ใครเคยไปเที่ยวชุมชนเล็ก ๆ ในประเทศไทยแล้วประทับใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านกันบ้างคะ แอดมินเป็นคนหนึ่งค่ะ ที่ชอบสินค้าไทยอันเกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านมาก ๆ เพราะนอกจากจะสามารถนำสินค้าไปประโยชน์ได้จริงแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ยังเลือกใช้วัสดุและวัตถุดิบที่หาได้ง่ายจากในชุมชน ซึ่งโดยส่วนมากก็จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือสภาวะแวดล้อมเลยล่ะ
และด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จะให้เอาของดีที่มีอยู่เก็บไว้แค่ในชุมชนได้ยังไงละค่ะ ก็ต้องพัฒนาและต่อยอดให้สินค้าพื้นบ้านสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริงกันหน่อย นำมาเพิ่มเติมไอเดียใหม่ ๆ ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยส่งเสริมในกระบวนการผลิต ซึ่งก็ทำให้งาน "บ้าน ๆ" กลายเป็น "เงินล้าน " ได้เลยทีเดียว
และด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จะให้เอาของดีที่มีอยู่เก็บไว้แค่ในชุมชนได้ยังไงละค่ะ ก็ต้องพัฒนาและต่อยอดให้สินค้าพื้นบ้านสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริงกันหน่อย นำมาเพิ่มเติมไอเดียใหม่ ๆ ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยส่งเสริมในกระบวนการผลิต ซึ่งก็ทำให้งาน "บ้าน ๆ" กลายเป็น "เงินล้าน " ได้เลยทีเดียว
๑. ผ้าทอไทยทรงดำ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
ชาวไทยทรงดำมีประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ให้ความสำคัญกับผีและเทวดา บ้านเรือนจะมีการสร้างตามแบบของตนเอง ซึ่งสิ่งที่โดดเด่นมาก ๆ ของชาวไทยทรงดำที่ทำให้เราต้องร้องว้าว ก็คือ "การแต่งกาย " ค่ะ ไม่ว่าจะชายหรือหญิงก็จะนุ่งผ้าทอสีดำ ดูเคร่งขรึมกันไปเสียหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าชาวไทยทรงดำจะไม่มีมิตรไมตรีนะคะ ลองให้พวกเขายิ้มสิ ไม่ว่าจะหญิงหรือชายก็ทำให้ใจละลายได้เหมือนกัน
ในส่วนของผ้าทอไทยทรงดำ ผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่นที่เรียกว่า "ซิ่นแตงโม" มีลักษณะการทอจากฝ้ายย้อมครามสอดด้วยไหมสีแดง ที่ตัวซิ่นมีลายเส้นสีขาว ปัจจุบันนิยมใช้สีฟ้าเป็นลายเส้นคู่ และเส้นเดี่ยว ซึ่งผ้าซิ่นแฝงคติความเชื่อว่า เมื่อผ้ากระทบกับแสงแดดจะเกิดประกายเหลือบสีแดง เป็นการระลึกถึงของหญิงชาวไทยทรงดำที่มีต่อฝ่ายชายเมื่อออกไปทำงานนอกพื้นที่เป็นเวลานาน ๆ เป็นการบอกความในใจ โดยไม่ได้พูดกันตรง ๆ การนุ่งผ้าซิ่นลายแตงโมจะใส่กับเสื้อก้อม ส่วนเสื้อฮีจะใส่เมื่อมีพิธีการ ฝ่ายชายจะมีกางเกงสีดำขลับ เรียกว่ากางเกงส้วงฮี ใส่กับเสื้อก้อมและเสื้อฮีเหมือนกัน
คณะผู้วิจัยจึงได้นำลวดลายการทอและการปักที่โดดเด่นของชาวไทยทรงดำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ มีลวดลายหลักที่นำใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ คือ ลายดอกพรม ลายขอกูด ลายดอกมะลิ และนำลวดลายดังกล่าวมาประยุกต์ใหม่ ให้มีความทันสมัยขึ้น แต่ยังคงเอกลักษณ์และการสื่อความหมายเดิมไว้ ตามกลุ่มลูกค้าต้องการ คือ ๑) หมอนอิง ๒) กล่องทิชชู ๓) กระเป๋าสตรี และ ๔) เสื้อผ้า
ทั้งนี้ได้มีการตรวจสอบแนวคิดผลิตภัณฑ์จากผ้าทอไทยทรงดำโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้รูปแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าทอไทยทรงดำตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่สำคัญต้องคำนึงถึงระดับราคาของผลิตภัณฑ์ผ้าทอไทยทรงดำที่กลุ่มลูกค้าต้องการมากที่สุดราว ๆ ๒๐๐-๓๐๐ บาทต่อชิ้นอีกด้วย
(ผู้วิจัย : จุรีวรรณ จันพลา สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม)
๒. ผ้าบาติก จังหวัดปัตตานี
ที่เห็นลวดลายสวย ๆ แบบนี้ใช่ว่าจะทำกันได้ง่าย ๆ นะคะ เพราะผ้าบาติกเป็นงานฝีมือที่ต้องมีความละเอียดและความอดทนค่อนข้างมาก ถ้าอยากให้ลายผ้าออกมาสวยงามก็ต้องค่อย ๆ ใช้จันติ้งเขียนลายเทียนลงไปบนผ้าอย่างใจเย็น หากไม่ชำนาญจริง ๆ ลวดลายที่ออกมาก็อาจจะไม่สวยงามตามแบบที่ร่างไว้
สำหรับคุณผู้หญิงก็สามารถที่จะนำผ้าบาติกมาตัดทำเป็นผ้านุ่งสวย ๆ เดินเล่นชายหาด ทำเป็นผ้าคลุมผมก็สวยไปอีกแบบ หรือจะตัดเป็นตามแบบสมัยนิยมก็เก๋ไก๋ไม่ซ้ำใคร ส่วนคุณผู้ชายก็ยังสามารถที่จะนำผ้าบาติกไปตัดเป็นกางเกงเล เอาไว้ใส่เที่ยวทะเลหน้าร้อน หรือจะนำมาตัดเป็นเสื้อแขนสั้นใส่ไปเที่ยวเพื่อสร้างสีสันให้กับฤดูกาลอื่น ๆ ก็ดูจะเท่ไม่น้อยเลยทีเดียว ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าท้องถิ่นได้อย่างดีเลยค่ะ
ดังที่งานวิจัยของ คุณโรสนา รัฐการัณย์ และคณะ ได้ทำการศึกษาธุรกิจชุมชนที่มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือนและมีลวดลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม ได้แก่ ๑) กลุ่มบาราโหม บาติก ๒)กลุ่มสายบุรีบาติก และ ๓) กลุ่มรายาบาติก ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความแตกต่างตามลักษณะภูมิศาสตร์ของจังหวัดปัตตานี คือภูเขา ทะเล และย่านเมือง
โดยเลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทโคมไฟ กระเป๋าถือสำหรับสุภาพสตรี และปลอกหมอน ผลการศึกษาเรื่องดังกล่าวนับเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการผ้าบาติกในจังหวัดปัตตานีได้เป็นอย่างดี ที่จะได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าในสินค้าและบริการของตนด้วยการศึกษาภูมิปัญญาในการวาดผ้าบาติก
นำเทคนิคและลวดลายการทำผ้าบาติกที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ที่มีอยู่ รวมกับการมีส่วนร่วมของชุมชนมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน ก็จะสามารถสร้างโอกาสในการพัฒนาธุรกิจได้และเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน จากกรอบความคิดในลักษณะที่เป็น Traditional สู่แนวความคิดที่เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้งานศิลปะในการผลิตผ้ามีเอกลักษณ์สามารถขยายตลาดให้เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ อีกทั้งผู้คนยังสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านลวดลายการวาดผ้าบาติก ซึ่งการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์จากงานบาติกใหม่ ๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และสามารถผลักดันให้งานบาติกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
(ผู้วิจัย : นางสาวโรสนา รัฐการัณย์ สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม)
๓. หัตถกรรมเครื่องเงิน ชุมชนวัดศรีสุพรรณ จังหวัดเชียงใหม่
ในวิถีชีวิตของชาวล้านนาก็เช่นกันค่ะ ที่จะต้องมีผลิตภัณฑ์เครื่องเงินเป็นส่วนประกอบในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นขันเงิน, กรอบรูปเงิน, พานรองเงิน หรือเชิงเทียนเงิน ฯลฯ และปัจจุบันได้มีการพัฒนาหัตถกรรมเครื่องเงินให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น ดังเช่นที่ชุมชนวัดศรีสุพรรณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนที่สืบทอดการทำเครื่องเงินมาหลายชั่วอายุคน ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางในการสร้างสรรค์เครื่องเงินทั้งในรูปลักษณ์คัวเงินและแผ่นภาพอลูมิเนียม เป็นแหล่งการเรียนรู้ในการทำคัวเงินและครัวเนียม
หากดูจากงานวิจัยของ คุณสิระ สมนาม และคณะ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่สร้างคุณค่าให้กับงานเครื่องเงินได้อย่างดีเยี่ยมก็คือการออกแบบลาย โดยการแกะสลักลวดลายของเครื่องเงินแห่งชุมชนวัดศรีสุพรรณจะมีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งเป็นการแกะสลายลวดลายทั้งการตอกลายจากด้านในเราเรียกว่า "การโต๋ง" และจากด้านนอกเราเรียกว่า "การต้องลาย" เป็นจุดเด่นที่ทำให้ลวดลายของเครื่องเงินชุมชนวัดศรีสุพรรณเด่นชัดมากกว่างานแกะสลักอื่น ๆ
ปัจจุบันสล่าเครื่องเงินมีแค่บางส่วน เพราะบางส่วนก็มีการปรับเปลี่ยนแบบผลิตภัณฑ์มาเป็นเครื่องประดับ ของที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน ฯลฯ โดยงานวิจัยของ คุณสิระ สมนาม และคณะ ได้เข้ามาพัฒนาองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ ทำให้การออกแบบลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มมูลค่าในตัวสินค้า ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องอนุรักษ์ สนับสนุนภูมิปัญญาสล่าตอกลายและตีเงินและขึ้นรูปด้วยมือ ก่อนที่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ล้มหายไปพร้อมกับงานช่างฝีมือ อย่างไรก็ตามการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมนี้ มีส่วนสนับสนุนให้คนในพื้นที่สามารถเพิ่มรายได้ประกอบเป็นอาชีพเสริมได้เป็นอย่างดี
(ผู้วิจัย : นายสิระ สมนาม สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม )
๔. ผลิตภัณฑ์ใบตองและดอกไม้สดประดิษฐ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุษาวดี ชนสุต และคณะ ได้คัดเลือกชิ้นงานใบตองประดิษฐ์และมาลัยดอกไม้สดที่นิยมนำมาใช้ประกอบเป็นพานบายศรีกระทงลอย หรือภาชนะสำหรับใส่อาหาร ๕ ประเภท คือ ๑) ตัวบายศรี ๒) แมงดาใบตอง ๓) กลีบคอม้า ๔) มาลัยตุ้มและ ๕) มาลัยซีก
การพัฒนาคุณภาพงานใบตองและดอกไม้สดประดิษฐ์ จึงเป็นศาสตร์ที่ช่วยยืดอายุการใช้งานของงานใบตองและดอกไม้สดประดิษฐ์ ด้วยการปรับปรุงหรือชะลอการเสื่อมสภาพ โดยนำกรรมวิธีและเทคโนโลยีด้านการเก็บรักษามาปรับใช้ให้เหมาะสม เพื่อให้งานใบตองและดอกไม้สดประดิษฐ์ ให้สามารถต่อยอดพัฒนาเพื่อเป็นสินค้าด้านวัฒนธรรมให้กับผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมการบริการอาหาร เช่น ร้านอาหาร ภัตตาคารใหญ่ ๆ หรือโรงแรมในต่างประเทศที่จำหน่ายอาหารไทย ได้มีโอกาสนำงานใบตองและดอกไม้สดประดิษฐ์ไปใช้งานได้มากขึ้น และความรู้ที่ได้จากการวิจัยในครั้งนี้จะเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ต่อไป
(ผู้วิจัย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุษาวดี ชนสุต สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม)
๕. ขนมตาลประยุกต์ ยุค ๔.๐
ขนมตาล ถือได้ว่าเป็นขนมโบราณที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักในปัจจุบัน อาจจะเป็นเพราะเนื้อตาลโตนดหายาก คนที่ทำขนมตาลได้อร่อยจริง ๆ ก็หลงเหลือน้อยแล้วในปัจจุบัน และยังมีกระบวนการทำที่ยุ่งยาก แต่เพื่อไม่ใช้ขนมไทยอันเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงวิถีชีวิตแบบไทยพื้นบ้านสูญหายไป จ่าอากาศเอกหญิง เดือนเต็ม ทิมายงค์ จึงได้ทำการศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาต้นแบบและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์แป้งขนมตาลกึ่งสำเร็จรูป จากภูมิปัญญาขนมไทยโบราณที่มีรสชาติและสัมผัสตามต้นฉบับ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีขนมตาลที่มีความเป็นมาตรฐานสากลแก่ชุมชนท้องถิ่น และเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมการรับประทานขนมไทย อันเป็นเอกลักษณ์ของไทยโบราณ แก่เยาวชนไทยและชาวต่างประเทศ
ใช้สูตรขนมตาลแบบดั้งเดิมนำมาพัฒนาสูตรขนมตาลใหม่ จำนวน ๒ สูตร ได้แก่ สูตรขนมตาลแบบประยุกต์ และผลิตภัณฑ์แป้งขนมตาลกึ่งสำเร็จรูป ในส่วนสูตรขนมตาลแบบประยุกต์ เป็นการนำสูตรขนมตาลแบบดั้งเดิมที่ปรุงสุกโดยการนึ่ง มาเปลี่ยนกะทิสดให้เป็นกะทิยูเอชที และเพิ่มแป้งเชื้อ (แป้งสาลี ยีสต์ และน้ำตาลทราย) เพื่อควบคุมคุณภาพและลดระยะเวลาการหมักส่วนผสมลงจาก ๑๒ ชั่วโมง เหลือ ๔๕ นาที
จากนั้นการทดสอบการยอมรับของผู้บริโภค โดยสูตรและผลิตภัณฑ์ที่พัฒนา ยังคงรักษารสชาติแบบไทยแท้ และยังเป็นการช่วยเพิ่มความต้องการผลผลิตตาล ซึ่งจะช่วยรักษาพื้นที่การเพาะปลูกต้นตาลให้คงอยู่ได้
(ผู้วิจัย : จ่าอากาศเอกหญิง เดือนเต็ม ทิมายงค์ สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม)
๖. ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว บ้านควนขนุน จังหวัดพัทลุง
ในพื้นที่ภาคใต้ของไทยสมัยก่อน แทบจะทุกครัวเรือนที่มีต้นมะพร้าวอยู่ในบริเวณบ้าน ซึ่งต้องบอกว่าคุณภาพของทั้งน้ำมะพร้าวกินสดและกะทิสดของไทย รสชาติอร่อยและดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว อีกทั้งยังสามารถนำไปทำเป็นน้ำมันมะพร้าว ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำมันปกติทั่วไปได้อีกด้วย
ในอดีตเมื่อเราเอาน้ำมะพร้าวและเนื้อมะพร้าวออกมาแล้ว ก็จะเหลือกะลา ชาวบ้านก็จะนำกะลาไปทิ้ง ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ จนมีการนำไปประดิษฐ์เป็นจับปิ้งเพื่อห้อยเป็นเครื่องปกปิดอวัยวะเพศของเด็ก และยังนำมาทำเป็นของใช้สอยในบ้าน อาทิ ขันตักน้ำ, กระบวยตักน้ำ, ป้อยตวงข้าวสาร หรือภาชนะใส่อาหาร ฯลฯ
ปัจจุบันได้มีการพัฒนานำกะลามะพร้าวมาสร้างคุณค่า ด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งเครื่องใช้ในครัวเรือน, เครื่องตกแต่งบ้าน, เครื่องประดับ, เครื่องแต่งกายสุภาพสตรี, กระเป๋าถือสุภาพสตรี, เข็มขัด, เข็มกลัดปั่นปักผม, โคมไฟฟ้าสามขา และตะเกียงเจ้าพายุ โดยเฉพาะที่บ้านควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว โดยหากะลามะพร้าวที่มีในพื้นที่นำมาปะดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์อย่างสวยงาม และสามารถใช้งานได้จริง มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าได้เลือกซื้อและนำไปใช้ประโยชน์ โดดเด่นในเรื่องของรูปลักษณ์ ดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ที่สวยเก๋ไม่เหมือนที่ไหน
จากการที่กะลามะพร้าวเป็นวัสดุธรรมชาติ ทำให้เหมาะแก่การนำไปตกแต่งบ้านหรือรีสอร์ท เพื่อสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลาย และยังไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เมื่อเกิดการพัฒนาจนกลายเป็นความต้องการของตลาดในยุคสมัยใหม่ กะลามะพร้าวก็สามารถสร้างรายได้ให้กับชมชนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว บ้านควนขนุน จังหวัดพัทลุง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์หัตถกรรมกะลามะพร้าวและสินค้า OTOP อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โทรศัพท์ 0 7468 1217 หรือสำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอควนขนุน โทรศัพท์ 0 7468 2000
๗. กระจูด : กลุ่มสตรีผลิตภัณฑ์กระจูด จังหวัดพัทลุง
สมัยก่อนหากเราไปพบต้นกระจูดในท้องไร่ท้องนา ก็คงจะเมินเฉยและมองว่าเป็นเพียงวัชพืชไร้คุณค่า บางทียังตัดทิ้งและปล่อยให้ย่อยสลายไปตามธรรมชาติอีกด้วยซ้ำ แต่จากภูมิปัญญาของชาวบ้านในภาคใต้ ได้ลองผิดลองถูก เริ่มนำต้นกระจูดมาเป็นวัสดุในการทำเครื่องจักรสาน ซึ่งก็พบว่าสามารถนำมาทำได้เหมือนกับต้นกก
อีกทั้งผลิตภัณฑ์จากกระจูดยังมีความนุ่มเหนียว คงทน เหมาะแก่การนำมาทำเครื่องจักรสานในรูปแบบต่าง ๆ จากข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนเล็ก ๆ ก็ได้ขยายและต่อยอดให้กลายเป็นสินค้าไทยคุณภาพดี โดยเฉพาะเสื่อกระจูดหรือสาดกระจูด จากกลุ่มสตรีผลิตภัณฑ์กระจูด ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ที่ได้มีการพัฒนารูปแบบของเสื่อกระจูดและผลิตภัณฑ์สินค้าอื่น ๆ ให้มีรูปทรงที่ทันสมัย สีสันสวยงามตามแบบสมัยนิยมในปัจจุบัน
ภาพจาก phatthalung.go.th
นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์กระจูด จังหวัดพัทลุง แตกต่างจากที่อื่นก็คือการเลือกต้นกระจูดที่มีคุณภาพ ประกอบกับกระบวนการทำผลิตภัณฑ์กระจูดที่พิถีพิถันในทุกขั้นตอน และการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สวยงาม เข้ากับรสนิยมของคนยุคใหม่ ซึ่งตอบโจทย์ต่อกลุ่มลูกค้าในปัจจุบัน ต่อยอดให้นำไปประยุกต์ตกแต่ง และใช้งานในรีสอร์ท หรือโรงแรมระดับ 5 ดาว ได้อย่างดีเยี่ยม อันเป็นการสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนมหาศาล ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้อย่างยั่งยืน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ phatthalung.go.th
๘. ผลิตภัณฑ์สิ่งประดิษฐ์จากไม้ไผ่ บ้านกลาง จังหวัดลำพูน
ไม้ไผ่ เป็นไม้ที่เราสามารถหาได้ง่ายตามท้องถิ่น ซึ่งในสมัยก่อนเราจะเห็นป่าไผ่เยอะมาก ๆ ในพื้นที่ป่าเขา ชาวบ้านมักจะไปหาหน่อไม้เพื่อนำมาต้มกิน ส่วนตัวไม้ไผ่ก็นำมาสร้างที่อยู่อาศัย ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งประดิษฐ์เป็นเครื่องจักรสานเพื่อใช้สอยในครัวเรือน ต่อมาเมื่อมีการนำต้นไผ่มาปลูกตามบ้านเรือน เพื่อประดับตกแต่ง ไม้ไผ่ก็ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ยิ่งในปัจจุบันมีสถาปนิกนำไม้ไผ่ไปต่อยอดทำเป็นบ้าน อาคาร และรีสอร์ทสุดเก๋ไก๋ ก็ยิ่งทำให้ไม้ไผ่มีคุณค่าไม่ต่างจากไม้ชนิดอื่น ๆ เลยทีเดียว
ภาพจาก banklanglp.go.th
ในเมืองไทยก็มีการพัฒนานำไม้ไผ่มาทำเครื่องจักรสาน อย่างที่ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ชาวบ้านได้รวมตัวกันผลิตงานหัตถกรรมจากไม้ไผ่ พัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยและใช้งานได้จริง ประกอบกับชาวบ้านคดเลือกไม้ไผ่อย่างพิถีพิถัน และใช้ความประณีตในการจักรสานงานแต่ละชิ้น จึงทำให้ผลิตภัณฑ์สิ่งประดิษฐ์จากไม้ไผ่ของที่นี่แตกต่าง และได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าในปัจจุบัน
สินค้าจากไม้ไผ่ที่โดดเด่นของบ้านกลาง จังหวัดลำพูน อาทิ กระด้ง, แจกัน, น้ำทุ่ง, ที่รองแก้ว หรือของที่ระลึก เป็นต้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ banklanglp.go.th
๙. หมอนขวานผ้าขิด ชุมชนบ้านศรีฐาน จังหวัดยโสธร
จากผ้าขิดสู่การต่อยอดมาทำหมอนขิด โดยเริ่มแรกนั้นเป็นเพียงหมอนอิงที่เรียกว่า "หมอนขวาน" ซึ่งใช้ผ้าขิดมาตัดเย็บให้เป็นรูปทรงสามเหลี่ยม เรียงซ้อนกันมากกว่า 10 ชั้น ด้านในยัดนุ่นธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะมีรูปลักษณ์ที่สวยงามแปลกตาแล้ว ก็ยังนิ่ม หนุนสบาย สามารถใช้ประโยชน์ทั้งพิงจากด้านข้างและจากด้านหลัง
ชุมชนบ้านศรีฐาน จังหวัดยโสธร มีการทำหมอนขวานผ้าขิดมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จนปัจจุบันได้พัฒนารูปแบบของหมอนขิดให้มีรูปทรงทันสมัย และมีสีสันสวยงาม เหมาะแก่การนำไปใช้งานในแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหมอนขวาน, หมอนรองคอ, หมอนรับไหว้งานแต่งงาน, หมอนขวานติดเบาะนั่ง หรือเบาะนอน, ที่นอนลูกระนาด, หมอนอิง, หมอนมะเฟือง, หมอนกระดูก หรือหมอนมะละกอ เป็นต้น
สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์หมอนขวานผ้าขิด ชุมชนบ้านศรีฐาน จังหวัดยโสธร สามารถสั่งซื้อสินค้าได้โดยตรงที่ชุมชนบ้านศรีฐาน ตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร จะมีร้านค้าจำหน่ายหมอนขวานผ้าขิดตั้งเรียงรายอยู่เต็มสองฟากฝั่งถนน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยโสธร โทรศัพท์ 0 4571 2664
๑๐. ผ้าหม้อห้อมเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
ผ้าหม้อห้อม เริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เพราะได้มีการประยุกต์นำไปตัดทอในรูปแบบที่ทันสมัย เข้ากับยุคในปัจจุบัน ทำให้ใคร ๆ ก็ใส่ได้ ใส่แล้วจะดูชิค ดูเก๋ ใส่ไปเที่ยวก็ได้ ใส่ไปทำงานก็ดูดี ถ่ายเซลฟี่มุมไหนก็ดูเก๋ไปเสียหมด
ซึ่งแต่เดิมนั้นผ้าหม้อห้อมชาวบ้านจะใส่เพื่อการออกไปทำไร่ทำนา เพราะมีสีคล้ำไม่ดูเลอะง่าย โดยเนื้อผ้าก็จะย้อมมาจากต้นฮ่อมหรือห้อม เป็นไม้ล้มลุกในท้องถิ่น ให้สีครามเข้ม ผ้าหม้อห้อมที่โดดเด่นที่สุดจะอยู่ที่บ้านทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่ เพราะเป็นถิ่นฐานของชาวไทยพวน ซึ่งเป็นผู้นำการย้อมครามผ้าหม้อห้อมเข้ามาสู่เมืองไทย
ผ้าหม้อห้อม บ้านทุ่งโฮ้ง แห่งเมืองแพร่มีการทำสืบทอดกันมายาวนานมากกว่า ๑๐๐ ปี โดยปัจจุบันก็ยังคงรักษาวิธีการย้อมผ้าแบบดั้งเดิมไว้ให้ลูกหลานและคนทั่วไปที่สนใจได้ศึกษาและเข้าเที่ยวชม
หลังจากที่มีการพัฒนาผ้าหม้อห้อมให้มีรูปแบบที่สวยงามและทันสมัย จากผืนผ้าธรรมดาที่ทำใส่กันแค่ในครัวเรือน ก็กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่นักท่องเที่ยวต่างเรียกหา เพราะเสื้อหม้อห้อมและผลิตภัณฑ์จากหม้อห้อมนั้นใส่สบาย และเข้ากับบรรยากาศสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองไทย ถ่ายรูปชิค ๆ ได้เพียบ
และจากการศึกษาถึงพัฒนาการผ้าหม้อห้อมของ นางจารุวรรณ ขำเพชร และนางสาววรวิญา พนาฤกษ์ไพร ก็ได้พบว่าอดีตผ้าหม้อห้อมจะใส่เพื่อการประกอบอาชีพเท่านั้น เพราะมีสีเข้ม แต่ปัจจุบันได้มีการนุ่งใส่กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากพัฒนาการที่สำคัญในเชียงใหม่ โดยช่วงแรกในปี พ.ศ. ๒๔๖-๒๕๐๑ อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงส่งแขก ซึ่งมีการจัดเลี้ยงแบบขันโตก และระบุให้แขกที่มาร่วมงานแต่งกายด้วยเสื้อหม้อห้อมมาร่วมงาน กลายเป็นเครื่องนุ่งห่มที่แพร่หลายพอสมควรในหมู่ชนชั้นนำของเชียงใหม่
ต่อมาในช่วงที่ ๒ พ.ต.อ.นิรันดร ชัยนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้นำข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน แต่งกายพื้นเมืองในวันสงกรานต์ และในการถวายการต้อนรับองค์พระประมุขของชาติและพระอาคันตุกะหลายครั้ง ผ้าหม้อห้อมจึงเริ่มกลับมาได้รับความนิยมและแพร่หลายอย่างมากมาจนถึงปัจจุบัน และยังมีการส่งออกต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งมีการระบุว่าเสื้อหม้อห้อมแบบดั้งเดิมนั้นต้องมาจากบ้านทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
(ผู้วิจัย : นางจารุวรรณ ขำเพชร และนางสาววรวิญา พนาฤกษ์ไพร อ้างอิงจาก research.culture.go.th)
สินค้าทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสินค้าพื้นบ้าน อันเกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อนำไอเดียใส่ลงไปในชิ้นงานพื้นบ้าน จากสินค้าธรรมดาก็กลายเป็นสินค้าที่ทรงคุณค่า น่าใช้สอย เข้ากับสมัยนิยม ซึ่งเป็นการสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนได้อย่างดี ทำให้ชาวบ้านยืนด้วยลำแข้งตัวอย่างอย่างมั่นคงและยั่งยืน ใครผ่านไปในละแวกชุมชนเหล่านี้ ก็อย่าลืมแวะไปเที่ยวชมกันนะคะ :)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, วัดดอนมะนาว, khaoyoi-thaisongdam.com, museumthailand.com, handicrafttourism.com, phatthalung.go.th, banklanglp.go.th, qsds.go.th, research.culture.go.th