บุรีรัมย์ เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ

บุรีรัมย์

ปราสาทหินเมืองต่ำ

ปราสาทพนมรุ้ง

บุรีรัมย์ (ททท.)

          "เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม"

          บุรีรัมย์ คือดินแดนภูเขาไฟเมืองไทย และเป็นแหล่งรวมอารยธรรมขอมโบราณ จึงมีความสำคัญในฐานะแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ บุรีรัมย์ยังได้รับสมญานามว่าดินแดนปราสาทหิน อันมากมายไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรม โดยมีงานศิลปหัตถกรมลือเลื่องคือผ้าไหมและผ้ามัดหมี่นาโพธิ์

          จังหวัดบุรีรัมย์ตั้งอยู่ในเขตภาคอีสานตอนล่าง สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง พื้นที่ลาดจากทิศใต้ลงไปทางทิศเหนือ พื้นที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นน้อย เป็นที่ราบขั้นบันไดช่องเขาและภูมิประเทศที่เกิดจากภูเขาไฟ มีเนื้อที่ประมาณ 10,321 ตารางกิโลเมตร จัดว่าเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 17 ของประเทศ

          จากการศึกษาของนักโบราณคดี พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี และที่สำคัญที่สุด คือมีการค้นพบหลักฐานทางวัฒนธรรมของเขมรโบราณ ซึ่งมีทั้งปราสาทอิฐและปราสาทหินจำนวนมากกว่า 60 แห่ง รวมทั้งพบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ คือ เตาเผา ภาชนะดินเผา และภาชนะดินเผาแบบที่เรียกว่า "เครื่องถ้วยเขมร" ซึ่งกำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 อยู่ทั่วไป

          หลังจากสมัยของวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณแล้ว หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดบุรีรัมย์เริ่มมีขึ้นอีกครั้งตอนปลาย สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏชื่อว่าเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา และปรากฏชื่อต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่า บุรีรัมย์มีฐานะเป็นเมืองเมืองหนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคใหม่ บุรีรัมย์จึงได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดมาจนถึงปัจจุบันนี้

ปราสาทพนมรุ้ง

สถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด   

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

          ตั้งอยู่บ้านตาเป็ก ตำบลตาเป็ก ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญคือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร (คำว่า พนมรุ้ง หรือ วนํรุง เป็นภาษาเขมรแปลว่า ภูเขาใหญ่) ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในช่วงนั้น

          ปราสาทพนมรุ้ง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ตั้งเรียงรายขึ้นไปจากลาดเขาทางขึ้นจนถึงปรางค์ประธานบนยอดอันเปรียบ เสมือนวิมานที่ประทับของพระศิวะ บันไดทางขึ้นช่วงแรกทำเป็นตระพัง (สระน้ำ) สามชั้นผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดินซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะ ๆ ถนนทางเดินนี้ ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์ ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนือมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง 1 หลัง เรียกกันว่า โรงช้างเผือก สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะ ๆ รวม 5 ชั้น สุดบันไดเป็นชานชลาโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และจากประตูนี้ยังมีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่งก่อนถึงปรางค์ประธาน

          ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบน และด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุนปรางค์ล้วนสลักลวดลายประดับทั้งลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ภาพฤาษี เทพประจำทิศ ศิวนาฏราช ที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน ลักษณะของลวดลายและรายละเอียดอื่น ๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่าปรางค์ประธานพร้อมด้วยบันไดทางขึ้นและสะพานนาคราชสร้าง ขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17

          ภายในลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีปรางค์ขนาดเล็ก 1 องค์ ไม่มีหลังคา จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่ปรากฏ เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธาน มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16 นอกจากนี้ ยังมีฐานปรางค์ก่อด้วยอิฐซึ่งมี อายุเก่าลงไปอีก คือประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ประธาน และที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกับพลับพลาที่สร้างด้วยศิลาแลงข้างทางเดินที่เรียกว่า "โรงช้างเผือก"

          กรมศิลปากรได้ทำการซ่อมแซมและบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง โดยวิธีอนัสติโลซิส (ANASTYLOSIS) คือ รื้อของเดิมลงมาโดยทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง แล้วนำชิ้นส่วนที่รื้อรวมทั้งที่พังลงมากลับไปก่อใหม่ที่เดิม โดยใช้วิธีการสมัยใหม่ช่วย และเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปี พ.ศ. 2531 ได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน

          อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทรศัพท์ 0 4478  2715 โทรสาร 0 4478 2717

ปราสาทหินเมืองต่ำ

ปราสาทหินเมืองต่ำ

          ตั้งอยู่ที่ตำบลจระเข้มาก เป็นปราสาทขอมที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามโดดเด่นน่าชมอีกแห่งหนึ่งของบุรีรัมย์ ประวัติความเป็นมาของปราสาทหินเมืองต่ำยังไม่ทราบชัด เพราะไม่พบหลักฐานที่แน่นอนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด หรือใครเป็นผู้สร้าง มีลักษณะของศิลปะขอมแบบบาปวน ซึ่งมีอายุอยู่ในราว พ.ศ. 1550-1625 และมีลักษณะของศิลปะขอมแบบคลังซึ่งมีอายุราว พ.ศ. 1508-1555 ปะปนอยู่ด้วย ภาพสลักส่วนใหญ่เป็นภาพเทพในศาสนาฮินดู จึงอาจกล่าวได้ว่า ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-17 เพื่อใช้เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู

          ตัวปราสาทประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างหลัก คือ ปรางค์อิฐ 5 องค์ สร้างอยู่บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยศิลาแลง องค์ปรางค์ทั้ง 5 ตั้งเรียงกันเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ ปรางค์ประธานซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ตรงกลางแถวหน้า ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียงส่วนฐาน ส่วนองค์อื่น ๆ ที่เหลืออยู่ก็มีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ปรางค์ทุกองค์มีประตูเข้าสู่ภายในปรางค์ได้ด้านเดียว คือ ด้านทิศตะวันออก ด้านอื่นทำเป็นประตูหลอก แต่ปรางค์ประธานมีมุขหน้าอีกชั้นหนึ่ง การขุดแต่งบริเวณปรางค์ประธานได้พบทับหลังประตูมุขปรางค์ สลักเป็นภาพเทพถือดอกบัวขาบประทับนั่งเหนือหน้ากาล แวดล้อมด้วยสตรีเป็นบริวาร หน้าบันสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนทับหลังประตูปรางค์สลักเป็นเทพนั่งชันเข่าเหนือหน้ากาล และยังได้พบชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้นประดับฐานอีกด้วย แสดงว่าปรางค์เหล่านี้ได้เคยมีปูนฉาบและปั้นปูนเป็นลวดลายประดับตกแต่งอย่างงดงาม

          สำหรับปรางค์บริวารอีก 4 องค์นั้นยังคงมีทับหลังติดอยู่เหนือประตูทางเข้า 2 องค์ คือ องค์ที่อยู่ทางทิศเหนือของแถวหน้า และองค์ทิศใต้ของแถวหลัง สลักภาพพระศิวะอุ้มนางอุมาบนพระเพลา ประทับนั่งอยู่บนหลังโคนนทิ และภาพพระวรุณทรงหงส์ ตามลำดับ จากการขุดแต่งได้พบยอดปรางค์ทำด้วยหินทรายสลักเป็นรูปดอกบัว ตกอยู่ในบริเวณฐานปรางค์ หน้ากลุ่มปรางค์ยังมีวิหารเป็นอาคารก่ออิฐ 2 หลัง ตั้งหันหน้าตรงกับปรางค์ที่อยู่ด้านข้างทั้งสององค์ สิ่งก่อสร้างดังกล่าว ล้อมรอบด้วยกำแพงสองชั้น กำแพงชั้นในก่อด้วยหินทรายเป็นห้องแคบ ๆ ยาวต่อเนื่องกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม ที่เรียกว่า ระเบียงคด กำแพงชั้นนอกเป็นกำแพงศิลาแลง กำแพงทั้งสองชั้นมีซุ้มประตูอยู่ในแนวตั้งตรงกันทั้ง 4 ด้าน ซุ้มประตูทั้งหมดยกเว้นซุ้มประตูของประตูชั้นในด้านทิศตะวันตกก่อด้วยหิน ทราย สลักลวดลายในส่วนต่าง ๆ อย่างงดงาม ตั้งแต่หน้าบัน ทับหลัง เสาติดผนัง ฯลฯ เป็นภาพเล่าเรื่องในศาสนาฮินดูและลวดลายที่ผูกขึ้นจากใบไม้ ดอกไม้ที่มักเรียกรวม ๆ ว่า ลายพันธุ์พฤกษา

          ระหว่างกำแพงชั้นในและ กำแพงชั้นนอก เป็นลานกว้างปูด้วยศิลาแลง มีสระน้ำขุดเป็นรูปหักมุมตามแนวกำแพงอยู่ทั้ง 4 มุม กรุขอบสระด้วยแท่งหินแลงก่อเรียงเป็นขั้นบันไดลงไปยังก้นสระ ขอบบนสุดทำด้วยหินทรายเป็นลำตัวนาคซึ่งชูคอแผ่พังพานอยู่ที่มุมสระ เป็นนาค 5 เศียรเกลี้ยง ๆ ไม่มีเครื่องประดับศีรษะ ปราสาทหินเมืองต่ำ เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 06.00-18.00 น. ค่าเข้าชม คนไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ 0 4478 2715 โทรสาร 0 4478 2717
 
ปรางค์กู่สวนแตง 

          ตั้งอยู่บ้านดงยาง ตำบลกู่สวนแตง ตรงข้ามโรงเรียนกู่สวนแตงวิทยาคม กู่สวนแตง เป็นโบราณสถานแบบขอมอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยปรางค์อิฐ 3 องค์ ตั้งเรียงในแนวเหนือ-ใต้ บนฐานศิลาแลงเดียวกัน อาคารทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูหน้าเพียงประตูเดียว อีก 3 ด้านสลักเป็นประตูหลอก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่และมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหน้าที่มุขยื่นออกมาเล็กน้อย ตรงหน้าบันเหนือประตูหลอกทั้ง 3 ด้าน มีลักษณะยื่นออกมาและมีแผ่นศิลาทรายรองรับ ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ มีขนาดเล็กกว่า ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูเดียวทางด้านหน้าเช่นกัน ส่วนผนังอีก 3 ด้าน ก่อเรียบทึบสำหรับบนพื้นหน้าปรางค์มีส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทรายอื่น ๆ ตกหล่นอยู่ เช่น ฐานบัวยอดปรางค์ กลีบขนุนรูปนาค 6 เศียร

          อายุของกู่สวนแตงสามารถกำหนดได้จากทับหลังของปรางค์ ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครและที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 เนื่องจากภาพสลักบนทับหลังทั้งหมดมีลักษณะตรงกับศิลปะขอมแบบนครวัด ที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิ ทับหลังสลักภาพพระนารายณ์ตรีวิกรม (ตอนหนึ่งในวามนาวตาร แสดงภาพพระนารายณ์ย่างพระบาท 3 ก้าว เหยียบโลกบาดาล โลกมนุษย์ และโลกสวรรค์) ทับหลังภาพศิวนาฏราช ทับหลังภาพการกวนเกษียรสมุทร ทับหลังภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ ฯลฯ แต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่สวยงามน่าสนใจยิ่ง
   
อนุสาวรีย์เราสู้

          ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข  348 (ละหานทราย-ตาพระยา) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของประชาชน ตำรวจ ทหาร ที่เสียชีวิตจากการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่ขัดขวางการสร้างทางสายละหานทราย – ตาพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์จนสามารถสร้างได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลลยเดช โปรดเกล้าพระราชทานชื่อ และทรงทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2523
   
บุรีรัมย์

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

          ตั้งอยู่ในตัวเมืองทางไปอำเภอประโคนชัย สร้างในปี พ.ศ. 2539 เพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์ เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก พระบรมราชานุสาวรีย์มีขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ฉลองพระองค์แบบนักรบตามขัตติยราชประเพณีโบราณ ประทับบนช้างศึก จากจดหมายเหตุประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 7 กล่าวว่า ใน พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปปราบพระยานางรองซึ่งคบคิดกับเจ้าโอ เจ้าอินแห่งจำปาศักดิ์ ขณะเดินทัพพบเมืองร้างอยู่ที่ลุ่มน้ำห้วยจระเข้มาก มีชัยภูมิดีแต่ไข้ป่าชุกชุม ชาวเขมรป่าดงไม่กล้าเข้ามาอยู่อาศัย แต่ตั้งบ้านเรือนอยู่โดยรอบ จึงรวบรวมผู้คนตั้งเป็นเมืองแปะ และให้บุตรเจ้าเมืองพุทไธสมันซึ่งติดตามมาด้วยเป็นเจ้าเมือง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยานครภักดี ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "เมืองบุรีรัมย์"

ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้

          ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ถนนจิระ เป็นสถานที่รวบรวมจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุอันมีค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจและเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัย นิทรรศการที่จัดแสดงมีหลากหลายหัวข้อ อาทิ แหล่งที่ตั้งชุมชนโบราณของจังหวัดบุรีรัมย์ประวัติศาสตร์จังหวัดบุรีรัมย์ ช้างกับส่วย ศาสนาและความเชื่อ ผ้าและวิถีชีวิต ห้องเตาเผาและเครื่องเคลือบบุรีรัมย์ และวิถีชีวิตชาวบุรีรัมย์ เช่น ลักษณะภายในครัวเรือน เครื่องมือในการทำมาหากิน และเครื่องดนตรีอีสาน เป็นต้น เปิดทุกวัน ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30–16.30 น. สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ 0 4461 1221 ต่อ 159
   
วัดเขาอังคาร

          ตั้งอยู่บ้านเจริญสุข บนเขาอังคารซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว อยู่ห่างจากปราสาทหินพนมรุ้งไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตร จากบุรีรัมย์ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง-บ้านตะโก-บ้านตาเป็ก (ทางเดียวกับไปปราสาทหินพนมรุ้ง) เมื่อเดินทางถึงบ้านตาเป็ก เลี้ยวขวาตามทางไปอำเภอละหานทรายประมาณ 13 กิโลเมตร จะพบทางแยกขวาไปวัดเขาอังคารอีก 7 กิโลเมตร ภายในบริเวณวัดเคยมีการค้นพบโบราณสถานเก่าแก่และใบเสมาหินทรายสลักภาพบุคคล สถูป ดอกบัว และธรรมจักร สมัยทวารวดีหลายชิ้น อยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13-14  ปัจจุบันเป็นวัดที่สวยงามใหญ่โตแห่งหนึ่งของบุรีรัมย์ มีการก่อสร้างโบสถ์ ศาลาและอาคารต่าง ๆ เลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยต่าง ๆ หลายรูปแบบ ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธชาดกเป็นภาษาอังกฤษด้วย

พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์

          เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ปางมารวิชัย ศิลปะลาว สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 24-25 ขนาดหน้าตัก 1.6 เมตร สูง 2 เมตร สร้างด้วยศิลาแลง มีลักษณะของศิลปะพื้นเมือง ประดิษฐานอยู่ที่วัดหงษ์ หรือวัดศีรษะแรต เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนจำนวนมากที่เรียกว่า "พระเจ้าใหญ่" ในภาษาไทยอีสาน มิใช่เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ แต่หมายถึงความยิ่งใหญ่ ความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะการสาบานและอธิษฐาน เล่ากันว่าผู้ที่ผิดคำสาบานมักได้รับภัยพิบัติต่าง ๆ จึงมีผู้ไปสาบานงดเว้นอบายมุขเลิกดื่มสุรา และสักการะกราบไว้ขอให้คุ้มครองรักษาอยู่มิได้ขาด 

          นอกจากนี้ ยังพบพระพิมพ์รูปใบขนุน "รวมปาง" สำริด และพระพุทธรูปแกะสลักจากนอแรดที่ใต้ฐานพระเจ้าใหญ่ด้วย ในวันขึ้น 14 ค่ำ หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นโดยมีชาวอำเภอพุทไธสง และจังหวัดต่าง ๆ ไปนมัสการกราบไหว้เป็นจำนวนมาก
   
พระสุภัทรบพิตร

วนอุทยานเขากระโดง

          เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟโบราณซึ่งยังคงปรากฏ ร่องรอยปากปล่องให้เห็นได้ชัดเจน ปากปล่องภูเขาไฟมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำลึก มีน้ำขังตลอดปี ยอดสูงสุดประมาณ 265 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นที่ประดิษฐาน "พระสุภัทรบพิตร" พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์ สร้างโดยอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด นายสรวุฒิ บุญญานุศาสน์

          และภายในวนอุทยานยังมี ปราสาทหินเขากระโดง ซึ่งเดิมเป็นปราสาทหินทรายก่อบนฐานศิลาแลงสี่เหลี่ยมขนาด 4 x 4 เมตร ตัวปราสาททรุดโทรมปรักหักพัง ต่อมามีผู้บูรณะและสร้างมณฑปครอบไว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง วนอุทยานนี้มีพันธุ์ไม้พื้นเมืองน่าศึกษาหลายชนิด การขึ้นไปยังเขากระโดงสามารถทำได้สองวิธี คือ เดินขึ้นบันได หรือขับรถขึ้นไปถึงยอดเขา ระหว่างทางจะพบพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เรียงรายอยู่เป็นระยะ ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 จะมีงานประเพณีขึ้นเขากระโดง
   
สวนนกบุรีรัมย์

          ตั้งอยู่ตำบลสะแกซำ อยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด กำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเมื่อปี 2535 จากการสำรวจพบว่าในแต่ละปีมีนกชนิดต่าง ๆ มาอาศัยอยู่โดยรอบจำนวนกว่า 100 ชนิด โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เมษายนจะมีฝูงนกมาอาศัยอยู่ มากเป็นพิเศษ บางชนิดใกล้สูญพันธุ์และหาดูได้ยาก เช่น นกเป็ดหงส์ นกเป็ดก่า และนกกาบบัว ในบริเวณบ้านของคุณสวัสดิ์ คชเสนีย์ ได้จัดทำเป็นสวนนก และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เหมาะสำหรับเที่ยวชมฝูงนกในยามเย็น ทุกวันเวลาประมาณ 17.00-18.00 น. จะมีฝูงนกยางสีขาวนับหมื่นตัวบินกลับรังเป็นภาพที่น่าชมมาก มีบริการรถชมรอบบริเวณ สอบถามข้อมูล โทร. 0 4460 5169 การเดินทาง  จากตัวเมืองบุรีรัมย์ไป 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข  219  (เส้นทางบุรีรัมย์-ประโคนชัย) ถึงสถานีอนามัยบ้านโคกตาลเลี้ยวซ้ายประมาณ 2.5 กิโลเมตร

เขื่อนลำนางรอง

          อยู่ห่างจากอนุสาวรีย์เราสู้ไป 200 เมตร เป็นพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงตามพระราชดำริ เขื่อนลำนางรองเป็นเขื่อนดิน มีถนนลาดยางบนสันเขื่อนสำหรับชมทัศนียภาพ และมีร้านอาหารที่ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำ  นอกจากเขื่อนนี้จะเก็บน้ำไว้ใช้ในด้านการเกษตรแล้ว  ยังได้รับการปรับปรุงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีบ้านพักรับรอง ห้องประชุม และค่ายพักแรม ติดต่อสำนักงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรองซึ่งอยู่ก่อนถึงสัน เขื่อนในเวลาราชการ โทร. 0 4460 6336 ต่อ 159 ในบริเวณเดียวกันยังมีโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป (ดอยคำ) ผลิตผักผลไม้กระป๋อง อาทิ ข้าวโพดอ่อน หน่อไม้ และน้ำมะเขือเทศ

อ่างเก็บน้ำกระโดง

          อ่างเก็บน้ำกระโดง หรือ อ่างเก็บน้ำวุฒิสวัสดิ์  ตั้งอยู่ด้านหน้าของเขากระโดง จากทางเข้าเขากระโดงมีทางแยกซ้ายมือไปทางเดียวกับค่ายลูกเสือ "บุญญานุศาสตร์" และสวนสัตว์ บริเวณริมอ่างเก็บน้ำเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ดีแห่งหนึ่ง จากจุดนี้สามารถมองเห็นองค์พระสุภัทรบพิตรบนยอดเขากระโดงได้

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน

          มีพื้นที่ประมาณ 3,568 ไร่ เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรใช้เป็นที่จอดเครื่องบินเพื่อส่งเสบียงอาหาร และเมื่อสงครามยุติทางราชการจึงให้พื้นที่นี้เป็นสาธารณะประโยชน์ และที่พักผ่อนของชาวอำเภอประโคนชัย เป็นจุดที่เหมาะแก่การดูนกน้ำ นกที่พบได้แก่ เป็ดหงส์ เป็ดเทา นกช้อนหอย เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม  การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ตามทางไปประโคนชัย 41 กิโลเมตร ริมทางหลวงหมายเลข 219 ก่อนถึงอำเภอประโคนชัย 4 กิโลเมตร เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ จะอยู่ด้านซ้ายมือ

กิจกรรมและงานประเพณี

          ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง พิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชมดวงอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องประตู ชมดวงอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตู นมัสการพระพุทธศรีพนมรุ้ง เจ้าพ่อปราสาททอง บวงสรวงดอกบัวแปดกลีบ ชมขบวนแห่พระนางภูปตินทรลักษมี และขบวนแห่เทพพาหนะทั้ง 10 ทิศ ชมการแสดงแสง-เสียง ชุด “พนมรุ้งมหาเทวาลัย” การจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

          ประเพณีมหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ ชมการแข่งขันว่าวทุกประเภทรอบคัดเลือกและรอบชิงชนะเลิศ แข่งขันการแกว่งแอก ขบวนแห่มหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ การจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน

          งานแข่งเรือยาว ประเพณีชิงถ้วยพระราชทานจังหวัดบุรีรัมย์ ชมขบวนแห่ช้างพาเหรดอัญเชิญถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การแข่งขันเรือยาวกลางประเภทต่าง ๆ เช่น เรือยาว ใหญ่ประเภท ก. (55 ฝีพาย) เรือยาวกลางประเภท ข. (40 ฝีพาย) และเรือโลหะ (38 ฝีพาย) การแข่งขันเรือยาวใหญ่กับเรือยาวกลางเพื่อชิงความเป็นเจ้ายุทธจักรลุ่มน้ำ มูล การแข่งขันช้างว่ายน้ำ ช้างแข่งกับช้าง และช้างว่ายน้ำแข่งกับคน การแข่งขันชกมวยทะเล

Tips

          ไปบุรีรัมย์ทั้งทีต้องไปเยือนปราสาทหิน โดยเฉพาะ ปราสาทหินพนมรุ้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปีจะเกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ คือแสงอาทิตย์จะทำมุมลอดทะลุประตูทั้ง 15 บานของปราสาทได้อย่างพอดี นับเป็นช่วงเวลาที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง

การเดินทาง

          บุรีรัมย์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 410 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดบุรีรัมย์ได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ

          โดยรถไฟ : มีรถไฟออกจากสถานีหัวลำโพงทุกวัน สายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี หรือนครราชสีมา-อุบลราชธานี ทั้งที่เป็นขบวนรถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา และรถดีเซลราง ผ่านสถานีบุรีรัมย์ทุกขบวน รถดีเซลรางปรับอากาศจะใช้เวลาเดินทางน้อยกว่ารถยนต์มาก ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 เว็บไซต์ www.railway.co.th

          โดยรถยนต์ : จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงสระบุรีเลี้ยวขวาเข้า ทางหลวงหมายเลข 2 แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 224 และทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอหนองกี่ อำเภอนางรอง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ตามทางหลวงหมายเลข 218 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง ระยะทางประมาณ 410 กิโลเมตร

          โดยรถประจำทาง : มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-บุรีรัมย์ ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th บริษัทกิจการราชสีมา โทร. 0 2271 2390 และปัจจุบัน บริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูท ดอทคอม www.thairoute.com

 
 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ททท. และ th.wikipedia.org



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บุรีรัมย์ เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:57:18 6,068 อ่าน
TOP
x close