งานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ 2559 ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2559 ณ เทศบาลนครเชียงใหม่ ประตูท่าแพ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา จังหวัดเชียงใหม่
"ประเพณียี่เป็ง" เป็นประเพณีสำคัญไทย ในช่วงวันเพ็ญเดือนยี่ (เดือนสอง) ของล้านนา กับภาพโคมลอยนับร้อย ๆ ดวงค่อย ๆ ลอยส่องแสงสว่างบนท้องฟ้า หนึ่งในสัญลักษณ์ของ "ประเพณียี่เป็ง" หรือประเพณีเดือนยี่ หรือประเพณีลอยกระทงแบบล้านนา ซึ่งประเพณีนี้งดงามจนใครที่เห็นอยากไปสัมผัสกับความตระการตาเหล่านี้สักครั้ง
ในภาษาคำเมืองของทางเหนือ
"ยี่" แปลว่า สอง และคำว่า "เป็ง" หมายถึง เพ็ญ หรือพระจันทร์เต็มดวง
ดังนั้น จึงหมายถึงประเพณีพระจันทร์เต็มดวงในเดือนสอง
โดยในพงศาวดารโยนกและจามเทวี
มีบันทึกว่าครั้งหนึ่งได้เกิดอหิวาตกโรคขึ้นในแคว้นหริภุญไชย
(หรือหริภุญชัย) ทำให้ชาวเมืองต้องอพยพไปอยู่เมืองหงสาวดี นานถึง 6 ปี
จึงจะเดินทางกลับมายังบ้านเมืองเดิมได้
เมื่อเวลาเวียนมาถึงวันที่จากบ้านจากเมืองไป
จึงได้มีการทำกระถางใส่เครื่องสักการบูชา ธูปเทียนลอย
ลอยตามน้ำเพื่อให้ไปถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับไป
เรียกว่าการลอยโขมดหรือลอยไฟ
ภาพจาก puwanai / shutterstock.com
ประเพณียี่เป็ง จะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 13 ค่ำ ซึ่งถือว่าเป็น "วันดา" หรือวันจ่ายของเตรียมไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ครั้นถึงวันขึ้น 14 ค่ำ พ่ออุ้ยแม่อุ้ยและผู้มีศรัทธาก็จะพากันไปถือศีลฟังธรรมและทำบุญเลี้ยงพระที่วัด มีการทำกระทงขนาดใหญ่ตั้งไว้ที่ลานวัด ในกระทงนั้นจะใส่ของกินของใช้ ใครจะเอาของมาร่วมสมทบด้วยก็ได้ เพื่อเป็นทานแก่คนยากจน และในวันขึ้น 15 ค่ำ จึงนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็ก ๆ ของส่วนตัวไปลอยในลำน้ำในงานบุญยี่เป็งยังมีการเทศน์มหาชาติ ผู้คนจะออกมาตกแต่งบ้านเรือน วัดวาอาราม และถนนหนทางด้วยต้นกล้วย อ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุงช่อประทีปและชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา ยามค่ำคืนจะมีการจุดโคมลอย ปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณี บนสรวงสรรค์ชั้นดาวดึงส์ จุดเด่นของงานนี้อยู่ที่การปล่อยโคมลอยขึ้นไปในท้องฟ้า โดยเชื่อกันว่าเปลวไฟในโคมเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ และแสงสว่างที่ได้รับจากโคมจะส่งผลให้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ยังพอตกกลางคืนก็จะมีมหรสพและการละเล่นมากมาย มีการแห่โคมทองพร้อมกับมีการจุดถ้วยประทีป (การจุดผางปะติ๊ด) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งการจุดโคมไฟประดับตกแต่งตามวัดวาอาราม และการจุดโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามความเชื่อการปล่อยว่าวไฟหรือโคมลอยนี้ เพื่อให้นำเอาเคราะห์ร้าย ภัยพิบัติต่าง ๆ ออกไปจากหมู่บ้าน ดังนั้นว่าวหรือโคมลอยที่ปล่อยขึ้นไปถ้าไปตกในบ้านใคร บ้านนั้นต้องจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์เพื่อล้างเสนียดจัญไรทั้งปวงออกไป นอกจากนี้ยังถือกันว่าเป็นการทำเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเพื่อความสนุกสนาน สร้างความสามัคคีกันในหมู่บ้านอีกด้วย
ส่วนภายในมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ดังนี้
● 2. ประกวดกระทงลอยน้ำประดับเมือง วันที่ 12-15 พฤศจิกายน 2559 ณ บริเวณคูเมือง
● 3. พิธีเปิดงานประเพณีเดือนยี่เป็ง วันที่ 13 พฤศจิกายน 2559 ณ ข่วงประตูท่าแพ
● 4. ประเพณีตั้งธรรมหลวงต๋ามผางปะตี๊ดบูชาพระธาตุเจดีย์ วันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2559 ณ วัดโลกโมฬี
● 5. สืบฮีต สานฮอย ฮอมปอย ไหว้สาพระสิริมังคลาจารย์ วันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2559 ณ พุทธสถานจังหวัดเชียงใหม่
● 6. การประกวดจัดซุ้มประตูป่า วันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2559 ณ วัดและชุมชนในเขตเทศบาล
● 7. พิธีบวงสรวงศาลพระภูมิ, เจดีย์ขาว, ขอขมาแม่น้ำปิง วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ณ สำนักงานเทศบาล
● 8. การประกวดกระทงฝีมือใบตอง-ดอกไม้สด วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ณ สำนักงานเทศบาล
● 9. การปล่อยกระทงสืบสานล้านนา วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ณ ลำน้ำปิง หน้าสำนักงานเทศบาล
● 10. การประกวดขบวนแห่กระทงใหญ่ ชิงถ้วยรางวัลนายกรัฐมนตรี วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 ณ ข่วงประตูท่าแพ, สำนักงานเทศบาล
ทั้งนี้สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0 5324 8604-5 หรือ TAT Call Center 1672
หมายเหตุ : มีการจัดงานยี่เป็งตามปกติ แต่จะมีการปรับรูปแบบใหม่ด้วยการตัดภาคบันเทิงและกิจกรรมรื่นเริงต่าง ๆ ออก ข้อมูล ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2559
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
, suvarnabhumiairport.com