ไหน ๆ ใครคิดว่าไปเที่ยวมาทั่วเมืองไทยแล้วบ้าง ขอดูมือหน่อยได้ไหมคะ ^.^ ต้องยอมรับเลยว่าประเทศไทยของเรามีสถานที่ท่องเที่ยวสวย ๆ ให้ไปเที่ยวชมมากมาย ไปเที่ยวกันได้ไม่รู้จบ ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ทะเล น้ำตก ป่าเขา ฯลฯ ซึ่งเชื่อได้เลยว่าหลายคนคงได้ไปสัมผัสกับสถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละแห่งมาแล้ว แต่อาจยังเข้าไม่ถึงหรือยังมาไม่ถึงในสถานที่นั้นจริง ๆ !!!
๑. เขมราฐ นาแวง และเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
เริ่มกันที่ภาคอีสานกับชุมชนสุดน่ารักอย่างเขมราฐ นาแวง และเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ชุมชนแห่งนี้มีประวัติที่ยาวนาน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ที่นี่จึงมีเสน่ห์ที่น่าหลงใหล ด้วยมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวสวย ๆ รวมทั้งวิถีชีวิตและประเพณีท้องถิ่นอันโดดเด่น ชาวบ้านใช้ชีวิตกันอย่างเรียบง่าย มีโฮมสเตย์ให้พักผ่อน จึงตอบโจทย์ต่อนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเที่ยวในบรรยากาศสบาย ๆ และอยากเรียนรู้วัฒนธรรมในอีกรูปแบบของชาวอีสานริมฝั่งแม่น้ำโขง
ภายในชุมชนมีแหล่งท่องเที่ยวให้ได้ไปเยือนหลากหลายรูปแบบ พร้อมทั้งยังมีประเพณีที่หาชมได้ยาก อย่าง "การแข่งเรือยาว" และ "การรำตังหวาย" ให้ได้เยี่ยมชม หรือหากอยากจะทำบุญไหว้พระ เขมราฐก็มี "พระเจ้าองค์หมื่น" บ้านอูบมุง และพระเจ้าใหญ่องค์แสน วัดโพธิ์เขมราฐ ให้ได้ไปไหว้ขอพรสักการะกันอีกด้วย
พระเจ้าใหญ่องค์แสน วัดโพธิ์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวเขมราฐ
- วัดชัยภูมิการาม (วัดกลาง)
- หาดทรายสูง บ้านลาดเจริญ ตำบลนาแวง
เรียกได้ว่า หาดทรายสูง เป็นไฮไลท์อีกหนึ่งสิ่งของอำเภอเขมราฐที่ต้องมาเช็กอินกันให้ได้สักครั้งเลยทีเดียว ด้วยหาดทรายแห่งนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีลักษณะเป็นแนวหินและหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำโขง เกิดจากการสะสมของทรายที่พัดพามาของน้ำและลม จนทำให้หาดทรายแห่งนี้สูงมาก โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง ที่เมื่อน้ำในลำน้ำโขงลดระดับ หาดทรายแห่งนี้ก็จะโผล่ขึ้นมาให้ได้ยลโฉมอย่างชัดเจน
ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวมักที่จะมาเที่ยวชมในช่วงเย็น เพื่อชมพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งมีบรรยากาศที่สวยงามโรแมนติกสุด ๆ ยิ่งถ้าได้ลองกินอาหารพื้นเมืองแบบพาแลง พร้อมกับชมศิลปะการแสดงและประเพณีท้องถิ่นอย่างการฟ้อนรำบายศรีสู่ขวัญ, การร้องหมอลำทำนองตังหวาย, การร้องหมอลำทำนองภูไท หรือการร้องหมอลำแบบผญา ที่ผู้ฟ้อนรำผู้หญิงจะนุ่งซิ่นบิน อันเป็นผ้าพื้นเมืองอันสวยงาม ก็จะยิ่งประทับใจชุมชนแห่งนี้ขึ้นไปอีกเท่าตัว
- พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดภูถ้ำพระศิลาทอง ตำบลเจียด
ถ้าใครมาเที่ยวเขมราฐ อยากจะแนะนำให้ลองมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดภูถ้ำพระศิลาทองเป็นจุดแรก ๆ ค่ะ เพราะที่นี่คือแหล่งรวบรวมวัตถุโบราณที่ขุดพบในท้องถิ่น ทั้งเครื่องปั้นดินเผา, โครงกระดูกมนุษย์โบราณ, เครื่องมือเหล็ก, เครื่องประดับสำริด ฯลฯ ซึ่งมีอายุราว ๆ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปี ซึ่งก็จะเป็นการทำความรู้จักกับชุมชนไปในตัวอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ภายในชุมชนบ้านเจียดก็ยังมีประเพณีที่น่าสนใจมากมายให้ได้มาเที่ยวชม อาทิ งานทรงน้ำพระวัดถ้ำพระศิลาทอง, งานพิธีไหว้ศาลปู่ตา, งานแข่งขันตีกลองเส็ง เป็นต้น
สำหรับสาว ๆ ที่อยากมีผ้าซิ่นสวย ๆ ไว้สวมใส่ ต้องไม่พลาดไปเที่ยวที่กลุ่มทอผ้าแม่ติ๋ว เมืองเขมราษฎร์ธานี ด้วยที่นี่คือแหล่งผลิตผ้าทอคุณภาพดี มีการทอลวดลายที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยังย้อมสีจากน้ำย้อมธรรมชาติ จึงทำให้มีสีสันที่สวยงามแปลกตาไม่เหมือนใคร มีหลากหลายผลิตภัณฑ์จากผ้าทอให้ได้เลือกช้อปปิ้ง บอกเลยว่าถูกใจขาช้อปแน่นอน
- วัดโขงเจียมปุราณวาส
ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ ซึ่งนอกจากจะมีทัศนียภาพที่สวยงามน่ามาเที่ยวพักผ่อนแล้ว วัดแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ทั้งชาวไทยและชาวลาวศรัทธามาก ด้วยในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เคยมาทรงประทับที่นี่เมื่อครั้งเสด็จฯ มาเยี่ยมบ้านนาแวง
- ถนนสายวัฒนธรรมเขมราฐ
มาเที่ยวเขมราฐแล้วถ้าไม่ได้มาเที่ยวชมถนนสายวัฒนธรรมเขมราฐ หรือถนนคนเดินเขมราฐ ก็ถือว่ายังเที่ยวที่นี่ได้ไม่สมบูรณ์แบบนัก เพราะถนนสายวัฒนธรรมเขมราฐ จะตั้งอยู่บนถนนวิศิษฐ์ศรี ตำบลขมราฐ อำเภอเขมราฐ ซึ่งเป็นถนนที่มีบ้านเรือนไม้เก่าแก่สวยงามตั้งอยู่ทั้งสองฟากฝั่งถนน และยังเป็นการรวบรวมทั้งอาหารพื้นเมือง สินค้าพื้นเมือง และวัฒนธรรมท้องถิ่นมาไว้ในที่เดียวกัน โดยจะจัดขึ้นในทุกวันเสาร์ที่ ๒ และ ๔ ของเดือน ใครอยากไปเป็นฮิปสเตอร์แห่งแดนเขมราฐ ต้องแวะไปเช็กอินที่นี่กันนะคะ
ที่ตั้ง : เลขที่ ๒๓ หมู่ที่ ๑๐ บ้านลาดเจริญ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
โทรศัพท์ : ๐๘ ๑๗๑๘ ๖๙๐๔, ๐๘ ๗๔๖๐ ๗๙๘๘, ๐๘ ๙๙๓๔ ๗๖๘๙
เฟซบุ๊ก : ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเขมราฐ นาแวง เจียด
๒. ชุมชนบ้านปากโสม และบ้านลำภูพาน จังหวัดหนองคาย
ที่เที่ยวที่น่าสนใจในชุมชนปากโสม และบ้านลำภูพาน
- ผาชมหมอก
ผาชมหมอก เป็นจุดชมวิวทะเลที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของตำบลผาตั้ง โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว ที่นี่จะอากาศเย็นสบาย มีทะเลหมอกให้ชมแทบทุกวัน ใครเห็นเป็นต้องบอกว่านี่มันสวรรค์ชัด ๆ
- จุดชมวิวสกายวอร์ค วัดผาตากเสื้อ
- ถ้ำดินเพียง
ถ้ำดินเพียง ถือได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของธรรมชาติเลยทีเดียว เพราะที่นี่เป็นที่ตั้งของถ้ำใต้ดิน ที่เชื่อกันว่าสามารถเชื่อมต่อไปยังลำนำโขงได้ ภายในถ้ำเป็นซอกซอยเล็ก ๆ มากมาย มีน้ำไหลใต้ถ้ำตลอดทั้งปี ชาวบ้านจึงเชื่อว่าที่นี่เป็นที่อยู่ของพญานาค
- วัดพระพุทธบาทผาจ่อง
มาเที่ยวชมธรรมชาติอย่างเดียว เดี๋ยวจะไม่ครบรส ต้องไปแวะไหว้พระทำบุญกันสักหน่อย ซึ่งเราก็ขอแนะนำวัดพระพุทธบาทผาจ่อง เป็นวัดที่ชาวบ้านให้ความศรัทธาอย่างมาก มีรอยพระพุทธบาทจำลองให้เราได้ไปกราบไหว้ขอพรกัน ยิ่งถ้าใครมากับครอบครัวหรือคนพิเศษก็จะได้ทำบุญด้วยกัน เรียกได้ว่ามาเที่ยวและยังได้ทำสิ่งดี ๆ ไปกับคนที่เรารักอีกด้วย
- หาดทรายแสงทอง
อยากดูพระอาทิตย์ตกดินสวย ๆ ต้องไม่พลาดไปเที่ยวชมหาดทรายแสงทองกันค่ะ ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี น้ำในลำน้ำโขงจะลดระดับลงจนสามารถเห็นหาดทรายสีทองกว้างใหญ่ริมแม่น้ำโขง ช่วงเย็น ๆ บรรยากาศจะดีมาก มีลมเย็น ๆ พัดมาตลอดเวลา แสงของพระอาทิตย์ที่สะท้อนลงบนหาดทรายก็ดูนุ่มนวล น่าหลงใหล ลองชวนคนข้าง ๆ มาเดินเล่นที่นี่ดูนะคะ รับรองได้เลยว่าจะต้องประทับใจแน่นอน
ศูนย์ประสานงานชุมชนบ้านปากโสม และบ้านลำภูพาน
โทรศัพท์ : ๐๘ ๙๒๔๕ ๒๑๔๙ (นางนวลละออง วิภูษณะ ประธานกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนปากโสม-ลำภูพาน)
๓. ชุมชนปากน้ำประแส จังหวัดระยอง
ตลาดเช้าชุมชนประแส ภาพจากคุณธนดิษ ศรียานงค์
ถนนคนเดินตลาด 100 ปี ประแส
ภายในชุมชนปากน้ำประแส นอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจแล้ว ก็ยังมีที่พักแบบโฮมสเตย์ให้บริการมากมาย บางแห่งอยู่ติดริมแม่น้ำ บางแห่งอยู่ติดป่าชายเลน แต่ไม่ว่าจะวิวแบบไหนก็รับรองได้เลยว่าผู้มาเยือนจะได้พักผ่อนและเพลิดเพลินกับชุมชนแห่งนี้อย่างเต็มที่แน่นอน
ที่เที่ยวที่น่าสนใจในชุมชนปากน้ำประแส
- ทุ่งโปรงทอง
ทุ่งโปรงทอง ภาพจากคุณธนดิษ ศรียานงค์
ทุ่งโปรงทอง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ที่เที่ยวอันโดดเด่นของชุมชนปากน้ำประแสเท่านั้น แต่ที่นี่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของภาคตะวันออกเลยทีเดียว เพราะความสวยงามของป่าชายเลนและต้นโปรงทองริมทะเลที่มองไปได้ไกลสุดลูกหูลูกตา ด้านในมีสะพานไม้ยาวกว่า ๒.๖ กิโลเมตร ลัดเลาะไปตามทุ่งโปรงทอง ทำให้เดินเที่ยวชมที่นี่ได้อย่างใกล้ชิด เมื่อสีเขียวทองของใบไม้ตัดกับท้องฟ้าอันสดใส ช่างภาพและนางแบบทั้งมืออาชีพและสมัครเล่น รวมทั้งนักท่องเที่ยวจึงหลงใหลที่อยากจะมาเช็กอินที่นี่กันสักครั้ง
- ศาลสมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
ศาลสมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำประแส เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ภายในชุมชน ชาวบ้านจะให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างมาก หากใครแวะมาเที่ยวที่ชุมชนแห่งนี้ ก็มักที่จะแวะเวียนมาไหว้ขอพร ถือเป็นการเสริมสิริมงคลให้ชีวิต
- บ้านพิพิธภัณฑ์ปากน้ำประแส
บ้านพิพิธภัณฑ์ปากน้ำประแส เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรก ๆ ของชุมชนที่อยากให้มาเที่ยวชมกัน เพราะที่นี่คือแหล่งรวบรวมภาพเก่าแก่ของชุมชนปากน้ำประแส มีการจัดแสดงความเป็นมา บอกเล่าถึงวิถีชีวิตและประเพณีที่สำคัญของคนท้องถิ่น รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวภายในชุมชน อีกทั้งตัวอาคารยังมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามมีเอกลักษณ์
- อนุสรณ์เรือรบหลวงประแส
เคยใฝ่ฝันอยากจะสัมผัสกับเรือรบลำใหญ่ ๆ กันบ้างไหมคะ ? ไม่ต้องไปเที่ยวที่ไหนไกล เพราะที่ชุมชนแห่งนี้ก็มีเรือรบหลวงประแสให้ได้ยลโฉมกันด้วย โดยอนุสรณ์เรือรบหลวงประแสนั้นจะตั้งอยู่ที่บริเวณชายหาดประแส หมู่ที่ 1 ตำบลปากน้ำกระแส นักท่องเที่ยวสามารถที่จะไปเที่ยวชมได้ทุกวัน ถ่ายภาพเซลฟี่เก๋ ๆ กันให้หนำใจไปเลย
ศูนย์ประสานงานชุมชนปากน้ำประแส
ที่ตั้ง : เลขที่ ๕๙/๓ หมู่ ๑ ตำบลปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
โทรศัพท์ : ๐๘ ๑๘๖๔ ๓๒๖๕ (นายภาณุ ธนะสาร)
๔. ชุมชนบ้านแหลมมะขาม จังหวัดตราด
ถ้าอยากสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวประมงทางฝั่งตะวันออก ขอแนะนำให้ลองไปสัมผัสกับชุมชนบ้านแหลมมะขาม อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด กันค่ะ หากดูภายนอกที่นี่อาจจะดูธรรมดา แต่อันที่จริงแล้วได้ซ่อนความน่าสนใจไว้เพียบ ไม่ว่าจะเป็นประวัติของหมู่บ้านที่มีมาอย่างยาวนานกว่า ๑๐๐ ปี ชาวบ้าน ๒ ศาสนา ที่สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข หรือจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวและบรรยากาศของชุมชนที่สวยงามเงียบสงบ ยังไม่รวมถึงกิจกรรมสุดสนุกที่นักท่องเที่ยวจะได้รับเมื่อมาเยือนที่นี่อีกนับไม่ถ้วน
ที่เที่ยวที่น่าสนใจในชุมชนบ้านแหลมมะขาม
- วัดแหลมมะขาม
เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างโต๊ะวาลีหรือโต๊ะรลีย์ ตั้งอยู่ด้านใน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธ สามารถที่จะเกื้อหนุนและอยู่ร่วมกันได้ อีกทั้งภายในอุโบสถของวัดยังมีภาพฝาจิตรกรรมอันสวยงามและเก่าแก่ให้ได้เที่ยวชม
- ศูนย์เรียนรู้ตามรอยเสด็จฯ พระพุทธเจ้าหลวง
ศูนย์เรียนรู้ตามรอยเสด็จฯ พระพุทธเจ้าหลวง จัดแสดงถึงเรื่องราวและภาพเกี่ยวกับการเสด็จประพาสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งที่มาเยี่ยมเยือนยังบ้านแหลมมะขาม อันเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญของคนตราด
- ศูนย์เรียนรู้บ้านหุ่นไม้กระดาน
จากภูมิปัญหาชาวบ้านของปู่กรานต์หรือนายสงกรานต์ ไรนุชพงศ์ ช่างไม้ฝีมือเยี่ยมของบ้านแหลมมะขาม ได้สร้างสรรค์หุ่นไม้กระดานออกมาอย่างเก๋ไก๋ โดยทำหุ่นให้คล้ายกับคน ซึ่งหุ่นแต่ละตัวก็มีลักษณะท่าทางแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดแสดงท่าทางที่กำลังใช้เครื่องมือช่างไม้โบราณแต่ละชนิด ซึ่งเป็นความตั้งใจของคุณปู่กรานต์ที่อยากจะสอนลูกหลานและเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจได้รู้จักเครื่องมือช่างไม้ด้วยวิธีง่าย ๆ เช่นนี้
- ร่วมกิจกรรมเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจภายในชุมชนบ้านแหลมมะขามแล้ว ที่นี่ก็ยังมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวร่วมสนุกมากมาย อาทิ การถักหมวกงอบใบจาก, การทำฟักแช่อิ่ม, การทำบอระเพ็ดเชื่อม, การปลูกป่าโกงกาง, การงมหอยปากเป็ด, การกินอาหารทะเลสดใหม่ เป็นต้น
โทรศัพท์ : ๐๙ ๘๘๖๐ ๒๘๑๔ (คุณสุเทพ บุญเพียร ประธานกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม บ้านแหลมมะขาม), ๐๘ ๑๘๗๓ ๒๗๓๔ (นางสาวอมร ไชยแสน วิทยาลัยชุมชนตราด), ๐๘ ๑๗๖๑ ๑๙๗๒ (นายสมโภชน์ วาสุกรี ที่ปรึกษา)
๕. ชุมชนเกาะพิทักษ์ จังหวัดชุมพร
นอกจากนี้ผู้มาเยือนจะได้ชื่นชมกับท้องทะเลสวย ๆ รอบ ๆ เกาะพิทักษ์แล้ว ที่นี่ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจรอให้ไปสัมผัสอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทะเลแหวก ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่เกิดจากระดับน้ำทะเลลดลง จนเกิดเป็นเนินทรายสามารถเดินเชื่อมมาจากปากน้ำหลังสวนได้ โดยจะมีการแข่งขัน "วิ่งแหวกทะเล" ระยะทาง 14 กิโลเมตรจากปากน้ำหลังสวนไปยังเกาะพิทักษ์ทุกปีอีกด้วยหรือจะเป็นกิจกรรมสนุก ๆ บนเกาะ ไม่ว่าจะเป็น
- เดินเที่ยวรอบเกาะ
ทางชุมชนได้มีการจัดทำเส้นทางไว้รอบเกาะเพื่ออำนวยความสะดวกต่อนักท่องเที่ยว เป็นกิจกรรมที่สามารถร่วมสนุกกันได้ทุกเพศทุกวัย โดยนักท่องเที่ยวสามารถที่จะเดินเที่ยวชมชุมชน บ้านเรือนใต้ถุนสูง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเรือนของชาวบ้านที่นี่ หรือจะไปไหว้สักการะศาลพ่อปู่เดช ผู้ค้นพบเกาะแห่งนี้ก็ได้
- การทำปลาเค็มฝังทราย
ปลาเค็มฝังทราย เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อของชาวเกาะพิทักษ์ รสชาติของปลาเค็มจะหอมและแห้งกำลังดี รสชาติอร่อยกลมกล่อมไม่เหมือนที่ไหน อยากรู้ว่าเขาทำกันอย่างไร ตามมาดูได้เลย
- ชมระบำเกาะพิทักษ์ และมโนราห์
ถ้าจะเที่ยวชุมชนให้ลึกซึ้ง สิ่งหนึ่งที่ห้ามพลาดเลยก็คือการชมศิลปะการแสดงท้องถิ่น ซึ่งเกาะพิทักษ์ก็มีการแสดงระบำเกาะพิทักษ์และมโนราห์ให้นักท่องเที่ยวได้ชม ทั้งงดงามและเพลิดเพลิน รับรองได้เลยว่าถ้าได้ชมอย่างใกล้ชิด คุณจะเผลอยิ้มออกมาอย่างไม่รู้ตัว
- การดำน้ำชมปะการัง และออกเรือไดหมึก
บริเวณรอบ ๆ เกาะพิทักษ์มีจุดดำน้ำตื้นสวย ๆ มากมาย ซึ่งสามารถเที่ยวได้แบบครึ่งวัน เหมาะสำหรับคนที่มีเวลาน้อย แต่ก็สามารถที่จะดื่มด่ำกับท้องทะเลได้อย่างเต็มที่ หรือถ้าใครมีเวลามากหน่อยก็นอนพักค้างคืนบนเกาะ แล้วไปลองออกเรือไดหมึกกับชาวบ้าน เป็นกิจกรรมสุดท้าทายแต่จะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวเลอย่างลึกซึ้ง
ศูนย์ประสานงานชุมชนเกาะพิทักษ์
โทรศัพท์ : ๐๘ ๑๐๙๓ ๑๔๔๓ (นายอำพล ธานีครุฑ ผู้ใหญ่บ้านเกาะพิทักษ์)
๖. ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน จังหวัดสงขลา
และด้วยมีคลองเป็นส่วนสำคัญของชุมชน ชาวบ้านจึงผูกพันกับวิถีชีวิตริมคลอง มีการดูแลรักษาลำคลองอย่างดี และยังอนุรักษ์บ้านไม้เก่าแก่ที่ตั้งอยู่ทั้งสองฟากฝั่งริมฝั่งคลองไว้ได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อความสวยงามของสถาปัตยกรรมบ้านเรือน รวมกับบรรยากาศอันเงียบสงบ และความน่ารักของชาวบ้าน ชุมชนวิถีพุทธคลองแดนจึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าที่เที่ยวอื่น ๆ ในจังหวัดสงขลาเลยทีเดียว
ที่เที่ยวที่น่าสนใจในชุมชนวิถีพุทธคลองแดน
- พิพิธภัณฑ์มีชีวิต
เยี่ยมชมของเก่าหายาก รวมทั้งของใช้พื้นบ้านที่มีการรวบรวมมาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชมที่นี่ที่เดียว
- ร้านศรีสุขโอสถ หรือร้านหมอฮ่วน
ร้านขายยาโบราณของชุมชน มีการสืบทอดมาถึงรุ่นที่ ๔ แล้ว โดยจะจำหน่ายยาแผนโบราณ รวมทั้งยาสมุนไพรที่หายาก อีกทั้งยังมีการรักษารูปแบบร้านยาแบบโบราณไว้ได้อย่างดีทีเดียว
- วัดคลองแดน
มาเที่ยวแล้วต้องแวะไปทำบุญกันสักนิดค่ะ ซึ่งในชุมชนก็จะมีวัดคลองแดนเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมามากกว่า ๑๐๐ ปี ชมหอฉันและเรือขุดโบราณเก่าแก่ อันเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญของชุมชน
- ดงตาลโตนด ๑๐๐ ปี ๔๐๐ ต้น
ไม่ธรรมดาจริง ๆ สำหรับดงตาลในชุมนคลองแดน ที่มีอยู่ประมาณ ๔๐๐ ต้น แต่ละต้นก็มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี มีต้นเฟิร์นสีเขียวและกล้วยไม้เกาะอยู่เต็มต้นคล้ายกับผ้าคลุม การไปเที่ยวชมจะต้องนั่งเรือออกไป ซึ่งก็จะได้ชมทัศนียภาพที่งดงามของสองฝั่งคลองอีกด้วย
- ตลาดริมน้ำคลองแดน
อีกหนึ่งแลนด์มาร์กท่องเที่ยวที่บอกเล่าความงามผ่านวิถีชุมชนริมน้ำซึ่งในทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐-๒๑.๐๐ น. จะมีบรรยากาศคึกคักมาก ๆ ชาวคลองแดนจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายสินค้าพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่นจากภูมิปัญญาโบราณ เช่น ปลาทอดทรงเครื่อง (สูตรโบราณ) แป้งแดง ข้าวยำ ข้าวมันแกงไก่ เต้าคั่ว ห่อหมกปลาอินทรี ขนมค่อม ขนมเทียนขนมดอกลำเจียก ขนมหน้ามัน กล้วยทับ ข้าวเหนียวปิ้ง กุ้งทอด โดยที่เน้นความสะอาด อร่อย ในราคาย่อมเยา และอีกหนึ่งสีสันที่ต้องชมให้ได้เมื่อมาเที่ยวตลาดริมน้ำคลองแดน คือ "มโนราห์คลองแดน" เป็นการแสดงของเด็ก ๆ คลองแดน ที่ร่ายรำมโนราห์ รำพราน บนสะพานไม้และบนเวทีริมน้ำ เพื่อต้อนรับผู้มาเยือน
ศูนย์ประสานงานชุมชนคลองแดน
ที่ตั้ง : เลขที่ ๑๒๘ หมู่ที่ ๒ ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
โทรศัพท์ : ๐๘ ๙๒๓๑ ๕๒๘๑ (นายเกรียงไกร อนันตพงศ์ ประธานชุมชน)
๗. ชุมชนบ้านพรหมโลก จังหวัดนครศรีธรรมราช
อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นเหมือนไฮไลต์ของชุมชนบ้านพรหมโลก ก็คืออาหารพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน เช่น แกงเหลืองมังคุดคัด แกงไตปลา น้ำพริกกะปิผักเหนาะ ผัดสะตอ น้ำพริกลูกประ ลูกเห็บ ทอดมันกุ้ง สะตอดอง ผักกูดราดน้ำกะทิ หรือผักเหมียงราดน้ำกะทิ เป็นต้น แหม...แค่ชื่อเมนูอาหารทำให้ท้องร้องกันแล้ว
เอาล่ะ...อิ่มท้องก็ต้องออกไปยืดเส้นยืดสายท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน เช่น วัดพรหมโลก, วัดเขาปูน , วัดเขาขุนพนม, น้ำตกพรหมโลก น้ำตกขนาดใหญ่ที่มีลานหินกว้างและสวยงาม หรือสวนสมรม ซึ่งเป็นการปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยให้ธรรมชาติเกื้อกูลกันเอง รวมทั้งมีตลาดนัดชุมชนและโฮมสเตย์ที่น่าพักไว้บริการผู้มาเยี่ยมเยือนชุมชนใครกำลังมองหาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจใช้ชีวิตแบบไม่เร่งรีบ ตักตวงความสุขเก็บกระเป๋ากลับบ้าน...ชุมชนบ้านพรหมโลกคือคำตอบที่คุณต้องการ ^^
ศูนย์ประสานงานชุมชนบ้านพรหมโลก
นางสาวสุภาพร เชาวพ้อง (ประธานกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านพรหมโลก)
เลขที่ ๑๑๙ หมู่ที่ ๑ ตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ๘๐๐๐๐
โทรศัพท์ ๐๘๑ ๐๘๑ ๙๑๕๐
อีเมล : Katin48@hotmail.com
เฟซบุ๊ก : Promlok community based tourism
๘. ชุมชนบ้านนาตีน จังหวัดกระบี่
ชุมชนยังคงมีวิถีชีวิตการเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ใครที่ชอบความสงบเงียบบอกเลยว่าไม่ผิดหวัง เพราะวิถีชีวิตชาวบ้านยังคงผูกพันอยู่กับทะเลและอาชีพดั้งเดิมอย่างการทำสวนยาง การเกษตรครัวเรือน การค้าขาย เป็นต้น
โปรแกรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชุมชนบ้านนาตีน คือการชมการเรียนการสอนศาสนาอิสลามแบบดั้งเดิมที่เก่าแก่ที่สุด สัมผัสวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน (ไซหมึก) การทำสวนยาง การทำอาหารและขนมพื้นบ้านร่วมกับชาวบ้าน การทำข้าวซ้อมมือ การทำผ้าบาติก การเดินป่าเที่ยวถ้ำ การดำน้ำดูปะการัง เที่ยวตามหมู่เกาะ เช่น เกาะปอดะ และทะเลแหวก
หากใครอยากนอนค้างคืนก็มีบ้านพักโฮมสเตย์ไว้บริการผู้มาเยี่ยมเยือน ก่อนกลับก็อย่าลืมแวะซื้อของที่ระลึกของชุมชน เช่น ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว ผ้าบาติก หรือเรือหัวโทงจำลอง ติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่บ้านด้วยนะคะ
ศูนย์ประสานงานชุมชนบ้านนาตีน
นายบัญชา แขวงหลี (ประธานกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านนาตีน)
เลขที่ ๔/๒ หมู่ ๔ ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ๘๑๐๐๐
โทรศัพท์ ๐๘๑ ๙๖๘ ๘๕๓๒
อีเมล : Bancha_nateen@hotmail.com
เว็บไซต์ : www.bannateen.com
๙. ชุมชนบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
ชุมชนบางปู ร้อยละ ๙๙ เป็นชาวไทยนับถือศาสนาอิสลาม ที่ยังคงยึดมั่นประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นประเพณีการเกิด, ประเพณีเข้าสุนัต, ประเพณีแต่งงาน, ประเพณีกินเหนียว (มาแกปูโละ), ประเพณีทำศพ หรือการบริจาคซะกาต
ทางด้านกิจกรรมและการบริการด้านการท่องเที่ยวของชุมชนก็จัดเต็ม ทั้งการท่องเที่ยวภายในชุมชน สัมผัสความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ที่พร้อมต้อนรับด้วยรอยยิ้มสยาม ^_^ การล่องเรือชมป่าชายเลนและป่าโบราณ หรือจะไปเที่ยวชมอุโมงค์โกงกางสุดร่มรื่น
แต่ถ้าใครอยากเพลิดเพลินไปกับวิถีชาวเลก็สามารถออกทะเลไปตกปลาในอ่าวปัตตานี นั่งเรือชิล ๆ รอชมพระอาทิตย์ตกดินก็ได้เช่นกัน ยังไม่หมดเพียงเท่านี้การชมหิ่งห้อยก็ถือเป็นอีหนึ่งกิจกรรมห้ามพลาด อ๊ะ ๆ ฟังไม่ผิดค่ะ ชมหิ่งห้อย ที่ชุมชนบางปูนักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นหิ่งห้อยยามค่ำคืนได้ด้วย ... เสน่ห์เหล่านี้คือแรงจูงใจที่ทำให้ "ชุมชนบางปู" เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ใคร ๆ ก็อยากไปเยือนสักครั้ง
ศูนย์ประสานงานชุมชนบางปู
นายคมกริชเจะเซ็ง บ้านเลขที่ ๙๙/๓ หมู่ที่ ๒ ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ๙๔๑๕๐
โทรศัพท์ ๐๘ ๘๓๘๙ ๔๕๐๘
อีเมล : Komkrit9169@gmail.com
เฟซบุ๊ก : เสน่ห์บางปู ดินแดนหิ่งห้อย
๑๐. ชุมชนตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิรินจังหวัดนราธิวาส
ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ชาวฝรั่งเศสได้รับสัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำบริเวณภูเขาโต๊ะโมะ ทำให้มีราษฎรอพยพเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก ภายหลังได้เกิดมหาสงครามเอเชียบูรพา ชาวฝรั่งจึงอพยพหนีภัยสงครามกลับประเทศ รัฐบาลจึงได้ดำเนินการต่อประมาณปีกว่า ๆ ก็เกิดการฉ้อราษฎรบังหลวง ปล้นสะดมทองคำ และเหตุการณ์ความไม่สงบ ทางการจึงได้ล้มเลิกกิจการ ราษฎรจึงได้อพยพกลับถิ่นฐานเดิม ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ รัฐบาลได้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้จังหวัดนราธิวาสขึ้น เพื่ออพยพราษฎรที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินทำกินจากภาคต่าง ๆ เข้ามาอาศัย ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร
ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตำบลภูเขาทอง มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าจะหยิบมาแนะนำทั้งหมดคงไม่จบในวันเดียว อิอิ เราเลยขอคัดที่เที่ยวเน้น ๆ หลากหลายรูปแบบมาฝากกัน
- ล่องแก่งภูเขาทอง (พร้อมชมวิถีชีวิตการร่อนทอง)
ระหว่างระยะทางในการล่องแก่งประมาณ ๗ กิโลเมตร หรือประมาณ ๒ ชั่วโมง นักท่องเที่ยวจะได้ตื่นตาตื่นใจกับบรรยากาศสองฟากฝั่ง ชมวิถีชีวิตและธรรมชาติ พร้อมการร่อนทองคำของชาวบ้าน ค่าบริการในการล่องแก่ง ผู้ใหญ่ ๒๐๐ บาท/คน เด็ก ๑๕๐ บาท/คนสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ ๐๗๓ ๗๐๙๗๓๐
- ประเพณีงานบุญบั้งไฟหนึ่งเดียวในภาคใต้
เป็นประเพณีที่จัดติดต่อกันมาเป็นประจำทุกปีในช่วงกลาง ๆ ปี ทุกวันเสาร์ที่สองของเดือนมิถุนายน โดยจะมีชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งชาวบ้านไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม ตลอดจนเพื่อนบ้านชาวมาเลเซียให้ความสนใจมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
- ชมวิถีชีวิตพื้นบ้านการร่อนทองคำ
ชาวบ้านอาศัยเลียงเครื่องมือร่อนทองที่ทำด้วยไม้รูปร่างคล้ายกระทะ โดยชาวบ้านจะตักเศษดินเศษหินที่อยู่ใต้น้ำขึ้นมาร่อนหาทองคำ โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนน้ำไหลหลากลงมาจากเขา พัดพาเอาเกล็ดทองคำลงมาจากเขาด้วย
- เนินพิศวง
อีกหนึ่งสถานที่ที่ต้องไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง เพราะเนินเขานี้หากมองด้วยตาเปล่าจะมองเห็นว่าเป็นทางลาดชันขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมันกลับเป็นทางลาดลง
- วัดโต๊ะโมะ
ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านโต๊ะโมะ ตำบลภูเขาทอง เป็นวัดในโครงการพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นสาขาของวัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุงเก่า) จังหวัดร้อยเอ็ด และทรงพระราชทานให้สร้างศาลาศีลปาชีพ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา และเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวตำบลภูเขาทอง
- จุดชมทะเลหมอกผาสน
หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเขาอีด่าง อยู่ในเขตรับผิดชอบของหน่วยพิทักษ์ป่าภูเขาทอง มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๕๒๐เมตร สามารถมองเห็นวิวธรรมชาติอย่างสวยงามในตอนเช้า บางวันจะเห็นหมอกรวมตัวกันเป็นเกาะแก่ง ชาวบ้านจึงเรียกว่า "ทะเลหมอกร้อยเกาะ"
- ต้นกะพงยักษ์
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาทอดพระเนตรต้นกะพงยักษ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ วัดบริเวณรอบคนโอบ ประมาณ 30 คนโอบ ระยะทางในการเดินจากเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา ประมาณ 100 เมตร
- เหมืองทองคำโต๊ะโมะ
ตั้งอยู่บริเวณบ้านโต๊ะโมะ เป็นแหล่งแร่ที่อยู่ในป่าดิบกลางหุบเขา ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ชาวฝรั่งเศสเข้ามาติดตั้งเครื่องจักรทำเหมืองทองคำอยู่ระยะหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจึงเลิกกิจการไปก่อนที่เหมืองทองคำจะดำเนินการอย่างจิงจังใน พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อบริษัทฝรั่งเศสชื่อ Societe des Mine d\'Or de Litcho เข้ามาสำรวจแล้วพบว่าลึกลงไปมีแร่ทองคำอยู่มาก และเนื้อทองคำมีเปอร์เซ็นสูง จึงได้ขอสัมปทานจากรัฐบาลไทยทำเหมืองทองคำเป็นเวลา 20 ปีภายในเหมืองมีการขุดเจาะภูเขาเป็นอุโมงค์ลึกเข้าไปตามสายแร่ กิจการดำเนินการไปจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมืองทองคำต้องปิดตัวลง ชาวฝรั่งเศสต้องเดินทางกลับประเทศ
ประวัติศาสตร์แห่งเหมืองทองคำโต๊ะโมะจึงเปิดบันทึกหน้าใหม่ โดยการดำเนินการของรัฐบาลไทย แต่ทำได้ไม่นานก็ประสบปัญหาขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพราะอยู่ในช่วงสงครามจึงต้องสั่งปิดเหมือง ต่อมารัฐบาลให้สัมปทานบริษัทเอกชนดำเนินการอยู่พักหนึ่งก็ได้เลิกไป เหมืองทองที่เคยคึกคักก็กลายเป็นเหมืองร้าง ปัจจุบันเหมืองทองคำโต๊ะโมะได้เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติ
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา
เขตอนุรักษ์แห่งใหม่ของประเทศไทย ได้รับการประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ อันเป็นแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย มีพื้นที่ประมาณ ๒๗๐,๗๒๕ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ทิวเขาสันกาลาคีรี เป็นผืนป่าดงดิบที่ไม่ต่อเนื่องกันแต่ก็ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผืนเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วยป่าฮาลา ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส กับป่าบาลาที่ครอบคลุมอำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
โดยส่วนที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปศึกษาธรรมชาติได้คือป่าบาลาแห่งนี้เท่านั้น ซึ่งมีการตัดถนนสายความมั่นคง (ทางหลวงหมายเลข 4062) ไปตามเทือกเขาสันกาลาคีรี ทำให้การเข้าถึงพื้นที่ป่าสะดวกง่ายดายขึ้น โดยเริ่มจากบ้านบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง ตัดผ่านป่าบาลา และไปสิ้นสุดที่ บ้านภูเขาทองในอำเภอสุคิริน รวมระยะทาง 18 กิโลเมตร
เอาเป็นว่าหากมีเวลาและโอกาสก็อย่าลืมไปเยือนชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตำบลภูเขาทองจังหวัดนราธิวาสกันดูนะคะ ถือเป็นอีกหนึ่งชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่น่าไปเที่ยวชมสุด ๆ รับรองได้เลยว่าคุณจะหลงรักอย่างแน่นอน
ศูนย์ประสานงานชุมชนภูเขาทอง
องค์การบริหารส่วนตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
นายพันธ์ ตั้งอยู่ โทรศัพท์ ๐๘๒ ๘๒๕ ๑๓๐๔
นายจีรศักดิ์ โมรานอก โทรศัพท์ ๐๙๓ ๗๒๕ ๐๙๖๙
และนี่คือ ๑๐ ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่เราหยิบมาแนะนำกันค่ะ จริง ๆ แล้วยังมีชุมชนท่องเที่ยวอีกมากมายที่รอต้อนรับนักท่องเที่ยวให้ไปสัมผัสกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณีวัฒนธรรม หรือธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ วันหยุดที่กำลังจะถึงนี้หากยังไม่มีแผนที่จะเดินทางไปเที่ยวที่ไหน ก็ลองไปสัมผัสกับ ๑๐ ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเหล่านี้กันดูนะคะ ^^
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
, rayong.mots.go.th, prasae.com, rayong-pao.go.th และ ททท.