สวัสดี แม่สอด

 


สวัสดี แม่สอด
(กรุงเทพธุรกิจ)

โดย ปวิตร  สุวรรณเกต

          “ชาวเขา” ไม่บอกก็รู้ว่าอาศัยอยู่บนเขา แต่จะบอกให้รู้ว่าพวกเขาไม่ได้อาศัยอยู่เฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่เชียงรายหรือแม่ฮ่องสอนเท่านั้น...

         
อย่างจังหวัดตาก ภูมิประเทศกว่า 70-80%  เป็นป่าเขา ประชากร 2 ใน 5 ของจังหวัด จึงเป็นชาวไทยภูเขาที่ใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนมีเพื่อนถามว่า

          “ไปตากเจอชาวเขาด้วยเหรอ?” ตอบไปว่า “เจอทุกเผ่าเลยล่ะ”

          จังหวัดตาก ประกอบด้วย 8 อำเภอ กับ 1 กิ่งอำเภอ แต่หลายคนมองภาพจังหวัดแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ ฝั่งอำเภอเมืองและฝั่งอำเภอแม่สอด ซึ่งกำลังพยาผลักดันตัวเองจากอำเภอขึ้นเป็นจังหวัดด้วยความเป็นเขตเศรษฐกิจชายแดนติดกับประเทศพม่า ก่อนออกเดินทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอแม่สอดเจ้าถิ่นยกตัวอย่างความแตกต่างของรูปแบบการใช้ชีวิตและค่าครองชีพในสองฝั่งเมืองให้ฟังว่า

          “กินก๋วยเตี๋ยวฝั่งอำเภอเมืองชามละ 10 บาท แต่ถ้าไปที่แม่สอดก๋วยเตี๋ยวชามละ 20-25 บาท”

          ได้ยินแล้วอยากซื้อก๋วยเตี๋ยวติดตัวไปสัก 2-3 ห่อ

          ไปตามเส้นทางสายตาก-แม่สอด ฝนตกสลับกับแดดออก รถค่อย ๆ พาเราไต่ไปตามความสูงของดอยมูเซอจนถึง ตลาดสินค้าพื้นเมืองชาวเขาดอยมูเซอและพิพิธภัณฑ์มูเซอดำ ซึ่งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 28 ตลาดนี้ถือเป็นตลาดมูเซอใหม่ ตลาดเก่านั้นอยู่ที่กิโลเมตรที่ 31 ซึ่งยังเปิดอยู่แต่ต้องจอดรถริมทางต่างกับตลาดใหม่ที่มีที่จอดรถบริการ

         
          เพื่อนช่างสงสัยถามว่า “ตลาดใหม่แค่ไหน?” ต้องบอกว่า “วันที่ไปพึ่งเปิดตลาดเลยล่ะ” เพราะฉะนั้นนอกจากได้เดินชมผลิตภัณฑ์ของพี่น้องชาวไทยภูเขาทั้งผลผลิตจากไร่สวน อาทิ แตงกว่าลูกอ้วนกลมจนนึกว่าเป็นแตงโมพันธุ์ใหม่ หน่อไม้ฝรั่ง ต้นหอมญี่ปุ่น แครอท (เอามาขายไม่ได้เอามาฝาก) เสื้อผ้าเครื่องเงินรวมถึงพิพิธภัณฑ์มูเซอดำซึ่งรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอดำและเผ่าต่าง ๆ 


          ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไว้ ยังมีโอกาสได้ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวเขา ซึ่งแต่ละเผ่าเตรียมมาแสดงในงานเปิดตลาดครั้งนี้เผ่า “อีก้อ” หรือ “เผ่าอาข่า” ดูจะเรียกความคึกคักสนุกสนานได้มากที่สุดด้วยเครื่องดนตรีเป่าในจังหวะครื้นเครงฟ้าฝนเองก็ดูจะเป็นใจให้กับงานเปิดตลาด แสงแดดส่องลงมาจนรู้สึกร้อนตลอดการแสดง ก่อนที่ฝนจะเทลงมาในช่วงเวลาเสร็จพิธีพอดี

          รถจอดอยู่ไกลไม่ใช่น้อย แต่บางคนไม่สนใจว่าจะเปียกปอน เพราะกิจกรรมต่อไปนี้ คือ ล่องแก่งแม่ละเมา ลำน้ำแม่ละเมามีต้นกำเนิดจากลำห้วยหลายสายจากเทือกเขาในเขตติดต่ออำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง ไหลไปทางทิศเหนือผ่านบ้านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด ไหลไปรวมกับห้วยแม่กาษา แล้วไปบรรจบกับแม่น้ำเมยที่บ้านวังผาอำเภอแม่ระมาด แม่สอด

         
การท่องเที่ยวผู้รับผิดชอบโปรแกรมนี้ต้อนรับเราด้วยกาแฟร้อน ๆ ในกระบอกไม้ไผ่ น้ำร้อนที่ใช้ชงกาแฟก็ต้มมาจากกระบอกไม้ไผ่เช่นกัน จิบกาแฟเรียบร้อย เรือพร้อมคนพร้อมก็ออกเดินทางกัน เจ้าหน้าที่ประจำหัวเรือและท้ายเรือพาเราออกจากฝั่งช้า ๆ ล่องไปตามกระแสน้ำที่ไม่แรงเท่าไรนัก ดูเป็นแก่งที่เหมาะกับการชมธรรมชาติมากกว่าจะเป็นกิจกรรมท้าทาย เพราะฉะนั้นเด็ก ๆ สามารถร่วมกิจกรรมได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีอันตรายแต่ก็มีแก่งใหญ่พอให้ตื่นเต้นบ้างบางจุดที่เรียกเสียงเฮฮาได้มากที่สุดเห็นจะเป็นตอนที่ลูกเรือสองลำสาดน้ำใส่กันและพยายามดึงฝ่ายตรงข้ามลงน้ำ นั่งชมธรรมชาติเพลิน ๆ ร่มไม้สองฝั่งเป็นสีเขียวเย็นตาขยับตัวไปอยากเอามือลูบน้ำเย็น ๆ...

          “แถวนี้งูเยอะ” เสียงเจ้าหน้าที่ประจำหัวเรือเหมือนรำพึงมาตามลม

          “ขอบคุณครับพี่” บอกไปเบา ๆ ในใจแล้วกลับมานั่งสงบเสงี่ยมตามเดิม




          กลับขึ้นรถยังไม่มีทีท่าว่าจะหมดแรงกันง่าย ๆ บนเส้นทางสายตาก-แม่สอด ณ กิโลเมตรที่ 69 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายเล็ก ๆ สู่ วัดโพธิคุณ หรือวัดห้วยเตย วัดป่าสายปฏิบัติที่ร่มรื่นจากสภาพทางเข้าคงไม่มีใครคิดว่าจะได้เห็นวัดที่สวยงามขนาดนี้พระอุโบสถเป็นศิลปะไทยประยุกต์ 3 ชั้น บริเวณชั้น 2 และชั้น 3 ออกแบบตกแต่งภายในอย่างสวยงาม และประดิษฐานพระพุทธรูปในลักษณะที่แตกต่างแต่สอดคล้องกัน ศาลาการเปรียญเป็นศาลาทรงไทยใช้วิธีการก่อสร้างแบบพื้นบ้านโบราณ ภายในตกแต่งด้วยลวดลายไทยประยุกต์ หอฉันเป็นเรือนไทยทรงปั้นหยา สีสัน และการตกแต่งอ่อนหวานภายในบริเวณวัดมีแหล่งน้ำซับกลางป่าดงเตย ซึ่งมีน้ำผุดจากใต้ดินตลอดทั้งปีเป็นต้นน้ำของลำห้วยเตย

         
วัดแห่งนี้ออกแบบ จัดวางผังสภาพภูมิทัศน์สิ่งก่อสร้าง ตกแต่งตลอดจนปั้นพระพุทธรูป โดย คุณประสงค์  ชาวนาไร่ ศิลปบัณฑิตจากวิทยาลัยครูอุบลราชธานีและมหาบัณฑิตทางด้านโบราณคดี จากมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ได้อุทิศชีวิตและจิตใจในการก่อสร้างนานกว่า 17 ปี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาโดยไม่ขอรับค่าตอบแทน

          ออกจากวัดแล้วอดคิดไม่ได้ว่าคนส่วนหนึ่งสร้างวัดที่สวยงามขึ้นด้วยแรงศรัทธาซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมขณะเดียวกันทุกวันนี้เราได้เห็นวัดจำนวนไม่น้อยที่พยายามสร้างสิ่งปลูกสร้างที่วิจิตรใหญ่โตเพื่อดึงดูดให้คนเข้าวัดจำเป็นหรือไม่ที่วัดจะต้องดูยิ่งใหญ่สวยงามขนาดนั้น? หรือชาวพุทธจะไม่เดินเข้าวัดถ้าไม่มีสิ่งดึงดูดใจ? หากเป็นอย่างนั้นพวกเขาเข้าวัดด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ หรือเข้าไปเพียงเพื่อ “ท่องเที่ยว” !!

          มาถึงแม่สอดยามเย็นเห็นทีวันนี้คงไม่มีแรงออกไปไหนอีกแล้ว เข้าที่พัก โรงแรมเซ็นทรัล แม่สอดฮิลล์ รับกุญแจห้องขึ้นลิฟต์ตัวเล็กไปตามคำแนะนำเข้าห้องวางกระเป๋าได้ก็นอนผึ่งลงบนเตียงทันที

          “เหนื่อย...” พูดกับตัวเองเพราะอยู่คนเดียว ก่อนที่โทรศัพท์ในห้องจะดังขึ้นเสียงตามสายเรียกไปเจอกันที่ “บ้านชายน้ำ” ห้องอาหารไทยริมสระน้ำของทางโรงแรมเดินลงสู่แพเล็ก ๆ ที่ต่อเติมลงไปในน้ำยกพื้นมีเบาะรองนั่งพร้อมหมอนสามเหลี่ยมหนุนหลังมองไปในสระมีบัวเป็นกอ ๆ กระจายกันไป รายการอาหารมีให้เลือกทั้งอาหารไทยและอาหารเหนือซึ่งเป็นอาหารพื้นเมือง อาทิ ยำผักกูดกุ้งสด แกงฮังเล แกงขนุนสดหมู แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย กระทะร้อน กุ้งเผา ปูดำผัดผงกะหรี่ อาหารทะเลอย่างกุ้งและปู จะส่งมากจากฝั่งพม่า การขนส่งสะดวกรวดเร็ว ทำให้ได้ของสดใหม่ใช้เวลากับอาหารมื้อค่ำไม่น้อยกลับขึ้นห้องอีกทีเจอการ์ดใบน้อยอวยพรให้นอนหลับฝันดีอยู่ที่หัวเตียงยิ้มรับแล้วไปอาบน้ำกลับมาหนุนหมอนนอนหลับไปแทบจะทันที

          เช้าวันสุดท้ายก่อนกลับเป็นโปรแกรมเบา ๆ เอาใจขาช้อป พากันไปสุดประจิมที่ริมเมย หรือสุดชายแดนไทย-พม่า ที่ตั้งของ ตลาดริมเมย สถานที่ติดต่อค้าขายระหว่างไทย-พม่า โดยมีแม่น้ำเมยเป็นเส้นกั้นเขตแดน ชาวพม่าเรียกแม่น้ำเมยว่า “แม่น้ำต่องยิน” มีความยาวประมาณ 327 กิโลเมตร แม่น้ำสายนี้มีความแปลกคือไหลขึ้นจากต้นน้ำที่บ้านมอเกอ ตำบลพบพระ อำเภอพบพระ ไหลผ่านอำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง ไปถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน ไหลลงอ่าวมะตะบันในเขตพม่า

          ในตลาดมีสินค้านำเข้าจากประเทศอินเดีย และจีนเป็นแหล่งค้าขายอัญมณี หยก ทับทิมและพลอยสี จากพม่า ทั้งแบบแปรรูปแล้ว และยังไม่ได้แปรรูป แต่ของแบบนี้ต้องตาถึงดูเป็นจริงๆ เดินไปเดินมาไม่รู้จะซื้ออะไร หาที่นั่งเหมาะ ๆ นั่งมองสะพานที่เชื่อมสองฝั่งแม่น้ำเมยหนุ่มสาวและลุงป้าน้าอาชาวพม่าเดินข้ามมาไม่ขาดสายถ้าไม่นับการแต่งกายและภาษาที่ต่างกันหากคนลาวเป็นพี่น้องกับคนไทย คนพม่าก็คงเป็นญาติข้างใดข้างหนึ่งของเราเหมือนกัน

          ขาช้อปทยอยกลับมาแล้ว ปริมาณข้าวของในมือบ่งบอกระดับความเป็นมืออาชีพของแต่ละคนจากนี้ไปปลายทางอยู่ที่กรุงเทพฯ มองกลับไปบนสะพานคุณป้าชาวพม่ามองลงมาที่เราพอดีส่งยิ้มสยามให้คุณป้า...แล้วนึกในใจว่า

         “โอกาสหน้าจะมาอีกครับ”...@

 

รักการท่องเที่ยว อ่านสถานที่ท่องเที่ยว มากมาย คลิกเลยค่ะ 

 


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สวัสดี แม่สอด อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13:15:58 1,077 อ่าน
TOP
x close