พาเที่ยวเชียงราย ไปทำความรู้จักกับ ABONZO Coffee ร้านกาแฟกลางขุนเขาดอยช้าง ที่ส่งออกกาแฟท้องถิ่นของชนเผ่าอาข่าให้มีชื่อเสียงระดับโลก พร้อมเรียนรู้ทุกขั้นตอนของการผลิตที่น่าสนใจ
ถ้าเอ่ยถึงเชียงรายหลายคนจะนึกถึงไร่ชาอันกว้างไกล หรือยอดดอยที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงาม แต่คราวนี้เราจะพาไปเยือน “ดอยช้าง” แหล่งปลูกกาแฟอาราบิก้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ตั้งอยู่ที่ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย ที่นี่นักท่องเที่ยวนิยมไปเพลิดเพลินกับการชมไร่กาแฟ ลิ้มลองรสชาติของกาแฟคุณภาพเยี่ยม ชมแปลงปลูกผลไม้เมืองหนาว สัมผัสกับวิถีชาวบ้านที่เรียบง่าย หรือดื่มด่ำกับบรรยากาศของธรรมชาติที่งดงาม
ในมุมเล็ก ๆ ท่ามกลางขุนเขาที่สูงตระหง่านแห่งนี้ ยังเป็นที่ตั้งของ ABONZO Coffee ร้านกาแฟขนาดใหญ่ที่หลีกหนีความวุ่นวายในเมือง กลับมาเบ่งบานเสน่ห์อันน่าหลงใหล พร้อมกับชักชวนให้ผู้คนต่างถิ่นได้แวะไปเยือนสักครั้ง
รถตู้พาเราเข้าสู่ถนนสายเล็ก ๆ เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาคดโค้งไปตามไหล่เขาดอยช้าง มีบ้างบางช่วงที่ไต่ขึ้นสูงจนมองเห็นวิวเบื้องล่างลิบ ๆ และมีบ้างบางตอนที่รถเคลื่อนผ่านป่าต้นสนขนาดใหญ่ สูงชะลูด เรียงรายเป็นทิวแถว สร้างร่มเงาให้กับขุนเขาได้ดีเยี่ยม จนมาถึงไฮไลต์หนึ่งคือรถต้องขับลุยสันฝายน้ำล้นของอ่างเก็บน้ำห้วยส้านพลับพลา สามารถเรียกความตื่นเต้นเล็ก ๆ ได้ไม่น้อย และก็ผ่านฉิวไปได้ด้วยดี
ก่อนจะค่อย ๆ เลาะเลี้ยวไปตามไหล่เขาอีกครั้ง จนมาพบกับ ABONZO Coffee ร้านกาแฟสไตล์ลอฟท์ขนาดใหญ่ เหมือนบ้านพักตากอากาศในต่างประเทศ สูง โปร่ง เน้นวัสดุจากไม้และปูนดิบ ๆ มาผสมผสานกันตั้งอยู่ในขุนเขาแห่งนี้
บุกต้นตอวัตถุดิบ ก่อนจะมาเป็นกาแฟพรีเมียม
สัมผัสแรกเมื่อประตูรถเปิดออกคือลมเย็นปะทะเข้าใบหน้า และกลิ่นไอของพื้นดินหลังสายฝนโปรยปรายในยามเช้า คุณภัทร (ภัทรชัย มงคลกุลผ่องใส) ชายหนุ่มชนเผ่าอาข่า รูปร่างสันทัด สวมเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงยีนส์สบาย ๆ เจ้าของแบรนด์ ABONZO กาแฟชื่อดังที่หลายคนคุ้นหู ยืนรอต้อนรับเราด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
แนะนำตัวกันเล็กน้อยก่อนจะชักชวนให้เราเดินขึ้นไปดูต้นกาแฟที่อยู่บริเวณรอบ ๆ และเดินนำหน้าเราไปเรื่อย ๆ สองมือสองไม้ชี้ชวนให้ดูผลผลิตสองข้างทาง ที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นอาหารเลิศรสขึ้นเสิร์ฟให้เราได้ลิ้มลองกันในมื้อกลางวัน ไม่ว่าจะเป็นผักหอมชู, มะขามป้อม หรือเสาวรสลูกใหญ่
เสียงสูดลมหายใจถี่เบา ๆ ของเพื่อนร่วมทริปดังอยู่ข้างหู อาจเพราะทางที่เราเดินขึ้นมาเป็นเนินขึ้นเขาเล็ก ๆ สองเท้าค่อย ๆ ก้าวอย่างมั่นคงลงไปในพื้นดินชุ่มน้ำ หลังจากที่เมื่อเช้าสายฝนโปรยปรายลงมา ทำให้เกิดสายหมอกคลอเคลียไปตามขุนเขา ช่องว่างเล็ก ๆ ของเมฆหมอกทำให้เรามองเห็นวิวของต้นไม้น้อยใหญ่เบื้องล่าง สิ่งที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของดอยแห่งนี้
ต้นกาแฟเกินร้อยทอดตัวไล่ระดับไปตามไหล่เขา บางต้นออกเมล็ดผลสีเขียวสลับแดง บางต้นยังเป็นสีเขียวผสมน้ำตาล มีต้นแมคคาเดเมียและเชอร์รีป่าคละบ้างประปราย โดยที่นี่จะมีการแปรรูปเมล็ดกาแฟหลังจากการเก็บเกี่ยวอยู่ 4 แบบ ได้แก่ Honey Process, Natural Dry Process, Wet Process และ Peaberry ซึ่งจะมีผลต่อรสชาติกาแฟอย่างชัดเจน คุณภัทรค่อย ๆ อธิบายถึงกรรมวิธีการแปรรูปกาแฟให้เราฟัง คอยตอบคำถามต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นมาจากความอยากรู้อย่างใจเย็น
พูดคุยเรื่องราวของกาแฟกันพอสมควร คณะเราก็เดินย้อนกลับมายังบริเวณลานเล็ก ๆ ซึ่งเป็นจุดพักเหนื่อย และได้เจอกับ “ขี้ชะมด” นักเลงตัวจิ๋วที่อาศัยอยู่ในป่าใกล้ ๆ มักจะออกมากินเมล็ดกาแฟในยามวิกาลแล้วถ่ายมูลทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า แต่ช่วงที่เราไปเมล็ดกาแฟยังไม่สุกร่วงหล่นพื้น เราเลยไม่ได้เห็นกาแฟขี้ชะมดอันเลืองชื่อ
หลังจากเสพบรรยากาศของไร่กาแฟ พืชผักเมืองหนาว และทัศนียภาพของขุนเขาอันอุดมสมบูรณ์จนหนำใจแล้ว เราก็เดินกลับลงมาที่ร้านอีกครั้ง ซึ่งร้านถูกแบ่งออกเป็น 2 โซน โซนแรกจะเป็นร้านกาแฟนั่งชิลชมวิว ขยับไปอีกนิดจะเป็นโซนสำหรับคั่วเมล็ดกาแฟ แต่ก็สามารถนั่งชมกรรมวิธีการทำและผ่อนคลายกับธรรมชาติในบรรยากาศที่แสนอบอุ่นได้
กลิ่นหอมของกาแฟลอยอบอวลไปทั่วบริเวณ เสียงเครื่องชงกาแฟ เสียงน้ำร้อนไหลผ่าน เราจิบกาแฟรสเยี่ยม พร้อมกับฟังเรื่องราว...
จุดเริ่มต้นของ ABONZO Coffee
“ที่บ้านปลูกกาแฟมาเกือบ 30 ปีแล้ว ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ถือเป็นรุ่นแรกของอะบอนโซ สมัยก่อนบนดอยว่ากันว่าที่นี่คือแหล่งปลูกฝิ่นที่ดีที่สุดในเมืองไทย จากนั้นในหลวง ร.9 ได้พระราชทานต้นกล้าและสนับสนุนให้คนบนพื้นที่ปลูกกาแฟ แต่ปัญหาคือหลายคนไม่รู้ว่าจะปลูกกาแฟอย่างไรให้ทำเงิน จึงหันกลับไปปลูกฝิ่นเหมือนเคย มีคุณปู่อะบอนโซและอีกหลายคนที่ยังยืนหยัดในการปลูกกาแฟ และถ่ายทอดองค์ความรู้มาเรื่อย ๆ จนถึงรุ่นพ่อแม่ รุ่นผม ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 แต่ก็พบกับปัญหาอีก คือได้กาแฟมาแล้วก็ส่งให้กับบริษัทใหญ่ พอบวกลบคูณหารต้นทุนแล้วกลับได้กำไรไม่เยอะเท่าไร วิถีชีวิตก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก” คุณภัทร เล่าถึงที่ไปที่มาของการปลูกกาแฟ ณ ดอยช้าง
ก่อนจะเล่าด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ ต่อไปว่า “เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ผมกลับมาจากกรุงเทพฯ คือบนดอยมีโรงเรียนถึง ป.6 เท่านั้น ตอนผมอายุ 12 ปี ผมออกจากบ้านเข้าเมืองไปอยู่คนเดียว ทำงานหาเงินเรียน ทำทุกอย่างเอง ไม่ใช่เพราะเก่ง แต่ไม่มีทางเลือก และต้องทำยังไงก็ได้เพื่อเอาตัวรอด อยู่อย่างนั้นมาเรื่อย ๆ จนจบ ม.6 ก็ลงไปอยู่กรุงเทพฯ เรียนและทำงาน”
หวนคืนบ้านเกิด เรียนรู้ของดีท้องถิ่น
แสงแดดค่อย ๆ ส่องผ่านกระจกตกกระทบลงบนพื้น เสียงพูดคุยเบา ๆ จากรอบข้าง ไม่ได้ทำให้ความน่าสนใจของเรื่องราวที่เรากำลังตั้งใจฟังลดน้อยลง น้ำเสียงโทนนุ่มทุ้มของชายในวัย 37 ปี กำลังเล่าถึงวันวานก่อนจะมาเป็น ABONZO Coffee อีกว่า “อยู่กรุงเทพฯ ผมทำงาน NGO ในชุมชนแออัด ที่นั่นเราทำบริษัทเพื่อดึงคนในชุมชนมาทำงาน แล้วชุมชนก็ดีขึ้น พออายุ 30 ปี ผมก็มาคิดว่าเราอยู่กรุงเทพฯ มานาน น่าจะถึงเวลากลับบ้านเพื่อมาพัฒนาอะไรต่าง ๆ จึงตัดสินใจกลับมา แต่ผมไม่มีเงินเก็บเลย จำได้ว่ามีเงินติดตัวมา 2,000 บาท อันนั้นคือจุดเริ่มต้น
2-3 ปีแรกคือยากมาก เพราะผมไม่มีองค์ความรู้เรื่องกาแฟ และก็ไม่มีรายได้ด้วย เลยไปทำงานรับจ้างเก็บกาแฟ ได้เงินไม่ตายตัว บางวันก็ได้ 200 บาท บางวันได้ 250 บาท เพราะเวลาเก็บกาแฟขึ้นอยู่กับว่าเราเก็บได้เยอะขนาดไหน เขาจะคิดเป็นกิโลกรัม ตอนนั้นทักษะในการเก็บกาแฟยังไม่มีมาก จากนั้นก็มารับจ้างรับซื้อกาแฟให้กับคนที่ต้องการเมล็ดกาแฟเชอร์รี และก็ขยับมาขอแปรรูปให้กับคนที่รับซื้อ แต่ก็ยังไม่ดีเท่าไร ตอนนั้นรู้สึกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างที่เป็นอะไรของเรา เลยไปจ้างเพื่อนคั่วกาแฟและไปตระเวนขายตามร้านกาแฟที่กรุงเทพฯ ราคาไม่แพงแต่ไม่มีใครซื้อ
ผมกลับมานั่งทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนอื่นขายได้ เราขายไม่ได้ ปรากฏว่าเราไม่รู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับกาแฟ เราไม่ดื่มกาแฟ ใครถามอะไรก็ตอบไม่ได้ ผมเลยใช้เวลาในการศึกษาเรื่องกาแฟ 1 ปีเต็ม ตั้งแต่ทำไร่ แปรรูป การคั่ว ชง ชิม ถึงไม่ 100% แต่ก็พอรู้ว่ากาแฟเป็นอย่างนี้นะ เลยลองแปรรูปแล้วติดต่อไปยังโรงคั่วกาแฟต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา อยากจะนำกาแฟไปคั่ว คัปปิ้ง (Cupping) และเสนอดู มีหลายโรงคั่วให้ความสนใจ มีโรงคั่วหนึ่งที่รัฐโอไฮโอ เขาตกใจว่าเมืองไทยมีกาแฟดีขนาดนี้เลยเหรอ จนเขาบินมาดูไร่กาแฟและมาชิมกาแฟ
ออร์เดอร์แรกที่เขาสั่งคือ 2 คอนเทนเนอร์ โอ้โห...ตกใจ เราไม่เคยเจอออร์เดอร์ใหญ่ขนาดนี้ กำไร 7 ล้านบาท ก็มาคิดว่ากาแฟในชุมชนเรามีมูลค่าดีมาก … อันนั้นคือจุดเริ่มต้น ผมเลยไปตามโรงคั่วต่าง ๆ เพราะมีออร์เดอร์ที่ญี่ปุ่น ที่สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น จากนั้นแต่ละบริษัทเขาอยากจะมาเห็นตัวตน อยากมาดูฐานการผลิตเราว่าเป็นยังไง หน้าบ้านเราเป็นยังไง ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่มีอะไรเลย เช่าโรงแปรรูปเล็ก ๆ ของชาวบ้านที่เขาไม่ใช้ จึงนำเงินทั้งหมดที่เราหามาได้มาซื้อที่ตรงนี้ ก็เริ่มสร้างจากร้านกาแฟ มีโรงงาน โรงแปรรูปอยู่อีกที่หนึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ หมู่บ้าน ซึ่งยังไม่เรียบร้อย 100% แต่ก็ผลิตได้”
กระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิต
หลังจากแบรนด์กาแฟเริ่มเป็นรูปร่างไปในทิศทางที่ดีขึ้น คุณภัทร หันกลับมามองรอบ ๆ ชุนชมตัวเองกลับพบว่า “วัยรุ่นในหมู่บ้านผมมีเป็นพันคน แต่ที่อยู่บนดอยจริงประมาณ 400-500 คน ปัญหาของชนเผ่าอาข่าเนื่องจากแบ็กกราวนด์เราไม่เหมือนคนในเมือง บางคนไม่มีโอกาสได้เรียน พอลงไปในเมืองพูดไทยไม่ชัด เบื้องหลังชีวิตก็ไม่เหมือนกัน ทีนี้บางทีก็ถูกเอาเปรียบ เลยอยู่ไม่ได้ อยู่ไม่ได้ก็กลับขึ้นมาบนดอย พอกลับขึ้นมาบนดอยเนื่องจากไม่ได้ทำงานหนักเหมือนคนสมัยก่อน ที่ทำไร่หรือทำงานเอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตายเหมือนคนรุ่นก่อน ทำให้บางคนก็ไม่ไปทำงาน อยู่แต่ในบ้าน เล่นการพนัน ติดยาเสพติด
ผมเลยคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเท่าที่สามารถทำได้ ก็เลยคิดว่าถ้าจะขยับช่วยชุมชนให้มากขึ้น เราต้องขยับสกิลของเราเพื่อให้น้อง ๆ สามารถมาทำงานได้ ตอนนี้เรามีทีมไร่กาแฟ ทีมโรงแปรรูป ทีมร้านกาแฟ ทีมคั่ว ประมาณ 23 คน ที่ทำอยู่ตรงนี้ แล้วก็มีพาร์ตไทม์ช่วงหน้าเก็บกาแฟประมาณ 30-40 คน”
เป้าหมายต่อไปของ ABONZO Coffee
นอกจากสร้างแบรนด์กาแฟให้เป็นที่รู้จัก กลับมาพัฒนาชุมชนบ้านเกิดให้มีรายได้ พลิกชีวิตชนเผ่าอาข่าบนดอยช้างให้มีคุณภาพดีมากขึ้น ... สิ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่ความตั้งใจทั้งหมด คุณภัทร ยังมี Goal ในใจที่วาดไว้อีกว่า
เป้าหมายของเราคืออยากจะส่งออกกาแฟของท้องถิ่นเราให้ไปสู่เวทีโลก ให้ได้รู้ว่ากาแฟของประเทศไทย ของชุมชนเล็ก ๆ บนดอย หรือชนเผ่าอาข่า สามารถไปยืนอยู่บนเวทีโลกได้
ภัทรชัย มงคลกุลผ่องใส เจ้าของแบรนด์ ABONZO Coffee
นี่คืออีกหนึ่งความตั้งใจที่อยากจะทำให้สำเร็จ แต่จริง ๆ แล้ว คุณภัทร มีอีก 2 เป้าหมายที่วาดไว้ในใจว่า อยากคั่วกาแฟเพื่อขายตามร้านกาแฟในประเทศไทย ตามโรงแรม ตามร้านอาหาร และอยากขยับขยายร้านกาแฟลงไปในเมือง “สิ่งที่เราจะทำคือทุกคนที่ทำงานกับเรา ต่อไปเจ้าของจะไม่ใช่ผมคนเดียว ทุกคนที่ทำงานกับเราในร้านกาแฟจะเป็นเจ้าของร่วมกัน เช่น เราอาจจะมีเปอร์เซ็นต์ให้ 5% 10% แล้วมีเงินเดือน ฉะนั้นต่อไปคือน้อง ๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านเราจะผลัดกันเทรนที่นี่แล้วส่งไปร้านกาแฟที่เราเปิดใหม่ และเป็นเจ้าของร่วมกันกับเรา นั่นคือสิ่งที่วางแผนเอาไว้
สิ่งหนึ่งที่เราตั้งใจมากคืออยากจะคงแบรนด์ตรงนี้ให้เป็นแบรนด์ของคนท้องถิ่น จริง ๆ มีหลายคนที่อยากจะมาร่วมทุน แต่เราบอกว่าอยากจะรักษาแบรนด์ตรงนี้ให้เป็นของคนอาข่าจริง ๆ ครับ” รอยยิ้มเล็ก ๆ จากชายหนุ่มเจ้าของแบรนด์กาแฟ ABONZO ปรากฏขึ้นมาบ่งบอกถึงความภูมิใจในสิ่งที่ตั้งใจทำ
เครื่องดื่มและอาหารที่ไม่ควรพลาด
ได้รู้ที่ไปที่มาของ ABONZO Coffee กันพอสมควรแล้ว พระอาทิตย์ตั้งฉากตรงกับศีรษะ ก็ถึงเวลาที่จะได้ลิ้มลองรสชาติกาแฟและชิมอาหารกันแล้ว ที่นี่มีเมนูให้เลือกทั้งเครื่องดื่ม เบเกอรี่ และอาหารคาวหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น
“ABONZO Signature” กาแฟดำรสเข้มที่มีเลมอนชิ้นบางตกแต่งไว้ด้านบน เพิ่มรสชาติเปรี้ยวนิด ๆ ที่เข้ากันได้ดีกับกาแฟรสเข้ม ใครชอบหวานก็เพิ่มไซรัปสักนิด...บอกเลยว่าลงตัว
“ABONZO Drip Coffee” กาแฟสดคั่วที่บดแล้วมากรองด้วยกระดาษในเวลาและอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่มีการปรุงแต่ง รสชาติเปรี้ยวนำก่อนจะโดนความขมแทรกผ่านลำคอกลายเป็นรสชาติหวานนิด ๆ
“ลาเต้อาร์ต” ที่ถูกบรรจงทำอย่างประณีต รสชาติกลมกล่อมหวานมันกำลังดี นุ่มละมุนลิ้น
จิบกาแฟพอเรียกน้ำย่อยก็ไปกินอาหารกลางวันในแบบฉบับชนเผ่าอาข่ากันต่อ จัดเสิร์ฟมาเต็มโต๊ะสี่เหลี่ยมผืนผ้าตัวยาว มีทั้งไข่เจียวใส่ผักหอมชู, หมูรมควัน, ลาบหมูคั่วสไตล์อาข่า, ผัดยอดฟักแม้ว และน้ำพริกมะเขือเทศที่หากินไม่ได้ในเมืองกรุง กับข้าวอาข่าง่าย ๆ แต่รสชาติกลมกล่อม
เสียงพุดคุยเจื้อยแจ้วถามไถ่ถึงส่วนประกอบต่าง ๆ เสียงช้อนกระทบจานกระเบื้องดังแกร๊ง ๆ เป็นระยะ มื้อนี้เป็นอีกหนึ่งมื้อที่เรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มได้ไม่น้อย อ้อ...ก่อนกลับอย่าลืมหิ้วเมล็ดกาแฟคั่ว ABONZO หลากหลายแบบติดไม้ติดมือกลับบ้าน เป็นได้ทั้งของฝากหรือเครื่องดื่มยามเช้าแสนละมุนกันนะ หรือของที่ระลึกอื่น ๆ จากแบรนด์ ABONZO ก็มีเหมือนกัน
กาแฟเป็นศิลปะและวิทยาศาสตร์ เรามั่วไม่ได้ว่ากาแฟของใครดีกว่าใคร กาแฟดีไม่ดีจะมีเวลาบ่งบอก คือต้องคั่วและคัปปิ้ง แล้วออกมาเป็นพอยต์ว่ากี่คะแนน ฉะนั้นเวลาเราเสนอกาแฟตามโรงคั่วต่าง ๆ แต่ละโรงคั่วจะมี Q Graders คนที่สามารถชิมแล้วบอกว่ากาแฟคุณภาพขนาดไหน
… คำบอกเล่าที่ดูเหมือนจะธรรมดา แต่จริง ๆ แล้วล้วนกลั่นกรองออกมาจากความมุ่งมั่นตั้งใจของชายหนุ่มชนเผ่าอาข่าบนดอยช้าง ที่อยากพัฒนาบ้านเกิดให้เป็นที่รู้จักและยอมรับ ผ่านเมล็ดกาแฟที่คัดสรรมาอย่างดี ผ่านร้อนผ่านหนาวจนกลายเป็น ABONZO Coffee อย่างทุกวันนี้
การเดินทาง
- เส้นทางที่ 1 จากอำเภอเมืองเชียงราย มุ่งตรงไปทางถนนหมายเลข 1211 ระยะทาง 20 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านห้วยส้านพลับพลา เลี้ยวขวาขึ้นบ้านดอยช้าง ถึงหมู่บ้านดอยช้าง ระยะทาง 18 กิโลเมตร เดินทางต่อไปผ่านศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงวาวี ระยะทาง 4 กิโลเมตร ถึงร้าน ABONZO Coffee
- เส้นทางที่ 2 ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ระยะทาง 24 กิโลเมตร ถึงแยกปากทางแม่สรวย เลี้ยวขวาตามถนนหมายเลข 118 ระยะทาง 25 กิโลเมตร ถึงบ้านตีนดอย อำเภอแม่สรวย เลี้ยวขวาขึ้นบ้านดอยช้าง ระยะทาง 17 กิโลเมตร ถึงร้าน ABONZO Coffee
- ถ้ากลัวหลงทางก็ขับไปตาม goo.gl/maps/7bASdpAGhWQ5g6GP7 ได้เลย
ที่ตั้ง : หมู่บ้านดอยช้าง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
เบอร์โทรศัพท์ : 09 1070 7272
เฟซบุ๊ก : ABONZO Coffee
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
เบอร์โทรศัพท์ : 09 1070 7272
เฟซบุ๊ก : ABONZO Coffee