x close

ชมแสงอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตู ปราสาทหินพนมรุ้ง 8-10 ก.ย. และ 5-7 ต.ค. 59

ปราสาทหินพนมรุ้ง

          ปรากฏการณ์แสงอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตู ปราสาทหินพนมรุ้ง ชวนเที่ยวเสริมพลังกับ "ปราสาทต้องห้าม...พลาด" รับพลังศักดิ์สิทธิ์จากแสงแรกแห่งพระอาทิตย์ ที่จะสาดส่องตรง 15 ช่องประตู ณ ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

          การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ ขอเชิญร่วมเปิดประสบการณ์ความมหัศจรรย์แห่งปราสาทพนมรุ้ง กับปรากฏการณ์แสงอาทิตย์ขึ้นและตกตรง 15 ช่องประตู สุดท้ายของปี 2559 พระอาทิตย์ขึ้นวันที่ 8-10 กันยายน 2559 และพระอาทิตย์ตกวันที่ 5-7 ตุลาคม 2559 ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์


ภาพจาก ททท. สำนักงานสุรินทร์

         "ปราสาทพนมรุ้ง" ถือเป็นปราสาทหินเก่าแก่ศิลปะขอมโบราณอายุร่วมพันปี จากการรังสรรค์ด้วยภูมิปัญญาอันแยบยลของคนโบราณ ที่ถ่ายทอดความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ที่วิจิตรงดงามผ่านลายสลักบนหินนับร้อยนับพันก้อน สร้างสรรค์จนเกิดเป็นความยิ่งใหญ่แห่งเทวสถานบนยอดภูเขาไฟสูงหนึ่งในหกลูกสำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์ที่ดับสนิทแล้ว

          สำหรับปรากฏการณ์แสงแรกแห่งอรุณรุ่งพระอาทิตย์ฉายแสงผ่านศิวลึงค์ ตัวแทนแห่งพระศิวะ ตรง 15 ช่องบานประตูของปราสาทพนมรุ้ง ถือเป็นความเชื่อและความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นดำเนินชีวิตในวันใหม่ (พระอาทิตย์ขึ้นวันที่ 8-10 กันยายน 2559 เวลาประมาณ 06.00 น. และพระอาทิตย์ตกวันที่ 5-7 ตุลาคม 2559 เวลาประมาณ 17.30 น.) ซึ่งคาดว่าผู้ร่วมงานจะรู้สึกเกิดความมหัศจรรย์ใจต่อจินตนาการของบรรพชนที่ออกแบบและสร้างสรรค์สิ่งนี้ขึ้น

          นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงอื่น ๆ ได้ เช่น ปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย ชมนาคห้าเศียรศีรษะเกลี้ยงที่ไม่เหมือนที่ปราสาทหินแห่งใด, กลุ่มทอผ้าไหม-ผ้าฝ้ายหมู่บ้านเจริญสุข (ผ้าภูอัคนี) อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ชมการย้อมผ้าจากดินภูเขาไฟอังคารอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์, สนามฟุตบอล I-Mobile Stadium อำเภอเมือง สนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐานแห่งหนึ่งในประเทศไทย และอุทยานไม้ดอก เพ ลา เพลิน อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ แหล่งเรียนรู้พันธุ์ไม้ที่หลากหลายแห่งเดียวของภาคอีสานได้อีกด้วย

ปราสาทหินพนมรุ้ง
ภาพจาก ททท.สำนักงานสุรินทร์

          ทั้งนี้สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 

          • ททท. สำนักงานสุรินทร์ โทรศัพท์ 0 44 51 4447-8 โทรสาร 0 4451 8530, e-mail : tatsurin@tat.or.th, www.เที่ยวอีสาน.com, เฟซบุ๊ก ททท.ชวนเที่ยวอีสานใต้ หรือโทรศัพท์ 1672   

          • ที่ทำการปกครองจังหวัดบุรีรัมย์ โทรศัพท์ 0 4466 6501

          • ประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์ โทรศัพท์ 0 4466 6531

          • อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทรศัพท์ 0 4466 6251

          • สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบุรีรัมย์  โทรศัพท์ 0 4466 6528


ปราสาทหินพนมรุ้ง

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

          ตั้งอยู่บ้านตาเป็ก ตำบลตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญคือ "ปราสาทหินพนมรุ้ง" ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร ซึ่งคำว่า "พนมรุ้ง" หรือ "วนํรุง" เป็นภาษาเขมรแปลว่า "ภูเขาใหญ่" นั่นเอง

          โดยตัวปราสาทพนมรุ้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ตั้งเรียงรายขึ้นไปจากลาดเขาทางขึ้นจนถึงปรางค์ประธานบนยอด อันเปรียบเสมือนวิมานที่ประทับของพระศิวะ บันไดทางขึ้นช่วงแรกทำเป็นตระพัง (สระน้ำ) สามชั้นผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดินซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะ ๆ ถนนทางเดินนี้ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์

          ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนือมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง 1 หลัง เรียกกันว่าโรงช้างเผือก สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะ ๆ รวม 5 ชั้น สุดบันไดเป็นชานโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ ททท.)

ปราสาทหินพนมรุ้ง

การเดินทางไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ?

          1. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง (ทางหลวง 218) ระยะทาง 50 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 24 ไป 14 กิโลเมตร ถึงบ้านตะโก เลี้ยวเข้าบ้านตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (ทางหลวงหมายเลข 2117 และ 2221) ไปพนมรุ้งเป็นระยะทางอีก 12 กิโลเมตร

          2. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 219 เป็นระยะทาง 44 กิโลเมตร จากตัวอำเภอประโคนชัย มีทางแยกไปพนมรุ้ง ระยะทางอีก 21 กิโลเมตร (เส้นทางนี้ผ่านทางแยกเข้าปราสาทเมืองต่ำด้วย) รถโดยสาร จากสถานีขนส่งบุรีรัมย์ ขึ้นรถสายบุรีรัมย์-จันทบุรี ลงรถที่บ้านตะโกแล้วต่อรถสองแถวหรือรถจักรยานยนต์รับจ้างไปพนมรุ้ง และควรตกลงราคาค่าโดยสารก่อนเดินทาง

ที่เที่ยวนครพนม

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
, www.เที่ยวอีสาน.com, เฟซบุ๊ก ททท.ชวนเที่ยวอีสานใต้
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชมแสงอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตู ปราสาทหินพนมรุ้ง 8-10 ก.ย. และ 5-7 ต.ค. 59 อัปเดตล่าสุด 8 กันยายน 2559 เวลา 18:34:09 58,749 อ่าน
TOP