อลังการ ปราสาทข้าว ในประเพณีบุญคูณลานฯ กาฬสินธุ์


บุญคููณลานฯ กาฬสินธุ์

          ชมความสวยอลังการ ปราสาทข้าว สูง 20 เมตร ศิลปะแห่งศรัทธาสามัคคีกับรวงข้าวกว่า 1 ล้านรวง ไฮไลท์สำคัญภายใน งานประเพณีบุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูณลาน สืบสานตำนานพระแม่โพสพ ประจำปี 2559 จังหวัดกาฬสินธุ์

บุญคููณลานฯ กาฬสินธุ์

          จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอเชิญชมความอลังการของ "ปราสาทข้าว" ศิลปะแห่งศรัทธาสามัคคีของชุมชนหมู่บ้านต้อน ใน "ประเพณีบุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูณลาน สืบสานตำนานพระแม่โพสพ ประจำปี 2559" ระหว่างวันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ 2559 ณ วัดเศวตวันวนาราม หมู่บ้านต้อน ตำบลเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์

          สำหรับ "ปราสาทข้าว" ถือเป็นศิลปะที่เกิดจากแรงศรัทธาของชาวบ้าน สร้างขึ้นเพื่อประเพณีบุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูณลาน  หรือ บุญคูณลาน ตามความเชื่อโบราณฮีตสิบสอง คองสิบสี่ของชาวอีสาน โดยจะประกอบพิธีหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพื่อระลึกถึงบุญคุณของพระแม่โพสพและแสดงออกถึงความกตัญญูต่อแผ่นดินที่ให้ผลผลิตเพื่อการยังชีพ และเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและการเพาะปลูก ตลอดจนเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและสืบสานศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น

บุญคููณลานฯ กาฬสินธุ์

บุญคููณลานฯ กาฬสินธุ์

          ปราสาทข้าว ในประเพณีบุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูณลาน มีจุดเริ่มต้นการสร้างในปี พ.ศ. 2537 โดยขณะนั้น เมื่อถึงช่วงเวลาประกอบพิธีบุญคูณลานชาวบ้านส่วนใหญ่ยังนวดข้าวไม่เสร็จ จึงนำมัดข้าวที่ยังไม่แยกเมล็ดข้าวออกจากฟางมาถวายวัดจนเกิดเป็นแนวคิดในการนำมัดรวงข้าวดังกล่าว มาสร้างเป็นปราสาทข้าว และพัฒนารูปแบบมาจนมีขนาดใหญ่และสวยงามอลังการเช่นปัจจุบัน

บุญคููณลานฯ กาฬสินธุ์
          การเตรียมการสร้าง "ปราสาทข้าว" เพื่อใช้ในการประกอบพิธีบุญบายศรีสู่ขวัญคูนลานนั้น จะเป็นการอาศัยแรงศรัทธาและพลังความสามัคคีจากคนในชุมขนในการร่วมกิจกรรมในโครงการ พร้อมทำการคัดและมัดรวงข้าวที่สมบูรณ์ ซึ่งได้จากศรัทธาของชาวบ้านที่นำมารวบรวมกันไว้ที่วัด จากนั้นนำมาประดับตกแต่งอย่างประณีตจนกลายเป็นปราสาทข้าวขนาดใหญ่ ซึ่งใช้ระยะเวลาการสร้างโดยประมาณ  2 เดือน นับจากวันเริ่มต้นสู่วันเสร็จสมบูรณ์ จึงถือได้ว่าการประกอบพิธีบุญบายศรีสู่ขวัญคูนลาน เป็นผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมที่สะท้อนถึงพลังแห่งศรัทธาและความสามัคคีในชุมชนได้เป็นอย่างดี

          กำหนดการ

บุญคููณลานฯ กาฬสินธุ์

          อนึ่งคำว่า "ลาน" หมายถึงสถานที่สำหรับนวดข้าว "คูณ" คือการทำให้เพิ่มขึ้น คำนี้จึงมีความหมายว่าการนำข้าวที่นวดแล้วกองให้สูงขึ้น เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เป็นเหมือนการทำขวัญข้าว เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ข้าวที่อยู่ภายในลาน ซึ่งโดยปกติแล้วการทำบุญคูณลานของชาวบ้านจะทำไม่พร้อมกัน แต่จะขึ้นอยู่กับการเก็บเกี่ยวข้าว หากมีการขนข้าวเข้ายุ้งข้าวเมื่อใดก็ถือเอาวันนั้นเป็นวันทำบุญคูณลาน เป็นกิจกรรมร่วมกันของครอบครัวและสมาชิกในชุมชน มีการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ และการประกอบพิธีบายศรีสูตรขวัญให้แก่ข้าว

บุญคููณลานฯ กาฬสินธุ์

บุญคููณลานฯ กาฬสินธุ์


            ทั้งนี้สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลตำบลเหนือ จังหวัดกาฬสินธุ์ โทรศัพท์ 0 4384 0812 หรือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานขอนแก่น โทรศัพท์ 0 4322 7714-5 หรืออัพเดทข่าวสารผ่านทาง เฟซบุ๊ก TAT Khonkaen

หมายเหตุ : กำหนดการอาจะมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาตรวจสอบข้อมูลก่อนเดินทางทุกครั้ง ข้อมูล ณ วันที่ 22 ม.ค. 2559

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
nwnt.prd.go.th, เฟซบุ๊ก TAT Khonkaen, ภาพจาก เฟซบุ๊ก Live Kalasin

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อลังการ ปราสาทข้าว ในประเพณีบุญคูณลานฯ กาฬสินธุ์ อัปเดตล่าสุด 25 มกราคม 2559 เวลา 16:42:05 11,725 อ่าน
TOP
x close