
เมื่อพูดถึง "ความตาย" บางคนเกิดความกลัวอยู่ในใจ บางคนคิดปลงในชีวิต เพราะคิดว่าความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมชาติของโลก วันนี้เราจึงนำข้อมูลดี ๆ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเบื้องหลังความตาย เพื่อเป็นแง่คิดดี ๆ จาก 3 ศาสนา คือ
ศาสนาพุทธ ผ่านสถานที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครและสุสานแต้จิ๋ว
ศาสนาคริสต์ กับคริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์
ศาสนาอิสลาม จากสุสานไทยมุสลิม
หลังจากที่เรามีโอกาสร่วมเดินทางไปทำกิจกรรมทำดีประจำปี 2558 ร่วมกับ เคทีซี ในตอน "พินิจหลังความตาย" ซึ่งจากนี้จะเป็นการส่งต่อความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับสถานที่แห่งความตายที่หลายคนคิดว่าน่ากลัว แต่แอบซ่อนเรื่องน่ารู้ไว้มากมายมาฝากกัน
สำหรับสถานที่แห่งแรกที่เราเดินทางมาถึง คือ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร" ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล ส่วนหนึ่งของที่ประทับวังหน้า แต่เดิมเป็นพื้นที่พระราชวังของสมเด็จพระบวรราชเจ้า ในสมัยรัชกาลที่ 1 หรือ "วัดบวรสถานสุทธาวาส" หรือที่หลายคนเรียกกันว่า "วัดพระแก้ววังหน้า" ที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุต่าง ๆ มากมาย อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน


ในการเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความตายของที่นี่ คือการไปเยี่ยมชมและรับความรู้เกี่ยวกับ "โรงราชรถ" และ "เครื่องประกอบการพระราชพิธีพระบรมศพ เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงสวรรคต" ภายในโรงราชรถแห่งนี้ เป็นโรงเก็บและจัดแสดงราชรถที่ใช้ในกระบวนแห่พระบรมศพ ได้แก่


พระมหาพิชัยราชรถ มีลักษณะคล้ายรถศึกของอินเดียโบราณ ใช้เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการถวายเพลิงพระบรมอัฐิ สมเด็จพระบรมมหาชนก เมื่อปี พ.ศ. 2339 ลักษณะโดยทั่วไปของพระมหาพิชัยราชรถเป็นราชรถทรงบุษบกพิมานขนาดใหญ่ กว้าง 4.80 เมตร, ยาว 18 เมตร, สูง 11.20 ตัน และมีน้ำหนัก 13.70 ตัน ประกอบด้วยชั้นเกรินตกแต่งด้วยกระหนกเศียรนาค กระหนกท้ายเกริน และตัวรูปเทพพนมโดยรอบ ใช้สำหรับอัญเชิญพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน, พระบรมชนก, พระราชชนนี, พระอัครมเหสี และพระมหาอุปราช ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้ใช้เป็นพิเศษครั้งสุดท้ายใช้ในการอัญเชิญพระโกศ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี ออกพระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2555

















พระโกศสมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)


หลังจากที่เราไปรับความรู้และชมโรงราชรถแล้ว จากนั้นเราเดินทางเข้าไปภายใน "พระที่นั่งพุทไธสวรรย์" เพื่อชมความสวยงามของภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ตอนเทศนาโปรดพุทธมารดาบนชั้นดาวดึงส์ และภาพเทพชุมนุมฝีมือช่างศิลป์ในสมัยราชกาลที่ 1 โดยจิตรกรรมพุทธประวัติภายในแบ่งออกเป็น 28 ห้องภาพ ชมภาพตามเข็มนาฬิกา โดยเริ่มจากภาพอภิเสกสมรสพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายาที่ผนังฝั่งขวา มาจบที่ภาพสุดท้ายที่ฉากถวายพระเพลิงพุทธสรีระ และแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมจาก ททท.)








ตู้พระธรรมลายรดน้ำ เป็นของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ที่ทรงสร้างขึ้นสำหรับใส่พระไตรปิฎกในรัชกาลที่ 3 พร้อมเลือกช่างฝีมือดีเขียนภาพเรื่องรามเกียรติ์จำนวน 3 ใบ






ทั้งนี้ผู้ที่สนใจเข้าชมและศึกษามรดกทางวัฒนธรรมของไทยสามารถไปได้ทุกวัน (เว้นวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. โดยเสียอัตราค่าเข้าชม ชาวไทยราคา 30 บาท, ชาวต่างชาติราคา 200 บาท โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 2224 1370, 0 2224 1333 www.finearts.go.th และ เฟซบุ๊ก National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

จากนั้นเราเดินทางไป "คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์" เป็นคริสตจักรสำหรับชาวคริสต์ นิกายโปรเตสแตนต์ เพื่อรับฟังความรู้จาก อาจารย์ภากร มังกรพันธ์ วิทยากรอิสระ ผู้มีความรู้ด้านศาสนศาสตร์และประวัติศาสตร์ ที่มาบอกเล่าเรื่องราวเชิงลึกของศาสนาคริสต์ พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องความเชื่อหลังความตายและพิธีกรรมสำคัญในศาสนาคริสต์


โดย "คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์" ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2445 โดย ศจ.บุญต๋วน บุญอิต ตามข้อเสนอของ ดร.ออเธอร์ บราวน์ เลขาธิการใหญ่ของมิชชั่นบอร์ดจากนิวยอร์ก ซึ่งได้เดินทางมาเยี่ยมงานในประเทศต่าง ๆ และมีความเห็นว่าจะต้องทำสัมพันธกิจกับเยาวชน คนรุ่นใหม่ เป็นการสืบเนื่องจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งได้ไม่นาน และคนส่วนใหญ่ยังเห็นควรว่าต้องมีคริสตจักรเกิดขึ้นที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน


สำหรับสถานที่ที่ใช้ในการก่อสร้างคริสตจักรแห่งนี้ได้รับการถวายที่ดินประมาณ 350 ตารางวา ในบ้านเลขที่ 5 ถนนศรีเวียง ตำบลบางรัก พร้อมเงินทุนอีกจำนวนหนึ่งจาก พระยาสารสิน สวามิภักดิ์ ซึ่งเป็นมิตรสนิท ในการก่อสร้างพระวิหารแห่งนี้ ศจ.บุญต๋วน บุญอิต เป็นผู้ติดต่อหาทุน และทุ่มเทกำลังและควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเองจนเสียชีวิตด้วยโรคอหิวาต์ ในขณะที่ยังก่อสร้างพระวิหารไม่แล้วเสร็จ หลังจากนั้นไม่นานวิหารแห่งนี้ก็สร้างจนเสร็จ และมีการฉลองพระวิหารเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2447 และได้สถาปนาเป็นคริสตจักร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2451




หอระฆัง เริ่มต้นหารก่อสร้างโดย อาจารย์ญ่วน เตียงหยก ศิษยาภิบาลคนแรกของคริสตจักร ที่ก่อสร้างโดยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก คุณหญิงแพ (มารดาของคุณสืบ) จนแล้วเสร็จ และด้วยพื้นที่การก่อสร้างไม่เพียงพอจึงได้ขอความอนุเคราะห์จากพระยาขบวนบรรณสารเจ้าของที่ดินติดกับคริสตจักร ที่ได้ถวายที่เดินเพื่อให้เพียงพอต่อการสร้างหอระฆัง


หลังจากที่เราได้รับทราบความรู้เกี่ยวประวัติความเป็นมาต่าง ๆ ของตามศาสนาคริสต์แล้ว จากนั้นอีกไม่ไกลมากเราเดินทางมารับความรู้เกี่ยวกับเบื้องหลังความตายกันที่ "สุสานไทยมุสลิม" หรือ "กุโบร์" สถานที่ฝังศพของชาวมุสลิม ตามความเชื่อของชาวอิสลาม ถือเป็นสถานที่แห่งการรอคอยของดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิต ที่รอคอยวันสุดท้ายของโลก หรือวันสิ้นโลก
สำหรับพื้นที่สาธารณะของชุมชนที่มีการจัดการเกี่ยวกับการฝังศพที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ ที่มีอายุกว่า 100 ปี (ในศาสนาอิสลามไม่อนุญาตให้เผาศพผู้เสียชีวิต แต่จะใช้วิธีการฝังศพเพื่อให้ย่อยสลายไปกับธรรมชาติ) ภายใต้แนวปฏิบัติที่ต้องให้ความเคารพและให้เกียรติสุสาน

โดยเราได้รับความรู้จาก คุณทำเนียบ แสงเงิน และ คุณธีรนันท์ ช่วงพิชิต นักประวัติศาสตร์ชุมชน ที่เข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับโลกเบื้องหลังความตายของพี่น้องชาวมุสลิมให้ได้รับฟังกันว่า โดยปกติแล้วการฝั่งศพในศาสนาอิสลามมี 2 แบบ คือ การนำศพใส่โลง และการใช้ผ้าขาวหุ้มศพก่อนฝัง โดยจะต้องมีการชำระกายหยาบให้เรียบร้อยและฝั่งให้เร็วที่สุด (เพื่อไม่ให้ญาติพี่น้องเห็นความเน่าเปื่อย และความไม่น่าดูของศพ) พร้อมใช้ใบโหระพาผูกเป็นเส้นคล้องไว้ที่ศพ ซึ่งใบโหระพา ถือเป็นพืชตระกูลมินต์ที่ปรากฎอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอานว่าเป็นพืชแห่งสรวงสวรรค์ ใช้เป็นสัญลักษณ์ของการบอกทางไปสู่สวรรค์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน




บริเวณพื้นหญ้าสีเขียวใช้เป็นสถานที่ฝังศพผู้เสียชีวิต โดยจะมีการป้ายไม้เป็นเครื่องหมายที่หลุมศพ ซึ่งแต่จะป้ายจะมีความแตกต่างกันออกไปตามความเชื่อของแต่ละครอบครัว ทั้งนี้สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาที่สุสานจะต้องปฏิบัติตามกฎของสุสาน 14 ข้อ ซึ่งสามารถดูได้จากป้ายประกาศภายในสุสาน รวมทั้งห้ามโรยดอกไม้ลงบริเวณหลุมศพ











สุสานแต้จิ๋ว








อีกทั้งด้วยเรื่องราวความน่ากลัวจากเรื่องเล่าของสุสาน ทำให้ไม่ค่อยมีผู้คนสัญจรไปมา จึงมักเกิดเหตุการณ์ปล้นชิงทรัพย์อยู่บ่อยครั้ง การปรับปรุงพื้นที่ป่าช้าให้กลายเป็นสวนสาธารณะจึงถือเป็นโครงการที่ดี ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของสำนักงานเขตสาธร ในการลบภาพความน่ากลัวของพื้นที่ให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่ โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2539 ด้วยการบุกเบิกพื้นที่นำต้นไม้ไปปลูก ร่วมกับการพัฒนามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นลานกีฬาแห่งใหม่ในเขตสาธร


ปัจจุบันสุสานแห่งนี้กลายเป็นสุสานปิด ไม่มีการศพมาฝังหรือเผาเพิ่ม แต่สำหรับผู้ที่เคยนำศพมาฝั่งที่นี่ก็นำไปฝั่งที่จังหวัดสระบุรีและจังหวัดชลบุรีแทน แม้แต่ภายในวัดดอนก็ไม่มีการเผาศพอีกเลยเช่นกัน ส่วนภายในสวนในพื้นที่กว่า 100 ไร่ ได้ถูกแบ่งสัดส่วนพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ยิมออกกำลังกาย, สถานที่พักผ่อนนั่งอ่านหนังสือ, ลานกีฬาคนเมือง และเครื่องเล่นสำหรับเด็ก ๆ ให้พักผ่อนอย่างสนุกท่ามกลางวิวสวย ๆ





ถือเป็นอีกหนึ่งทริปท่องเที่ยวที่หลายคนอาจจะมองว่าไกลตัว แต่แท้จริงแล้วความตายอาจจะเป็นใกล้ตัวที่เรากลับมองข้ามไป ฉะนั้นการที่เราได้รับรู้ถึงคติและแนวความคิดจากความเชื่อทั้ง 3 ศาสนา ก็เป็นเหมือนสิ่งล้ำค่าที่ผู้ล่วงลับไปแล้วได้หลงเหลือไว้ให้เราศึกษาเช่นกัน