
เชื่อได้เลยว่าการตามล่าทางช้างเผือกเป็นอีกหนึ่งเช็กลิสต์ของช่างภาพทั้งหลาย ที่อยากจะถ่ายได้รูปทางช้างเผือกสวย ๆ บนฟากฟ้ากันสักครั้ง แต่ก็มีหลายคนที่พลาดโอกาสหรือตามล่าไม่เจอสักที วันนี้เราจึงจะพาไปรู้จักกับเจ้าทางช้างเผือกนี้ให้มากขึ้น พร้อมบอกตารางการถ่ายภาพทางช้างเผือกโดย ดร.ภูมินันท์ ปิยทัศน์นันท์ จากเว็บไซต์ AtomicZen.net ซึ่งจะเป็นไกด์ไลน์ในการไปดักรอถ่ายภาพทางช้างเผือกได้อย่างดีทีเดียว


เดือนมกราคม : ทางช้างเผือกจะขึ้นในช่วงกลางวัน ไม่สามารถมองเห็นได้ยามค่ำคืน
เดือนกุมภาพันธ์ : เริ่มขนานขอบฟ้าช่วงเวลาประมาณ 05.00 น. แต่ยังถ่ายได้ไม่ครบเต็มรูปร่างของทางช้างเผือก
เดือนมีนาคม : เริ่มขนานขอบฟ้าช่วงเวลาประมาณ 03.00 น. และเริ่มเป็นรูปคันธนูช่วงเวลา 05.30 น.
เดือนเมษายน : เริ่มขนานขอบฟ้าช่วงเวลาประมาณ 01.00 น. และเริ่มเป็นรูปคันธนูช่วงเวลา 03.30 น.
เดือนพฤษภาคม : เริ่มขนานขอบฟ้าช่วงเวลาประมาณ 23.00 น. และเริ่มเป็นรูปคันธนูช่วงเวลา 01.30 น.
เดือนมิถุนายน : เริ่มขนานขอบฟ้าช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. เริ่มเป็นรูปคันธนูช่วงเวลา 23.30 น. และเริ่มจะตั้งชี้ขึ้นแนวตรงประมาณ 02.30 น.
เดือนกรกฎาคม : เริ่มขนานขอบฟ้าช่วงเวลาประมาณ 19.00 น. เริ่มเป็นรูปคันธนูช่วงเวลา 21.30 น. เริ่มจะตั้งชี้ขึ้นแนวตรงประมาณ 00.30 น. และตกจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 05.00 น.
เดือนสิงหาคม : เริ่มเป็นรูปคันธนูช่วงเวลา 19.30 น. เริ่มจะตั้งชี้ขึ้นแนวตรงประมาณ 22.30 น. และตกจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 03.00 น.
เดือนกันยายน : เริ่มจะตั้งชี้ขึ้นแนวตรงเวลาประมาณ 20.30 น. และตกจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 01.00 น.
เดือนตุลาคม : เริ่มจะตั้งชี้ขึ้นแนวตรงเวลาประมาณ 18.30 น. และตกจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 23.00 น.
เดือนพฤศจิกายน : เริ่มตกจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 21.00 น. (เดือนนี้พอจะเห็นบ้างประมาณ 19.00-20.00 น. แต่จะตกจากขอบฟ้าราว ๆ 21.00 น.)
เดือนธันวาคม : ทางช้างเผือกจะขึ้นในช่วงกลางวัน ไม่สามารถมองเห็นได้ยามค่ำคืน
รายละเอียดเพิ่มเติมตามตารางด้านล่างนี้


ข้อควรรู้ ล่าทางช้างเผือกอย่างไรให้ได้ให้โดน

- ทางช้างเผือกจะมีการเคลื่อนตัวตามเข็มนาฬิกา โดยจะขึ้นจากทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และตกจากขอบฟ้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
- การจะถ่ายทางช้างเผือก ควรไปถึงก่อนเวลาที่ขนานขอบฟ้า เพื่อที่จะได้หามุมที่ดีที่สุด
- จากตารางข้างต้น ถ้าหากไปถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงกลางเดือน ให้เผื่อเวลาเร็วขึ้นกว่าเดิมประมาณ 1 ชั่วโมง ส่วนถ้าไปช่วงปลายเดือนให้เผื่อเวลาเร็วขึ้นประมาณ 90 นาที
- การถ่ายภาพทางช้างเผือกควรไปถ่ายในพื้นที่ที่มีแสงรบกวนน้อย และควรหลีกเลี่ยงวันที่พระจันทร์เกินครึ่งดวงไปแล้ว
- ช่วงเดือนธันวาคม-มกราคมของทุกปี ทางช้างเผือกจะหมุนวนไปขึ้นในช่วงกลางวัน เพราะฉะนั้นจะไม่สามารถถ่ายภาพได้
- เดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มถ่ายทางช้างเผือกได้ แต่จะไม่เต็มรูปคันธนู
- เดือนมีนาคม เป็นเดือนที่สามารถถ่ายทางช้างเผือกเต็มรูปร่างคันธนูได้ และยังถ่ายคู่กับแสงเช้าสวย ๆ ได้อีกด้วย

- เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เป็นช่วงที่สามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกได้ตลอดคืน และยังถ่ายได้ทั้ง 3 รูปร่าง คือขนานขอบฟ้า โค้งคันธนู และชี้ตั้งขึ้นสู่ท้องฟ้า
- พยายามใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อเก็บรายละเอียดบนท้องฟ้าให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ดูรายละเอียดเกี่ยวกับทางช้างเผือกเพิ่มเติมได้ที่ atomiczen.net
หวังว่าข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่รักการถ่ายภาพไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วออกไปหาความสุขจากธรรมชาติรอบตัวด้วยกันนะคะ :)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
atomiczen.net, lesa.biz, เฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page