ที่เที่ยวชัยภูมิ จังหวัดใหญ่อันดัน 3 ภาคอีสาน

















          ที่เที่ยวชัยภูมิ มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ทั้ง ทุ่งดอกกระเจียว จ.ชัยภูมิ ปรางค์กู่ มอหินขาว ภูคิ้ง และอื่น ๆ อีกมากมาย  

          นี่คือคำขวัญของจังหวัดที่ขึ้นชื่อว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวแจ่ม ๆ เจ๋ง ๆ อันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ใช่แล้ว! เรากำลังเอ่ยถึง "ชัยภูมิ" จังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของประเทศ เป็นอันดับที่ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือบ้านเฮา ที่สำคัญ ชัยภูมิ ไม่ได้มีดีแค่ความใหญ่เท่านั้น เมืองนี้ยังมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ก่อเกิดขึ้นมากมาย และวันนี้กระปุกดอทคอมจะพาเพื่อน ๆ ไปเปิดประตูทำความรู้จักกับ ชัยภูมิ ให้มากกว่าเดิมกัน

          จังหวัดชัยภูมิ นับเป็นที่ตั้งของแหล่งอารยธรรมอันเก่าแก่นับตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยขอม กระทั่งสมัยที่ได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรล้านช้าง มีการค้นพบโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมายในหลายพื้นที่ของจังหวัด ต่อมาปรากฏชื่อเป็นเมืองหน้าด่านในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา คู่กับเมืองบุรีรัมย์ ภายหลังจึงร้างไป
          จากนั้นชัยภูมิมาปรากฏชื่ออีกครั้งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยมีชาวเมืองเวียงจันทน์ ที่มี นายแลเ ป็นหัวหน้า พากันมาตั้งหลักปักฐานในบริเวณที่เรียกว่าโนนน้ำอ้อม และคงใช้ชื่อเมืองตามเดิมว่าชัยภูมิ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ก่อการกบฏยกกองทัพเข้ามาตีเมืองนครราชสีมาและ หัวเมืองรายทาง นายแล เจ้าเมืองชัยภูมิจึงยกไพร่พลไปสมทบกับกำลังของ คุณหญิงโม ตีทัพของเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์แตกพ่ายไป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ คุณหญิงโม เป็นท้าวสุรนารี และให้ นายแล เป็น พระยาภักดีชุมพล 

          ต่อมาฝ่ายกองทัพลาวได้เกลี้ยกล่อมให้ พระยาภักดีชุมพล เข้าร่วมเป็นกบฏด้วย แต่ พระยาภักดีชุมพล ไม่ยอม เจ้าอนุวงศ์ เกิดความแค้นจึงจับตัว พระยาภักดีชุมพล มาประหารชีวิตที่บริเวณใต้ต้นมะขามใหญ่ริมหนองปลาเฒ่า ซึ่งต่อมาชาวชัยภูมิได้ระลึกถึงคุณความดีที่ท่านมีความซื่อสัตย์ และเสียสละต่อแผ่นดิน จึงได้พร้อมใจกันสร้างศาลขึ้น ณ บริเวณนั้น ปัจจุบันได้สร้างศาลขึ้นใหม่เป็นศาลาทรงไทยชื่อว่า "ศาลาพระยาภักดีชุมพล (แล)" มีรูปหล่อของท่านอยู่ภายใน เป็นที่เคารพกราบไหว้และถือเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของจังหวัด ทั้งนี้ เจ้าเมืองชัยภูมิคนต่อมาที่สืบเชื้อสายมาจากพระยาภักดีชุมพล (แล) ก็ยังคงใช้ราชทินนามว่าพระยาภักดีชุมพล

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ ....



อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล)

          ตั้งอยู่กลางวงเวียนศูนย์ราชการ ในตัวเมือง ชาวชัยภูมิได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่เจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ เมื่อปีพ.ศ.2518 เพื่อเป็นที่ระลึกถึง พระยาภักดีชุมพล ผู้ก่อตั้งเมืองชัยภูมิซึ่ง ชาวชัยภูมิทั้งหลายเรียกท่านว่า "เจ้าพ่อพระยาแล"



เขื่อนจุฬาภรณ์/ เขื่อนน้ำพรม

          ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร สร้างปิดกั้นลำน้ำพรมบนเทือกเขาขุนพาย ลักษณะเขื่อนเป็นเขื่อนหินทิ้ง แกนกลางเป็นดินเหนียว ตัวสันเขื่อนยาว 700 เมตร ความสูงจากฐานราก 70 เมตร เป็นลักษณะเขื่อนเอนกประสงค์ ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าและยังอำนวยประโยชน์ในด้านเกษตรกรรม ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดอีกด้วย นอกจากนี้ บริเวณโดยรอบของเขื่อน ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกคือ พระพุทธสิริสัตตราชจำลอง (หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์) ประดิษฐานที่บริเวณหัวเขื่อนฝั่งซ้าย ตรงข้ามสวนเขื่อนจุฬาภรณ์ สวนเขื่อนจุฬาภรณ์ ตกแต่งเป็นป่าอนุรักษ์ ในพื้นที่ประมาณ 41 ไร่ มีไม้ป่านานาชาติ

          ศาลาชมวิวหลุบควน เป็นจุดชมวิวอยู่ที่ระดับความสูง 800 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มีสถานที่กางเต็นท์พักแรมและแคมป์ไฟ บริเวณริมอ่างเก็บน้ำ ถานริมน้ำข้างพระตำหนัก มีบรรยากาศสงบร่มรื่น สามารถมองเห็นสันเขื่อนได้ นอกจากนี้ ยังสถานที่น่าสนใจอื่น ๆ อีกเช่น ทุ่งกะมัง สถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว สวนรุกขชาติน้ำผุดทับลาว ถ้ำค้างคาวภูผาม่าน เป็นต้น

          การเดินทาง จากตัวเมืองชัยภูมิ ใช้เส้นทางสายชัยภูมิ-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 201) ถึงทางแยกหนองสองห้อง เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2055 รวมระยะทางจากตัวเมืองชัยภูมิประมาณ 120 กิโลเมตร หรือหากเดินทางมาตามเส้นทางสายหล่มสัก-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12) เมื่อถึงบริเวณอำเภอคอนสารมีทางแยกไปเขื่อนจุฬาภรณ์อีก 39 กิโลเมตร



ใบเสมา บ้านกุดโง้ง

          ใบเสมาหินทรายศิลปทวารวดีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 ที่พบเป็นจำนวนมากในบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านได้ถูกนำมารวบรวมไว้ในอาคารอย่างเป็นระเบียบ ส่วนมากมีลักษณะเป็นแผ่นใหญ่ ด้านหน้าจำหลักลายและบางแผ่นมีจารึกอยู่ที่ด้านหลังด้วย ลวดลายที่ปรากฏเป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนา เล่าเรื่องชาดกตอนต่าง ๆ หรือเป็นภาพรูปเคารพ นับเป็นกลุ่มเสมาที่สวยงามแห่งหนึ่งในอีสาน โดยเก็บรักษาอยู่ภายในบริเวณโรงเรียนวัดกุดโง้ง ตำบลกุดตุ้ม จากตัวเมืองชัยภูมิไปตามทางหลวงหมายเลข 202 ประมาณ 12 กิโลเมตร มีทางแยกขวาไปอีก 3 กิโลเมตรถึงบ้านกุดตุ้ม แล้วแยกขวาเข้าเส้นทางสาย กุดตุ้ม-บุ่งคล้า อีก 4 กิโลเมตร 

วัดศิลาอาสน์ ภูพระ

          ตั้งอยู่ที่บ้านนาไก่เซา ตำบลนาเสียว ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิไปตามทางหลวงหมายเลข 201 (ชัยภูมิ-ภูเขียว) ประมาณ 13 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตามทางสายนาเสียว-ห้วยชันประมาณ 5 กิโลเมตร โดนเป็นภูเขาเตี้ย ๆ มีโบราณวัตถุ คือ รอยสลักหินเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ ชาวบ้านเรียกว่า "พระเจ้าองค์ตื้อ" มีลักษณะพระหัตถ์ขวาวางอยู่ที่พระเพลา พระหัตถ์ซ้ายวางพาดอยู่ที่ พระชงฆ์ หน้าตักกว้าง 5 ฟุต สูง 7 ฟุต เรียกว่ารอบ ๆ พระพุทธรูปองค์นี้มีรอยแกะหินเป็นรูปพระสาวกอีกหลายองค์ ฐานว่าอาจจะสร้าง ในสมัยรุ่นราวคราวเดียวกับปรางค์กู่ ก็เป็นได้ ซึ่งทุก ๆ ปี จะมีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ขึ้นไปกราบไหว้พระเจ้าองค์ตื้อ ในวันขึ้น 13, 14 และ 15 ค่ำ เดือน 5 เป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้คนเลื่อมใสว่า "หมอรักษาเป็นหมอลำ" ให้การรักษาคนป่วย ขอให้หาย โดยบนบานต่อพระเจ้าองค์ตื้อจะได้สมความปรารถนา 



ปรางค์กู่

          ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลในเมือง จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 202 (ชัยภูมิ-บัวใหญ่) ประมาณ 1 กิโลเมตร มีทางแยกขวาเข้าปรางค์กู่ตามทางหลวง 2158 เป็นระยะทางอีก 2 กิโลเมตร ปรางค์กู่ เป็นปราสาทหินสมัยขอม ที่มีแผนผังและลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทอื่นที่เป็นอโรคยาศาล หรือสถานพยาบาลที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 นั่นคือ มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง 1 องค์ วิหารหรือบรรณาลัยด้านหน้า 1 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง นอกกำแพงตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำ 1 สระ ที่ช่องประตูหลอกด้านทิศเหนือ มีพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ ศิลปะแบบทวารวดี สูง 1.75 เมตร ประดิษฐานอยู่ โดยเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ชาวชัยภูมิให้การเคารพสักการะ มีการจัดงานประจำปีในช่วงกลางเดือน 5 ของทุกปี 



ภูคิ้ง

          มีลักษณะเป็นภูเขาหินที่มีความสูงที่สุดของป่าภูเขียว ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมรดกเม็ดงามแห่งอีสานใต้ มีความสูงถึง 1,214 เมตร จากระดับน้ำทะเล สูงเป็นอันดับ 5 ของยอดเขาในภาคอีสาน รองจากภูหลวง ภูเรือ เขาแหลม และภูกระดึง ตามลำดับ ด้านหนึ่งเป็นภูผาสูงที่ให้มุมมองไกลสุดตา มีลานหินกว้างยื่นมาจากหน้าผา สามารถมองเห็นเขื่อนห้วยกุ่ม ภูกระดึง ภูแลนคา ภูเวียง หากมองลงตรงหุบเขาแคบ ๆ ด้านล่างจะเห็นทุ่งนา ไร่สวน เขื่อน อ่างเก็บน้ำ

          ยอดภูคิ้ง มีจุดท่องเที่ยวหลากหลาย เช่น ทุ่งหญ้าสะวันนา ที่มีความกว้างคล้ายสนามกอล์ฟบนภูเขาสูง พันธุ์ไม้ กล้วยไม้และสัตว์ป่านานาชนิด แลหินเงิบที่มีลักษณะเป็นหินวางซ้อนทับคล้ายเพิงหมาแหงน บริเวณนี้เป็นแหล่งกำเนิดพืชกินแมลง "หม้อข้าวหม้อแกงลิง" แลหินจ้อง ห่างจากแลหินเงิบ 3 กิโลเมตร จะเห็นเนินมหัศจรรย์วางซ้อนทับกับก้อนมหึมา แต่มีจุดตั้งเล็ก ๆ เท่ากำปั้นเท่านั้น ชาวบ้านเรียก "หินจ้อง" หมายถึง ร่ม ในภาษาถิ่น เรียกว่า "แหลหินตัง" หรือ "แหลพรานอ่อน" การเดินทางพิชิตยอดภูคิ้ง ดังคำพูดเปรียบเปรยว่า "สี่ภูกระดึงยังไม่เท่าหนึ่งภูคิ้ง"

          การเดินทาง จากตัวเมืองชัยภูมิใช้ทางหลวงหมายเลข 2159 (ชัยภูมิ-หนองบัวแดง) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 2037 หนองบัวแดง-เกษตรสมบูรณ์ วิ่งเข้าเส้นทางสายเกษตร-บ้านกลาง ถึงบ้านบุ่งสิบสี่และบ้านโนนหนองไฮ รวมระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตร จากเชิงเขาถึงยอดภูคิ้ง มีระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร มีความสูงชันเกือบ 80 องศา บางช่วงต้องโหนเถาวัลย์ขึ้นและใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงในการพิชิตภูคิ้ง





มอหินขาว

          ตั้งอยู่ที่บ้านวังคำแคน หมู่ 9 ตำบลท่าหินโงม อำเภอเมือง เป็นกลุ่มหินทรายสีขาวขนาดใหญ่กลางทุ่งหญ้าบนเนินเขา มองเห็นได้เด่นชัดในระยะไกล ๆ ลักษณะคล้ายสโตนเฮ็นจ์ ของประเทศอังกฤษ มีอายุระหว่าง 197-175 ล้านปี เกิดจากการสะสมของตะกอนทรายแป้ง และดินเหนียวจากทางน้ำ ต่อมาสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง การตกตะกอนเปลี่ยนเป็นทราย ในสภาวะอากาศแบบแห้งแล้งกึ่งร้อนชื้น ทับถมลงบนตะกอนทรายแป้งและดินเหนียวที่เกิดก่อน จึงแข็งตัวกลายเป็นหิน หลังจาก 65 ล้านปีที่ผ่านมา เกิดการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกจากแรงบีบด้านข้างทำให้มีการคดโค้ง แตกหัก ผุพังและการกัดเซาะทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ก่อให้เกิดลักษณะของเสาหินและแท่งหินอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งมีรูปร่างและลักษณะแตกต่างกันออกไป ตามจินตนาการของผู้พบเห็น 

          นอกจากนี้ บริเวณรอบ ๆ ยังมีกลุ่มหินอีกหลายแห่งซึ่งสามารถเดินศึกษาธรรมชาติได้ ทั้งยังเป็นพื้นที่ศึกษาสังคมของพันธุ์พืชต่างๆ สัตว์ป่าขนาดเล็ก แมลงและเป็นแหล่งป่าต้นน้ำลำธารภูแลนคาซึ่งชาวบ้านทำฝายกั้นน้ำกักเก็บไว้ ใช้

          การเดินทาง จากตัวจังหวัดชัยภูมิ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2051 ถนนสายชัยภูมิ – ตาดโตน เป็นทางลาดยางระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายก่อนถึงด่านของอุทยานแห่งชาติตาดโตน ตามถนนตาดโตน – ท่าหินโงม เป็นทางลาดยางประมาณ 12 กิโลเมตร แยกซ้ายตามถนนแจ้งเจริญ – โสกเชือก เป็นทางลูกรัง ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร ถึงบ้านวังคำแคน จากนั้นเลี้ยวขวาตรงบ้านวังคำแคน ไปอีกประมาณ 3.5 กิโลเมตร ก็ถึง ในช่วงฤดูฝนควรใช้รถยนต์ประเภทรถกระบะหรือรถขับเคลื่อนสี่ล้อ เพื่อความเหมาะสมกับเส้นทาง 



อุทยานแห่งชาติภูแลนคา

          ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน สภาพป่ามีทั้งป่าทึบและป่าโปร่ง เป็นต้นน้ำลำธารของลำห้วยที่ไหลลงสู่แม่น้ำชี มีจุดเด่นทางธรรมชาติหลากหลายทั้งหน้าผาสันเขา ลานหินและก้อนหินรูปร่างแปลก ๆ รวมทั้งพืชพันธุ์ที่น่าสนใจ เหมาะมาเที่ยวชมในระหว่าง เดือนพฤษภาคม-ธันวาคม ทางอุทยานได้จัดทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติผ่านสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ของอุทยาน ได้แก่ 

          ทุ่งดอกกระเจียว เป็นพื้นที่ป่าเต็งรังที่มีต้นกระเจียวขึ้นอยู่ตามซอกหินสลับกับต้นไม้นานา ชนิด มีทั้งดอกสีชมพูและดอกสีขาว เหมาะมาเที่ยวชมในช่วง เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม

          ลานหินแตก เป็นลานหินที่แตกเป็นร่องลึกตามธรรมชาติ ทอดตัวยาวตามแนวหน้าผาสันเขา สามารถชมทัศนียภาพพื้นที่อำเภอหนองบัวแดงและเกษตรสมบูรณ์ ใกล้กันเป็นผากล้วยไม้ ในช่วงปลายฝนต้นหนาวมีกล้วยไม้ที่เกาะตามก้อนหินและคาคบไม้ออกดอกสวยงามมาก

          ประตูโขลง เป็นก้อนหินขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายประตูหิน บริเวณโดยรอบยังมีก้อนหินลักษณะแปลกพิศดารจำนวนมากสลับกับป่าเต็งรัง

          ผากล้วยไม้ เป็นหน้าผาสูงลดหลั่นตามลำดับ โดยทอดตัวยาวติดต่อกัน มีพันธุ์กล้วยไม้หายากหลายชนิดขึ้นเป็นจำนวนมากตลอดหน้าผา

          ภูคี เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูแลนคา เชื่อมต่อกันระหว่างอำเภอเกษตรสมบูรณ์กับอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,038 เมตร เป็นยอดภูที่สูงที่สุดของพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งสามารถมองเห็นภูมิประเทศและบรรยากาศภูหยวก ภูตะเภา เทือกเขาภูเขียว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และมีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี รวมทั้งพื้นที่ที่มีพันธุ์ไม้ป่าและสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก

          ภูเกษตร เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูแลนคา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 966 เมตร เป็นยอดภูที่สูงเป็นอันดับสองรองจากภูคีของพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งสามารถมองเห็นภูมิประเทศและบรรยากาศของภูคี ภูอ้ม ภูคล้อ ภูกลาง เทือกเขาภูเขียว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เป็นพื้นที่ที่ภูมิประเทศหนาวเย็นและแห้งแล้ง เพราะสภาพพื้นที่ป่าไม้บนยอดภูถูกทำลายจากการบุกรุกพื้นที่ของราษฎร และกลายเป็นไร่ร้างที่มีพื้นที่กว้างใหญ่บนเทือกเขาภูแลนคา

          นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ซึ่งมีก้อนหินแปลก ๆ อีกหลายแห่ง ได้แก่ ป่าหินงามปราสาท ป่าหินงามหงส์ฟ้า ป่าหินงามจันทน์แดงและแนวหน้าผาซึ่งเป็นจุดชมวิวสวยงาม อุทยานฯ มีบ้านพักรับรองและสถานที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวกางเต็นท์พักแรม สอบถามรายละเอียดได้ที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคา ตำบลห้วยต้อน อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ โทร. 0 4481 0902-3 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th

          การเดินทาง จากตัวเมืองชัยภูมิเดินทางไปตามทางหลวง 2051 ประมาณ 6 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวง 2159 ทางไปหนองบัวแดงอีก 20 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯซึ่งตั้งอยู่ริมถนนด้านซ้ายมือ มีรถสองแถวสายชัยภูมิ-หนองบัวแดง วิ่งผ่านหน้าที่ทำการอุทยานฯ





อุทยานแห่งชาติตาดโตน

          ตั้งอยู่ในตำบลนาฝาย ตำบลท่าหินโหม ตำบลห้วยต้อน และตำบลนาเสียว ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเทือกเขาภูแลนคา มีน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง ได้แก่ น้ำตกตาดโตน น้ำตกตาดฟ้า และน้ำตกผาเอียง น้ำตกตาดโตน เป็นน้ำตกที่สวยงามใกล้ที่ทำการอุทยานฯ มีน้ำไหลตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูฝนจะสวยงามเป็นพิเศษ มีความสูงประมาณ 6 เมตร และกว้าง 50 เมตร ด้านบนเป็นธารน้ำไหลผ่านลานหินสองฝั่งธารร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ เหมาะที่จะนั่งพักผ่อนชมธรรมชาติและเล่นน้ำ 

          บริเวณน้ำตกมี ศาลเจ้าพ่อตาดโตน (ศาลปู่ด้วง) มีประวัติว่า เจ้าพ่อตาดโตนเป็นคนเชื้อสายเขมร อพยพเข้าเมืองไทย ในเวลาใกล้เคียงกับพ่อพระยาแล (พระยาภักดีชุมพล) ท่านบำเพ็ญตนเป็นชีปะขาวยึดมั่นในสมถะ กรรมฐาน ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และช่วยรักษาคนไข้ เป็นที่นับถือเลื่อมใสของราษฎรมาก เมื่อถึงแก่กรรมจึงมีการสร้างศาลขึ้น เพื่อเป็นที่เคารพสักการะไว้หลายแห่ง นอกจากที่น้ำตกตาดโตนแล้วยังมีศาลปู่ด้วงที่ช่องสามหมอ และที่วัดชัยภูมิพิทักษ์อีกด้วย มักมีประเพณีรำผีฟ้า ผีทรงบวงสรวงเจ้าพ่อเป็นประจำ

          การเดินทาง จากตัวเมืองทางหลวงหมายเลข 2159 และแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2051 ระยะทางจากตัวเมืองถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร หรืออาจใช้เส้นทางหมายเลข 201 ทางไปอำเภอภูเขียว จะมีเส้นทางแยกซ้ายอีก 21กิโลเมตรไปน้ำตกตาดโตนได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่เดินทางโดยรถโดยสาร สามารถใช้บริการรถสองแถวสายชัยภูมิ-ท่าหินโงม ลงที่ด่านเก็บค่าธรรมเนียมแล้วเดินเท้าอีก 1 กิโลเมตร

          อุทยานฯ มีบริการบ้านพัก สอบถามรายละเอียดได้ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 หรือ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติตาดโตน โทร. 0 4485 3293, 0 4485 3333 www.dnp.go.th






อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม

          ตั้งอยู่บนเทือกเขาพังเหย ภูมิประเทศเป็นเนินเขาสลับซับซ้อน ระดับความสูงประมาณ 200-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีความหลากหลายของระบบนิเวศและมีไม้ดอกจำพวกดุสิตา เอนอ้า และกล้วยไม้ ขึ้นอยู่จำนวนมาก จุดท่องเที่ยวในเขตอุทยาน ได้แก่

          ลานหินงาม เป็นบริเวณที่มีโขดใหญ่รูปร่างแปลก ๆ กระจายอยู่เต็มไปหมดในเนื้อที่กว่า 10ไร่ เกิดจากการกัดเซาะของเนื้อดินและหินเป็นรูปลักษณ์แตกต่างกัน สามารถจินตนาการเป็นรูปต่าง ๆ เช่น หินรูปตะปู รูปเรด้าร์ รูปแม่ไก่ รูปถ้วยฟีฟ่า ฯลฯ

          ทุ่งดอกกระเจียว หรือ ทุ่งบัวสวรรค์ เหมาะ มาเที่ยวชมในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน-สิงหาคม บนท้องทุ่งหญ้าเพ็กสีเขียวจะมีดอกกระเจียวสีชมพูอมม่วงขึ้นแซมอยู่ทั่วไป มองดูสวยงามมาก ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 1 กิโลเมตร



          สุดแผ่นดิน ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นจุดที่สูงที่สุดของเทือกเขาพังเหย ห่างจากที่ทำการอุทยานราว 2 กิโลเมตร มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 846 เมตร เป็นแนวหน้าผาซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน ที่จุดชมวิวสุดแผ่นดินจะมองเห็นทิวทัศน์สันเขาสลับซับซ้อน และมีสายลมพัดเย็นสบายตลอดวัน

          การเดินทาง ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-สระบุรี-พุแค-ลำนารายณ์-เทพสถิต ระยะทาง 240 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายที่วะตะแบก อำเภอเทพสถิตเข้าไปอีก 30 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-สระบุรี-สีคิ้ว-ด่านขุนทด (ทางหลวงหมายเลข 2217) ผ่านวัดบ้านไร่ เลี้ยวซ้ายไปอำเภอเทพสถิต



อุทยานแห่งชาติไทรทอง

          ครอบคลุมพื้นที่ป่าบนเทือกเขาพังเหย ในอำเภอหนองบัวระเหว เทพสถิต ภักดีชุมพล และหนองบัวแดง มีเนื้อที่ 319 ตารางกิโลเมตร เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลำห้วยหลายสาย นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์สวยงาม ภายในเขตอุทยานฯ มีสถานที่น่าสนใจคือ

          น้ำตกไทรทอง ห่างจากที่ทำการ 1 กิโลเมตรไปตามทางรถยนต์และเดินเท้าอีก 400 เมตร เป็นน้ำตกชั้นเตี้ย ๆ สูงเพียง 5 เมตรแต่มีความกว้างประมาณ 80 เมตร ด้านหน้าเป็นแอ่งน้ำใหญ่ สามารถลงเล่นน้ำได้ เหนือน้ำตกมีวังน้ำขนาดใหญ่เรียกว่า วังเงือก สายน้ำไหลไปตามแก่งหินที่ลาดต่ำลงที่ละน้อย มีความยาวไม่ต่ำกว่า 100 เมตร

          น้ำตกชวนชม อยู่เหนือน้ำตกไทรทองไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ 2 กิโลเมตร น้ำตกมีความสูง 20 เมตร รอบบริเวณมีต้นไม้ร่มรื่น

          ผาหำหด ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นสันเขาตรงจุดสูงสุดของเทือกเขาพังเหย สูงจากระดับน้ำทะเล 864 เมตร เป็นจุดชมวิวมองเห็นทิวทัศน์สวยงาม และมีชะง่อนหินยื่นออกไปจากหน้าผา เป็นจุดที่ถ่ายภาพได้สวยงามน่าหวาดเสียว

          ผาพ่อเมือง เป็นแนวหน้าผาตามสันเขาพังเหยด้านตะวันตก ตามเส้นทางขึ้นสู่ทุ่งบัวสวรรค์ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700-900 เมตร มองลงไปเป็นตัวอำเภอภักดีชุมพลและเทือกเขาพญาฝ่อ ที่กั้นระหว่างชัยภูมิกับเพชรบูรณ์

          ทุ่งดอกกระเจียว อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 12 กิโลเมตร ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนสิงหาคม ต้นกระเจียวจะออกดอกสวยงามเต็มทุ่ง มีทั้งดอกสีชมพูและสีขาว นอกจากนี้ ในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคมบริเวณนี้จะมีพรรณไม้จำพวกดุสิตา สร้อยสุวรรณา กระดุมเงิน กระดุมทอง ขึ้นอยู่ทั่วบริเวณ ช่วงที่มีดอกกระเจียวเป็นช่วงฤดูฝน ควรเตรียมร่มหรือเสื้อกันฝนติดตัวไปด้วย

          จุดชมวิวเขาพังเหย อยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225 (ชัยภูมิ-นครสวรรค์) ประมาณกิโลเมตรที่ 70 เป็นที่แวะพักรถยนต์และชมทิวทัศน์ของผืนป่าและแนวสันเขาสลับซับซ้อนของเขาพังเหย เมื่อมองลงไปเบื้องล่างจะเห็นที่ราบภาคกลางในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นบริเวณกว้าง 

          การเดินทาง จากตัวเมืองชัยภูมิใช้ทางหลวงหมายเลข 225 (ชัยภูมิ-นครสวรรค์) ประมาณ 65 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางแยกขวาไปที่ทำการอุทยานฯ อีก 7 กิโลเมตร

          อย่างไรก็ตาม เมืองชัยภูมิสามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดู แต่ฤดูที่น่าเที่ยวมากที่สุดคือช่วงเดือนกรกฎาคม ช่วงนี้ดอกกระเจียวจะออกดอกบานสะพรั่งเต็มทุ่งหญ้าท่ามกลางป่าเต็งรัง สวยงามมาก ยิ่งช่วงเช้าจะมีสายหมอกลอยเรี่ยเหนือยอดหญ้า สวยมาก ๆ ซึ่ง ทุ่งดอกกระเจียว มี 2 แห่ง ถ้าชอบความสบาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ต้องไปดูที่ป่าหินงามเทพสถิต แต่ถ้าชอบความเป็นธรมชาติ ต้องไปที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง นอกจากเดินเที่ยวชมดอกกระเจียวแล้ว ในบริเวณอุทยานแห่งชาติไทรทองยังมีเส้นทางสำหรับปั่นจักยานเที่ยวอีกด้วย

          และนี่เป็นแค่สถานที่ท่องเที่ยวเพียงส่วนหนึ่งใน "ชัยภูมิ" ที่เรานำมาเสนอเท่านั้น แต่ถ้าเพื่อน ๆ อยากรู้ว่าคงจ้องหาโอกาสแวะเวียนไปท่องเที่ยว "ชัยภูมิ" กันแล้วล่ะ...


ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น


การเดินทาง

          รถยนต์

          จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านรังสิตวังน้อย จนถึงสามแยกจังหวัดสระบุรี เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) แล้วแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ที่อำเภอสีคิ้ว อำเภอด่านขุนทด เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ รวมระยะทางประมาณ 342 กิโลเมตร

          จากจังหวัดนครราชสีมา เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ-ขอนแก่น) ผ่านตำบลจอหอ เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 205 ผ่านอำเภอโนนไทย ตรงไปจนถึงสี่แยกตำบลหนองบัวโคก อำเภอจัตุรัส เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 201 เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ รวมระยะทาง 119 กิโลเมตร

          รถโดยสาร

          บริษัทขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินรถ กรุงเทพฯ-ชัยภูมิ ทุกวัน ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ สถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 โทรศัพท์ 0 2936 2852-66 สถานีขนส่งชัยภูมิ โทร. 0 4481 1493

          รถไฟ

          จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) มีรถด่วน รถเร็ว กรุงเทพฯ-หนองคาย บริการทุกวันโดยลงที่สถานีบัวใหญ่ จากนั้นสามารถต่อรถโดยสารประจำทางที่สถานีเดินรถไปอีก 51 กิโลเมตร รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ โทรศัพท์สายด่วน 1690 หรือ 02-3085600 ต่อ 1222 

          เครื่องบิน

          บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่มีบริการเที่ยวบินไปจังหวัดชัยภูมิ หากประสงค์จะเดินทางไปโดยเครื่องบิน จะต้องลงที่จังหวัดขอนแก่น จากนั้นสามารถต่อรถโดยสารจากจังหวัดขอนแก่น ย้อนกลับเข้าชัยภูมิ ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร หรือจะลงที่จังหวัดนครราชสีมา แล้วต่อรถโดยสารเข้าจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ 119 กิโลเมตร รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โทรศัพท์ : (662) 545-2113 โทรสาร : (662) 545-3971




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
                    
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ททท.อุทยานแห่งชาติ และ คุณ Eddy
    


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ที่เที่ยวชัยภูมิ จังหวัดใหญ่อันดัน 3 ภาคอีสาน อัปเดตล่าสุด 3 เมษายน 2567 เวลา 16:53:30 60,184 อ่าน
TOP
x close