เปิดวาร์ปจุดเช็กอินต่างประเทศน่าเที่ยวแห่งใหม่ ใกล้เมืองไทย กับเมืองเปกันบารู ประเทศอินโดนีเซีย เป็นเมืองลับที่ซ่อนตัวอยู่ใจกลางเกาะสุมาตรา น่าสนใจด้วยแหล่งท่องเที่ยวเท่ เก๋ ชิค เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่ต้องการหาประสบการณ์การเที่ยวต่างประเทศที่แตกต่าง
ถ้าให้ลองนึกถึงเมืองน่าเที่ยวของประเทศอินโดนีเซีย ชื่อที่ผุดขึ้นมาในหัวลำดับต้น ๆ ก็คงจะเป็นบาหลี จาการ์ตา หรือไม่ก็ยอกยาการ์ตา แต่จริง ๆ แล้วประเทศหมื่นเกาะแห่งนี้ ยังมีเมืองที่น่าสนใจรอให้ไปค้นหาอีกมากมาย อย่างเกาะสุมาตรา อันเป็นเกาะที่อยู่ใกล้ไทยมากที่สุด ก็มีเมืองที่น่าเที่ยวเมืองหนึ่งซ่อนตัวอยู่ใจกลางเกาะ ชื่อว่า "เปกันบารู" (Pekanbaru) เมืองหลักจังหวัดเรียว ชื่อไม่คุ้นหู แต่ก็มีดีพอตัว
เปกันบารู ยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติมากนัก หากเสิร์ชหาในกูเกิล ก็แทบจะไม่เห็นรีวิว แต่ไม่มีนักท่องเที่ยวก็ใช่ว่าจะไม่น่าสนใจ เพราะอันที่จริงแล้วเมืองนี้มีมุมดี ๆ ซ่อนอยู่ไม่น้อย ระยะเวลา 5 วัน 3 คืน กับการร่วมเดินทางสำรวจเปกันบารูกับการท่องเที่ยวเมืองเรียว และการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย ทำให้ค้นพบว่าเปกันบารูเป็นที่ตั้งสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่งในจังหวัดเรียว พร้อมกับมีทัชมาฮาลแห่งอินโดนีเซีย ซึ่งมีสถาปัตยกรรมสวยงามตระการตา และยังอยู่ใกล้กับพุทธสถานที่สำคัญของอินโดนีเซีย
อีกทั้งยังน่าหลงใหลด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นที่เที่ยวทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ธรรมชาติ ร้านอาหารท้องถิ่นอร่อย ๆ ย่านคาเฟ่เก๋ ๆ พร้อมกับมุมสวย ๆ มีกิมมิกน่ารัก ๆ กำแพง/ผนังสีสวยให้ไปเดินลัดเลาะถ่ายรูปเพลิน ๆ ผู้คนก็น่ารัก เป็นมิตร ทุกสิ่งล้วนเสริมให้เปกันบารูเป็นเมืองชิค ๆ ที่น่าเที่ยวอีกแห่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ถ้าลองเปิดใจให้กับเปกันบารูสักครั้ง ก็จะได้พบกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างประเทศใกล้ไทยแห่งใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยที่เที่ยวครบทุกรสชาติ อย่างที่เราจะนำเสนอดังต่อไปนี้
สถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนา
1. An-Nur Great Mosque
ขอเปิดฉากความน่าสนใจของเปกันบารูด้วยศาสนสถานที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามตระการตาอย่าง An-Nur Great Mosque Pekanbaru มัสยิดขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เมื่อมองจากด้านหน้าจะเห็นเป็นอาคารสวยสง่า มีสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างสไตล์อาราบิก, อินเดีย, เตอร์กิซ และมาเลย์ พร้อมกับองค์ประกอบต่าง ๆ ที่หล่อหลอมให้มีลักษณะคล้ายกับทัชมาฮาลในประเทศอินเดีย
ที่นี่เป็นอาคาร 3 ชั้น หลังคาเป็นยอดโดมสีเขียวอ่อน 5 ยอด และยังโดดเด่นด้วยหออะซานสูงถึง 4 หอ มีสระน้ำยาวอยู่ด้านหน้า ซึ่งจะสะท้อนภาพของมัสยิดแห่งนี้ได้เต็มทั้งอาคาร ตลอดทั้งวันจะมีอิสลามิกชนเดินทางมาเยี่ยมชมและประกอบพิธีทางศาสนาไม่ขาดสาย
หากเป็นนักท่องเที่ยวทั่วไปที่นี่พร้อมรอต้อนรับ เพียงแต่ถ้าเป็นผู้หญิงต้องสวมฮิญาบ หรือผ้าคลุมผมให้มิดชิด รวมทั้งแต่งกายให้เรียบร้อย ส่วนถ้าเป็นผู้ชายก็ต้องแต่งกายให้เรียบร้อยด้วยเช่นกัน
2. HKBP Hangtuah
ถึงแม้ว่าภาพรวมของประชากรในเปกันบารูจะเป็นชาวมุสลิม แต่ในอีกราว ๆ 10% ของคนที่นี่ก็นับถือศาสนาอื่น ซึ่งจะมีศาสนสถานตั้งอยู่หลายแห่งรอบ ๆ เมือง อย่าง HKBP Hangtuah คริสตจักรนิกายลูเทอแรน ก็ตั้งอยู่ใจกลางเมืองใกล้กับ An-Nur Great Mosque Pekanbaru ห่างกันเพียงแค่ถนนกั้นเท่านั้น
ที่นี่นอกจากจะเป็นสถานที่ประกอบพิธีการสำคัญทางศาสนาแล้ว ก็ยังเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามโดดเด่น ตัวคริสตจักรหันหน้าขึ้นเหนือไปทาง An-Nur Great Mosque ด้านหน้ามีหน้าจั่วเป็นรูปสามเหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น ชั้นในเป็นทรงสูง มีไม้กางเขนเด่นสง่าอยู่บนยอดสุด หลังคาสีแดงอมชมพู ขอบต่าง ๆ ตัดด้วยไม้สีเดียวกันกับหลังคา ดูสวยละมุนตาเข้ากับท้องฟ้าสีสดใสที่อยู่เบื้องหลัง พร้อมกับสวนดอกไม้น้อย ๆ ด้านหน้าคริสตจักร
3. Kwan Tee Kong Bio
จากถนนที่คลาคล่ำไปด้วยรถราและผู้คน ค่อย ๆ เล็กแคบลงเรื่อย ๆ สองข้างทางจากที่เป็นตึกแออัดก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นสวนปาล์มบ้าง สวนมะพร้าวบ้าง บ้านเรือนอยู่ห่างกันพอประมาณให้พอหายใจไม่ติดขัด บนถนน Jl. Palas Mekar ในเขต Rumbai จะมีทางแยกเล็ก ๆ ที่ทอดยาวเข้าสู่ศาลเจ้า Kwan Tee Kong Bio
ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นสถานที่ประดิษฐานของ “เทพเจ้ากวนอู” พร้อมทั้งยังมีเทพเจ้าที่สำคัญอีกหลายองค์ ผู้ที่ศรัทธาในเทพเจ้ากวนอูและเทพเจ้าจีนจะแวะเวียนมาที่นี่ทุกวัน โดยเฉพาะช่วงวันสำคัญ บรรยากาศจะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะที่นี่คือสถานที่เพียงไม่กี่แห่งที่ชาวเปกันบารูที่นับถือเทพเจ้าจีนจะได้มาพบเจอกัน
ตัวอาคารด้านนอกมีสถาปัตยกรรมตามแบบสไตล์จีนที่งดงาม โดดเด่นด้วยกำแพง ประตู และหน้าต่างสีเหลือง-แดงอันโฉบเฉี่ยว แต่ภายในกลับเงียบสงบ เป็นโถงกว้าง เพดานสูง มีบ่อปลาอยู่ตรงกลาง พร้อมกับหลังคากระจกใส ที่แสงสามารถสาดส่องลงมาด้านล่างได้ตลอด ทั้งสองด้านของบ่อปลาเป็นบันไดทางขึ้นเตี้ย ๆ เพื่อไปกราบไหว้ขอพรกับเทพเจ้ากวนอู ด้านข้างมีตู้เสี่ยงเซียมซี พร้อมกับตู้บริจาค เสียงกล่าวขอบคุณแบบทำนองจีนจะดังขึ้นทุกครั้งที่ผู้มีจิตศรัทธาหยอดเงินลงไปในกล่องบริจาค
ที่ผนังด้านหนึ่งบริเวณทางเข้าบอกรายละเอียดที่มาที่ไปของที่นี่ในภาษาอินโดนีเซีย ถึงแม้จะอ่านไม่ออก แต่พอดูภาพประกอบก็พอเข้าใจว่าอาคารแห่งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ศาสนสถานแบบจีนเท่านั้น ในอนาคตจะมีอาคารอื่น ๆ และสิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมเกิดขึ้นอีกมากมาย
4. Kompleks Candi Muara Takus
หากให้ปักหมุดศาสนสถานทั้งอินโดนีเซีย แทบจะ 95% ที่จะเป็นศาสนสถานของศาสนาอิสลาม มีเพียงราว ๆ 5% เท่านั้นที่จะเป็นศาสนสถานของศาสนาอื่น ๆ ยิ่งถ้าพูดถึงพุทธสถานก็ยิ่งน้อยลงไปอีก ที่เห็นเด่นชัดมากที่สุดก็คือ โบโรบูดูร์ (Borobudur) หรือบุโรพุทโธ แห่งเกาะชวา ซึ่งจะมีการจัดงานวันวิสาขบูชาอย่างยิ่งใหญ่ในทุกปี แต่ในปี 2019 งานวันวิสาขบูชาได้ย้ายสถานที่จัดงานมายังใจกลางเกาะสุมาตรา ณ วัด Muara Takus เมือง Kampar จังหวัดเรียว
ใจกลางป่าเขาและสวนปาล์มกว้างใหญ่ ถนนเส้นเล็ก ๆ ลัดเลาะเข้าไปเรื่อย ๆ จนไปสิ้นสุดที่บริเวณทางเข้าวัด Muara Takus จากเมืองเปกันบารู ขับผ่านทั้งเมืองใหญ่ ป่าเขา แม่น้ำ และทะเลสาบ ใช้เวลาราว ๆ 3 ชั่วโมง ก็มาถึงยังดินแดนแห่งพุทธสถานที่สำคัญอีกแห่งของอินโดนีเซีย
แม้ว่าพุทธสถานแห่งนี้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังเห็นเค้าโครงของวัดพุทธในยุคสมัยอาณาจักรศรีวิชัย ซากของกำแพงอิฐมอญสี่เหลี่ยมจัตุรัสสูงราว ๆ 1 เมตร รายล้อมรอบซากเจดีย์ใหญ่ถึง 4 องค์ ใจกลางพื้นที่ คือ Candi Tua เจดีย์ใหญ่ที่สุด กว้างราว ๆ 32.80 x 21.80 เมตร จากฐานถึงยอดบนสุดคาดว่าสูงประมาณ 8.50 เมตร ถัดมาทางด้านทิศใต้ เป็นฐานเจดีย์ Candi Bungsu สูงประมาณ 6.20 เมตร ถัดมาอีกเป็นเจดีย์ทรงดอกบัว คล้ายกับเจดีย์ในประเทศไทยและเมียนมา เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุด มีความสูงอยู่ที่ 14.30 เมตร ส่วนฐานเจดีย์องค์สุดท้ายเรียกว่า Candi Palangka สูงราว ๆ 1.45 เมตร
จากพุทธสถานที่เงียบเหงา แต่ในวันนี้มีพุทธศาสนิกชนจากทั่วทั้งอินโดนีเซียและประเทศใกล้เคียงร่วม 2,000 คน เดินทางมาชมความงดงามของที่นี่ เมื่อถึงเวลาที่สมควรแสงไฟจากเทียนประดิษฐ์ก็ค่อย ๆ สว่างขึ้นทีละดวง ๆ
เสียงสวดมนต์ "พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ, สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ" ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ ทุกคนร่วมใจเปล่งเสียงสวดมนต์ พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานเดินเวียนเทียนไปรอบ ๆ วัดด้วยความสงบเสงี่ยมจนครบ 3 รอบ ก่อนจะมานั่งสวดมนต์ด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง และปิดท้ายค่ำคืนด้วยการปล่อยโคมกระดาษสีขาวขึ้นสู่ฟากฟ้ากว้างใหญ่
หากมองในอีกมุมนี่คงเป็นพิธีกรรมที่แปลกแตกต่างจากพิธีกรรมทั่ว ๆ ไปของชาวอินโดนีเซีย ด้วยประชากรราว ๆ 90-95% เป็นชาวมุสลิม อีกทั้งในพื้นที่รอบ ๆ วัด ชาวบ้านทั้งหมดก็นับถือศาสนาอิสลาม แต่บ้านทุกหลัง รวมทั้งมัสยิดที่อยู่ใกล้เคียง ก็เปิดประตูพร้อมรอต้อนรับพุทธศาสนิกชน และยังหยิบยื่นน้ำใจ ให้ที่นั่งพักและเลี้ยงอาหารมื้อค่ำด้วยจิตใจเผื่อแผ่ ต่างฝ่ายต่างเคารพซึ่งกันและกัน ทุกสิ่งทุกอย่างก็ดำเนินผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
"We are one Indonesia"
คำนี้คงจะจริงอย่างที่เด็ก ๆ อาสาสมัครที่มาช่วยงานได้พูดขึ้น เมื่อเกิดคำถามจากคนต่างถิ่นว่าไม่รู้สึกแปลกแยกบ้างหรือ ที่เพื่อน ๆ ส่วนใหญ่นับถืออีกศาสนา...
สถานที่ท่องเที่ยววัฒนธรรม ชุมชน อารยธรรม
5. สะพาน Siak III
ถ้าเทียบแม่น้ำไซอัก (Siak) เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ สะพาน Siak III ก็คงเปรียบได้กับสะพานกรุงธน สะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือไม่ก็สะพานกรุงเทพ ด้วยเป็นสะพานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างในรูปแบบของสถาปัตยกรรมสัญลักษณ์ โดดเด่นด้วยโครงสร้างเหล็กรูปทรงครึ่งวงกลม ทาสีเหลืองพระจันทร์สดใสท้ากับแสงแดดและท้องฟ้าอันเจิดจ้า เบื้องล่างคือแม่น้ำขนาดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนเปกันบารูมาหลายชั่วอายุคน
สะพานแห่งนี้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำไซอักแห่งที่ 3 ของเปกันบารู สร้างขึ้นมาเพื่อลดความหนาแน่นของการจราจรที่เข้า-ออกบริเวณดาวน์ทาวน์ ถ้าหากมาเที่ยวชมเพียงผิวเผินที่นี่ก็ดูจะเป็นเพียงสะพานข้ามแม่น้ำเท่านั้น แต่หากได้ลองเดินเข้าไปถึงใต้สะพาน ก็จะเห็นว่าที่นี่เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่ห้ามพลาดของเปกันบารู ด้วยโครงสร้างที่เด่นชัดแข็งแรง แต่ยังซ่อนความน่ารักด้วยสีเหลืองสวยสะดุดตา จึงสามารถครีเอตมุมถ่ายรูปแบบชิค ๆ ได้หลากหลายมุม
และใต้สะพานแห่งนี้ ยังเป็นที่ตั้งของป้ายรถโดยสารประจำทางแห่งแรกของเปกันบารู โดยมีรูปทรงที่แตกต่างจากป้ายรถประจำทางทั่วไปที่มีที่นั่งเพียงแค่ฝั่งเดียว แต่ที่นี่กลับมีที่นั่งอยู่ 2 ฝั่ง เพราะเป็นทั้งป้ายที่ไว้ใช้รอรถโดยสารประจำทาง และรอเรือข้ามฟาก
สีสันก็สวยไม่น้อยหน้าสะพานใหญ่ที่อยู่ด้านบน ล่อหลอกให้ขาก้าวเดินเข้าไปลองนั่งพักด้วยสีฟ้าละมุนตา มันกลับมาดูมีชีวิตชีวาอีกครั้ง และยังพาให้จินตนาการไปได้ถึงวันวานที่ที่นี่เคยคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากมาย สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาใช้บริการ และป้ายรถเมล์แห่งนี้ก็ยืนหยัดทำหน้าที่อย่างแข็งขัน แต่พอนานวันเวลาผ่านเลยบทบาทจากผู้ทำหน้าที่หลัก ก็กลับกลายมาเป็นพนักงานต้อนรับ ที่รอสร้างรอยยิ้มให้กับผู้มาเยือน แบบนี้สินะ...ถึงเรียกว่าเก่าแต่ก็ยังเก๋า :)
6. Rumah Singgah Tuan Kadi
ในยุคสมัยที่ยังไม่มีถนนหนทางและเทคโนโลยีมากมายนัก การจะเดินทางไปเยือนแต่ละเมืองต้องใช้เวลายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน หรือเจ้าขุนมูลนายก็ล้วนต้องแวะพักระหว่างทาง ยิ่งถ้าเป็นผู้สูงศักดิ์ บางครั้งก็ต้องมีเรือนรับรองไว้พำนัก Rumah Singgah Tuan Kadi ก็เป็นอีกหนึ่งเรือนรับรองที่สำคัญของเปกันบารู เป็นบ้านเก่าแก่อายุเกือบร้อยปี เคยใช้เป็นเรือนรับรอง Sultan Syarif Kasim II ซึ่งตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำไซอัก ใกล้กับสะพาน Siak III นี่เอง
ตัวบ้านตั้งอย่างสง่างามท่ามกลางสวนกว้างริมแม่น้ำ มีสถาปัตยกรรมแบบมลายู ยกใต้ถุนสูง บันไดทางขึ้นจะอยู่ทางด้านซ้ายของบ้าน ตกแต่งด้วยปูนปั้นลวดลายวิจิตร ผนังรอบบ้านทาด้วยสีเหลืองอ่อน ตัดขอบด้วยสีเหลืองเข้ม พร้อมกับบานหน้าต่างสีฟ้าสดสว่าง ด้านในแบ่งออกเป็นห้องต่าง ๆ ไม่มีข้าวของเครื่องใช้ใด ๆ มากนัก นอกจากภาพถ่ายเก่า ๆ ที่บ่งบอกถึงเรื่องราวของการเดินทางข้ามแม่น้ำไซอักด้วยสะพานต่าง ๆ
ส่วนผนังที่อยู่ใกล้กับฝั่งแม่น้ำมีส่วนที่ปรับปรุงใหม่ แต่เดิมพื้นที่ของบ้านเคยทอดยาวไปจนถึงแม่น้ำ แต่พอน้ำมีระดับมากขึ้น ๆ หน่วยงานที่ดูแลบ้านหลังนี้จึงต้องจำใจที่จะรื้อส่วนหนึ่งออกไป แต่ก็ยังมีสภาพที่สมบูรณ์เกือบเต็มร้อย และแม้ว่าจะไม่ได้มีสิ่งของเครื่องใช้ใด ๆ ให้พอนึกภาพได้ว่าบ้านหลังนี้ถูกใช้งานอย่างไรบ้าง แต่จากโลเคชั่นสถานที่ตั้งและสถาปัตยกรรมก็พอจะจินตนาการได้ว่าในสมัยนั้นบ้านหลังนี้น่าจะถูกยกย่องว่าเป็นบ้านที่งดงามที่สุดหลังหนึ่งในเปกันบารูเลยทีเดียว
7. Pekanbaru Death Railway
ถ้าสะพานข้ามแม่น้ำแควและทางรถไฟสายมรณะเป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศไทย Pekanbaru Death Railway ก็คืออนุสรณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของประเทศอินโดนีเซียนั่นเอง โดยเส้นทางนี้เป็นเส้นทางรถไฟจากเมืองเปกันบารูไปยังเมือง Muaro และเชื่อมต่อไปยังเมืองปาดัง (Padang) ระยะทางรวมกว่า 220 กิโลเมตร ซึ่งเกิดจากหยาดเหงื่อแรงกายของทั้งเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรที่อยู่ในอินโดนีเซีย และแรงงานที่ถูกเกณฑ์มาทั่วทั้งเอเชียที่เรียกว่า โรมูฉะ (Romusha) รวมกันกว่า 120,000 ชีวิต และมีผู้รอดชีวิตเพียงราว ๆ 16,000 คนเท่านั้น
Tugu Pahlawan Kerja เป็นอนุสรณ์สถานเส้นทางรถไฟเก่าแก่ที่อยู่ใกล้กับเมืองเปกันบารูมากที่สุด ตั้งอยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติ Sultan Syarif Kasim II ราว ๆ 2 กิโลเมตร ตรงกลางของพื้นที่มีแท่นหินเขียนว่า Pahlawan Kerja แปลได้ใจความว่าเป็นอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงผู้เสียสละ ส่วนทางขวามือเป็นสุสาน คล้ายกับสุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก ในจังหวัดกาญจนบุรี
หัวรถจักรไอน้ำอายุราว ๆ 70 ปี ตั้งตระหง่านท้าแสงแดดยามบ่ายอยู่ด้านในสุด ด้านข้างมีแผนผังเส้นทางรถไฟให้ได้ชม พร้อมกับบันไดเล็ก ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ลองขึ้นไปสำรวจหัวรถจักรไอน้ำเก่าแก่ ไม่ได้ใหญ่โต แต่ก็มีแรงดึงดูดให้ได้ลองยื่นหน้าเข้าไปชมด้านใน
สำหรับเด็กยุคใหม่นี่คงเป็นแหล่งท่องเที่ยวบรรยากาศสุดคลาสสิก ที่พาให้ย้อนรำลึกกลับไปยังอดีต แต่สำหรับคนเฒ่าคนแก่แล้ว ที่นี่อาจจะเป็นเหมือนหนามยอกอก ที่คอยทิ่มแทงให้นึกถึงความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ความหิวโหย และหยาดน้ำตาของบรรพบุรุษผู้ซึ่งถูกใช้เป็นแรงงานอย่างโหดร้ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเส้นทางรถไฟสายนี้ แม้ว่าเสียงหวูดรถไฟได้หายไปจากเปกันบารูนานหลายสิบปีแล้ว แต่เรื่องราวของผู้กล้าที่เสียสละชีวิตกว่า 100,000 คน ก็ยังคงถูกพูดถึงอย่างให้เกียรติและยกย่องอยู่เสมอ
8. Rumah Tenun Kampung Bandar
ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง...เสื้อผ้าอาภรณ์อันเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้คนงาม จึงถูกพัฒนาให้มีรูปแบบที่สวยงามน่าสวมใส่ พร้อมทั้งยังพัฒนาเครื่องทอผ้าให้ทันสมัยจนทำให้การทอผ้าแบบโบราณเกือบเลือนหาย สำหรับเปกันบารู ก็ยังคงมี Rumah Tenun Kampung Bandar ศูนย์ทอผ้าโบราณในชุมชนเล็ก ๆ ให้ได้ไปชมกระบวนการทอผ้าพื้นเมืองแบบดั้งเดิมของชาวอินโดนีเซีย
Rumah Tenun Kampung Bandar ตั้งอยู่ภายในบ้านไม้สีสวยสะดุดตาอายุกว่า 130 ปี กลางชุมชนริมแม่น้ำไซอัก ท่ามกลางความเงียบสงบ เสียงไม้กระทบกันเป็นจังหวะดังแว่วลอยออกมาจากตัวบ้าน เพียงการเดินขึ้นบันไดไม่กี่ขั้น ก็ได้พบกับ รูฮายะ (Ruhaya) หญิงวัยกลางคนที่กำลังนั่งทอผ้าอยู่บนกี่ทอผ้าโบราณอย่างตั้งใจ
รอยยิ้มแสนหวานเผยขึ้นทันทีที่เห็นคนต่างถิ่นแวะมาเยี่ยมเยือนถึงเรือนชาน และยังชักชวนให้ลองเข้าไปชมกระบวนการทอผ้าอย่างใกล้ชิด รูฮายะค่อย ๆ จับม้วนเส้นด้ายสอดแทรกประสานทับซ้อนกันไปมา ด้ายสีหนึ่งยืนพื้น สีหนึ่งขึ้นลาย ทำอย่างรวดเร็วแต่สงบนิ่งและมั่นคง บ่งบอกถึงความชำนาญและประสบการณ์ที่ผ่านมายาวนานหลายปี
ที่ด้านหนึ่งของบ้านจัดเก็บผ้าทอหลากหลายรูปแบบ มีทั้งผ้าทอผืนใหญ่ ผ้าพันคอ ผ้าสไบ และผลิตภัณฑ์จากผ้าทอ พร้อมด้วยชุดราตรียาวเข้ารูปสีน้ำตาลที่มีเนื้อผ้าและลวดลายเป็นประกายสวย ดูแวววับจับตาด้วยลายปักสีทอง เสริมให้ชุดดูสง่างาม สนนราคาอยู่ที่ราว ๆ 30,000 บาท ฟังดูอาจจะคิดว่าราคาสูง แต่ถ้าหากเห็นเนื้อผ้าและลวดลาย และมองกลับไปที่รูฮายะ ที่กำลังบรรจงถักทอผ้าอย่างตั้งใจ ชุดนี้ก็มีราคาสมเหตุสมผลแล้ว
สถานที่ท่องเที่ยวบรรยากาศสบาย ๆ
ช้อปปิ้ง กินอาหาร ดื่มกาแฟ
9. Pekanbaru Central Market
การจะสัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้คนต่างถิ่นให้ลึกซึ้ง วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งก็คือ การพาขาก้าวออกไปสำรวจตลาดท้องถิ่น Pekanbaru Central Market ตลาดใหญ่ใจกลางเมืองเปกันบารู สถานที่ที่จะทำให้เรารู้จักกับเปกันบารูในอีกมุมมอง ร้านค้านับพันตั้งเรียงรายอยู่ริมถนน Jl. Jenderal Sudirman และยังขยายเข้าไปตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ
ด้านหน้าของตลาดเป็นโซนร้านขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาไม่แพง ซึ่งถูกสลับคั่นด้วยร้านขายเครื่องประดับบ้าง ร้านขายอาหารบ้าง เดินไปเรื่อย ๆ จะเห็นร้านขายขนมโหลตั้งซ้อนกันเป็นสิบใบ ด้านในบรรจุขนมคุกกี้ชิ้นเล็ก ๆ ที่มีหน้าตาน่ารัก ๆ สีสันสวยงามเรียงรายรอบโหล
เมื่อเดินเลี้ยวเข้าสู่ถนน Jl. H. Agus Salim 5 จะเป็นตลาดสด รถอังกอต (Angkot) หรือ Angkutan Kota รถแท็กซี่ร่วมคันเล็กสีสันสดใส ทั้งเหลือง, แดง, เขียว, ฟ้า ฯลฯ ขับสวนออกมาไม่ขาดสาย ถนนที่ว่ากว้างก็กลายเป็นเหลือพื้นที่เพียงน้อยนิดให้ผู้คนเดินลัดเลาะจับจ่ายซื้อผัก-ผลไม้ และอาหารสด บรรยากาศไม่แตกต่างจากตลาดสดตามต่างจังหวัดในไทยเท่าไร แต่ที่เห็นแปลกตาออกไปก็จะเป็นการขายไก่สด ในตลาดอิสลามแบบนี้ ไก่ทุกตัวจะต้องถูกเชือดถูกต้องตามหลักศาสนา แต่ละร้านจึงต้องขายไก่เป็น ๆ ใครจะเอาตัวไหนก็เชือดขายกันตรงนั้น
Church of Santa Maria A. Fatima Pekanbaru
เดินต่อไปที่กลางซอย จะเป็นโซนขายผลไม้สด สับปะรดท้องถิ่นวางกองขายในราคาแสนถูก พร้อมด้วยผลไม้ท้องถิ่นอื่น ๆ อีกหลายชนิด ช่วงสายของวันบรรยากาศไม่วุ่นวายเท่าตอนเช้า ชาวบ้านเริ่มผ่อนคลาย ส่งรอยยิ้มให้เป็นระยะ ที่สุดถนนเส้นนี้จะตัดกับถนน Jl. Jend. Ahmad Yani มีคริสตจักร Church of Santa Maria A. Fatima Pekanbaru ตั้งตระหง่านอยู่อีกฟากถนน
หากเดินเลี้ยวไปทางด้านซ้าย จะเป็นชุมชน มีทั้งอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัย โรงแรมที่พัก ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ มัสยิด โรงพยาบาล เชื่อมต่อไปได้ถึงศาลากลางจังหวัดเรียว (Riau Governor's Office)
ศาลากลางจังหวัดเรียว (Riau Governor's Office)
10. ถนน Jl. Sumatera และ Jl. Ronggo Warsito Street
กิจกรรมอย่างหนึ่งที่นักท่องเที่ยวสายชิลโปรดปราน ก็คือ การได้ไปเดินเที่ยวชมย่านที่มีบรรยากาศสบาย ๆ อาจจะเป็นย่านที่มีบ้านเรือนสวย ๆ ร้านอาหารและร้านกาแฟเก๋ ๆ ดูร่มรื่น สามารถเดินเล่นถ่ายรูปเพลิน ๆ ได้
สำหรับในเปกันบารูก็มีย่านที่น่าไปเที่ยวชิล ๆ เช่นกัน โดยจะอยู่บนถนน Jl. Sumatera และถนน Jl. Ronggo Warsito ย่านอยู่อาศัยที่มีราคาสูงปานกลางของเปกันบารู
ตอนกลางวันบรรยากาศจะเงียบสงบ บ้านแต่ละหลังไม่ได้มีรูปแบบและดีไซน์ที่สวยหรูโอ่อ่ามากนัก แต่ดูกำลังพอดี สีสันเรียบง่ายแต่ให้ความรู้สึกที่อบอุ่น ต้นไม้น้อยใหญ่เรียงรายให้ความร่มรื่นตลอดแนวถนน ซึ่งท่ามกลางบ้านน่ารัก ๆ เหล่านี้ ก็เป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายเสื้อผ้าวัยรุ่น มีมุมให้ได้ถ่ายรูปแบบฮิปสเตอร์อยู่ไม่น้อย
พอแดดร่มลมตก พระจันทร์เข้าประจำการแทนที่พระอาทิตย์ ถนนทั้งสองเส้นนี้จะกลับกลายเป็นย่านท่องเที่ยวของวัยรุุ่นชาวเปกันบารู ร้านแต่ละร้านจะแน่นขนัดไปด้วยผู้คนวัย 20 ต้น ๆ ที่ออกมาสังสรรค์พบปะพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน พร้อมทั้งกินอาหาร ดื่มเครื่องดื่มเย็น ๆ และฟังดนตรีสดเคล้าคลอเบา ๆ ตลอดค่ำคืน บรรยากาศคล้ายกับร้านอาหารนั่งชิลในเมืองไทย แต่ที่ต่างออกไปก็คือ ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดเสิร์ฟแม้แต่หยดเดียว ด้วยผิดหลักศาสนาอิสลาม
จุดเช็กอินที่น่าสนใจบนถนน Jl. Sumatera เช่น Teras Kopi Sumatera, Pig Burger, Tanah Suma Coffee Shop และ Tiaz Grill เป็นต้น ส่วนบนถนน Jl. Ronggo Warsito เช่น House of Smith, Dhapu Koffie และ Taman Kuliner
11. ถนน Jl. Dr. Leimena
แม้ว่าเปกันบารูจะกำลังเติบโตและพัฒนา แต่ในมุมหนึ่งก็ยังมีย่านเก่าแก่ให้ได้ไปเดินทอดน่องชมสถาปัตยกรรมสวย ๆ อย่างบนถนน Jl. Dr. Leimena ถนนสายเล็ก ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากตลาดกลางเปกันบารู ก็เป็นอีกย่านที่มีความน่าสนใจไม่น้อยหน้าไปกว่าสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ เป็นชุมชนชาวจีนเล็ก ๆ ที่ชาวเปกันบารูเรียกกันว่า ลิตเติลไชน่าทาวน์
ภาพจาก การท่องเที่ยวเรียว
โดดเด่นด้วยอาคารสไตล์จีน-มลายู (เปอรานากัน) สีสันสดใสและอาคารดีไซน์คลาสสิกสีเหลืองมัสตาร์ดตัดขอบด้วยสีแดงที่ตั้งทอดยาวราว ๆ 100 เมตร ทั้งสองฟากฝั่งถนน เริ่มตั้งแต่หัวมุมถนนที่ตัดกับถนน Jl. Ir. H. Juanda ยาวเข้าไปจนถึงวัดจีน Vihara Dharma Loka ซึ่งเป็นวัดสำคัญของคนเปกันบารูเชื้อสายจีน โดยในวันสำคัญอย่างวันตรุษจีน ก็จะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่
นอกจากนี้ถนนเส้นนี้ยังเป็นสวรรค์ของคนรักกาแฟโบราณ ด้วยมีโกปี๊เตี่ยมเปิดให้บริการหลายร้าน และไม่ใช่เพียงแค่เมนูกาแฟเท่านั้นที่น่าสนใจ แต่ยังมีเมนูชาอันเป็นเมนูซิกเนเจอร์ของเปกันบารูอย่าง Teh Telur ให้ได้ลิ้มลองกันด้วย โดยจะนำไข่แดงกับน้ำตาลมาตีให้ขึ้นฟูแล้วจึงนำชาร้อนเทลงไป บีบมะนาวเติมนมสดนิดหน่อย เอาไว้ดื่มเพิ่มพลังระหว่างวัน
สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ
12. Puncak Kompe จุดชมวิวริมทะเลสาบ
ห่างจากเมืองเปกันบารูราว ๆ 80 กิโลเมตร ท่ามกลางป่าเขาอันอุดมสมบูรณ์ Puncak Kompe ได้ซ่อนตัวอยู่บนเนินเขาสูงกับวิวสวยตระการตาของทะเลสาบกว้างใหญ่และภูเขาสีเขียวมากมายที่เรียงรายซ้อนกันไปมา
ระเบียงไม้ที่ยื่นออกไปจากหน้าผาสูงไร้ซึ่งที่กั้นเป็นเสมือนจุดท้าวัดใจให้ลองเดินออกไปยืนชมวิวสวยแบบเต็มตา ใครใจกล้าหน่อยก็สามารถนั่งห้อยขาสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าปอดไปพร้อม ๆ กับการค่อย ๆ ละเมียดชมวิวจากทางด้ายซ้ายไปจนสุดฝั่งด้านขวามือ
ที่ใกล้ ๆ กันนั้นเป็นระเบียงชมวิวรูปเสี้ยวพระจันทร์สีชมพูหวานสวยสะดุดตา แดดช่วงกลางวันที่ส่องสะท้อนยิ่งทำให้พระจันทร์เสี้ยวนี้น่าสนใจ สีชมพูตัดกับสีเขียวของภูเขาและสีฟ้าของท้องฟ้าที่อยู่เบื้องหลังอย่างเด่นชัด เมื่อยืนมองห่างออกมาสัก 2-3 เมตร ก็จะเห็นเป็นกรอบรูปที่งดงาม ไม่ว่าใครไปยืนอยู่ตรงนั้นก็ต้องประทับใจกับภาพตรงหน้า
13. Pelatihan Gajah (Elephant Conservasion)
จากเมืองเปกันบารู ขับรถขึ้นไปทางเหนือตามถนนสาย Jl. Lintas Sumatera มุ่งหน้าสู่ตำบล Minas ของเมือง Siak รวมระยะทางราว ๆ 30 กิโลเมตร จากถนนเส้นหลักเลี้ยวลัดเลาะสู่ถนนดินลูกรังสายเล็ก ๆ ที่ทั้งสองข้างเต็มไปด้วยสวนปาล์มเขียวอุดมสมบูรณ์อีกประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะถึง Pelatihan Gajah
ที่นี่เป็นศูนย์ฝึกช้างที่ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าเขาอันเขียวชอุ่ม อากาศสดชื่นบริสุทธิ์ มีช้างอยู่ในความดูแลราว ๆ 10 เชือก เจ้าหน้าที่จะปล่อยให้ช้างได้อยู่กับธรรมชาติอย่างเต็มที่ ช้างแต่ละเชือกจะอยู่กันคนละโซน บางเชือกอยู่บนเนิน บางเชือกอยู่ริมลำธาร หากต้องการชมช้างใกล้ ๆ ก็สามารถให้เจ้าหน้าที่พาเข้าไปชมได้อย่างใกล้ชิด ถ้ามีเวลามากหน่อยก็สามารถทำกิจกรรมร่วมกับช้างได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้อาหารช้าง การอาบน้ำช้าง และการนั่งช้างชมป่า แต่ถ้าเวลาน้อยจริง ๆ เพียงแค่การได้มองช้างนอนเล่นนั่งเล่นอยู่กับธรรมชาติสวย ๆ ก็เติมเต็มรอยยิ้มบนใบหน้าได้แล้ว
14. Taman Bunga Impian
การอยู่ในเมืองใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยตึกรามบ้านช่อง และอาคารอิฐปูนรูปแบบทันสมัยอย่างเปกันบารู บางครั้งก็ทำให้รู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออก หากได้มีสักช่วงเวลาของวันที่จะหลุดจากภาพเมืองไปสู่ภาพของดอกไม้ทุ่งหญ้าและลำธารก็น่าจะทำให้รู้สึกดีได้ไม่น้อย
ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ Taman Bunga Impian สวนดอกไม้เล็ก ๆ ริมแม่น้ำไซอักแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวพักผ่อนนั่งเล่นริมแม่น้ำ พร้อมกับถ่ายรูปสวย ๆ กับดอกไม้พื้นเมืองนานาชนิดหลากสีสัน มีมุมให้นั่งแวะพักหลากหลายจุด พร้อมกับซุ้มไม้ไผ่แสนเรียบง่ายริมแม่น้ำ
ความลับของที่นี่จะอยู่ในช่วงยามเย็น ด้วยโลเคชั่นที่อยู่บริเวณคุ้งแม่น้ำพอดี ทำให้เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกดินที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของเปกันบารู ภาพของแสงสีส้มที่ฉาบทาอยู่บริเวณขอบฟ้าสะท้อนลงผืนน้ำกว้างซึ่งมีป่าไม้เขียวชอุ่มทั้งสองฟากฝั่ง พร้อมทั้งสายลมเย็น ๆ ที่พัดมาเป็นระยะ ก็น่าจะทำให้ผู้คนที่ได้มาสัมผัสกับบรรยากาศนี้รู้สึกผ่อนคลายได้อย่างดีทีเดียว
15. Radar Siang Malam
บนถนน Jl. Jenderal Sudirman ใจกลางย่านการค้าของเปกันบารู ยามค่ำคืนถนนสายนี้จะเต็มไปด้วยร้านอาหารสตรีตฟู้ต มีทั้งร้านอาหารคาวและหวาน ตั้งเรียงรายสลับกันไปตลอดทางเดิน
Radar Siang Malam ร้านอาหารท้องถิ่นสไตล์ปาดังที่ถูกพูดถึงมากที่สุดร้านหนึ่งในย่านนี้ ลูกค้าหลายคนเดินทางมาที่นี่ก็เพื่อลิ้มรสอาหารสไตล์ปาดังอันโอชะ แต่บางคนก็มาเพียงเพื่ออยากได้ยินเสียงตะหลิวที่พ่อครัวจะเคาะเป็นจังหวะดนตรีสนุกสนานพร้อม ๆ กันระหว่างทำอาหาร อันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นอย่างหนึ่งที่ทำให้ร้านนี้มีชื่อเสียงมากที่สุดในเปกันบารู
อาหารหลายอย่างถูกจัดเสิร์ฟมาบนโต๊ะ มีทั้งผัดหมี่มีโกเร็ง, ข้าวผัดนาซีโกเร็ง, โรตีมะตะบะสอดไส้เนื้อ และแคบควาย แต่ที่เด็ดสุดก็คือ ไก่สะเต๊ะ และเนื้อสะเต๊ะ ซึ่งจะจัดเสิร์ฟมาบนจานที่รองด้วยใบตอง ไก่และเนื้อชิ้นบาง ๆ จะเสียบเรียงอย่างสวยงามบนไม้ ย่างให้สุกเนื้อแห้งพอดีแล้วราดด้วยน้ำซอสถั่ว โรยตามด้วยหอมเจียว กลิ่นของซอสจะหอมละมุน มีกลิ่นเครื่องเทศนิด ๆ รสชาติหวานมันกลมกล่อม รสชาติอร่อยลงตัวเป็นเอกลักษณ์ กินกับข้าวเหนียวร้อน ๆ ต่อให้มีสัก 100 ไม้ก็สามารถกินหมดได้ในค่ำคืนเดียว
16. Ampera Mutia
เปกันบารู ได้รับอิทธิพลเรื่องอาหารการกินจากทางฝั่งเมืองปาดังมาไม่น้อย จึงทำให้มีร้านอาหารสไตล์ปาดังอร่อย ๆ อยู่ทั่วทั้งเมือง Ampera Mutia เป็นอีกหนึ่งร้านอาหารปาดังที่มีชื่อเสียงของเปกันบารู ตัวร้านตั้งอยู่ริมถนน Jl. Tuanku Tambusai ด้านหน้าเป็นตู้กับข้าวที่วางเรียงจานกับข้าวซ้อนกันไปมาอย่างสวยงาม เชฟหน้าตาคมเข้มเป็นคนคุมเตาปลาย่างอยู่ด้านข้าง
เมนูอาหารมีให้เลือกมากกว่า 10 รายการ เมื่อเลือกได้แล้ว พ่อค้าก็จะตักกับข้าวราดข้าวสวยร้อน ๆ มาให้ หรือใครจะสั่งเป็นกับข้าวแล้วมาแบ่งกันกินก็ได้ตามความสะดวก ลักษณะคล้ายกับร้านข้าวแกงในเมืองไทย เมนูที่น่าสนใจก็มีทั้งอูรับ (Urap), กูไล (Gulai), เรินดัง (Rendang), อาซัมเปอดัซ (Asam Padeh), Terong Balado, Petai Goreng เป็นต้น
ถ้าจะกินให้ถึงรสถึงชาติ คนที่นี่แนะนำว่าให้ลองใช้มือขยำข้าวกับกับข้าวต่าง ๆ ให้เข้ากัน แล้วหยิบเข้าปาก ค่อย ๆ ลิ้มรสความอร่อยของอาหารไปทีละคำ ไม่ต้องกลัวว่ามือจะเลอะ เพราะจะมีก๊อกน้ำและกระดาษทิชชูให้ล้างและเช็ดมือ เมื่อกินเสร็จแล้ว ถ้าบนโต๊ะมีจานหลายใบก็อย่าลืมรอชมความสามารถพิเศษของพนักงานเสิร์ฟ ที่จะสามารถเก็บจานซ้อนกันได้สูงหลายสิบใบ ดูน่าตื่นเต้นไม่น้อย
- เวลาที่เมืองเปกันบารูจะเท่ากับเมืองไทย
- ปลั๊กไฟจะไม่เหมือนกับที่ไทย ควรเตรียม Universal Adapter
- ควรรู้คำศัพท์ตัวเลขพื้นฐาน เพื่อไว้ใช้สื่อสารกับคนท้องถิ่นเวลาซื้อสินค้า
- วัยรุ่นชาวเปกันบารูสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีพอสมควร
- การเข้าเที่ยวชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามต่าง ๆ ต้องถามเจ้าหน้าที่ให้แน่ใจก่อนว่านักท่องเที่ยวศาสนาอื่นเข้าไปด้านในได้ไหม เพราะบางแห่งก็มีกฎระเบียบห้ามผู้หญิงหรือคนนอกศาสนาเข้าเที่ยวชม
- ร้านอาหารส่วนใหญ่จะเสิร์ฟเนื้อวัวเป็นหลัก ถามให้แน่ใจว่าเนื้อที่อยู่ในอาหารนั้นคืออะไร ในกรณีที่ไม่กินเนื้อวัว
- เครื่องดื่มส่วนใหญ่จะมีรสหวานมาก ถ้าไม่กินหวานควรสั่งหวานน้อย หรือไม่ใส่น้ำตาลเลย
- หากมาเที่ยวช่วงเทศกาลถือศีลอด หรือรอมฎอน ร้านค้าส่วนใหญ่จะปิดในช่วงกลางวัน แต่จะมีในห้างสรรพสินค้าที่เปิดให้บริการภายในร้าน (ด้านหน้าจะปิดผ้าม่าน แต่ยังเปิดให้บริการด้านใน) และต้องระมัดระวังไม่กินอาหารหรือดื่มน้ำในที่สาธารณะ เพราะถือเป็นการเสียมารยาท
- ร้านสะดวกซื้อที่นิยมได้แก่ Alfa Mart และ Indo Market
- ในช่วงหน้าร้อน ชาวเปกันบารูจะนิยมออกมาเที่ยวหรือสังสรรค์ในช่วงกลางคืนมากกว่า ร้านค้า ร้านอาหารต่าง ๆ ก็จะเปิดให้บริการเต็มที่ในช่วงค่ำคืน บางแห่งก็เปิดไปยันรุ่งเช้าเลยทีเดียว
- ในเปกันบารูจะไม่มีผับบาร์ หรือสถานบันเทิงที่เสียงดังอึกทึกครึกโครม มีเพียงร้านกาแฟและร้านอาหารที่มีดนตรีสดเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดจะไม่เสิร์ฟแอลกอฮอล์
- ปริมาณคนที่สูบบุหรี่มีค่อนข้างเยอะมาก ยิ่งในร้านอาหารบางแห่งจะไม่ได้กันพื้นที่ไว้ให้คนสูบบุหรี่ ถ้าแพ้กลิ่นบุหรี่ควรหลีกเลี่ยงร้านอาหารในที่เปิดโล่ง แต่ก็ต้องดูให้มั่นใจอีกครั้ง เพราะบางร้านก็ทำห้องปรับอากาศไว้ให้เฉพาะคนสูบบุหรี่ ส่วนคนที่ไม่สูบให้นั่งด้านนอก
- ของฝากจากเปกันบารูมีให้เลือกซื้อเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ท้องถิ่นอย่างสละพันธุ์อินโดนีเซีย, อินทผลัม, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้ออินโดหมี่, ถั่วต่าง ๆ, เมล็ดมะม่วงหิมพานต์, อัลมอนด์, ขนมเครื่องเคียงพื้นเมืองอินโดนีเซีย, ขนมขบเคี้ยวที่ผลิตในอินโดนีเซีย, แคบควาย, ชาและกาแฟพื้นเมือง, เสื้อผ้าผู้หญิง, เครื่องแต่งกายตามศาสนาอิสลาม เป็นต้น
การเดินทางที่มีจุดเริ่มต้น ก็ย่อมมีจุดสิ้นสุดเสมอ 5 วัน 3 คืน ผ่านไปอย่างรวดเร็ว จากเมืองนอกสายตา จนกลายมาเป็นเมืองในดวงใจอีกแห่งที่ถ้ามีโอกาสก็จะกลับมาเยี่ยมเยือนอย่างไม่ลังเล
ทริปนี้ไม่ได้เพียงแค่ประทับใจกับความสวยงามของเมืองนี้เท่านั้น แต่ยังประทับใจไปถึงผู้คนอินโดนีเซียที่ต้อนรับเราอย่างอบอุ่น มอบทั้งมิตรไมตรี ความมีน้ำใจ การให้เกียรติซึ่งกันและกัน และยังแชร์มุมมองดี ๆ ให้เราได้รับรู้ว่าเราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขได้อย่างไร "We are one Indonesia" ยังคงดังก้องในหัว ขอบคุณชาวอินโดนีเซีย ที่ทำให้ทริปนี้มีแต่ความทรงจำน่ารัก ๆ ^^ ถ้าอยากเปิดมุมมองใหม่ ๆ ของการท่องเที่ยวเอเชีย ก็อยากให้ลองเปิดใจให้กับเปกันบารูกันสักครั้ง เชื่อเถอะว่าคุณจะรักเมืองนี้ไม่มากก็น้อย :)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเปกันบารู ได้ที่
การท่องเที่ยวอินโดนีเซีย ประจำประเทศไทย
โทรศัพท์ : 0 2664 4307 และ 06 1527 6999
อีเมล : Nikki@asialife.co.th
เฟซบุ๊ก : GoIndo
เว็บไซต์ : indonesia.travel