x close

ทำความรู้จักเมืองโคราช ผ่านพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา


พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

          "นครราชสีมา" หรือที่เราเรียกว่า "โคราช" ที่นี่เรียกได้ว่าเป็นประตูสู่ภาคอีสาน ซึ่งถ้าหากว่าใครที่ได้เดินทางมาเยือนเมืองโคราช สิ่งที่พลาดไม่ได้เลยนั่นก็คือ การมาสักการะบูชาหรือขอพรย่าโม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวโคราช แถมสถานที่เที่ยวโคราชยังมีอยู่มากมายให้เลือก รวมไปถึงของขึ้นชื่อหลายอย่าง ถ้าเพื่อนอยากจะมาทำความรู้จักเมืองโคราช มากขึ้นละก็ ต้องมาที่นี่เลย "พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา" ตั้งอยู่ที่ ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา


พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

          ความเป็นมา

          พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ได้มีการพัฒนามาจาก "หอวัฒนธรรม" เมื่อ พ.ศ. 2523 เมื่อครั้งสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ยังเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมของวิทยาลัยครูนครราชสีมา โดยมีว่าที่ ร.ต. ถาวร สุบงกช เป็นหัวหน้าศูนย์ในขณะนั้น โดยใช้ห้อง 514-515 เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและสิ่งอื่นๆ ที่ได้รับจากการบริจาคและขอซื้อเพิ่มเติม

           พ.ศ. 2529 ได้ย้ายหอวัฒนธรรมไปอยู่ที่ อาคาร 2 ซึ่งเป็นอาคารไม้ดั้งเดิมของสถาบัน จากนั้น พ.ศ. 2538 ได้มีการเคลื่อนย้าย อาคาร 1 และอาคาร 2 (โดยวิธีการดีดและเคลื่อนย้ายโดยรางรถไฟ) ไปยุบรวมอาคารทั้งสองและให้หมายเลขอาคารว่าอาคาร 1 ซึ่งหอวัฒนธรรม ก็ได้ย้ายไปตั้ง ณ อาคาร 1 ด้วย เช่นกัน

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

          พ.ศ. 2555 ได้มีการรื้อถอนอาคาร 1 เพื่อดำเนินการก่อสร้างศูนย์รวมกิจการนักศึกษาและหอประชุมนานาชาติ ดังนั้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 หอวัฒนธรรมจึงได้ถูกรื้อถอนอีกครั้งหนึ่งและใน พ.ศ. 2556 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เศาวนิต เศาณานนท์ อธิการบดีในขณะนั้น ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 4.5 ล้านบาท เพื่อให้อาจารย์วิลาวัลย์ วัชระเกียรติศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักฯ ดำเนินการออกแบบและจัดสร้างนิทรรศการ ณ อาคาร 10 ซึ่งเป็นอาคารเดิมของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ใช้งานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 รวมเวลากว่า 40 ปี โดยได้ปรับปรุงบทและเนื้อหาการจัดแสดงโดยใช้รูปแบบเดิมที่เคยจัดแสดง ณ อาคาร 1 มาเป็นฐาน โดยต่อยอดการพัฒนาโดยเน้นความเชื่อมโยงของเรื่องราวร่วมกับโบราณวัตถุที่จัดแสดง และพัฒนาเนื้อหาในส่วนของความเจริญของจังหวัดนครราชสีมาในด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้เห็นพัฒนาการของจังหวัดนครราชสีมาที่มีเป็นมาอย่างยาวนาน โดยใช้ชื่อ "พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา" ภายใต้แนวคิด "บรรยากาศย้อนอดีต เพลินพินิจนครราชสีมา" ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 ในสมัยการบริหารของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐกิตติ์ อินทร์สวรรค์ ผู้อำนวยการสำนักฯ คนปัจจุบัน สำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะแบ่งออกเป็นห้องต่าง ๆ โดยแต่ละโซนจะอธิบายความหมายของห้องต่าง ๆ ทำให้เราได้รู้จักประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของจังหวัดนครราชสีมามากขึ้น ดังนี้...

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

          1. ห้องเบิกโรง : เป็นโซนแรกในการเกริ่นน้ำเข้าสู่เนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองนครราชสีมา ภายในมีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์, ประวัติความเป็นมา, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาหน่วยงานหลักในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

          2. ห้องต้นกำเนิดอารยธรรม : โซนที่บอกเล่าเรื่องราวการค้นพบมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีการศึกษาค้นว่าในแถบลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีอายุไม่ต่ำกว่า 4,500 ปี พร้อมการฉายภาพอดีตให้เห็นว่าบรรพบุรุษในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการดำรงชีวิตอย่างไร

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

          3. ห้องสมัยทวารวดี : ถือเป็นอีกหนึ่งชุมชนโบราณ ที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ ที่เมืองเสมา ราวพุทธศตวรรษที่ 12 โดยได้รับอิทธิพลศิลปวัฒนธรรมมจากอินเดีย ซึ่งเป็นศาสนาพุทธผสมผสานกับศาสนาพราหมณ์ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ การฝังศพนอนหงาย เหยียดยาว รวมทั้งการฝั่งสิ่งของเครื่องใช้ให้กับศพตามความเชื่อดั้งเดิม แทนที่การปลงศพด้วยการเผาตามศาสนาพุทธ

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

          4. ห้องสมัยลพบุรี : ห้องแสดงศิลปะวัฒนธรรมแบบขอมที่แผ่อิทธิผลเจ้ามายังภาคอีสาน ที่ส่งผลต่อศิลปกรรมและวัฒนธรรมทางความเชื่อ ได้แก่ แบบแผนการสร้างเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่าบาราย ศาสนสถานขนาดใหญ่ในรูปแบบปราสาทหิน เครื่องปั้นดินเผาแบบขอม เป็นต้น
 
พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา
 
          5. ห้องสมัยอยุธยา : ยุคแห่งการก่อตั้ง "เมืองนครราชสีมา" ซึ่งเริ่มต้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีฐานะเป็นเมืองชั้นโท มีบทบาทสำคัญในการเป็นฉนวนป้องกันการรุกรานของขแมร์ (เขมร), ลาว, ญวน และเป็นหัวเมืองใหญ่ควบคุมเขมรป่าดงที่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ทำให้ได้มีการสร้างป้อมปราการให้มั่นคงแบบฝรั่ง และส่งเจ้านายผู้ใกล้ชิดมาปกครองเมือง โดยได้นำรูปแบบการออกแบบผังเมืองและสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งยังคงหลงเหลือปรากฏให้เห็นจนถึงปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

          6. ห้องสมัยรัตนโกสินทร์ : นำเสนอเนื้อหาของเมืองนครราชสีมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้เมืองนครราชสีมามีฐานะเป็นเมืองเอก ส่วนการดำรงชีวิตของชาวโคราชในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งไม่แตกต่างกับสมัยอยุธยามากนัก

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

          7. ห้องมหานครแห่งอีสาน : นำเสนอเนื้อหาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นระยะที่มหาอำนาจตะวันตกกำลังดำเนินนโยบายแผ่ขยายอำนาจทางการเมืองเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้มีการปฏิรูปการปกครองจัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล และยังใช้เมืองนครราชสีมาเป็นแหล่งยุทธศาสตร์ทางทหาร ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นตัวอย่างของการยอมรับอำนาจของรัฐบาลกลางได้อย่างผสมกลมกลืนกันในทางสังคมและทางวัฒนธรรมของชาวกรุงเทพฯและชาวอีสานรวมไปถึงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนจังหวัดนครราชสีมา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการจัดสร้างสนามกีฬา ซึ่งเป็นก้าวสำคัญ ในการต่อยอดการพัฒนาให้เมืองนครราชสีมาพัฒนาไปสู่การเป็น "มหานครแห่งการกีฬา"

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

          8. ห้องของดีโคราช (นิทรรศการหมุนเวียน) : เป็นโซนสุดท้ายที่เน้นการจัดแสดงเสนอเนื้อหาในส่วนของดีโคราชที่มีอย่างมากมาย โดยเฉพาะในคำขวัญเก่าของจังหวัดคือ "โคราชลือเลื่อง เมืองก่อนเก่า นกเขาคารม อ้อยคันร่ม ส้มขี้ม้า ผ้าหางกระรอก" และได้คัดเลือกบางส่วนมาจัดแสดงเพื่อนำเสนอให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รู้จักว่าโคราชมีของดีอีกมากมายที่ได้รับการกล่าวขวัญในอดีต ทั้งมวยโคราช ผ้าหางกระรอก รถสามล้อถีบ รำโทนโคราช และเพลงโคราช และรองรับการจัดนิทรรศการหมุนเวียน ในเรื่องอื่นอีกด้วย

          นอกจากนี้ยังสามารถร่วมสืบสานตำนานหมี่โคราชบ้านจุดจิก ต้นกำเนิดหมี่โคราช 100 ปี มรดกที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพราะเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของหมี่โคราช 100 ปี คือ การทำเส้นหมี่จากแป้งข้าวที่โม่สด ๆ ไม่มีส่วนผสมอื่นใดอีก, ไม่ต้องแช่น้ำก่อนปรุง, หมี่ไม่ติดกันเป็นก้อน และเส้นเหนียวนุ่ม อีกทั้งมีความหอมอ่อนจากข้าว รสชาติหวานธรรมชาติจากข้าวแท้ ๆ ส่วนของขึ้นชื่ออีกอย่างก็ คืองานฝีมือเครื่องปั้นดินเผาประจำภาคอีสาน ชื่อ  เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน เป็นหมู่บ้านหนึ่งของ ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาประมาณ 15 กิโลเมตร ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษที่ง่ายต่อการ ขึ้นรูปทนทานต่อการเผา, ไม่บิดเบี้ยวหรือแตกหักง่าย, บวกกับความละเอียดประณีต และงดงาม, มีเอกลักษณ์สีสำริดมันวาว และมีการพัฒนาให้เหมาะยุคสมัยนิยมเพื่อให้เข้าถึงคนในยุคปัจจุบันอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

          เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแหล่งความรู้สำคัญ สำหรับผู้ที่สนใจและศึกษาประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ ซึ่ง พิพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา (Korat Museum) เปิดให้เข้าชม ทุกวัน เวลา 09.00–15.00 น. (ปิดให้บริการตามวันประกาศหยุดของมหาวิทยาลัย) อีกทั้งยังเปิดเข้าชมฟรี ! โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนผู้ที่เดินทางมาเป็นหมู่คณะตั้งแต่ 20 ท่านขึ้นไปกรุณาแจ้งล่วงหน้าตามแบบฟอร์มของทาง พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมาที่นี่

           ที่อยู่ : เลขที่ 340 อาคาร 10 ชั้น 2 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ถนนสุรนารายณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

          
โทรศัพท์ : 044 009 009 ต่อ 1013 หรือ 1020

          
เว็ปไซต์ : koratmuseum.com และ เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา Korat Museum

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
koratmuseum.com, เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา Korat Museum

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำความรู้จักเมืองโคราช ผ่านพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา อัปเดตล่าสุด 24 พฤศจิกายน 2558 เวลา 14:02:04 5,843 อ่าน
TOP