ไหว้พระนอน ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสริมสิริมงคลให้ชีวิต






ไหว้พระนอน ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสริมสิริมงคลให้ชีวิต (ททท.)

           จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะ ให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวและไหว้พระตามวัดต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น วัดพนัญเชิง วิหารพระมงคลบพิตร แต่ในครั้งนี้จะขอแนะแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัดที่มี "พระนอน" หรือที่เรียกว่า "พระพุทธไสยาสน์" ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยกว่า 9 วัด มาให้เป็นที่รู้จักได้เลือกสักการะบูชา เพื่อเสริมสิริมงคลแก่ชีวิตพร้อมรับแต่สิ่งดี ๆ ให้แก่ชีวิตนี้ว่า "ไหว้พระนอนขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสริมสิริมงคลให้ชีวิต" ที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเลือกสักการะบูชาวัดที่มีพระนอนได้ ดังนี้ ...


ไหว้พระ 9 วัด อยุธยา

1. พระนอนวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร อำเภอพระนครศรีอยุธยา

           วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ทางด้านหลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม เป็นวัดโบราณเดิมชื่อ "วัดเสื่อ" มีวิหารพระพุทธไสยาสน์ อยู่ติดกับพระเจดีย์องค์ใหญ่ ซึ่งพระวิหารนี้สร้างขวางกับแนวพระอุโบสถ พระพุทธไสยาสน์เป็นศิลปะแบบอยุธยา ประกอบด้วยศิลาเป็นท่อน ๆ นำมาเรียงต่อกันแล้วสลักเป็นองค์พระมีขนาด ยาว 14.2 เมตร แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระมหาธาตุ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างวิหารพระนอนขึ้นในวัด แล้วอัญเชิญพระพุทธไสยาสน์จากวัดมหาธาตุมาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้

           ถ้าใครได้มาสักการะ ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและประสบความโชคดี

           การเดินทาง เมื่อเข้าเกาะเมืองลงสะพานปรีดี ถึงไฟแดงเลี้ยวขวาตรงไปสุดถนนถึงถนนสายหนึ่งจะมีป้ายบอกไปวัดเสนา สนารามราชวรวิหาร ซึ่งมีทางเข้า 2 ทาง คือ บริเวณตำบลหัวรอ ด้านหน้าติดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม ส่วนทางเข้าวัดอีกทางบริเวณ ถนนสายหนึ่ง หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่ 0 3525 1518,0 3525 1680


ไหว้พระ 9 วัด อยุธยา


2. พระนอนวัดสามวิหาร อำเภอพระนครศรีอยุธยา

           พระนอนวัดสามวิหาร อำเภอพระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธไสยาสน์ศิลปะผสมผสานระหว่างอยุธยาและสุโขทัย ตามประวัติกล่าวว่า ในพงศาวดาร เรียกว่า "วัดสามพิหาร" เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ซึ่ง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยาตอนต้น แต่พุทธลักษณะคล้ายได้รับอิทธิพลแบบสุโขทัย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดสามวิหาร" เนื่องจากแต่เดิมมีทั้งหมด 3 วิหาร คือ วิหารพระนอน วิหารพระนั่ง และวิหารพระยืน ปัจจุบันเหลือเพียง 2 วิหาร คือ วิหารพระนอน และวิหารพระนั่ง เท่านั้น สันนิษฐานว่าสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของวัดนี้ ถูกทำลายเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310 เนื่องจากวัดนี้เป็นวัดแห่งหนึ่งที่พม่าเลือกเป็นชัยภูมิในการ ตั้งฐานทัพ เมื่อครั้งยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุง

           ถ้าใครได้สักการะ ถือว่าจะได้ความเมตตามหานิยม

           การเดินทาง  ตั้งอยู่ที่บ้านคลองบางขวด ต.หัวรอ อ.พระนครศรีอยุธยาจากสี่แยกวัดราชประดิษฐานตรงไปตามทาง เส้นทางวัดอินทราราม – เพนียดคล้องช้าง จากวัดอินทรารามไปประมาณ 900 ม. วัดสามวิหารจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ โทรศัพท์ 0 3525 2361


ไหว้พระ 9 วัด อยุธยา

3. พระนอนวัดโลกยสุทธา อำเภอพระนครศรีอยุธยา

           พระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่ ที่สุดในเกาะเมืองอยุธยา และเป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในรัชสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราช พระราชบิดาเจ้าสามพระยา ราว พ.ศ.1995 มีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่สุดของ อำเภอพระนครศรีอยุธยา ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง องค์พระพุทธไสยาสน์ก่ออิฐถือปูน ขนาดยาว 42 ม. สูง 8 ม. มีดอกบัวเกยซ้อนรองรับพระเศียรแทนพระเขนย สันนิษฐานว่าแต่เดิมเป็นพระพุทธรูปไม่ทรงเครื่อง แต่การบูรณะใน พ.ศ.2499 คงมีการแก้พระเศียรเป็นอย่างพระพุทธรูปทรงเครื่อง รอบองค์พระมีเสาอิฐ 8 เหลี่ยม รวม 24 ต้น ซึ่งแต่เดิมคงจะมีการสร้างวิหารครอบพระพุทธไสยาสน์ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้พังทลายลงเมื่อใด

           ถ้าใครได้มาสักการะ ถือว่าจะได้ความเมตตามหานิยม

           การเดินทาง วัดตั้งอยู่ใกล้เจดีย์พระศรีสุริโยทัย ใช้เส้นทางถนนหลังพลับพลาตรีมุข (ถนนเลียบคลองท่อ) ในบริเวณพระราชวังโบราณ ผ่านวัดวรโพธิ์ และวัดวรเชษฐาราม


ไหว้พระ 9 วัด อยุธยา

4. พระนอนวัดธรรมิกราช อำเภอพระนครศรีอยุธยา

           วัดที่สร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าคงจะสร้างในสมัยเดียวกันกับวัดพนัญเชิงวรวิหาร ต่อมามีการสร้างพระวิหาร ซึ่งตามประวัติกล่าวว่า สร้างโดยพระมเหสีในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เนื่องจากทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า หากพระราชธิดาทรงหายจากอาการประชวรแล้ว จะสร้างวิหารพระพุทธไสยาสน์ถวาย องค์พระพุทธไสยาสน์ก่ออิฐถือปูน มีความยาวประมาณ 12 ม. กลางฝ่าพระบาททำตามคติมหาปุริสลักษณะ โดยทำเป็นรูปจักรปูนปั้นนูนออกมาจากฝ่าพระบาทตามความงามของคติ ช่าง นอกเหนือจากชมความงามขององค์พระนอนแล้ว นักท่องเที่ยวยังนิยมนำน้ำพระพุทธมนต์ในพระวิหารนี้กลับไปบ้านเพื่อเป็นสิริมงคล เนื่องจากเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก

           ถ้าใครได้มาสักการะ ถือว่าจะได้เมตตามหานิยม  สุขภาพแข็งแรงเพราะพระพุทธไสยาสน์นี้สร้างขึ้นด้วยอานิสงส์แห่ง แรงอธิษฐาน

           การเดินทาง วัดตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระราชวังหลวง บนถนนอู่ทอง ตั้งอยู่ติดกับวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา นักท่องเที่ยวสามารถใช้เส้นทางได้สองเส้นทางคือถนนนเรศวรเข้าทาง หลังวัด และถนนอู่ทองเข้าทางหน้าวัด


ไหว้พระ 9 วัด อยุธยา

5. พระนอนวัดใหญ่ชัยมงคล อำเภอพระนครศรีอยุธยา

          ไหว้พระนอน ณ วัดที่มีเจดีย์องค์ใหญ่ที่สูงที่สุดในอยุธยา เป็นวัดที่มีเจดีย์ทรงระฆังองค์ใหญ่ สัญลักษณ์แห่งชัยชนะขององค์สมเด็จ พระนเรศวรมหาราช เดิมชื่อสำนักสงฆ์ป่าแก้ว ที่สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง องค์ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้สถาปนาพระวิหารให้เป็นพระอารามใน พ.ศ. 1900 โดยพระราชทานชื่อใหม่ว่า "วัดป่าแก้ว" ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศ และเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะในศึกยุทธหัตถี โดยทรงพระราชทานนามว่า "เจดีย์ชัยมงคล" พร้อมกันนั้น ได้ทรงโปรดฯ ให้สร้างวิหารพระพุทธไสยาสน์ เพื่อเป็นที่ถวายสักการะและบูชาพระปฏิบัติกรรมฐาน ปัจจุบันวิหารแห่งนี้หลงเหลือเพียงเสาสองต้นและกำแพงบางส่วนหลังองค์พระพุทธไสยาสน์ ซึ่งได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่

           ถ้าใครได้มาสักการะ ถือว่าจะได้เรื่องการอภัยทาน เมตตามหานิยม

           การเดินทาง วัดตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยา เลี้ยวซ้ายตรงเจดีย์วัดสามปลื้ม (เจดีย์กลางถนน) ตรงไปประมาณ 1 กม. จะพบวัดใหญ่ชัยมงคลอยู่ทางซ้ายมือ โทรศัพท์ 0 3524 4193


ไหว้พระ 9 วัด อยุธยา

6. พระนอนวัดพนมยงค์ อำเภอพระนครศรีอยุธยา

           วัดพนมยงค์ หรือวัดแม่นมโยง เป็นนามของแม่นมของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้ปฎิบัติดี มีใจสัตย์ซื่อและยึดถือคุณธรรมในการดำเนินชีวิต เมื่อหมดอายุขัยลงพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น จึงได้โปรดเก้าฯให้สร้างวัด อุโบสถและวิหารพระนอนองค์ใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของกรุงเก่า ริมคลองเมือง เยื้องหน้าโรงเรียนประตูชัย ตำบลท่าว่าสุกรี (ในเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา) สันนิษฐานว่าสร้างพระนอนองค์ใหญ่ทำด้วยปูนปั้นสวยงาม พุทธลักษณะละม้ายไปทางสุโขทัย เพราะพระศกท่านคล้ายก้นหอยขม และเข้าใจว่าแม่นมยงค์น่าจะเกิดวันอังคารจึงได้สร้างพระนอนองค์ ใหญ่ไว้ประจำวัด เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความดีงามของแม่นมยงค์

           ถ้าใครได้มาสักการะ ถือว่าจะได้เรื่องโชคลาภและหายจากการเจ็บป่วย

           การเดินทาง ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของกรุงเก่า ริมคลองเมือง เยื้องกับโรงเรียนประตูชัย โดยใช้เส้นทางหลวงอยุธยา – อ่างทอง วัดพนมยงค์อยู่ก่อนถึงวัดภูเขาทอง สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 035242135


ไหว้พระ 9 วัด อยุธยา

7. พระนอนวัดพุทไธศวรรย์ อำเภอพระนครศรีอยุธยา

           พระพุทธไสยาสน์สมัยอยุธยา ที่แสดงลักษณะพระบาทเหลื่อม สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ราว พ.ศ.1896 ในบริเวณ "เวียงเหล็ก" หรือ "เวียงเล็ก" ซึ่งเป็นพระตำหนักที่ประทับเดิมของพระองค์ ภายในบริเวณมีวิหารพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่เพียงผนังและกรอบหน้าต่างบางส่วน และองค์พระพุทธไสยาสน์ก่อด้วยอิฐถือปูน ซึ่งมีพุทธลักษณะพิเศษ คือ เป็นหนึ่งในพระพุทธไสยาสน์ของอยุธยาเพียงไม่กี่องค์ที่แสดงลักษณะ การวางพระบาทเหลื่อม อันเป็นลักษณะเบื้องต้นของการคลี่คลายพุทธลักษณะให้คล้ายคนธรรมดา

           นอกจากนั้นพระพาหา และพระกรที่พับวางราบด้านหน้า ในลักษณะหงายพระหัตถ์เพื่อรองรับพระเศียรนั้น เป็นรูปแบบที่นิยมมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ลพบุรี อู่ทอง แตกต่างจากพระนอนในอิทธิพลศิลปะสุโขทัยที่พบในเขตเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งมักจะตั้งพระกรขึ้นและหงายพระหัตถ์รองรับพระเศียรอยู่บนพระเขนย จึงนับเป็นตัวอย่างในการศึกษาพุทธศิลป์ในสมัยอยุธยาที่น่าสนใจ อย่างยิ่ง

           ถ้าใครได้มาสักการะ ถือว่าจะได้เรื่องเมตตามหานิยม ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

           การเดินทาง วัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำฝั่งใต้ ตรงข้ามกับเกาะเมือง ใช้เส้นทางสาย อยุธยา – เสนา ข้ามสะพานวัดกษัตราธิราชวรวิหาร เลี้ยวซ้ายไปทางวัดไชยวัฒนาราม จะมีป้ายบอกทางเป็นระยะ ไปจนถึงทางแยกเข้าวัดพุทไธศวรรย์ โทรศัพท์ 0 3524 2555

ไหว้พระ 9 วัด อยุธยา

8. พระนอนวัดสะตือ อำเภอท่าเรือ

           พระนอนใหญ่ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เหตุที่เรียกว่า วัดสะตือ นั้น เนื่องจากในอดีต มีต้นสะตือใหญ่อยู่บริเวณภายในวัด ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ณ บริเวณที่คุณโยมมารดาของพระคุณเจ้า สมเด็จฯ เคยขึ้นจากเรือมาผูกอู่เปลเห่กล่อมภายในบริเวณวัดมี "พระนอนใหญ่" หรือพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่องค์หนึ่ง ของไทย ที่นอกจากประชาชนจะมากราบไหว้บูชาแล้ว ยังนิยมมาบนบานขอพร เมื่อสำเร็จดังประสงค์แล้วมักแก้บนด้วยขนมจีน หรือว่าจ้างขบวนแตรวงแห่ไปรอบองค์พระ

           ถ้าใครมาสักการะ ถือว่าจะได้เรื่อง แคล้วคลาดจากความชั่วร้าย และขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากตน พร้อมรับเมตตามหานิยม

           การเดินทาง ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ เดินทางตามเส้นทางสายเอเชีย เจอป้ายนครหลวงเบี่ยงทางซ้ายลอดใต้สะพานบรรจบเส้นทางนครหลวง – ท่าเรือ ตรงไปเจอวัดไม้รวก ผ่านวัดไม้รวกเจอทางแยกเลี้ยวขวา และตรงมาประมาณ 200 เมตร จะมีป้ายบอกทางไป "วัดสะตือ" โทรศัพท์ 0 3534 1453


ไหว้พระ 9 วัด อยุธยา

9. พระนอนวัดไม้รวก อำเภอท่าเรือ

           ชาวบ้านเรียกว่า "วัดรวก" เนื่องจากสันนิษฐานว่าบริเวณวัดนี้น่าจะปกคลุมไปด้วยป่าและต้นไผ่ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา และมาบูรณะซ่อมแซมอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 3 มีพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ในเขตกำแพงแก้ว และยังมีพระพุทธรูปไม้สักแกะสลัก ลงรักปิดทองหลายองค์ ซึ่งในปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ องค์พระมีความยาวขนาด 7 ม. นอกจากนี้ ยังมีวิหารเก่าแก่ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 อีกด้วย

           ถ้าได้มาสักการะ ถือว่าจะได้เรื่องความเมตตามหานิยม ความโชคดี สุขภาพแข็งแรง

           การเดินทาง ตั้งอยู่ในเขตอ.ท่าเรือ เดินทางตามเส้นทางสายเอเชีย เจอป้ายนครหลวงเบี่ยงทางซ้ายลอดใต้สะพานบรรจบเส้นทางนครหลวง – ท่า เรือ ตรงไปเจอวัดไม้รวก


ไหว้พระ 9 วัด อยุธยา

10. พระนอนวัดสุวรรณ เจดีย์ ตำบลบ้านขวาง อำเภอมหาราช

           เป็นพุทธศิลป์ศิลปะสุโขทัยผสมอยุธยา สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เนื่องจากบริเวณวัดมีเจดีย์เก่าสมัยอยุธยา ภายในบรรจุพระพุทธรูปทองคำ ขนาดต่าง ๆ จึงเป็นที่มาของชื่อ "วัดสุวรรณเจดีย์" ภายในวิหารมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นใหม่ ลักษณะพระพักตร์งดงามเป็นศิลปะสุโขทัยผสมอยุธยา พระเขนยเป็นลายแผงพุ่มข้าวบิณฑ์ แบบรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นลายไทยทรงพุ่มแบบหนึ่งที่มีโครงภายนอกคล้ายดอกบัว ส่วนภายในตกแต่งด้วยลวดลายละเอียดประณีตงดงามยิ่งนัก ส่วนอีกองค์หนึ่งมีขนาดไม่ใหญ่นัก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ประดิษฐานอยู่ในกุฏิหลังใหญ่ของวัด

           ถ้าได้มาสักการะ ถือว่าจะได้เรื่องความโชคดี ประสบความสำเร็จสมปรารถนา

           การเดินทาง วัดนี้ตั้งอยู่ ต.บ้านขวาง อ.มหาราช เดินทางตามเส้นทางสาย 3467 และจะมีป้ายบอกทางไปจังหวัดอ่างทอง เลี้ยวซ้าย ไปตามถนนสายดอนพุด – อ่างทอง ประมาณ 20 กม. วัดสุวรรณเจดีย์อยู่ทางด้านขวามือ


ไหว้พระ 9 วัด อยุธยา

11. พระนอนวัดพิกุล อำเภอบางบาล

           วัดพิกุล อยู่ในอำเภอบางบาล เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา เล่ากันว่า วัดพิกุลไม่เคยเป็นวัดร้างเลย แม้สมัยที่กรุงศรีอยุธยาแตกก็ตาม วัดแห่งนี้เฟื่องฟูในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อหลวงพ่อปั้นเป็นเจ้าอาวาส เนื่องจากท่านเป็นเกจิอาจารย์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือมาก ท่านได้สร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2453 ถวายพระนามว่า พระโสคันธ์ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า หลวงพ่อโส เป็นพระนอนขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเคารพนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ จึงนิยมมาขอพรให้ประสบความสำเร็จสมหวังในเรื่องต่าง ๆ

           ถ้าได้มาสักการะ ถือว่าจะได้เรื่องความโชคดีและประสบผลสำเร็จสมหวังในเรื่องต่าง ๆ

           การเดินทาง วัดนี้ตั้งอยู่อำเภอบางบาล เดินทางตามเส้นผ่านออกไปทางวัดกษัตราผ่าน แยกวรเชษฐ์เลี้ยวขวาวิ่งเข้าตัวอำเภอบางบาลตรงไป 12 กิโลเมตร ผ่านตัวอำเภอบางบาลจะถึงวัดพิกุล


ไหว้พระ 9 วัด อยุธยา

12. วัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล

           วัดบางปลาหมอ อยู่ในอำเภอบางบาล วัดบางปลาหมอ เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดประชุมญาติ เมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2 กลายเป็นวัดร้างไป ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 หลวงปู่สุ่น นอกจากเก่งในทางวิปัสสนาแล้วท่านยังเป็นพระที่มีวิชาในทางรักษาโรคด้วย ต่อมาชื่อวัดได้เพี้ยนไปกลายเป็น บางปลาหมอ จนปัจจุบัน ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยหลวงปู่สุ่นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัด ในยุครัตนโกสินทร์ได้สร้างพระพุทธไสยาสน์ ถวายนามว่า "พระไสยาสน์มงคลสรรเพชญ" แต่เดิมพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ประดิษฐานอยู่ริมแม่น้ำน้อยถึงหน้า น้ำก็มักจะถูกน้ำท่วมเกือบทุกปี จนกระทั่งหลวงพ่อวัดปากน้ำวัดภาษีเจริญ ได้มาเห็นสภาพท่านจึงเป็นผู้นำชาวบ้านให้ช่วยกันชะลอพระนอนจากริม แม่น้ำขึ้นมายังที่ประดิษฐานปัจจุบัน
          
           การย้ายครั้งนั้นองค์เกิดเสียหาย ทำให้ได้ทราบว่า โครงสร้างภายในทำด้วยโอ่งจำนวนหลายสิบใบนำมาเรียงกัน เมื่อเคลื่อนย้ายโอ่งจึงแตกรักษาไว้ได้เพียงพระเศียร และพระกร ส่วนอื่นต้องก่ออิฐถือปูนขึ้นรูปใหม่ แล้วบุด้วยทองเหลืองเช่นที่เห็นทุกวันนี้

           ถ้าได้มาสักการะ ถือว่าจะได้เรื่องความโชคดีเป็นสิริมงคล ทำการค้าร่ำรวย

           การเดินทาง วัดนี้ตั้งอยู่อำเภอบางบาล เดินทางจากสี่แยกวรเชษฐ์ตรงไปอำเภอเสนา ข้ามสะพานแม่น้ำน้อย ผ่านแยกสีกุก 1 กิโลเมตร ป้ายวัดอยู่ขวามือเป็นวัดบาง ปลาหมอ

           สุดท้ายขออวยพรให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจเดินทางมาท่องเที่ยวไหว้ พระนอน ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกับท่องเที่ยวอย่างสนุกสนาน เพื่อเป็นแรงผลักดันให้สามารถดำเนินชีวิตไปอย่างปกติสุขต่อไป

           ทั้งนี้ สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพระนครศรีอยุธยา โทร. 0 3524 6076-7 หรือที่เว็บไซด์ www.tourismthailand.org/ayutthaya





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไหว้พระนอน ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสริมสิริมงคลให้ชีวิต อัปเดตล่าสุด 30 พฤษภาคม 2567 เวลา 15:05:59 72,552 อ่าน
TOP
x close