ใช้ชีวิตอย่างเนิบช้าใน 9 เมืองน่าเที่ยวยอดฮิต

เที่ยวภาคใต้

         ที่เที่ยวที่น่าสนใจในภาคใต้ เหมาะแก่การไปใช้ชีวิตช้า ๆ ตามคอนเซ็ปต์ "ปักษ์ใต้...ปักหมุด หยุดเวลา"

         สุดฮิตชีวิตช้า ๆ … เชื่อเหลือเกินว่าการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนทุกวันนี้ ล้วนยึดโยงไว้กับความเร่งรีบ รีบตื่นแต่เช้าเพื่อไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ ไปทำหลายสิ่งหลายอย่างจนพลังกายเริ่มหดหาย คล้ายเป็นสัญญาณเตือนว่าได้เวลาที่จะต้องชาร์จแบตฯ พลังชีวิตให้เต็มเปี่ยมอีกครั้ง
         การเดินทางท่องเที่ยวถือเป็นการเติมพลังกายพลังใจในชีวิตได้อย่างดีเยี่ยม ภาพงามทางตา เรื่องราวการเดินทางแสนสนุกสนานประทับใจเติมเต็มความสุขให้เอ่อล้นหัวใจได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะการได้ท่องเที่ยวใช้ชีวิตอย่างเนิบช้าในเมืองน่าเที่ยวยอดฮิต โดยไม่ต้องเร่งรีบกังวลกับเวลาที่เคลื่อนผ่านปล่อยให้ร่างกายได้พักผ่อน และจิตใจได้ละเอียดกับความสุข ซึมซับทุกนาทีอย่างละมุนละไม

ท่องเที่ยว

         อนุสาร อ.ส.ท. คัดเลือกที่เที่ยวที่น่าสนใจในภาคใต้ที่เหมาะแก่การไปใช้ชีวิตช้า ๆ ตามคอนเซ็ปต์ "ปักษ์ใต้...ปักหมุด หยุดเวลา" ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มาจัดทำเป็นคู่มือ "สุดฮิตชีวิตช้า ๆ" ไม่ว่าจะเป็นสุดฮิตชีวิตติดเกาะ อย่างเกาะพยาม จังหวัดระนอง เกาะกลาง จังหวัดกระบี่ เยือนย่านเก่าศรีรายา เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ชมความงามที่ซ่อนเร้นของหาดทรายที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ระลึกอดีตที่รุ่งเรืองของยุคเหมืองแร่ที่เมืองเก่าตะกั่วป่า จังหวัดพังงา รื่นรมย์กับความสงบงามที่ในบาง (บางใบไม้) จังหวัดสุราษฎร์ธานี สูดอากาศบริสุทธิ์ที่บ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพลินชิมนานาของอร่อยที่เมืองตรัง และชมวิถีชีวิตของผู้คนที่มีสายน้ำแบ่งเขตแดน ที่บ้านคลองแดน จังหวัดสงขลาออกไปละเลียดระเริงกับชีวิตช้า ๆ ในเมืองสุดฮิตกันดีกว่า

1. ตะกั่วป่า สงบงามในนิยามของเมืองแห่งถนนสายวัฒนธรรม

ท่องเที่ยว

         ราวกับฉากประทับใจในภาพยนตร์เรื่องโปรดปรากฏตรงหน้า "ตะกั่วป่า" เมืองเล็กสงบงามที่ซ่อนตัวอยู่ในย่านเก่าตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ที่ซึ่งในอดีตเคยคึกคักคลาคล่ำด้วยวิถีทางของผู้คนที่อพยพมาทำเหมืองแร่ ดีบุกกันอย่างหลากหลาย ร่องรอยทางวัฒนธรรมหลงเหลืออยู่ในห้องแถวเก่าแก่สไตล์โคโลเนียลที่วางตัวทอดยาวอยู่ริมฝั่งถนนรูปแบบงานสถาปัตยกรรมตะวันตกผสมผสานกับการตกแต่งแบบจีน งดงามตกทอดผ่านวันเวลา คล้ายเป็นภาพสะท้อนอดีตอันเรืองโรจน์ในวันวาน

          โดยเฉพาะในบริเวณถนนอุดมธาราและถนนศรีตะกั่วป่า ที่มีตึกเก่างดงามให้ได้เพลินชมหลายห้อง หรือแม้แต่ "ตึกขุนอินทร์" บ้านเก่าอายุร้อยกว่าปี ก็ตระหง่านงามด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียล ก่อสร้างโดยช่างชาวจีนจากปีนัง มีเสน่ห์น่าเยือนยล เป็นเรื่องเพลินกับการนั่งจิบกาแฟในร้านโกปี๊มองความเคลื่อนไหวรอบด้าน หรือถามไถ่คุณลุงคุณป้าถึงเรื่องราวสีสันของการทำเหมืองแร่ในอดีตชีวิตที่ผ่านพ้นทว่ายังคงอยู่ในความทรงจำที่งดงามของคนเก่าแก่อย่างยากจะลืมเลือน

ตะกั่วป่า

         ไม่ไกลกันจากเมืองเก่า "สะพานเหล็กโคกขนุน" คืออีกหลักฐานสำคัญของการมีอยู่ของเหมืองแร่ในวันก่อน ทุกวันนี้มันกลายเป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนที่ข้ามผ่านแม่น้ำตะกั่วป่า เป็นภาพงามที่ยังไม่หายสูญไปกับกาลเวลา หรือหากมีเวลาลองตะลอนออกไปนอกเมือง เพื่อชมความงามของท้องทะเลเขาหลัก น้ำทะเลใสแจ๋ว หาดทรายขาวเนียนนุ่ม สนุกกับกิจกรรมมากมาย จนไม่อยากให้เวลาผ่านเลยแม้แต่นาทีเดียว

ตะกั่วป่า

         การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านสุราษฎร์ธานี จนถึงอำเภอพุนพิน แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหายเลข 401 จนถึงอำเภอบ้านตาขุน อำเภอพนม เข้าสู่ตัวอำเภอตะกั่วป่า รวมระยะทางราว 740 กิโลเมตร จากนั้นไปต่ออีก 7 กิโลเมตร ถึงย่านเก่าตะกั่วป่า

         ติดต่อสอบถาม : ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา โทรศัพท์ 0 7648 1900-2

2. เกาะพยาม โมงยามแห่งชีวิตยึดติดเกาะ

เกาะพยาม

         ห้วงน้ำสีฟ้าอ่อนใสราวกับผืนกระจก สะกดใจให้ใครหลายคนต่างอยากปักหมุดหลายการใช้ชีวิตอย่างเนิบช้าไว้ที่มุมสงบงามแห่งนี้ ใครบางคนนิยามไว้ว่าเกาะพยามคือมัสดีฟส์เมืองไทย ที่ไม่ต้องลำบากลำบนข้ามผืนฟ้าและแผ่นน้ำไปไกลก็สามารถสัมผัสกับเสน่ห์ได้ชนิดที่แทบไม่แตกต่าง

         จุดหมายแรกของการเริ่มต้นชีวิตติดเกาะอยู่ที่ "อ่าวแม่หม้าย" ศูนย์กลางการคมนาคม เป็นทั้งจุดขึ้น-ลงเรือ แหล่งรวมร้านค้าและรถเช่าของเกาะ ไม่ไกลกันคือที่ตั้งของ "วัดเกาะพยาม" โดดเด่นด้วยสะพานทอดยาว มีโบสถ์สีขาวตั้งตระหง่านกลางน้ำ บนหลังคาประดิษฐานพระพุทธรูปปางสีลาหันหน้าออกสู่ทะเล จากอ่าวแม่หน้ายลองหามอเตอร์ไซค์คู่ใจสักคันแล้วขี่ลัดเลาะลอดร่มเงากิ่งก้านของต้นมะม่วงหิมพานต์ ที่เกาะกลุ่มเรียงรายอยู่ตลอดสองข้างทางถนนสายเล็ก ชมวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น ชิมเมล็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วสดใหม่ สินค้าที่สะท้อนชัดถึงหนึ่งในอาชีพดั้งเดิมของชาวเกาะ

เกาะพยาม

         จากนั้นแวะเวียนไปที่ "อ่าวกวางปีบ" น้ำสวยหาดทรายขาวสะอาด สงบงาม คล้ายเป็นหาดส่วนตัวอ่าวเขาควาย โดดเด่นด้วยหินทะลุ งดงามราวกับงานประติมากรรมที่ธรรมชาติสร้างไว้เป็นแลนด์มาร์กน่าถ่ายภาพ ซึ่งอีกหนึ่งไฮไลต์ของอ่าวนี้คือหาดทรายบางจุดจะเจือด้วยสีชมพูสวยของเปลือกหอยทับทิมที่ก่ายกองเจือปนกับเม็ดทราย

         "อ่าวใหญ่" มีขนาดพื้นที่ใหญ่สมชื่อด้วยเวิ้งโค้งอ่าวยาว 4 กิโลเมตร ลักษณะเป็นหาดทรายทอดตัวลาดเทลงสู่ทะเล จึงเหมาะแก่การเล่นน้ำและทำกิจกรรมนันทนาการบนชายหาดและยังเป็นแหล่งรวมของที่พักราคาประหยัด รวมถึงบาร์น่านั่งหลากหลาย

เมืองน่าเที่ยวยอดฮิต

         การเดินทาง : จากตัวเมืองระนองนั่งรถไปลงเรือที่ท่าเรือเทศกาลตำบลปากน้ำ ซึ่งจะมีเรือให้เลือก 2 แบบ คือเรือธรรมดา ค่าโดยสารคนละ 200 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง และสปีดโบ๊ท ค่าโดยสารคนละ 350 บาท ใช้เวลาเดินทาง 30 นาที ลงเรือที่ท่าเรืออ่าวแม่หม้าย บนเกาะสามารถเช่ารถมอเตอร์ไซค์ขับตะลุยเที่ยวได้อย่างสบาย รถมอเตอร์ไซค์เกียร์ธรรมดาวันละ 200 บาท เกียร์อัตโนมัติวันละ 250 บาท


         ติดต่อสอบถาม : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานชุมพร โทรศัพท์ 0 7750 2775-6, 0 7750 1831

3. ในบาง วิถีทางของผู้คนริมคลองร้อยสาย

ในบาง

          ผืนน้ำเรียบสนิท ริมตลิ่งครึ้มเขียวด้วยกอจากออแน่น ไม่ไกลจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ความพลุกพล่านจอแจของรถราและผู้คนในเมืองกลับมลายหาย "ในบาง" คือที่ทางที่ลำคลองหลายสายลากผ่าน จนมีการเปรียบเปรยว่ามีคลองมากนับร้อยสาย และแต่ละคลองก็จะมีชื่อเรียกขึ้นต้นด้วยคำว่า "บาง" เช่น บางไม้ บางกล้วย บางเป็ด ฯลฯ คนในเมืองจึงเรียกคนที่อาศัยใช้ชีวิตริมฝั่งคลองเหล่านี้ว่าเป็นคนในบาง

          ภาพงามอาจเริ่มต้นขึ้น ยามล่องเรือเที่ยวชมวิถีของผู้คนที่ใช้ชีวิตผูกพันกับสายน้ำ บางมุมใครสักคนกำลังตกกุ้งแม่น้ำตัวโต เนื้อสดหวาน ที่มีอยู่มากมายในลำคลองอันอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ ริมคลองบางใบไม้ "บ้านเทพพิพิธ" ก่ายกองด้วยมะพร้าว ที่นี่คือแหล่งจำหน่ายมะพร้าวครบวงจร ไล่ตั้งแต่กาบมะพร้าวไปจนถึงเนื้อมะพร้าว และหากพูดถึงมะพร้าวหลายคนก็อาจจะนึกถึงลิงที่ดูเหมือนเป็นผู้ชำนาญการการเก็บมะพร้าวตัวจริงไม่ไกลกันนั้น จึงมี "ศูนย์ฝึกลิงตำบลคลองน้อย" ให้ได้มาเรียนรู้วิถีของลิงเก็บมะพร้าวแสนรู้

ในบาง

          ใช่เพียงแต่มะพร้าวที่มากมี วิถีของคนในบางยังผูกพันกับจากพืชที่ให้คุณประโยชน์หลายประการริมคลองบางเบิดคือแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับจากลูกจากสุก เนื้อนุ่มหวานหอม คือของหวานชั้นดี น้ำหวานจากงวงจากใช้ทำน้ำตาลเคี่ยว บ้างก็ทำเป็นน้ำส้มสายชู ใบจากเมื่อนำมาเย็บเป็นตับก็ใช้มุงหลังคากันแดดกันฝนได้ และหากล่องเรือลัดเลาะเลียบคลองไปเรื่อย ๆ ภาพบ้านเรือนไทยปักษ์ใต้เก่าแก่ก็มีให้เห็นจนเพลินตา

          ก่อนขึ้นฝั่งแวะ "วัดบุญบันเทิง" ชมสิ่งอัศจรรย์อย่างต้นไทรเก็บกระดูก ที่ชาวบ้านต่างนำเถ้าอัฐิของบรรพบุรุษมาฝากไว้ตามซอกหลีบลำต้น โดยเชื่อว่ารุกขเทวดาจะช่วยปกปักรักษาให้เป็นอย่างดี และไปสักการะ "หลวงพ่อข้าวสุก" ที่วัดบางใบไม้ หลวงพ่อข้าวสุกคือพระพุทธรูปปางสมาธิที่สร้างจากข้าวสุกก้นบาตรแล้วห่อหุ้มด้วยทองเหลือง อายุเกือบร้อยปีมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก

ในบาง

          เมื่อตะวันลับแสง ความมืดเช้าครอบคลุมมวลหมู่หิ่งห้อยก็จะส่องแสงกะพริบวิบวับวามวาวเต็มต้นลำพู เป็นการปิดท้ายทริปล่องเรือในสายลมเย็น และบรรยากาศโรแมนติกอย่างถึงที่สุด

          การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร อำเภอไชยา สุราษฎร์ธานี เข้าสู่ตัวเมืองสุราษฎร์ธานี รวมระยะทาง 685 กิโลเมตร

          ติดต่อสอบถาม : บริษัทสุราษฎร์ อินเตอร์ทัวร์ โทรศัพท์ 0 7795 3013

4. ขนอม ความงามที่ซ่อนเร้นในเม็ดทรายและผืนน้ำ

ขนอม

         ลมทะเลโบกโบย เกลียวคลื่นซัดสาดหาดทรายสีน้ำตาลทอดยาว ใครบางคนกล่าวไว้ว่าขนอมคล้ายสวรรค์ของนักเดินทางที่ถูกซ่อนเร้น ทรายของที่นี่แม้ไม่เป็นสีขาวเนียน แต่บรรยากาศก็สงบงาม และคล้ายกับเวลาของที่นี่จะค่อย ๆ หมุนผ่านไปอย่างเนิบช้า

         ในอดีตขนอมเป็นเมืองท่าโบราณอายุหลายร้อยปีที่มีความเจริญรุ่งเรืองกว่าเมืองอันในละแวกเดียวกัน และแม้จะเป็นอำเภอที่เล็กที่สุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ที่นี่ก็มากด้วยเสน่ห์ความงามของทิวทัศน์ขุนเขา ทะเล และภาพวิถีชีวิตการทำประมงพื้นบ้าน

         หากหลงใหลในเกลียวคลื่น "หาดหน้าด่าน" โดดเด่นด้วยหาดทรายสวย น้ำทะเลใส เรียงรายด้วยทิวมะพร้าวทอดด้วยยาวเป็นแนว เหมาะกับการมาละเลียดใช้ชีวิตแบบเนิบช้าท่ามกลางสายลมและแสงแดด และสำหรับคนชอบความน่ารักของโลมาที่เริงร่าอยู่ในธรรมชาติ สามารถล่องเรือจากท่าเรือแหลมประทับออกไปดูวิถีชีวิตของโลมาสีชมพู ซึ่งเดินทางออกจากฝั่งไปไม่ไกลก็จะได้สัมผัสกับความน่ารักของบรรดาโลมาแสนรู้ฝูงใหญ่ ซึ่งว่ากันว่าขนอมเป็นแหล่งที่สามารถพบเห็นโลมาสีชมพูได้ง่ายที่สุด

ขนอม

         จากนั้นแวะเวียนไปชมความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่ "เขาหินพับผ้า" หรือแพนเค้กร็อก ตื่นตากับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของแนวผาหินที่ซ้อนทบกันเป็นชั้น ๆ ราวกับผืนผ้าที่พับไว้

         ก่อนปิดท้ายด้วยการล่องเรือไป "เกาะนุ้ยนอก" สักการะหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด (จำลอง) ชมบ่อน้ำจืดศักดิ์สิทธิ์บนเกาะ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าในอดีตหลวงปู่ทวดเคยมาที่เกาะแห่งนี้ ขณะนั้นเกิดการขาดแคลนน้ำจืดอย่างหนัก ท่านจึงได้เหยียบน้ำกลางทะเล ทำให้เกิดเป็นบ่อน้ำจืดรูปร่างคล้ายรอยเท้ากลายเป็นเรื่องราวปาฏิหาริย์มาจนถึงทุกวันนี้

         การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) จนถึงจังหวัดชุมพร พอถึงแยกเข้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เลี้ยวซ้ายมาตามทางหลวงหมายเลข 401 ถึงสามแยกคลองเหลง ผ่านวงเวียนโลมาสีชมพู จากนั้นเลี้ยวซ้ายเช้าทางหลวงหมายเลข 4014 เข้าสู่เมืองขนอม


          ติดต่อสอบถาม :
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครศรีธรรมราช โทรศัพท์ 0 7534 6515-6

 

5. คีรีวง วงล้อมเขาสูงใหญ่ในสวนสมรม

คีรีวง

         ถ้าจะมีสักหมู่บ้านทางภาคใต้ ที่เหมาะให้เราไปใช้ชีวิตช้า ๆ ท่ามกลางส่วนผลไม้ ใกล้สายน้ำชุ่มเย็น ในวงล้อมเขาสูงใหญ่ ไม่มีที่ไหนจะน่าหลงใหลเท่า "คีรีวง"

         คีรีวง คือชุมชนเก่าแก่เชิงเขาหลวง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนต้นแบบการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย พ.ศ. 2541 (Thailand Tourism Awards 1998) ประเภทเมืองและชุมชนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) การันตีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว

         อ้อมกอดใหญ่ของเขาหลวงโอบอุ้มวิถีคนคีรีวงไว้ในทุกมิติ นอกจากอากาศดีที่หลายคนปักหมุด อยากไปสูดให้เต็มปอดสักครั้งในชีวิตแล้ว ความชุ่มฉ่ำดินดีทำให้คีรีวงเหมาะกับการทำสวนสมรม-สวนผลไม้หลาย ๆ ชนิดในพื้นที่เดียวกัน พืชเด่นชวนชิมมีทั้งทุเรียน มังคุด ลางสาด จำปาดะ หมาก สะตอ ลูกเนียง ผักกูด

คีรีวง

         เดินขึ้นเขาหลวงคืออีกกิจกรรมยอดฮิตของเหล่านักนิยมไพร ที่หลายคนยกให้เขาหลวงเป็นหนึ่งในสุดยอดเขาทางได้ที่ต้องไปเยือน สำหรับพลพรรคนักเดินป่าแนะนำให้มาในเดือนมกราคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงปลอดฝนห่าใหญ่

         กลุ่มอาชีพหลากหลายตอกย้ำเสน่ห์ของคีรีวงให้เป็นมากกว่าการมาจับจ่ายสินค้า แต่ได้เรียนรู้วิธีทำและความเป็นมาของผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นไปในตัวทั้งเครื่องจักสาน ผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว ทุเรียนกวน กลุ่มลายเทียนผ้าบาติกสีธรรมชาติ โดยเฉพาะสบู่เปลือกมังคุดและผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์เด่นระดับส่งออกของชุมชน

         มาคีรีวงเมืองสไลว์ไลฟ์ทั้งทีไม่ควรรีบไปรีบกลับ แนะนำให้ใช้เวลาทิ้งตัวอย่างน้อย ๆ สัก 1 คืน พักโฮมสเตย์กับชาวบ้าน ยิ่งหากไปช่วงกรกฎาคม-กันยายน จะได้ลิ้มรสผลไม้ในสวนสมรมกันแบบสด ๆ

คีรีวง

         การเดินทาง : จากตัวเมืองนครศรีธรรมราช ใช้ทางหลวงหมายเลข 4016 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4015 จนถึงกิโลเมตรที่ 9 เลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้านคีรีวง ตรงเข้าไป 9 กิโลเมตร หรือใช้บริการรถสองแถวจากตลาดยาวในตัวอำเภอเมืองฯ ไปถึงหน้าศูนย์ประสานงานหมู่บ้าน มีรถบริการรถสองแถวจากตลาดยาว ในตัวอำเภอเมืองฯ ไปถึงหน้าศูนย์ประสานงานหมู่บ้าน มีรถบริการเวลา 07.00-16.00 น. ราคา 25 บาท ต่อคน

         ติดต่อสอบถาม : ศูนย์ประสานงานบ้านคีรีวง โทรศัพท์ 0 7553 3113, 08 7264 3306

6. เกาะกลาง ผืนดิน นาข้าว และหลากเรื่องราวกลางเล

เกาะกลาง

         หากให้คิดถึงที่เที่ยวในจังหวัดกระบี่ หลายคนคนนึกถึงเกาะแก่งมากมาย น้ำทะเลใส หาดทรายขาวกระจ่าง ทว่าความจริงแล้วกระบี่ไม่ได้มีแต่เพียงเกาะสวย น้ำใสที่น่าสนใจแต่เพียงเท่านั้น

         เกาะกลาง คือผืนแผ่นดินที่วางตัวอยู่ในบริเวณปากแม่น้ำกระบี่ บนเกาะแห่งนี้งดงามด้วยภาพวิถีชีวิตของชาวมุสลิม พื้นที่บ่นเกาะพาดผ่านด้วยถนนคอนกรีตสายเล็ก ๆ จึงไร้ซึ่งรถใหญ่ พาหนะนำเที่ยวเก๋ ๆ ประจำเกาะคือมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างมีหลังคากันแดดพร้อมพาร่อนทั่วเกาะ หรือสำหรับคนที่อยากออกแรงขาจะปั่นจักรยานทัวร์รอยเกาะก็ยังได้

         ทางสายเล็กทอดยาวผ่านหน้า "มัสยิดบ้านเกาะกลาง" ศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมบนเกาะ ข้างทางบางช่วงจะผ่านนาข้าวสังข์หยอดออกรวงเขียวขจีอยู่เต็มทุ่ง ว่ากันว่าข้าวสังข์หยดของเกาะกลางมีความพิเศษโดดเด่นต่างจากแหล่งปลูกอื่น ๆ แม้ดินที่นี่จะเป็นดินเต็ม แต่กลับให้ข้าวที่เนื้อนุ่มหอม หุงขึ้นหม้อ กลายเป็นสินค้าหลักส่งออกสร้างรายได้ให้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

เกาะกลาง

         จากวิถีข้าวบนทางสายเดิมปรากฏผืนผ้าปาเต๊ะหลากสีสันลวดลายสดใสอยู่ในบ้านเล็ก ๆ ริมทาง การทำผ้าปาเต๊ะถือเป็นอีกอาชีพสำคัญนอกเหนือจากการทำประมงและทำนาข้าว ที่นี่นอกจากจะเป็นแหล่งขายสินค้างานผ้าทำมือ ยังสามารถมาเรียนรู้วิธีการทำผ้าปาเต๊ะ พร้อมร่วมสนุกกับการบรรจงวาดลวดลายลงบนผืนผ้าได้ด้วยฝีมือตัวเอง

         ขณะที่มุมหนึ่งเรือหัวโทงจำลองลำเล็กฝีมือช่างต่อเรือในท้องถิ่นก็วางเรียงรายอยู่ที่ได้ถุนบ้าน สิ่งนี้คืองานหัตถกรรมสะท้อนภาพชีวิตของคนที่นี่ได้เป็นอย่างดี เพราะเรือหัวโทงคือพาหนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนกระบี่ และแม้จะเป็นเรือลำเล็กแต่ทุกรายละเอียดเนื้องาน ขั้นตอนการทำก็ยังคงไว้ซึ่งรูปทรงเสมือนจริง

          จบทางถนนยังสามารถล่องเรือชมทิวทัศน์โรอบเกาะเลาะเลยไปดูวิถีชาวประมงพื้นถิ่น ชม "เขาขนาบน้ำ " เด่นตระหง่านกลางท้องทะเล

เกาะกลาง

         การเดินทาง : จากตัวเองเมืองกระบี่สามารถข้ามเรือไปเที่ยวเกาะกลางได้ 2 ท่า คือท่าเรือสวนสาธารณะธารา-ท่าเล ค่าเรือคนละ 10 บาท และท่าเรือเจ้าฟ้า-ท่าหิน ค่าเรือคนละ 30 บาท บนเกาะมีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถสามล้อพ่วงข้างให้บริการ ราคาตามแต่ละตกลงกันกับเจ้าของรถ

         ติดต่อสอบถาม : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกระบี่ โทรศัพท์ 0 7562 2163, อบต. คลองประสงค์ โทรศัพท์ 0 7561 8055

7. ศรีรายา ที่ทางของบ้านไม้เก่ากลางเกลียวคลื่น

ศรีรายา

         บ้านไม้กับเกลียวคลื่น หลายคนหลงรักเสน่ห์ง่ายงามที่จับคู่กันอย่างลงตัวของสองสิ่งนี้

         "ศรีรายา" คือชุมชนเก่าแก่ที่ตั้งรกรากถิ่นฐานเนิ่นนานบนเกาะลันเตา จังหวัดกระบี่ ในอดีตที่นี่คือเมืองท่าเก่า เป็นศูนย์รวมความเจริญที่ไม่เคยเงียบเหงาภาพงามของชุนชนแห่งนี้อยู่ที่บ้านไม้เก่าแก่ทอดตัวยาวลงไปในท้องทะเล คนพื้นถิ่นจึงเรียกย่านนี้ว่าย่าน "บ้านยาว" ตามลักษณะการวางตัวของบ้าน แม้จะเป็นย่านโบราณแต่เรือนไม้เก่าหลายหลังก็ถูกปรับแต่งเป็นที่พักเท่ ๆ ร้านรวงสมัยใหม่ที่ยังคงมีกลิ่นอายความเก่าซุกซ่อนอยู่ในลวดลายไม้ สองฝั่งถนนเรียงรายด้วยเสาไฟที่ห้อยโยงตะเกียงเจ้าพายุไว้ที่ปลายยอด สะท้อนวิถีของผู้คนในอดีตที่ค่ำคืนไร้แสงไฟฟ้า

ศรีรายา

         "พิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตา" จากอาคารที่ว่าการอำเภอหลังเก่า ปัจจุบันคือแหล่งเรียนรู้ความเป็นมาของวิถีชีวิตผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์บนเกาะลันตาในอดีต อาคารชั้นบนจัดแสดงนิทรรศการวิถีชีวิตของชาวเล ใกล้กันจำลองวิถีชีวิตของชาวมุสลิม อีกห้องจัดแสดงภาพวิถีชีวิตของชาวจีนที่ตั้งกรากอยู่ในย่านเมืองเก่าศรีรายา ขณะที่ขั้นล่างจัดแสดงเตาเผาถ่านโบราณจำลอง บอกเล่าเรื่องราวของถ่านไม้โกงกาง ซึ่งเป็นสินค้าชั้นดีของลันตาในวันวาน

         ใกล้กันกับพิพิธภัณฑ์ฯ คือ "ประภาคารจำลอง" สีอิฐหม่นหันหน้าออกสู่ทะเล หากเดินขึ้นไปถึงยอดบนจะสามารถมองเห็นย่านเก่าศรีรายาในโอบกอดของท้องทะเลงาม

ศรีรายา

         การเดินทาง : จากตัวเมืองกระบี่ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ อำเภอเหนือคลอง คลองท่อม ถึงหลักกิโลเมตรที่ 64 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 4206 มุ่งหน้าสู่บ้านหัวหิน ซึ่งเป็นจุดลงแพขนานยนต์ข้ามไปยังเกาะลันตาน้อย จากนั้นลงแพขนานยนต์ช่วงที่สองจากเกาะลันตาน้อย ไปเกาะลันตาใหญ่ ค่าข้ามแพ 2 ช่วง รถยนต์คันละ 100 บาท ผู้โดยสาร คนละ 20 บาท

         ติดต่อสอบถาม : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกระบี่ โทรศัพท์ 0 7562 2163, 0 7561 2811-2

8. ตรัง หรอยล้ำวัฒนธรรมแห่งการกิน

ตรัง

         เสน่ห์ของการเดินทางท่องเที่ยวไม่ได้อยู่ที่เที่ยวสนุกแต่เพียงอย่างเดียว การได้กินของอร่อยถือเป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งจะแยกออกจากกันไปไม่ได้ เรียกได้ว่ากินกับเที่ยวนั้นเป็นของคู่กัน

ตรัง

         "ตรัง" เมืองสวยสงบที่มีภาพงามทั้งในเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรมของผู้คนที่หลากหลาย นอกจากนั้นที่นี่ยังถือว่าเป็นสวรรค์ของนักกินอย่างจริงแท้ ย่านเก่ายามเช้าตรู่ในห้องหับเก่าแก่ นานาร้านติ่มซำสะท้อนภาพวัฒนธรรมการกินสไตล์กวางตุ้ง มากมายด้วยเมนูหลากหลายให้เลือกชิม อย่างจีบขาวหรือฮะเก๋า แป้งบางห่อหุ้มเนื้อหมู กุ้ง มันแกว กินคู่กับค้อมเจืองหรือน้ำส้มเจืองสีส้มสดที่มีส่วนผสมของมันเทศ ถั่วลิสง น้ำตาลทราย น้ำส้ม และเกลือ

ตรัง

         คงพูดได้ว่ามาเมืองตรังแล้วไม่ได้กิน "หมูย่างเมืองตรัง" ก็เหมือนกับมาไม่ถึง จุดเด่นของหมูย่างเมืองตรังอยู่ที่การหมักหมูจนเครื่องปรุงรสและเครื่องเทศซึมลึกเข้าเนื้อ เวลาย่างหนังหมูจะกรอบบาง เนื้อนุ่มชุ่มฉ่ำด้วยรสชาติออกหวาน กรุ่นหอม พริกไทย กินพร้อมกับกาแฟร้อน ๆ สักแก้ว แค่นี้ก็อร่อยลิ้น

         ส่วนคนรักขนม ตรังยังมีขนมอร่อยให้เลือกชิมมากมาย เค้กตรัง เค้กมีรูเนื้อฟูนุ่มกรุ่นหอม มีหลากรสให้เลือก เช่น เนย กาแฟ สามรส เค้กผลไม้ นอกจากนั้นยังมีขนมจีบ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายทัฟฟ์ข้างในสอดไส้สังขยาเนื้อเนียนหวานให้ได้ลองลิ้มกับน้ำชา

         อิ่มอร่อยแล้วลองนั่งรถตุ๊กตุ๊กหัวกบเที่ยวชมย่านเก่า ตึกรามบ้านช่องสองฝั่งถนนงดงามด้วยงานสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล เรียกได้ว่าอิ่มท้องแล้วยังอิ่มตาได้ในเวลาเดียวกัน

ตรัง

         การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จากนั้นเข้าทางหลวงหายเลข 41 ผ่านสุราษฎร์ธานี อำเภอทุ่งสง แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 403 สู่อำเภอห้วยยอด จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ไปจนถึงตัวเมืองตรัง รวมระยะทางประมาณ 828 กิโลเมตร


         ติดต่อสอบถาม : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง โทรศัพท์ 0 7521 5867, 0 7521 1058

9. คลองแดน วิธีธาร วิธีคน บนเส้นแบ่งแดน

คลองแดน

         สุดแดนจังหวัดสงขลาฝั่งอำเภอระโนด ต่อกับอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช มีคลองสายเล็ก ๆ ไหลแบ่งเขตแดนสองจังหวัด เป็นที่มาของชื่อคลองและชื่อชุมชนน่าเที่ยวนามว่า "คลองแดน" ไม่เพียงเท่านั้น ตรงจุดนี้ยังมีคลองอีก 3 สายได้แก่ คลองระโนด คลองชะอวด คลองปากพนัง ไหลมาบรรจบกันจนได้รับฉายาว่าคลองแคน สามคลองสองเมือง

         ในอดีตพื้นที่นี้คือศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งลุ่มทะเลสาบสงขลา มากมายด้วยร้านทอง ร้านถ่ายรูปร้านตัดผ้า ร้านขายยา โรงปั่นไฟ ตลาด โรงสีข้าว โรงกลึง ฯลฯ ครบครันที่ตลาดดี ๆ สักแห่งจะมีได้ก่อนจะซบเซาไปเมื่อการสัญจรทางบกเข้ามาแทนที่ ต่อมาชาวบ้านช่วยกันพลิกฟื้นคลองแดนให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง กลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่ล่าสุดได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประจำปี 2558 (Thailand Tourism Awards 2015) ประเภทแหล่งท่องเที่ยวชุนชน จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

คลองแดน

         เริ่มเที่ยวคลองแดนกันแต่เช้าตรู่ เช่าเรือที่หน้าร้านยาศรีโอสถ ร้านขายยาโบราณในชุมชนล่องชมวิถีชีวิตริมคลอง ผ่านดงตาล 100 ปี เรืองเป็นทิวแถว ล่องเรื่อยไปจนถึงบ้านท่าเข็น หมู่บ้านชาวประมงริมอ่าวไทย แล้วกลับมาเดินชมสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นลุ่มทะเลสาบสงขลา บ้านแต่ละหลังอายุเฉลี่ยเกินกว่า 50 ปี บางหลังมากกว่า 300 ปี

         ช่วงบ่ายเข้า "วัดคลองแดน" ศูนย์กลางของชุมชนนมัสการองค์พระทองโบราณ ปางมารวิชัย ศิลปะผสมผสานล้านนา ล้านช้าง สุโขทัย อยุธยา และท้องถิ่นได้ชมเรือชุดไม้ตะเคียนทองโบราณและสถาปัตยกรรมที่แฝงคติธรรมอยู่ในทุกรายละเอียด

         ไฮไลท์อีกอย่างอยู่ที่ช่วงเย็นของวันเสาร์ หลังตะวันเริ่มคล้อย "ตลาดน้ำคลองแดน" เริ่มมีชีวิต เลือกช้อปชิมอาหารท้องถิ่น เช่น เต้าคั่ว ขนมจีน ข้าวมันแกงไก่ ขนมจาก ขนมมัน แล้วล้อมวงชวนคุยกับชาวบ้านในบรรยากาศสบาย ๆ มีเวทีกลางน้ำให้ลูกหลานคนคลองแดนแสดงความสามารถ ทั้งรำมโนราห์ การแสดงดนตรี ครึกครื้นทั้งคนแสดงทั้งคนชม ตบท้ายด้วยการนอนโฮมสเตย์สักคืน จะเลือกนอนริมน้ำ นอนบ้านโบราณได้ตามใจชอบ ครบรสวิถีคนบนเส้นแบ่งแดน

คลองแดน

         การเดินทาง : จากจังหวัดสงขลาวิ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 408 ผ่านแยกรับแพรก ผ่านสะพานท่าเข็น สังเกตป้ายทางเข้าตลาดน้ำย้อนยุคคลองแดนซ้ายมือ ตรงเข้าไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร จะพบตลาดน้ำอยู่ทางซ้ายมือ

         ติดต่อสอบถาม : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานหาดใหญ่ โทรศัพท์ 0 7423 1055 และ 0 7423 8 หรือเฟซบุ๊ก : คลองแดน Klongdan

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

หนังสือ อ.ส.ท. เล่มเล็ก มีนาคม 2559
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใช้ชีวิตอย่างเนิบช้าใน 9 เมืองน่าเที่ยวยอดฮิต อัปเดตล่าสุด 30 มีนาคม 2559 เวลา 11:49:26 11,055 อ่าน
TOP
x close