"แดนปราสาทขอม ข้าวหอมกระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี"
จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทิศเหนือติดกับจังหวัดร้อยเอ็ด ทิศใต้ติดกับประเทศกัมพูชา ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดอุบลราชธานี และทิศตะวันตกติดกับจังหวัดสุรินทร์ มีเนื้อที่ทั้งหมด 8,839.97 ตารางกิโลเมตร ประชากรใช้ภาษาลาว เขมร ส่วย เยอ
ที่นี่เลื่อง ชื่อในด้านการเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ หอมแดง กระเทียม และยางพารา ทั้งยังเป็นแหล่งปลูกผลไม้ที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเงาะ ส้มโอ ชมพู่ ทุเรียน กล้วยหอม กล้วยน้ำหว้า และเป็นจังหวัดเดียวที่มีต้นลำดวนมากกว่า 50,000 ต้น ที่จะพร้อมใจกันบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมตลอดช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งผู้มาเยือนสามารถเข้าชมความงามของดงดอกลำดวนได้ตลอดทั้งปี ภายในบริเวณสวนสมเด็จศรีนครินทร์แห่งแรกของประเทศไทย
จังหวัดศรีสะเกษ ยังเป็นเส้นทางอารยธรรมขอมโบราณที่เชื่อมโยงมาจากจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญคือ ผามออีแดง และปราสาทหินต่าง ๆ รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ภูเขา น้ำตก อันเกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของเทือกเขาพนมดงรัก และเนื่องจากดินแดนแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานแต่ครั้งโบราณกาล ทำให้มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ถึง 4 กลุ่ม ได้แก่ ส่วย เขมร ลาว เยอ ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มชาติพันธุ์นี้ได้สร้างศิลปวัฒนธรรมอันหลากหลาย ฝากไว้บนแผ่นดินศรีสะเกษมาอย่างช้านาน ร่องรอยแห่งการรังสรรค์ศิลปวัฒนธรรมดังกล่าวนับเป็นมนตร์เสน่ห์แห่งวิถี ชีวิตของชาวศรีสะเกษ มนตร์เสน่ห์หลากหลายเหล่านี้ล้วนสามารถสร้างความสุขให้กับผู้มาเยือนเมือง ศรีสะเกษได้ทุกคราที่มีโอกาสมาเยี่ยมชม
ปราสาทหิน วัดสระกำแพงใหญ่
ปราสาทสระกำแพงใหญ่ (ศรีพฤทเธศวร) เป็นเทวาลัยเขมรในพื้นที่แถบปลายลำน้ำมูล ที่อาจจะมีลำดับความสำคัญรองลงมาจากปราสาทเขาพระวิหาร (ศรีศิขรีศวร) ตามหลักฐานที่พบในจารึกใบลานที่เกี่ยวกับประวัติราชวงศ์กษัตริย์กัมพูชา รวมทั้งประวัติของเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ที่บันทึกเกี่ยวกับองค์กรราชการต่าง ๆ ไว้ที่ปราสาทเขาพระวิหารและปราสาทสระกำแพงใหญ่
เทวาลัย แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปหรือศิวลึงค์จารึกภาษาเขมร ศาสนาฮินดูถือว่าเทวาลัยเป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้า ประติมากรรมภาพสลักที่ปรากฏตามทับหลังและหน้าบัน เป็นสื่อกลางถ่ายทอดเรื่องราวตามคัมภีร์ในลัทธิศาสนาต่าง ๆ
ภายในบริเวณวัดเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อนาคปรก พระพุทธรูปโบราณปางขัดสมาธิ ขุดพบเมื่อปี พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นที่เคารพนับถือของชาวศรีสะเกษ นอกจากนี้บริเวณปราสาทสระกำแพงใหญ่ยังเป็นที่จัดงานแสดงแสงสีเสียง "ศิวะราตรีแห่งศรีพฤทเธศวร" ที่จะจัดขึ้นเป็นประจำในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี
วัดมหาพุทธาราม (วัดหลวงพ่อโต)
หลวงพ่อโต พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีความสูงจากฐานถึงยอดเกศ 6.5 เมตร หน้าตักกว้าง 3.5 เมตร ประดิษฐาน ณ วัดมหาพุทธาราม ภายในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ซึ่งเป็นวัดที่สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2328 โดยพระยาวิเศษภักดี (ชม) เจ้าเมืองศรีสะเกษคนแรก
พระธาตุเรืองรอง
ตั้งอยู่ที่วัดบ้านสร้างเรือน ห่างจากเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 2373 สายศรีสะเกษ-ยางชุมน้อย ประมาณ 7.5 กม.เป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นโดยผสมศิลปะอีสานใต้ สี่เผ่าไทย ได้แก่ ลาว ส่วย เขมร เยอ มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์อย่างลงตัว พระธาตุมีความสูง 49 เมตร แบ่งออกเป็น 6 ชั้น ชั้นล่างสุดใช้สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา ชั้นที่สองและสามเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านสี่เผ่าไทย ชั้นที่สี่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ชั้นที่ห้าใช้สำหรับการทำสมาธิ และชั้นที่หกเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและจุดชมทัศนียภาพของพื้นที่โดย รอบ
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์
มีเนื้อที่ 237 ไร่ ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง-ต่ำตามธรรมชาติ มีลำห้วย 2 สาย คือ ห้วยปูนใหญ่และห้วยปูนน้อยมาบรรจบกันตรงด้านทิศเหนือของสวนฯ เหมาะแก่การทัศนศึกษาเชิงพฤกษาศาสตร์ ภายในสวนมีต้นลำดวนขึ้นอยู่หนาแน่น ซึ่งจะผลิดอกหอมอบอวลไปทั่วในราวเดือนมีนาคมของทุกปี และเนื่องจากต้นไม้ชนิดนี้มีความเกี่ยวพันกับชื่อศรีนครลำดวนในอดีต จึงได้นำเอาต้นลำดวนมาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีสวนสัตว์และสวนสาธารณะตกแต่งสวยงามร่มรื่นเป็นแหล่ง พักผ่อนของประชาชนทั่วไป
ศรีสะเกษอควอเรียม
ศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ศรีสะเกษอควอเรียม ตั้งอยู่ในสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา (เกาะห้วยน้ำคำ) เป็นอาคารแสดงพันธุ์สัตว์น้ำในการดูแลของเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ภายในอาคารได้จัดโซนปลาทะเล 22 ชนิด และปลาน้ำจืด 79 ชนิด จำนวนรวมกว่า 4,000 ตัว ตกแต่งในบรรยากาศโลกล้านปีที่แปลกใหม่ ทั้งยังมีอุโมงค์แก้วใต้น้ำที่มีความยาวถึง 24 เมตร ให้ผู้ชมได้สัมผัสกับฝูงปลาได้อย่างใกล้ชิด
ศรีสะเกษอควอเรียมเปิดให้เข้าชมในวันอังคาร-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. อัตราค่าเข้าชม เด็ก 20 บาท ผู้ใหญ่ 30 บาท
ตึกขุนอำไพพาณิชย์
ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ เป็นตึกเก่าของขุนอำไพพาณิชย์ คหบดีชาวศรีสะเกษ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2468 โดยช่างชาวจีนและชาวมอญ ตัวอาคารมีรูปทรงและลวดลายปูนปั้นที่งดงามตามคติความเชื่อของชาวจีน ปัจจุบันตึกขุนอำไพพาณิชย์ได้รับการบูรณะและอนุลักษณ์ไว้เป็นอย่างดี และกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และเป็นศูนย์แสดงผลงานผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ที่สามารถมาชื่นชมความงามของตึกและเลือกซื้อสินค้าคุณภาพของจังหวัด ศรีสะเกษ
วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว (วัดล้านขวด)
วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว หรือวัดล้านขวด อยู่ในอำเภอขุนหาญ สถานที่ต่าง ๆ ภายในวัดล้วนต่างถูกประดับประดาด้วยขวดแก้วหลากสีหลายแบบรวมกันกว่า 1.5 ล้านใบ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "วัดล้านขวด" โดยพระครูวิเวกธรรมาจารย์ หรือ "หลวงปู่ลอด" ที่สร้างวัดขึ้นบนพื้นที่ป่าช้าหนองใหญ่ที่ท่านได้เข้ามาพักปักกลด และในบริเวณใกล้เคียงมีขยะจำพวกขวดอยู่มาก ซึ่งมีสีต่าง ๆ ท่านก็เห็นว่าสามารถนำขวดเหล่านี้ไปตกแต่งอาคารได้และยังช่วยประหยัดงบ ประมาณค่ากระเบื้องได้อีก หลวงปู่จึงรวบรวมขวดจากหมู่บ้านในละแวกวัด และใกล้เคียงมาสร้างเป็นกุฏิหลังแรก ต่อมาวัดเริ่มเป็นที่รู้จักทั่วไปคนในจังหวัดใกล้เคียงก็หลั่งไหลกันมาที่ วัด โดยต่างก็นำขวดมาบริจาคด้วย จากนั้นอาคารต่าง ๆ ก็ได้ทยอยสร้างขึ้นจนกระทั่งกลายเป็นวัดล้านขวดดังเช่นในปัจจุบัน
น้ำตกห้วยจันทร์
เหตุที่ได้ชื่อว่า "น้ำตกห้วยจันทร์" เนื่องจากแต่เดิมบริเวณน้ำตกมีต้นจันทน์แดงและจันทร์ขาวอยู่หนาแน่น น้ำตกห้วยจันทร์มีต้นกำเนิดจากภูเสลาบนเทือกเขาบรรทัด ไหลลงสู่แม่น้ำมูลที่อำเภอเมืองศรีสะเกษ เป็นน้ำตกที่สวยงาม มีน้ำตลอดทั้งปี แต่ขอแนะนำให้มาในช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ ท่านจะได้สัมผัสกับสายน้ำอย่างจุใจบริเวณ โดยรอบน้ำตกร่มรื่นด้วยพรรณไม้ป่านานาชนิด มีลมพัดเย็นสบายตลอดเวลา จึงเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ
ผามออีแดง
ตั้งอยู่ปลายสุดของทางหลวงหมายเลข 221 ห่างจากอำเภอกันทรลักษ์ลงไปทางใต้ 36 กิโลเมตร บริเวณนี้มีลักษณะเป็นลานหินธรรมชาติริมหน้าผาสูง ติดเขตแดนไทย-กัมพูชา เป็นจุดชมทัศนียภาพทิวเขาพนมดงรัก แผ่นดินเขมรต่ำ และสามารถมองเห็นปราสาทเขาพระวิหารซึ่งอยู่ห่างออกไป 1 กิโลเมตร บริเวณผามออีแดงมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก และทางด้านทิศใต้ซึ่งเป็นหน้าผาที่อยู่ต่ำลงไปมีภาพสลักหินนูนต่ำศิลปะเขมร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 สันนิษฐานว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
การเดินทาง
ศรีสะเกษอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 540 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดศรีสะเกษได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ
โดยรถไฟ
การรถไฟแห่งประเทศไทย มีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังจังหวัดศรีสะเกษทุกวัน ทั้งรถเร็ว รถด่วน และรถด่วนพิเศษ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 9-11 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th
โดยรถยนต์
จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ
1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นแยกใช้ทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ ถึงจังหวัดศรีสะเกษ
2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงอำเภอสีคิ้ว แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอโชคชัย อำเภอนางรอง อำเภอสังขะ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตัวเมืองศรีสะเกษ โดยใช้เส้นทางหมายเลข 220 หรือ 221 ก็ได้
โดยรถประจำทาง
มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-ศรีสะเกษ ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8-9 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th