อพท. มุ่งนำพาการท่องเที่ยวชุมชนไทยสู่สายตาสากล นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวมุมใหม่ของเมืองพัทยาให้กับสมาชิกพาต้า (PATA) หรือสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Pacific Asia Travel Association) จากทั่วโลก ในรูปแบบ Technical Tour ไปร่วมสัมผัสประสบการณ์ตรงกับชุมชนใน 3 เส้นทางของพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท.3) ระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2562
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา PATA Destination Marketing Forum 2019
จากการที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้มุ่งมั่นพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุข ให้สามารถเติบโตเพื่อเข้าสู่ตลาดการท่องเที่ยวสากลได้อย่างมั่นคง จึงได้จัด Technical Tour ให้แก่สมาคมและผู้ร่วมประชุม PATA Destination Marketing Forum 2019 ทั้งหมด 50 ท่าน นำพาชมและทำกิจกรรมใน
3 เส้นทางการท่องเที่ยว โดยชุมชนในพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท.3)
โดยแต่ละเส้นทางจะมีชุมชนเก่าแก่ที่มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์โดดเด่น มีความน่าสนใจและน่าเที่ยวชมไม่แพ้กับท้องทะเลของพัทยา 3 เส้นทางดังกล่าว คือ
1. เส้นทางการท่องเที่ยวตามรอยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : โครงการป่าสิริเจริญวรรษ / ตลาดจีนโบราณชากแง้ว
เส้นทางแห่งการเรียนรู้เกี่ยวกับป่าไม้และชุมชนชาวจีนเก่าแก่ โดยโครงการป่าสิริเจริญวรรษนั้นเกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีพระราชประสงค์จะรักษาผืนป่าโดยรอบเขาชีโอนไว้ และฟื้นฟูป่าที่มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมให้กลับเป็นป่าอันอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ สำหรับมอบเป็นของขวัญแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสที่เจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษาในปี พ.ศ. 2535 และพระราชทานชื่อว่า "โครงการป่าสิริเจริญวรรษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชลบุรี"
ปัจจุบันมีพื้นที่มากเกือบ 4,000 ไร่ ถือว่าเป็นป่าต้นน้ำที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของชลบุรี ที่นี่จะมีกิจกรรมให้ได้เลือกทำหลากหลาย เช่น การยิง DASTA Ball หรือ EM Ball ที่ช่วยบำบัดน้ำและให้ปุ๋ยกับบัว, การเดินป่าเส้นทางศึกษาธรรมชาติ, การสร้างฝายชะลอน้ำ และการทำโป่งเทียม เป็นต้น
ส่วนตลาดจีนโบราณชากแง้ว ย่านการค้าที่เคยรุ่งเรืองมากในอดีต เป็นชุมชนของคนจีนโพ้นทะเลและคนจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาอยู่ในแผ่นดินไทย มีอายุมากกว่า 100 ปี เมื่อย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านชากแง้ว ก็ได้ร่วมกันสร้างอาคารบ้านเรือน จากชุมชนเล็ก ๆ ก็ขยายเป็นชุมชนใหญ่ มีโรงงานโม่แป้ง ตลาด ร้านค้า ร้านอาหาร โรงหนัง และสิ่งบันเทิงมากมาย พอความเจริญย้ายไปทางฝั่งพัทยา หมู่บ้านก็เงียบเหงา แต่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เมื่อมีการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ซึ่งในกิจกรรมที่ทาง อพท. จัดให้กับผู้เข้าร่วมประชุม PATA ก็มีทั้งการเรียงเม็ดข้าวสาร, การพับดอกโบตั๋น, การเพนต์หน้ากาก และการพับใบเตย เป็นต้น
2. เส้นทางการท่องเที่ยววิถีมะพร้าวชาวตะเคียนเตี้ย
ชุมชนตะเคียนเตี้ย เป็นชุมชนที่มีวิถีเกษตรกรรม ทำสวนมะพร้าวเป็นอาชีพหลักมาหลายสิบปี ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่ผืนสุดท้ายของจังหวัดชลบุรีที่ยังมีการทำสวนมะพร้าว ถือว่าเป็นแหล่งมะพร้าวที่สำคัญของชลบุรีเลยก็ว่าได้
ชาวบ้านยังคงใช้ชีวิตเรียบง่ายภายใต้ร่มเงาของต้นมะพร้าวสูงชะลูด ยังคงมีวิธีการปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยวแบบดั้งเดิม พร้อมทั้งยังนำมะพร้าวมาปรับใช้ทำเป็นอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จนนำไปสู่การเป็นชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน
กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมได้ที่นี่ เช่น กิจกรรมปั่นจักรยานชมสวนมะพร้าว, การร้องลำตัด, การปล่อยแตนเบียนเพื่อกำจัดศัตรูพืช (หนอนหัวดำ), การปอกมะพร้าวด้วยหอก การทำอาหารจากมะพร้าว และการชิมกาแฟมะพร้าว เป็นต้น นอกจากนี้ยังเปิด “บ้านร้อยเสา” ให้เป็นลานวัฒนธรรม เพื่อเรียนรู้เรื่องการนวดกัวซา ซึ่งเป็นการขูดไล่พิษเพื่อรักษาโรคแบบโบราณ, การตัดพวงมโหตร และการพับดอกกุหลาบใบเตย เป็นต้น
3. เส้นทางการท่องเที่ยววิถีถิ่น วิถีไทย หนองปรือ และหนองปลาไหล
เส้นทางท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะได้มาสัมผัสกับบรรยากาศของทุ่งนาเมืองพัทยา ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวนา พร้อมกับได้ชมการแสดงโขน และทำกิจกรรมเกี่ยวกับโขน ณ ชุมชนหนองปรือ และชุมชนหนองปลาไหล
สำหรับชุมชนหนองปรือนั้น เป็นชุมชนที่ก่อตั้งมามากกว่า 200 ปี มีวัดเก่าแก่อย่างวัดหนองปรือเป็นสถานที่ทำกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน โดยที่วัดจะมีวิหารหลวงพ่อช้าง วิหารไม้อายุมากกว่า 200 ปี ด้านในประดิษฐานหลวงพ่อดำ หลวงพ่อสด และหลวงพ่อช้าง
ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจอีกอย่างของชุมชน ก็คือ การแสดงโขน ที่มีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งนอกจากจะทำการแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมให้ได้ร่วมสนุก ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เรื่องท่ารำโขนและนุ่งโจงกระเบน, การปักผ้าสำหรับชุดแสดงโขน และการทำหัวโขนเป็นของที่ระลึก เป็นต้น
ส่วนชุมชนหนองปลาไหล เป็นชุมชนที่ยังคงหลงเหลือพื้นที่การทำนาแห่งเดียวของพัทยา ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้รวมกว่า 190 ไร่ ทาง อพท. ได้ร่วมสนับสนุนในการจัดกิจกรรมดำนาวันแม่ (ในช่วงเดือนสิงหาคม) และกิจกรรมเกี่ยวข้าววันพ่อ (ในช่วงเดือนธันวาคม) เป็นประจำทุกปี การเข้าเยี่ยมชมชุมชนนี้ ผู้เข้าร่วมประชุม PATA จึงจะได้สัมผัสกับบรรยากาศท้องไร่ท้องนา ได้เดินเที่ยวชมพักผ่อนพร้อมกับสูดไอดินกลิ่นต้นข้าว และยังได้ร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวนา ทำกิจกรรมหลากหลายแบบ เช่น การเกี่ยวข้าว, การปอกมะพร้าว, การขูดมะพร้าวโดยกระต่ายไม้แบบโบราณ, การทำขนมต้มแบบพื้นบ้าน และการดื่มน้ำมะพร้าวสด ๆ จากต้น เป็นต้น
การทำ Technical Tour ครั้งนี้ ทาง อพท. ก็คาดหวังว่าชุมชนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินการและบริหารจัดการชุมชนให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวที่ดีมีคุณภาพ จนสามารถนำไปเสนอขายให้แก่นักท่องเที่ยวได้ เพื่อเพิ่มเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของวันพักผ่อนให้แก่นักท่องเที่ยว และจะทำให้ชุมชนมีการตลาดอย่างยั่งยืน
ขอขอบคุณ
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.