x close

ลิบง-เจ้าไหม คือลมหายใจและความหวัง



 


ลิบง-เจ้าไหม คือลมหายใจและความหวัง (อสท.)

ธเนศ งามสม...เรื่อง
โสภณ บูรณประพฤกษ์...ภาพ

๑. ทะเลงดงามเสมอ ไม่ว่าฤดูกาลใด

         
ยิ่งในโมงยามนี้ ยามแสงแรกแห่งวันฉายส่อง ทะเลเจ้าไหมทอประกายวามวาว กลุ่มหญิงสาวในเวิ้งอ่าวดูน่ามองราวกับภาพวาด พวกเธอกำลังหาหอยตะเภา หอยรสชาติดีซึ่งมีอยู่ทั่วอ่าวปากเมงนี้ "รอบ ๆ ตัวเรามีหอยหลายอย่าง นอกจากหอยตะเภาแล้วก็มีหอยหวาย หอยลาย หอยชักตีน" น้าพิมเล่า ขณะลูกชายวัยกำลังซนเดินเคียงอยู่ไม่ห่าง

          ทั้งน้าพิมและลูกชายมีท่อพิวีซีกันคนละอัน ท่อนี้มีไว้สำหรับปักลงไป ยังรูที่หอยตะเภาอาศัย หากมีตัวหอยจะติดตามท่อขึ้นมาง่าย ๆ "นี่ล่วง ๗ ค่ำแล้ว น้ำเริ่มตาย ถ้าน้ำลงช่วง ๑ ค่ำจะหาได้มากหน่อย มันจะขึ้นมาตามผืนทราย" น้าพิมบอกพลางหยิบหอยตะเภาใส่ตะกร้าหวาย

          เช้าวันนั้น ผมเดินตามน้าพิมและกลุ่มหญิงสาวไปทั่วอ่าวปากเมง พวกเธอส่วนใหญ่มาจากบ้านนาหละ หมู่บ้านมุสลิมซึ่งอยู่ริมชายหาด ผู้คนในหมู่บ้านแทบทั้งหมดมีรายได้จากสวนยางพารา ทว่าช่วงนี้เริ่มเข้าฤดูแล้ง ต้นยางกำลังผลัดใบ ต้องหยุดกรีดยางนานร่วม ๒ เดือน "ไม่ได้กรีดยางก็หาหอยหาปลา เราทำอย่างนี้มาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าแล้ว" ใครบางคนบอกแล้วก็ยิ้มอารมณ์ดี ฟังแล้วชีวิตคนถิ่นนี้ช่างเรียบง่าย คงเพราะมีทะเลเลี้ยงดูพวกเขาให้อิ่มเอมเติบใหญ่ "หอยตะเภานี่ทำอาหารได้แทบทุกอย่าง" ใครบางคนเอ่ย

          "นี่ตัวยังเล็ก ปล่อยไว้ให้มันโตน้ำหน้า" น้าพิมยื่นหอยตะเภาตัวขนาดนิ้วโป้งให้ผมดู แล้วปล่อยมันกลับลงทะเล โมงยามนั้น ยามที่แสงแรกแห่งวันฉายส่อง แดดอบอุ่นยิ่งขับใบหน้าของพวกเธอให้ดูอบอุ่น ชวนมอง ทุกคนยิ้มแย้ม พูดคุยกันสบายใจ ทะเลเจ้าไหมเลี้ยงดูผู้คนให้เป็นเช่นนี้



๒. ที่หาดหยงหลิง ชายหาดด้านทิศใต้ของทะเลเจ้าไหม

          ใต้เงาสนร่มรื่น หลายครอบครัวปูเสื่อบนชายหาด ใช้เวลาช่วงบ่ายไปกับการเล่นน้ำ พายคายักสีสด พูดคุยกันเงียบ ๆ สบายใจ

          หาดหยงหลิงนับว่าสวย จึงมีทั้งคนท้องถิ่นและจากเมืองไกลมาเยือนหนาตา "หยงหลิงเป็นภาษามลายู หยงแปลว่าแหลม หลิงแปลว่ากะลาสีเรือ เล่ากันว่าเคยมีเรือสำเภามาล่มแถวนี้" ลุงวิโรจน์ จิตต์หลัง หัวหน้าหน่วยฯ หาดหยงหลิงเล่า
    
          ในอดีตทะเลแถบเจ้าไหมคือเส้นทางขึ้นล่องของเรือสำเภา เรือจากปีนังเข้ามาค้าขายที่กันตัง ไปถึง กระบี่ พังงา ตะกั่วป่า ในยุคนั้น เจ้าไหมคือเส้นทางการค้า มีเพียงคนท้องถิ่นที่รู้ว่าทะเลผืนนี้อุดมสมบูรณ์เพียงใด ลุงวิโรจน์เล่าว่า "ไม่ใช่แค่ในทะเลนะ ป่าเสม็ดรอบ ๆ ตัวเรานี่ก็มีอะไรอยู่เยอะ มีผักหวานป่า หัวมันทราย ไข่มดแดง ช่วงปลายเดือนเมษายน เห็ดจะขึ้นเยอะแยะ เรียกว่าเห็ดเสม็ด แล้วแต่ก่อนนะ เราเอาเปลือกเสม็ดขาวมามุงหลังคา เปลือกเสม็ดแดงเราใช้ย้อมอวน ย้อมแล้วใช้ทนนาน"

          แดดบ่ายค่อย ๆ โรยอ่อน ลมทะเลพัดผ่านทิวสนดังเย็น ๆ ราวกับเสียงฝนพรำ จากหาดหยงหลิง เรากลับมายังที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม "ราว ๆ ๓๐-๔๐ ปีก่อนโน่น ป่าเสม็ดแถว ๆ หยงหลิงกับแถวที่ทำการฯ นี่เคยมีนาข้าว ผืนดินบางผืนยังปลูกข้าวได้" น้ามุ่ย-สมหมาย อินทเสโน คนเก่าคนแก่ของเจ้าไหมเล่า "ทะเลอยู่ไกลกว่านี้มาก" เธอบอกแล้วก็หันออกไปมองทะเลตรงหน้า "เมื่อก่อนปลาโลบันชุมมาก โลบันคือปลากระบอก มีปลากระบอกมากก็มีโลมามาก โลมาตามมาจับปลากระบอก ดูหยงก็เคยมีมาก" เล่าถึงตรงนี้เธอก็ยิ้มอย่างไร้ความหมาย นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินชื่อ ดูหยง แห่งทะเลเจ้าไหม



๓. ใครบางคนเล่าตำนานทะเลเจ้าไหมให้เราฟัง

          กาลครั้งหนึ่ง มีชายหนุ่มชื่อลิบง เขาเป็นกะลาสีเรือสำเภาลำหนึ่ง ความที่เป็นคนขยันขันแข็ง เจ้าของเรือสำเภาจึงยกนางมุกต์ลูกสาวให้เป็นภรรยา อยู่มาวันหนึ่ง นางมุกต์ตั้งท้อง เธอร้องขอให้นายลิบงพาไปเยี่ยมบ้าน ครอบครัวของนายลิบงยากจนมาก ชายหนุ่มรู้สึกอาย ทว่าทนคำรบเร้าของภรรยาไม่ไหว จึงยอมบ่ายหัวเรือกลับไปบ้านเกิด ฝ่ายพ่อแม่ เมื่อรู้ว่าลูกชายจะกลับมาเยี่ยม ทั้งสองเตรียมข้าวปลาอาหาร เตรียมมะม่วงเปรี้ยวให้ลูกสะใภ้ซึ่งกำลังท้อง เตรียมมะม่วงหวานให้ลูกชาย

          ทว่าพอเรือเดินทางมาถึงบ้านเกิด นายลิบงเกิดอับอายไม่พอใจฐานะเดิมของตน จึงหันหัวเรือกลับ พ่อแม่เห็นดังนั้นจึงน้อยใจ เสียใจ สาบแช่งให้เรือล่มจมหาย แล้วทันใดพายุก็โหมกระหน่ำ โถมซัดเรือสำเภาจนแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ นายลิบงถูกพายุพัดลอยไปกลายเป็นเกาะลิบง นางมุกต์ถูกคลื่นซัดพาไปกลายเป็นเกาะมุกต์ ข้าวของบนเรือกระจัดกระจายกลายเป็นเกาะต่าง ๆ ทั้งเกาะกระดาน เกาะม้า เกาะเชือก เกาะเมง เกาะไหง เกาะแหวน

          ว่ากันว่า บนเกาะลิบงยังมีต้นมะม่วงเปรี้ยว มะม่วงหวาน... จากท่าเรือปากเมง เรานั่งเรืออันดามันซีทัวร์บ่ายหน้าเรือลงใต้ จุดหมายแรกอยู่ที่เกาะมุกต์ ซึ่งยามนี้มองเห็นเป็นรูปหญิงท้องนอนหวายอยู่เบื้องหน้า สุดสัปดาห์เช่นนี้มีผู้คนมาเยือนเกาะมุกต์มากหลาย ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ พวกเขาไม่ได้มาเพราะตำนานหรือเรื่องเล่า ทว่าที่นี่มี ถ้ำมรกต อันเลื่องชื่อให้พวกเขาแหวกว่าย

          จากเกาะมุกต์และถ้ำมรกต เรืออันดามันซีทัวร์ พาเราไปเกาะกระดาน ที่นั่นชายหาดขาวสะอาด น้ำทะเลเป็นสีครามใส มีฝูงปลาหลากสีให้ดำดูอย่างไม่รู้เบื่อ ออกจากเกาะกระดาน เรือบ่ายหน้า พาเราไปดู ค้างคาวแม่ไก่ที่เกาะม้า

          ขณะเรือโล้คลื่นลมทะเลยามเย็น ฝูงนกยางทะเลทยอยบินกลับรังนอน ผมหันหน้าไปทางทิศใต้ มองเห็นเกาะใหญ่อีกเกาะราง ๆ ตรงขอบฟ้าคราม นั่นคือเกาะลิบง บ้านของ ดูหยง ซึ่งผมได้ยินเรื่องเล่ามานาน



๔. ผืนแผ่นดินกับลิบงนั้นอยู่ไม่ไกลกันเลย

          มีเพียงร่องน้ำสีครามกางกั้น ทว่าความเป็นเกาะนั้น ทำให้ที่นี่ค่อนข้างพิเศษ ๒๐ นาทีจากท่าเรือหาดยาว เกาะลิบงด้านหลังเขาให้อารมณ์รับรู้ว่าเราเพิ่งเดินทางมาถึงเกาะในตำนาน ชายหาดเงียบสงบ มะพร้าวยืนต้นปะปนกับหูกวาง และไม้ใหญ่ดูเขียวสดยามเมื่อมองจากเรือ ร่มรื่นเมื่อพาตัวเข้าไปหลบแดดบ่าย "เมื่อก่อนเงียบสงบกว่านี้อีกนะคะ" น้ารวยซึ่งทำหน้าที่เสมือนผู้จัดการลิบงบีช รีสอร์ต เล่าพลางต้อนรับแขกคนไทยกลุ่มเดียวที่มาเยือนในสัปดาห์นี้

          พูดได้ว่า ลิบงบีช รีสอร์ต เป็นที่พักแห่งแรกบนเกาะลิบง เริ่มจากคนท้องถิ่น ต่อยอดโดยครูหนุ่มจากแผ่นดินใหญ่ "ตอนนั้นน้องชายฉันเป็นครูสอนบนเกาะ เขารับช่วงต่อจากเจ้าของที่ดิน ฉันยังจำได้ เขาเป็นเจ้าของรถกระบะคันแรก ทุกครั้งที่เขาขับรถกลับจากตรัง ชาวบ้านจะเดินตามกันเป็นขบวนเลย เพราะจะได้เห็นของแปลก ๆ ใหม่ ๆ" น้ารวย เล่าแล้วก็ยิ้มอารมณ์ดี

          เจ้าของรถกระบะคันนั้นจากไปหลายปีแล้ว คงเหลือลิบงบีช รีสอร์ต ไว้ให้คนจากเมืองไกลมาเยือนและไต่ถาม พักอยู่บนเกาะ ๑ คืน ช่วงเช้าเราเตร็ดเตร่อยู่ริมชายหาด สาย ๆ เข้าไปสำรวจบนเกาะ ไปเยือนบ้านบาตูปูเต๊ะ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๔ หมู่บ้านที่มีอยู่บนลิบง

          อิสมาแอน เบ็ญสะอาด ชายซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้เพื่อนบ้านกลับมามองรากเหง้าของตนรอเราอยู่ที่บ้าน เขาพาเราไปดูบ่อน้ำจืดในป่าชายเลนริมทะเล ซึ่งพบโดยชาวบ้านคนหนึ่งในปีที่เกาะร้อนแล้งขาดแคลนน้ำจืดที่สุด แล้วพาเราไปดูสุสานและร่องรอยเมืองโบราณ

          เศษอิฐดินเผาซึงหลงเหลืออยู่ ดูจะเป็นร่องรอยเดียวที่บอกเล่าว่าลิบงเคยเป็นเมืองท่าสำคัญมาก่อน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ลิบง ถูกเลือกให้เป็นสถานที่ว่าราชการของเมืองตรัง เพราะเป็นท่าเรือสำคัญของหัวเมืองตะวันตก เรือค้าขายจากปีนัง ไทรบุรี มลายู กันตัง หรือแม้แต่เรือจากบางกอกก็ต้องขึ้น-ล่องผ่านจุดนี้

          บังแอน เล่าว่า "ผืนดินบนเกาะก็สมบูรณ์นะครับ ป่าสมบูรณ์ มีกวางป่าชุกชุม เราปลูกข้าวได้ดี มีแตงโมพันธุ์ดีชื่อ แตงจีน เล่ากันว่าเนื้อหวานอร่อย พระยาลิบงซึ่งครองเมืองเวลานั้นมักซื้อไปฝากเพื่อนที่ปีนังบ่อย ๆ" เรื่องราวเหล่านั้นกลายเป็นตำนานไปหมดแล้ว กาลเวลาทำให้ ลิบง เปลี่ยนไป "แต่เรายังมีความหวังนะครับ เรารวมกลุ่มกันเพื่อฟื้นฟูสิ่งดี ๆ ที่เคยมีให้กลับคืนมา" บังแอน บอกน้ำเสียงมุ่งมั่น

          ตะวันดวงแดงคล้อยต่ำ กลับจากบ้านบาตูปูเต๊ะ เรานั่งเรือหัวโทงไปยัง หาดตูบ ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ด้านทิศใต้ของลิบง คล้ายเรากำลังเดินทางไปยังที่ซึ่งไม่มีผู้คนเคยรู้จัก น้ำทะเลสีครามสุดสายตา แนวป่าโกงกางเบียดเสียดเขียวชะอุ่ม ขณะเรือลอยลำเข้าใกล้หาดตูบ ฝูงนกทะเลนับพันนับหมื่นก็บินพรูขึ้นจากชายหาด ราวกับประกายแดดวิบวับบนผืนทราย ลอยเป็นสายคล้ายเกลียวคลื่นสีเงิน เมื่อเรือเข้าจอดเทียบ เราเฝ้ารอเงียบ ๆ อยู่ใต้ร่มไม้ พวกเขาค่อย ๆ ทยอยคืนกลับมา โมงยามนั้น ผมพบว่าลิบงช่างสงบเงียบและงดงาม



๕. ขอให้โชคดีนะคะ

          น้ารวยเอ่ยอวยพรและบอกลา เธอรู้ว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เราจะออกตามหา ดูหยง อันที่จริงแล้ว เราไม่ได้ตามหาเขาทุกวันหรอก เพียงติดตามและฟังข่าวอยู่เงียบ ๆ ว่าพวกเขาปรากฏตัวที่ใดบ้าง ดูหยง คือ พะยูน มีสถานะเป็น ๑ ในสัตว์สงวน ๑๕ ชนิดของบ้านเรา ชีวิตซึ่งเหลืออยู่น้อยนักแล้วในทะเลไทย ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า อวนรุน อวนลาก อวนกระเบน ทำให้พะยูนต้องล้มตายไปไม่น้อย อนาคตของพะยูนจึงยังมืดมนในทุกวันนี้ ที่ท่าเรือหาดหลังเขา เช้านี้เรือของบังเอียดจอดคอยเราอยู่ บังเอียดเป็นคนบ้านหาดยาว เขาไม่ได้มาเพียงลำพัง ทว่าพา บังหย่าเหตุ หะหวา ชายซึ่งพูดได้ว่ารู้จักดูหยงดีที่สุดคนหนึ่งใน ลิบง-เจ้าไหม

          เป็นความจริงแท้ที่ พะยูน คือสัญลักษณ์ของความอุดสมบูรณ์แห่งท้องทะเล เพราะทั้ง ฝูงปลา หญ้าทะเล ปลาโลมา ปลากระเบน ล้วนอาศัยอยู่ร่วมกัน พวกเขาพึ่งพากันโดยไม่อาจขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ แดดบ่ายโรยอ่อน จากหาดหลังเขา บังเอียดบ่ายหัวเรือเข้าไปในคลองลัดทุ่งจีน ครู่หนึ่งเราก็มาออกบริเวณหน้าท่าเรือหาดยาว "แถว ๆ นี้เราเรียกว่าร่องดูหยง" บังหย่าเหตุเอ่ย ขณะกวาดสายตาไปตามแนวหญ้าทะเล ๑๗.๒๘ นาฬิกา พะยูนตัวหนึ่งปรากฏด้านทิศตะวันออก เพียงชั่วหายใจเขาก็ดำดิ่งลับหาย พรายน้ำสะท้อนแดดวามวาว "แถวนี้หญ้าทะเลสมบูรณ์ เขาจะเข้ามาหากินประจำ ปีที่แล้วเราเห็นลูกเล็ก ๆ ตัวหนึ่งด้วย" บังหย่าเหตุเล่า

          จากเอกสารเผยแพร่ของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยอาจารย์กาญจนา อดุลยานุโกศล หัวหน้ากลุ่มวิจัยสัตว์ทะเลหายาก ในการสำรวจอย่างต่อเนื่องกว่า ๑๐ ปี พบว่าผืนทะเลตรังแถบ ลิบง-เจ้าไหม คือถิ่นอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในบ้านเรา และจากการบินสำรวจเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ พบพะยูนอาศัยอยู่แถบนี้ ไม่น้อยกว่า ๑๒๐ ตัว จากประชากรทั้งหมดราว ๒๕๐ ตัวในทะเลไทย

          เหตุผลนอกจากชาวบ้านจะอยู่ร่วมกับดูหยงได้แล้ว ที่นี่ยังอุดมด้วยแนวหญ้าทะเล พืชอาหารสำคัญของดูหยง พ.ศ.๒๕๓๖ ลูกพะยูนเพศเมียอายุปีเศษปรากฏตัวที่หาดเจ้าไหม เขาเข้ามากินหญ้าทะเลใกล้แนวชายฝั่งจนคุ้นเคยกับชาวประมงแถบนั้น โดยเฉพาะกับชายชื่อ หย่าเหตุ หะหวา

          และด้วยความน่ารักของเจ้าโทนนี่นี้เอง ที่ทำให้กระแสอนุรักษ์ทะเลเจ้าไหมเป็นไปอย่างกว้างขวาง รวมถึงทำให้พะยูนกลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดตรังในเวลาต่อมา "เจ้าโทนนี่เราไปขลุกกับเขาตลอด เขาชอบเล่น เหมือนลูกแมวชอบใช้ปากดึงเสื้อดึงกางเกง บางทีดึงใบหูเรา" บังหย่าเหตุเล่าแล้วก็ยิ้มให้กับภาพงดงามเก่า ๆ เจ้าโทนมีชีวิตอยู่ให้ผู้คนชื่นชมเพียงปีเดียว การตายครั้งนั้นทำให้ใครต่อใครรู้สึกสะเทือนใจ ทำให้คน ลิบง-เจ้าไหม หันกลับมามองบ้านเกิดของตน "เราเริ่มรวมตัวกัน ช่วยกันอนุรักษ์หญ้าทะเล อนุรักษ์พะยูน ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เราจะอยู่กันอย่างไร" ประโยคหลังบังหย่าเหตุพูดเป็นคำถามคล้ายย้อนถามตัวเอง



๖. เย็นวันสุดท้าย ผมจดจำภาพต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

          ขณะอยู่บนเครื่องร่องพารามอเตอร์ เหนือผืนทะเล ลิบง-เจ้าไหม เย็นนั้น ผืนทะเลอาบแสงตะวันเป็นประกายสีเงินยวง แนวหญ้าทะเลปรากฏเป็นพืดสีเขียวเต็มร่องน้ำเบื้องล่าง แม้จะไม่พบ ดูหยง พบเพียงโลมา ๑ ฝูง ทว่าการบินครั้งนั้นทำให้ผมมองเห็นบ้านของดูหยงชัดเจน นึกถึงเรื่องราวและตำนานของดูหยง ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ พวกเขาคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในจำพวกวัวทะเล (Sea Cow) สันนิษฐานว่าบรรพบุรุษคือสัตว์บกที่มีสายพันธุ์ใกล้ชิดกับบรรพบุรุษของช้าง หลายสิบล้านปีมาแล้วที่พวกเขาวิวัฒนาการลงไปอยู่น้ำ กินหญ้าทะเลเป็นอาหาร

          ทว่าในมุมมองของบรรพบุรุษชาวมุสลิม ดูหยง สืบเชื้อสายมาจากมนุษย์ เรื่องเล่ามีว่า นานมาแล้วมีสามีภรรยาคู่หนึ่งอาศัยอยู่ริมทะเล ทั้งสองรักกันมาก วันหนึ่งภรรยาซึ่งกำลังตั้งท้องรู้สึกอยากกินลูกหญ้าทะเล สามีก็ทำตามคำร้องขอ ทว่าพอภรรยาได้กินแล้วเกิดติดใจรสชาติหญ้าทะเลยิ่งนัก วันหนึ่งสามีหาลูกหญ้าทะเลมาไม่มากพอ นางจึงเดินลงทะเลเพื่อไปเก็บลูกหญ้าทะเลกินเองและมัวเพลินจนติดอยู่ใต้น้ำ ด้วยความรักสามีจึงตามลงไปหาภรรยาของตน ทั้งสองกลายเป็นพะยูนอยู่ร่วมกันตลอดกาล...

          ทะเลนั้นงดงามเสมอ ไม่ว่าฤดูกาลใด ยิ่งโดยเฉพาะทะเล ลิบง-เจ้าไหม ยามเมื่อมองด้วยสายตาของนก อยู่บนนั้น ผมไม่เพียงมองเห็นบ้านของดูหยง ทว่าผมเห็นบ้านของเรากว้างไกลสุดสายตา เป็นบ้านที่เราใช้อาศัยและหายใจร่วมกัน บ้านสีคราม บ้านอันงดงาม

 





คู่มือนักเดินทาง

          หาดเจ้าไหม อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมมีเนื้อที่ราว ๑๔๔.๒๙๒ ไร่ ครอบคลุมอำเภอสิเกา และอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ความที่มีชายหาดทอดยาวกว่า ๒๐ กิโลเมตร จึงเหมาะสำหรับเรียนรู้เรื่องราวของทะเล บางจุดชายหาดสวยสะอาด บางบริเวณเป็นคลองสายเล็ก สายน้อย และป่าโกงกางสมบูรณ์ ที่หน่วยฯ หาดหยงหลิงน่าพักผ่อนเล่นน้ำทะเล มีร้านอาหารและคายักให้บริการ


          การเดินทาง เดินไปเจ้าไหมสะดวกสุดโดยทางหลวงหมายเลข ๔๐๔๖ (ตรัง-สิเกา) ถึงกิโลเมตรที่ ๓๐ เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๑๖๒ ราว ๔๐ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายอีกครั้ง เลาะชายหาดปากเมงราว ๗ กิโลเมตรถึงที่ทำการอุทยานฯ ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก อุทยานฯ มีบ้านพักรับรอง ๑๓ หลัง (จองผ่านระบบออนไลน์) มีลานกางเต็นท์ ร้านสวัสดิการขายอาหารตามสั่ง เปิดทุกวัน เวลา ๐๖.๐๐-๑๘.๐๐ นาฬิกา สอบถามเพิ่มเติมได้ที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม บ้านฉางหลาง หมู่ที่ ๕ ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ๙๒๑๕๐ โทรศัพท์ ๐ ๗๕๒๑ ๓๒๕๙-๖๐ อีเมล resenve@dnp.go.th หรือที่เว็บไซต์ www.dnp.go.th

          ที่ชายหาดปากเมงมีร้านอาหารให้เลือกมากมาย ยามเย็นบรรยากาศดี ถัดไปไม่ไกลเป็นท่าเรือปากเมง มีที่พักและบริษัทนำเที่ยวทะเลตรังให้บริการ เที่ยวชมเกาะมุกต์ เกาะกระดาน และหมู่เกาะต่า งๆ ในทะเลตรัง แนะนำอันดามันซีทัวร์ รับจดนำเที่ยวทางทะเล บริการแคนู ดูนก แค้มปิ้ง โทรศัพท์ ๐ ๗๕๒๗ ๔๐๙๒, ๐๘ ๑๕๔๑ ๖๑๒๑ เกาะลิบง

          บนเกาะยังมีป่าดิบเขาและป่าโกงกางสมบูรณ์ สนใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิม มีบริการโฮมสเตย์ นำเที่ยวบนเกาะ ชมร่องรอยเมืองเก่า บ่อน้ำจืดริมทะเล ชมพะยูนจากเขาบาตูปูเต๊ะ ติดต่อได้ที่บังอิสมาอิน โทรศัพท์ ๐๘ ๖๙๔๓ ๗๖๖๙



          การเดินทางไปเกาะลิบงสะดวกสุดใช้เส้นทางตรัง-กันตัง ระยะทาง ๕๐ กิโลเมตร ที่ท่าเรือหาดยาวมีเรือโดยสารไป-กลับลิบงทุกวัน เวลา ๐๗.๐๐-๑๘.๐๐ นาฬิกา ค่าโดยสาร ๓๐ บาท จากตลาดท่ากลาง อำเภอเมืองตรัง มีรถตู้ประจำทางปรับอากาศตรัง-หาดยาว ทุกวัน เวลา ๐๗.๐๐-๑๖.๐๐ นาฬิกา ค่าโดยสาร ๖๐ บาท

          ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก เขตห้ามล่าสัตว์หมู่เกาะลิบง น่าแวะไปเยือน ที่ทำการฯ ตั้งอยู่ปลายแหลม จูโหย ด้านทิศใต้ของเกาะ จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับนกทะเลและพะยูนมีบ้านพักรับรอง ๔ หลัง พักได้หลังละ ๒๐ คน มีจุดกางเต็นท์ ใช้ไฟปั่น หากต้องการให้เตรียมอาหาร กรุณาติดต่อล่วงหน้า โทรศัพท์ ๐ ๗๕๒๕ ๑๙๓๒ ลิบงบีช รีสอร์ต บริการห้องพัก ๒๒ ห้อง แอร์ น้ำร้อน ราคา ๗๐๐-๒,๕๐๐ บาท บริการเรือรับส่ง โทรศัพท์ ๐๘ ๑๗๔๗ ๔๖๐๐, ๐๘ ๔๘๔๙ ๐๘๙๙ มีบริการเรือนำชม พะยูน หญ้าทะเล ดูนกหาดตูบ เต็มวันราคา ๒,๕๐๐ บาท เรือจุดได้ ๑๐ คน โทรศัพท์ ๐๘ ๑๗๔๗ ๘๓๐๘ (บังเอียด)



แนะนำเพิ่มเติม

          พักที่อุทยานฯ หาดเจ้าไหม มีเวลาน่าแวะไปชมวนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตัง (ควนแคง) อุณหภูมิน้ำในบ่อตั้งแต่ ๓๐-๗๐ องศาเซลเซียส มีบริการนวดฝ่าเท้า ชั่วโมงละ ๑๕๐ บาท มีสุมนไพรและโคลนพอกตัวจำหน่าย เปิดทุกวัน เวลา ๐๖.๐๐-๒๐.๐๐ นาฬิกา ลิบง บ้านอันอบอุ่น ของนักเดินทาง กัมพล สุขุมาลินท์...เรื่องและภาพ

          ปะหน้าเหล่านักดูนกรุ่นเก่าและมือเก๋า ๆ ทั้งหลายเมื่อใด ให้ลองถามดูว่านกตัวแรกที่นึกถึง เมื่อเอ่ยชื่อว่า ลิบง ออกมารับรองได้เลยว่าแถบจะร้อยทั้งร้อยต้องตอบว่า "ตัวโตกินปู" ครับ เจ้าหัวโตกินปู (Crab-Plover) เป็นนกชายน้ำตัวโตที่แตกต่างจากนกชายน้ำชนิดอื่น ๆ อย่างชัดเจน ด้วยรูปร่างและสัดส่วนที่จ้ำม่ำรับกันอย่างเหมาะเจาะกับหัวกลมโต ทำให้ดูน่ารักในทุกท่วงท่า ขนก็ขาวบริสุทธิ์เกือบทั้งตัว แซมสลับด้วยดำพองามตาม ปลายปีกและหลังทำให้ดูเด่นสะดุดตา ส่วนขาและเท้าเป็นสีเทาอมฟ้านุ่มนวลตา เป็นนกน้ำที่เจอตัวได้ยากในบ้านเรา และเท่าที่ผมพอจะจำได้ก็คือ เจ้าแคร็บ-โพลเวอร์ พบอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของเมืองไทย ก็บนหาดตูบของเกาะลิบงนี่แหละครับ

          เกาะลิบงมีสถานะเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า (Non hunting area) โดยเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของทะเลตรัง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอำเภอกันตัง และอยู่เยื้อง ๆ กันกับหาดมดตะนอยของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมแค่ปลายจมูก (๓ กิโลเมตร) ส่วนที่ตั้งของสำนักงานเขตฯ ลิบง (บนเกาะ) นั้น อยู่ใกล้กบปลายแหลมจูโหย ทางทิศตะวันออกของตัวเกาะ ซึ่งเลยจากปลายสุดของแหลมนี้ไปไม่ไกลจะเป็นสันดอนทรายขนาดเล็ก ที่ชาวบ้านเรียกกันว่าหาดตูบหรือ เกาะนก หากเป็นช่วงเวลาที่น้ำลงสุด ๆ สามารถเดินข้ามไปได้แบบสบาย ๆ 

          และจุดเด่นของการไปดูนกที่เกาะลิบงก็อยู่ที่สันดอนทรายเล็ก ๆ นี่เองครับ ทรายที่หาดตูบเนื้อละเอียดยิบ เดินนุ่มสบายเท้า มีพรรณไม้ชายเลนขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่นทางทิศใต้ จากตำแหน่งและที่ตั้งซึ่งอยู่ค่อนข้างไกลจากเส้นทางสัญจรไปมาของชาวไทยใหม่ หรือ ชาวเล จึงเป็นชัยภูมิอันเหมาะเหม็งของเหล่านกน้ำและนกทะเลจากแดนไกลทั้งหลาย มาใช้เป็นแหล่งพักพิงอันปลอดภัยตลอดช่วงฤดูกาลอพยพ เรื่อยไปจนกว่าจะบินกลับบ้านโน่น แน่นอนว่าเจ้าหัวโตกินปูผู้น่ารักนี้ย่อมเป็นนกพระเอกของที่นี่อย่างไม่ต้องสงสัย แม้ว่าจะไม่มีรายงานการพบตัวเขา (อย่างเป็นทางการ) มานานแล้ว แต่โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมยังเชื่อว่าเขาก็มาที่นี่ทุกปี เพียงแต่พักอยู่ไม่นานแล้วก็เดินทางต่อไป ที่เหลือก็เป็นเรื่องของจังหวะและโชค (ดี) ที่ใครจะไปจ๊ะเอ๋เข้าเท่านั้นเอง

          ถึงจะไม่มีเจ้าโพลเวอร์กินปูร่างอวบนี้ให้เห็น แต่นกน้ำและนกทะเลตัวอื่น ๆ ที่ยังคงแวะมาเยี่ยมเยือนเป็นประจำสม่ำเสมอทุกปีนั้น ก็เป็นตัวเด่นที่น่าสนใจไม่แพ้กันเลย ทั้งแบบที่หายากในบ้านเราและแบบหายากในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นเจ้าซ่อมทะเลอกแดง เจ้าทะเลชาเขียวลายจุด เจ้าอีก๋อยตะโพกน้ำตาล เจ้าน็อทเล็ก เจ้าน็อทใหญ่ และเจ้าสติ๊นท์เล็ก ส่วนนกทะเลต้องนี่เลย เจ้านางนวลแกลบหงอนเล็ก เจ้านางนวลแกลบหงอนใหญ่ เจ้านางนวลแกลบปากหนา เจ้า นางนวลแกลบแคสเปียน และเจ้านางนวลแกลบท้ายทอยดำ สำหรับพวกตัวโหล ๆ ง่าย ๆ ก็มีให้ดูกันแทบจะครบทุกตัวที่มีในเบิร์ดไกด์ ทั้งพวกหัวโตทราย หัวโตตัวใหญ่อย่างหัวโตสีเทา และหัวโตหลังจุดสีทอง ทะเลชาเขียว ทะเลขาแดง อีก๋อยเล็ก อีก๋อยใหญ่ ปากแอ่นหางลาย ไปจนถึงนางนวลแกลบตัวเล็ก ๆ อย่างเจ้านางนวลแกลบเล็ก นางนวลแกลบธรรมดา และนางนวลแกลบดำปีกขาว

          ส่วนบนฟ้าก็ให้คอยเงยหน้าดูเป็นระยะ ๆ ด้วย นอกจากเจ้าเหยี่ยวแดงกับนกออกขาประจำแล้ว ก็เป็นเจ้าโจรสลัดกับเจ้าบูบบีหน้าดำ (Masked Booby) ที่ผมเคยเห็นอยู่ครั้งหนึ่ง จุดอื่น ๆ ที่มีเวลาก็อยากให้ช่วยไปดูไปสำรวจกัน คือ อ่าวทุ่งจีนซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของแหลมจูโหย เป็นอ่าวเงียบ ๆ เล็ก ๆ ที่ผมเจอ ยางจีน (Chinese Egret) เป็นประจำ หากล่องเรือเข้าไปในคลองลัดที่จะไปทะลุออกยังด้านหน้าของเกาะได้ ก็จะมีเจ้ากระเต็นแดง กระเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล และเจ้าเปล้าใหญ่ให้ผมเห็นทุกครั้ง ดูจากสภาพป่าโกงกางที่ยังสมบูรณ์มาก ๆ แล้ว คาดว่าน่าจะมีเจ้าฟินฟุท (Masked Finfoot) หลงเหลืออยู่บ้าง

          สุดท้ายก็ขึ้นบกไปดูนกรอบ ๆ ที่ทำการเขตห้ามล่าฯ ก็น่าสนใจนะครับ ที่เห็นประจำก็มีเจ้ากินปลีคอสีน้ำตาลแดง เจ้าเปล้าใหญ่ เจ้ากระเต็นแดง เจ้าเค้าป่าหลังสีน้ำตาล และคุคคูเหยี่ยวใหญ่ครับ หากสนใจและตัดสินใจว่าจะไปส่องนกกันที่นี่ ผมอยากให้เช็คเวลา น้ำขึ้น-น้ำลง ช่วง น้ำเป็น-น้ำตาย ให้ดีก่อน จะได้มีเวลาและมีความสุขกับนกนาน ๆ ไงครับ


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลิบง-เจ้าไหม คือลมหายใจและความหวัง อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:37:41 1,239 อ่าน
TOP