x close

อยุธยา เมืองแห่งโบราณสถาน

อยุธยา

อยุธยา

อยุธยา

อยุธยา

อยุธยา เมืองแห่งโบราณสถาน สถาปัตยกรรม และความศรัทธา (คู่หูเดินทาง)

          เมื่อเอ่ยถึง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทุกคนเป็นต้องนึกถึงวัดเป็นอันดับแรก เพราะที่นี่มีวัดกันทั้งหมดกว่า 400 แห่ง มีความเป็นมาและความโดดเด่นที่แตกต่างกัน และด้วยจำนวนพื้นที่ที่จำกัดนี้ เราจำเป็นต้องแบ่งออกเป็น 2 ฉบับ ฉบับนี้เราเลยขอพาไปเที่ยวที่อำเภอบางปะอินกันก่อน เพราะถือได้ว่าเป็นอำเภอหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้อำเภออื่นเลยทีเดียว ที่แรกที่เราภูมิใจนำเสนอคือ วัดนิเวศธรรมประวัติ และ พระราชวังบางปะอิน เพราะเมื่อไปถึงแล้วทุกท่านจะสัมผัสได้ถึงความน่าประทับใจอย่างที่สุดกับ ทุก ๆ จุดที่ได้พบเห็น "คู่หูเดินทาง" ขอการันตีได้เลยว่าห้ามพลาดแม้แต่จุดเดียว


อยุธยา

อยุธยา

อยุธยา

อยุธยา


วัดนิเวศธรรมประวัติ

          ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามกับพระราชวังบางปะอินด้านทิศใต้ พระบาทสมเด็จ-พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างวัดนี้เมื่อ พ.ศ. 2419 เพื่อใช้เป็นที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ขณะเสด็จประทับที่พระราชวังบางปะอิน วัดนี้มีลักษณะพิเศษคือ มีการตกแต่งเป็นแบบตะวันตก พระอุโบสถคล้ายกับโบสถ์ฝรั่งในศาสนาคริสต์ มีหลังคายอดแหลมและช่องหน้าต่างเจาะโค้งแบบโกธิค ผนังอุโบสถมีกระจกสีประดับอย่างสวยงาม

          และที่สำคัญบริเวณเหนือหน้าต่างด้านหน้าพระประธานประดับกระจกสีเป็นพระบรม ฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้จากด้านนอกพระอุโบสถ และด้านขวามือของพระประธานในโบสถ์ จะเป็นพลับพลาที่ประทับของรัชกาลที่ 5 ซึ่งยังรักษาไว้ให้คงสภาพเดิมทุกอย่าง ส่วนฐานที่ประดิษฐานพระ ประธาน “พระพุทธนฤมลธรรโมภาส” อายุกว่า 133 ปี และพระสาวกก็ไม่ได้ทำเป็นฐานชุกชีอย่างในโบสถ์ทั่วไป แต่ทำเหมือนที่ตั้งไม้กางเขนในโบสถ์คริสต์ศาสนา


อยุธยา

อยุธยา

อยุธยา

อยุธยา

          ด้านขวามือของพระอุโบสถนั้นมีหอประดิษฐานพระคันธารราฐ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางขอฝน ตรงข้ามกับหอพระคันธารราฐเป็นหอประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาเก่าแก่ ปางนาคปรกอันเป็นพระพุทธรูปสมัยลพบุรี ฝีมือช่างขอมอายุเก่านับพันปี พระนาคปรกนี้อยู่ติดกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ใหญ่ ที่แผ่กิ่งไปทั่วบริเวณหน้าพระอุโบสถ ถัดไปไม่ไกลนักมีสวนหิน "ดิศกุลอนุสรณ์" ซึ่งรวบรวมหินชนิดต่าง ๆ เช่น หินปูน หินทราย หินกรวด หินชนวน

          และยังเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และอัฐิของเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระสนมเอกในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมารดาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและมีอัฐิของเจ้านาย ราชสกุลดิศกุลอีกหลายองค์

          นักท่องเที่ยวสามารถนั่งกระเช้าข้ามแม่น้ำไปเยี่ยมชมวัดนี้ได้ โดยกระเช้าสำหรับผู้โดยสารครั้งละ 6-8 คน ค่าโดยสารแล้วแต่จะบริจาค


อยุธยา

อยุธยา
 

พระราชวังบางปะอิน

          ประวัติของพระราชวังบางปะอิน มีความเป็นมาตามบันทึกในพระราชพงศาวดาร ครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า เมื่อพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นมา ในปี พ.ศ. 2175 บนเกาะบางปะอิน ตรงบริเวณนิวาสสถานเดิมของพระชนนี พระราชทานชื่อว่า "วัดชุมพลนิกายาราม" แล้วสร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งขึ้นริมสระน้ำนั้น พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์" ขึ้นบนเกาะเลนหรือเกาะบางนางอิน ในลำน้ำเจ้าพระยาใช้เป็นที่สำหรับเสด็จประพาส

          พระราชวังแห่งนี้จึงเป็นที่ประพาสสำราญพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดิน ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตลอดมา ต่อมาจึงได้รับการฟื้นฟูในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชทานนามใหม่ว่า “เกาะบางปะอิน” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักขึ้น 3 หลัง และปลูกพลับพลาโถงที่ไร่แตงอีกหลังหนึ่ง เป็นที่ประทับระหว่างเสด็จประพาสกรุงเก่าในลำน้ำเจ้าพระยา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า พระตำหนักที่เกาะบางปะอินมีความสมบูรณ์ที่จะสร้างพระราชวังสำหรับแปรพระราชฐาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ขึ้นดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ นอกจากการได้เที่ยวชมสถานที่อันสวยงามแล้วระหว่างทางยังมีต้นไม้นานาพันธุ์ ทั้งไม้ผลและไม้ดอกให้เราได้ศึกษากันอีกตลอดเส้นทาง


อยุธยา

อยุธยา

อยุธยา

อยุธยา

อยุธยา

อยุธยา


          พระราชวังบางปะอิน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ...

          เขตพระราชฐานชั้นนอก

          เป็นบริเวณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้สำหรับการออกมหาสมาคม หรือประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย

          • หอเหมมณเฑียรเทวราช เป็นปรางค์ศิลายอดทรงประสาทแบบขอม รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อทรงอุทิศถวายแด่พระเจ้าปราสาททองกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ตั้งอยู่ ณ ริมสระน้ำใต้ต้นโพธิ์

          • สภาคารราชประยูร เป็นตึกสองชั้นริมน้ำ สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2419 สำหรับเป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายหน้า และข้าราชบริพาร ปัจจุบันใช้เป็นอาคารนิทรรศการของพระราชวังบางปะอิน

          • พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เป็นพระที่นั่งปราสาทโถงทรงจตุรมุขอยู่กลางสระน้ำ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำลองแบบมาจากพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2419 และพระราชทานนาม "ไอศวรรย์ทิพยอาสน์" ตามนามพระที่นั่งองค์แรกซึ่งพระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ณ พระราชวังบางปะอินแห่งนี้

          • พระที่นั่งวโรภาษพิมาน เป็นพระที่นั่งทรงตึกชั้นเดียว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2419 ตรงบริเวณที่ประทับเดิมของพระองค์ เมื่อแรกสร้างเป็นอาคารตึกสองชั้น ต่อมาได้ดัดแปลงรื้อลงเป็นชั้นเดียวใช้เป็นที่ประทับ และมีท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการภายในห้องโถงรับรองและห้องทรงพระสำราญ ประดับภาพเขียนเป็นสีน้ำมัน ภาพพระราชพงศาวดารประกอบโคลงบรรยายภาพอันทรงคุณค่า เป็นภาพเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย และฉากต่าง ๆ จากวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น เรื่องอิเหนา พระอภัยมณีและรามเกียรติ์ เป็นต้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วาดภาพเหล่านี้ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2430 พระที่นั่งองค์นี้เคยได้ใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์ปัจจุบัน เมื่อมีการเสด็จแปรพระราชฐานยังพระราชวังบางปะอิน


อยุธยา

อยุธยา

อยุธยา

อยุธยา
 
อยุธยา

อยุธยา

อยุธยา

อยุธยา

          เขตพระราชฐานชั้นใน

          ใช้เชื่อมต่อกับเขตพระราชฐานชั้นนอก ด้วยสะพานที่มีลักษณะพิเศษ คือ มีแนวฉากคล้ายบานเกล็ดกลั้นกลางตลอดแนวสะพาน เพื่อแบ่งเป็นทางเดินของฝ่ายหน้าด้านหนึ่งและของฝ่ายในอีกด้านหนึ่ง สะพานนี้เชื่อมจากพระที่นั่งวโรภาษพิมานกับประตูเทวราชครรไล บริเวณเขตพระราชฐานชั้นในประกอบด้วยที่ประทับ พลับพลา และศาลาต่าง ๆ  ได้แก่

          • พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร เป็นพระที่นั่งเรือนไม้สองชั้นตามแบบชาเลต์ของสวิต เป็นที่ประทับที่รัชกาลที่ 5 โปรดปรานมากที่สุด ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับบางคราวถึง 3 ครั้งต่อปี แต่ในปี พ.ศ. 2481 ขณะที่มีการดำเนินการซ่อมทาสีพระที่นั่ง ได้เกิดเพลิงไหม้พระที่นั่งหมดสิ้นทั้งองค์เหลือแต่หอน้ำลักษณะคล้ายหอรบ ของยุโรปเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต สร้างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรขึ้นใหม่ตามแบบเดิมทุกประการ แต่เปลี่ยนวัสดุจากไม้เป็นอาคารคอนกรีตแทน

          • หอวิฑูรทัศนา เป็นหอสูงยอดมนตั้งอยู่กลางเกาะใน พระราชอุทยาน รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2424 เพื่อใช้เป็นหอส่องกล้องชมภูมิประเทศและดูดาว

          • พระที่นั่งเวหาศจำรูญ เป็นพระที่นั่งสองชั้นสร้างในแบบศิลปะจีนอย่างงดงาม โดยกลุ่มพ่อค้าชาวจีนในไทยสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5 พระที่นั่งองค์นี้ยังใช้ประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสังเวยพระป้ายจนถึงปัจจุบัน

          • พระตำหนักฝ่ายใน หมู่พระตำหนักฝ่ายในเป็นอาคารแบบตะวันตก มีทั้งชั้นเดียวและสองชั้นเรียงรายกันอยู่ แต่ปัจจุบันพระตำหนักเหล่านี้เหลืออยู่เพียงไม่กี่องค์เท่านั้น

          • อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เป็นอนุสาวรีย์ที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งเสด็จทิวงคตในระหว่างการเสด็จแปรพระราชฐานมายังพระราชวังบางปะอิน พร้อมทั้งจารึกคำไว้อาลัยที่ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เองไว้ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

          • อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ ในปี พ.ศ. 2430 รัชกาลที่ 5 ทรงเศร้าโศกเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง ด้วยทรง สูญเสียพระอัครชายาเธอฯ และพระราชโอรส พระราชธิดา 3 พระองค์ ในปีเดียวกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ที่ระลึกด้วยหินอ่อนแกะสลักพระรูปเหมือน ไว้ใกล้กับอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

          ติดตามการเดินทางท่องเที่ยวอยุธยาเมืองแห่งโบราณสถาน สถาปัตยกรรม และความศรัทธา ได้ต่อในฉบับหน้า เรารับรองว่าจะไม่ทำให้คุณผู้อ่านผิดหวังแน่นอน!


  

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อยุธยา เมืองแห่งโบราณสถาน อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:05:25 14,511 อ่าน
TOP