ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง เชียงใหม่ ตามรอยเส้นทางชาของพ่อหลวง


         ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง จังหวัดเชียงใหม่ ตามรอยพระบาทในหลวง รัชกาลที่ 9 ขึ้นเหนือ สัมผัสบรรยากาศไร่ชา ผลผลิตคุณภาพเยี่ยมจากบนดอย สู่ความภาคภูมิใจของลูกหลานเกษตรกรอย่างหาที่สุดมิได้

         จุดเริ่มต้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงต้องการที่จะช่วยเหลือชาวเขาให้มีการสร้างงานและอาชีพที่มั่นคง เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้สิ่งแวดล้อมกลับมาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ทั้งหมดนี้เป็นจุดประสงค์หลักสำคัญที่เป็นต้นกำเนิด "มูลนิธิโครงการหลวง" เหล่านี้เป็นประจักษ์พยานต่อราษฎรไทย อันเป็นเครื่องสะท้อนถึงการทุ่มเทพระวรกายเพื่อประโยชน์และความสุขของราษฎรของพระองค์ทั้งสิ้น

โครงการหลวงขุนวาง

          เป็นเวลาเกือบ 35 ปี นับจากปี พ.ศ. 2535 ที่ "ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง" ได้ก่อตั้งขึ้นในพื้นที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ใครเลยจะไปคิดว่า พื้นที่และดินแดนที่แสนห่างไกล เดินทางลำบาก ทั้งยังเต็มไปด้วยแนวเขาสลับซับซ้อนแห่งนี้ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จไปยังบ้านขุนวาง ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นว่า ชาวบ้านพื้นเมืองจะดำรงชีพด้วยการทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น ซึ่งล้วนแล้วเป็นการเกษตรที่ไม่มีแนวทางชัดเจน และมีพระราชกระแสรับสั่งให้หน่วยงานในพื้นที่ช่วยกันพิจารณา ปรับปรุง และพัฒนา

         และในที่สุดความสมบูรณ์ก็เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินนี้…

โครงการหลวงขุนวาง
ไร่ชาสีเขียวกว้างสุดสายตา แหล่งสร้างรายได้เกษตรกรชาวเขาบนดอย

โครงการหลวงขุนวาง

         ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ตั้งอยู่ที่อำเภอขุนวาง จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในจุดขายที่นักท่องเที่ยวมักรู้จัก และไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่งเมื่อมาเยือนศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง คือ การชมไร่ชาจีน และการแปรรูปชาจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้ที่ยั่งยืน

ชมวังบางขุนพรหม

         ครั้งนี้เราได้มีโอกาสเดินทางไปดูไร่ชาที่ไร่ชาขุนแม่วาก ถึงแม้ว่าการเดินทางไปยังสถานที่แห่งนี้ค่อนข้างทุลักทุเล ฝ่าโค้งนับสิบ ๆ โค้ง แต่เมื่อไปถึงรับรองว่าเกินคุ้ม…เพราะเพียงแค่เอาเท้าสัมผัสกับไร่ชา ก็จะได้กลิ่นชาหอม ๆ ลอยอบอวลให้ชื่นใจอยู่ลึก ๆ ได้เรียนรู้วิธีการผลิตชาตั้งแต่เด็ดยอด จนบรรจุถุงขาย และทอดสายตาออกไปยังเบื้องหน้า แม้ว่าไร่ชาที่เราเห็นจะไม่ได้มีขนาดใหญ่โตสุดลูกหูลูกตา แต่ความเงียบสงบ อากาศเย็นสบาย ล้อมรอบด้วยทัศนียภาพแนวเทือกเขา ก็คุ้มค่าเกินกว่าจะบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้

         ในวันที่เราเดินทางไปยังไร่ชาขุนแม่วาก และได้เจอกับ "นายตือ แซ่ลี" เกษตรกรชาวเขา ได้บอกถึงความรู้สึกเมื่อครั้งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้ทรงเข้ามาพัฒนาพื้นที่ที่แสนห่างไกล ชุบชีวิตให้กลายเป็นแผ่นดินที่สมบูรณ์ โดยได้เล่าความรู้สึกให้เราฟังใจความว่า

โครงการหลวงขุนวาง
นายตือ แซ่ลี เกษตรชาวเขากำลังเล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อในหลวง รัชกาลที่ 9

โครงการหลวงขุนวาง

         "แต่เดิมชาวบ้านที่นี่ยึดการปลูกฝิ่นเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่รู้จักการปลูกพืชเกษตร ว่าคืออะไร และทำอย่างไร  แต่ก่อนหวังมีรายได้จากการปลูกฝิ่นอย่างเดียว ในปีหนึ่ง ๆ ถึงแม้ว่ามีรายได้ไม่มาก แต่ก็ไม่รู้ว่าตนจะไปเพาะปลูกอะไร จนในหลวงได้เข้ามาในพื้นที่นี้ ได้เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน และนำความรู้การปลูกชามาเผยแพร่ จนทำให้พวกเรามีรายได้จากการเพาะปลูกชาที่ยั่งยืนและมั่นคง"

         ทุกวันนี้ชาวบ้านเกษตรกรมีรายได้แต่ละปีจากการขายชาอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท แปรรูปเป็นชาอู่หลง โดยในแต่ละครั้งหนึ่งเก็บได้ประมาณ 200-300 กิโลกรัมต่อปี (และในแต่ละปีสามารถเก็บชาได้ประมาณ 5 ครั้ง) แน่นอนว่านอกจากรายได้ที่มั่นคง ยังก่อให้เกิดใบหน้าเปื้อนยิ้มอย่างที่เราได้เห็นกัน จนพลอยทำให้เราอดยิ้มตามไปด้วยไม่ได้

โครงการหลวงขุนวาง
เหล่าเกษตกรชาวเขาในวันที่มีแต่ความสุขและรอยยิ้มจากการเพาะปลูกชา

โครงการหลวงขุนวาง

โครงการหลวงขุนวาง

โครงการหลวงขุนวาง

โครงการหลวงขุนวาง

โครงการหลวงขุนวาง
ชาอู่หลงหอม ๆ จากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง

         เสร็จจากไร่ชาเราขอพาเพื่อน ๆ ไปชมความสวยงามของแปลงดอกไม้ หนึ่งในงานส่งเสริมไม้ดอกที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวางให้การส่งเสริมอาชีพกับชาวเขาด้วยเช่นกัน ได้แก่ ดอกเบญจมาศ ดอกไลเซนทัส ดอกคาร์เนชั่น ดอกลิลลี่ขาว และดอกคาลล่าลิลลี่ขาว เป็นต้น

โครงการหลวงขุนวาง
แปลงดอกไลเซนทัส

โครงการหลวงขุนวาง

โครงการหลวงขุนวาง
ดอกไลเซนทัส หลากหลายสีสัน กำลังชูช่อบานสะพรั่งต้อนรับเมื่อเราเดินทางไปถึง

         เราเชื่อว่าลองถ้าสาว ๆ ได้มาเที่ยวที่แปลงดอกไม้เหล่านี้ จะต้องอารมณ์ดีไปตลอดทั้งวัน เพราะคุณจะละลานตาไปกับดอกไม้หลากสีสันในแต่ละแปลง ที่กำลังเผยแย้มกลีบบาน ให้คุณได้เข้ามาเชยชม คล้ายกับวินาทีนั้นเราได้กลายร่างเป็นแมลงภู่ไปเรียบร้อย และพร้อมบินฉวัดเฉวียนเชยชมดูดน้ำหวานเกสรต้นนั้นทีต้นนี้ทีแบบไม่รู้เบื่อ โดยทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ได้ส่งเสริมให้ชาวเขาเป็นผู้ปลูก ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้แล้วยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกช่องทางหนึ่ง

โครงการหลวงขุนวาง

โครงการหลวงขุนวาง

โครงการหลวงขุนวาง

โครงการหลวงขุนวาง

โครงการหลวงขุนวาง

โครงการหลวงขุนวาง

         การเดินทางจากเชียงใหม่มายังการเดินทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ

         - เส้นทางที่ 1 จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้เส้นทางหลวงสาย 108 เชียงใหม่-ฮอด ก่อนถึงอำเภอจอมทองให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงสาย 1009 ก่อนถึง กม.31 ให้เลี้ยวขวาไปยังขุนวางราว 15 กิโลเมตร ถึงศูนย์รวมระยะทางประมาณ 106 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง

         - เส้นทางที่ 2 จากตัวเมืองเชียงใหม่ในเส้นทางหลวงสาย 108 เชียงใหม่-ฮอด ผ่านอำเภอหางดง เลี้ยวขวาสามแยกไปเทศบาลบ้านกาด อำเภอสันป่าตอง ทางหลวงสาย 1013 ตรงไปประมาณ 47 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายที่บ้านห้วยเกี๋ยง ไปอีกราว 16 กิโลเมตร รวมระยะทาง 86 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง

         การได้เข้ามาคลุกคลีสัมผัสกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเกษตรกร ทำให้นักท่องเที่ยวอย่างเราได้เข้าใจถึงสิ่งที่พระองค์ได้พระราชทานต่อทุกชีวิตบนผืนแผ่นดินนี้อย่างไร้ข้อกังขา ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่าราษฎรทุกคนของพระองค์ ล้วนแล้วเป็นลูกของพระองค์ทั้งสิ้น การทอดทิ้งลูกคนใดคนหนึ่ง นั่นคงไม่ใช่หน้าที่ที่พ่อคนหนึ่งจะพึงทำต่อลูก เพราะตั้งแต่ต้นไม้ สัตว์ ไปจนถึงผู้คนที่ยังคงดำเนินชีวิตอยู่ที่นี่ ล้วนแล้วมีความรักของในหลวง รัชกาลที่ 9 สถิตอยู่ด้วยทุกหนแห่ง และการเดินทางครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณศูนย์การค้าสยามพารากอน ที่ทำให้การท่องเที่ยวของเรามีความหมายมากขึ้นกว่าเดิมจริง ๆ ค่ะ ^ ^


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง เชียงใหม่ ตามรอยเส้นทางชาของพ่อหลวง อัปเดตล่าสุด 16 ตุลาคม 2560 เวลา 14:35:57 20,358 อ่าน
TOP
x close