อุทยานราชภักดิ์ หัวหิน สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ 7 พระมหากษัตริย์ไทยประดิษฐานที่ อุทยานราชภักดิ์ ภายในพื้นที่ของกองทัพบก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างขึ้นใหม่ที่หลายคนคงจะสงสัยว่าอุทยานราชภักดิ์มีที่ไปที่มาอย่างไร ? วันนี้กระปุกดอทคอมจะขอพาไปไขข้อสงสัยดังกล่าวกันค่ะ...ตามมาเลย
อุทยานราชภักดิ์คืออะไร
หลายคนสงสัยว่า "อุทยานราชภักดิ์" คืออะไร หมายถึงอะไร อุทยานราชภักดิ์เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า อุทยานที่สร้างขึ้นด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ โดยจัดสร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยาม อุทยานราชภักดิ์ เป็นพื้นที่ในเขตกองทัพบก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สร้างขึ้นมาเพื่อเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ ได้แก่
1. พ่อขุนรามคำแหง (สมัยกรุงสุโขทัย)
2. สมเด็จพระนเรศวร (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
3. สมเด็จพระนารายณ์ (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
4. สมเด็จพระเจ้าตากสิน (สมัยกรุงธนบุรี)
5. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
6. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
7. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อว่า
"อุทยานราชภักดิ์" มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 222 ไร่ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ
1. พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม จำนวน 7 พระองค์ ในอิริยาบถทรงยืน หล่อด้วยโลหะสำริดนอก มีความสูงเฉลี่ยถึง 13.9 เมตร โดยใช้พื้นที่ประมาณ 5 ไร่
2. ลานอเนกประสงค์ บนพื้นที่ประมาณ 91 ไร่
3. อาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะจัดทำอยู่ใต้ฐานของพระบรมราชานุสาวรีย์ เพื่อจัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สำคัญของบูรพกษัตริย์ไทย
การจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์คาดว่าจะดำเนินการสร้างในส่วนของพระบรมราชานุสาวรีย์ ลานอเนกประสงค์ และระบบสาธารณูปโภคเสร็จภายในเดือนกันยายน 2558 นี้ ส่วนพิพิธภัณฑ์ ภูมิทัศน์ และส่วนอื่น ๆ จะดำเนินการหลังจากการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ภาพจาก เฟซบุ๊ก
สมคิด รุจีปกรณ์
เวลาเปิด-ปิด อุทยานราชภักดิ์ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเที่ยวชมยังพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์ได้แล้ว โดยจะเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.
เข้าชมฟรี ! แต่ในส่วนของลานอเนกประสงค์และอาคารพิพิธภัณฑ์ยังอยู่ในระหว่างการจัดสร้าง
การเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4) ขับผ่านอำเภอชะอำ เข้าสู่อำเภอหัวหิน มุ่งหน้าไปยังกองทัพบก หรือป้ายแนะนำ
"อุทยานราชภักดิ์" หากไม่มีรถส่วนตัว สามารถนั่งรถตู้หรือรถโดยสารประจำทางมาลงที่อำเภอหัวหิน แล้วนั่งรถโดยสารท้องถิ่นไปยังอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอหัวหินเพียงประมาณ 4 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 10 นาที

ภาพจาก
rta.mi อย่างไรก็ตามหากการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์เสร็จสมบูรณ์แล้ว ที่แห่งนี้ก็จะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของหัวหิน รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของนักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวทั่วไป รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่
rta.mi และ
เฟซบุ๊ก อุทยานราชภักดิ์ หรือโทรศัพท์ 0 2297 7581-4
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

,
www.rta.mi.th, สำนักข่าว INN