กระบุรี รสละมุนกลางขุนเขา รูปเงาสองฝั่งลำน้ำ

กระบุรี รสละมุนกลางขุนเขา รูปเงาสองฝั่งลำน้ำ

กระบุรี รสละมุนกลางขุนเขา รูปเงาสองฝั่งลำน้ำ

ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์...ภาพ


          1. ภาพตรงหน้านำพาใครสักคนย้อนไกลไปในวันวาน

          ไม่เพียงแม่น้ำสายอารีที่ทอดตัวรับแดดบ่ายอยู่ ณ ชายแดนไทย-เมียนมา ทว่าขุนเขารายล้อมก็เช่นกัน ทั้งพืชพรรณ สวนผลไม้ รวมไปถึงชีวิตที่ตกทอดอยู่ยังพื้นที่ไพศาลแห่งนี้ ที่ต่างก็ผ่านห้วงเวลาทั้งความคึกคักเรืองโรจน์หรือซบเซาเงียบหาย ในนามของคืนวันและการเปลี่ยนแปลง

          เราก้าวไปยังริมแม่น้ำกระบุรีที่ตำบลน้ำจืด เบื้องหน้าคือป่าจากทึบแน่น รวมถึงหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ฝั่งตรงกันข้าม ที่แม่น้ำกลายเป็นเส้นเขตแดนอันละมุนละไม เฒ่าชราในอาคารโบราณที่ตรงนั้นเล่าว่าภาพตรงหน้าเทียบไม่ได้กับสี่สิบปีที่พันผ่าน รถลำเลียงใบยาสูบจอดนิ่งในบ่ายร้อนจัดและเงียบเชียบ แรงงานสองชาติสองแผ่นดินกลายเป็นหนึ่งเดียวต่อการงานตรงหน้า ภาพแห่งเมืองแห่งเหมืองและไม้ระหว่างสองฝั่งตกลับเป็นเรื่องให้ต้องจินตนาการ

กระบุรี รสละมุนกลางขุนเขา รูปเงาสองฝั่งลำน้ำ

          กระบุรี หรือเมืองตระ ตกทอดตัวเองในหน้าประวัติศาสตร์นับร้อยปี ผ่านเรื่องราวของการเป็นเมืองที่เติบโตขึ้นด้วยความสมบูรณ์ทั้งในแม่น้ำและภูเขา รวมไปถึงเป็นพิกัดอันขอดแคบระหว่างคาบสมุทรอันดามันและอ่าวไทย ที่มีการเดินทางตัดป่าเขาข้ามไปมาในหลากหลายมิติ ทั้งการค้าระหว่างสองฟากทะเล การส่งถ่ายทรัพยากร หรือแม้แต่การแรมรอนเดินทางของคนตัวเล็ก ๆ

          จากสาสน์ของสมเด็จพระเจ้ารมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หลายห้วงตอนบอกถึงเมืองกระบุรีในภาพของเมืองชายแดนในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองไกลในป่าเขาที่มีแม่น้ำสายใหญ่หากแต่ไม่ยาวนักเลียบผ่าน เต็มไปด้วยแรงงานคนจีนที่หากินอยู่กับเหมืองแร่ดีบุก สองฟากฝั่งไทย-พม่ายามนั้นราวผืนแผ่นดินเดียวกันในความเป็นอยู่ของผู้คน

          กล่าวถึงล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ครั้งพระองค์เสด็จประพาสเมืองระนอง เมื่อ พ.ศ. 2433 (ร.ศ. 103) เมืองกระบุรีที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นยามนั้นเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ไล่ระดับตามแนวล้อมขุนเขา มีสวนหมาก สวนมะพร้าว และหมู่บ้านเรือนคนในทุ่งกว้าง ๆ

         "...ลงมา 3 ชั่วโมง ถึงที่ตำบลน้ำจืดซึ่งเป็นเมืองพระยาอัษฎางค์ไปตั้งขึ้นใหม่มีตะพานยาวไปจรดถนน..."

         "ตะพานยาว" ในสายพระเนตรของรัชกาลที่ 5 กับท่าน้ำที่ตำบลน้ำจืด ที่เรายืนอยู่ในยามเย็น โลกคล้ายทวนย้อนไปตามถ้อยความและเรื่องเล่า เฒ่าชราสักคนในตึกเก่าริมท่าน้ำว่าที่นี่เคยคึกคักด้วยเป็นเมืองค้าไม้ ครั้งรัฐบาลพม่ายังอนุญาตให้คนไทยได้สัมปทานพื้นที่ทำไม้ที่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำกระบุรี

          ความเจริญตกทอดและกระจุกตัวอยู่ในกระเป๋าของคหบดี ข้าราชการ หรือนักการเมืองที่มีผลประโยชน์กับการทำไม้ มีบ้านที่กระจัดกระจายออกมาและส่งผลให้ตำบลเล็ก ๆ แห่งหนึ่งเติบโต จากครั้งสร้างเมืองที่ปากจั่นสู่ตำบลน้ำจืด ห้องแถวโบราณและหย่อมบ้านเรือนในตลาดเต็มไปด้วยคืนวันเก่าก่อนที่บรรจุอยู่ในความทรงจำของคนกระบุรี

กระบุรี รสละมุนกลางขุนเขา รูปเงาสองฝั่งลำน้ำ

          จากเมืองไกลในขุนเขาที่การมาถึงราว 100 ปีก่อน ต้องนั่งรถมาลงที่ชุมพร ขี่ข้างข้ามมาถึงบ้านทับหลี จากนั้นจึงเดินทางด้วยเรือโดยสารจากกระบุรีลงสู่ระนอง โลกเปลี่ยนผ่านไปในนามการเปลี่ยนแปลง ทิ้งเมืองเล็กอันเคยคึกคักทางการค้าไว้กับความเงียบสงบ ถนนสายโบราณนำพาผู้คนสองฟากฝั่งให้เชื่อมร้อย โลกของเหมืองแร่ และการทำไม้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเงียบ ๆ ขณะทิศทางแห่งการเพาะปลูกพืชไร่พืชสวนก้าวเข้ามาทดแทน

          ยางพาราและกาแฟโรบัสตาหลั่งไหลเข้าสู่แดนดินกระบุรีเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในภาคใต้ โลกดูเหมือนมีทางเดินไม่สิ้นสุด หากสำหรับคนตัวเล็ก ๆ ในหุบเขา บางทีคืนวันเปลี่ยนแปลงก็นำพามาซึ่งบางสิ่งบางอย่างที่ไม่มีโอกาสเลือก พืชพรรณอันไม่เคยได้กำหนดราคา รวมไปถึงความเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่หลายอย่างมักผ่านเลยไปโดยไม่แวะเวียน บางนาทีโลกก็หมุนไปวัน ๆ สำหรับชาวบ้านตามเมืองไกลในหุบเขา

กระบุรี รสละมุนกลางขุนเขา รูปเงาสองฝั่งลำน้ำ

          เราเดินลัดเลาะไปในเมืองเก่าของกรุรี อาคารร้านค้ากระจุกตัวและมีสีสันอยู่เพียงปลายบ่าย ริมแม่น้ำคึกคักแรงงานชาวเมียนมารวมไปถึงผู้คนท้องถิ่นก็ตอนยามเย็น

          โลกเปลี่ยนแปลงไปตามคืนวัน ตกทอดหลงเหลือเพียงความงามอันจีรังไม่กี่อย่าง ขุนเขา แม่น้ำ และแววตาอารีของผู้คน กระบุรีในค่ำคืนแรกบอกเราไว้เช่นนี้

กระบุรี
เยี่ยมชมและทดลองในกรรมวิธีการทำกาแฟ ตั้งแต่คัดเมล็ดมาตากแห้ง

          2. "วันที่ผมหยิบเมล็ดกาแฟกำมือแรกลงคั่วในกระทะ ผมยังนึกไม่ออกเลยว่าเรามาถึงวันนี้ได้รวดเร็วอย่างไร" สุวิทย์ กรประสิทธิ์วัฒน์ หรือ "พี่ก้อง" ของทุกคนในก้อง วัลเลย์ เล่าในเช้าที่แดดเฉียงทำมุมกับไอน้ำร้อนพวยพุ่ง กลิ่นกาแฟคั่วสดยามผ่านหม้อต้มโมคาพอตนั้นปลุกให้ยามเช้าผ่านไปอย่างมีเสน่ห์

          เรามาถึงที่นี่ตั้งแต่เมื่อคืน บ้านไม้ยกพื้นหลังเล็กเรียบง่ายระเบียงหน้าบ้านรื่นรมย์สำหรับการเอนกายท่ามกลางสวนผลไม้รายล้อม พี่ก้องมาหาเราตั้งแต่คืนแรก เล่าฝันให้กันฟังผ่านความเงียบและเสียงแมลงกรีดปีก ฝันที่บรรจุเต็มด้วยกาแฟโรบัสตา รวมไปถึงประสบการณ์ชีวิตของใครคนหนึ่งที่แลกมันมาด้วยการเดินทาง

          จากลูกคนเล็กในครอบครัวคนจีนแห่งกระบุรี พี่ก้องออกเดินทางรอนแรมไปไกล ฝากชีวิตไว้ที่เกาะเต่าเกือบ 20 ปี ไม่นับที่เดินทางท่องยุโรป เอเชีย ที่ทั้งหมดมีแรงขับเดียวคือการเรียนรู้โลกกว้าง วันที่เลือกกลับบ้าน ที่ดิน 5 ไร่ ของก้อง วัลเลย์ นั้นคือสวนผลไม้และกาแฟรกร้าง มันอ่อนโรยจากการเพาะปลูกที่ดำเนินไปกับการผูกขาดราคา โดยนายทุนและต้นทุนที่นับวันยิ่งเดินทางสวนกับราคาผลิตผล

          "มันน่าแปลกไหม บางคนปลูกกาแฟมาเป็น 20 ปี แต่ไม่เคยกินกาแฟที่ตัวเองปลูกเลย กินแต่กาแฟทรีอินวันสำเร็จรูป" ค่ำคืนดึกดื่นเรายังคงผ่านพ้นมันด้วยการทำความรู้จักพื้นที่เล็ก ๆ แห่งนี้ด้วยเรื่องเล่า

กระบุรี รสละมุนกลางขุนเขา รูปเงาสองฝั่งลำน้ำ
คั่วด้วยมือ

          ลำธารสายสวยหน้าก้อง วัลเลย์ มีต้นทางความชุ่มฉ่ำจากน้ำตกบกกรายที่อยู่ลึกขึ้นไปในควนเขา สวนกาแฟโรบัสตาโบราณค่อย ๆ เปลี่ยนรูปร่างเป็นโรงคั่ว ที่คัดแยกและทำกาแฟ รวมไปถึงร้านอาหารและบ้านหลังอบอุ่นของพี่ก้องและครอบครัว เมื่อชีวิตต้องปักหลัก ขุนเขาชราแดนดินกระบุรีก็พร้อมให้ใครสักคนได้เรียนรู้ พี่ก้องลองหยิบสารกาแฟโรบัสตามาคั่วเอง คั่วด้วยมือและกำลังไฟที่คิดว่าเหมาะสม จากหนึ่งสู่สิบ สู่ร้อย สู่พันหมื่นครั้งที่ลองผิดลองถูก

          "มันเป็นการคั่วมือ (Hand Roast) คั่วระบบเปิด ไม่เหมือนเครื่องคั่วที่เขาใช้กันในโรงคั่วขนาดใหญ่ คนคั่วต้องดูไฟ ดูสีกาแฟ แยกระดับอ่อนแก่ให้ได้" กระทะทองเหลืองนับสิบใบตรงหน้ามีพายไม้ที่ก้อง วัลเลย์ เลือกใช้ไม้อบเชยมาทำพาย ผ่านพ้นเวลาและความร้อนไปพร้อม ๆ กับ "มือคั่ว" ของที่นี่ นอกจากพี่ก้อง เด็กหนุ่มมีสไตล์นั่นก็อีกคน ที่เลือกเดินทางชีวิตอยู่กับสวนและผลิตผลแห่งขุนเขา

กระบุรี รสละมุนกลางขุนเขา รูปเงาสองฝั่งลำน้ำ

          โรงคั่วเรียบง่ายตกแต่งด้วยนานาอุปกรณ์กาแฟ ทั้งโมคาพอตเครื่องบดกาแฟมือหมุนโบราณ ซึ่งมันเดินทางมาถึงที่นี่ต่อเมื่อกาแฟของก้อง วัลเลย์ ได้พาตัวเองไปขายทั้งซีแอตเทิล เมลเบิร์น หรือเยอรมนี

          "เพื่อนชาวอิตาลีของผมมาเยี่ยม เขาเป็นบาริสตาผู้ช่ำชอง ครั้งแรกที่ดื่มกาแฟเราเขาถามว่าคั่วได้เหมือนเดิมทุกครั้งไหม" พี่ก้องย้อนไปในวันแรกเริ่มที่คิดจะพัฒนากาแฟของบ้านเกิด เขาว่าโรบัสตาไม่จำเป็นต้องคั่วเข้มเสมอ มันคั่วได้หลายระดับเช่นเดียวกับอะราบิกา มีบอดี้และอโรมาที่เป็นเอกลักษณ์ และที่สำคัญมีแรงกาย ตัวตน และน้ำพักน้ำแรงของเกษตรกรหล่อหลอม

กระบุรี รสละมุนกลางขุนเขา รูปเงาสองฝั่งลำน้ำ
หลังจากบดด้วยเครื่องบดกาแฟมือหมุน จึงได้ลิ้มชิมผ่านกาโมคาพ็อต

          ในโรงคั่วที่เปิดรับนักท่องเที่ยวไปในตัวแทบไม่ห่างหายผู้มาเยือนตลอดเวลาที่เราเดินทางมาทำงาน บางคราวก็เป็นเกษตรกรที่ปลูกกาแฟในหมู่บ้านใกล้เคียง "ผมพยายามศึกษา บอกเขาเรื่องการทำกาแฟที่มีคุณภาพตั้งแต่การเก็บเฉพาะผลสุกจริง ๆ ไม่รูดมาทั้งกิ่ง สีกาแฟด้วยน้ำ ผสมกับการตากแดดให้แห้ง (Semi Process)"

กระบุรี รสละมุนกลางขุนเขา รูปเงาสองฝั่งลำน้ำ
กาแฟโรบัสตาของที่นี่ส่งขายออกไปไกลทั้งในและต่างประเทศ

          "มันน่าจะเป็นการโตไปด้วยกันมากกว่าตัวใครตัวมันเหมือนที่ผ่านมา" ชายหนุ่มว่าวิสาหกิจชุมชนของเขาเล็กแสนเล็ก มีเกษตรกรเข้าร่วมในระยะแรกเริ่มไม่กี่หมู่บ้าน แต่ทางออกนั้นอาจนำพาไปสู่ความยั่งยืน "อย่างน้อยเรากำหนดราคากาแฟได้เองจากสวน เราดื่มกินกาแฟจากแรงมือของเราอย่างองอาจ" ฝันของลูกหลานกระบุรีคล้ายกาแฟสักถ้วย ที่ผ่านกระบวนการมายาวนาน ตั้งแต่ปลูก คั่ว หรือบดชง ที่สำคัญมันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเฉพาะอย่างที่หลายคนอาจต้องพาตัวเองมาทำความรู้จักและเข้าใจมันกลางขุนเขา

          3. ทางเล็ก ๆ สายนั้นนำพาเราไปสู่แดนดินภูเขาของกระบุรี

          จากแยกบ้านทุ่งมะพร้าว บ้านทรายอ่อน ถนนคดเคี้ยวไปในภูเขาที่เต็มไปด้วยยางพารา ปาล์ม และกาแฟโรบัสตา ภูเขาดูอ่อนล้าจากการห่างหายซึ่งไม้ใหญ่ พี่ก้องพาเราไปสู่บ้านในกรัง มิตรของเขากลุ่มหนึ่งปักหลักชีวิตอยู่บนนั้นมาราว 40 ปี มันแลดูสงบเรียบง่ายคล้ายหมู่บ้านในนิทาน ทว่ากับชีวิตจริงผืนดิน ณ ตรงนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวและรูปแบบชีวิตของการดิ้นรนแสวงหาหนทางทำกิน

กระบุรี รสละมุนกลางขุนเขา รูปเงาสองฝั่งลำน้ำ

         "เราลงมาเรื่อย จากบ้านเกิดที่เชียงคำ ไปสู่แถบคลองลานที่กำแพงเพชร จนที่นั่นว่าทำกินไม่ได้ รุกป่าสงวน ต้องโยกย้ายอีกครั้งหนึ่ง" อาเซ็ง-เฉงโจว แซ่ฟุ้ง ชายชาวเมี่ยน (เย้า) เล่าถึงการมาใช้ชีวิตที่กระบุรี ขณะเด็ก ๆ สาละวนกับชุดประจำเผ่า รวมไปถึงผู้เฒ่าผู้แก่ที่เชื้อเชิญเราลองชิมกาแฟของพวกเขา

          ว่ากันว่ากาแฟโรบัสตาเข้ามาสู่แดนดินไทยจากชายมุสลิมคนหนึ่ง ชื่อดีหมุน ซึ่งใช้ชีวิตตามแนวทางศาสนา เดินทางไปแสวงบุญที่เมืองเมกกะ ซาอุดีอาระเบีย ราวปี พ.ศ. 2447 และได้นำเมล็ดกาแฟสายพันธุ์โรบัสตากลับมาปลูกที่บ้านเกิดแถบบ้านโหนด อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา จากเมื่อพืชพันธุ์ได้หยั่งรากและหยัดยืน การมาถึงของรัฐบาลออกผลเป็นการส่งเสริมให้ปลูกกันอย่างแพร่หลายในแถบถิ่นภาคใต้

          "ตอนนั้นใครก็อยากปลูกกาแฟ โรบัสตากิโลกรัมละ 165 บาท ขณะยางพาราราคายังไม่ดีเท่า ตอนนั้นตรงโค้งถนนใหญ่หน้าอำเภอมีคนอีสาน คนต่างถิ่นมาลงรถสิบล้อตั้งแต่เช้ามืด เดินหายไปพร้อมกับความหวังจะมาปลูกกาแฟ" พี่ก้องเรียกมันง่าย ๆ ว่า Coffee Rush หรือยุค "ตื่นกาแฟ" ฉายภาพกระบุรีราว 40 ปีก่อนให้เราเห็น

กระบุรี รสละมุนกลางขุนเขา รูปเงาสองฝั่งลำน้ำ

          อาเซ็งและพี่น้องชาวเมี่ยนก็เช่นกัน จาก 3-4 คนที่ลงมาก่อน หอบหิ้วเงินทองและครอบครัวมาปลูกกาแฟแทนการอพยพไปประเทศโลกที่สามเช่นเดียวกับพี่น้องคนอื่น ๆ

          "ตอนนั้นบ้านในกรังกว่าจะมาถึงต้องเดินจากปากทางเพชรเกษม เริ่มเที่ยงมาถึงที่นี่สองทุ่ม" บ้านในกรังซ่อนเร้นตัวเองกลางหุบเขา โอบรับผู้หันหน้าลงหาแผ่นดินจากแดนไกล ความคิดความเชื่อในเรื่องการใช้ชีวิตแม้จะแตกต่าง ทว่ามันก็เติบโตเคียงคู่กับคนถิ่นใต้หรือคนอพยพขาวอีสานในสมัยนั้น

          กลางขุนเขา กาแฟเติบโตพร้อม ๆ กับหมู่บ้านที่ค่อย ๆ คืบขยายมั่นคงแข็งแรง รวมไปถึงมีทิศทางแห่งการเติบโต

          "จากปลูก เก็บ และรอเขามาซื้อ เดี๋ยวนี้เราพยายามทำกันเป็นกลุ่มพัฒนากาแฟให้มีคุณภาพ" ระหว่างคนกระบุรีและพี่น้องชาวเมี่ยน ดูเหมือนกาแฟที่พิถีพิถันเรื่องการทำตั้งแต่ชั้นต้นจะส่งผลออกมาสู่รอยยิ้มและชีวิตที่ดี เราดื่มกาแฟคั่วบดกันสด ๆ ในขนำหลังน้อย อาเซ็งและพี่น้องเชื้อเชิญให้รู้จักชีวิตของพวกเขา หนังสือแบบเรียนตัวอักษรฮั่นเก่าแก่เต็มไปด้วยข้อความที่เราไม่เข้าใจ ทว่าหลายคนก็แปลความเชื่อของเขาให้เราฟัง

          "คนเมี่ยนสอนกันตั้งแต่เด็ก ๆ เรื่องความดีความชั่ว การเพาะปลูก การใช้ชีวิตตามครรลอง" อาเซ็งบอกถึงถ้อยความหมายในแบบเรียนเล่มโบราณที่ใครสักคนถามหาคำแปล จะว่าไปชีวิตคนบนควนเขาของกระบุรีก็คล้ายกับกาแฟอยู่ไม่น้อย คือแตกต่างทั้งที่มาที่ไป ดิ้นรนเพื่อยืนหยัด ผ่านการเคี่ยวกรำทั้งฤดูกาลและการแสวงหาหนทางอยู่รอด ทว่าเมื่อชีวิตพานพบที่ทางและรูปแนวอันเหมาะสม ก็อาจเติบโตร่วมกันไปได้อย่างไม่สิ้นสุด

กระบุรี รสละมุนกลางขุนเขา รูปเงาสองฝั่งลำน้ำ

          4. หมอกจางหลังฝนผ่านซุกซ่อนลำน้ำสายนั้นไว้ให้เห็นแต่เลือนราง

          ที่ท่าเรือน้ำจืด เราก้าวลงเรือไปพร้อม ๆ กับความเอื้ออารีของแม่น้ำกระบุรี มันแผ่กว้างและรองรับสองฟากด้านด้วยป่าจากแน่นทึบ รวมไปถึงภาพชีวิตรายทางระหว่างสองแผ่นดิน สองเชื้อชาติ แม้จะมีความยาวไม่มากนัก ราวไม่เกิน 90 กิโลเมตร ทว่าพรมแดนทางใต้สุดระหว่างไทย-เมียนมา ก็ก่อเกิดเป็นภาพชีวิตชายแดนยั่งยืนยาวนานมาเคียงข้างลำน้ำโบราณ

          ประมงชราตรงท่าเรือบอกเราว่าต้นกำเนิดของมันจริง ๆ มาจากทิวเขาที่แยกสาขาจากส่วนปลายของเทือกเขาตะนาวศรี บางคนยืนยังเต็มปากว่าแค่ล่องเรือเลยกิ่วกระขึ้นไปเล็กน้อย แม่น้ำกระบุรีเหลือเพียงสายคลองเล็ก ๆ แค่นั้น

          ทว่ายามเมื่อใครสักคนตรงท่าน้ำเชื้อเชิญเราลงในลำเรือ ณ นาทีนั้นแม่น้ำดูยิ่งใหญ่และเปิดเผย ชีวิตประมงเล็ก ๆ ตกทอดอยู่ในความหลากหลาย ยองที่ใช้ปักไปได้ลำน้ำหาปู สวะ ที่คนแถวนี้มักเรียกกันว่า “วะ” นั้นใช้สำหรับช้อนกุ้งเคย

          พี่ก้องดูเหมือนปลดปล่อยตัวตนจากการงานกลางหุบเขา แม่น้ำกระบุรีที่หล่อหลอมเขามาตั้งแต่เด็กยังคงคล้ายมิตรอันคุ้นเคย เราแวะที่โพงพาง 1 ใน 11 หลังสุดท้ายของสายน้ำกระบุรี หลังจากที่กรมประมงจะประกาศยกเลิกการใช้โพงพางในลำน้ำ

กระบุรี รสละมุนกลางขุนเขา รูปเงาสองฝั่งลำน้ำ

          "โพงพางมาถึงที่นี่พร้อมคนจากเพชรบุรี" ลุงคนเรือเจ้าของโพงพางก็เช่นกัน จากบ้านที่อำเภอบ้านแหลมมาพร้อมกับทักษะและอุปกรณ์หาปลาอันแสนน่าทึ่ง

          ย้อนกลับไปราว 40 ปี ชีวิตในลำน้ำกระบุรีคล้ายพบเจอจุดเปลี่ยน ด้วยความสมบูรณ์จากลักษณะกายภาพแบบชะวากทะเลตรงปากแม่น้ำ ที่สองฝั่งค่อย ๆ แผ่กว้างออกไปจนกลายเป็นอ่าว ทำให้เกิดความหลากหลายของน้ำเค็ม น้ำกร่อย สมบูรณ์ทั้งพันธุ์สัตว์น้ำมากมาย เช่นนั้นแม่น้ำจึงเต็มไปด้วยความหอมหวนแห่งการจับปลาจากประมงเพื่อยังชีพไปตามฤดูกาล หลายคนหันไปหาการประมงแบบเชิงอุตสาหกรรม เทคโนโลยีอวนลาก อวนล้อม หรือโพงพางที่จับปลาในเชิงพาณิชย์ พร้อม ๆ กับการค่อย ๆ หายไปของเรือผีหลอก หรือเครื่องมือจับปลาพื้นบ้านประเภทอื่น ๆ พูดกันตรง ๆ คือแม่น้ำและแผ่นดินในยามนั้นต้องพบเผชิญกับความบอบช้ำจากการเปลี่ยนแปลง

          "เดี๋ยวนี้เขาห้ามแล้ว โพงพางที่ทำมาก่อนก็ทำได้แค่นั้น" ลุงคนเรือเล่าลอย ๆ ยามเราทิ้งห่างจากโพงพางหลังนั้น แม่น้ำแผ่กว้างอบอุ่น เหยี่ยวทะเลร่อนลมอาบแสงยามเย็น

กระบุรี

          กับแม่น้ำสายหนึ่ง...มันเต็มไปด้วยหน้าตาและความหมายสำหรับคนอันหลากหลาย บางคราวราวกับสระว่ายน้ำของเด็ก ๆ บางครั้งคือโลกที่หล่อหลอมคนประมงให้มีทิศทาง อาจบางคราวก็เป็นขอบเขตเส้นแดนสำหรับแผ่นดินสองผืน ที่มีทั้งฉากด้านของมิตรภาพและความแตกต่างของทิศทางชีวิต ซึ่งหากเปิดเปลือยนิยามหลากหลายให้หลุดลอย แม่น้ำสักสายคงฉายชัดให้เห็นถึงความหมายของการเป็นหนึ่งเดียว

กระบุรี

          5. ใกล้ค่ำเราพบตัวเองอยู่บนควนเขาอันเป็นที่ประดิษฐานของเจดีย์ศิลปะพม่าอร่ามทอง เมืองกระบุรีวางตัวตนสงบอยู่อีกฟากลำน้ำป่าจากทอดขนัดแผ่กว้างเขียวครึ้ม

          ราวนิยามของชายแดนเลือนสลาย เมื่อใครสักคนส่งเราขึ้นตลิ่งที่บ้านชายปู ในเขตจังหวัดเกาะสองของเมียนมา หมู่บ้านเล็ก ๆ ณ พิกัดตรงชายแดนแห่งนี้เต็มไปด้วยความเรียบง่ายอันเป็นจริงเป็นจัง หาใช่ยูโทเปียของนักเดินทางโรแมนติก

          ทางดินทอดตัวไปตามหมู่บ้าน มันเป็นทั้งลานเล่นของเด็ก ๆ เป็นท่ารถจากมะละแหม่ง ที่รถโดยสารคร่ำเขลอะไปด้วยคราบโคลน บ่งบอกถึงหนทางทุรกันดารที่ผ่านมา เป็นลานตากใบจากที่จะกลายเป็นใบมวนยาสูบส่งชายที่ฝั่งกระบุรียามแห้งสนิท

กระบุรี รสละมุนกลางขุนเขา รูปเงาสองฝั่งลำน้ำ

          หมู่บ้านชายปูอยู่ในตำบลหมาราง ซึ่งแต่เดิมว่ากันว่าพื้นที่แดนดินริมน้ำกระบุรีตรงนี้เคยเป็นเขตแดนของราชอาณาจักรสยาม ทว่าได้ตกเป็นของอังกฤษมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มีคนไทยหลายคนตกหล่นเป็นไทยพลัดถิ่นที่ต้องถือสัญชาติเมียนมา ทว่าการพูดจาและวัฒนธรรมนั้นไม่เปลี่ยนแปลง

          ทั้งหมดผ่านพ้นสู่สมัยอาณานิคมก้าวสู่ยุคการปกครองแบบปิดประเทศของเมียนมา ตราบจนถึงวันที่โลกเดินเข้าหากันด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคม ทว่ากับชีวิตตกหล่น ณ ขอบเขตที่แผ่นดินบรรจบกับสายน้ำ ใครหลายคนอาจไม่เคยถามหานิยามใด ๆ ของคำว่าเส้นเขตแดนและการปิดกั้น มีเพียงชีวิตที่เปลี่ยนผ่านไปสู่วันพรุ่งพร้อม ๆ กับความอุ่นเอื้อของสายน้ำและขุนเขาที่เยียวยาให้พวกเขามีที่ทางหยัดยืน

กระบุรี

          ระหว่างดื่มกาแฟจากถ้วยเล็ก ๆ ในสวนกาแฟท่ามกลางยามค่ำได้ดำเนินตัวตนของเมืองกระบุรี เราค่อย ๆ นึกถึงผู้คนและเมืองแห่งสายน้ำ และขุนเขาที่วางตัวเองอยู่ตรงความขอดแคบของชายแดน มันมักมีบรรยากาศพิเศษเสมอ เมื่อใครสักคนพาตัวเองมาอยู่ตรงพื้นที่ที่เป็นการพบกันระหว่างสองแผนดิน เป็นบรรยากาศที่ใครสักคนพร้อมจะหันหน้าเข้าหา บางคนอาจละสายตา...ไม่กล้าเมียงมอง ทว่าอย่างไรก็ตามการมีอยู่ของมันก็เด็ดเดี่ยวทระนงในรูปแบบ และหนทางอันเป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุด

กระบุรี รสละมุนกลางขุนเขา รูปเงาสองฝั่งลำน้ำ

          ขอขอบคุณ

          คุณสุวิทย์ กรประสิทธิ์วัฒน์, คุณนิมิต ระวังพงษ์, น้องวิว (หญิง) และน้องวิว (ชาย) รวมถึงทุกคนที่ก้อง วัลเลย์ สำหรับมิตรภาพและการต้อนรับอย่างอบอุ่นระหว่างจัดทำสารคดี

          คู่มือนักเดินทาง

          กระบุรีเป็นอำเภอเล็ก ๆ แสนสงบงามของจังหวัดระนอง มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งป่าเขา น้ำตก ล่องลำน้ำ รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตให้สามารถสัมผัสและพักผ่อนก่อนเดินทางล่องเที่ยวใต้

กระบุรี

          การเดินทาง

          กระบุรีตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดชุมพรประมาณ 64 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอเมืองระนอง 58 กิโลเมตร ไปถึงได้โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 4 จากแยกปฐมพร จังหวัดชุมพร

          นอนอุ่น-อิ่มอร่อย

          ก้อง วัลเลย์ สวนกาแฟที่มีเสน่ห์ บริการทั้งกาแฟคั่วมือ หอมกรุ่น เรียนรู้การคั่วกาแฟโรบัสตาด้วยตัวเอง มีร้านอาหารรสชาติดีทั้งปักษ์ใต้ดั้งเดิมและอาหารอีสานให้เลือกชิม รวมถึงมีห้องพักทั้งพัดลมและแอร์กลางสวนผลไม้ร่มรื่นให้บริการ สามารถไปถึงโดยแยกซ้ายจากทางหลวง หมายเลข 4 (เพชรเกษม) ตรงทางเข้าน้ำตกบกกรายไปราว 2 กิโลเมตร ก้อง วัลเลย์ตั้งอยู่ทางซ้ายมือ โทรศัพท์ 08 7268 1285 และ 08 5781 1937 เว็บไซต์ gongvalley.weebly.com เฟซบุ๊ก GONG VALLEY พิกัดจีพีเอส N10.370916 E098.799501





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประจาก 
 
ปีที่ 55 ฉบับที่ 10 พฤษภาคม 2558


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กระบุรี รสละมุนกลางขุนเขา รูปเงาสองฝั่งลำน้ำ อัปเดตล่าสุด 12 มิถุนายน 2558 เวลา 21:14:36 5,520 อ่าน
TOP
x close