x close

11 เรื่องน่ารู้วัดอรุณฯ ศาสนสถานงานศิลป์ชั้นเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

          เรื่องน่ารู้วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ศาสนสถานเอกลักษณ์ประจำกรุงรัตนโกสินทร์ ที่งดงามด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมงานศิลป์ ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน

          หากเอ่ยถึง วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (Wat Arun Ratchawararam Ratchawaramahawihan) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า วัดอรุณฯ เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน แถมยังตั้งเด่นเป็นสง่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา จนกลายเป็นสัญลักษณ์ความสวยงามที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก อีกทั้งยังเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามประเมินค่าไม่ได้ โดยมีคติความเชื่อที่ว่า หากได้ไปไหว้พระวัดอรุณฯ ชีวิตจะรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน วันนี้เราเลยถือโอกาสพาเพื่อน ๆ ไปท่องเที่ยวพร้อมทำความรู้จักกับวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ให้มากขึ้นกัน

          และด้วยวัดอรุณฯเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม โดดเด่นด้วยพระปรางค์สีทองที่สูงตระหง่าน เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวไทยและชาวต่างชาติมากมาย จึงมีมักมีผู้ศรัทธามาวัดอรุณเพื่อสักการะพระปรางค์ ไหว้พระ และขอพร พิธีการขอพรที่พบเห็นโดยทั่วไปคือจะจุดธูป เทียน และดอกไม้ ไหว้พระประธานในพระอุโบสถ แล้วเดินรอบพระปรางค์ บ้างก็สวดเทวะมันตรา และตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพศรัทธา เชื่อกันว่าการขอพรที่วัดอรุณฯจะทำให้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร


1. วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ไหน


          วัดอรุณฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร หมายถึงพระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์ ตั้งอยู่ที่แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ทั้งยังอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวังเดิม

     • ที่ตั้ง : เลขที่ 34 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
     • Google Map : วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

2. ประวัติวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร


          วัดอรุณฯ เป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แรกเรียกว่า วัดมะกอก มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระเจ้าตาก (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ทรงนำกองทัพมาเพื่อเลือกชัยภูมิในการสร้างราชธานีใหม่ พระองค์เสด็จฯ ถึงวัดมะกอกในเวลารุ่งแจ้ง เมื่อทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี จึงทรงปฏิสังขรณ์พระอารามแห่งนี้ และสถาปนาเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดแจ้ง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ซึ่งอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์

          ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ทรงสถาปนาพระอุโบสถและพระวิหารหลังใหม่ พร้อมทั้งอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จพระองค์ก็เสด็จสวรรคต หลังจากนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) จึงทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดอรุณราชธาราม ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดอรุณราชวราราม

          วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 และประกาศระวางแนวเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 72 ตอนที่ 14 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
ภาพจาก : Tang Yan Song / shutterstock.com


3. พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร


          พระปรางค์วัดอรุณฯ ถือได้ว่าเป็นศิลปกรรมที่สง่าและโดดเด่น ก่อสร้างโดยช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญ บนพระปรางค์ประดับด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบและเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ที่นำเข้ามาจากจีน มีลวดลายงดงามเป็นของเก่าแก่และหายาก ประกอบด้วยพระปรางค์ใหญ่ พระปรางค์เล็ก 4 องค์ รอบ 4 ทิศ ภายในมีรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ กำแพงแก้วกั้น มีฐานทักษิณ 3 ชั้น มีรูปปั้นมารและกระบี่แบกฐานสลับกัน นอกจากนั้นยังมีซุ้ม 4 ซุ้ม มีพระนารายณ์อวตาร เหนือขึ้นไปเป็นยอดปรางค์ มีเทพพนมนรสิงห์เพื่อปราบยักษ์

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

          ตัวพระปรางค์ปัจจุบันนี้ไม่ใช่พระปรางค์เดิมที่สร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีความสูงเพียง 16 เมตร โดยปรางค์ปัจจุบันถูกสร้างขึ้นแทนในสมัยรัชกาลที่ 2 ในปี พ.ศ. 2363 แต่ก็ได้แค่รื้อพระปรางค์องค์เดิม และขุดดินวางราก ก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคต ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) มีพระราชดำริให้ดำเนินการสร้างต่อ โดยพระองค์เสด็จมาวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2385 จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2394 ซึ่งพระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณะเสมอมา จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทำการบูรณะพระปรางค์ครั้งใหญ่ องค์พระปรางค์ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จาน-ชามเบญจรงค์สีต่าง ๆ เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีการประดับตกแต่งด้วย กินนร กินรี ยักษ์ เทวดา และพญาครุฑ ส่วนยอดบนสุดของพระปรางค์ติดตั้งยอดนภศูลและมงกุฎปิดทอง มีความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

          พระปรางค์ได้ดำเนินการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556 และดำเนินการสำเร็จลุล่วงเป็นที่เรียบร้อยหลังจากที่ประสบปัญหาพระปรางค์ทรุดโทรมอย่างหนักมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังคงมีการเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่เป็นระยะ

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

          สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าชมพระปรางค์วัดอรุณฯ ควรแต่งกายอย่างสุภาพ และใช้ความระมัดระวังในการเดิน เพราะบันไดค่อนข้างสูงและชัน และบางช่วงก็ค่อนข้างแคบ รวมถึงไม่ควรสัมผัสหรือทำการใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์พระปรางค์ทั้งสิ้น

4. ยักษ์วัดแจ้ง


          บริเวณซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถจะมียักษ์วัดแจ้งที่มีชื่อเสียงยืนเฝ้าอยู่ ยักษ์กายสีขาว มีชื่อว่า "สหัสเดชะ" ยักษ์กายสีเขียว มีชื่อว่า "ทศกัณฐ์" เป็นยักษ์ศิลปะแบบจีน ปูนปั้นประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี มือถือตะบองใหญ่เป็นอาวุธ บริเวณหน้าซุ้มทางเข้าพระอุโบสถ แฝงไว้ด้วยคติความเชื่อในการทำหน้าที่เป็นเทพพิทักษ์ ปกปักรักษาสถานที่สำคัญทางศาสนา

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

คาถาบูชาพญายักษ์วัดแจ้ง

     นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
     ยักโข โย อรุเณ รัมเม วราราเม ปติฏฐิโต
     ยักขานังธิปะตี ยักโข ยักเข โส อภิปาละโก
     หิริโอตตัปปะสัมปันโน ธัมมิโก ภาคะมาวะโห
     เอตัสเสวานุภาเวนะ สทา โสตถี ภวันตุ เม ฯ

5. พระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร


          พระอุโบสถสร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นอาคารยกพื้นสูง หลังคาลด 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องสีเหลือง ขอบเป็นกระเบื้องสีเขียวใบไม้ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ไม่มีกำแพงแก้วแต่มีพระระเบียงแทน โดยหลังเดิมสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ภายหลังถูกเพลิงไหม้ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์จนดีดังเดิม รวมทั้งบูรณะจิตรกรรมภายในใหม่ แต่คงเค้าของเดิมให้มากที่สุด

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
ภาพจาก : Tang Yan Song / shutterstock.com

          ภายในมีพระประธานชื่อว่า พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ หน้าตักกว้าง 3 ศอกคืบ ประดิษฐานเหนือแท่นไพทีบนฐานชุกชี กล่าวกันว่ารัชกาลที่ 2 ทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง อีกทั้งรัชกาลที่ 4 ได้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2 มาบรรจุไว้ที่พระราชอาสน์ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลกอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน เป็นภาพพุทธประวัติ มารผจญ และเวสสันดรชาดก เป็นต้น

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
ภาพจาก : Sergey-Colone / shutterstock.com

6. พระวิหาร วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร


          พระวิหาร เป็นอาคารยกพื้นสูง มีบันไดทางขึ้น-ลงด้านข้างของมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาลด 3 ชั้น ผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีลายก้านแย่งที่สั่งเข้ามาจากเมืองจีน ภายในประดิษฐาน พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 6 ศอก หล่อด้วยทองแดงปิดทอง มีประวัติว่า รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นพร้อมกับพระประธานในพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ฝั่งพระนคร

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

          นอกจากนี้บริเวณฐานชุกชีด้านหน้ายังมีพระพุทธรูปสําคัญคือ พระอรุณ หรือ พระแจ้ง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร มีประวัติว่าอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์

7. ลอดพระแท่นพระเจ้าตาก


          โบสถ์น้อย สันนิษฐานว่าเป็นโบสถ์เดิมของวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีลักษณะเป็นอาคารทรงเตี้ย  มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ไม่มีกำแพงแก้ว ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อรุ่งมงคล พระพุทธรูปศิลปะสมัยอยุธยาองค์ใหญ่ พระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระแท่นของพระเจ้าตาก สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2310 โดยมีความเชื่อกันว่า หากได้ลอดพระแท่นนี้จะล้างอาถรรพ์ ปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป หนุนดวงและเสริมบารมี ทำให้พบกับโชคดี (เป็นความเชื่อส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณ)

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
ภาพจาก : Michaelnero / shutterstock.com

          โดยเริ่มต้นด้วยการไหว้หลวงพ่อรุ่งมงคล เดินไปกราบที่หน้าพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนจะไปยังบริเวณพระแท่น นำหน้าผากแตะที่พระแท่น ตั้งจิตอธิษฐานถึงเรื่องที่ต้องการ เอ่ยชื่อ-นามสกุล แล้วค่อย ๆ ทำการลอดใต้ฐานพระแท่นจนสุด เวียนขวาออกประตูแล้วกลับมาลอดใหม่จนครบ 3 รอบ จากนั้นไปยังพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอีกรอบ มองตาองค์ท่าน บอกกล่าวถึงสิ่งที่ต้องการอีกครั้ง จากนั้นไปกราบพระอาจารย์ที่คอยทำพิธีให้ รับด้ายมงคลและน้ำพระพุทธมนต์เสริมสิริมงคล เป็นอันเสร็จสิ้น

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
ภาพจาก : Michaelnero / shutterstock.com

8. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย


          บริเวณสวนหย่อมริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประทับยืนอยู่บนแท่นฐานหินอ่อนสีขาว 3 ชั้น สูงจากพื้นดินประมาณ 3.20 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 ให้ประชาชนได้สักการะ

9. สิ่งน่าสนใจอื่น ๆ ในวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร


     - วิหารน้อย วิหารเดิมของวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นอาคารทรงเตี้ย มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มุขด้านหน้าว่าง มุขหลังประดิษฐานพระมาลัย หน้าตักกว้าง 2 ศอก ตรงกลางประดิษฐานพระจุฬามณีเจดีย์ให้ได้สักการะ โดยจะมีท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ยืนเฝ้าพระเจดีย์อยู่ทั้ง 4 มุม

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
ภาพจาก : Michaelnero / shutterstock.com

     - ซุ้มประตูยอดมงกุฎ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นซุ้มจตุรมุข หลังคาลด 3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี มียอดเป็นทรงมงกุฎ ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสลับสี

     - มณฑปพระพุทธบาทจำลอง อยู่ระหว่างพระอุโบสถและพระวิหาร ภายในมีพระพุทธบาทจำลองเป็นหินสลักจากกวางตุ้ง

     - ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีนมี 6 หลัง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 สักการบูชาพระบรมศาสดาศากยมุนีพุทธเจ้าและพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า แกะสลักจากไม้จันทน์หอม

     - ลิ้มลองรสชาติไอศกรีม 3 มิติ ลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ที่กำลังฮอตฮิต สามารถหาซื้อได้ที่ร้าน Arun Cafe อรุณคาเฟ่ กาแฟเพื่อสวัสดิการ โดยมี 2 รสชาติ คือ รสชาไทยและรสอัญชันกะทิอบควันเทียน

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

     - ชวนแต่งชุดไทยไปเดินเที่ยวชมวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร พร้อมถ่ายรูปคู่กับสถาปัตยกรรมที่งดงามเป็นที่ระลึก โดยบริเวณด้านหน้าวัดจะมีร้านให้บริการเช่าชุดไทย รวมถึงแต่งหน้า-ทำผมอยู่หลายร้าน ลองไปเลือกกันดูได้

10. เวลาเปิด- ปิด และค่าเข้าชม วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร


     - เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. แนะนำให้ไปช่วงเช้าหรือช่วงเย็นของวัน เพราะว่าแดดจะไม่ร้อนมาก แถมบรรยากาศกำลังดีด้วย

     - ค่าเข้าชม คนไทยเข้าฟรี ไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 50 บาท

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
ภาพจาก : Daniel_Ferryanto / shutterstock.com

11. การเดินทางไปวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร


          การเดินทางมายังวัดอรุณฯ สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกทั้งทางเรือและทางรถ

     - ทางเรือ สามารถนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ท่าเตียน หลังจากนั้นนั่งเรือข้ามฟากจากฝั่งพระนครมาลงท่าเรือหน้าวัดอรุณฯ ได้เลย
 
     - ทางรถ จากถนนปิ่นเกล้า เลี้ยวเข้าถนนอรุณอมรินทร์ ผ่านหน้าโรงพยาบาลศิริราช ตรงมาเรื่อย ๆ ยังกรมอู่ทหารเรือ จะเห็นทางเข้าวัดอรุณฯ อยู่ถัดไปไม่ไกล

          วัดอรุณฯ จึงนับเป็นอีกหนึ่งศาสนสถานสำคัญที่ทรงคุณค่า งดงามด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมมากมายที่ควรค่าแก่การศึกษา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เราคนไทยทุกคนควรภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ลองหาวันหยุดว่าง ๆ สักหนึ่งวัน แล้วไปเยี่ยมชมทัศนาความสวยงามที่วัดอรุณฯ ด้วยกันนะ

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

          ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2891-2185 หรือ เฟซบุ๊ก Wat Arun Ratchawararam Bangkok I วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ไหว้พระกรุงเทพฯ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


     +++ ไวรัล ! ไอศกรีม 3 มิติ ลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณฯ รีวิวรสชาติน่ารัก สนไหม ?

     +++ เปิดภาพถ่าย พระปรางค์วัดอรุณฯ สมัยรัชกาลที่ 4...งดงามเกินบรรยาย

     +++ นั่งรถ ลงเรือ ไปไหว้พระ 9 วัด พระอารามหลวง ขอพรเป็นมงคล

     +++ สถานที่ไหว้พระกรุงเทพฯ แจกพิกัด 20 วัด ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี

     +++ ปักหมุด 12 วัด แก้ดวงตก ล้างอาถรรพ์ หนุนดวงเสริมบารมี ชีวิตติดขัดไปไหว้แล้วดีขึ้น



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
11 เรื่องน่ารู้วัดอรุณฯ ศาสนสถานงานศิลป์ชั้นเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อัปเดตล่าสุด 25 มกราคม 2567 เวลา 11:23:11 238,082 อ่าน
TOP