x close

28 สิ่งน่ารู้ประเทศภูฏาน ดินแดนในหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์

          ภูฏาน รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภูฏาน สำหรับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะไปเที่ยวภูฏาน ก่อนเดินทางไปเที่ยวภูฏานต้องเตรียมตัวอย่างไร มีอะไรที่ต้องรู้ไว้บ้าง ไปดูกัน

          ประเทศภูฏาน เป็นอีกหนึ่งดินแดนที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างต้องการไปสัมผัส เพราะที่นี่มีอารยธรรม วัฒนธรรมประเพณีที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ พร้อมทั้งยังมีธรรมชาติที่สวยงามอุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาสูงใหญ่อันอบอุ่น ยิ่งมีการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวที่สามารถเข้าเที่ยวภูฏานได้เพียงประมาณปีละ 20,000 คน ก็ยิ่งทำให้ดินแดนแห่งนี้ยิ่งน่าค้นหาและน่าไปเยือนมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับใครที่กำลังวางแผนจะเดินทางไปเที่ยวประเทศภูฏาน วันนี้เราได้รวบรวมข้อควรรู้และเกร็ดท่องเที่ยวภูฏานเล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝากกันค่ะ จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกัน

         ● 1. ภูฏาน (Bhutan) มีชื่อเรียกทางราชการว่า ราชอาณาจักรภูฏาน (Kingdom of Bhutan) ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับทิเบต ที่เหลือติดกับประเทศอินเดีย ไม่มีทางออกทะเล

ภูฎาน


          ● 2. ภูฏาน เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กมาก เทียบได้กับ 7.5% ของไทย โดยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 38,394 ตารางกิโลเมตร

          ● 3. ประเทศภูฏาน มีระบบการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (His Majesty King Jigme Khesar Namgyel Wangchuck) และมีพระราชินี คือ สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก (Her Majesty Queen Jetsun Pema Wangchuck)

          ● 4. เมืองหลวงของประเทศภูฏาน คือ เมืองทิมพู (Thimphu)

          ● 5. เมืองที่สำคัญอื่น ๆ ของประเทศภูฏาน อาทิ เมืองพาโร (Paro) ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ และเมืองพูนาคา (Punaka) เป็นเมืองหลวงเก่า ปัจจุบันใช้เป็นพระราชวังฤดูหนาว

ภูฏาน
ภาพจาก Nutkerdphoksap / shutterstock.com

         ● 6. ประชาชนชาวภูฏานประกอบด้วย 3 เชื้อชาติ ได้แก่

          1. ชาชอฟ (Sharchops) ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ทางภาคตะวันออก
          2. นาล็อบ (Ngalops) ชนเชื้อสายทิเบต ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันตก
          3. โชซัม (Lhotshams) ชนเชื้อสายเนปาล ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคใต้

          ● 7. ชาวภูฏานจะใช้ภาษาซงข่า (Dzongkha) เป็นภาษาราชการ บางคนสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้อย่างดี

          ● 8. ชาวภูฏานส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธมหายาน นิกายกายุบปา (Kagyupa)

          ● 9. การเดินทางไปเที่ยวประเทศภูฏาน นักท่องเที่ยวชาวไทยจะต้องทำวีซ่า ซึ่งจะต้องทำผ่านบริษัททัวร์ที่ได้มีการจดทะเบียนถูกต้องกับรัฐบาลภูฏานเท่านั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณาการอนุมัติวีซ่าเข้าประเทศภูฏาน คือ Tourism Council of Bhutan (TCB) สามารถดูรายชื่อบริษัททัวร์ต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์ tourism.gov.bt

ภูฏาน

          ● 10. การทำวีซ่าภูฏาน จะต้องเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้พร้อมตามที่บริษัททัวร์แนะนำ อาทิ หนังสือเดินทางที่มีอายุใช้งานอย่างน้อย 6 เดือนนับจากวันเดินทาง, รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว, ใบรับรองการทำงาน, เอกสารการจองตั๋วเครื่องบิน/ที่พักในภูฏาน เป็นต้น ทั้งนี้ต้องตรวจสอบข้อมูลจากเอเจนซี่อีกครั้ง

          ● 11. การยื่นเรื่องทำวีซ่ากับตัวแทนการท่องเที่ยวอย่างบริษัททัวร์ นักท่องเที่ยวจะต้องชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมดก่อนการดำเนินวีซ่า เพราะทางบริษัททัวร์จะต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนไปยังการท่องเที่ยวภูฏาน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทางการท่องเที่ยวภูฏานกำหนดมา (บริษัททัวร์จะแจ้งให้ทราบก่อนการซื้อแพ็กเกจทัวร์)

          ● 12. นอกจากการทำวีซ่าผ่านเอเจนซี่แล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่สามารถเข้าไปเที่ยวยังประเทศภูฏานได้ ก็คือการเป็นแขกของรัฐบาลภูฏาน หรือได้รับการเชื้อเชิญจากคนภูฏาน

          ● 13. การเดินทางไปเที่ยวประเทศภูฏาน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเดินทางทางอากาศ โดยปัจจุบันมีเพียง 2 สายการบินเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้บินลงที่สนามบินพาโร (Paro Airport) เมืองพาโร คือสายการบิน Drukair และสายการบิน Bhutan Airlines

         ● 14. นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวภูฏานส่วนใหญ่จะมากับบริษัททัวร์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทางบริษัททัวร์จะจัดรถไว้สำหรับการท่องเที่ยวในภูฏานให้กับนักท่องเที่ยว จะเป็นรถแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนคน

         ● 15. สกุลเงินของภูฏานคือเงินงุลตรัม (Ngultrum) โดย 1 งุลตรัม = 0.45 บาท (ณ วันที่ 2 กันยายน 2564) นักท่องเที่ยวควรเตรียมแลกเงินไปให้พร้อม เพราะบางสถานที่ไม่รับบัตรเครดิต

         ● 16. เวลาที่ภูฏานจะช้ากว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง

ภูฏาน

          ● 17. อากาศของภูฏานจะหนาวเย็นตลอดทั้งปี ควรเตรียมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถุงเท้า หรือผ้าพันคอที่ช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายไปด้วย

         ● 18. ช่วง High Season ของภูฏานจะอยู่ราว ๆ เดือนมีนาคม-พฤษภาคม และเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ส่วนช่วงเดือนธันวาคม-เดือนกุมภาพันธ์ จะเป็นฤดูหนาว อากาศจะหนาวเย็นมาก ส่วนช่วง Low Season จะอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เพราะในช่วงนี้จะเป็นฤดูฝน ท้องฟ้าหม่นหมอง บางเส้นทางหรือบางสถานที่ท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าเที่ยวชมได้ เพราะฝนตกหนักดินถล่ม บางวันอาจจะต้องยกเลิกเที่ยวบิน เพราะอากาศไม่เป็นใจ

         ● 19. ปลั๊กไฟภูฏาน ที่นี่จะใช้แรงดันไฟฟ้าปกติ คือ 230V/50hz ตัวปลั๊กจะมีทั้งแบบขากลม 2 ขา และขากลม 3 ขา เพราะฉะนั้นควรเตรียม Universal Adapter ไปด้วย

ภูฏาน

          ● 20. ที่พักภูฏาน จะมีให้นักท่องเที่ยวเลือกหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมหรูหรา 5 ดาว, เกสต์เฮ้าส์ หรือโฮมสเตย์ ทั้งนี้นักท่องเที่ยวสามารถปรึกษากับทางบริษัททัวร์ได้เลยโดยตรง

          ● 21. อาหารภูฏาน คนภูฏานจะกินข้าวเป็นหลักเหมือนกับประเทศไทย แต่กับข้าวจะแตกต่าง เพราะจะมีเครื่องเทศและส่วนผสมที่ไม่เหมือนกับอาหารไทย

          ● 22. สถานที่ท่องเที่ยวห้ามพลาดในภูฏาน อาทิ Tashichho Dzong, Taktsang Monastery, Paro Rinpung Dzong, Dochula Pass, Punakha Dzong, National Memorial Chorten และ Trongsa Dzong เป็นต้น

          ● 23. เทศกาลที่สำคัญเทศกาลหนึ่งของชาวภูฏาน ก็คือเทศกาลระบำหน้ากากหรือเทศกาลเซซู (Tshechus) ซึ่งจะจัดขึ้นในเมืองสำคัญอย่างเมืองพาโร, เมืองทิมพู, เมืองพูนาคา ฯลฯ โดยจะจัดกันแค่ปีละครั้งเท่านั้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทศกาลท่องเที่ยวในภูฏานได้ที่เว็บไซต์ tourism.gov.bt

ภูฏาน
ภาพจาก Caroline Pang / shutterstock.com

          ● 24. ชาวภูฏานมีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นในบางสถานที่ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะต้องแต่งกายให้สุภาพ อยู่ในอิริยาบถที่สำรวม เพื่อให้เกียรติแก่สถานที่

         ● 25. หากมีการเดินขึ้นเขาหรือที่สูง นักท่องเที่ยวจะต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม เพราะอาจจะเป็นโรคแพ้ความกดดันอากาศในที่สูงได้

         ● 26. การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำและผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นควรสูบในพื้นที่ที่มีการจัดไว้ให้ และถ้ามีการนำบุหรี่เข้าไปยังประเทศภูฏานจะต้องเสียภาษี 200% ตามราคาบุหรี่ที่นำเข้าไปด้วย

         ● 27. การใช้อินเทอร์เน็ตในภูฏาน โดยปกติแล้วตามโรงแรมหรือร้านอาหารใหญ่ ๆ จะมีอินเทอร์เน็ตไร้สายให้ลูกค้าได้ใช้งาน ต้องตรวจสอบกับโรงแรมที่จะเข้าพักหรือร้านอาหารอีกครั้ง

          ● 28. ของฝากภูฏาน ส่วนใหญ่จะเป็นงานหัตถกรรมพื้นเมือง ซึ่งล้วนแต่เป็นฝีมือของชาวบ้าน สินค้าที่น่าสนใจ อาทิ ผ้าทอ, เครื่องประดับเงิน, ทังก้า, งานไม้แกะสลัก, เครื่องจักสานหวายและไม่ไผ่, ของที่ระลึกที่ทำด้วยกระดาษสา, กระเป๋าสะพายแบบพื้นเมือง และกระเป๋าผ้าใส่เหรียญ เป็นต้น

ภูฏาน
ภาพจาก gnohz / shutterstock.com 
 

         
นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรภูฏานประจำประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2274-4740-2 ที่อยู่ 375/1 ซอยรัชดานิเวศน์ ถนนประชาอุทิศ แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ เวลาทำการ : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก
tourism.gov.bt, sameaf.mfa.go.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
28 สิ่งน่ารู้ประเทศภูฏาน ดินแดนในหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์ อัปเดตล่าสุด 2 กันยายน 2564 เวลา 15:57:12 60,747 อ่าน
TOP