านั้น ถ้าเห็นที่อื่นคือของปลอม” เสียงพูดติดตลกจากไกด์นำเที่ยว ทำเอาเราต้องหันมอง ขอดูหน้าค่าตาหน่อยสิว่า ซูเปอร์มาร์เกตที่ว่านี้มีอะไรดี

เที่ยวอุทัยธานี

ป้าแต๋ว ซูเปอร์มาร์เกต ร้านค้าแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง ที่ทุกคนต้องแวะ !

เที่ยวอุทัยธานี

เที่ยวอุทัยธานี

         ปลาย่างตัวใหญ่แขวนโชว์ให้ผู้มาเยือนตื่นตาตื่นใจ พลางชี้นิ้วถามป้าแต๋วอย่างสนุกสนาน ป้าแต๋วบอกว่า ปลาย่างของแกขึ้นชื่อเรื่องความแห้งและกรอบ ซื้อไปแล้วก็เก็บไว้ได้นาน อีกทั้งยังไม่ใช้สารวัตถุกันเสียอีกด้วย มีให้เลือกทั้งปลาเนื้ออ่อน ปลาช่อน ปลาสวาย ปลาเกล็ด และปลาอื่น ๆ อีกมากมาย ป้าแต๋วยังบอกอีกด้วยว่า “ทุกวันนี้ก็มีความสุขดีนะ เวลามีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวก็คึกคัก นอกจากป้าจะขายของได้แล้ว ป้าเองก็ไม่ต้องนั่งเหงาอยู่บ้านเฉย ๆ ก็อาศัยรายได้จากการขายปลานี่แหละ เอาไว้เลี้ยงชีวิตตัวเอง” ป้าแต๋วปิดท้ายประโยคบอกเล่าด้วยรอยยิ้มกว้าง แถมยังชวนให้เราดูน้ำพริก กล้วยตาก มะม่วงกวน สินค้าจากในชุมชนมาวางขายให้เลือกซื้อเลือกหาอย่างเพลิดเพลิน

         เรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังในปัจจุบันยังคงใช้ชีวิตแบบไทย ๆ ราวกับกาลเวลาของแม่น้ำสะแกกรังจะเดินช้ากว่ากาลเวลาในที่อื่น ๆ ไม่นานเราก็มาถึง “โรงเรียนวัดอุโปสถาราม”

เที่ยวอุทัยธานี

เที่ยวอุทัยธานี

เที่ยวอุทัยธานี

         จุดหมายปลายทางสุดท้ายของการล่องเรือครั้งนี้ วัดเก่าแก่ริมแม่น้ำสะแกกรัง ตั้งอยู่ฝั่งเกาะเทโพ โบสถ์เก่า มณฑปแปดเหลี่ยม วิหารและเจดีย์หกเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ตลอดจนภาพจิตรกรรมฝาผนังทรงสวยงาม บ่งบอกถึงความประณีตของการรังสรรค์งานศิลปะแห่งยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นเอาไว้อย่างสมบูรณ์ 

         ณ วันนี้ “อุทัยธานี” จึงไม่ใช่เป็นเพียงจังหวัดทางผ่าน หากแต่เป็นจังหวัดที่ต้องแวะ เพราะมีแต่ของดีของเด็ด เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ให้เราได้หยุดนั่งพัก เพื่อดื่มด่ำเรื่องราวและวัฒนธรรมภูมิปัญญา และวิถีชีวิตชุมชนที่มีเสน่ห์ชวนหลงใหล “ใครมาแล้วก็ต้องรัก ลองมาพักก็สุขใจ”
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวอุทัยธานี ชมของดีมรดกภูมิปัญญา สัมผัสเสน่ห์ชีวิตลุ่มน้ำสะแกกรัง อัปเดตล่าสุด 19 ธันวาคม 2562 เวลา 16:40:09 15,213 อ่าน
TOP