x close

35 ภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์ บันทึก 9 รัชกาล ครั้งแรก

35 ภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์

35 ภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์ บันทึก 9 รัชกาล ครั้งแรก (ไทยโพสต์)

          ครั้งแรกในประเทศไทย ที่เหล่าศิลปินได้ตั้งใจสร้างสรรค์งานภาพพิมพ์จำนวน 35 ชิ้น ซึ่งบันทึกเรื่องราวของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ของพระมหากษัตริย์ทั้ง 9 พระองค์ แห่งราชวงศ์จักรี เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณผ่านผลงานศิลปะที่มีคุณค่า นับเป็นหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งคนไทยสามารถชื่มชม 35 ภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์ได้ ณ หอศิลป์กรุงไทย อาคารเยาวราช กรุงเทพฯ ที่มีนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะภาพพิมพ์ "35 ภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ 9 รัชกาล" จัดโดยภาควิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จไปทรงเปิดนิทรรศการเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553

          ศ.พิษณุ ศุภนิมิตร ประธานโครงการ 35 ภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ 9 รัชกาล เผยความเป็นมาว่า จากประสบการณ์ในการเดินทางในต่างประเทศ จะมีภาพบันทึกประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติ อย่างญี่ปุ่นมีผลงานภาพพิมพ์บันทึกเรื่องราวของพระจักรพรรดิ ภาควิชาภาพพิมพ์ซึ่งเปิดสอนมานานกว่า 40 ปี แต่ยังไม่เคยทำงานใหญ่ ๆ จึงริเริ่มโครงการนี้ขึ้น เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระมหามงคลครบรอบพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา มีจิตรกรที่ร่วมทำงาน 23 คน โดยตนเป็นผู้เลือกเรื่องราวที่สำคัญตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 9 มาสร้างผลงาน เหตุการณ์แต่ละภาพผ่านการค้นคว้าข้อมูลจากพงศาวดาร เอกสารหลักฐาน และภาพเก่า โครงการได้งบสนับสนุนจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

5 ภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์

          "35 ภาพพิมพ์คัดเหตุการณ์เด่น ๆ มาทำงาน ยังไม่มีใครทำมาก่อน เป็นภาพทางประวัติศาสตร์ และศิลปินใช้จินตนาการผสมผสาน เพราะตั้งแต่รัชกาล ที่ 4 ลงไปไม่มีภาพถ่ายหลักฐาน แม้แต่รัชกาลที่ 9 บางภาพไม่สามารถหาภาพจริงได้ ผมทำแบบร่างทั้ง 35 ภาพแล้วให้ศิลปินเลือกภาพเหตุการณ์ ส่วนใหญ่จะเป็นจิตรกร เพราะต้องสร้างภาพเป็นต้นฉบับแล้ว ทางฝ่ายภาพพิมพ์ก็นำภาพทั้งหมดไปเลือกเทคนิคที่เหมาะสม มี 4 เทคนิค คือ แม่พิมพ์แกะไม้ แม่พิมพ์โลหะ แม่พิมพ์ตะแกรงไหม แม่พิมพ์หิน ใช้เวลาทำงานต่าง ๆ จนถึงจัดพิมพ์เป็นภาพพิมพ์ประมาณ 3 ปี และจะถวายภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์ 35 ชิ้น แด่พระเจ้าอยู่หัว ขณะที่ชาวไทยก็ได้ชื่มชม และซาบซึ้งในพระปรีชาสามารถของกษัตริย์ทุกพระองค์ผ่านนิทรรศการ" ประธานโครงการ กล่าว

          นอกจากนิทรรศการจะมีขึ้นที่หอศิลป์กรุงไทย ช่วงวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ถึง 5 กุมภาพันธ์ 2554 อาจารย์พิษณุ ศิลปินอาจารย์รั้วศิลปากรให้ข้อมูลด้วยว่า ได้เปิดจำหน่ายภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ 9 รัชกาล จำนวน 35 ชิ้นด้วย รายได้ส่วนหนึ่งทูลเกล้าฯ ถวายและอีกส่วนหนึ่งเป็นทุนการศึกษาของนักศึกษาภาพพิมพ์ รวมถึงใช้จัดนิทรรศการสัญจรในปี 2554 เปิดโอกาสให้ประชาชนหลายจังหวัดได้ชมผลงาน ประกอบด้วย เชียงใหม่, น่าน, ปัตตานี และมหาสารคาม

          สำหรับภาพพิมพ์ที่ประทับใจ อาจารย์พิษณุ บอกว่า ทั้ง 35 ภาพสะท้อนพระปรีชาสามารถและบุคลิกภาพที่ต่างกันของแต่ละพระองค์ ทุกรัชกาลทรงรับใช้บ้านเมืองอย่างเต็มที่ อย่างภาพที่ 8 ชื่อภาพ "เซอร์จอนห์ เบาว์ริ่ง ราชทูตอังกฤษเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 4" ของศิลปินแห่งชาติ ปรีชา เถาทอง ดูแล้วให้บรรยากาศที่มืดมน เป็นยุคล่าอาณานิคม แม้ไทยเสียดินแดน แต่ทรงต้อนรับราชทูตอย่างสมเกียรติ ไม่ตอบโต้ด้วยท่าทีแข็งกร้าว ทำให้ไม่ถูกรุกรานอีก ถือเป็นพระกุศโลบายในการรักษาบ้านเมือง

35 ภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์

          อีกภาพชื่อ พระราชพิธีชักพระที่ท่าพระ ในรัชกาลที่ 1 ศึกษาจากพงศาวดาร แม้ทรงพระประชวร แต่เสด็จฯ ร่วมขบวนตั้งแต่ท่าพระจนถึงวัดสุทัศน์ และทรงถอดฉลองพระบาทด้วยศรัทธาในพุทธศาสนาแรงกล้า วันนั้นทรงล้มลงด้วยพระอาการประชวร แล้วยังมีภาพพระเมรุมาศในรัชกาลที่ 5 ที่ท้องสนามหลวง เป็นครั้งแรกที่ออกแบบทรงบุษบกแทนทรงปราสาทตามพระราชดำรัส รัชกาลที่ 5 งานพระศพไม่ต้องหรูหรา ฟุ่มเฟือย และกลายเป็นแบบพระเมรุมาศในรัชกาลต่อมา

          ด้านศิลปิน เกริกบุระ ยมนาค ผู้สร้างภาพชื่อ "รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เลียบพระนครทางสถลมารค" เผยถึงความรู้สึกว่า เป็นเกียรติมากที่ได้รับคัดเลือก และมีโอกาสรับใช้ประเทศชาติผ่านโครงการ ศิลปะภาพพิมพ์ที่เป็นประโยชน์ สำหรับภาพนี้เป็นภาพประวัติศาสตร์ เพราะเป็นครั้งแรกที่ในหลวงทรงประทับพระที่นั่งราชยานพุดตนทอง เสด็จฯ จากพระบรมมหาราชวังสู่วัดบวรนิเวศ เป็นราชประเพณีโบราณ พระองค์ทรงเครื่องงดงาม แล้วขบวนก็อลังการมาก เด็กรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสได้เห็นภาพนี้ เมื่อนำมาบันทึกเป็นภาพพิมพ์และเปิดแสดงผลงาน ก็จะได้รับรู้ถึงประเพณีวัฒนธรรมไทย  

          จินตนา เปี่ยมศิริ ศิลปินหญิงผู้ร่วมทำงานในโครงการ พูดถึงภาพชื่อ "รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี" ว่า จากการศึกษาและข้อมูลที่เราได้รับ ทรงสนพระทัยด้านดนตรี ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านดนตรี และทรงเป็นครอบครัวดนตรี แต่ไม่มีภาพที่ทรงดนตรีทั้งครอบครัวเป็นต้นแบบ จึงใช้จินตนาการสร้างภาพ เปรียบเสมือนทุกพระองค์ทรงดนตรีในบ้านท่ามกลางดอกไม้เบ่งบาน ดูแล้วให้ความรู้สึกน่ารักและอบอุ่น

          เชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมชื่นชมนิทรรศการ "35 ภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ 9 รัชกาล" ณ หอศิลป์กรุงไทย อาคารเยาวราช วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น. วันเสาร์เวลา 10.00-17.00 น. (ปิดวันอาทิตย์)





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ktb.co.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
35 ภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์ บันทึก 9 รัชกาล ครั้งแรก อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17:55:57 3,674 อ่าน
TOP