กรมศุลกากร ยันไม่บังคับสำแดง โน้ตบุ๊ก-นาฬิกา ชี้ให้แจ้งเพื่อความสบายใจ

กรมศุลกากร

          รองอธิบดีกรมศุลกากร ยันไม่ได้บังคับผู้โดยสารสำแดง โน้ตบุ๊ก-นาฬิกา แต่สามารถทำได้หากเกรงถูกเรียกตรวจตอนกลับ

          จากกรณีที่ กรมศุลกากร มีการประกาศให้ผู้โดยสารที่นำโน้ตบุ๊ก กล้อง นาฬิกา เดินทางออกนอกประเทศ ต้องทำเรื่องแจ้งทุกครั้ง รวมถึงสินค้าปลอดภาษีที่ซื้อที่ประเทศไทย จะต้องเสียอากรตอนกลับถึงประเทศนั้น 
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 7 มีนาคม 2561 รายการเจาะลึกทั่วไทย Tonight ทางช่องสปริงนิวส์ ได้สัมภาษณ์ นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อสอบถามถึงกรณีดังกล่าว โดยได้คำตอบว่า ประกาศฉบับนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยวัตถุประสงค์ไม่ได้บังคับให้ผู้โดยสารที่นำของติดตัวไปสำแดงให้เจ้าหน้าที่ตอนออกจากสนามบิน แต่เป็นกรณีที่ผู้โดยสารที่อาจจะเกรงว่า เจ้าหน้าที่อาจสงสัยว่าของที่ท่านนำกลับมาเป็นของที่ซื้อจากต่างประเทศหรือไม่ จึงเปิดโอกาสให้ไปแจ้งเอาไว้ก่อน

กรมศุลกากร

          ยกตัวอย่างเช่น หากท่านนำกล้องถ่ายรูป นาฬิกา โน้ตบุ๊ก กรณีอย่างนี้ เจ้าหน้าที่คงไม่สอบถามตอนท่านนำของเหล่านี้กลับมา แต่หากท่านนำโน้ตบุ๊กออกไป 10 ตัวไปขาย หรือไปแสดงนิทรรศการยังต่างประเทศ ท่านอาจกังวลใจในตอนนำเข้า ตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้โดยสาร หากท่านไปทำหลักฐานไว้ ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวก็ไม่ได้บังคับให้ผู้โดยสารต้องปฏิบัติแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับผู้โดยสารจะเห็นประโยชน์หรือไม่ โดยไม่มีความผิด และไม่มีบทลงโทษ

          สำหรับประเด็นการซื้อของในดิวตี้ฟรีนั้น นายชัยยุทธ กล่าวว่า สินค้านั้นจะได้รับยกเว้นอากรก็ต่อเมื่อมันเป็นไปตามข้อกฎหมายของกรมศุลกร ซึ่งกฎนี้ก็มีมานานแล้วเช่นกัน คือหากของนั้นมีมูลค่าเกิน 20,000 บาท ถึงจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปโดยปกติอยู่แล้ว ตรงนี้ไม่มีอะไรต่างไปจากกฎหมายเดิมเลย

กรมศุลกากร

          นายชัยยุทธ กล่าวต่อว่า ประกาศที่ออกมายังมีอีกประเด็นในเรื่องของการเสียภาษีอากรปากระวาง โดยผู้โดยสารไม่ต้องเสียหากสินค้านั้นราคาไม่เกิน 200,000 บาท จากเดิมตั้งไว้เพียง 100,000 บาท ซึ่งกรมศุลฯ ก็อำนวยความสะดวกโดยให้แค่ทำพิธีการศุลกากรอย่างง่าย คือการไปพบเจ้าหน้าที่ที่ช่องแดง ยื่นความประสงค์ว่าขอชำระภาษี เจ้าหน้าที่ก็จะออกใบเสร็จที่เรียกว่า อากรปากระวาง มาให้ (โดยอากรปากระวางนี้จัดเก็บตามพิกัดของสินค้าที่ท่านนำเข้ามา)

          นายชัยยุทธ กล่าวถึงประเด็น "Check Through" ว่า เป็นกรณีที่ผู้โดยสารเดินทางมาจากต่างประเทศแล้วต้องการที่จะไปจุดหมายที่ไม่ใช่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่เครื่องบินจะต้องมาจอดที่สุวรรณภูมิก่อน อาจจะเดินทางต่อไปต่างจังหวัด คือการตรวจสัมภาระผู้โดยสารโดยเฉพาะที่โหลดใต้ท้องเครื่องโดยจะตรวจปล่อย (ตรวจ ณ ท่าอากาศยานปลายทาง) โดยในประกาศที่ออกมาก็จะกำหนดหน้าที่ของสายการบินว่าต้องทำอะไรบ้าง เนื่องจากกระเป๋าที่มาอยู่ในความรับผิดชอบของสายการบิน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประกาศที่เหมือนตัวเดิม

กรมศุลกากร

กรมศุลกากร

ภาพและข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรมศุลกากร ยันไม่บังคับสำแดง โน้ตบุ๊ก-นาฬิกา ชี้ให้แจ้งเพื่อความสบายใจ อัปเดตล่าสุด 8 มีนาคม 2561 เวลา 14:01:57 19,972 อ่าน
TOP
x close