
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะประชาชนถึงข้อควรปฏิบัติในการท่องเที่ยวทะเลอย่างปลอดภัย เที่ยวทะเลอย่างไรให้สุขใจตลอดทั้งทริป ไม่เกิดอันตรายต่อตนเองและคนรอบข้าง
ในช่วงหน้าร้อนท้องทะเลไทยจะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวมากมาย ซึ่งพากันมาพักผ่อนรับลมทะเลเย็น ๆ เพื่อคลายร้อนกับครอบครัว หรือเพื่อน ๆ ทำให้การท่องเที่ยวทางทะเลนั้นมีความคึกคัก โรงแรม ที่พัก และผู้ประกอบการการท่องเที่ยวต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลมาทุกวัน ซึ่งการที่มีนักท่องเที่ยวมากมายเช่นนี้ทำให้ดูแลนักท่องเที่ยวได้ไม่ทั่วถึงและเต็มที่ บางครั้งจึงเกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยว กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้แนะนำข้อควรปฏิบัติในการท่องเที่ยวทะเลอย่างปลอดภัย จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฤดูร้อนเป็นช่วงที่ประชาชนนิยมไปท่องเที่ยวทะเล แต่หากขาดความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมทางน้ำ รวมถึงความแปรปรวนของสภาพอากาศและคลื่นลมในทะเล ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการท่องเที่ยวทางทะเลอย่างปลอดภัย ดังนี้

● 1. เตรียมความพร้อมก่อนเที่ยวทะเลโดยตรวจสอบสภาพอากาศ ติดตามพยากรณ์อากาศ หากมีประกาศแจ้งเตือนคลื่นซัดฝั่ง พายุลมแรงหรือฝนตกหนัก ควรงดหรือเลื่อนการเดินทาง
● 2. ตรวจสอบสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เช่น ระดับความลึก ความแรงของคลื่นกระแสลม เป็นต้น หากเป็นพื้นที่ที่เคยเกิดคลื่นใต้น้ำ (Rip Current) คลื่นซัดฝั่งรุนแรง เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษ เป็นต้น ให้เพิ่มความระมัดระวังในการเล่นน้ำ พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
● 3. จัดเตรียมเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น ยารักษาโรค ห่วงยาง เสื้อชูชีพ ยาบรรเทาอาการจากแมลงสัตว์กัดต่อย เป็นต้น สำหรับใช้งานในยามฉุกเฉิน
● 4. ข้อควรปฏิบัติในการเล่นน้ำทะเล เลือกเล่นน้ำในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่เล่นน้ำบริเวณที่มีระดับน้ำลึก กระแสน้ำไหลวน มีคลื่นสูงซัดชายฝั่ง บริเวณที่มีป้ายหรือธงสัญลักษณ์เตือนอันตราย

● 5. ไม่เล่นน้ำในพื้นที่หรือช่วงเวลาเสี่ยงอันตราย โดยเฉพาะบริเวณที่มีร่องน้ำลึก มีโขดหินใต้น้ำ อีกทั้งไม่เล่นน้ำในขณะหรือภายหลังฝนตกหนัก เพราะทะเลจะมีคลื่นสูงและซัดฝั่งรุนแรง
● 6. หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำบริเวณที่มีเครื่องเล่นทางน้ำ เช่น สกูตเตอร์ บานาน่าโบ๊ท เจ็ตสกี เป็นต้น เพราะมีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย
● 7. สวมเสื้อชูชีพหรือใช้ห่วงยางที่ได้มาตรฐานอย่างถูกวิธี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้สามารถลอยตัวรอการช่วยเหลือ
● 8. ดูแลการเล่นน้ำของเด็กอย่างใกล้ชิด โดยให้เด็กสวมใส่เสื้อชูชีพหรือห่วงยางตลอดเวลาที่เล่นน้ำ ไม่ให้เด็กเล่นน้ำหรืออยู่ตามลำพังบริเวณชายหาด หากเกิดเหตุฉุกเฉินเด็กจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้การตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทาง การเลือกท่องเที่ยวในพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงการปฏิบัติตามป้ายเตือนอันตรายอย่างเคร่งครัด จะช่วยให้การท่องเที่ยวทะเลเป็นไปด้วยความสนุกสนานและปลอดภัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 2243 0674, 0 2243 2200 หรือเว็บไซต์ disaster.go.th
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)