เที่ยวเพชรบุรี เมืองขนมหวานมากเสน่ห์ ไปไหว้พระ 9 วัดสำคัญ เป็นเส้นทางบุญสั้น ๆ ที่มีเวลา 1 วันก็เที่ยวได้สบาย ๆ อีกทั้งยังเป็นการทำบุญขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตด้วย
เพชรบุรี จังหวัดที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากเท่าไรนัก แต่มีสถานที่ท่องเที่ยวให้ไปเยือนมากมาย ทั้งวัดวาอาราม โบราณสถาน และธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งวันนี้เราจะพาไปเที่ยวเพชรบุรีในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นก็คือการ
“ไหว้พระ 9 วัด” ในจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเสริมบุญบารมีและดวงชะตาให้กับชีวิต เอาล่ะมาดูกันว่าเราจะพาไปที่ไหนกันบ้าง เริ่มที่...
1. วัดถ้ำเขาหลวง
หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเก่าแก่ของเพชรบุรี ตั้งอยู่บนเขาหลวง ภูเขาลูกเล็ก ๆ ที่มีความสูงเพียง 92 เมตร สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างวัดบนยอดเขา เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเสด็จประพาสมายังถ้ำแห่งนี้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปที่สวยงาม และยังมีช่องกว้างที่แสงอาทิตย์สาดส่องเข้ามากระทบแนวหินก่อให้เกิดความงดงาม
การไปเที่ยววัดถ้ำเขาหลวง นักท่องเที่ยวจะต้องเดินลงบันไดเพื่อลงสู่ปากถ้ำ เมื่อเข้ามาภายในถ้ำจะเห็นช่องกว้างที่แสงพระอาทิตย์สาดส่องเข้ามากระทบแนวหิน ทำให้ภายในถ้ำเกิดสีสันสวยงาม อีกทั้งยังมีโพรงหินที่แตกเป็นช่อง อากาศภายในถ้ำเย็นสบาย ไม่อับชื้น โดยภายในยังมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ รวมถึงพระพุทธรูปอื่น ๆ มากมาย แต่ไฮไลต์เด็ดที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวเห็นจะหนีไม่พ้น การได้เฝ้าชมลำแสงส่องสว่างลงมาจากเพดานถ้ำ โดยจะส่องลงมายังบริเวณพระพุทธรูปองค์ใหญ่ (หลวงพ่อโต) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาและฤดูกาล ลำแสงก็จะทำมุมแตกต่างกันไปด้วย ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาเที่ยวที่นี่กันไม่ขาดสาย
สำหรับนักท่องเที่ยวคนไหนที่สนใจอยากจะเดินทางมาเที่ยววัดถ้ำเขาหลวง มาเที่ยวได้ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น. แต่ถ้าใครอยากจะเห็นลำแสงสวย ๆ แนะนำว่าให้มาช่วงเวลาประมาณ 10.00-11.00 น. จะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด
ที่ตั้ง : อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
วัดถ้ำเขาหลวง เพชรบุรี ชมความงามตระการตาแบบอันซีน
2. วัดเขาตะเครา
หนึ่งในวัดริมคลองบางครกที่พุทธศาสนิกชนนิยมเดินทางไปไหว้ “หลวงพ่อทอง” พระพุทธรูปปางมารวิชัย สูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว เชื่อกันว่าเป็นพระพี่พระน้องกับ “หลวงพ่อโสธร” จังหวัดฉะเชิงเทรา, “หลวงพ่อบ้านแหลม” จังหวัดสมุทรสงคราม, “หลวงพ่อวัดบางพลีใหญ่ใน” จังหวัดสมุทรปราการ และ “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” จังหวัดนครปฐม
โดยการค้นพบหลวงพ่อทองมีเรื่องเล่าว่า ชาวประมงบ้านแหลมได้ตีอวนที่ปากอ่าวและเจอพระพุทธรูปสององค์ องค์หนึ่งเป็นพระยืนปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระปางมารวิชัย ซึ่งชาวบ้านบ้านแหลมได้นำพระยืนไปประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม และอีกองค์หนึ่งมอบให้ชาวบางตะบูนนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดแห่งนี้ นอกจากนี้ภายในวัดยังมี “หลวงพ่อเทวฤทธิ์” และ “หลวงปู่หมอ” ที่ประชาชนนิยมเดินทางมาสักการบูชา อีกทั้งบริเวณใกล้ ๆ กันยังเป็นที่ตั้งของตลาดน้ำวัดเขาตะเครา ให้ได้ไปเดินเที่ยวเลือกซื้อสินค้านานาชนิดกันด้วย
ภาพจาก Casper1774 Studio / Shutterstock.com
ที่ตั้ง : หมู่ 5 ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
เฟซบุ๊ก : วัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี และ
หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี
3. วัดพระพุทธไสยาสน์ (วัดพระนอน)
สถานที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอนที่มีอายุเก่าแก่กว่า 400 ปี มีความยาว 43 เมตร มีความสูงจากพระเศียรถึงฐานบรรทม 15 เมตร จัดเป็นพระนอนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ จุดเด่นที่แตกต่างจากพระนอนอื่น ๆ คือที่เศียรขององค์พระมีหมอนบรรทมรูปดอกบัวรองพระเศียรอยู่สองก้อน ทั้งนี้ เชื่อกันว่าผู้ที่เกิดวันอังคารควรหาโอกาสมากราบไหว้สักครั้ง จะนำพาความรุ่งเรืองมาสู่ชีวิต
สำหรับวัดพระพุทธไสยาสน์ เป็นวัดเก่าแก่ที่ไม่ปรากฏหลักฐานสร้างที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานกันว่าเป็นวัดที่มีมาแต่สมัยอยุธยา โดยชาวมอญที่มีจิตศรัทธา แต่หลังจากสิ้นสุดยุคสมัยของกรุงศรีอยุธยา วัดก็ถูกปล่อยทิ้งจนกลายเป็นวัดร้าง จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทอดพระเนตรเห็นองค์พระนอนที่ทรุดโทรมมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลังคาสังกะสีคลุมไว้ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการสร้างหลังคากระเบื้องคลุมองค์พระนอนไว้และกลายเป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ดังที่เห็นในปัจจุบัน
ที่ตั้ง : ถนนคีรีรัฐยา ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
โทรศัพท์ : 0 3247 1005-6
4. วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร
วัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สันนิษฐานได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานตามพระราชหัตถเลขา ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ความตอนหนึ่งว่า “ภาพและลายในพระอุโบสถนี้คงเขียนมาก่อน 300 ปีขึ้นไป” สำหรับชื่อวัดใหญ่นั้น น่าจะมาจากพื้นที่ของวัดที่มีขนาด 20 ไร่เศษ ส่วนคำว่า สุวรรณ น่าจะได้จากพระนามของสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) ซึ่งเดิมท่านชื่อ “ทอง” หรืออาจเป็นนามฉายาของท่านว่า “สุวณฺณ” ก็ได้ เพราะท่านคือผู้ที่ทำการปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญให้กับวัด อันเป็นสถานศึกษาเดิม และวัดนี้จึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า วัดใหญ่สุวรรณาราม ในท้ายที่สุด
ภาพจาก B.Panupong / Shutterstock.com
วัดนี้มีความโดดเด่นอยู่ที่พระอุโบสถที่สวยงาม ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่าเทพชุมนุม ภาพทวารบาล ภาพพุทธประวัติ อายุกว่า 300 ปี ความสวยงามของจิตรกรรมของพระอุโบสถหลังนี้ยังปรากฏให้เห็นในหนังสุริโยไท อีกทั้งยังมีสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น ร่องรอยที่ทหารพม่าพยายามพังประตูเข้าไปแต่ไม่สำเร็จ จึงใช้ขวานจามที่บานประตูจนเกิดเป็นรอยผ่าให้เห็น
ภาพจาก 2p2play / Shutterstock.com
ศาลาการเปรียญที่เป็นพระตำหนักไม้สักทั้งหลัง พระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยาพระราชทานแด่พระสังฆราชชาวเพชรบุรี ซึ่งศาลาการเปรียญนี้มีการแกะสลักไม้ที่สวยงาม โดยเฉพาะบานประตูสลักลายก้านขดปิดทอง และยังมีธรรมาสน์เทศน์ซึ่งแกะสลักลงรักปิดทอง รูปทรงเป็นบุษบกที่งดงามและสมบูรณ์ รวมถึง “หลวงพ่อหกนิ้ว” พระพุทธรูปที่มีนิ้วพระบาทเฉพาะข้างขวา 6 นิ้ว ประดิษฐานอยู่เบื้องหลังองค์พระประธานในพระอุโบสถ โดยเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก
ที่ตั้ง : ถนนพงษ์สุริยา ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
5. วัดถ้ำเขาย้อย
วัดสำคัญอีกแห่งของจังหวัดเพชรบุรี ประชาชนนิยมเดินทางไปสักการะพระพุทธไสยาสน์ที่ประดิษฐานภายในถ้ำเขาย้อย ในอดีตสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ออกผนวชได้เสด็จธุดงค์มาถึงที่นี่และประทับนั่งกรรมฐานอยู่ภายในถ้ำแห่งนี้อยู่หลายคืน
นอกจากนี้ด้านหลังของพระพุทธไสยาสน์ ยังมีรอยพระพุทธบาทที่มีผู้ศรัทธานำทองคำเปลวมาปิดมากมาย ซึ่งมีความเชื่อว่าอานิสงส์ผลบุญจะนำมาซึ่งความมั่งคั่ง ร่ำรวย เงินทองไหลมาเทมาประดุจดั่งสีทองอร่ามของพระพุทธบาท
ที่ตั้ง : ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
ภาพจาก Casper1774 Studio / Shutterstock.com
6. วัดกำแพงแลง
วัดเก่าแก่อีกแห่งของจังหวัดเพชรบุรี ถือเป็นวัดเพียงหนึ่งเดียวที่มีโบราณสถานสมัยลพบุรีในยุคขอมเรืองอำนาจ โดยสันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นเทวสถานที่สร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ราว พ.ศ. 1700-1750 ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อีกทั้งยังปรากฏร่องรอยของอารยธรรมขอมผ่านกำแพงศิลาแลง ซุ้มประตูทางเข้าปราสาทตามศิลปะแบบบายน
ภายในปราสาทจะพบปรางค์ 5 องค์ ที่มีปรางค์ประธานตั้งอยู่ตรงกลาง และมีปรางค์อีก 4 องค์ วางตัวอยู่ทั้ง 4 ทิศ ประดับด้วยลวดลายในแบบศาสนาพราหมณ์ เช่น กนก เทวรูป สิงห์ และครุฑ เป็นต้น ในปรางค์แต่ละองค์นั้นเป็นเทวลัยที่ประดิษฐานเทวรูปเคารพ คือ พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ พระลักษมี และพระขันธกุมาร ซึ่งจากเดิมที่มีอยู่ 5 องค์ ปัจจุบันเหลือปรางค์อยู่เพียง 3 องค์เท่านั้น
ที่ตั้ง : ถนนพระทรง ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
7. วัดในกลาง
วัดเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานกว่า 200 ปี และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระมารดาซึ่งเป็นคนบ้านแหลม อีกทั้งพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ย้ายพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง สมัยกรุงศรีอยุธยาที่รอดพ้นจากการถูกพม่าเผาเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 มาปลูกถวายเป็นศาลาการเปรียญของวัดในกลาง เพื่อขอบใจชาวอำเภอบ้านแหลมที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลพระราชชนนีของพระองค์ ในยามที่บ้านเมืองเกิดศึกสงคราม พร้อมกับยังพระราชทานพระพุทธรูป “หลวงพ่อสุโขทัย” ให้กับวัดในกลาง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่กับวัดในกลางมาจนถึงทุกวันนี้
ที่ตั้ง : อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
8. วัดมหาธาตุวรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นตรี ที่มีความสำคัญอีกแห่งของจังหวัดเพชรบุรี สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เนื่องจากมีการค้นพบโบราณวัตถุสมัยนั้นจำนวนมากภายในบริเวณวัด ภายในวัดมีสิ่งน่าสนใจมากมาย เช่น พระวิหารหลวง ที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธรูปประธานทรงราชาภรณ์” พระพุทธรูปที่สำคัญ และยังมี “หลวงพ่อวัดมหาธาตุ” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์” พุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 8 นิ้ว หัตถ์ซ้ายถือพัด ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาเป็นอย่างมาก
พระวิหารน้อย เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา โดยมีฐานอ่อนโค้งทรงสำเภา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่ออู่ทอง ศิลปะแบบอู่ทอง ปางมารวิชัย บนฐานมีลายปูนปั้นและประดับกระจกสวยสดงดงาม และลวดลายปูนปั้นนี้ถือเป็นมุกตลกของช่างที่ต้องการสร้างอารมณ์ขันให้แก่ผู้พบเห็น ด้วยการแกะเป็นหน้าของบุคคลสำคัญที่เรารู้จักกันดี เช่น รูป ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี แบกฐานพระ เป็นต้น, พระปรางค์ 5 ยอด เป็นสัญลักษณ์สูงตระหง่านในเขตพุทธาวาส สามารถมองเห็นได้แต่ไกลทั้ง 4 ทิศ วัดจากฐานถึงยอดนภศูลได้ 55 เมตร รอบฐานยาว 120 เมตร มีอายุราว 1,000 กว่าปี ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บริเวณรอบพระปรางค์มีระเบียงคดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ในระเบียงคตมีพระพุทธรูปจำนวน 193 องค์ ประดิษฐานบนระเบียง
ที่ตั้ง : ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
ภาพจาก Bubbers BB / Shutterstock.com
9. วัดข่อย
แลนด์มาร์กที่ห้ามพลาดอีกแห่งของจังหวัดเพชรบุรี สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ “พระธาตุฉิมพลีพระเศรษฐีนวโกฏิ” ศาสนสถานที่มีการนำเอางานช่างสิบหมู่ มาเป็นส่วนร่วมสร้างอาคารเพื่อเทิดทูนบูชาพระพุทธศาสนา ให้เกิดความสวยงามตามความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน สวยงามและมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำใคร
ภายในพระธาตุมีพระประธาน 3 องค์ คือ พระพุทธเศรษฐีนวโกฏิ พระพุทธมิ่งมงคล และพระสิวลีมหาลาภร่มเย็น มีความเชื่อกันว่าใครได้มีโอกาสมาสักการะ จะได้พบแต่ความสุข ความสมหวัง และความเจริญ เป็นอีกหนึ่งพุทธสถานศิลป์ที่ควรค่าแก่การเยี่ยมชมเป็นอย่างยิ่ง
ที่ตั้ง : ถนนคีรีรัฐยา อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
นี่เป็นเพียง 9 วัด ในจังหวัดเพชรบุรี ที่เราหยิบมาแนะนำกันเท่านั้น จริง ๆ แล้วที่นี่ยังมีวัดสำคัญอีกมากมายให้ได้ไปสัมผัส ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดการท่องเที่ยวเพชรบุรีเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก TAT Phetchaburi
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก
thai.tourismthailand.org, เฟซบุ๊ก TAT Phetchaburi, thailandtourismdirectory.go.th, gophetchaburi.ngis.go.th, banlaemcity.go.th