"วันสงกรานต์" ถือเป็นช่วงปีใหม่ไทย และด้วยคติที่ว่า "การเริ่มต้นที่ดี คือ ส่วนหนึ่งของความสำเร็จ" การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้จัดทำกิจกรรม "ไหว้พระขอพร 9 พระอารามหลวง" ในกรุงเทพฯ ขึ้น เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เดินทางไปสักการะสถานที่อันเป็นมงคล อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้ถึงคุณค่าของโบราณสถานที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์และบริเวณโดยรอบ
ดังนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมเลยถือโอกาสมาบอกต่อสิ่งดี ๆ แชร์การเดินทางท่องเที่ยวตะลุยไหว้พระ 9 พระอารามหลวง เพื่อความเป็นสิริมงคลกัน ส่วนจะมีที่ไหนน่าสนใจบ้างลองไปดูกันเลยค่ะ โดยเราได้เริ่มต้นการเดินทางไหว้พระ 9 วัด กันที่วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย นั่นก็คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือหลายคนอาจจะรู้จักในนาม "วัดพระแก้ว"
1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
คติ : เพื่อจิตใจสะอาด ดุจรัตนตรัย
เครื่องสักการะ : ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม และดอกบัว 1 ดอก
ความเป็นมา
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เป็นพระอารามที่อยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2326 เพื่อความสะดวกเวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตามราชประเพณี และเพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิอายุของพระเจ้าแผ่นดินเจ้านายในราชสกุล ภายในวัดพระแก้วมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ พระอุโบสถอันเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" (พระแก้วมรกต) ที่พระระเบียงมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่วิจิตรสวยงามและยาวที่สุดในโลก มีปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งเป็นปราสาทยอดปรางค์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 1-8
มีพระศรีรัตนเจดีย์ประดับกระเบื้องสีทองทั้งองค์เป็นที่ประดิษฐานพระบรม สารีริกธาตุมีหอพระราชพงศานุสรณ์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำรัชกาลของ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีหอระฆังที่มีระฆังซึ่งตีมีเสียงดังกังวานดี มีพระบรมราชานุสาวรีย์ประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์และยัง มีรูปยักษ์ 6 คู่ เป็นรูปยักษ์ตัวสำคัญจากเรื่องรามเกียรติ์ เป็นปูนปั้นทาสี ประดับกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ สูงประมาณ 6 เมตร ตั้งประจำที่ช่องประตูพระระเบียง
การเดินทาง
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งอยู่บริเวณสนามหลวง ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร สามารถโดยรถประจำทาง สาย 1, 3, 25, 32, 33, 59, 60, 70, 82, 91, 201, 203 รถปรับอากาศ สาย ปอ. 2, 3, 6, 25, 32, 59, 60, 70, 82, 91, 201, 203, 512
2. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
คติ : ร่มเย็นเป็นสุข
เครื่องสักการะ : ธูป 9 ดอก เทียนคู่ ทองคำเปลว 11 แผ่น และดอกบัว 1 ดอก
ความเป็นมา
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือที่รู้จักกันในนาม "วัดโพธิ์" เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เดิมชื่อ "วัดโพธาราม" พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงบูรณะและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างประเจดีย์เพื่อบรรจุพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงศรีอยุธยา ต่อมาใน พ.ศ. 2377 รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระเจดีย์ แล้วพระราชทานนามว่า "พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ" และทรงสร้าง "พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกนิธาน" เพื่ออุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 และทรงมีพระราชประสงค์ให้วัดโพธิ์เป็น "มหาวิทยาลัยสำหรับประชาชน" จึงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาความรู้มาจารึกบนแผ่นศิลาติดไว้บริเวณพระอุโบสถ เพื่อให้ประชาชนมาศึกษาหาความรู้
ที่วัดโพธิ์มี "พระพุทธเทวปฏิมากร" ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ ใต้ฐานชุกชี บรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 1 มีพระวิหารเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธรูปปางไสยาสน์" ที่สวยงามที่สุดและองค์ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในประเทศไทย เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนพื้นพระบาทประดับมุก เป็นภาพมงคล 108 ประการ นอกจากนั้นวัดโพธิ์ยังมีเจดีย์ทั้งสิ้น 99 องค์ ถือว่าเป็นวัดที่มีเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย และมีพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล คือ รัชกาลที่ 1-4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในปัจจุบันวัดโพธิ์เปิดอบรมเผยแพร่วิชาการแพทย์แผนโบราณ โดยผู้ผ่านการอบรมจะได้รับใบประกอบโรคศิลป์จากกระทรวงสาธารณสุข
การเดินทาง
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ด้านหลังพระบรมมหาราชวัง ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร สามารถโดยสารรถประจำทางสาย 12, 44, 82, 91 รถปรับอากาศ สาย ปอ. 12, 32, 44, 91, 51
3. วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
คติ : วิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่คนทั่วไป
เครื่องสักการะ : ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม และดอกบัว 1 ดอก
ความเป็นมา
วัดสุทัศนเทพวรารามวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมชื่อ "วัดมหาสุทธาวาส" วันนี้เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2350 เสร็จสมบูรณ์ พ.ศ. 2390 ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดสุทัศนเทพวราราม"
ที่พระวิหารมี "พระศรีศากยมุนี" เป็นพระประธานซึ่งอัญเชิญมาจากสุโขทัยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วย สำริดถอดแบบมาจากพระวิหารพระมงคลบพิตร กรุงศรีอยุธยา บานประตูใหญ่ของพระวิหารสลักไม้สวยงามรอบพระวิหารมีถะ หรือเจดีย์ศิลาแบบจีนตั้งอยู่บนฐานทักษิณ เป็นถะ 6 ชั้น จำนวน 28 องค์ มีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธตรีโลกเชฏฐ์ เป็นพระประธานปางมารวิชัย ใหญ่กว่าพระที่หล่อในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์องค์อื่น ๆ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเป็นฝีมือช่างชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่งดงามมาก พระอุโบสถนี้นับว่ายาวที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญที่มีพระพุทธเสรฏฐมุนี เป็นพระประธานที่หล่อด้วยกลักฝิ่นเมื่อ พ.ศ. 2382 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นกัน และบริเวณด้านหน้าของวัดยังเป็นที่ตั้งของ "เสาชิงช้า" สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้า ในพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวายของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อีกด้วย
การเดินทาง
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่บริเวณเสาชิงช้า ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร สามารถโดยสารรถประจำทางสาย 10, 12, 42 รถปรับอากาศสาย ปอ. 10, 12, 42
4. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
คติ : เสริมสร้างความคิดอันเป็นสิริมงคล
เครื่องสักการะ : ธูป 9 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 3 ดอก
ความเป็นมา
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เป็นวัดสำคัญคู่มากับการสร้างกรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก รัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โปรดให้ขุดคลองรอบพระอารามและพระราชทานนามว่า วัดสระเกศ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอารามและสร้างสิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น พระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง
สิ่งสำคัญภายในวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้แก่ พระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง ซึ่งสร้างเป็นพระปรางค์ในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เกิดทรุดพังลง รัชกาลที่ 4 โปรดให้ซ่อมแซม โดยแปลงเป็นภูเขาและก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถที่ภายในมีภาพเขียนจิตรกรรมฝีมือช่าง สมัยรัชกาลที่ 3 และหอไตร ศิลปะสมัยอยุธยา บานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำ
การเดินทาง
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่บริเวณปากคลองมหานาค แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
5. วัดบวรนิเวศวิหาร
คติ : พบแต่สิ่งดีงามในชีวิต
เครื่องสักการะ : ธูป 9 ดอก เทียน 1 เล่ม และดอกบัว 3 ดอก
ความเป็นมา
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชชวรวิหาร สมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นใหม่ระหว่าง พ.ศ. 2367-2375 เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดใหม่ ได้รับพระราชทานชื่อใหม่ เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จมาประทับเมื่อปี พ.ศ. 2375 นอกจากนี้ ยังเป็นวัดที่รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลปัจจุบันทรงผนวช เป็นวัดของคณะ สงฆ์ฝ่ายคามวาสีของธรรมยุติกนิกาย
สิ่งสำคัญภายในวัดบวรนิเวศวิหาร ได้แก่ พระอุโบสถ เป็นอาคารแบบตรีมุข หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบ ตรงกลางมีตรามหามงกุฎ พระประธานในพระอุโบสถและพระพุทธชินสีห์ วิหารพระศาสดา พระเจดีย์ใหญ่ และพระตำหนักปั้นหยา สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเจ้าฟ้าที่ทรงผนวช
การเดินทาง
วัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ แขวงนิเวศ เขตพระนคร สามารถโดยรถประจำทาง สาย 10, 12, 56, 68
6. วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร
คติ : มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง
เครื่องสักการะสำหรับพระประธานในโบสถ์ : ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 1 ดอก
เครื่องสักการะสำหรับรูปเคารพสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท : ธูป 5 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 1 ดอก
ความเป็นมา
วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท สร้างสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสถาปนาวัดขึ้นมาใหม่ และรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายราชสามัญ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ทหารรามัญในกองทัพของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ต่อมาเมื่อมีชัยชนะต่อกองทหารข้าศึกถึง 3 ครั้ง จึงพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดชนะสงคราม"
วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร มีพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย เป็นพระประธาน มีพระนามว่า "พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดมบรมศาสดา อนาวรญาณ" ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ
การเดินทาง
วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่บนถนนจักรพงษ์ แขวงบางลำพู เขตพระนคร สามารถเดินทางโดยรถประจำทาง สาย 33, 64, 65 หรือรถปรับอากาศ สาย ปอ. 3, 32, 33, 64, 65
และหลังจากที่เราได้เดินทางไหว้พระ 9 วัด กันมา 6 วัด ท้องก็เริ่มเรียกร้องอาหารซะแล้ว แหม...ก็ถึงช่วงเที่ยงพอดิบพอดี พวกเราจึงแวะรับประทานอาหารเที่ยงเติมพลังซะหน่อย ก่อนจะออกเดินทางไปไหว้พระกันต่อด้วยการนั่งเรือบ้าง
7. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
คติ : เดินทางปลอดภัยดี มีมิตรไมตรีที่ดี
เครื่องสักการะ :ธูป 3 ดอก เทียนแดงคู่ ดอกไม้พวงมาลัย
ความเป็นมา
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศที่ดิน ซึ่งบริเวณดังกล่าวเดิมเรียกว่า "หมู่บ้านกุฎีจีน" วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2368 ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้ถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า "วัดกัลยาณมิตร" พร้อมกับทรงสร้างพระวิหารหลวงเพื่อเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธไตรรัตนนายก" (หลวงพ่อโต) ซึ่งเป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 4 หรือเรียกตามแบบจีนว่า ชำปอฮุดกง หรือ ชำปอกง
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีองค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ โดยประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ นอกจากนี้ยังมีหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกและพระคัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2408
การเดินทาง
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ตั้งอยู่แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี มีโดยรถประจำทาง สาย 40, 57, 149 รถปรับอากาศ สาย ปอ. 177 หรือจะไปทางเรือก็ต้องข้ามเรือข้ามฟากที่ท่าเรือปากคลองตลาดมาท่าเรือวัดกัลยาฯ
8. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)
คติ : ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน
เครื่องสักการะ :ธูป 3 ดอก เทียนคู่ และดอกบัว 1 ดอก
ความเป็นมา
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดมะกอก เมื่อ พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พระเจ้ากรุงธนบุรี) เสด็จทางชลมารคจากกรุงศรีอยุธยามารุ่งเช้าที่หน้าวัดมะกอก จึงโปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "วัดแจ้ง" ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ทรงปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอรุณราชวราราม"
ในสมัยกรุงธนบุรีวัดอรุณราชวรารามเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต ก่อนที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระแก้ว นอกจากนั้นยังมียักษ์ปูนปั้นขนาดใหญ่ 2 ตน ตั้งอยู่หน้าประตูซุ้มยอดพระมงกุฎ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม "ยักษ์วัดแจ้ง"
ภายในวัดอรุณฯ นี้มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ มีพระปรางค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกสูง 33 วาเศษ ประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ ยอดพระปรางค์เป็นนภศูล ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีปรางค์ทิศทั้ง 4 ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ เทศน์พระธัมมจักร ตรัสรู้ นิพพาน การเดินเวียนทักษิณาวัดรอบพระปรางค์ 3 รอบ โดยเดินเวียนขวา (ตามเข็มนาฬิกา) เพื่อความเป็นสิริมงคล มีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" ซึ่งรัชกาลที่ 2 ทรงปั้นหุ่นและพระพักตร์ด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง และยังมีพระวิหารที่มีพระบรมสารีริกธาติที่เกศพระพุทธชมภูนุชฯ มีพระอรุณหรือพระแจ้ง ที่รัชกาลที่ 4 ทรงอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์
การเดินทาง
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ข้างกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ สามารถโดยรถประจำทาง สาย 19, 57 หรือนั่งเรือโดยสารข้ามฟากจากท่าเตียนมาขึ้นที่วัดอรุณฯ
9. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
คติ : ชื่อเสียงโด่งดัง คนนิยมชมชอบ
เครื่องสักการะ :ธูป 3 ดอก เทียนคู่ ทองคำเปลว และดอกบัว 1 ดอก
ความเป็นมา
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม "วัดระฆัง" เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เดิมชื่อว่า "วัดบางว้าใหญ่" เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 มีลายหน้าบันเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถนี้ เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงเรียกว่า "พระประธานยิ้มรับฟ้า" นอกจากนี้ ยังมีหอไตรเป็นรูปเรือนสามหลังแฝด ภายในมีภาพจิตรกรรมที่สำคัญหลายแห่งทั้งบานประตู และฝาผนังรวมทั้งตู้พระไตรปิฎกสมัยกรุงศรีอยุธยา
วัดระฆังเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สมเด็จพระราชาคณะในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระเถระผู้ทรงเกียรติคุณ วิทยาคุณโด่งดังมากแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน การไปสักการะสมเด็จพุฒาจารย์ เพื่อขอพรโดยการสวดคาถาชินบัญชรเมื่อสวดจบแล้ว ปักธูปที่กระถางและปิดทองที่รูปปั้นแล้วอย่าลืมพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล
การเดินทาง
วัดระฆังโฆสิตารามมรมหาวิหาร ตั้งอยู่บนถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย สามารถโดยรถประจำทาง สาย 19, 57 ส่วนทางเรือ โดยเรือด่วนเจ้าพระยาแล้วลงที่ท่ารถไฟหรือท่าวังหลัง หรือข้ามฝากที่ท่าช้างแล้วขึ้นที่ท่าเรือวัดระฆัง
อย่างไรก็ตามไม่ใช่แต่เฉพาะช่วงวันสงกรานต์หรือปีใหม่เท่านั้นถึงควรจะเข้าวัดไหว้พระขอพร เพราะจริง ๆ แล้วสามารถเดินทางไปไหว้พระ 9 วัด ได้ทุกวัน โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก