x close

ตามรอยคาทอลิก 2 อันซีน ริมฝั่งโขง

คาทอริค2

ด้านหน้าของโบสถ์ไม้มหัศจรรย์

พระเยซูในโบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้

กางเขนเหล็ก 8 ต้นที่วัดสองคอน

 



ตามรอยคาทอลิก 2 "อันซีน" ริมฝั่งโขง (มติชน)

คอลัมน์ บันทึกเดินทาง
โดย ชนัตพล หวังเพิ่ม

           ใครจะเชื่อว่า อีสานบ้านเฮา จะมีชุมชนชาวคริสต์ชุมชนใหญ่ ที่เกาะกลุ่มอยู่กันอย่างเหนียวแน่นมากว่า 1 ศตวรรษ!

           ซ้ำยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่งดงามทั้งรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนกับที่ไหน และยังมีวิถีชุมชนให้ได้เรียนรู้เรื่องราวที่น่าทึ่งอีกต่างหาก

           งานนี้ "การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" จัดให้เป็นหนึ่งในหลายๆ เส้นทางใหม่ที่เพิ่งลอนช์ออกมาตามสโลแกนที่ว่า "เที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก"

           เรียกย่อๆ ทริปนี้ว่า เส้นทาง "เยือนถิ่นคาทอลิก 2 อันซีน" 

           เจ้าภาพย่อมเป็น "ททท.ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" โดยได้รับความร่วมมือกับอีก 4 สมาคมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คัดสรรสถานที่สวยๆ และน่าสนใจมากๆ 4 จุดมาแนะนำกัน คือ "บ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร บ้านคำเกิ้ม จังหวัดนครพนม วัดสองคอน จังหวัดมุกดาหาร" แล้วปิดท้ายกันที่ "บ้านซ่งแย้ จังหวัดยโสธร"

           เริ่มกันที่ "บ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร"

           ใครที่ไม่เคยไป บ้านท่าแร่ อาจจะนึกถึงแต่ภาพของเนื้อสุนัข แต่ถ้าได้ไปเยือนจะพบกับความน่าอัศจรรย์ของรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ต่างจากที่คิด เพราะตลอดสองข้างทางเรียงรายด้วยบ้านเรือนสไตล์ฝรั่งเศส 

           แต่อลังการที่สุดเห็นจะเป็นโบสถ์ขนาดยักษ์รูปเรือ "โบสถ์อาสนวิหารอัครเทวดามิคาแอล"

           "วุฒิ" หนุ่มน้อยชาวท่าแร่ซึ่งทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ประจำถิ่น เล่าให้ฟังว่า ชุมชนแห่งนี้มีขึ้นตั้งแต่เมื่อ 125 ปีที่แล้ว ครั้งนั้นผู้คนที่อาศัยอยู่แถบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นชาวเวียดนาม ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส จึงไม่แปลกที่คนกลุ่มนี้จะนับถือศาสนาคริสต์ 

           ว่ากันว่า กลุ่มคนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านท่าแร่ส่วนหนึ่งเป็นแรงงานที่ถูกปลดปล่อยออกมา อีกส่วนเป็นคนที่ถูกชุมชนเดิมขับไล่เพราะเชื่อว่าเป็นผีปอบ 

           "ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ไทยกำลังมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสพอดิบพอดี ประชาชนชาวเวียดนามกลุ่มนี้จึงเสี่ยงหนีภัยสงครามเข้ามา โดยคุณพ่อซาเวียร์ เกโก มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ดูแลชาวบ้านในเวลานั้นได้ต่อเรือพาชาวบ้านข้ามฟากจนมาขึ้นฝั่งที่นี่ จึงจัดตั้งชุมชนชาวคริสต์ขึ้นมาใหม่ โดยการวางผังเมืองไว้อย่างเป็นระเบียบ เป็นบล็อคๆ คล้ายกับตารางหมากรุก" 

           จนปัจจุบันนี้ชุมชนมีประชากรเพิ่มขึ้นมากกว่า 15,000 คน

           ส่วนชื่อของ "ท่าแร่" นั้นมาจากลักษณะของพื้นที่ในบริเวณนั้นที่เป็นดินลูกรัง หรือ "หินแฮ่" เป็นส่วนใหญ่ แต่ภายหลังเรียกเพี้ยนกันมาเป็น "ท่าแร่"

คาทอริค

โบสถ์หลังเก่าที่วัดคำเกิ้ม

โลงแก้วบรรจุพระธาตุบุญราศี

สภาพของโบสถ์น้อยในปัจจุบัน




           "โบสถ์อาสนวิหารอัครเทวดามิคาแอล" ที่เห็นเป็นรูปเรือขนาดยักษ์ จึงสร้างขึ้นก็เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตเมื่อครั้งที่คนกลุ่มนี้อพยพ มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่เป็นครั้งแรก

           ปัจจุบันทุกเทศกาลคริสต์มาส ชุมชนแห่งนี้จะมีงานเฉลิมฉลองด้วยการประดับไฟ รวมทั้งการ "ติดดาว" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การประสูติของพระเยซูคริสต์

           จากท่าแร่ คณะออกเดินทางต่อ มีจุดหมายอยู่ที่ "บ้านคำเกิ้ม" ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม เพื่อ "ย้อนอดีตดูการอพยพมาตั้งถิ่นฐานของคริสต์ศาสนิกชนกลุ่มแรก" หลักฐานก็คือ โบสถ์เก่าที่ยังมีร่องรอยของการถูกทำลายจากสงครามอินโดจีน

           ที่วัดคำเกิ้ม "คุณพ่อศุภวัฒน์ ดอกเกตุ" เล่าว่า กลุ่มคริสต์ศาสนิกชนคำเกิ้ม เป็นชาวเวียดนามที่อพยพมารวมตัวกันอยู่ที่นครพนม จนมาถึงต้นเดือน มกราคม พ.ศ.2428 คุณพ่อซาเวียร์ เกโก ได้ปรึกษาร่วมกับคุณพ่อยอร์ช ดาแบง ในการเลือกถิ่นฐานของคริสตชนกลุ่มนี้ให้เหมาะสมกว่าที่เดิม 

           ในที่สุดจึงได้เลือกบ้านคำเกิ้ม มีการสร้างวัดและบ้านพักพระสงฆ์ โดยคุณพ่อซาเวียร์ เกโก เป็นเจ้าอาวาสคนแรก หลังจากนั้น "วัดคำเกิ้ม ได้กลายเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางมิสซังใหม่ของภาคอีสาน"

           แต่ในเวลาต่อมาด้วยความคับแคบของสถานที่และปัญหาด้านการเดินทาง บรรดาพระสงฆ์จึงได้เสนอให้ย้ายศูนย์มิสซังไปอยู่ที่หนองแสง เพื่อให้สะดวกต่อการสัญจร เนื่องจากอยู่ใกล้ลำน้ำโขง

           คุณพ่อศุภวัฒน์เล่าต่อว่า สำหรับวัดหลังเก่าที่ได้รับความเสียหายนั้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2447 เป็นวัดหลังที่ 2 ใช้ประกอบพิธีทางศาสนาเรื่อยมาจนกระทั่งปี พ.ศ.2483 ได้เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนและการเบียดเบียนศาสนา วัดหลังนี้จึงถูกยิงและเผาทำลาย แต่ก็ยังหลงเหลือไว้ให้เป็นประจักษ์พยานถึงเหตุการณ์ในอดีต

           จากจังหวัดนครพนม จุดหมายต่อไปคือ จังหวัดมุกดาหาร ใช้เวลาราว 2 ชม. ก็มาถึง "วัดสองคอน" หนึ่งในสองอันซีนของทริปนี้ 

           พอรถเลี้ยวเข้าเขตบริเวณวัด ดูเหมือนจะไม่มีใครคาดคิด เพราะถ้าไม่บอกคงไม่มีใครทายถูกว่า อาคารสีแดงที่ว่านี้ก็คือ วัดสองคอน! 

           "วัดสองคอน" หรือที่บางคนเรียกว่า "วัดพระแม่ไถ่ทาส" มีชื่อเต็มๆ ว่า "สักการะสถานแห่งมรณะสักขี วัดสองคอน" เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่คริสตชน 7 ท่าน ที่พลีชีพเพื่อยืนยันความเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า" 

           สิ่งที่เห็นตรงหน้า คือ อาคารสถาปัตยกรรมรูปทรงทันสมัย ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีแดงทั้งหลัง ด้านหน้ามีเสาเหลี่ยมขนาดใหญ่เรียงรายกันเป็นระยะๆ จำนวน 7 เสา 

           "คุณพ่อสมรชัย กระแสสิงห์" เล่าว่า ในปี พ.ศ.2483 ไทยมีปัญหาเรื่องพรมแดนกับฝรั่งเศสและต้องสูญเสียดินแดนบางส่วน จึงเกิดเป็นกรณีพิพาทอินโดจีน ซึ่งในเวลานั้นบาทหลวงส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศสจึงถูกขับไล่ เพราะเข้าใจว่าศาสนาคริสต์คือศาสนาของฝรั่งเศส และสั่งให้ชาวบ้านละทิ้งศาสนาที่นับถือเสีย 

           แต่หลังจากบาทหลวงออกไปกันแล้ว ก็ยังมีชาวสองคอนเป็นจำนวนมากที่ไม่ยี่หระ เพราะถึงแม้ว่าจะไม่มีบาทหลวง แต่พวกเขายังมีครูคำสอนกับซิสเตอร์คอยให้กำลังใจแก่ชาวบ้าน

           เมื่อตำรวจเห็นดังนั้น จึงหาทางกำจัดครูคำสอนด้วยการหลอกล่อให้ออกจากหมู่บ้านไปยิงทิ้งกลางทาง หลังจากนั้นซิสเตอร์จึงหารือกับชาวบ้านผู้ศรัทธาอีก 6 คน และได้ข้อสรุปที่จะยืนยันความเชื่อ จึงได้เขียนจดหมายถึงตำรวจ มีใจความที่ว่าพร้อมที่จะตายเพื่อยืนยันความเชื่อของตน 

           แม่ชีและชาวบ้านอีก 6 คน (รวมกันเป็น 7) จึงถูกสังหารที่บริเวณป่าศักดิ์สิทธิ์หลังจากนั้นไม่นาน 

           จากเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้ "สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์นปอลที่ 2" ได้ประกาศให้มรณะสักขีทั้งเจ็ดเป็น "บุญราศี" คือเป็นผู้สมควรแก่การเป็นแบบอย่าง จนมาถึงปี พ.ศ.2535 จึงมีการสร้างวัดสองคอนขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่บุญราศีทั้งเจ็ด

           ปัจจุบันภายในบริเวณวัด ทางด้านหลังซึ่งเป็นที่ตั้งของพระแท่นมีโลงแก้วซึ่งภายในบรรจุพระธาตุของ "บุญราศี" ทั้ง 7 เอาไว้ในหุ่นจำลอง ซึ่งมีคริสต์ศาสนิกชนหมุนเวียนกันมาขอพรอยู่ไม่ขาด

           รวมทั้งมีบ้านไม้ใต้ถุนสูงซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของซิสเตอร์ที่เสียชีวิต ถัดไปอีกเล็กน้อยยังมีกางเขนเหล็ก 8 ต้น ที่สร้างขึ้นตามความสูงของบุญราศี ส่วนเสาอีกต้นหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาและสูงที่สุดนั้นใช้แทนองค์พระเยซูเจ้า

           วัดหลังนี้สร้างตามความหมายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตัวโบสถ์จะมีเสา 7 ต้นอยู่ทุกมุม เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่บุญราศรีทั้งเจ็ด 

           ตัววัดเป็นกระจกแสดงถึงความโปร่งใสและจริงใจ ตัวโบสถ์ก่อขึ้นด้วยหินทรายสีแดงซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของคนท้องถิ่นนี้ ส่วนกำแพงโค้งล้อมรอบวัดรวมถึงทางเข้าที่มีแค่ทางเดียวเป็นตัวแยกวัดแห่งนี้ออกจากความวุ่นวายของโลกภายนอก คุณพ่อสมรชัยบอก

           ความสวยงามของวัดแห่งนี้มีมากมายแค่ไหน คงต้องไปเยี่ยมชมกันเอง 

           แค่ได้รับ "รางวัลสถาปัตยกรรมเหรียญทองเกียรตินิยมจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ปี 2539 และรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นเหรียญทองของสมาคมสถาปนิกแห่งเอเชีย ปี พ.ศ.2545" เท่านั้นเอง

           จากมุกดาหาร คณะเดินทางต่อไปยังจังหวัดยโสธร เพื่อไปยังจุดหมายสุดท้ายที่ "บ้านซ่งแย้" อ.ไทยเจริญ เพื่อชมโบสถ์ไม้มหัศจรรย์ของ "วัดอัครเทวดามีคาแอล" อีกหนึ่ง "อันซีน" ซึ่งเพียงแรกเห็นก็เล่นเอาคณะของเราตื่นตาตื่นใจไม่น้อยทีเดียว 

           เพราะต้นเสาแต่ละต้นจนถึงไม้แต่ละแผ่นนั้นมีสีสันและขนาดที่พอเหมาะ ที่สะดุดตาเป็นพิเศษ คือ "รูปปั้นพระเยซูที่แกะสลักจากไม้เนื้อดีงดงามราวกับเนรมิต"

           ส่วนแท่นรองด้านล่างแกะสลักเป็นภาพพระกระยาหารมื้อสุดท้าย โดยมีแสงไฟสลัวๆ จากดวงไฟ ช่วยเติมเต็มบรรยากาศต้องมนต์ขลังได้เป็นอย่างดี



คาทอริค2



           คุณพ่อบุญเลิศ พรหมเสนา เล่าถึงการสร้างโบสถ์ไม้หลังนี้ว่า 

           โบสถ์ไม้หลังนี้เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงและศรัทธาของชาวบ้าน โดยในปี พ.ศ.2479 ชาวบ้านนับพันคนมีความเห็นตรงกันว่า น่าจะมีการสร้างโบสถ์หลังใหม่ทดแทนกับหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จึงช่วยกันจัดหาไม้เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่ทันจะได้ก่อสร้าง ก็ถูกทางการยึดไปในช่วงที่มีการเบียดเบียนศาสนา 

           จนปี พ.ศ.2490 จึงได้ทำการรวบรวมไม้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง คราวนี้ได้ไม้กว่า 80,000 แผ่น และเสาอีก 227 ต้น แต่ก็มีผู้ไม่หวังดีปล่อยข่าวว่าไม้ที่นำมาใช้ก่อสร้างเป็นไม้ผิดกฎหมาย พอทางกรมป่าไม้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ เจ้าหน้าที่เมื่อเห็นเข้าเท่านั้นก็เกิดเปลี่ยนความคิด แนะนำให้ชาวบ้านเขียนเอกสารทำเรื่องว่าเป็นการบริจาค การก่อสร้างจึงเดินหน้าต่อไปและลุล่วงจนเป็นโบสถ์อย่างที่เห็น ประมาณปี พ.ศ.2496-2497

           คุณพ่อบุญเลิศ บอกอีกว่า ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าโบสถ์หลังนี้ไม่ได้เป็นแบบคริสต์เสียทีเดียว แต่เป็นศิลปะแบบผสมไทยอีสาน โดยดูได้จากต้นเสาที่มีลักษณะกลม เป็นการสะท้อนวิถีชีวิตที่ซื่อตรงและเรียบง่ายของคนอีสาน 

           "ถือเป็นโบสถ์ไม้หลังเดียวในประเทศไทย และอาจจะเป็นหลังเดียวในโลกด้วยซ้ำ ที่หาดูที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว"

แนะนำที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรม เพียบ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตามรอยคาทอลิก 2 อันซีน ริมฝั่งโขง อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13:46:31 2,614 อ่าน
TOP