เกาะปันหยี ที่ซึ่งสายใยพันผูกและผูกพัน

ปันหยี

ปันหยี

ปันหยี

ปันหยี

ปันหยี

ปันหยี

ปันหยี

ปันหยี

ปันหยี

ปันหยี



ปันหยี ที่ซึ่งสายใยพันผูกและผูกพัน (อสท.)

ปิยะฤทัย  ปิโยพีระพงศ์...เรื่อง
อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา...ภาพ

          เป็นโมงยามที่งดงาม เพราะห้วงเวลานี้ไม่เพียงมีดวงดาวลอยเกลื่อนบนผืนฟ้า แสงจันทร์นวลสาดส่องกระทบผิวน้ำและสาดจับแนวผาชันที่โอบรับหลังเรือนลอยน้ำ ยังมีสายลมเย็นพัดพลิ้วนำเสียงอาซาบเชิญชวนชาวบ้านออกไปร่วมละหมาดที่มัสยิดดังมาชัดเจน เสียงกุกกักจากครัวของบ้านริมน้ำ เสียงเรือลำน้อยเคลื่อนค่อยด้วยแรงพายออกไปยังกระชังหน้าบ้าน ทั้งหมดนี้ล้วนบ่งบอกว่า ชีวิตกำลังเริ่มต้นอีกครั้ง แล้วใครกันจะปฏิเสธว่า โมงยามแห่งการเริ่มต้นไม่ใช่ช่วงเวลาที่งดงาม

          ปันหยี กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหลังจากผ่านคืนค่ำสงบงัน แสงเช้าปลุกให้ชาวมุสลิมนับพันที่อาศัยอยู่ในชุมชนเก่าแก่เหนือผืนทะเลใน อ่าวพังงา ลุกขึ้นมาดำเนินชีวิตเฉกเช่นทุกวัน แต่สำหรับฉัน วันนี้ไม่เหมือนทุกวัน ตั้งแต่เดินพ้นเขตปันหยี บังกะโล ออกมาตามทางปูนเล็ก ๆ เหนือผืนน้ำ เสียงทักทายและใบหน้ายิ้มแย้มก็ปรากฏแทบตลอดทาง

          "หายไปไหนตั้งนาน วันนี้พาแขกมาปืนผาเหรอ" เปล่า... เสียงทักทายทำนองนี้ไม่ได้ส่งมาถึงฉัน แต่ป้อนไปที่ อ้น หรือ ณรงศักดิ์ โภชนา ชายหนุ่มที่เดินนำหน้าอยู่ต่างหาก เราเดินลัดเลาะตามทางเล็กแคบ ผ่านหน้าบ้านผู้คนมากมาย จนมาถึงมัสยิด ที่วันนี้ไม่มียอดโดมทองเรืองรองโดดเด่นเป็นสัญลักษณ์เช่นวันก่อน ๆ เพราะมีการรื้อถอนอาคาร เพื่อทำการบูรณะมัสยิดครั้งใหญ่ หลังจากเวลาแห่งการทำละหมาดแรกของวันเพิ่งผ่านพ้นไป มัสยิดประจำเกาะปันหยียังคงมีผู้คนอยู่มากหน้า


ปันหยี

ปันหยี

          เราเดินหักเลี้ยวแล้วเลาะเลียบหน้าผาชันที่ตั้งตระหง่านอยู่คนละด้านกับมัสยิด ก่อนจะปีนผ่านซอกหินเล็ก ๆ เข้ามาถึงลานทรายกว้างเคียงข้างผาสูง

          "นั่น...พี่เห็นมั้ย มีเส้นทางให้เลือกปีนประมาณ 4-5 รูต" อ้น ชายหนุ่มผู้หลงใหลกิจกรรมท้าทาย ทั้งเซิร์ฟบอร์ด พายคายัก และปีนป่าย ชี้ให้ดูหน้าผาสูงที่มีเชือกผูกไว้เป็นรูปสามเหลี่ยม มันคือปลายทางของเส้นทางปีนที่นักปีนผามักเรียกว่า แองเคอร์ (Anchor) ซึ่งถ้าไม่ตั้งใจจับจ้องก็จะมองไม่เห็น ชายหนุ่มคนนี้แหละที่เป็นผู้ทำเส้นทางปีนเกือบ 10 เส้นทางบน เกาะปันหยี และชักชวนให้ฉันเดินทางกลับมาสัมผัสผืนผาที่ครั้งหนึ่งเราเคยร่วมผจญภัยปีนขึ้นไปตามแนวตั้งด้วยกันเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว

          "ขึ้นไปปีนเส้นทางด้านบนก่อนดีกว่า ตอนนี้แดดยังลงไม่มาก ถ้าสายกว่านี้แล้วละก็...ปีนไม่ได้เลยพี่เอ๊ย"

          แนวหน้าผาที่ตั้งตระหง่านรับแดดยามสายจัด คล้ายบังคับให้เราเลือกปีนบางเส้นทางเป็นอันดับแรก ๆ ฉันเดินไต่เนินตามอ้นขึ้นมายังหน้าผาด้านบน แล้วหยุดอยู่ ณ ลานริมผาสีน้ำตาลแดง หน้าผาตั้งดิ่งชันนี้สูงจนต้องแหงนคอตั้งบ่าหากจะมองให้สุดปลายเขา ต้นไม้สูงใหญ่ที่ขึ้นอยู่แวดล้อมช่วยบดบังแสงแดดได้เป็นอย่างดี สิ่งที่ฉันชอบมากกว่าคือความปูดโปนของเนื้อหิน ซึ่งมองเห็นโพรง ร่อง หลีบ ได้ชัดเจน

          "ความยากของเส้นทางปีนแถว ๆ นี้อยู่ที่ 5-6" อ้น บอกขณะที่มือไม้พัลวันกับการจัดเตรียมอุปกรณ์การปีน โดยมี อิบ หรือ สุริยา เตบเสริม หนุ่มนักปีนหน้าเข้มจากไร่เล จังหวัดกระบี่ ช่วยจัดเตรียมอุปกรณ์ก่อนที่เขาจะปีนนำเชือกขึ้นไป

          การจัดระดับความยากของการปีนผาที่นักปีชาวไทยใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นระบบของฝรั่งเศส ซึ่งเริ่มจากเลข 5 ที่ง่ายสุด โดยหน้าผาระดับนี้จะเป็นผาตั้งชันทำมุมฉากกับพื้นมีเนื้อหินหยึกหยักมากมาย ด้วยร่อง หลีบ โพรงขนาดใหญ่ ให้มือจับ ให้เท้าเหยียดหยัดอย่างถนัดถนี่ ไล่ระดับความยากขึ้นไปที่ 6 6A 6B ... จนไปถึง 7 (ในเมืองไทยยังไม่มีการเจาะเส้นทางที่ยากเกินกว่าระดับ 7)


ปันหยี
 
 ปันหยี

          "ยัง ยัง ยัง" ฉันยืนหมิ่นเหม่แนบหน้าผาบนความสูงราว  8 เมตร หลังจากปีนผ่านเพิงผายื่นล้ำ และหินย้อยก้อนโตมาเกาะหินแน่น และตะโกนตอบลงไปหลังจาก อิบ ซึ่งทำหน้าที่ผู้ควบคุมเชือก หรือบีเลเบอร์ (Belayer) ตะโกนถามว่าจะปีนต่อหรือยัง เหงื่อผุดซึมหน้า หันมองกลับไปทางด้านหลัง ผ่านทิวไม้เขียวชื่นตาไปคือหลังคาบ้านหลากสีสันเรียงรายริมทะเล ไกลออกไปลิบ ๆ คือกลุ่มเกาะรูปร่างแปลกตาตั้งเด่นอยู่กลางน้ำ ในท้องน้ำกว้างใหญ่นั้น เรือหางยาวไม่กี่ลำกำลังแล่นนำนักท่องเที่ยวไปสู่ เขาตาปู หรือ เกาะเจมส์บอนด์ แหล่งท่องเที่ยวโด่งดังในอ่าวพังงา ก้มมองลงไป อ้น กำลังหัวเราะร่า คงขำลีลาการปีนของฉัน ที่ยักแย่ยักยันอยู่บนเส้นทางความยากระดับ 6

          "รูตนี้ยังไม่มีชื่อเลย งั้นให้ชื่อ ‘ยัง ยัง ยัง’ ก็แล้วกันนะ" อ้น ถือโอกาสตั้งชื่อเส้นทาง ขณะที่ อิบ ยืนหัวเราะฮิฮะเบา ๆ มือทั้งสองของ อิบ เกาะกุมอุปกรณ์ควบคุมเชือกอย่างมั่นคง เส้นเชือกที่โยงเราไว้ด้วยกันตึงขึงด้วยแรงดึงของ อิบ ทำให้ฉันมั่นใจในการปีนไต่ขึ้นไปตามระยะทางที่เหลืออีก 2 เมตร บนความสูงตั้งฉากกับพื้นดิน

          ความผูกพันเกิดขึ้นอย่างไม่ยากผ่านสายใยของเส้นเชือกที่พันผูกนักปีนและบีเลเยอร์ไว้ด้วยกัน สิ่งหนึ่งที่เราต่างรู้ดีคือ การจะไปให้ถึงจุดหมายนั้น เราทั้งคู่ต้อง "ดู" "แล" กันไปจนสุดปลายทาง

          แสงแดดจัดจ้าไล่สาดส่องหน้าผาเข้ามาเรื่อย ๆ ขณะที่ อิบ ปีนนำเชือกขึ้นไปบนเส้นทางความยากระดับ 6B ด้วยลักษณะหน้าผาที่เอนล้ำทำมุมแหลมกับพื้น ทำให้ อิบ ต้องจัดท่าทางการปีนให้ร่างกายถ่ายเทน้ำหนักได้สมดุลที่สุด ลีลาการปีนของหนุ่มใต้สวยงามและคล่องแคล่ว ราวกับเขาไต่ขึ้นไปโดยไม่ได้ออกแรง ทว่า สิ่งที่บ่งบอกว่าชายหนุ่มต้องใช้กำลังกายพอดูคือ ลำตัวที่ปรากฏมัดกล้ามแข็งแรงชัดเจนกระจะตา


ปันหยี

ปันหยี


          "...หากจะมีใครสักคนมองจากภายนอก มองจากจุดสูง อาจมองว่าชีวิตเยี่ยงนี้เหลวไหลไร้สาระ หรือถึงขั้นเปลืองเปล่าไร้ประโยชน์ แต่ความเห็นนั้นไม่กวนใจผม อาจจะเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ เหมือนการรินเทน้ำลงหม้อก้นรั่ว แต่อย่างน้อย เราก็มีความมานะพยายามที่จะรินเติมความอุตสาหะลงไป จะมีประโยชน์ต่อยอดให้เกิดผลเรื่องอื่นหรือไม่ จะเท่หรือไม่เท่ ในการวิเคราะห์ท้ายสุด เรื่องสำคัญที่สุดไม่ใช่สิ่งที่เห็น หากแต่เป็นสิ่งที่เรารับรู้และรู้สึกได้ด้วยหัวใจ..."

          ฉันคิดถึงถ้อยคำที่ ฮารุกิ  มุราคามิ นักเขียนชาวญี่ปุ่น ผู้แหวกขนบการเขียนนิยายได้ถ่ายทอดความรู้สึกหลังการแข่งขันไตรกีฬาไว้ในหนังสือ "เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง" (What I Talk about When I Talk about Running) ที่แปลโดยนพดล เวชสวัสดิ์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์กำมะหยี่ แม้จะเป็นกิจกรรมต่างประเภทกัน แต่ฉันเข้าใจความรู้สึก เช่นนั้น และคล้อยตามโดยไม่มีข้อโต้แย้ง

          เมื่อยังเยาว์วัยกว่านี้ ฉันก็ไม่ต่างจากคนขี้สงสัยและช่างถากถาง ที่มักจะตั้งคำถามว่าคนนั้นคนนี้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เพื่ออะไร ปั่นเสือภูเขาไปทำไม เที่ยวผับไปทำไม เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือบ่อย ๆ ไปทำไม ฯลฯ จนกระทั่งวันหนึ่ง คำถามนั้นก็ย้อนกลับมา "ปีนผาไปทำไม" คำตอบสั้น ง่าย คือ ทำแล้วมีความสุข ส่วนเหตุผลอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น...เพื่อให้ร่างกาย แข็งแรง เพื่อเอาชนะใจตัวเอง เพื่อเข้าสังคม เพื่อความเท่ ฯลฯ ล้วนคือรายละเอียดของอารมณ์ที่แฝงอยู่ใน "ความสุข" และความสุขของคนเราก็แตกต่างกัน

          "เดี๋ยวคอยดู อิบ จะไปไม่ถูก" อ้น หัวเราะหึ ๆ ขณะแหงนหน้ามอง อิบ ที่ปีนนำเชือกขึ้นไปถึงหินย้อยบนความสูงเกือบ 20 เมตร ในฐานะบีเลเยอร์ ฉันย่อมเพ่งสายตาไปที่ร่างนักปีนอยู่แล้ว แต่เมื่อ อ้น มายืนรอขำอยู่ข้าง ๆ ฉันจึงตั้งใจมอง อิบ มากเข้าไปอีก แล้วก็จริง อิบ เกาะหินย้อยพลางคิดว่าจะปีนต่อขึ้นไปอย่างไร


ปันหยี
 
 ปันหยี

          "กลับตัว หันหลังให้หน้าผา เหยียดขาอีกข้างไปหยัดไว้ที่หินย้อยอีกด้าน" อ้น ตะโกนบอก เมื่อทำตามนั้น ท่าทางของ อิบ จึงดูเท่ไม่หยอก คล้าย ทอม ครูซ ในภาพยนตร์เรื่อง MI:2 อย่างไรอย่างนั้น แต่เมื่อถึงคราวที่ฉันเปลี่ยนมาเป็นคนปีนบ้าง ก็ได้รู้ว่า ในความเท่นั้นมีความน่าหวาดเสียวเจือปนอยู่มาก เพราะแผ่นหลังไม่ได้สัมผัสแผ่นผา ทั้งแขนทั้งขา (สั้น ๆ ของฉัน) หยัดเหยียดไปคนละด้าน โดยพื้นทรายเบื้องล่างนั้นดูเหมือนลึกลงไปจนรู้สึกว่างเปล่าและโหวงเหวง

          เมื่อหันหลังให้หน้าผา ด้านหน้าของฉันคือชุมชนปันหยีและท้องทะเลกว้าง ภาพเบื้องหน้าสวยสบายตาสบายใจกว่าภาพเบื้องล่างมากมาย สูดลมหายใจลึก ๆ แล้ว ฉันจึงตวัดตัวกลับ โดยโถมตัวไปเกาะหินย้อยที่แขนซ้ายเหนี่ยว ขาซ้ายหยัด ด้วยความไว้ที่สุดตั้งแต่เคยปีนหน้าผามา เสียงตบมือจากคนเพียง  3-4 คน ที่ยืนอยู่เบื้องล่างดังเกรียวกราวกว่าความเป็นจริงในความรู้สึกของฉัน นี่คืออีกหนึ่งความสุขที่ได้รับจากการไต่ตามภูผา ซึ่งแลกมาด้วยแรงกายนิดหน่อยและแรงใจค่อนข้างมาก

          "เป็นไงล่ะ เส้นทาง Beautiful Lady" อ้น ไถ่ถามอย่างไม่จริงจังนัก ในฐานะที่เป็นคนทำเส้นทางนี้ การได้เห็นใครสักคนปีนอย่างสนุกและมีความสุข นั่นคือความภูมิใจของเขา แม้เมื่อครู่ฉันได้ทำให้เส้นทาง Beautiful Lady ของเขากลายเป็น Ugly Lady ไปแล้วก็เถอะ

          เสน่ห์ของเส้นทาง Beautiful Lady ที่ อ้น บอกว่ายากระดับ 5 (แต่ฉันคิดว่า 6) คือความยากตรงช่วงปลายก่อนถึงแองเคอร์ ที่ต้องใช้ทักษะการกลับตัวอย่างรวดเร็วนั่นแหละ เมื่อปีนต่อขึ้นไปอีกไม่ถึง 5 เมตร ก็คือปลายทางที่ความสูง 20 เมตร รางวัลของการปีนจบเส้นทางนี้ คือสายลมเย็นที่พัดมาลูบไล้ราวกับแสดงความยินดี และภาพทิวทัศน์กว้างไกลสุดสายตา


ปันหยี
 
 ปันหยี
 

          อีกเส้นทางปีนแสนสนุก (และแสนเหนื่อย) คือ Handsome Man ความยากระดับ 6A สูง 20 เมตร ซึ่งเริ่มต้นปีนจากจุดเดียวกับ Beautiful Lady ก่อนไปแยกออกเป็นทางอีกเส้นที่ฐานหินย้อย ณ ความสูงราว 15 เมตร เพียงแค่ขยับไปปีนอีกด้านหนึ่งของหินย้อย ความยากก็เพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว

          "เวลาปีนเส้นทางนี้ ตรงใกล้ ๆ แองเคอร์ คนปีนต้องโน้มตัวเข้าไปหาหลีบเขาของเส้นทาง Beautiful Lady" อ้นชี้ชวนให้ดู อิบ ที่กำลังปีนอยู่ ณ จุดนั้น "เหมือนโน้มเข้าไปกอดไง ผมเลยตั้งชื่อว่า Handsome Man"

          ฉันยิ้มให้กับความคิดน่ารัก ๆ ของชายหนุ่มร่างบึกบึนผู้สักลวดลายไว้ที่แขนและขาจนดูราวกับนักเลงหัวไม้ ก็อย่างที่ใครหลายคนเคยบอกไว้ "ภาพที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่จริง"

          ดวงตะวันร้อนแรงเมื่อยามสาย ถึงบัดนี้โรยราใกล้ลับลงตรงช่องกลางระหว่าง เกาะค้างคาว และ เกาะสองพี่น้อง ทิ้งแสงสีทองเรืองรองส่องจับไว้ที่ปลายฟ้าและค่อย ๆ เปลี่ยนโทนสีเป็นชมพูดกระจ่าง มุมมองอีกด้านของเกาะปันหยี ฝั่งตะวันตกสงบงาม ต่างจากย่านร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึกทางด้านตะวันออกที่พลุกพล่านกว่าทั้งด้วยผู้คนและเรือหางยาว

          มองกลับเข้าไปจากศาลาริมน้ำรับลมยามเย็น ภาพโดดเด่นคือภูเขาลูกย่อมสูงราว 100 เมตร มองเห็นชั้นหินที่บิดเบี้ยวจากแรงดันของเปลือกโลกได้ชัดถนัดตา บนยอดสูงสุดนั้นเคยเป็นจุดที่โต๊ะบาบู ผู้พบ เกาะปันหยี ปีนขึ้นไปปักธงเป็นสัญลักษณ์ให้ เพื่อพ้องที่แล่นเรือใบออกมาค้นหาดินแดนใหม่ด้วยกันได้เห็นแต่ไกล และธงซึ่งในภาษายาวีคือ "ปันหยี" ก็ถูกใช้เป็นชื่อเกาะมาจนถึงทุกวันนี้

          เรื่องราวเล่าขานถึงการตั้งถิ่นฐานย้อนหลังไปราว  200 ปี ยังได้รับการบอกกล่าวจากรุ่นสู่รุ่น ชัดเจนและหนักแน่น เช่นเดียวกับความผูกพันของชาวมุสลิมที่อาศัยพื้นที่ไม่ถึง 1 ไร่ นี้อยู่กินมาทั้งชีวิต เคียงข้างอยู่กับท้องทะเลและขุนเขาด้วยสายใยเหนียวแน่นที่ไม่อาจมองเห็นด้วยดวงตา

          สำหรับฉัน...ผู้มาเยือนเพียงชั่วคราว แม้ไม่อาจเอ่ยเต็มปากว่าผูกพันกับเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ แต่ก็กล้าพูดเต็มคำว่า ช่วงเวลาแห่งการเดินทางบนผาสูงที่อาศัยเส้นใยเหนียวแน่นพันผูกเราทุกคนไว้ ทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับปันหยีมีภาพงดงามให้รำลึกถึงไม่เคยคลาย


เกาะปันหยี

ปันหยี

คู่มือนักเดินทาง

          เกาะปันหยี เป็นชุมชนมุสลิมอายุราว 200 ปี มีเอกลักษณ์ด้วยการตั้งอยู่กลายทะเลในเขตอ่าวพังงา อำเภอเมืองฯ จังหวัดพังงา ดั้งเดิมนั้นชาวปันหยีมีอาชีพหลักคือทำประมง ทว่า ปัจจุบันประกอบอาชีพค้าขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่

การเดินทาง

          รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ ไปได้ 2 เส้นทางคือ

          ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ชุมพร ระนอง ตรงเข้าสู่เมืองพังงา เมื่อถึงตัวเมืองพังงาแล้ว ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ต่อไปอีกประมาณ 8 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4114 สู่ท่าด่านศุลกากรเพื่อลงเรือไปเกาะปันหยี

          ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 ไปจนถึงจังหวัดชุมพร แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฏร์ธานี จากนั้นแยกขวาเข้า ทางหลวงหมายเลข 401 ผ่านอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฏร์ธานี แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 415 ผ่านอำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 และ 4114 สู่ท่าด่านศุลกากรเพื่อลงเรือไปเกาะปันหยี

          รถโดยสารประจำทาง

          บริษัท ขนส่ง จำกัด และบริษัท ลิกในท์ ทัวร์ ให้บริการรถโดยสารประจำทางปรับอากาศจากสถานีขนส่งสายใต้  ถนนบรมราชชนี ไปลงที่พังงา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 ชั่วโมง

          รถวีไอพี 24 ที่นั่ง สายกรุงเทพฯ-บ้านเขาต่อ-พังงา ค่าโดยสาร 885 บาท ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 20.00 น. รถประจำทาง 44 ที่นั่ง สายกรุงเทพฯ-ตะกั่วป่า-พังงา ค่าโดยสาร 442 บาท ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 16.39 น. ติดต่อสอบถามได้ที่บริษัท  ขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ 1490 เว็บไซต์ www.transport.co.th บริษัท ลิกไนท์ ทัวร์ โทรศัพท์ 0 2894 6151-3

          จากสถานีขนส่งพังงา สามารถเหมารถสองแถวให้ไปส่งที่ท่าด่านศุลกากร ในราคา 150 บาท

          ลงเรือไปปันหย

          ที่ท่าด่านศุลกากรมีเรือโดยสารไปเกาะปันหยี เรือออกตั้งแต่เวลาประมาณ 08.00 – 17.00 น. นาฬิกา เรือคนละ 40 บาท

ที่พัก

          บนเกาะปันหยีมีบังกะโลแบบเรียบง่ายให้พัก อยู่ติดทะเล โดยอยู่ในเรือนเดียวกับร้านอาหาร เป็นห้องพัดลม ห้องน้ำรวม คิดราคาคนละ 400 บาท ต่อคืน รวมอาหารเช้าและอาหารเย็น ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ปันหยี บังกะโล โทรศัพท์ 08 1958 0633, 08 9328 8388

อาหาร

          มีร้านอาหารมากมาย ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล (ปันหยีเป็นชุมชนมุสลิมไม่มีอาหารประเภทเนื้อหมู) มีทั้งร้านริมทะเล บรรยากาศดี ราคาค่อนข้างสูงไปจนถึงร้านของชาวบ้าน ซึ่งอยู่ด้านใน ๆ ส่วนใหญ่ขายข้าวราดแกง  ขนมจีน โจ๊ก รวมทั้งมีร้านกาแฟเก่าแก่ บรรยากาศเข้มด้วยผู้คนที่มานั่งจิบกาแฟกันคึกคักในยามเช้า


ปันหยี
 
 ปันหยี

ปีนหน้าผา

          ปัจจุบันมีเส้นทางปีนประมาณ  15 เส้นทาง อยู่ทางหน้าผาด้านทิศตะวันออก หลังชุมชนปันหยี ระดับความยก 5-6B

          ราคาปีนผาปันหยีเริ่มต้นจากพังงา (2 คนขึ้นไป)

          ทริป 1 วัน คนละ 2,700 บาท รวมค่ารถรับส่งจากสถานีขนส่งพังงาหรือที่อื่น ๆ ในเมืองพังงาตามแต่จะนัด ค่าเรือไปกลับ ท่าด่านฯ-ปันหยี ค่าบริการนำปีนหน้าผา 1 วัน และอาหารเที่ยงอิ่มอร่อยที่ร้านปันหยี บังกะโล

          ทริป 2 วัน 1 คืน คนละ 3,000 บาท รวมค่ารถรับส่งจากสถานีขนส่งพังงาหรือที่อื่น ๆ ในเมืองพังงาตามแต่จะนัด ค่าเรือไปกลับ ท่าด่านฯ-ปันหยี ค่าบริการปีนหน้าผา 1 วัน ค่าที่พัก และอาหาร 3 มื้อ ที่ร้านปันหยี บังกะโล

          ติดต่อปีนมาปันหยีได้ที่ คุณณรงศ์ โภชนา โทรศัพท์ 08 9474 4776 เว็บไซต์ www.geckothailand.com





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 50 ฉบับที่ 7 กุมภาพันธ์ 2553


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เกาะปันหยี ที่ซึ่งสายใยพันผูกและผูกพัน อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13:55:04 5,118 อ่าน
TOP
x close