8 สิ่งที่หลายคนไม่รู้เกี่ยวกับเขาดิน สวนสัตว์แห่งแรกของเมืองไทย

          ผ่านมากว่า 80 ปีแล้ว ที่ "เขาดิน" สวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทย เปิดให้บริการและมอบความสุขให้กับผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ที่นี่นอกจากจะมีส่วนจัดแสดงสัตว์ การแสดงต่าง ๆ กิจกรรมสนุกสนาน และสถานที่สำคัญที่น่าสนใจแล้ว ก็ยังมีเรื่องราวที่หลายคนไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับเขาดินอีกมากมายเลยล่ะค่ะ แถมยังเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่อาจจะไม่เคยรู้มาก่อน

คุณทนง นทีพิทักษ์
คุณทนง นทีพิทักษ์

          ซึ่งก็เป็นโอกาสดีมาก ๆ ที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณทนง นทีพิทักษ์ อดีตรองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพราะท่านได้เปิดเผยเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับเขาดินให้ฟังมากมายเลยค่ะ รับรองว่าจะทำให้คุณประหลาดใจกับเขาดินอย่างแน่นอน :)

1. มีโรงละครสัตว์ในช่วงปี พ.ศ. 2514

          ปัจจุบันของเขาดินที่เราเห็นกันนั้น ก็จะมีส่วนจัดแสดงสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งรายล้อมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่นานาชนิด มีการแสดงโชว์อยู่ 2 การแสดง ก็คือการแสดงกายกรรมเคนยาและการแสดงโชว์แมวน้ำ และแน่นอนว่าจากสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบัน แทบไม่อยากจะเชื่อเลยใช่ไหมคะว่าที่นี่จะเคยมีโรงละครสัตว์ ซึ่งมีทั้งโชว์เสือลอดบ่วงไฟ ลิงชิมแปนซี เล่นดนตรี ตีกลอง ไต่ราว ไปจนถึงช้างเตะลูกบอลเลยล่ะ

          โรงละครสัตว์ในสมัยนั้นตั้งอยู่บริเวณพิพิธภัณฑ์สัตว์ในปัจจุบัน เริ่มเปิดการแสดงครั้งแรกราว ๆ ปี พ.ศ. 2514 จะเป็นพื้นที่เปิดโล่งกว้าง มีการทำรั้วตาข่ายขนาดใหญ่ให้สัตว์ทำการแสดงอยู่ในนั้น แล้วก็มีอัฒจันทร์ให้ผู้เข้าชมชมการแสดงอยู่ด้านนอกรั้วตาข่าย ก่อนการแสดงก็มีการเล่นดนตรีเพื่อเรียกคนเข้ามาชมบ้าง สร้างบรรยากาศที่สนุกสนาน พอถึงเวลาแสดงสัตว์ต่าง ๆ ก็พากันเข้ามาทำการแสดง มีทั้งเสือดำ เสือดาว เสือโคร่ง ช้าง ลิงอุรังอุตัง ลิงชิมแปนซี ฯลฯ การแสดงจะใช้เวลาราว ๆ 1 ชั่วโมง ค่าเข้าชมเพียงท่านละ 2 บาท เท่านั้น แต่โรงละครสัตว์เปิดให้บริการอยู่ไม่นานก็ยกเลิกไป

2. เป็นสถานที่ถ่ายทอดสดรายการเฮฮาหน้าเขาดิน

เขาดิน

          ถ้าคุณพ่อ-คุณแม่ของใครที่เกิดทันในช่วงปี พ.ศ. 2524-2527 ลองถามกันดูนะคะว่ารู้จัก "รายการเฮฮาหน้าเขาดิน" ไหม เพราะเป็นรายการดังของยุคนั้นเลยล่ะค่ะ ซึ่งมีการถ่ายทอดสดกันที่เขาดินนี่เอง รูปแบบรายการก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร แต่กินใจคนดูมากเลยทีเดียว เพราะได้ทั้งสาระความรู้ ความสนุกสนาน พร้อมทั้งยังได้ลุ้นรับของรางวัลต่าง ๆ มากมาย ตรงกับเป้าหมายของการจัดทำรายการ คือ เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านวิชาการ ประกาศข่าวสารขององค์การสวนสัตว์ ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมาเล่นเกมรับรางวัล และสร้างรายได้ให้กับเขาดิน

          ในช่วงแรกของรายการเฮฮาหน้าเขาดิน จะถ่ายทอดสดโดยช่อง อสมท จัดขึ้นทุกช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ ประชาชนจะชมอยู่ที่บ้านก็ได้ หรือจะมาชมการถ่ายทอดสดและเล่นเกมกันที่เขาดินก็ได้ ซึ่งการถ่ายทอดสดในสมัยนั้นจำเป็นต้องใช้รถโอบี (Outside Broadcasting Van) ขนาดใหญ่ในการถ่ายทอดสด พร้อมทั้งต้องมีกล้องตัวใหญ่ประมาณ 4 ตัว กระบวนการค่อนข้างยุ่งยากกว่าปัจจุบันหลายเท่าค่ะ การที่ได้ชมการถ่ายรายการจึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับประชาชนอย่างมาก

เขาดิน

          รูปแบบรายการก็จะมีทั้งที่เป็นส่วนของสาระความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับสัตว์ มีบันเทิง ดนตรี มีนักร้องที่มีชื่อเสียงมาร่วมในรายการ โดยมี คุณธรรมรัตน์ นาคสุริยะ เป็นพิธีกรช่วงบันเทิงและดนตรี คุณสมบูรณ์ แสงทอง เป็นผู้ดำเนินรายการทั้งหมด นอกจากนี้ในรายการก็จะมีกิจกรรมเล่นเกมต่าง ๆ ทั้งจักรยานเหินเวหา มวยทะเล มวยปล้ำ ฯลฯ

          พอรายการเฮฮาหน้าเขาดินดำเนินไปได้ประมาณปีกว่า ๆ ก็ถึงเวลาผลัดเปลี่ยนช่องออกอากาศ เปลี่ยนไปออกอากาศทางช่อง 11 ซึ่งเป็นของหน่วยงานรัฐแทน และเปลี่ยนชื่อเป็นรายการ "สนุกกับเราที่เขาดิน" รูปแบบรายการคล้ายกับของเดิม เพิ่มเติมคือมีนักร้องดังมาร่วมในรายการมากขึ้น มีกิจกรรมสนุก ๆ มากขึ้น ดำเนินรายการไปได้อีกประมาณปีกว่า ๆ ก็ได้ยุติการออกอากาศ รวมระยะเวลาของการถ่ายทอดสดรายการ "เฮฮาหน้าเขาดิน" และ "สนุกกับเราที่เขาดิน" ก็เป็นระยะเวลากว่า 3 ปีเลยทีเดียว

3. มวยทะเลสุดสนุก ที่มีการเล่าขานต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

          ลองถามคนที่อยู่ในยุคเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้วดูสิคะ ว่าพอจะรู้จักกิจกรรมมวยทะเลของเขาดินบ้างไหม เชื่อว่าต้องมีหลายคนที่เคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องนี้แน่นอน ซึ่งกิจกรรมนี้โด่งดังมาจากการถ่ายทำรายการเฮฮาหน้าเขาดินนั่นเอง เป็นกิจกรรมที่เปิดให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมเขาดิน สามารถสมัครเข้าร่วมเล่นกันได้ ใครชนะก็รับของรางวัลกันไปได้เลย

          สำหรับการจัดกิจกรรมมวยทะเลในสมัยนั้น จะจัดกันบริเวณท่าเรือจักรยานนาวาในปัจจุบัน จัดทำพื้นที่โดยการใช้เสาเหล็กทำเป็นขา 2 ด้าน ปักลงไปในสระน้ำ มีไม้ค้ำยันเสา แล้วใช้ท่อเหล็กทำเป็นราว ผู้เล่นก็เป็นประชาชนที่เข้ามาเที่ยวเขาดิน กติกาไม่ยาก ใครสามารถทำให้อีกฝ่ายตกน้ำก่อนได้ก็ชนะไป และรับรางวัลต่าง ๆ กลับบ้าน เป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน เรียกเสียงเชียร์จากผู้ชมได้อย่างล้นหลาม มีผู้เข้าร่วมสมัครเล่นกันมากมายในแต่ละสัปดาห์ ทำให้เกิดเป็นกระแสพูดถึงอย่างกว้างขวางในสมัยนั้น

4. อยากเป็นชายงามต้องมาประกวดที่เขาดิน

          ในช่วงปี พ.ศ. 2512 การประกวดสาวงามในเทศกาลต่าง ๆ ก็เริ่มได้รับความนิยมแล้วค่ะ ไม่ว่าเป็นนางนพมาศหรือเทพีสงกรานต์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะจัดขึ้นโดยหน่วยงานวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องในสมัยนั้น แล้วก็จะมาใช้เขาดินเป็นสถานที่จัดงาน พอมีสาวงามแล้ว แน่นอนว่าก็ต้องมีการประกวดชายงามด้วยค่ะ

          ทางสมาคมที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องนักเพาะกาย จึงได้มาขอเข้าร่วมในการจัดการประกวดชายงามที่เขาดินในช่วงที่มีเทศกาลสำคัญต่าง ๆ เช่น งานสงกรานต์ งานลอยกระทง งานเข้าพรรษา และงานปีใหม่ ใครที่เล่นกล้ามในยุคสมัยนั้น ถ้าอยากได้ตำแหน่งชายงาม ก็เป็นรู้กันดีว่าจะต้องมาประกวดกันที่เขาดินนี่ล่ะ ^^


5. การประกวดกระทงชิงถ้วยพระราชทานฯ ณ เขาดิน

เขาดิน

          รางวัลถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถือเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่มากค่ะ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการจัดประกวดกระทงชิงถ้วยพระราชทานจากทั้ง 3 พระองค์ ประชาชนต่างก็ตื่นเต้นและอยากเข้าร่วมการประกวด

เขาดิน

          การประกวดกระทงชิงถ้วยพระราชทานฯ จัดขึ้นบริเวณท่าเรือจักรยานนาวา ภายในเขาดิน ในค่ำคืนวันลอยกระทงทุกปี ช่วงแรกของการประกวดจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภททั่วไป ชิงถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และประเภทดอกไม้สด ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หลักเกณฑ์การประกวดก็ไม่แตกต่างจากปัจจุบันมากมายนัก ที่ยังคงเน้นความคิดสร้างสรรค์ ความสวยงาม และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

          ต่อมาก็ได้ทำเรื่องขอถ้วยพระราชทานเพิ่มจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระองค์ยังพระราชทานบทพระราชนิพนธ์ "ลอยกระทง" ให้กับประชาชนด้วย

6. มีท่าช้างอาบน้ำ
   
เขาดิน

          ใครเดินผ่านไปผ่านมาแถวสวนสัตว์เด็กในเขาดิน แล้วเห็นเสาปูนที่ตั้งเรียงรายอยู่ในสระน้ำ อาจจะสงสัยกันใช่ไหมคะว่าเสาเหล่านี้มีไว้ทำอะไร แล้วไปตั้งไว้ในน้ำทำไมนะ ??  เฉลยค่ะ…เมื่อก่อนบริเวณนี้เป็นท่าน้ำที่เอาไว้ให้ช้างมาอาบน้ำค่ะ สมัยก่อนที่เขาดินยังอยู่ในความดูแลของเทศบาลนครกรุงเทพนั้น มีช้างอยู่ในเขาดินหลายเชือก จึงต้องทำทางขึ้น-ลงสระน้ำไว้ให้ช้างลงไปอาบน้ำ เล่นน้ำผ่อนคลายกัน

เขาดิน

          ท่าช้างอาบน้ำนี้ก็ไม่เล็กหรือไม่ใหญ่เกินไปค่ะ เป็นทางลาดปูนลงไปในสระน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับช้างเวลาเดินลงหรือขึ้นจากสระน้ำ ด้านข้างของทางลาดก็จะเป็นเสาปูน มีบัวหัวเสาสวยงามโดดเด่น ปัจจุบันก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ค่ะ

7. เลียงผาเคยอาศัยบริเวณหลุมหลบภัยสาธารณะ

เขาดิน

          หลุมหลบภัยสาธารณะ เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งของเขาดินค่ะ ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับส่วนจัดแสดงฮิปโปโปเตมัสและส่วนจัดแสดงสัตว์ป่าสงวน หลังจากผ่านพ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลุมหลบภัยแห่งนี้ก็ได้แปลสภาพไปเป็นที่อยู่อาศัยของเลียงผา โดยทางสวนสัตว์ได้ทำการปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของเลียงผาตามธรรมชาติ จึงได้ทำการสร้างภูเขาจำลองขึ้นบริเวณด้านบนของหลุมหลบภัยสาธารณะ จัดทำเป็นพื้นที่สูง ๆ โล่ง ๆ ให้เลียงผาได้ขึ้นไปยืน พื้นที่ของส่วนจัดแสดงเลียงผาในสมัยนั้นมีประมาณ 1 งาน มีพื้นที่ทราย ภูเขาปูน และแอ่งน้ำไว้ให้ รอบ ๆ ก็จะกั้นด้วยรั้วตาข่าย

เขาดิน

          ต่อมาเมื่อมีการรื้อฟื้นปรับปรุงพื้นที่เขาดิน จึงได้ย้ายเลียงผาไปที่อื่น แล้วปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณหลุมหลบภัยสาธารณะนี้ใหม่ ให้มีความสวยงาม และเหมาะสมต่อการเข้าเยี่ยมชมของนักท่องเที่ยว โดยสามารถลงไปชมด้านล่างได้ด้วย กลายเป็นพื้นที่ให้ความรู้ที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งของกรุงเทพฯ หากไปชมที่ด้านหลังของหลุมหลบภัย ก็จะพบกับตัวอักษรโบราณที่เขียนไว้ว่า "ที่หลบภัยสาธารนะ ....จุ 60 คน"

8. เคยจัดแสดงหมีขาวขั้วโลก

          ใครจะไปคิดว่าสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวของเมืองไทย จะสามารถจัดแสดงหมีขาวขั้วโลก ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางซีกโลกทางเหนือ บริเวณขั้วโลกเหนือหรืออาร์กติกได้ แต่ครั้งหนึ่งที่เขาดินแห่งนี้ก็ได้มีการจัดแสดงหมีขาวขั้วโลกกันมาแล้วค่ะ โดยการจัดแสดงในครั้งนั้น เป็นการจัดแสดงจากบริษัทเอกชนที่จะนำหมีขาวขั้วโลกไปจัดแสดงทั่วโลก ซึ่งได้มาแวะพักที่ประเทศไทยก่อนที่จะเดินทางไปจัดแสดงยังประเทศอื่น ทางบริษัทเจ้าของหมีขาวขั้วโลก จึงได้ติดต่อมายังเขาดิน เพื่อขอนำมาแวะพักอยู่ที่นี่

          เขาดินจึงได้มีโอกาสต้อนรับน้องหมีขาวขั้วโลก และจัดสรรพื้นที่ให้ได้อยู่ชั่วคราว ซึ่งก็มีเครื่องทำความเย็นและน้ำแข็งก้อนใหญ่วางรายล้อม เพื่อปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัย นอกจากนี้ทางเขาดินก็ได้เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมด้วย ซึ่งระยะเวลาของการจัดแสดงหมีขาวขั้วโลกนั้นก็ไม่นานมาก ประมาณเดือนกว่า ๆ ค่ะ

          ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวของเขาดินในอีกแง่มุมที่น้อยคนนักในปัจจุบันที่จะรู้ ซึ่งแต่ละเรื่องก็เป็นเรื่องราวน่ารัก ๆ และน่าสนใจเกี่ยวกับเขาดินทั้งนั้นเลยค่ะ เอาเป็นว่าใครมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเขาดินก็สามารถเล่าสู่กันฟังได้นะ :) หรือใครอยากไปสัมผัสบรรยากาศของสวนสัตว์แห่งแรกในประเทศไทย ก็ไปเที่ยวเขาดินกันได้เลยค่ะ เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์สวนสัตว์ดุสิต

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คุณทนง นทีพิทักษ์ อดีตรองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ csr.chula.ac.th
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก
สวนสัตว์ดุสิต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 สิ่งที่หลายคนไม่รู้เกี่ยวกับเขาดิน สวนสัตว์แห่งแรกของเมืองไทย อัปเดตล่าสุด 2 เมษายน 2567 เวลา 17:53:57 4,947 อ่าน
TOP