Larung Gar ดินแดนสวรรค์ในหุบเขาของทิเบต ไปไม่ยาก...อยู่ที่ใจ

Larung Gar

          Larung Gar ดินแดนในหุบเขาแห่งทิเบต ชุมชนชาวพุทธสุดยิ่งใหญ่ เป็นสรวงสวรรค์บนดินและที่เที่ยวสวยสุดอัศจรรย์ ที่คนรักการเดินทางต้องไปสัมผัสกันสักครั้ง

          ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก่อให้เกิดสถานที่สุดตระการตาในหุบเขาของทิเบต หมู่บ้าน Larung Gar ได้ซ่อนตัวอย่างงดงามอยู่ท่ามกลางภูเขาสูงใหญ่ สูงจากระดับน้ำทะเลมากถึง 4,000 เมตร ที่นี่เป็นที่ตั้งของสำนักปฏิบัติธรรมพระพุทธศาสนา ที่ชาวทิเบตให้ความศรัทธามาก ๆ จึงทำให้มีพระสงฆ์และแม่ชีจากทั่วทุกสารทิศ มาเรียนพระพุทธศาสนาที่นี่มากมาย โดยได้มีการสร้างที่พักของพระสงฆ์และแม่ชีเรียงรายลดหลั่นกันไปตามภูเขา ซึ่งเป็นบริเวณกว้างใหญ่ และยังสร้างในสไตล์เดียวกัน โทนสีเดียวกัน จึงทำให้ที่นี่ดูสวยงาม เป็นสรวงสวรรค์ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาของทิเบตได้อย่างงดงามสุด ๆ ไม่ว่าใครได้ไปเยี่ยมเยือนต่างก็ต้องประทับใจ เหมือนกับ คุณ galatea สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่ได้มีโอกาสไปสัมผัสกับหมู่บ้านแห่งนี้ด้วยตนเอง ตลอดระยะทางมีเรื่องราวให้จดจำมากมาย จะสนุกสนานแค่ไหน และหมู่บ้าน Larung Gar จะสวยงามจริงหรือไม่ เราไปติดตามการเดินทางของเธอพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

+++++++++++++++++++

         สวัสดีค่ะ

         เพิ่งจะกลับมาจากทริปวันจักรี-สงกรานต์ 16 วัน เรียกว่าได้ยะเยือกกับอุณหภูมิ 0 องศา เพื่อน ๆ งี้หนีร้อนไปญี่ปุ่นกันเพียบ แต่ชอบอะไรลำบาก ๆ กว่าชีวิตประจำวันค่ะ เลยขอไปไม่เหมือนใคร เห็นคนไทยเริ่มสนใจไปที่นี่มากขึ้น เลยเก็บประสบการณ์มาเล่าให้ฟังค่ะ เพราะว่าตอนนี้ไปง่ายขึ้นเยอะ (สถานการณ์การเมืองของที่นั่นช่วงนี้ก็สงบนะ ความเข้มงวดก็ลดลงค่ะ)

          เล่าที่มาที่ไปของทริปก่อนค่ะ

          - เราชอบไปทิเบตมากค่ะ ก่อนหน้านี้ก็ชอบไปญี่ปุ่น ฮ่องกง เหมือนคนอื่น ๆ แล้ววันดีคืนดีได้ไปทิเบตในช่วงปีใหม่ปีที่แล้ว โดยไม่ค่อยได้เตรียมตัว เป็น Private Tour นะคะ พอได้ไปแล้วติดใจมาก วิถีชีวิตนี้แหละที่ถูกใจ ถึงกับไปซ้ำอีกสองครั้ง โดยสองครั้งแรกไปคนเดียว ครั้งที่ 3 มีเพื่อนร่วมทริปอีก 3 คน กลับมาจากครั้งแรกนี่มาฝึกภาษาจีนและภาษาทิเบตเลยเพื่อให้ใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้นค่ะ

          - ตอนแรกก็กะว่าจะไปทิเบตอีก เพราะนับวันลาได้ครบ 16 วัน หาไม่ได้ง่าย ๆ กะจะไปเทรคกิ้งเขาไกรลาสค่ะ แต่พอไปนัดไกด์ที่ไปด้วยทุกครั้ง ไกด์บอกว่าไม่น่าไปนะช่วงนี้ อาจจะเจอพายุหิมะได้ อ้าวไหงเพิ่งบอก คราวที่แล้วถามบอกได้ ๆ ตั๋วเครื่องบินก็จองไปแล้ว วันหยุดก็จัดสรรแล้ว วีซ่าก็มีพร้อมแล้ว จะต้องหาแผนใหม่สิ

          - ตอนไปครั้งที่ 3 ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ไกด์ชี้ให้ดูรูป Larung Gar บนฝาผนังค่ะ รูปคล้าย ๆ กันนี้ เพิ่งได้เห็นจากที่เค้าแชร์ ๆ กันมา ไกด์บอกตรงนี้ไม่ต้องใช้ Permit นะ เอ้า งั้นไปเลยเอาที่นี่แหละ

          สำหรับตัวเจ้าของกระทู้เองก็คิดว่าตัวเองเป็นคนแข็งแรงอยู่ ^^ อาการแพ้ที่สูง AMS ไม่เคยปรากฏ แม้ว่าบางทีจะอดนอนทำงานก่อนไปเที่ยว ก็ไม่เคยเป็นอะไร Diamox ที่ทานเพื่อป้องกันอาการนี้ ก็ทานเม็ดเดียวแค่วันแรกค่ะ แล้วเป็นคนชอบถ่ายรูป กระเป๋ากล้องหนักกว่ากระเป๋าเสื้อผ้าค่ะ ด้วยเหตุที่ทั้งชอบเดินเที่ยวและแบกอุปกรณ์กล้องไปด้วย เลยต้องออกกำลังให้ร่างกายแข็งแรงหน่อย โดยปกติก็จะซ้อมวิ่งค่ะ วิ่งตั้งแต่มินิถึงฟูลเลยค่ะ แต่ไม่ได้ชอบวิ่งหรือวิ่งเร็วมากนะคะ เพียงแต่วิ่งแล้วร่างกายแข็งแรงมากขึ้น เดินได้อึด แบกเป้ไหวค่ะ

Larung Gar

          เราเขียนจากประสบการณ์และที่ฟังมาอ่านมาบ้างนะคะ ถ้าตรงไหนข้อมูลผิดพลาดท้วงติงแนะนำเพิ่มเติมได้เลยนะคะ เรายินดีและขอบคุณค่ะ

          พอได้จุดหมายแล้วก็ทิ้งไปนานเลยค่ะ ในมือมีแต่ตั๋วเครื่องบินที่แลกไมล์มากับวีซ่าจีนที่ขอแบบ Double ไว้แล้วตั้งแต่คราวก่อน ไม่ได้ใจเย็นนะคะ แต่ชีวิตมีกิจกรรมเยอะมาก ๆ ค่ะ จนอีกหนึ่งอาทิตย์จะบินถึงมาหาข้อมูลค่ะ ก็ได้ข้อมูลจากเว็บ http://www.thelandofsnows.com และ http://www.sichuanfun.com/sertar-larung-gar มาค่อนข้างเยอะ เป็นสองเว็บหลักเลย แต่อ่านของฝรั่งที่ไปเที่ยวมาหลายเว็บนะคะ รู้สึกว่ามันก็ไม่ได้ยากอะไรมากมายที่จะไปเองค่ะ

          แผนของเจ้าของกระทู้ก็เป็นดังนี้ค่ะ

          1. วันแรกบินไปลงเฉิงตู จากนั้นไปซื้อตั๋วรถทัวร์ไปเมืองชื่อเซอต๋า ภาษาอังกฤษเขียนว่า Sertar หรือ Serthar แต่ภาษาจีนจะเขียนแบบพินอินว่า Seda นะคะ เมืองนี้อยู่ในส่วนของแคว้น Kham ของทิเบต มณฑลเสฉวนฝั่งตะวันตก เป็นส่วนที่ไม่ต้องขอ Permit ใช้เฉพาะวีซ่าจีน ต่างจากการเข้าไปเที่ยวในเขต Tibet Autonomous Region (TAR) ที่มีลาซาเป็นเมืองหลวงค่ะ ส่วน TAR นี่ชาวต่างชาติที่ไม่ใช่คนจีน จะต้องขอ Permit และเดินทางพร้อมกับไกด์ในการไปจุดท่องเที่ยวต่าง ๆ และจะมีการตรวจ Permit เป็นระยะ ๆ ค่ะ

          2. ตั๋วรถทัวร์นี่ถ้าเรามีบัตรเครดิตของจีน สามารถซื้อล่วงหน้าได้ที่เว็บ http://www.scqcp.com ค่ะ เว็บนี้เป็นภาษาจีนล้วน ๆ แต่เราเอาเปิดด้วย Chrome ให้มัน Translate ได้ค่ะ เจ้าของกระทู้ไม่มีบัตรเครดิตจีน แต่โหลด App ของทางเว็บมาค่ะ ไว้ส่องว่าตั๋วรถทัวร์เต็มหรือยัง ใส่ชื่อเมืองต้นทาง 成都市 (Chengdu) เมืองปลายทาง 色达 (Seda) พิมพ์ด้วยภาษาอังกฤษได้เลย ก็ลุ้นตั๋วตลอดเวลาตั้งแต่ไทยเลยค่ะ

          3. เราสามารถเลือกได้นะคะว่าจะไปพักเมืองอื่นสักคืน เพื่อให้ร่างกายปรับตัวให้เข้ากับการขึ้นที่สูงก่อน ป้องกันอาการ AMS ค่ะ อันนี้ก็เป็นทางหนึ่งที่หลาย ๆ เว็บแนะนำ แต่เจ้าของกระทู้ฮาร์ดคอร์ขอลุ้นเอาข้างหน้าค่ะ ไปตรงเลยทีเดียวเพราะความสูงที่ Seda ประมาณ 3,700 เมตร ใกล้เคียงกับลาซา ส่วน Larung Gar ประมาณ 4,000 เมตร รถทัวร์จะออกแต่เช้าตรู่ มีวันละ 3 รอบ 06.10 น., 06.15 น. และ 06.20 น. ค่ะ โดยราคาค่าตั๋ว 209, 231, 209 ตามลำดับ เค้าจะขายรอบหลังสุดก่อนนะคะ รถรอบ 06.15 น. จะดีสุด แล้วก็เปิดขายล่วงหน้าแค่สองวันค่ะ

          4. จาก Seda ซึ่งเป็นเมืองปลายทางของรถทัวร์ เราจะนั่งแท็กซี่มาที่หมู่บ้าน Larung โดยส่วนมากผู้ที่อาศัยอยู่คือพระและชีที่มาศึกษาและปฏิบัติธรรมตามสายทิเบต คือพุทธวัชรยาน เพื่อมาชม Larung Gar Buddhist Academy สถาบันสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกค่ะ ที่หมู่บ้านจะมีโรงแรมใหญ่หนึ่งแห่งชื่อ Larong Hotel อยู่บนยอดเขาที่คนนิยมพักกันมากที่สุด แต่ว่าไม่มีให้จองในเน็ตค่ะ ก็ถ้าได้ที่นี่ก็นอนที่นี่ ถ้าไม่ได้ก็อาจกลับไปนอนเซอต๋า ช่วงนี้ยังไม่เข้าหน้าท่องเที่ยวก็หวังว่าจะพอมีที่พักไม่ต้องแย่งกับชาวจีนค่ะ แต่ว่าเรามาดมั่นค่ะ กะว่าไม่มีที่นอนก็จะเอาถุงนอนไปขอพักในหมู่บ้านเลย ไม่กลับไปเซอต๋า เพราะมีฝรั่งแนะนำไว้เหมือนกันค่ะ นอกจากโรงแรมนี้ก็เห็นว่ามี Guesthouse อีกที่หนึ่งด้านล่างเขา แต่ว่าให้พักเฉพาะผู้หญิง ที่นี่ไม่ได้ไปหาค่ะ เพราะพื้นที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ ตามพิกัดบอกว่าอยู่ตรงแยกเท่านั้นเอง

Larung Gar

          แผนก็มีแค่นี้เองค่ะ แล้วก็จองที่พักที่เฉิงตูไว้คืนหนึ่ง พอถึงวันเดินทางการบินไทยก็พามาลงเฉิงตูที่ T1 ค่ะ มาที่นี่หลายรอบแล้วค่ะ ไม่เคยหา Tourist Information Counter เจอค่ะ ใช้ถามเจ้าหน้าที่ที่ยืนรักษาความปลอดภัยตรงประตูทุกครั้งค่ะ พุ่งตรงไปยิงคำถามแรกทันที Excuse me, Airport Bus ? เจ้าหน้าที่ตกใจนิดหน่อยแล้วก็ชี้มือไป ป้ายรถ Airport Bus อยู่เลนข้างหน้านี่เอง สายที่เราจะขึ้นคือสาย 5 ค่ะ ให้เดินไปทางซ้ายสุด เจอเลข 4, 5 ที่ซุ้มขายตั๋ว ก็เอาชื่อให้เค้าดู เราจะไปท่ารถทัวร์ชื่อ Chadianzi Bus Terminal ค่ะ ราคา 35 หยวน เจ้าหน้าที่พูดอังกฤษไม่ได้ค่ะ แต่อุตส่าห์เดินออกมาชี้ให้ดูแผนที่ด้านนอกว่าป้ายรถอยู่ตรงนี้นะ เพราะสาย 5 ไม่ได้สุดสายที่ท่ารถทัวร์ค่ะ ซื้อตั๋วเสร็จแล้วก็รอรถเบอร์ 5 มาค่ะ

          Airport Bus จะจอดรับคนที่ Terminal 1, Terminal 2 แล้วก็ป้ายถัดไปที่ Chadianzi Bus Terminal เลยค่ะ ใช้เวลาเข้าเมืองประมาณครึ่งชั่วโมงแบบรถไม่ค่อยติด (บางเวลาเฉิงตูก็รถติดสาหัสมาก) ตอนอยู่ในรถก็เปิดดู App เช็กตั๋วไปด้วย วันพรุ่งนี้เหลือตั๋วแค่ 9 ที่รอบสุดท้าย ถ้าตั๋วหมดก็ต้องเสียเวลารออีกวันหนึ่งค่ะ พอรถมาถึงสถานีเราก็เดินตามคนอื่นเข้าไปที่ตึกใหญ่ ๆ จะเห็นคิวซื้อตั๋วหลายช่องทางด้านซ้ายค่ะ ก็ซื้อตั๋วด้วยการยื่นรูปที่ Capture จาก App Scqcp ให้เจ้าหน้าที่ดูเลยค่ะ เป็นภาษาจีนอยู่แล้ว บอกชื่อเมืองต้นทาง ปลายทาง ชูนิ้วบอกจำนวน แล้วก็ได้ตั๋วมาอย่างรวดเร็วค่ะ ค่าตั๋ว 209 หยวน เป็นรถระดับรองออกเที่ยวแรก 06.10 น. เดินทาง 14 ชั่วโมง ระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตรค่ะ

Larung Gar

          เสร็จสิ้นภารกิจ ดีใจมากเลยไม่ตกรถ ก็นั่ง Taxi ต่อไปยัง Hostel ที่จองไว้ เจ้าของกระทู้พักที่ Chengdu Mix Hostel Backpacker ค่ะ เป็นห้องรวม 4 คน เคยพักมาหลายที่ก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่ชอบที่นี่มากค่ะ น้ำร้อนดี ห้องก็สะอาดดี กลางคืนเปิด El Clásico ให้ดูด้วย บอลจบ อิ่มเอม ได้เวลาอาบน้ำไปขึ้นรถพอดีค่ะ

          จาก Hostel ก็เรียกแท็กซี่มาสถานีรถทัวร์ โดยเอารูปท่ารถที่ถ่ายไว้ให้แกดู ไม่รู้มันมืดหรืออะไร แท็กซี่พามาผิดท่ารถค่ะ ท่ารถก็หน้าตาคล้าย ๆ กัน แต่มันไม่เหมือนซะทีเดียว ลุงแกก็พูดอะไรไม่รู้ เราก็ไม่ยอมลงจากรถ แล้วเอาตั๋วให้แกดู แกรับไปส่องดูแล้วก็บ่นใหญ่เลย แต่ก็ยอมพามาส่งอีกที่ พร้อมกับบ่นช้งเช้งมาตลอดทาง ไม่รู้จะบ่นทำไมนะ เพราะยังไงก็จ่ายตามมิเตอร์ค่ะ ยังพอมีเวลาไม่ตกรถค่ะ สรุปว่าเรียกแท็กซี่ ยื่นตั๋วรถให้ดูดีที่สุด บนตั๋วจะมีบอกชื่อท่ารถอยู่แล้วค่ะ

          ที่ท่ารถก็คล้าย ๆ บ้านเราค่ะ ที่จอดรถทัวร์จะอยู่ด้านหลังของตึกใหญ่ ยื่นตั๋วอย่างเดียวค่ะ เพราะพูดไม่ได้มากนัก ก็ท่องมาสามคำค่ะ ฉิ่งเวิ่น (Excuse me), ไจ้หน่าหลี่ (ไปทางไหน), เซี่ยะเซี่ยะ (ขอบคุณ) ให้เค้าดูว่าไปทางไหน รถคันไหน จนแน่ใจว่าถูกคัน เพราะรถไม่ได้จอดตรงเบอร์ที่ระบุบนตั๋วเสมอไปนะคะ ก็เอาเป้ใหญ่ไว้ข้างล่างใต้ท้องรถ ที่นั่งจะ Fix ที่นั่งเขียนไว้บนหน้าตั๋วตามลำดับที่ซื้อมาอยู่แล้ว ก็ได้นั่งเกือบหลังสุดค่ะ ทั้งคันมีแต่คนจีน 

          ในที่สุดก็ได้เห็นหน้าตารถทัวร์ ก่อนมาก็พยายามหารูปรถก็ไม่เจอค่ะ จินตนาการไม่ถูกว่ามันประมาณ VIP 24 ที่นั่ง หรือรถหวานเย็นกันแน่ ก็ตามภาพค่ะไม่ขี้เหร่ค่ะ

Larung Gar

          พอรถออกได้ไม่นานเจ้าของกระทู้ก็ตัดช่องน้อยด้วยการหลับค่ะ เป็นคนหลับง่ายอยู่แล้ว เมื่อคืนก็ถ่างตาดูทั้งลิเวอร์พูลและมาดริด จะตื่นก็ต่อเมื่อรถหยุดพัก รถจะหยุดพักประมาณ 2 ชั่วโมงครั้ง คนขับมี 2 คน ผลัดกันค่ะ ตอนพักครั้งที่ 2 ก็ให้คนลงไปทานข้าว แต่ไม่ได้ทานค่ะ ตอนแรกไม่แน่ใจว่าจะเป็นยังไง เลยเตรียมเสบียงมาเองค่ะ แต่ได้ลงไปสัมผัสห้องน้ำจีนมานะคะ เอาว่าไม่ค่อยมีกลิ่นค่ะ เคยเข้าที่สาหัสกว่านี้มาแล้ว แบบนี้ถือว่าสบาย ๆ ค่ะ เธอมองฉัน ฉันมองเธอ หมาน้อยของคนในรถทัวร์ยังมามองเลยค่ะ

Larung Gar

          พอวิ่งมาได้สักค่อนทางก็หมดทางราบ เหลือแต่ลูกรังค่ะ เขย่ากันไปเรื่อย ๆ อันนี้สาหัสสุด ทางโค้งแล้วยังเป็นลูกรังอีก ผ่านมา 8 ชั่วโมงแล้ว ตื่นมาดมยาหม่องหิมาลายันได้สักพัก เห็นท่ายาหม่องก็เอาไม่อยู่ รีบหลับต่อเลยค่ะ ทางก็ประมาณนี้ ไม่ได้หยิบมือถือมากนัก มึนค่ะ ที่จริงเตรียมยาแก้เมารถมาด้วย แต่ไม่ได้ทาน นอนและตื่นธรรมดาดีกว่าไม่ตื้อดีค่ะ

Larung Gar

          อันนี้เป็นแผนที่ในมือถือ สามารถดูแบบออฟไลน์ได้ ชื่อ app maps.me ใช้ในพื้นที่จีนได้ดีมากค่ะ เราก็เอาไว้เปิดดูว่ารถวิ่งไปถึงไหนแล้ว ใกล้จะถึงหรือยัง ตรงไหนอาหารอร่อยก็ save พิกัดไว้ได้ค่ะ

Larung Gar

          จนทุ่มกว่ารถจะผ่านปากทางเข้า Larung Gar ก่อนนะคะ ใครจะลงก็ลงได้เลย แล้วก็ต่อไปอีกครึ่งชั่วโมงถึงปลายทาง ระหว่างนั่งรถเปิด booking.com จองที่พักที่เมืองไว้หนึ่งคืนค่ะ เพราะดูท่าจะไปถึงดึก คงหมดแรงย้อนกลับมาที่ Larung Gar แน่ ๆ ใน booking มี 3 ที่ เลือกที่ Sertar Sukhavati Bloom Youth Hostel ไว้ค่ะ แต่แผนที่ในเว็บไม่ตรงกับของจริงนะคะ ถามคนจนเหนื่อยเลยทีเดียว เปิดชื่อภาษาจีนไปด้วย ไจ้หน่าหลี่ไปด้วย ถามแต่ละคนก็บอกไม่เหมือนกัน จนไปเจอผู้หญิงสองคนค่ะ โชคดีมาก ๆ ที่เธอรู้จัก พามาส่งถึงหน้าที่พักเลย ซึ่งมันอยู่ไม่ไกลจากจุดที่มีคนบอกค่ะ แต่มันไม่มีป้ายชื่อ เจ้าของกระทู้ก็เดินวนอยู่นั่นแหละ พอดีกับเจ้าของที่พักออกมารับแขกอีกคนที่มาไม่ถูก แขกอีกคนเป็นคนไทยด้วยค่ะ ส่วนเจ้าของที่พักพูดอังกฤษได้ดีค่ะ

          คืนนี้ก็นอนห้องรวม 4 คนเช่นกัน แม้ว่าจะจองห้องเดี่ยวมา แต่เหมือนเธอไม่ค่อยรู้เรื่อง booking.com เท่าไหร่ (เจ้าของกระทู้โดนชาร์จเงิน ค่าไม่ได้เข้าพักจากทางเว็บ ทั้งที่ไปพักมาแล้ว ต้องแจ้งเรื่องกับทางเว็บอีกค่ะ) สำหรับห้องน้ำที่นี่ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก น้ำร้อนไม่ไหล ก็ไม่อาบค่ะ เพราะตอนนี้อุณหภูมิติดลบแล้วค่ะ ปกติแล้วถ้าเราไม่คุ้นชินกับการขึ้นที่สูง ในวันแรกเค้าจะแนะนำไม่ให้อาบน้ำสระผม แล้วถ้ามึน ๆ อย่านอน ให้ออกไปเดิน ๆ ให้ร่างกายปรับตัวก่อนนะคะ แต่ถ้ามีน้ำร้อน เราอาบน้ำสระผมทุกทีค่ะ ประสาคนไทย อาบน้ำวันละสองเวลา

          ความจริงแล้วเมืองนี้มีที่พักมากมายนะคะ ถ้าไม่ใช่หน้าท่องเที่ยวจริง ๆ มาเดินหาเอาก็ได้ค่ะ พอลงรถนี่ก็มีคนมาถามเราเลยว่าจะเอาที่พักหรือเปล่า สำหรับที่พักที่ฝรั่งแนะนำกันไว้ก็มีที่ Jinma (Golden Horse) Hotel, Jiaotong Binguan (Traffic Hotel), Xian Zhaodaisuo (Seda County Hotel), Liangshijv Zhaodaisuo (Grain Bureau Hotel), Dianyinggongsi Zhaodaisuo (Film Compamy Hotel) ค่ะ ส่วนที่ที่พักอยู่เจ้าของก็น่ารักดี ช่วยเขียนภาษาจีนสำหรับจองโรงแรมที่ Larung ให้ด้วยค่ะ

          หนุ่มญี่ปุ่นร่วมห้อง ปวดหัว AMS อยู่ค่ะ

Larung Gar

          วันรุ่งขึ้นก็ตื่นไปหาทางไป Larung Gar ฝากกระเป๋าใบใหญ่ไว้ที่นี่ก่อน แล้วก็ออกไปเรียก Taxi ไป Larung Gar ค่ะ Taxi มีมากมายค่ะ ถ้าเป็นแบบหนึ่งคัน 6-7 คน ก็คนละ 7 หยวน ถ้าเหมาก็แล้วแต่ต่อรอง ทุกคนรู้ว่าจะไป Larung Gar

          ทีนี้พอไปถึงก็แล้วแต่ว่าแท็กซี่ไปหย่อนเราลงที่จุดไหน มีสองจุดใกล้ ๆ กัน ปัญหาคือที่จอดรถอยู่ด้านล่าง แต่โรงแรมอยู่บนสุดของยอดเขาเลย จากจุดที่ลงรถก็แล้วแต่ความสามารถค่ะ จะโบกรถใครสักคนขึ้นมาอีก จะเดินขึ้น จะซ้อนท้ายรถใครขึ้นมาก็ได้ ครั้งแรกได้โบกรถขึ้นมาค่ะ เป็นรถคันน้อยซิ่งสะใจมาเทียบหน้าโรงแรมเลย

          ที่โรงแรมโชคดีว่ายังมีห้องว่างค่ะ และมีเจ้าหน้าที่คนสวยที่พูดภาษาอังกฤษได้คนหนึ่ง ห้องพักถือว่าใช้ได้เลยค่ะ มีทั้งแบบห้องเดี่ยวห้องรวมนะคะ คราวนี้พักห้องเดี่ยวสามคืนค่ะ เจอรูปโรงแรม Larong Hotel ในไอโฟน เอามาแปะเพิ่มหน่อย ห้องเดี่ยว 220 ก็โอเคนะคะ อ้อ ที่โรงแรมตอนกลางคืนจะมีสาว ๆ ตัวเล็ก ๆ มาเคาะประตูค่ะ พอเปิดออกไปจะถามว่า Ni hao ma ? แปลกดีนะคะ ขำ ๆ เราก็ตอบไปว่า ok, เหินห่าว สบายดีจ้ะ คงจะมาถามว่ามีปัญหาอะไรไหม เอาอะไรเพิ่มไหม

Larung Gar

Larung Gar

Larung Gar

          เก็บข้าวของแล้วก็ออกมาเดินถ่ายรูปและสำรวจค่ะ การเดินถ่ายรูปก็คือการเดินลงเขานั่นเอง แล้วก็พบว่าพระ, แม่ชี และคนที่นี่แม้แต่เด็ก ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ชอบให้ถ่ายรูปอย่างมากเลยค่ะ พอเห็นกล้องปุ๊บเค้าจะปิดหน้า เดินหนีเลยค่ะ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นข้อห้ามหรือเปล่า แต่ที่ไปทิเบตมาสามครั้งถ่ายได้นะคะ เราไม่เคยถ่ายแบบไปรบกวนเค้า ถ้าเด็ก ๆ ที่ทิเบตนี่หัวเราะเอิ๊กอ๊ากถ่ายเซลฟี่เล่นกันได้ทีเดียว ที่นี่ถ่ายยากค่ะ ก็เปลี่ยนไปถ่ายตึกที่พักซึ่งเป็นรูปอันโดดเด่นของที่นี่แทน ก็ยังพอ Candid จากระยะไกลได้บ้างค่ะ

Larung Gar

          ก็พักที่นี่สามคืนค่ะ เดินสำรวจไปเรื่อย ๆ ที่นี่มีพระและแม่ชีอยู่รวมกันมากกว่า 40,000 รูป ส่วนที่เราพักจะพบแม่ชีเยอะกว่าพระ ถ้าหันหลังให้โรงแรม เดินไปทางซ้าย ขึ้นไปทางเขา จะเป็นส่วนของพระ ซึ่งพอพระอาทิตย์ตกดินแล้วจะห้ามผู้หญิงเข้าค่ะ เคยกำลังเดินเข้าไปเพื่อไปถ่ายพระอาทิตย์ตกดิน พระรูปหนึ่งเดินมากั้นแล้วพูดจีนใส่เลย เราก็งง ท่านก็ชี้ ๆ หลอดไฟ กว่าจะเข้าใจก็เมื่อยมือทั้งคู่ค่ะ แต่พระท่านใจดีนะคะไม่ได้ดุ พระรอบ ๆ ก็ยิ้ม ๆ เพราะเราไม่เข้าใจสักที

          เดินไปขวาของโรงแรมก็จะเป็นจุดที่มีคนมากราบอัษฎางคประดิษฐ์และเดินทักษิณาวัตร เลยไปทางขวา เป็นทางขึ้นเขา ตรงนี้ไม่มีอะไรมาก แต่ไปเดินเล่นชมเขาและคนที่มากางเต็นท์ช่วงเช้า ๆ ได้ค่ะ ถ้าไปทางซ้ายก็เป็นทางเดินขึ้นเขาอีกลูกไปยังจุดชมวิว ที่เราเห็นจะเห็นภาพที่ถ่ายมาจากจุดนี้เป็นส่วนใหญ่ค่ะ

Larung Gar

Larung Gar

Larung Gar

          การถ่ายรูปคนก็จะเป็นจากด้านหลังหรือระยะไกล แต่บางทีก็สามารถถ่ายได้ อย่างเด็กน้อยคนนี้เจ้าของกระทู้นั่งอยู่ตรงที่คนมาเดินโครากันนานมาก เด็กน้อยก็จูงมือกับคุณแม่มาเดิน ผ่านรอบหนึ่งก็ถูกถ่ายทีหนึ่ง แรก ๆ เธอก็ทำหน้าสงสัย ก็ยิ้มให้ถ่ายไป เธอก็มองทุกรอบที่วนมาเจอ จนเริ่มมีรอยยิ้ม มีรอบหนึ่งเธอหยุดให้คุณแม่แต่งตัว แล้วก็หันมาเห็นกำลังถูกส่องอยู่ เธอรีบชี้บอกแม่เลย เราก็ผงกหัวทำความเคารพให้คุณแม่ คุณแม่ก็ไม่ว่าอะไรค่ะ ยิ้มตอบกลับมา พอจูงเด็กน้อยผ่านหน้า เลยกดไปอีกหนึ่งรูป น่ารักมาก ๆ ค่ะ ชอบถ่ายรูปเด็ก ๆ เพราะเค้าใส ๆ ไม่ปรุงแต่งค่ะ

Larung Gar

Larung Gar

Larung Gar

Larung Gar

          และถ่ายภาพคนชรา น่ายินดีที่เค้าอายุมากแล้วแต่ยังเดินโครากันได้เรื่อย ๆ เวลาเห็นเค้าขึ้นลงบันไดกันแล้วยังคิดเลยว่าหัวเข่าแข็งแรงดีจังเลย ถ้าเราคุยกับเค้าได้ก็คงดีนะคะ เวลาไปกับไกด์ที่ทิเบต ไกด์ก็ชอบชวนคนที่เจอคุย คุยกันนานเชียว แต่พอเราถามว่าคุยกันเรื่องอะไรน่ะ สรุปมาให้เราฟังสั้นนิดเดียวเอง

Larung Gar

Larung Gar

Larung Gar

Larung Gar

          การถ่ายรูปก็ระวังนิดหนึ่ง ถ้าท่านห้ามหรือบางคนก็ดุเลยก็ต้องหยุดค่ะ มีครั้งหนึ่งยืนถ่ายรูปอยู่ค่ะ แล้วก็มีมือมาปัดกล้อง ไม่แรง เราก็หันไปดู เป็นแม่ชีที่ยังสาวอยู่ค่ะ แต่ท่านยืนยิ้มนะและก็เดินจากไปเป็นกลุ่ม ก็เข้าใจว่าคงหยอกเล่นค่ะ

          นี่คือรูปนั้นค่ะ

Larung Gar

          บางทีก็ไปนั่งปักหลักสักที่เลยจะง่ายกว่า

Larung Gar

          แต่อุตส่าห์ได้มุมดี ๆ หิมะตกซะได้ แล้วก็หนักขึ้นเรื่อย ๆ

Larung Gar

Larung Gar

          จากหน้าโรงแรมมีบันไดตรงลงไปข้างล่างได้ วันแรกกลับไปเอาเป้เสื้อผ้าจากโรงแรมในเซอต๋า ขากลับมารอบสองไม่มีรถขึ้นมาค่ะ ต้องเดินขึ้นบันไดมา นับขั้นไปด้วยได้ 307 ขั้น ถ้าอยู่บ้านเราก็พอไหว แต่นี่สูงถึงสี่พันเมตร ไม่เมื่อยขาแต่หัวใจเต้นแรงมาก พักทุกสิบห้าขั้น แต่พอต้องขึ้นรอบสองก็เหนื่อยน้อยลง พักน้อยลง รอบสามก็เริ่มชินแป๊บ ๆ มีครั้งหนึ่งเดินขึ้นมาตามซอกเล็ก ๆ ระหว่างแต่ละตึก เลี้ยวไปเลี้ยวมาก็ขึ้นมาทะลุถนนหน้าโรงแรมได้เหมือนกันค่ะ โซนตรงนี้เป็นที่พักของฝ่ายหญิง ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวผู้ชายใช้บันไดจะดีกว่าค่ะ

Larung Gar

Larung Gar

          ช่วงเวลาเย็น ๆ ถ้าเราเดินอยู่ตรงกลาง ๆ เขา จะได้ยินเสียงคนดัง ๆ เลยค่ะ เดินตามเสียงมาที่ตึกใหญ่จะพบพระท่านกำลังโต้พระธรรมหรือที่เรียกว่า Debate กัน ถ้าใครเคยไปเที่ยวทิเบตจะเป็นลักษณะเดียวกับที่ Sera Monastery ค่ะ ลักษณะการ Debate คือพระรูปหนึ่งจะถามปัญหาธรรมแล้วก็ตบมือเสียงดัง ให้พระรูปที่ถูกถามตอบปัญหา เราก็สามารถยืนดูรอบ ๆ นอกไม่กวนท่านได้ ถ่ายรูปก็พอได้นะคะ ท่านเห็นว่าเราถ่ายแต่ไม่ได้ห้ามแต่อย่างใด

Larung Gar

Larung Gar

Larung Gar

          เมื่อมาถึงที่นี่แล้วก็อย่าถ่ายรูปอย่างเดียวค่ะ ลองหาโอกาสเข้าไปนั่งฟังพระหรือแม่ชีสวดมนต์ดูบ้าง จะมีคลาสสอนธรรมะตอนหัวค่ำ ประมาณทุ่มกว่า ๆ สังเกตตึกที่มีคนเดินเข้าไปเยอะ ๆ ถามแม่ชีแล้วท่านให้เข้าได้ ก็เข้าไปนั่งฟังค่ะ ตอนแรกจะเป็นการสวดมนต์ โดยบนทีวีจะมีบทสวดเป็นภาษาทิเบต ภาษาจีน และแปลความหมายเป็นภาษาอังกฤษ หลังจากสวดมนต์จบแล้วก็จะมีพระอาวุโสมาสอนพระธรรมค่ะ แม่ชีที่นั่งฟังอยู่จะมีหนังสือและดินสอจดค่ะ ตรงนี้ท่านพูดเป็นภาษาจีนซึ่งฟังไม่ออกค่ะ แต่ก็อยู่ในห้องอยู่นานมาก ถือว่าเป็นเวลามานั่งทำใจให้สงบ ๆ ค่ะ ในห้องมีทั้งแม่ชีและฆราวาสทั่วไป แต่เป็นผู้หญิงทั้งหมด เข้าใจว่าส่วนของพระก็จะเป็นที่ส่วนอื่นค่ะ ที่เห็นก็จะมีที่ตึกใหญ่ตอนกลางวันค่ะ

Larung Gar

          สำหรับอาหารก็จะมีร้านอาหารเล็ก ๆ ระหว่างทางเดิน ชี้เอาหรือไม่ก็เมี่ยนเถียว (ก๋วยเตี๋ยว) หมี่ฟ่าน (ข้าว) ไป๋สุ่ย (น้ำเปล่า) โหย่วเหมยโหย่ว (มีไหม) น้ำเปล่าขวดละ 2 หยวน (เหลียงไคว่) เอาหนึ่งขวดก็ชูหนึ่งนิ้วแล้วพูด อีเก้อ (1 อัน) สองขวดก็เหลียงเก้อ ราคาเท่าไรก็ตัวเฉ่าเฉียน เค้าตอบมาก็ต้องคิดหน่อยเพราะนับได้แค่ 1-10 ถ้ามาแบบทศนิยมนี่ตอนแรกงง ๆ ตอนหลังรู้แล้วว่าเค้าจะพูดสั้น ๆ เหลียงไคว่อู๋ คือ 2.5 ละคำว่าเหมาคือเศษสตางค์ไว้

          เราก็พูดได้ระดับต้อยต่ำนะคะ พอซื้อของกินได้ไปวัน ๆ ค่ะ ถ้าพูดยาว ๆ มาก็ใบ้กิน แล้วก็ตอบไปว่า หว่อ ปู้ ฮุ่ย เจียง จงเหวิน เป็นประโยคหากินตลอดทริปเลยค่ะ เพราะเจอรัวจีนใส่ทุกวัน ถ้าพูดไม่รู้เรื่องก็ชี้ค่ะ เดินไปในครัวแล้วก็ชี้ ๆ อีกอันที่เค้าชอบถามก็ มาจากไหน ฟังไม่ค่อยทันค่ะ ทันแต่คำว่า หนา ๆ หนามาก็ หวอชื่อไท่กั่วเหริน คนฟังก็หงึกหงัก ๆ ไท่กั่ว ? ตุ้ย ๆ ที่นี่พูดจีนเป็นหลัก ๆ ค่ะ ได้ยินว่าถ้าเป็นภาษาทิเบตก็จะเป็นตัวอักษรแบบ Amdo ส่วนที่หัด ๆ มาบ้างเป็นทิเบตแบบ Ü-Tsang คือทิเบตกลางที่ใช้ที่ลาซา ไม่ต้องไป Tashi Delek เค้าค่ะ เค้าไม่ตอบ ต้องหนีห่าวเท่านั้น ตรงนี้เราก็รู้สึกแปลก ๆ ในตอนแรก เพราะชินกับการเห็นคนทิเบตพูดภาษาทิเบตมากกว่า .... นึกภาพถ้าดูหนังฝรั่งแต่เอ่ยปากพูดเป็นภาษาจีน มันก็รู้สึกแปลก ๆ แบบนั้นค่ะ

          อาหารที่นี่อาจจะไม่ครบสารอาหารเท่าไร เขี่ยยังไงก็ไม่เห็นเนื้อสัตว์ คิดว่าเป็นมังสวิรัติทั้งหมดค่ะ ก็ทานพออิ่มและให้หายหนาว แต่ถ้าเข้าไปใน Seda ล่ะมีทานสบาย ๆ ค่ะ

          ข้าว 7 หยวน

Larung Gar

          ก๋วยเตี๋ยว 9 หยวนค่ะ

Larung Gar

          ส่วนที่คนไทยมักจะเกรงก็คือเรื่องห้องน้ำ ก็คือถ้าจะเอาสบายก็ต้องเข้าห้องน้ำโรงแรม แต่จะให้ตะกายขึ้นบันไดสามร้อยกว่าขั้นเพื่อไปเข้าห้องน้ำก็ไม่ไหวค่ะ ในหมู่บ้านก็จะมีห้องน้ำสาธารณะค่ะ เจ้าของกระทู้ก็จะมีอาวุธในการเข้าห้องน้ำจีนและทิเบต คือ 1. เสื้อคอเต่า 2. ผ้าบัฟฟ์ 3. ทิชชูเปียก 4. สายตามองบนเข้าไว้ ก่อนเข้าก็ดึงคอเสื้อดึงผ้าบัฟฟ์มาปิดจมูก ซิปกระเป๋านี่รูดปิดให้เรียบร้อย อะไรอยู่ในกางเกงเก็บให้ดี สายตาอย่าพยายามเพ่งมองว่าอะไรคืออะไร เอาแค่ไม่ยืนตกร่องพอ แค่นี้ก็เข้าได้สบาย ๆ ค่ะ ที่นี่ไม่มีน้ำให้ราดแบบห้องน้ำบ้านเรา ส่วนเรื่องกลิ่นคิดว่าน่าจะเป็นที่อาหารและทานน้ำเปล่าน้อยมั้งคะ ห้องที่เข้าก็ไม่มีกลิ่นเพราะยกพื้นสูงมาก ส่วนห้องน้ำระหว่างทางมามีระบบน้ำไหลชำระในร่องตลอดเวลาค่ะ

          ตัวอักษร 女 Nǚ เป็นคำแรกที่ตั้งใจเรียนมาเลยค่ะ แปลว่าผู้หญิง เพราะว่ามาทิเบตครั้งแรกแยกห้องน้ำไม่ถูกว่าฝั่งไหนผู้ชาย ฝั่งไหนผู้หญิง ต้องเดินกลับมาถามไกด์ทุกที คุณครูสอนมาว่าเหมือนผู้หญิงนั่งไขว่ห้างค่ะ

          อีกคำ Cèsuǒ zài nàlǐ? เช่อสั่ว ไจ้ หน่า หลี่ ห้องน้ำไปทางไหน คิดว่าเป็นคำที่สำคัญมาก เคยมาแล้วค่ะ อยู่คนเดียวรอถ่ายรูปตอนกลางคืน ถามเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าสถานที่ Where is the toilet ? เค้าไม่เข้าใจ ซวยล่ะ ภาษามือก็แล้ว อะไรก็แล้ว ก็ไม่เข้าใจ สุดท้ายหันมาเจอนักท่องเที่ยวคนจีนค่ะ  Excuse me, can you speak English ? เลยได้เข้าห้องน้ำค่ะ ห้องน้ำก็อยู่แค่เดินลงบันไดมาแค่นั้น

          ห้องน้ำสาธารณะในหมู่บ้านค่ะ ใกล้ ๆ กับจุดจอดรถแท็กซี่ทั้งสองที่

Larung Gar

          ห้องยาว ๆ แบบนี้ มีความเชื่อค่ะว่าคนจะต้องขี้เกียจ ดังนั้นถ้าเราเดินเข้าไปเข้าห้องในสุดน่าจะสะอาดหน่อย มีห้องหนึ่งมีเก้าอี้พิเศษค่ะ ตอบความสงสัยของเราว่าคนเราจะหัวเข่าดีขนาดแก่แล้วก็นั่งยอง ๆ เข้าห้องน้ำได้เลยหรือ

Larung Gar

          ที่นี่สูงประมาณ 4,000 เมตร แต่เจ้าของกระทู้ไม่มีปัญหาเรื่อง High Altitude Sickness ค่ะ และที่นี่ฝุ่นค่อนข้างเยอะ ไปไหนออกถนนก็ฝุ่นตลบ ให้ดีควรจะพก Mask มาปิดจมูกค่ะ อากาศก็ค่อนข้างเย็นมาก ไม่ได้เป็นหวัดค่ะ แต่แพ้อากาศ พออากาศเย็นมาก ๆ จะเริ่มไอ คอแห้ง ๆ ก็ไอ แต่ไม่ได้เจ็บคอ แล้วก็ไอมาตลอดทริป อมยาอมไปด้วย จนกลับมาเจอร้อนที่ไทยถึงดีขึ้นค่ะ

          เช้าวันที่ -3 องศา หิมะตกกลางคืนค่ะ แต่พอกลางวันก็ละลายไปค่ะ

Larung Gar

Larung Gar

Larung Gar

Larung Gar

          จากที่ Larung Gar จะไปจุดอื่น ก็ลงมาเรียกแท็กซี่ที่ท่ารถ เป็นรถนั่งโดยสาร 7 คน ก็รวมไปกับคนอื่น เช่น กลับไปเมือง Sertar ก็ 7 หยวน หรือไปชมพิธีศพแบบทิเบต Sky Burial ที่ Temp of Death คนละสิบหยวนต่อเที่ยว ไป-กลับก็ยี่สิบหยวน โดยรถจะรอพาเรากลับตอนเย็นด้วยค่ะ

          ภาพที่ Temp of Death ค่ะ ตรงนี้เป็นจุดที่สร้างใหม่เพื่อเป็นจุดท่องเที่ยว โดยเมื่อมีคนเสียชีวิตที่หมู่บ้านและบริเวณใกล้เคียงจะพามาทำพิธีศพที่นี่ค่ะ พิธีแบบ Sky Burial เป็นพิธีทำศพลักษณะหนึ่ง ซึ่งพบได้ในทิเบต มองโกเลีย ภูฏาน เนปาล สิกขิม ซันสการ์ ในอินเดีย โดยจะนำศพไปไว้ยอดเขาแล้วปล่อยให้สัตว์ที่กินซากสัตว์กินศพจนหมด ส่วนมากแล้วก็คือนกแร้ง ที่ทำเช่นนี้เพราะความเชื่อทางพุทธศาสนานิกายวัชรยาน ในการเปลี่ยนสภาพจิตวิญญาณ ร่างกายตอนนี้เป็นเพียงยานพาหนะที่ว่างเปล่า ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ ในขณะที่สภาพภูมิประเทศเป็นพื้นหินแข็งไม่สะดวกแก่การขุดหลุมฝัง ในอดีตจะทำพิธีกับลามะและคนชั้นสูง แต่ปัจจุบันก็มีพิธีกับคนธรรมดามากขึ้น พิธีนี้เคยอ่านเจอว่าปกติหาดูได้ยากแล้ว เพราะทางการจีนเห็นว่าดูไม่ค่อยงามค่ะ

Larung Gar

          กะโหลกที่อยู่ในห้องค่ะ จริงหรือปลอมไม่ทราบเหมือนกัน หาอ่านภาษาอังกฤษไม่เจอค่ะ

          หลังจากเดิน ๆ ดูแล้วก็มารอพิธี ตามเว็บบอกทุกบ่ายโมง แต่รอถึงบ่ายสามก็จะเริ่มมีคนแบกศพมาไว้ยังจุดทำพิธี ตรงนี้กั้นไม่ให้นักท่องเที่ยวเห็น มีเฉพาะญาติที่อยู่ใกล้ ๆ บริเวณที่ทำพิธีค่ะ ตอนนี้นกแร้งก็เริ่มบินมารอกันเต็มไปหมด จนพิธีเสร็จ "แร้งลง" และเปิดผ้าให้คนดู

Larung Gar

Larung Gar

          ตอนเราโพสต์รูปนี้ใน Social อื่น คนทิเบตบอกว่า "We will be next (รูปพนมมือ) should prepare without fear and regret, that\'s goal of death." เราควรเตรียมตัวตายอย่างมีสติค่ะ

          สำหรับขากลับเราก็สามารถไปจองตั๋วรถทัวร์ที่ Sertar กลับมาเฉิงตูเหมือนเดิม หรือหารถโดยสาร 7 ที่นั่งนี้ได้เหมือนกัน ไม่ค่อยแน่ใจแต่เหมือนได้ยินคิวรถจะพูดว่า Chengdu le ma ? Seda le ma ?

          ขากลับมาเฉิงตูก็นั่งรถโดยสาร 7 ที่นั่งกลับมาค่ะ ตอนแรกตกลงราคากันไว้ที่ 360 หยวน แต่พอวันกลับก็คุย ๆ กันกับสาว ๆ ในรถ ถึงรู้ว่าราคาแบ่งเกรดตามที่นั่งค่ะ ถ้านั่งหลังสุดก็ 260 หยวน นั่งแถวกลางก็ 350 หยวน นั่งแถวหน้าข้างคนขับก็สี่ร้อยกว่าหยวน เราก็จ่ายตามนี้เลยค่ะ ถ้านั่งหลังสุดก็เพลียถนนลูกรังชวนเครียดหน่อยค่ะ ไม่ต่างจากนั่งรถตู้บ้านเรานะ เพราะจะสะเทือนมากกว่ารถใหญ่ แต่จะใช้เวลาน้อยกว่าประมาณ 11-12 ชั่วโมง ก็มาถึงเฉิงตู มีจอดแวะพักทานข้าวเหมือนรถใหญ่ สะกิดจอดเข้าห้องน้ำระหว่างทางได้เลยค่ะ

          สภาพรถหลังผ่านมรสุมฝุ่นบนถนนลูกรัง คนขับแวะฉีดน้ำล้างรถก่อนเข้าเมืองใหญ่ค่ะ

Larung Gar

          Larung Gar ก็จบเท่านี้ค่ะ สำหรับทริปนี้เราก็กลับมาเฉิงตู เพื่อนั่งรถไฟต่อไปเข้าลาซา ถือว่าไปพักผ่อนอีกหนึ่งอาทิตย์ค่ะ เพราะทุกทีมาตามโปรแกรมทัวร์ก็จะไม่ค่อยได้อยู่ในลาซา รอบนี้นอกจากเดินโครารอบวัดโจคัง นั่งดูผู้คนรอบวัด ทานอาหารตามร้านท้องถิ่น แล้วก็ได้ไปเดินโครารอบใหญ่สุด 12 km ไปชมวิวเมืองที่จุดแสดงโชว์ Princess Wencheng แล้วก็ไปเทรคหนึ่งวันบนเขาหลังวัดเซรา อากาศเย็นทุกวัน ถ่ายรูปก็จุใจเลยทีเดียวค่ะ

          ขอบคุณที่อ่านถึงตรงนี้นะคะ ^^

Larung Gar

          มาเขียนเพิ่มเติมอีกนิดเรื่องสภาพอากาศนะคะ สภาพอากาศแถบนี้ (เสฉวน) ทิเบต เลห์ ลาดักห์ ซันสการ์ จะคล้าย ๆ กันค่ะ ระดับความสูงก็ใกล้เคียงกัน

          ช่วงมกราคมถึงมีนาคมจะเป็นช่วงหนาวจัด หิมะตกหนัก อุณหภูมิติดลบเกิน 10-20 โอกาสป่วยมีสูง อันนี้สำหรับฮาร์ดคอร์ระดับเทพ ไปเทรคน้ำแข็ง เทรคหิมะ ในทิเบตส่วนที่ควบคุม (TAR) ช่วงเดือนมีนาคมจัดเป็นช่วงระวังความปลอดภัยสูงสุด เนื่องจากในอดีตเหตุการณ์การประท้วงแรง ๆ มักจะเกิดในช่วงเดือนนี้ค่ะ และโอกาสปิดพื้นที่ไม่ให้เที่ยวก็สูงค่ะ

          เดือนเมษายนก็จะเริ่มเที่ยวได้ค่ะ อุณหภูมิช่วงเช้ามืดก็ 0 ถึงติดลบเลขตัวเดียว ออกมาถ่ายรูปให้ระวังหัวเย็น มือชาค่ะ พอสาย ๆ จะเริ่มมีแดดแล้วก็อุ่นขึ้น อุณหภูมิระหว่างวันก็+เลขตัวเดียว วันไหนมีแดดก็จะสบาย อากาศในฝันค่ะ ลมเย็น ๆ วันไหนฟ้าครึ้มหรือมีลมก็หนาวอยู่ค่ะ บนยอดเขามีหิมะประปราย ถ้าไปที่สูงมาก ๆ อาจจะยังเจอหิมะอยู่ค่ะ

          ช่วง High Season เข้าฤดูท่องเที่ยวประมาณมิถุนายน-ตุลาคม ช่วงนี้เป็นฤดูร้อนจนถึงฤดูใบไม้ร่วงของเค้า ใบไม้สีเขียว ดอกไม้สวย ๆ งานเทศกาลต่าง ๆ เพียบ สีสันสวยงามน่ามาถ่ายรูปค่ะ เปิดดูตาราง Festival แต่ละที่ได้เลย ฤดูร้อนเค้าคืออุณหภูมิเลขสองหลักประมาณสิบปลายถึงยี่สิบกลาง ๆ กำลังสบายสำหรับเราเลยค่ะ แต่ว่าข้อเสียคือนักท่องเที่ยวก็มหาศาลค่ะ คนไทยเอง คนจีนเอง ฝรั่งเอง เดินกันขวักไขว่ ค่าครองชีพก็สูงขึ้นอีกหน่อย ส่วนที่ลาซาเห็นไกด์บอกว่าปีนี้ทางรัฐบาลจีนเข้ามาควบคุมธุรกิจท่องเที่ยว ด้วยการกำหนดราคาค่าใช้จ่ายของทริป ทำให้ค่าทริปแพงขึ้นค่ะ นักท่องเที่ยวยกเลิกทริปไปหลายกรุ๊ปเลยทีเดียว

          ช่วงเข้า Low Season อีกรอบก็พฤศจิกายน-ธันวาคม ก็ยังไปเที่ยวได้ค่ะ อากาศหนาวเริ่มมา แต่หิมะอาจจะยังไม่ตก ภูเขาหัวโล้นค่ะ แล้วก็แดดแรงมาก คือหนาวด้วยดันแดดแรงด้วย ไหม้ค่ะ หน้าไหม้เพราะพอเย็นก็มักเพลินไม่สนกันแดด

          เราก็ชอบเที่ยวที่หนาว ๆ ค่ะ ขอให้มีหิมะยิ่งชอบ แต่ปีนี้โลกร้อนมากนะคะ เทียบกับปีที่แล้วที่มาเที่ยว รู้สึกได้ว่าต่างกันเลยค่ะ

Larung Gar

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ galatea สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Larung Gar ดินแดนสวรรค์ในหุบเขาของทิเบต ไปไม่ยาก...อยู่ที่ใจ อัปเดตล่าสุด 22 เมษายน 2559 เวลา 19:07:57 24,118 อ่าน
TOP
x close