ตะลุยเที่ยวเกาะหมาก เกาะกระดาด บันทึกจากทะเลตะวันออก

เกาะหมาก

เกาะหมาก

เกาะหมาก บันทึกจากทะเลตะวันออก

ธเนศ งามสม...เรื่อง
ปณต คูณสมบัติ...ภาพ

1. รายรอบคือทะเลคราม หมู่เกาะน้อยใหญ่ ขอบน้ำจรดโค้งขอบฟ้า

          เราอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ 23 ไมล์ทะเล ไกลจนรู้สึกได้ว่า ที่นี่คล้ายโลกอีกใบ

          "1 ชั่วโมง บนเรือเร็ว ทว่าเวลากลับค่อย ๆ เนิบช้า เกาะหมากยิ่งดูเนิบช้า" ผมเขียนไว้ในสมุดบันทึกเช่นนั้น บนชายหาดอันร่มรื่นด้วยหมู่ไม้ กล่าวได้ว่าที่นี่เงียบสงบและร่มเย็นด้วยหมู่ไม้ หากโบยบินเคียงนกทะเล เราจะเห็นรูปทรงเกาะนี้คล้ายดาวสี่แฉก ปรากฏตรงกลางระหว่างเกาะช้างกับเกาะกูด ดั่งจุดสีเขียวกลางท้องทะเลคราม และหากทอดเท้าไปตามชายหาด ลัดเลาะไปบนเกาะเนื้อที่ 9,000 ไร่ อารมณ์รับรู้คล้ายพบดินแดนแปลกใหม่ ไม้ใหญ่ยืนเคียงหาดทรายทอดยาว บ้านโบราณแทรกซ่อนกลางสวนยางพาราและสวนมะพร้าวเก่าแก่

          "เราหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปช้า ๆ" ธานินทร์ สุทธิธนกูล หนึ่งในลูกหลานผู้ถือสิทธิ์ที่ดินบนเกาะนี้ บอกกับเราด้วยน้ำเสียงชัดเจนอย่างคนเข้าใจโลกดี
ย้อนเวลากลับไปในช่วงที่ฝรั่งเศสแผ่อิทธิพลทั่วอินโดจีน อาณาจักรสยามจำต้องแลกเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ เพื่อจะคงจันทบุรีและตราดไว้

เกาะหมาก
อ่าวสวนใหญ่ ยังมีน้ำครามใสและต้นไม้ร่มรื่น

          ในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุผลหลากหลาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานสิทธิ์ที่ดินเกาะหมากและเกาะใกล้เคียงกัน

          "ตระกูลเราเคยอยู่ที่เกาะปอ เกาะเล็ก ๆ ในเขตเกาะกงของกัมพูชา หลังจากแลกตราดกับประจันตคีรีเขต เราก็ย้ายมาอยู่ที่นี่เมื่อ พ.ศ. 2447" คุณธานินทร์เล่าย้อนความหลัง

          เกาะหมากจึงเป็นเพียงไม่กี่เกาะที่มีโฉนดถือครอง ขณะลูกหลาน 5 สายตระกูลยังคงอาศัยอยู่บนเกาะนี้ ที่พิพิธภัณฑ์เกาะหมาก เรื่องราวเก่าก่อนบอกเล่าผ่านข้าวของเครื่องใช้วิทยุสื่อสาร อานม้า ตะเกียงเจ้าพายุ โทรศัพท์ยุคแรก ๆ รวมถึงภาพถ่ายเก่า มีทั้งภาพชีวิตในยุคนั้น และภาพ “นักท่องเที่ยว” กลุ่มแรกที่มาเยือนเกาะหมาก ภาพดังกล่าวบันทึกไว้ราว 40 ปีมาแล้ว

เกาะหมาก
เสน่ห์ของเกาะหมากอยู่ที่ความงามธรรมชาติ

2. "ชายหาดเป็นของทุกคน รวมถึงฝูงปลาและต้นไม้"

          ผมบันทึกประโยคนี้ขณะไปเยือน อ่าวพระ ชายหาดโค้งขาวด้านทิศเหนือ ที่ซึ่งร่มรื่นด้วยทองหลางต้นใหญ่หลายคนโอบ วันที่ไปเยือนอ่าวพระยังไร้สิ่งก่อสร้างดัดแปลงใด ๆ มีเพียงบ้านหลังเล็ก ๆ ของเจ้าของที่ดินไว้ดูแลสวนมะพร้าว ชายหาดโรยด้วยไปทองหลางและหูกวางทะเล ราวแต่งแต้มด้วยสีเหลืองและแดงสดใส

          ผู้มาเยือนชาวต่างชาติคงคล้ายกับเรา อารมณ์รู้สึกเหมือนพบที่ร้างห่างไกล บางคนผูกเปลนอนได้ร่มเงาสน หญิงสาวบางคนปูผ้านอนอาบแดดอุ่นบนชายหาดเดียวกัน ครอบครัวชาวประมงก็นั่งซ่อมอวนรอน้ำใหม่

          "ช่วงนี้น้ำเสีย แห้งตอนกลางวัน จะขึ้นอีกทีก็ตอนกลางคืนนั่นละ" ชายชราเครายาวบอกแล้วก็ยิ้มใจดี แกเล่าว่า ปูปลาอ่าวนี้ยังพอหาได้ ตัวแกยังชีพด้วยอวนปูม้า ได้มาก็พอซื้อหาข้าวของจำเป็น

เกาะหมาก
อ่าวด้านทิศเหนือเหมาะที่จะแล่นเรือใบ

          มองจากชายหาดเราจะเห็นเรือประมงลำน้อยลอยวางอวน ไม่ไกลกันนัก เรือใบลำกะทัดรัดก็จอดลอยลำ เห็นแวบแรกคำถามบางอย่างก็ผุดในใจ แต่เมื่อคิดหลากหลายแง่มุม มันอาจดีกว่าเรืออวนลำโต ๆ ที่ทำลายปะการังและปลาเล็กปลาน้อยก็เป็นได้

เกาะหมาก
ที่แหลมตุ๊กตา มีบาร์เล็ก ๆ น่านั่งชมตะวันคล้อยลับขอบฟ้า

          "ที่นี่เปลี่ยนไปไม่มาก ตอนผมเด็ก ๆ เกาะเงียบมาก ชายหาดก็คล้ายทุกวันนี้" สุรีย์พล ตะเวทีกุล ลูกหลานต้นตระกูลเกาะหมาก บอกเล่ากับเราเช่นนั้น เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงอาจไม่ใช่เวลา คงเพราะผู้อยู่เรียนรู้ว่าโลกภายนอกก้าวไปรวดเร็วเพียงใด

          "พ.ศ. 2514 คุณลุง คุณอา พาเพื่อนชาวเยอรมันมาเที่ยว นับเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกก็ว่าได้ ปีถัดมาเราเลยสร้างรีสอร์ทแห่งแรก" คุณธานินทร์เล่าถึงภาพถ่าย "นักท่องเที่ยว" ที่พิพิธภัณฑ์เกาะหมาก

เกาะหมาก
พิพิธภัณฑ์เกาะหมาก ช่วยเก็บรักษาข้าวของในอดีต เพื่อรักษาตัวตนและความเป็นมา

          กล่าวถึงผู้ถือสิทธิ์ที่ดินเกาะนี้ ทั้ง 5 ตระกูลสืบสายมาจาก หลวงพรหมภักดี ต้นตระกูลตะเวทีกุล ได้รับการศึกษาเล่าเรียนอย่างดี มีไม่น้อยที่ไปเรียนต่อประเทศต่าง ๆ ความคิดอ่านจึงก้าวหน้าและหลากหลาบ อย่างเช่นโครงการ Low Carbon Destination ที่มุ่งหวังให้เกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยใช้พลังงานธรรมชาติอย่างแสงอาทิตย์การบำบัดน้ำเสีย จัดการขยะให้มีประโยชน์ รวมถึงรักษาวิถีอันดีงามของท้องถิ่น

เกาะหมาก
ที่แหลมสน ประมงพื้นบ้านยังไม่หายสูญ

          "เราหวังให้ทุกอย่างเป็นไปช้า ๆ" คุณธานินทร์เอ่ยคำเดิมพลางยิ้มอารมณ์ดี เขาลงมือทำตามความคิดนี้ด้วยการให้ความรู้ใหม่ ๆ แก่เพื่อนบ้าน วิถีอันเรียบง่ายสามารถอยู่ร่วมกับการท่องเที่ยวได้ สวนมะพร้าวและสวนยางพาราคือรายได้ที่แน่นอน รวมถึงเป็นเสน่ห์ให้ผู้คนชื่นชมระหว่างมาเยือน

          "นักท่องเที่ยวบางคนขอซื้อแผ่นยางพาราไปเป็นที่ระลึก มีบ่อย ๆ ที่อยากชิมมะพร้าวจากต้นสูงลิ่ว ผมเลยนึกถึงสัดส่วน 20/80 เราใช้พื้นที่เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ รองรับการท่องเที่ยว เหลือเก็บไว้ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นสวน เป็นพื้นที่สีเขียว" คุณธานินทร์ หมายถึงแนวทางแบบพอเพียง หากเกิดวิกฤตการท่องเที่ยววันใด ผู้คนที่นี่ก็ยังอยู่ด้วยตัวเองได้

เกาะหมาก
แม้จะมีผู้มาเยือนมากขึ้น ทว่าคนเกาะหมากยังดำเนินวิถีเช่นวันเก่าก่อน ที่อ่าวตาโล่ง

3. "ผมชอบที่นี่ตั้งแต่เด็ก" ชายวัย 68 เอ่ยน้ำเสียงเย็น ๆ อย่างคนแก่ใจดี


          เราพูดคุยกันตรงชานบ้านของชายชรา บ้านไม้หลังสวยซึ่งยื่นออกไปในทะเล มองเห็นริ้วทรายโค้งยาวราวจิตรกรบรรจงวาดเขียน

          "ผมเกิดที่นี่ ปู่ผมเป็นคุณหลวง" อธิจิตต์ ตะเวทีกุล เล่าย้อนความหลัง ความทรงจำในวัยเยาว์ล้วนแจ่มชัด เด็กชายในวันนั้นผ่านการเดินทางขึ้นล่องกรุงเทพฯ-เกาะหมาก โดยมีเรือใบเป็นพาหนะ เติบโตแวดล้อมมากับคนสวน สวนมะพร้าว สวนยางพารา

          "สมัยนั้นเราใช้เรือใบ เดินทางที 3 เดือน 6 เดือน เพราะต้องรอลมเปลี่ยนทิศ ถึงจะออกเรือได้" ชายชราเล่าพลางยิ้มสบายใจ

          เกาะหมากในวันนั้นมีเพียงเรือกสวนและต้นไม้ใหญ่ ไร้รีสอร์ทและนักท่องเที่ยว มีก็เพียงญาติมิตรที่มาเยี่ยมเยือนเป็นครั้งคราว ความบันเทิงมีเพียงวิทยุกับหนังสือ ซึ่งจะมาพร้อมกับเรือจากบางกอก

เกาะกระดาด
มะพร้าวที่ให้ผลยาวนานมาถึงวันนี้

          "เราปลูกมะพร้าวมากกว่า 3 ใน 4 เลยก็ว่าได้" ชายชราเล่าถึงที่ดิน 1,600 ไร่ ที่สืบทอดต่อมา มะพร้าวคือรายได้หลักหล่อเลี้ยงผืนดินและคนงานในสวนยางพารา ซึ่งนำมาปลูกไล่เลี่ยกับจังหวัดตรังยังมีไม่มาก มะพร้าวมากมายจะถูกเก็บแล้วลำเลียงลงเรือกลประมง เที่ยวหนึ่งบรรทุกได้ถึง 10 ตัน แล่นไปขายที่กรุงเทพฯ

          "เรามันคนบ้านนอก" เล่าถึงตรงนี้ชายชราก็ยิ้มกว้าง หลังใช้ชีวิตบนแผ่นดินใหญ่ระยะหนึ่ง ชายชราก็ย้ายตัวเองมาอยู่ที่นี่เป็นการถาวร

          ถึงวันนี้สวนมะพร้าวถูกปล่อยร้างไปกว่าครึ่งแล้ว เพราะต้นสูงลิ่วอายุร่วมร้อยปี ยากแก่การปีนเก็บ เรือกลประมงเลยถูกพักงาน แล้วยกขึ้นคานทำเป็นบ้านพักหลังสวยสำหรับญาติมิตร ที่ค่อย ๆ ทดแทนคือยางพารา ซึ่งต้นพันธุ์ใหม่ ๆ ให้น้ำยางอย่างน่าชื่นใจ

          ตะวันค่อย ๆ คล้อยบ่าย ลมทะเลโบกโบย เรื่องเล่าของชายชราค่อย ๆ เติมเต็มหน้ากระดาษสมุดบันทึก

เกาะหมาก
ต้นยางพาราอายุกว่า 80 ปี ที่บอกเล่าเรื่องราวเกาะแห่งนี้

          "ต้นยางพาราอายุกว่า 80 ปี" ผมจดคำบอกนั้นลงบรรทัดสุดท้าย กล่าวลาชายชราแล้ว เราบ่ายหน้าไปยังสวนมะพร้าวเก่าแก่ ยืนมองไม้ใหญ่ที่แผ่คลุมสวนไว้เป็นเนื้อเดียวกันด้วยความตื่นตา

          จากสวนมะพร้าวเราแวะไปที่บ้านหลวงพรหมภักดี บ้านต้นตระกูลผู้สืบทอดผืนดินเกาะนี้ อาจารย์เพลินตา ตะเวทีกุล ก็อารีพาไปยังสวนยางพาราเก่าแก่

          "ราวกับชายชรา" คือความรู้สึกขณะยืนตรงหน้าต้นยางพาราขนาดกว่า 2 คนโอบรอบ กิ่งสาขาดั่งไม้ป่าแผ่เงาร่มเย็น โมงยามนั้นผมคล้ายมองเห็นเกาะหมากในวันวาน

เกาะกระดาด
ราว 30 ปีก่อน มีการนำเนื้อทราย 2-3 คู่ มาปล่อย ในวันนี้พวกเขาขยายพันธุ์กว่า 500 ตัวด้วยกัน

เกาะกระดาด
เนื้อทราย

4. "เกาะกระดาด น่าจะมาจากชื่อของต้นกระดาดที่พบมากบนเกาะ ลักษณะคล้ายต้นบอน ต้นเผือก" พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เกาะกระดาด

          ก่อนออกเดินทางผมพบบันทึกจำนวนหนึ่งที่บอกเล่าถึงเกาะหมากรวมถึงเกาะกระดาด เกาะเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดกัน ทบทวนพระราชหัตถเลขายิ่งน่าอ่าน เพราะล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเกาะกระดาดถึง 10 ครั้ง จากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนตราดทั้งหมด 12 ครั้ง รวมถึงเกาะหมาก 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียง 20 พรรษา ระหว่างนั่งเรือข้ามเกาะ ระยะห่างเพียง 1 ไมล์ทะเล กลับให้อารมณ์เนิบช้า ยิ่งก้าวขึ้นเกาะ ความเงียบสงบคล้ายนำพาไปเยือนวันเก่าก่อน

          "ในเกาะกลางนั้นไม่มีเขาศิลาเหมือนเกาะทั้งปวง เป็นแต่ดินราบ ๆ เป็นเนินสูงอยู่ใจกลาง...อนึ่งเนื้อแลกวางมีในเกาะนี้..." บันทึกจากพระราชหัตถเลขา กล่าวได้ว่า กาลเวลาแทบไม่เปลี่ยนแปลงที่นี่เลย เว้นเพียง "เนื้อแลกวาง" ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นฝูงเนื้อทราย

เกาะกระดาด
ที่เกาะกระดาด กาลเวลาคล้ายหมุนไปเนิบช้า ตรงชายหาดหน้านอกแทบจะไม่เปลี่ยนเลย จากคราวรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นเมื่อ พ.ศ. 2419

          ย้อนไปในช่วงกรณีพิพาทฝรั่งเศส เกาะกระดาดนับเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ ด้วยอยู่ใกล้น่านน้ำสยาม-กัมพูชา รัชกาลที่ 5 ทรงรับรู้ความจริงข้อนี้ พระองค์จึงทรงซื้อสิทธิ์ที่ดินบนเกาะกระดาด แล้วออกเอกสารการถือครองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในเวลาต่อมามรดกนี้ตกเป็นของ หม่อมเจ้านิทัศนาธร จิรประวัติ โอรสองค์โตที่เกิดกับหม่อมเจ้าหญิงสุมนมาลย์ ด้วยความห่างไกล ยากแก่การดูแลจึงขายต่อให้เอกชนซึ่งบุกเบิกทำสวนมะพร้าว

          ถึงยุค นายชุมพล รังควร บุตรผู้ถือครองสิทธิ์ต่อมา มีการปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชื่อ "เกาะกระดาด ไอร์แลนด์ รีสอร์ท" นับเป็นสถานตากอากาศสวยทันสมัย มีการนำเน้อทราย 2-3 คู่มาเลี้ยงไว้ด้วย

          "เราคล้ายอยู่ตรงกลางของเวลา อดีตกับปัจจุบันเชื่อมร้อยกันที่นี่" ผมบันทึกอารมณ์รู้สึกขณะตะวันคล้อยแตะขอบฟ้า เราพักค้างที่บังกะโลอายุร่วม 30 ปี ริมชายหาดอันร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่ เนื้อทรายนับร้อยตัวเล็มหญ้าอยู่ตรงโน้นตรงนี้

เกาะหมาก
วัดเกาะหมาก ยังเป็นศูนย์รวมใจ

          ใต้แสงสุดท้ายแห่งวัน เกาะหมากมองเห็นอยู่ไม่ไกล ด้านทิศใต้ปรากฏเกาะกูดราง ๆ ผมเดินไปที่ชายหาด เกลียวคลื่นโยนตัวอาบไล้พึมพำ อ่านบันทึกพระราชหัตถเลขา ความรู้สึกยิ่งชวนตื่นใจ เรื่องราวมากมายระหว่างพระองค์เสด็จประพาสต้น ตัวอักษรบรรจุภาพมากหลายชวนตื่นตา

          ใต้แสงจันทร์นวลใย ผมจดข้อความสุดท้ายลงสมุดบันทึก ก่อนเมฆจะห่มดวงจันทร์ ก่อนความเงียบงันอันงดงามจะเลือนหาย

เกาะหมาก
อ่าวพระเงียบสงบ ไร้สิ่งก่อสร้างแปลกตา

ขอขอบคุณ

          คุณวรรณประภา สุขสมบูรณ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด

          คุณคาณัฐ จันทคีรีเขต, คุณธานินทร์ สุทธิ์ธนากูล, คุณอธิจิตต์ ตะเวทีกุล, คุณสมพล-เพลินตา ตะเวทีกุล, คุณอวิรุทธิ์ มามีชัย และอีกหลายคนบนเกาะหมาก-เกาะกระดาด สำหรับน้ำใจ

เกาะหมาก

คู่มือนักเดินทาง

          เกาะหมาก เหมาะสำหรับผู้ชื่นชอบความสงบและธรรมชาติ กล่าวได้ว่า ที่นี่ยังมีชายหาดทอดยาวไร้รั้วกั้น ร่มรื่นด้วยทิวสนและต้นไม้ใหญ่ ขณะที่พักส่วนมากนั้นสวย สะอาด เหมาะแก่การพักผ่อนกายใจ

          กิจกรรมน่าสนใจบนเกาะนอกจากว่ายน้ำ พายเรือคายัก ปั่นจักรยาน และลองเล่นเรือใบแล้ว น่าไปเยือนอ่าวและชายหาดต่าง ๆ เช่น อ่าวขาว ซึ่งเป็นท่าเรือและจุดเริ่มต้นไปยังอ่าวรอบ ๆ เกาะ

          อ่าวนิดซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ มีพิพิธภัณฑ์เกาะหมาก รวบรวมข้าวของและภาพถ่ายเก่าน่าชม ร้านอาหารบรรยากาศดีให้บริการ

          อ่าวสวนใหญ่ อยู่ด้านทิศตะวันตก แนวชายหาดโค้งยาว ร่มรื่น ด้วยสวนมะพร้าวเก่าแก่ เช่นเดียวกับอ่าวพระ ซึ่งสงบเงียบน่าไปเยือน

          แหลมตุ๊กตา นำชมตะวันตกลับขอบฟ้า มีร้านอาหารเล็ก ๆ บรรยากาศน่านั่งให้บริการ

เกาะหมาก

การเดินทาง

          ที่ท่าเรือแหลมงอบ มีเรือเร็วไปเกาะหมากให้บริการ ปาหนัน สปีดโบ๊ท มีเที่ยวเวลา 12.30 และ 16.00 น. ลีลาวดีสปีดโบ๊ท มีเที่ยวเวลา 10.30 น., 14.00 น., 16.00 น. ค่าโดยสาร 450 บาท

แนะนำที่พัก

เกาะหมาก

          เกาะหมาก รีสอร์ท บริการด้วยบ้านพักตากอากาศทั้งขนาดครอบครัวและหลังกะทัดรัด เรียงรายใต้ร่มเงาไม้และชายหาดทอดยาวของอ่าวสวนใหญ่ โทรศัพท์ 08 9600 9597, 0 3950 1013 เว็บไซต์ www.kohmakresort.com

เกาะหมาก

          ชีวาน่า รีสอร์ท ที่พักสไตล์โมเดิร์นอิงแอบธรรมชาติ แวดล้อมด้วยทิวสนและต้นไม้ อยู่ริมชายหาดอ่าวสวนใหญ่ โทรศัพท์ 09 0864 5646 เว็บไซต์ www.seavanakohmak.com

          น่าไปเยือนเกาะกระดาด ชมชายหาดอันเงียบสงบ ฝูงเนื้อทราย และสวนมะพร้าวเก่าแก่ บริการทั้งเข้าไปเย็นกลับและพักค้างแรม โทรศัพท์ 08 8500 0667, 08 6322 7010 เว็บไซต์ www.kohkradadresorts.com

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

          ททท. สำนักงานตราด เลขที่ 100 หมู่ 1 ถนนตราด-แหลมงอบ ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด โทรศัพท์ 0 3959 7259-60




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 55 ฉบับที่ 9 เมษายน 2558


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตะลุยเที่ยวเกาะหมาก เกาะกระดาด บันทึกจากทะเลตะวันออก อัปเดตล่าสุด 13 พฤษภาคม 2558 เวลา 17:10:24 12,489 อ่าน
TOP
x close