in Green Season
“มุลาอิ” หรือ “มอละอิ” หรือ “เมาะเลาะอิ” หรือ Mulayit Taung ยอดเขาที่สูงที่สุดของเขตปกครองตนเองกะเหรี่ยงพุทธ DKBA ในจังหวัดเมียวดี สหภาพเมียนมา ซึ่งห่างจากชายแดนไทย ฝั่ง อ.พบพระ จ.ตาก ประมาณ 40 กิโลเมตร
“มุลาอิ” เป็นส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขา Dawna Hills อันประกอบด้วยยอดเขาสูงซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของนักเดินป่าไทย ได้แก่ มุลาอิ เมะลาอะ ดอยพะวี และดอยมะม่วงสามหมื่น โดยมุลาอิเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในบรรดา 4 ยอดเขา มีความสูงประมาณ 2,070 เมตร จากระดับน้ำทะเล
เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า
ข้อปฏิบัติที่ต้องทราบก่อนเดินทางมายังมุลาอิ ตามรูปภาพด้านล่างนี้เลยค่ะ
ขั้นตอนการเดินทางข้ามแดนไปยังมุลาอิ
- ก่อนเดินทางประมาณ 1 สัปดาห์ ให้ติดต่อผู้ประสานงานการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมสองแผ่นดิน คือ “ลุงจ่า” โทร. 083-6281898, 087-4160792 เพื่อแจ้งวันเวลาที่จะเดินทางข้ามไปยังมุลาอิ จำนวนคน และลูกหาบ (หากต้องการ)
- เดินทางมายังบ้านมอเกอไทย หมู่ที่ 1 ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก ซึ่งเป็นที่ทำการกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมสองแผ่นดิน เพื่อเปลี่ยนไปนั่งรถโฟร์วีลซึ่งทางกลุ่มจัดไว้ให้ คันหนึ่งนั่งได้ 10 คน แต่หากมาน้อยคนสามารถเหมาหรือแจมกับกลุ่มอื่น ๆ ได้ โดยรถโฟร์วีล 1 คัน ทางกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ จะจัดคนนำทางให้ไปด้วย 1 คน สำหรับคอยดูแลตลอดการเดินทางข้ามไป-กลับ ค่าใช้จ่ายรถโฟร์วีลไป-กลับและคนนำทาง คิดเป็นรายหัว คนละ 900 บาท (ราคาอาจเปลี่ยนแปลงได้ สอบถามลุงจ่าก่อนเดินทาง) หากมารถโดยสารประจำทาง นั่งรถทัวร์กรุงเทพฯ-แม่สอด รอบเย็นจะมาถึงแม่สอดเช้ามืด แล้วติดต่อรถของกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ ให้ไปรับ-ส่งได้
- ต้องพกบัตรประชาชนตัวจริงติดตัวเสมอ เพราะระหว่างทางตั้งแต่เข้า จ.ตาก จนถึงด่านชายแดน จะมีด่าน ตชด. ขอดูบัตรตลอด และก่อนเดินทางข้ามแดนออกไป ทางกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ จะให้พวกเราเขียนชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ลงในสมุดเล่มหนึ่ง ซึ่งจะถูกนำไปให้ทางเจ้าหน้าที่ด่านชายแดนฝั่งไทยไว้เป็นข้อมูล เพื่อตรวจเช็กคนเข้า-ออก ว่าพอออกไปแล้วได้กลับเข้าไทยอย่างปลอดภัยหรือไม่
- คนนำทางจะคอยดูแลและสื่อสารกับคนในพื้นที่ให้พวกเราตลอด ส่วนลูกหาบจะช่วยขนสัมภาระ กางเต็นท์ และช่วยทำอาหาร “เจ” ให้ด้วย แต่นักท่องเที่ยวต้องเตรียมอุปกรณ์เครื่องครัวและเสบียงอาหารมาเอง (ใครไม่มีเต็นท์ ลุงจ่ามีเต็นท์ให้เช่าด้วยนะ ลองสอบถามดู) ห้ามลืมว่ามุลาอิต้องกินอาหารเจและไม่ดื่มแอลกอฮอล์
- บนมุลาอิไม่มีจุดให้อาบน้ำ แต่ที่ทำการกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ มีห้องอาบน้ำให้บริการ 3 ห้อง โดยก่อนขึ้นเขาและกลับลงมาจากเขา สามารถมาอาบน้ำที่นี่ได้ ฉะนั้นเสื้อผ้าหรือของใช้ที่ไม่จำเป็นสามารถแบ่งใส่ถุงแยกไว้บนรถส่วนตัวหรือฝากไว้ ณ ที่ทำการกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ ได้
บริเวณวัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม มีโรงทานเป็นอาหารเจ และร้านขายของชำเล็ก ๆ อยู่หนึ่งร้าน และมีห้องน้ำด้วย
พอลงจากรถ ณ จุดนี้ พวกเราทุกคนต้องเข้าไปไหว้ “พือเล่อบา” หรือ “ศาลพ่อปู่ศิลา” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของที่นี่เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยผู้หญิงต้องนุ่งผ้าถุงให้เรียบร้อย ผู้หญิงที่มีประจำเดือนห้ามเข้าไปไหว้ ส่วนผู้ชายควรใส่กางเกงขายาวเข้าไปไหว้
หลังจากไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณวัดกันแล้ว เป็นช่วงเวลาเที่ยงพอดี จึงจัดแจงนั่งกินมื้อกลางวันเป็นข้าวกล่องอาหารเจ ซึ่งสั่งกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ เตรียมไว้ให้
หลังจากกางเต็นท์ เก็บข้าวของ พักผ่อนกันแล้ว ประมาณบ่าย 4 โมง จึงพากันเดินขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุเจดีย์มุลาอิ ซึ่งประดิษฐานอยู่บนจุดสูงสุดของยอดเขา
คืออธิบายก่อนว่าจุดกางเต็นท์และพระธาตุเจดีย์มุลาอิ อยู่คนละยอดเขากัน หากเริ่มเดินจากวัดและลานจอดรถด้านล่าง การขึ้นไปยังจุดกางเต็นท์จะมีทางแยกไปทางซ้ายและเดินขึ้นเขาระยะทาง 1.5 กิโลเมตร แต่ทางเดินขึ้นไปพระธาตุเจดีย์มุลาอิ ถ้าจากวัดและลานจอดรถด้านล่างจะเป็นทางเดินอีกเส้นหนึ่ง เดินตรงขึ้นไปประมาณ 800 เมตร
ฉะนั้นถ้าจากลานกางเต็นท์จะไปยังองค์พระธาตุเจดีย์มุลาอิ ต้องเดินกลับลงมาจากยอดเขาถึงด้านล่างบริเวณวัด แล้วเดินขึ้นไปยังองค์พระเจดีย์มุลาอิที่อยู่บนยอดสูงสุดอีก
ตอนจะขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุเจดีย์มุลาอิ ผู้หญิงอย่าลืมนำผ้าถุงหรือผ้าซิ่นติดตัวไปเปลี่ยนบริเวณจุดเดินขึ้นองค์พระธาตุด้วยนะ หากเป็นประจำเดือนห้ามเดินขึ้นไปนะ ทำได้แค่เพียงนั่งเล่นชมวิวอยู่ที่จุดกางเต็นท์จ้า ส่วนผู้ชายควรใส่กางเกงขายาวเลยเข่าลงมาให้สุภาพ
ในรูปเป็นทางเดินขึ้นไปยังองค์พระธาตุเจดีย์มุลาอิ ซึ่งทางช่วงแรกจากวัดด้านล่างจะเป็นทางขึ้นเขาสองข้างทางเป็นป่า พอเดินมาได้ครึ่งทางจะเจอบันไดปูนเพื่อเดินขึ้นไปยังองค์พระธาตุ ทุกคนต้องถอดรองเท้าไว้จุดนี้ แล้วเปลี่ยนผ้าซิ่นก่อนเดินขึ้นไปบนยอดเขา
เย็นนั้นพวกเราล้อมวงกินอาหารเย็น ซึ่งผู้ชายในกลุ่มที่ไปด้วยกันและคนนำทางพร้อมด้วยลูกหาบซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมด เป็นคนเตรียมและทำอาหารค่ะ ตามกฎของที่นี่ คือ ห้ามผู้หญิงทำอาหารนะ ใครเป็นผู้หญิงบอกเลยว่าทริปนี้แสนสบาย 55+
หลังกินมื้อเย็นเสร็จ ฝนก็เทลงมาราวกับพายุ ทุกคนต่างแยกย้ายกันเข้าเต็นท์ใครเต็นท์มัน คืนนั้นทั้งลมทั้งฝนมาแบบจัดเต็มมาก มีบางเต็นท์ไม่ได้นอนกันเพราะเต็นท์เปียกและน้ำฝนซึมเข้าเต็นท์ โชคดีที่เต็นท์ของเราไม่เป็นอะไรอยู่รอดปลอดภัยดีจนถึงเช้า เที่ยวหน้าฝนก็ต้องทำใจและเข้าใจธรรมชาติอะนะ
หลังจากทุกคนกลับลงมาครบ ก็นำสัมภาระขึ้นหลังรถกระบะ แล้วออกเดินทางกลับไปยังบ้านลุงจ่า ณ บ้านมอเกอไทย อ.พบพระ จ.ตาก ขากลับใช้เวลาน้อยกว่าขาขึ้นมา ประมาณ 2.5 ชั่วโมงก็ถึง พวกเราลงจากมุลาอิประมาณ 09.00 น. กลับมาถึงฝั่งไทยประมาณ 11.30 น. พอถึงที่ทำการกลุ่มการท่องเที่ยวฯ ก็จัดการอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วเดินทางกลับกรุงเทพฯ กัน
สิ่งสำคัญของการเดินทางไปมุลาอิ ที่เราอยากให้ทุกคนที่อยากจะไปตระหนักก่อนเดินทาง คือ การปฏิบัติตามกฎระเบียบตามความเชื่อของคนท้องถิ่น ทั้งชาวพม่าและชาวกะเหรี่ยงพุทธต่างก็ศรัทธาและเคร่งครัดในความเชื่อท้องถิ่นและพระพุทธศาสนามาก ๆ ฉะนั้นต้องมั่นใจว่าสามารถปฏิบัติตามกฎนั้นได้ จึงค่อยวางแผนเดินทางเที่ยวกันเนอะ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านรีวิวนะคะ
#เราไปได้คุณก็ไปได้
#คนช่างเที่ยว