ใครเคยไปเที่ยวเขาดิน แล้วมีโอกาสให้อาหารสัตว์บ้างคะ สนุกใช่ไหมล่ะ ^^ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ห้ามพลาดเลยนะคะ เพราะนักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารสัตว์ได้อย่างใกล้ชิด และยังมีสัตว์หลายชนิดให้เราสามารถทำกิจกรรมนี้กันได้ในวันหยุดด้วย ซึ่งพอได้มีโอกาสให้อาหารสัตว์ ก็เลยเกิดคำถามในใจว่าสัตว์ในสวนสัตว์จริง ๆ แล้วเขากินอะไรกันบ้างนะ สวนสัตว์ให้แค่ใบไม้หรือเปล่า หรือให้กินอาหารเม็ด ? แต่ดูท่าว่าจะไม่ได้กินแค่นี้แน่ ๆ เพราะดูสัตว์แต่ละตัวสิ บางตัวก็สมบูรณ์เหลือเกิน แบบนี้ไม่ได้การแล้ว อย่าปล่อยให้ความสงสัยอยู่กับเรานานนัก ว่าแล้วก็ขอพุ่งตรงไปที่เขาดิน ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
จุดเริ่มต้นของเส้นทางอาหารสัตว์
และก็เป็นโอกาสดีที่เราได้เจอกับ พี่หม่อน-ณัฐญา ทั่วประโคน หัวหน้างานโภชนาการสัตว์ สวนสัตว์ดุสิต ซึ่งได้มาอธิบายถึงเส้นทางอาหารสัตว์ภายในเขาดินให้เราได้ฟังกันอย่างละเอียดยิบเลยค่ะ เราไปดูขั้นตอนแรก จนถึงขั้นตอนสุดท้ายกันเลย
พี่หม่อน-ณัฐญา ทั่วประโคน
"ในส่วนของอาหารสัตว์นั้น เราจะทำงานร่วมกันหลายส่วน มีทั้งนักโภชนาการ สัตวแพทย์ และพนักงานดูแลสัตว์ เริ่มแรกนักโภชนาการสัตว์ จะต้องทำการศึกษาข้อมูลมาก่อนว่าสัตว์ตัวนั้น ๆ มีพฤติกรรมการกินตามธรรมชาติอย่างไร เขากินเวลาใด เพราะสัตว์แต่ละชนิดกินอาหารได้ไม่เหมือนกัน ปริมาณก็แตกต่างกัน
เมื่อทราบข้อมูลพื้นฐานแล้ว นักโภชนาการสัตว์ก็ต้องมาทำการหาชนิดและปริมาณอาหารที่ใกล้เคียงกับอาหารในธรรมชาติของสัตว์ชนิดนั้น ๆ แล้วคำนวณดูว่าใน 1 วันจะต้องให้อาหารมากน้อยเท่าไร มีคุณค่าทางโภชนะสมดุลหรือไม่ แล้วค่อยทำการจัดสรรอาหารมาให้สัตว์" พี่หม่อน กล่าว
"หัวใจสำคัญของการจัดสรรอาหารสัตว์ในสวนสัตว์ คือการหาอาหารทดแทนให้ได้คุณค่าทางโภชนะที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับอาหารในธรรมชาติของสัตว์ชนิดนั้น ๆ ให้ได้มากที่สุด"
2. จัดซื้ออาหารสัตว์เข้ามาให้สวนสัตว์
หลังจากค้นหาข้อมูลและคำนวณปริมาณอาหารเรียบร้อยแล้ว
คราวนี้ก็ถึงขั้นตอนที่จะต้องไปหาอาหารมาให้สัตว์แล้วค่ะ
แต่เอ...ไปซื้อตามตลาดทั่วไปได้ไหมนะ ในส่วนตรงนี้
พี่หม่อนก็มาเล่าเสริมว่า
"อาหารสัตว์ในเขาดิน เราจะมีผู้ประกอบการที่ผ่านการประมูลจัดซื้ออาหารสัตว์ให้ โดยทางสวนสัตว์จะมีเกณฑ์ในการตรวจรับอาหารสัตว์แต่ละชนิดแตกต่างกันไป แต่หลัก ๆ คือ ใหม่ สด สะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อน หรือสารตกค้าง ซึ่งต้องบอกว่าอาหารสัตว์ที่นี่คุณภาพดีมากกว่าอาหารที่เรา ๆ กินกันด้วยซ้ำ กว่าจะนำไปให้สัตว์ได้จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วว่าปลอดภัยต่อสัตว์จริง ๆ"
"อาหารสัตว์ในเขาดิน เราจะมีผู้ประกอบการที่ผ่านการประมูลจัดซื้ออาหารสัตว์ให้ โดยทางสวนสัตว์จะมีเกณฑ์ในการตรวจรับอาหารสัตว์แต่ละชนิดแตกต่างกันไป แต่หลัก ๆ คือ ใหม่ สด สะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อน หรือสารตกค้าง ซึ่งต้องบอกว่าอาหารสัตว์ที่นี่คุณภาพดีมากกว่าอาหารที่เรา ๆ กินกันด้วยซ้ำ กว่าจะนำไปให้สัตว์ได้จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วว่าปลอดภัยต่อสัตว์จริง ๆ"
โอ้โห...นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะคะ แตกต่างจากการให้อาหารสัตว์ที่เราเลี้ยงและยังมีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกมากเลยทีเดียว และก็ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าทำไมทางสวนสัตว์ถึงมีกฎห้ามนำอาหารจากบ้านมาให้สัตว์ และห้ามนำอาหารของสัตว์ตัวนั้นไปให้ตัวนี้ เพราะทุกสิ่งอย่างนั้นก็เพื่อความปลอดภัยของสัตว์ล้วน ๆ เลยค่ะ
3. จัดเตรียมอาหารให้สัตว์
ในทุก ๆ เช้าช่วงเวลาประมาณ 06.00 น. ผู้ประกอบการจะนำอาหารสัตว์เข้ามาส่งที่คลังอาหารสัตว์ สวนสัตว์ดุสิต กรรมการตรวจรับอาหารสัตว์ประจำวัน ก็จะทำการตรวจรับ ผู้ที่รับหน้าที่ต่อจากนี้ ก็จะเป็นพนักงานโภชนาการสัตว์ค่ะ หน้าที่หลักของพี่ ๆ ก็คือ ทำการคัดแยก ล้าง ทำความสะอาด ซึ่งวัตถุดิบบางส่วนก็จะถูกนำไปหุงต้ม เช่น ข้าวโพด มันเทศ เนื้อสัตว์ จากนั้นนำอาหารสัตว์จัดใส่ตะกร้าตามชนิดและปริมาณที่กำหนดไว้โดยนักโภชนาการสัตว์ เพื่อแจกจ่ายให้เขตเลี้ยงสัตว์ต่อไป
ระหว่างนี้พี่ ๆ ที่ทำการจัดเตรียมอาหารสัตว์ก็จัดเตรียมเสร็จพอดี และนำขึ้นรถพร้อมไปแจกจ่ายให้กับเขตต่าง ๆ แล้วค่ะ มองที่นาฬิกาก็เป็นเวลาราว ๆ แปดโมงเช้า พี่หม่อนก็เลยพาไปดูกระบวนการให้อาหารสัตว์ตามเขตต่าง ๆ ต่อด้วยเลย
4. นำส่งอาหารไปยังส่วนจัดแสดงสัตว์ต่าง ๆ
การลำเลียงอาหารไปยังส่วนจัดแสดงสัตว์ต่าง ๆ จะเป็นหน้าที่จากทางคลังอาหารสัตว์ค่ะ พอจัดเตรียมอาหารเรียบร้อยก็จะนำไปแจกจ่ายยังจุดต่าง ๆ
แค่เอาอาหารไปวางไว้หน้าส่วนจัดแสดงสัตว์เท่านั้นนะคะ พนักงานจากคลังอาหารสัตว์จะไม่สามารถเอาอาหารไปให้สัตว์เองได้ เพราะสัตว์ไม่มีความคุ้นเคย ผู้ที่จะให้อาหารสัตว์ได้จะต้องเป็นพนักงานดูแลสัตว์เท่านั้น
5. นำอาหารไปให้สัตว์ชนิดต่าง ๆ
พอพนักงานจากคลังอาหารสัตว์นำอาหารมาให้ที่หน้าส่วนจัดแสดงสัตว์แล้ว พนักงานที่ดูแลสัตว์ ก็จะไปนำอาหารมาเตรียมพร้อมเพื่อให้สัตว์แต่ละชนิดได้กินค่ะ โดยจะต้องอ้างอิงข้อมูลจากทางนักโภชนาการ ซึ่งนักโภชนาการจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินของสัตว์แต่ละชนิดมาให้ ซึ่งจะแจกแจงทั้งชนิดของอาหาร และปริมาณของอาหาร รวมทั้งบอกถึงช่วงเวลาในการให้อาหารกับสัตว์ด้วย เพราะสัตว์บางตัวก็กินตอนเช้า บางตัวกินตอนกลางคืน
6. สังเกตพฤติกรรมการกินของสัตว์
อ๊ะ ๆ ถ้าคิดว่าให้อาหารสัตว์เรียบร้อยแล้วก็จบเส้นทางอาหารสัตว์ อยากบอกว่าคุณคิดผิดค่ะ เพราะต่อจากการให้อาหารสัตว์ไปแล้ว ยังจะต้องติดตามผลทางด้านสุขภาพของสัตว์ด้วย
"ในส่วนของการสังเกตพฤติกรรมการกินอาหารของสัตว์ จะเป็นหน้าที่สำคัญของพนักงานดูแลสัตว์เลยค่ะ เขาจะต้องดูว่าสัตว์กินอาหารไหม อ้วนไปหรือผอมไปหรือเปล่า นักโภชนาการสัตว์จะต้องไปติดตามภาวะโภชนะของสัตว์ เพื่อจะนำข้อมูลไปจัดการด้านอาหารสัตว์ต่อไป"
"อย่างล่าสุดมีเม่นใหญ่เข้ามาใหม่ ก็ต้องหาข้อมูลมาให้กับพนักงานดูแลสัตว์ ให้พนักงานดูแลสัตว์ลองให้อาหารเม่นตอนเย็น หรือช่วงหัวค่ำ แล้วก็มาติดตามผลดูว่าเขากินแบบนั้นหรือเปล่า กินหมดหรือไม่ ก็สรุปว่าเม่นกินอาหารหมดและกินช่วงกลางคืน ก็เลยกำชับให้พนักงานดูแลสัตว์ให้อาหารเม่นตัวใหม่ตามเวลานั้น" พี่หม่อน กล่าว
นอกจากนี้พี่หม่อนยังบอกอีกว่า ทางสวนสัตว์จะพยายามทำการส่งเวริมพฤติกรรมให้สัตว์ทุกตัวยังคงมีพฤติกรรมการกินตามธรรมชาติไว้ให้ได้มากที่สุด เช่น การเปลี่ยนเวลาในการให้อาหารสัตว์ เพื่อกระตุ้นให้สัตว์รู้สึกถึงความต้องการหาอาหาร จะได้ไม่เคยชินกับการได้กินอาหารจากผู้เลี้ยงอย่างเดียว อย่างเสือ เขาจะมีสัญชาตญาณของนักล่า ซึ่งกินเนื้อสัตว์เป็นหลัก บางวันเราก็จะเสริมพวกโครงไก่ ขาหมู หรือกระดูกซี่โครงหมูเข้าไปด้วย เพื่อให้เขาได้แทะ ได้กัด ลับฟันของเขาให้แหลมคมเหมือนกับเสือที่อยู่ในธรรมชาติ
หลังจากที่ไปเดินดูการให้อาหารสัตว์มาเกือบทั่วสวนสัตว์เขาดิน ก็สังเกตว่าปริมาณอาหารที่ให้สัตว์ในแต่ละวันก็ไม่น้อยเหมือนกัน อย่างกล้วยก็ไม่ต่ำกว่า 200 หวี มันเทศไม่ต่ำกว่า 40 กิโลกรัม หญ้าขนไม่ต่ำกว่า 500 กิโลกรัม แต่จะให้ตัวไหนมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการกินและชนิดของสัตว์นั้น ๆ
ตัวอย่างการกินอาหารสัตว์ของสัตว์แต่ละชนิดในแต่ละวัน
ฮิปโปโปเตมัส
กล้วยน้ำว้า 15 หวี
มันเทศ 10 กิโลกรัม
ถั่วฝักยาว 10 กิโลกรัม
หมี
ผลไม้ 8 กิโลกรัม
ข้าวโพดหวาน 1 กิโลกรัม
ปลาข้างเหลือง 2 กิโลกรัม
น่องไก่ติดสะโพกต้ม 2 กิโลกรัม
ช้าง และนกน้ำ
หญ้าสด 17 ฟ่อน (ฟ่อนละ 10 กิโลกรัม)
ผัก-ผลไม้ 15 กิโลกรัม
ยีราฟ
หญ้าขนสด 10 กิโลกรัม
กล้วยน้ำว้า 4 กิโลกรัม
มันเทศ 2 กิโลกรัม
ถั่วฝักยาว 2 กิโลกรัม
ผักชนิดอื่น ๆ 2 กิโลกรัม
อาหารแพะ 1 กิโลกรัม
อาหารเสริม : ต้องตัดใบไม้ (ไทร/ประดู่/มะขามเทศ/มะเดื่อ) และแร่ธาตุก้อนแขวนไว้ให้ตลอดเวลา
สมเสร็จ
ผัก-ผลไม้ 5-7 กิโลกรัม
อาหารเสริม : ใบขนุน, ใบไทร, ใบชมพู่
จระเข้ (ให้อาหารสัปดาห์ละครั้ง)
เสือโคร่ง
สะโพกไก่ต้ม 1.5 กิโลกรัม
ซี่โครงหมู 0.5 กิโลกรัม
อาหารเสริม : ให้ขาหมูทั้งชิ้นอาทิตย์ละครั้ง
เห็นไหมคะว่าเส้นทางอาหารสัตว์ในสวนสัตว์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยล่ะ ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ หลายอย่าง แต่ถ้าใครอยากลองให้อาหารสัตว์อย่างใกล้ชิดสักครั้ง ก็มากันได้ที่เขาดินเลยค่ะ เขาจัดกิจกรรมให้อาหารสัตว์ในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยยีราฟจะมี 2 รอบ คือ เวลา 11.30 และ 14.30 น. หมีหมาและหมีควาย เวลา 14.15 น. และฮิปโปโปเตมัส เวลา 14.45 น. สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์สวนสัตว์ดุสิต และเฟซบุ๊ก สวนสัตว์ดุสิต Dusit Zoo หรือโทรศัพท์ 0 2281 2000
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หม่อน-ณัฐญา ทั่วประโคน หัวหน้างานโภชนาการอาหารสัตว์ สวนสัตว์ดุสิต, สวนสัตว์ดุสิต และ เฟซบุ๊ก สวนสัตว์ดุสิต Dusit Zoo